การจัดการองค์ความรู้ ระบบบิ๊กแบ็กกั้นน้ำท่วมแห่งชาติ

3173 ความคิดเห็น โดย มิสเตอร์สะตอฯ เมื่อ 12 พฤศจิกายน 2011 เวลา 5:57 (เช้า) ในหมวดหมู่ การศึกษา, ธรรมชาติ, ลานปัญญา, แนวคิด ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 39201

เรียนทุกท่านครับ
เมื่อเวลาผ่านมากับสภาพน้ำท่วมตอนนี้ แล้วอดไม่ได้ที่จะอยากจะถามหลายๆ คำถามกับมาตรฐานต่างๆ ที่ใครต่อใครก็ไม่รู้ที่ตั้งกันขึ้นมาเพื่อรักษามาตรฐานทางการศึกษาและการวิจัย แต่พอเจอสภาวะวิกฤตแบบนี้ ผมไม่รู้ว่าเราจะสอบผ่านหรือสอบตกกันแน่ ให้ประชาชนตัดสินกันเองแล้วกันนะครับ ว่าองค์ความรู้ของเราใช้ได้จริงแค่ไหน บุคลากรของเรามีความพร้อมแค่ไหน แนวคิดการจัดการบริหารภัยพิบัติ แท้จริงแล้วใครจัดการได้ ใครรับเคราะห์ ผมไม่มีอะไรจะพูดมากแต่ขอถ่ายทอดผ่านรูปภาพด้านล่างนี้  ซึ่งจะทำให้หลายท่านคิดได้และทบทวนว่าเราจะวางแผนประเทศเราให้อยู่กับองค์ความรู้แบบไหนกันแน่ในอนาคต ทุกคนมีส่วนร่วมได้อย่างไรบ้าง

เบื้องบน หอคอย แข่งขัน ตัวเลข ขึ้นหิ้ง

เบื้องล่าง ชุมชน แบ่งปัน น้ำใจ ใช้จริง

เราจะทำอย่างไรให้คันกั้นน้ำแห่งชาติเข้มแข็งแล้วมีพลังที่แท้จริงในอนาคตเพื่อการบริหารจัดการหน้าฝน หน้าแล้ง ให้เกิดความสมบูรณ์ที่เกิดประโยชน์จริง

สำหรับผมแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศในครั้งนี้ ผมคิดว่าตัวผมเอง มีข้อมูลและองค์ความรู้ไม่พอใช้

ถ้าเรามีกระทรวงไหนสักกระทรวงนะครับ…ที่มีข้อมูลมากองไว้ตรงกลาง แล้วใครจะใช้ก็เอาไปใช้ เอาข้อมูล ข้อเท็จจริงมากองกันเลย แล้วมีนักวิจัย นักศึกษา นักวิชาการ นักสังคม นักวิทยาศาสตร์ นำข้อมูลเหล่านั้นไปสร้างและวิเคราะห์หาสารสนเทศที่จะเกิดประโยชน์ร่วมกัน ก็คงจะดีไม่น้อย แบบนี้จะเรียกว่า บูรณาการที่แท้จริง ใครมีข้อมูลที่อมกันไว้ก็เอามาปล่อยๆ กันตรงกลางเป็นหมวดหมู่ มันจะไม่เกิดความปั่นป่วนของข้อมูล แม้แต่ข้อมูลความสูงต่ำของ พื้นที่ กทม.ก็มีหลายชุดมากครับ

การบูรณาการไม่ใช่แค่ พูดว่าองค์กรนี้บูรณาการกับองค์การนี้ นั่นมันแค่เปลือก เราเอาน้ำกับน้ำมันใส่รวมกันแล้วเขย่าๆ แล้วเราบอกว่านี่ละเราได้บูรณาการแล้ว พอตั้งทิ้งไว้สักพัก มันก็แยกชั้นเหมือนเดิม แล้วเราจะเรียกว่า บูรณาการได้อย่างไร? ครับ

