น้ำท่วม กทม : สามทิศเสี่ยงต่อการโจมตีของน้ำและจุดที่ต้องให้ความแข็งแรงเป็นพิเศษ

อ่าน: 63675

เรียนทุกท่าน

======================= ภาพล่าสุดจากการจำลอง อัพเดต 27 ต.ค. 2554 เวลา 18.02 น. =======================

สมมติฐานของการจำลอง

1. คันกั้นน้ำสูง 3 เมตร จากระดับความสูงของพื้นดิน และสมมติว่าคันกั้นน้ำนั้นมีความแข็งแรงมาก

2. ปล่อยน้ำไหลลงมาสมทบกับปริมาณน้ำที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ จากทางทิศเหนือของ กทม.

ต้องการจะดูว่า จุดตรงไหนบ้างที่น้ำจะล้นและทะลักเข้ามาด้านในของคันกั้นน้ำบ้าง ท่านจะสามารถเห็นจุดน้ำล้นคันกั้นน้ำได้ เพื่อวางแผนการจัดการเสริมคันกั้นน้ำ แม้ว่าจะเป็นวิธีการที่ไม่ใช่ดีที่สุดก็ตาม

ภาพนี้จากแถบสีเป็นดังนี้

สีฟ้า - น้ำสูง น้อยกว่า 20 เซนติเมตร
สีเหลือง - น้ำสูง 20-50 เซนติเมตร
สีส้ม - น้ำสูง 50-100 เซนติเมตร
สีแดง - น้ำสูงเกิน 100 เซนติเมตร

เนื่องจากโปรแกรมมีการปรับค่าสีตามความลึก เทียบกับความลึกสูงสุด อาจจะทำให้ความลึกเทียบกับสีคลาดเคลื่อนได้บ้าง

ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์ KMZ เพื่อนำไปเปิดด้วย Google Earth ได้ครับ เพื่อดูสถานการณ์ของพื้นที่เชื่อมโยงกับข้อมูลเขตและถนนครับ

http://www.pbwatch.net/Flood/BKKFloodSimLatest.kmz

ข้อมูลความสูงต่ำของพื้นที่ กทม. และพื้นที่รอบนอก

สีเขียวอ่อน สูงจากระดับน้ำทะเล 1-2 เมตร
เขียวเข้ม สูงจากระดับน้ำทะเล 2-5 เมตร
น้ำตาล สูงจากระดับน้ำทะเล มากกว่า 5 เมตร
ลองเทียบๆ ดูเองได้นะครับ
สำหรับสีฟ้าม่วงคือ พื้นที่น้ำครับ

ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์ KMZ นำไปเปิดด้วยโปรแกรมกูเกิลเอิร์ธ ได้จาก

http://www.pbwatch.net/Flood/BKKElevation.kmz

============================================================================

ผมกำลังจำลองโมเดลอยู่ต่อในขณะนี้ แต่ผลยังไม่เรียบร้อยจึงขอวิเคราะห์จุดเสี่ยงต่อการโจมตีของน้ำที่จะไหลเข้า กทม. ไว้ดังรูปต่อไปนี้ครับ

จากประสบการณ์ผมที่เล่นและจำลองอยู่กับน้ำเค็ม น้ำในแม่น้ำ การกัดเซาะชายฝั่ง และน้ำท่วม จึงขอเขียนจุดที่ควรจะเฝ้าระวังเป็นพิเศษตามลูกศรสีเหลืองเหล่านั้นครับ เพราะน้ำเป็นของเหลวที่มีพลัง นิ่มนวล อ่อนโยน รวมพลัง มีพลัง หมัดหนัก แยกกันเราลด รวมกันเราสูง และน้ำเป็นคลื่นที่เลี้ยวได้

