คำขอของแผ่นดิน *****

อ่าน: 2065
ตอนที่ 1

คำร้องขอของแผ่นดิน*****

ขอส่งการบ้านของชาวเฮฮาศาสตร์ ที่ได้ขึ้นไปพบปะลูกหลานชาวจุฬาฯ-น่าน สดๆร้อนๆ ปล่อยนานไปก็เกรงความจำจะเหี่ยวเฉา จึงปิดประตูเขียนรายงานที่บางกอก1วัน เรื่องราวอาจจะยาวไปบ้าง แต่ถ้าท่านใดกรุณาทนอ่านจนจบ จะวาสนาดีและเจริญรุ่งเรืองในชีวิต ..และถ้าคอมเมนท์ก็เป็นอุปการคุณที่หอมหวานยิ่งนัก

ไม่เชื่ออย่าลบหลู่นะตัวเอง

ขบวนที่ไปน่านคราวนี้ คับคั่งไปด้วยจอมยุทธของชาวเฮฮาศาสตร์ทุกภาคส่วน ซึ่ ง ต ร ง กั บ เ จ ต น า ร ม ณ์ ข อ ง ห ลั ก สู ต ร นี้ ที่ต้องการเชิญวิพุทธิยาจารย์อาสามาจากหลากหลายสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ อาจารย์ ทหาร ตำรวจ ข้าราชการเกษียณอายุ นักธุรกิจ พ่อค้า นักกฎหมาย ผู้นำท้องถิ่น นักปกครอง ปราชญ์ชาวบ้าน ฯลฯ

วิพุทธิยาจารย์อาสา จะอาสาเข้ามาโดยไม่ได้ค่าตอบแทนเป็นเงินทอง แต่จะได้ความสุขทางใจที่ได้อบรมแนะนำลูกหลาน ผู้ที่จะเป็นอนาคตของชาติ ให้เข้าใจชีวิตการทำงาน และไม่ท้อถอยกับปัญหาอุปสรรคเมื่อทำงานในท้องถิ่นชนบท โดยที่ปูชะนียาจารย์อาสาจะเข้ามาอยู่กับนิสิต 3-5วันต่อเทอม สลับกันมา ทำให้มีความหลากหลายในข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาพบปะนิสิตจะเป็นเวลารับประทานอาหารร่วมกัน นิสิตอาจจะซักถาม ขอคำปรึกษา คำแนะนำจากปูชนียาจารย์และก่อนที่ท่านจะกลับหรือสิ้นสุดการการเยี่ยมยาม

จะมีการพบปะเพื่อสนทนากันทั้งชั้นปี ในสภาพนอกห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นใต้ถุนตึก ในโรงยิม ใต้ต้นไม้ หรือรอบกองไฟ เพื่อเล่าประสบการณ์ชีวิตที่ประสบผลสำเร็จ ความล้มเหลว และสอดแทรกทัศนคติของจิตอาสา จิตสาธารณะ บริการชุมชน เข้าไปด้วย

การจัดกระบวนทัพของชาวเฮครั้งนี้ เริ่มจากน้าอึ่งอ๊อบได้ส่งหนังสือ “เจ้าเป็นไผ”กับ“โมเดลบุรีรัมย์” ไปให้นิสิตจุฬาฯ-น่าน-อ่านล่วงหน้าอย่างละ100 เล่ม และได้แนะนำให้นิสิตได้ลองเข้าไปทำความรู้จักกับคณะวิพุทธิยาจารย์ในเฟสบุกส์ ทั้งนี้เพื่อที่เราจะได้ก่อสัมพันธ์รู้จักกันก่อนเห็นหน้า เป็นการชี้แนะนิสิตให้เรียนรู้การสร้างเครือข่ายเชิงปฏิบัติการทั้งทางตรงและทางอ้อม เรียนการถ่ายเทความรู้ การกระแซะความรู้ เรียนวิชาให้ความรักก่อนให้ความรู้ รวมทั้งเรื่องการใช้ไอทีคลี่ขยายความรู้แบบง่ายๆตามสไตล์Handy man