สำหรับสถาบันอุดมศึกษา…จริงๆ แล้วน่าจะเป็นการบอกว่า บุคลากร นักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษาที่รัก ภาวะตอนนี้คือเราได้หยุดห้องเรียนห้องสี่เหลี่ยมเอาไว้ก่อน แต่เราจะเปิดห้องเรียนสี่เหลียมเป็นห้องเรียนแห่งภาวะวิกฤตที่เราจะร่วมกันแก้ปัญหา เอาความรู้ที่เรียนๆ กันไปมาลองดูซิครับ การสอบของเราครั้งนี้เราจะสอบผ่านหรือไม่ เธอออกไปดูว่าเราจะสกัดองค์ความรู้อะไรมาช่วยกันในยามวิกฤตแบบนี้ มิใช่เพียงแค่การปิดเพื่อต่างคนต่างดูแลชีวิตตัวเองเท่านั้น แต่ก็มีภาพน่าชื่นชมอีกมากมายในทางกลับกันที่มีกลุ่ม นศ.อาสาหลายคนที่ไม่ลืมสังคมลงพื้นที่มาคิดที่จะร่วมช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาอย่างน่าประทับใจ แม้แต่ในอีกซอกหนึ่งกลับมีการใช้วิกฤตนี้ในการสร้างหน้าตาให้กับตัวเองจนน่าเวทนา แบ่งกลุ่มแบ่งฝ่ายจนน่าเสียดายว่าจากวิกฤตเหล่านี้ควรจะพลิกเป็นการรวมน้ำจิตน้ำใจคนให้เป็นหนึ่งเดียว แต่กลับมีอะไรไม่น่าพึงประสงค์ที่น่าเศร้ายิ่งนัก มองปัญหาเป็นเพียงเกมแห่งชีวิต

สำหรับสถาบันการวิจัย ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยหรือสถาบันแหล่งทุน…พวกเราเหล่านักวิจัยได้ร่วมกันตีพิมพ์เพื่อให้ได้ตามจำนวนเปเปอร์ขึ้นหิ้ง เน้นโรงพิมพ์มากกว่าโรงเรือนกันมาแล้วมากมาย ถึงเวลาแล้วที่เราจะเอางานวิจัยบนหิ้งลงมาทำให้ใช้ได้จริงแล้ว จะร่วมกันทำงานอย่างไรดี พวกเราเหล่านักวิจัยเงินล้าน มาร่วมกันแก้ปัญหาลดการสูญเสียชีวิตของพี่น้องประชาชนกันอย่างไรดี มีระบบกรองน้ำมันก่อนปล่อยลงสู่ทะเลไหม? มีระบบการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยไปสะสมไว้ที่กุ้งหอยปูปลาในอ่าวไทย ก่อนจะเอามากินกันต่อไปให้สะสมที่เราเพื่อให้เราผลิตตำราทางการแพทย์ในการเอาชนะโรคต่างๆ อีกเป็นทอดๆ อย่างไร น้ำกัดเท้าเราจะสร้างถุงเท้ายางใส่ป้องกันน้ำกัดเท้าอีกหนึ่งเดือนข้างหน้าให้กับพี่น้องที่ทำงานลุยน้ำอย่างไรดี ที่น้ำไม่เข้าไปกัดง่ามนิ้วเท้าและไม่เปียกอับชื้น คำถามเหล่านี้คือบททดสอบให้กับพวกเราเหล่านักวิจัยด้วยกันทั้งสิ้น เครื่องไม้เครื่องมือสมรรถนะสูงทั้งหลายน้ำยังไม่ท่วมใช่ไหมครับ เรามารันช่วยกันจำลองน้ำท่วมได้ไหมครับอย่างน้อยก็พอจะช่วยกันหาเส้นทางที่เหมาะสมและลดความสูญเสียได้ไม่น้อย หรือเราจะรอให้สภาวะวิกฤตพ้นผ่านไปแล้วค่อยมารอ สถาบันแจกทุนวิจัยของบให้เราร่อนใบสมัครไปอ้อนวอนเพื่อของบมาทำกันแล้วพิมพ์ขึ้นหิ้งกันต่อไปตามระบบเดิม พอระบบใหม่มามันก็ใช้ไม่ได้แล้ว ซึ่งหลังจากนี้ผมก็เชื่อว่าแหล่งทุนคงร่อนการบริหารจัดการน้ำกันทั่วประเทศอีก เหมือนๆ กับหลังภัยสึนามินั่นเอง แล้วพอเกิดครั้งใหม่เราก็เป็นแบบนี้อีกร่ำไป เพราะแต่ละครั้งเหตุการณ์ไม่เคยซ้ำเดิม ทุกครั้งที่ผมลงชุมชน หากเราหาคำตอบให้ชาวบ้านไม่ได้มันน่าละอายยิ่งนักครับ