และในขณะเดียวกัน การมีคันกั้นน้ำแนวขวางจะส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการพังทลายของคันกั้นน้ำได้ง่าย เมื่อแตกเพียงจุดเดียวเล็กๆ น้ำนิ่งๆ จากพลังงานศักย์ที่รอจะเป็นพลังงานจลน์นั้นจะแสดงอิทธิฤทธิ์ทันที จากน้ำไหลในทุ่งจะแปลงพลังเป็นสึนามิทุ่ง ได้สบายๆ จินตนาการดูจากคนทำนา เคยกั้นน้ำไว้ในบึงนา แล้วเราทำร่องน้ำไว้ดักปลาดักกุ้ง ขนาดน้ำลึกแค่เข่ายังทรงพลังขนาดนั้น อันนี้น้ำสูงเป็น 1-3 เมตร จะทรงพลังขนาดไหนครับ

จากภาพคันกั้นน้ำ แนวกั้นน้ำทั้งหลาย พบว่า กทม.มีจุดเสี่ยงจากแนวทางที่จะโดนถูกโจมตีในครั้งนี้ ตามลูกศรเส้นสีเขียว โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกมีความเสี่ยงมาก (ผมพูดบนพื้นฐานที่ผมไม่รู้ว่าคันกั้นน้ำมีความแข็งแรงขนาดไหนครับ) แต่ถือว่าจุดนี้เป็นจุดอ่อนเหมือนที่เราเคยเห็นภาพอนุสาวรีย์ชัยเคยโดยน้ำท่วมแล้วมีคนพายุเรือ จำได้ไหมครับ ผมเชื่อว่าน้ำทะลักได้ง่าย เพราะตรงตำแหน่งนี้ น้ำจะถูกอุ้มได้คันกั้นสีแดงเหล่านั้น มันจะย้อยเป็นรังผึ้งและรวมพลังเข้าไว้เพื่อจะพังกำแพงเหล่านั้นในการโจมตีฝั่งตะวันตกได้ง่าย สำหรับทางออกผมคิดว่า เราไม่ควรจะมีแนวกั้นตามขวาง และแนวรังผึ้งห้อยตรงนั้น กั้นในแนวเหนือใต้คงจะดีกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องพูดคุยกับชาวบ้านใต้คันกั้นน้ำสีแดงแนวขวางด้านตะวันตกของ กทม. เพราะว่าตรงนั้นหากปล่อยน้ำไป น้ำจะค่อย ไหลลงไป แต่หากคันกั้นน้ำแตกคราวนี้จะเสียหายมากกว่าเดิมครับ

สำหรับแนวลูกศรทิศตะวันออกเฉียงเหนือนั้น เป็นจุดเปราะบางเช่นกัน เพราะจริงๆ แล้วมีแนวถนนและคันกั้นน้ำอีกเส้น แต่ผมไม่ได้ใส่ไว้ในภาพ ซึ่งจะเป็นการเชิญน้ำเข้า กทม.ได้ในทิศทางลูกศรเส้นนี้เช่นกัน ทางออกคือให้เอาออกจะดีที่สุดจะทำให้น้ำไหลลงด้านล่างได้ง่ายขึ้น แทนที่น้ำจะวิ่งเข้าไปโจมตี กทม.ด้านทิศตะวันออก ในขณะเดียวกันน้ำจะหักล้างกับทิศทางน้ำจากทิศตะวันออกจากปราจีนด้วยน้ำทางทิศเหนือที่ไหลลงมาจากปทุมธานี หรือนครนายกครับ

สำหรับรัฐบาล กระผมคิดว่า รัฐบาลน่าจะมีการประกาศหยุดเช่น 20 วัน ในเขตน้ำท่วม เพื่อให้คนเดินทางกลับเท่าที่จะทำได้ครับ แล้วรัฐจะมีโอกาสในการจัดการบริหารน้ำให้ไหลลงทะเลได้เร็วขึ้น ป้องกันการสูญเสียชีวิตน่าจะคือเป้าหมายมากสุด ส่วน โรงพยาบาลหรือตึกตรงไหนที่รับคนไปพักได้เป็นเบื้องต้นก็ควรจะทำ ซึ่งจะช่วยให้เราดูแลคนที่ป่วยอะไรได้ชัดขึ้น คนปกติก็อาจจะไปพักบ้านญาติหรือมีจังหวัดใจบุญรอบนอกทำหน้าที่รับดูแลพี่น้องที่ได้รับผลจากน้ำท่วมก็คงจะดีครับ