ตามแผนงานฯ นิสิตจะถูกกำหนดให้เรียนรู้ทางไกลแบบมีปฏิสัมพันธ์ (Interactive distance learning) เพื่อให้มีทักษะด้านเทคโนโลยีสื่อสารหรือสืบค้นข้อมูล เพื่อจะได้เป็นแนวทางและคุ้นเคย เมื่อจบการศึกษาเป็นบัณฑิตไปปฏิบัติงานในท้องถิ่นห่างไกล ก็ยังสามารถสืบค้นข้อมูลทางWebsite หรือแม้กับการติดต่อกับคณาจารย์ของหลักสูตรที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็พร้อมที่จะเป็นศูนย์บ่มเพาะ (incubator center) หรือศูนย์ศึกษาต่อเนื่อง (continuing education) ให้กับบัณฑิตไปตลอด ไม่ว่าบัณฑิตของหลักสูตรจะอยู่แห่งหนตำบลใด ก็ยังมีที่ปรึกษา มีที่พึ่งพาทางข้อมูล และสามารถสืบค้นข้อมูลได้ตลอดเวลา

การคิดเชิงบวกเช่นนี้ เท่ากับจุฬาฯทอดสะพานไฮเวย์2สาย เพื่อเปิดประตูวิชาการ-รับ-ส่ง-ข้อมูลข่าวสาร-ปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนาที่จำเป็นต่อการสร้างเนื้อสร้างตัวของลูกศิษย์-ยืนหยัดเคียงข้าง เป็นพี่เลี้ยงหน่อเนื้อเชื้อไขของตนตลอดไป นับเป็นการก้าวรุกเชิงกระบวนการ โดยสร้างสะพานความรู้สู่ภูมิภาคอย่างมั่นคง แทนการไปเปิดศูนย์สาขาต่างๆเพื่อผลิตกระดาษเปื้อนหมึกแจกปริญญาโท-เอกโหลๆ ให้บัณฑิตปัญญานิ่มออกมาเพ่นพ่านสร้างปัญหาให้แก่บ้านเมือง ที่เปิดการสอนแบบยื่นหมูยื่นแมว “จ่ายครบจบแน่”

ตรงนี้ละครับที่บ่งบอกความเป็นแก่นแท้ของจุฬาฯ

ที่ไม่ยอมด่างพร้อย

ลดตัวลงไปขายเกียรติภูมิของสถาบันหากินกันอย่างกระสือ

เมื่อโจทย์กำหนดออกมาอย่างนี้ แทนที่จะไปคนเดียวโด่เด่ ผมก็ต้องยกไปทั้งเซทละครับ จึงตีฆ้องร้องป่าวไปว่า .มีเรื่องจิตอาสาพัฒนาการศึกษาไทยของจุฬาฯ ที่จังหวัดน่าน ญาติที่น่ารักท่านใดว่างให้ชูมือขึ้นสูงๆ ..เรามีเวลาเตรียมการไม่นานนัก แต่คณะเราสันทัดกรณีเรื่องอิงระบบอย่างนี้อยู่แล้ว ต่างคนต่างติดต่อนัดหมายการเดินทาง จะรับจะร่วมเดินทางเวลาไหนอย่างไรก็แล้วแต่เห็นควร ก่อนเดินทางไม่กี่วันก็ได้รายชื่อพระอาจารย์อาสาทั้งหลาย ผมแปะบทบาทให้ลองไปใคร่ครวญกันล่วงหน้า ท่านไหนจะต้องทำอะไรบ้าง?

ทุกอย่างก็เดินหน้าได้ดั่งพลิกฝ่ามือ

คณะที่ไปเฮน่านครั้งนี้ มีท่านอัยการชาวเกาะ/ครอบครัว บินมาจากภูเก็ต-เชียงใหม่ คุณหมอจอมป่วน/ครอบครัว/พ่วงตาหวานกับครูสุมาด้วย ขับรถมาจากพิษณุโลก พี่หมอเจ๊บินตรงจากกระบี่เข้าเชียงใหม่ ครูอึ่งครูอารามเอารถตู้จากลำพูนรับคณะที่บินลงเชียงใหม่ แถมยังไปหิ้วตัวครูแมว อาจารย์ป้อมและหนูฝนมาด้วย พระอาจารย์Handy ร้อนวิชาบินมาจากสุราษฎร์ธานีก่อนเพื่อน1วัน ส่วนผมบินจากบุรีรัมย์ต่อไฟล์บ่ายเข้าน่านพร้อมกับอาว์เปลี่ยน

นี่คือวิธีทำงานแบบอิงระบบสไตล์เฮฮาศาสตร์

เมื่อกดปุ่มแล้วทุกอย่างก็จะวิ่งเข้าสู่เป้าหมายโดยอัตโนมัติ

ไม่ต้องเขียนจดหมายเชิญสักแอ๊ะ

จะ จี บ ค น น่ า รั ก ต้องใช้หัวใจจีบครับผ๊ม!