เขียนมาเพื่อทบทวนตัวเองกันครับ ว่าที่เราๆ ทำกันอยู่มันชุดความรู้อะไรท่ามกลางวิกฤตการณ์แบบนี้ เกิดนวัตกรรมเชิงวิกฤตอะไรกันบ้าง

“True success in not in learning, but in its application to the benefit of mankind.”, Prince Mahidol

ด้วยมิตรภาพครับ

สมพร ช่วยอารีย์


วิเคราะห์เส้นทางน้ำไหลลงสู่สมุทรสาคร (ก่อนน้ำมา 2P)

12171 ความคิดเห็น โดย มิสเตอร์สะตอฯ เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2011 เวลา 1:16 (เย็น) ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ, เทคโนโลยี, แนวคิด ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 67112

เรียนทุกท่าน ที่เคารพครับ

จากที่ได้วิเคราะห์ไปแล้วครั้งแรกสำหรับน้ำท่วม กทม. จากบันทึก น้ำท่วม กทม : สามทิศเสี่ยงต่อการโจมตีของน้ำและจุดที่ต้องให้ความแข็งแรงเป็นพิเศษ เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2554  สำหรับความถูกต้องว่าใกล้เคียงหรือไม่นั้นทุกท่านคงทราบกันแล้วนะครับจากผลของเส้นทางน้ำไหลครับ เพื่ออาจจะเป็นแนวทางหนึ่งในการนำไปปรับใช้ ประกอบการคิดการตัดสินใจก่อนภัยมา (2P = Preparation เตรียมการ + Prevention การป้องกัน) ซึ่งมาแน่นอนครับ แล้วแต่ว่าพื้นที่ไหนจะหนักมากหรือน้อยนะครับ

ก่อนจะดูภาพจำลองภาพแรก ก็ให้ท่านไปดูภาพการไหลของน้ำจากภาพถ่ายดาวเทียมจาก GISTDA กันก่อนนะครับ

http://www.pbwatch.net/FloodReport/FloodAnimGistda2Nov54Big.gif

และภาพล่าสุดจาก GISTDA ของวันที่ 4 พ.ย. 2554

http://www.pbwatch.net/FloodReport/FloodVolume-20111104.jpg

มาดูภาพจำลองภาพแรกกันก่อนนะครับ

จากภาพ พื้นที่สีเขียวคือพื้นที่ที่น้ำยังไหลไปไม่ถึงครับ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ท่วม แต่หากมีพื้นที่สีเขียวและล้อมรอบด้วยพื้นที่สีฟ้าจนถึงสีน้ำเงินเข้ม จะเป็นพื้นที่น้ำไม่ท่วม ยกตัวอย่างเช่น ม.มหิดล ศาลายา จากการจำลองพบว่า รอดจากน้ำท่วม เป็นพื้นที่สีเขียวเล็กๆ อยู่ด้านซ้ายมือของเลข 3 เหนือเส้นถนนบรมราชชนนี

มาดูกันต่อครับ สำหรับเส้นทางทิศทางน้ำครับ ตามลูกศรสีเหลืองครับ

จากภาพด้านบนนี้ ให้สังเกตพื้นที่บริเวณลูกศรสีเหลืองครับ จะเป็นพื้นที่เส้นทางที่น้ำจะไหลไปและอาจจะติดถนนกั้นตามแนวเว้าของถนนเพราะน้ำจะไหลมาจากด้านบน อาจจะมีบางช่วงของถนนที่น้ำทะลักไหลลงมา จากการจำลองสมมติว่าถนนเส้น บรมราชชนนี เพชรเกษม และถนนพระราม 2 สูงโดยเฉลี่ยจากขอบถนนประมาณ 1 เมตร แต่หากบางจุดถนนสูงกว่า 1 เมตร ก็อาจจะส่งผลให้พื้นที่เหนือถนนเหล่านี้ระดับน้ำสูงกว่าปกติ สำหรับระดับความสูงน้ำท่วม ตั้งแต่ ระดับ 0-200 เซนติเมตร แล้วแต่ว่าจะพื้นที่ ในแบบจำลองอาจจะสูงกว่านี้เพราะบางพื้นที่ลุ่มมากครับ