เศรษฐกิจคงไม่เสียหายไปมากกว่านี้แล้ว ตอนนี้การป้องกันน้ำทำได้แค่เฝ้าระวังคันกั้นน้ำไม่ให้พังและเสริมครับ แต่เมื่อแตกแล้วกู้ยากมากครับ หรือไม่ก็จะกู้ได้ก็ต่อเมื่อน้ำไหลเข้าไปในพื้นที่จนน้ำเกือบนิ่งแล้วครับ ทำอย่างไรจึงจะระบายน้ำได้เร็วและคนไม่เสียชีวิตครับ ผมถือว่าการที่คนไม่เสียชีวิต หรือเสียน้อยสุดเป็นการดีที่สุดครับ

และประเด็นนี้คงเลิกคิดสีธง สีเสื้อ สีเชื้อ สีผิว สีพรรคกันได้แล้วครับ ถ้าถอดเสื้อออกให้หมดก็จะพบว่าคุณคือคนไทยเหมือนๆ กันครับ

ถัดจากนี้ เราคงทำงานร่วมกันมากขึ้น น้ำท่วมครั้งนี้เราจะเข้าใจความหมายของคำว่า บูรณาการกันมากขึ้น

แต่ละกระทรวงคงต้องให้ความรู้คนมากขึ้น ติดอาวุธทางปัญญากันมากขึ้นครับ ชีวิตใครใครก็รัก แต่การรักชีวิตตนเองและรักชีวิตผู้อื่นด้วยเป็นสิ่งประเสริฐ เราไม่สามารถจะอยู่ในสังคมนี้เพียงแค่ตัวเราผู้เดียว เห็นหัว เห็นใจ เห็นปัญญา เห็นความดีของกันและกัน ลิงยังอุ้มลูกสุนัขหนีภัยเลยครับ แล้วเราจะไม่อุ้มคนที่เป็นคนได้อย่างไร?

จึงขอให้ข้อมูลเบื้องต้นเพียงแค่นี้ครับ

ด้วยความเป็นห่วงและด้วยมิตรภาพ

คนไทยคนหนึ่ง

====================================================================

จากวิเคราะห์ภาพจำลองจากโมเดลด้วยโปรแกรม VirtualFlood3D ซ้อนกับโปรแกรม Google Earth ดังผลต่อไปนี้ พร้อมทิศทางเสี่ยงต่าง ๆ ในสามทิศทางใหญ่ๆ ดังทิศทางลูกศรสีเขียว

หรือภาพรายละเอียดดังต่อไปนี้

รายละเอียดทิศทางน้ำกรณีน้ำล้นหรือคันกันคลื่นแตกในสองทิศทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือของ กทม.

และรายละเอียดทิศทางที่มีความเสี่ยงในทิศทางตะวันตกเฉียงเหนือของน้ำจาก อ.บางใหญ่ ไหลเข้าพื้นที่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรณีที่แนวกั้นน้ำทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาไม่สามารถรับแรงน้ำได้

ถ้าทิศทางของน้ำในสามทิศเป็นไปตามที่คาดการณ์นี้ อาจจะส่งผลให้เกิดการรวมกันของน้ำทั้งสามทิศมารวมกันเพื่อไหลออกอ่าวไทย ซึ่งในภาวะนั้นแม่น้ำเจ้าพระยาอาจจะไม่ได้ช่วยอะไรมากหากน้ำล้นริมตลิ่ง

หมายเหตุ… ผลที่ได้จากการจำลองนี้เป็นผลจากโมเดลที่ใช้สมการ Shallow Water Equation ด้วยโปรแกรม VirtualFlood3D (  http://www.youtube.com/watch?v=HwS212eBDL8  ) เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการระบายน้ำลงสู่ทะเลในโอกาสต่อ