นับไปนับมาแทบจะเป็นรายการเฮเมืองน่านไปเสียแล้ว เราเพิ่งทราบจากเจ้าถิ่นว่า สมเด็จพระเทพฯเพิ่งเสด็จมาเยี่ยมโครงการนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พอเรามาคณาจารย์ก็ยกทีมบินมาหมดสำนักงานฯอีกครั้ง ..สพ.ดร.อรรนพ คุณาวงษ์กฤต ในฐานะผู้อำนวยการฯ บอกว่า.. ทีมครูบายกพหลโยธามาอึกทึกขนาดนี้ ฝ่ายจุฬาฯก็ต้องยกทีมมาร่วมเฮฮากันหน่อย

เป็นการพบปะกันแบบยกทีมครับผม!

ท่านอาจารย์อรรณพ กรุณาพวกเราอย่างมาก

ท่านแนะนำโครงการผลิตบัณฑิตหัวใจพระเกี้ยวให้ชาวคณะเราฟังอย่างครับครัน นอกจากนั้นยังมอบเหรียญที่ระลึกในโอกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60ปีพุทธศักราช 2549 จัดทำโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เป็นที่ระลึกแก่ชาวเฮทุกคนแล้ว ท่านยังดูแลเรายังกะไข่ในหิน แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว พาชมตลาด ใส่บาตรยามเช้าตรู่ พาไปชิมขนมบัวลอยป้านิ่มที่โด่งดังทะลุโลก

ผมกับอาว์เปลี่ยนเข้าไปทีหลัง..ได้รับเอกสารปึกใหญ่

เป็นคำถามของนิสิตที่อัดแน่นด้วยความสงสัยร้อยแปดพันประการ

มางานนี้..กว่าจะลาจากกันได้ เธอเอ๋ย ไหว้ลากัน 20 รอบได้ละมั๊ง !

สุกรนั้นไซร้ คือหมาหน่อยธรรมดา อย่างผมจะมาให้ความคิดเห็นในเรื่องใหญ่ๆสำคัญๆด้วยการไปดูไปเห็นข้อมูลแบบวับๆแวมๆเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง เราจึงระดมออกแบบจัดกิจกรรมในวันรุ่งขึ้น หลังจากเขี่ยลูกไปสักพักหนึ่ง ก็ได้ข้อสรุปว่าควรจะแบ่งกลุ่มออกเป็น3กอง แล้วให้นิสิตเดินหมุนเวียนมาพบปะวิทยากร ก็จะได้รับเนื้อหาสาระครบครัน

กลุ่มที่1ว่าด้วยเรื่อง learn how to learn in digital age

กลุ่มที่2ว่าด้วยเรื่องการเกษตรกับการพัฒนาชุมชน

กลุ่มที่3ว่าด้วยเรื่องพลังชีวิต จิตอาสา

ส่วนภาคบ่ายพระอาจารย์Handy นำเสนอวิธีการเรียนกับผู้รู้ผ่านระบบไอทีแบบง่ายๆ ที่พระอาจารย์ค้นคิดขึ้นเอง จบด้วยการตอบคำถาม มอบของที่ระลึก ฟังเพลงสุดซึ้งจากลูกหลานจุฬาฯ-น่าน ร่วมรับประทานอาหาร ขึ้นรถชมบริเวณศูนย์ฯจุฬาฯ-น่าน แล้วขยับไปชิมบัวลอยป้านิ่ม ถ่ายรูปหมู เฮฮากันพอหอมปากหอมคอ แยกย้ายกันกลับที่พัก ออกไปเที่ยวถนนคนเดิน กว่าจะได้ล้มตัวนอน หัวใจก็ผะผ่าวแล้วละเธอ