การวางแผนก็ควรจะพิจารณาพื้นฐานตามลูกศรสีเหลืองเหล่านี้ได้ เพื่อพิจารณาเป็นพิเศษครับ หากจะบริหารจัดการน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลเร็วครับ น้ำจะถูกรวมเทลงมาที่ตำแหน่ง อ.เมืองสมุทรสาคร เพื่อจะไหลออกทะเล และอาจจะไหลเทไปทางตะวันตกของตัว อ.เมืองสมุทรสาคร ด้วย เพราะยังมีแนวถนนพระราม 2 ลาดเอียงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ครับ

มาดูภาพต่อไปครับ หากกรณีจะพิจารณาเจาะถนน (ซึ่งต้องระวังมากๆ เพราะอาจจะส่งผลเสียได้มากเช่นกัน อาจจะต้องวิเคราะห์กันให้หนักครับ โดยเฉพาะเส้นพระราม2

ลูกศรเส้นสีเหลืองอยู่ใต้ถนนเส้นสีแดง สำหรับบางพื้นที่เมื่อวิเคราะห์เส้นทางน้ำแล้ว

และมาดูพื้นที่ลงรายละเอียดของแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ตอนบน กลาง ล่าง ของพื้นที่ ศาลายาจนถึง สมุทรสาคร ครับ

เป็นพื้นที่ส่วนบนครับ

เป็นพื้นที่่ส่วนกลาง

พื้นที่ส่วนล่าง

พื้นที่ตอนล่าง ติดกับพื้นที่ทะเลครับ

สุดท้ายนี้ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านที่กำลังฟื้นฟู R (Recovery) ทุกท่านที่กำลังเผชิญภัย R (Response) และ ทุกท่านที่กำลังจะเจอภัย ก่อนภัยมา 2P ตามนโยบายของรัฐบาล เราจะพบว่าพื้นที่ของเราประสบการณ์จริงนั้นบอกเรามากกว่าทฤษฏีใดๆ ในหนังสือ ก่อนภัยมา ขณะภัยเกิด และหลังภัยผ่าน (กขล. ไก่ไข่ลิง) สิ่งสำคัญกว่าสิ่งอื่นใดในช่วงนี้คือ น้ำใจ เห็นอกเห็นใจ เข้าใจ ทำใจ เผื่อใจ และอย่าลังเลใจที่จะวางแผนในการเผชิญภัยนะครับ

สำหรับการที่จะนำพาน้ำเหล่านี้ออกสู่ทะเลนั้น ผมคิดว่าน่าจะใช้เวลาไปจนถึง กลางธันวาคม ครับ ซึ่งเป็นการกะประมาณนะครับ แก้ปัญหาได้เสร็จก่อนหน้านี้ก็ถือว่ายอดมากๆ นะครับ ขึ้นอยู่กับว่าเครื่องสูบน้ำจะทำหน้าที่เต็มที่ขนาดไหน และมีหลายพื้นที่ที่อาจจะเป็นน้ำค้างทุ่ง ซึ่งทำได้โดยสูบน้ำออกจะวางแผนอย่างไรที่จะสูบน้ำออกในขณะที่ยังมีน้ำรอบๆ บริเวณนั้น ซึ่งจะดีกว่ารอให้รอบๆ แห้งก่อนแล้วค่อยสูบออกครับ ซึ่งก็คงจะไม่ใช่การสูบใส่รถไปทิ้งในคลองครับ

ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกฝ่ายครับ ผมหวังว่าการเมืองจะไม่ทำให้น้ำใช้เวลาไหลมากกว่าที่ธรรมชาติของน้ำที่ควรจะไหลครับ

ภาพเคลื่อนไหวจากการจำลองครับ

หากท่านทราบข้อมูลระดับน้ำในแต่ละพื้นที่ ท่านจะสามารถช่วยกรอกข้อมูลระดับน้ำได้ที่

http://flood.pbwatch.net เพื่อนำมาประกอบกับการจำลองพื้นที่น้ำท่วมกันต่อไปครับ

ด้วยมิตรภาพและกราบขอบพระคุณมากครับ

สมพร ช่วยอารีย์

ปล.สิ่งที่วิเคราะห์ข้างบนอาจจะผิดจากความเป็นจริง ขอให้ท่านอ่านด้วยความสงสัยเพื่อนำไปใช้ในการเฝ้าระวังในการแก้ปัญหาครับ



Main: 0.17133593559265 sec
Sidebar: 0.079555034637451 sec