============================ ภาพเคลื่อนไหวครับ ============================

http://www.youtube.com/watch?v=AWPOR6lHKww

ด้วยมิตรภาพครับ

สมพร ช่วยอารีย์



Credits : ภาพถ่ายดาวเทียมพื้นที่น้ำท่วมจาก GISTDA, Google Earth, ESRI, VirtualFlood3D by Anurak Busaman and Somporn Chuai-Aree, ภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, แหล่งข้อมูลจากทีวี TPBS, Nation


ยิ่งกั้น ยิ่งสูง ยิ่งแรง ยิ่งแทง ยิ่งพัง น้ำท่วม น้ำใจ น้ำไหล น้ำบ่า น้ำตา

3873 ความคิดเห็น โดย มิสเตอร์สะตอฯ เมื่อ 19 ตุลาคม 2011 เวลา 6:45 (เช้า) ในหมวดหมู่ การศึกษา, คณิตศาสตร์, เทคโนโลยี #
อ่าน: 35292

หยุดคิดที่จะเอาชนะธรรมชาติได้แล้วครับ

ลองมองน้ำเป็นเพื่อนร่วมโลกดูครับ แล้วเข้าใจน้ำเค้าเยอะๆ ว่าเค้ามีข้อดีอย่างไรบ้าง มีนิสัยอย่างไรบ้าง ยิ่งกั้นคันสูงยิ่งเสี่ยงสูง ซึ่งน้ำภาคกลางไม่ใช่น้ำป่าไหลหลากนะครับ เป็นเพียงแค่น้ำท่วมทุ่ง ท่วมลานกว้าง เพราะฉะนั้นน้ำจะไหลปรับระดับไปเรื่อยๆ น้ำก็ไหลไปเรื่อยๆ ตามที่ไหลได้ แต่พอไปเจอคันกั้นสูง น้ำก็จะสูงขึ้น มีพลังงานสะสมพร้อมที่จะแตก ยิ่งด้านนึงน้ำสูง อีกด้านน้ำไม่มี หากพังลงมาก็จะกลายเป็นน้ำหลากในตรงนั้น นั่นคือ น้ำหลากจะเกิดจากคนทำเอง การเอาดินใหม่ไปถมก็เหมือนกับการเอาน้ำพริกไปละลายแม่น้ำ เพราะดินเหล่านั้นก็จะไหลไปกับน้ำครับ พอขาดพลังงานเยอะคราวนี้ก็ท่วมแล้วไหลได้เร็วขึ้นในช่วงนั้นครับ ปัญหาก็เกิดต่อกระทบกับพื้นที่ทางใต้คันกั้นน้ำครับ แต่หากมีคันธรรมชาติอยู่แล้วที่สร้างมานานแล้วดินแน่นแล้วก็พอไหวครับ สิ่งสำคัญตอนนี้คือ ทำอย่างไรให้ระดับน้ำไหลไปตามที่ควรจะเป็น กั้นได้ในบางจุด การบริหารจัดการน้ำควรจะมองในภาพใหญ่หน่อยครับ

ยิ่งกั้น ยิ่งสะสมพลังงาน ยิ่งแรง ถามว่าถุงทรายช่วยได้ไหม ตอบว่าช่วยได้ครับ แต่ศึกษาพื้นที่ให้ดีครับ โดยเฉพาะคันดินใหม่ครับ ตอนนี้เป็นแค่เพียงเริ่มต้นเองนะครับ ยังมีปริมาณน้ำรอที่จะมาและผ่าน กทม.อยู่ทั้งทางซ้ายและขวาของ กทม.หรือไม่ก็ผ่ากลาง

สิ่งที่รัฐควรจะทำผมว่า รัฐควรมองที่การให้ความรู้กับประชาชนให้มากที่สุด สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น ให้ข้อมูลความจริงจากสถานการณ์ต่างๆ ผมว่าให้ข้อมูลความจริงดีกว่าปกปิดหรือกลัวว่าคนจะตกใจ เพราะนี่เป็นน้ำท่วม เรายังลอยคออยู่ได้ครับ แค่บททดสอบในเบื้องต้นที่เราพึงจะต้องเรียนรู้ร่วมกัน โดนน้ำมาด้วยกัน แล้วในที่สุดเราจะได้มาวางแผนร่วมกันเพราะเราร่วมลอยคอกันมาด้วยกัน

ขอเป็นกำลังใจนะครับผมบอกนักศึกษาที่เรียนกับผมว่า ถ้าเธอจะมาเรียนเล่นๆ กับผม อย่ามาเรียนเลยมันเสียเวลา หากจะเรียนกับผมต้องเรียนเอาจริง เราจะได้ใช้ความรู้พวกนี้ได้ ใช้ได้เป็น นำไปใช้ร่วมกับคนอื่นได้ในยามคับขัน

หากวันหนึ่งเธอตื่นขึ้นมา พบกว่าน้ำท่วมคอพวกเราทุกคน พระเจ้าที่เรานับถือกันลอยลงมาจากฟ้า พวกเราแหงนหน้าฟังท่าน ท่านบอกว่าหากลูกๆ ทุกคนจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ ลูกๆ ต้องใช้ความรู้ที่มีอยู่ด้วยกันในการแก้ปัญหาแล้วน้ำจะค่อยๆ ลดลง หรือลูกๆ จะแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกับทรัพยากรที่เหลืออย่างจำกัดกันดี แต่สุดท้ายก็ตายอยู่ดี คราวนี้หากพวกเราจะใช้ความรู้แก้ปัญหา เราจะใช้ความรู้อะไรในหัวเราที่มีอยู่ เรามีความรู้อะไรบ้างที่จะเอาไปร่วมใช้กับเพื่อนๆ ของเรา นี่ละที่เธอต้องตั้งใจเรียนรู้ศึกษาให้เก่งกว่าครู ดังนั้นเรียนเล่นๆ พ่อแม่เธอจะจ่ายเงินให้เธอแล้วจะคุ้มค่าได้อย่างไร

แล้วตอนนี้ละประเทศไทยเรา ใช้องค์ความรู้อะไรในการแก้ปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ เรามีบุคลากรพอแล้วจริงเหรอในการจะช่วยวิเคราะห์น้ำ หรือว่าวิเคราะห์กันโดยไม่ดูตาม้าตาเรือเลยว่าน้ำจะไหลไปทางไหน จะร่วมผ่านวิกฤตเหล่านี้อย่างไรร่วมกันดีครับที่ผ่านมาไม่ว่าจะเรือดันผิวน้ำ หรือแพไม้ไผ่ ช่วยได้แค่ทางจิตวิทยานะครับ ผมว่าเอาเวลาไปให้คนพร้อมที่จะพึ่งตนเองได้ในเบื้องต้น จัดการลดการเกิดภัยที่อาจจะเกิดได้ก่อนครับ อพยพคนในพื้นที่อาจจะเสี่ยงภัยก่อน

น้ำจะรักษาความเสมอภาค หากผิวน้ำไม่เสมอกัน ปล่อยทิ้งไว้น้ำจะปรับระดับให้เสมอภาคเองเพราะธรรมชาติสร้างน้ำมาทำหน้าที่นี้

ไม้ไผ่ปล่อยให้เค้าช่วยดูดน้ำในดินสู่ชั้นบรรยากาศจะดีกว่านะครับ เพราะต้นไม้คือเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ทำงานทั้งกลางคืนและกลางวัน ดวงอาทิตย์ช่วยได้แค่กลางวันเท่านั้นครับ น้ำที่ต้นไม้ดูดเข้าไป 99% เพื่อสูบขึ้นชั้นบรรยากาศนะครับ จะไว้ใช้สังเคราะห์อาหารแค่ 1% เท่านั้น แพไม้ไผ่จึงไม่น่าจะจำเป็นสำหรับเวลานี้ ผมยังนิยมเสื้อชูชีพขวดน้ำที่พี่น้องอาสาฯ หลายๆ กลุ่มทำกันครับหลังจากนี้ ทุนวิจัยจะออกมาเกลื่อนเพื่อให้วิจัยกันเรื่องน้ำท่วม การบริหารจัดการน้ำ การเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งก็คือการหารอยเท้าวัวหลังจากที่โดนขโมยซึ่งก็ต้องทำ แต่ทำไมเราไม่เตรียมคนให้ไปเรียนในแต่ละด้านให้มันสอดคล้องกับสภาพของประเทศละครับ ไม่ใช่เรียนในสาขาที่เป็นแฟชั่นอย่างเดียว เราจะทำอย่างไรกันต่อไป น้ำท่วมครั้งนี้จะแปลงวิกฤตเหล่านี้มาสร้างความเข้มแข็งทางกาย ทางใจ ทางสติความคิดอย่างไร ไม่อย่างนั้น เราก็เดินวนๆ กันในอ่างน้ำนี่ละครับ พอภารกิจล้างเมืองมาทีก็สูญเสีย ประเมินค่ากันไม่ได้อยู่ตลอดไป

เศรษฐกิจเสียหาย น้ำยังขังท่วมยาวนาน แล้วเราจะทำอย่างไร กับปล่อยน้ำให้ปไปในทางที่ควรไป ตามใจน้ำ สุดท้ายก็ลงทะเล น้ำมีเป้าหมายคือที่ต่ำ มาจากที่สูงไหลลงที่ต่ำ แต่คนเราจะขึ้นไปนั่งที่สูง
ธุรกิจจะเสียหายกี่แสนพันล้านก็ตาม หากสุดวิสัยผมว่าก็ควรจะต้องเข้าใจบริบทครับ แต่อย่าให้คนเสียชีวิตมากเกินไปก็เกินคุ้มแล้วครับระบบการวิเคราะห์น้ำ ถ้ากระทรวง ICT ทำข้อมูลให้เป็นระบบ นักวิจัยสามารถจะเข้าถึงข้อมูลได้แล้วนำมาช่วยกันวิเคราะห์ได้ คันน้ำตรงนั้น ตรงนี้แตก ผมก็อยากจะช่วยจำลองให้นะครับ ว่าน้ำจะไหลไปทางไหนได้บ้าง แต่ไม่รู้จุดพิกัด นักข่าว คนลงพื้นที่ ควรจะมี GPS ติดตัวไปด้วย เก็บข้อมูลไปด้วยช่วยเหลือคนไปด้วย เอาข้อมูลมาวางแผนกันต่อ ใครช่วยได้ก็ช่วยกัน ผมอยู่ปัตตานี อยากช่วย แต่ผมช่วยได้มากกว่าการไปช่วยขนกระสอบทรายประกอบกับมีภารกิจอื่นๆ หากข้อมูลเป็นระบบก็จะมีข้อมูลได้ตรงกัน ก็จะช่วยได้มากขึ้น บทเรียนครั้งนี้ ก็คงไม่เหมือนครั้งไหน เพราะต่างกันที่เวลาและบริบทครับ

สุดท้ายก็ได้ระบายแล้วหลังจากดูมายาวนาน ดูการแก้ปัญหามาพอสมควร จริงๆ อยากจะขอข้อมูลจากสำนักข่าวที่ออกๆ ทีวีกันนะครับ ว่าคันนั้นคันนี้ มีข้อมูลให้เอามาจำลองได้บ้างไหม ติดต่อไปขอกับใครกันดี

ลักษณะน้ำจากวันที่ 16 ต.ค. 2554 ครับ ขอบคุณแหล่งข้อมูลจากพี่คอนดักเตอร์ จากลานซักล้าง และเว็บ http://cernunosat05.cern.ch/gp/flex/tha/

น้ำท่วม น้ำตา น้ำไหล น้ำใจ คนไทยไม่ทิ้งกัน แต่เราไม่ควรปล่อยให้เรื่องเหล่านี้เงียบไปอีก การตระหนักเตรียมได้จากประสบการณ์ที่เคยประสพจริง แล้วตระหนักจะเกิดมากกว่าตระหนก

ขอเป็นกำลังใจครับ

ด้วยมิตรภาพจากคนใต้



Main: 0.062788963317871 sec
Sidebar: 0.20138216018677 sec