รายการที่สุดของที่สุด ท่านผู้อำนวยการฯอรรณพ คุณาวงษ์กฤต ประกาศบอกนิสิตปี2ว่า ร้อนนี้เราจะบุกอีสาน แต่นักศึกษาผู้นำมาขอคุยด้วย “เร็วนี้พวกผมจะไปหาครูบาได้ไหม” จะไปเอาข้อมูลมาทำโครงการเสนอในงานวิชาการจุฬาฯ ก็คงไม่มีปัญหาใดๆ ข อ แ ต่ เ พี ย ง ส่ ง เ สี ย ง ม า นัดหมายกัน

ผมมีอาการไข้หวัดกำเริบ ไอๆๆ จะไอเลิฟยูก็ไม่เชิง

ไอกะด็อกกะแด็กทั้งคืน

ยังดีนะที่ไปไหนมีคุณหมอไปด้วย

พี่หมอเจ๊กรุณาซื้อยาพร้อมอุปกรณ์ปลายแหลมเปี๊ยบ!

มากระหน่ำแทงก้น ฉึกๆ ! 2 เข็ม

นับเป็นการเอาเปรียบคนอื่นที่ไม่มีใครอิจฉา

หลังจบสิ้นภาระหน้าที่กันแล้ว เราก็มารวมศีรษะกันในห้องของผม เพื่อขอข้อคิดเห็นจากการทำหน้าที่จิตอาสาในครั้งนี้ แต่ไม่อาจจะสรุปได้ในเวลาอันสั้น จึงโยกต่อไปคุยกันในวันรุ่งขึ้น หลังอาหารเช้า ไปส่งพระอาจารย์Handyที่สนามบิน แล้วพวกเราก็ตระเวนไปชมภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดบ้านหนองบัว ไปชมทิศทัศน์เมืองน่านที่วัดพระธาตุเขาน้อย แล้วหาที่เหมาะๆปรึกษาหารือกัน ว่าเราจะมีส่วนสนับสนุนพันธะกิจของโครงการนี้ได้อย่างไรบ้าง

ในลำดับถัดไปทางจุฬาฯ-น่าน จะเชิญคณะชาวเฮมาเป็นระยะๆ


2 พฤศจิกาฯไปช่วยจุฬาฯโย้นๆที่น่าน

อ่าน: 3747

คนป่าก็มีการบ้านนะเธอ มีมากเสียด้วย ยังค้างเรื่องที่หน่วยงานต่างๆขอมาให้ความเห็น บางหน่วยงานขอข้อมูล บ้างหน่วยงานท้าให้ตอบ แต่วันนี้เป็นเรื่องเฉพาะที่เคยเกริ่นไว้บ้างแล้วที่จะไปช่วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโครงการวิพุทธิยาจารย์อาสา ซึ่งคณะกรรมการการศึกษาวิจัยทรัพยากรการเกษตรเชิญไปช่วยเล่าประสบการณ์ความรู้ความคิด ที่มีอยู่แค่หางอึ่งให้นักศึกษาฟังที่จังหวัดน่าน จุฬาฯเขาเชิญชวนมาตั้งแต่ให้ช่วยยกร่างหลักสูตรฯแล้วละเธอ ต่อมาเขาก็ตั้งให้เป็นพุทธิยาจารย์ ซึ่งมีหน้าที่ๆจะไปช่วย-ปั้น-ปะ-ผุ-โครงการที่จุฬาฯตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นการสนองคุณแผ่นดินในวาระที่มีอายุครบรอบ100ปี

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และยาก

ถ้าไม่อยากเห็นจุฬาฯเป็นจุลา..ก็ต้องไปร่วมแรงร่วมใจช่วยกัน

ถึงผมจะไม่ได้มีวาสนาได้เป็นเชื้อเผ่าเหล่ากอของจุฬาลงกรณ์กับใครเขา แต่ก็เคยไปเดินเล่นในสนาม ไปเห็นเสาธงสูงๆ เห็นอาคารที่มีรูปร่างคล้ายกับวัด ก็ได้แต่ทึ่งตาโตตามอาการของเด็กบ้านนอกเข้ากรุง ในชั้นหลังๆผมได้เข้าไปประชุมที่หอประชุมใหญ่ ไปพูดไปบรรยายไปสอนพิเศษให้แก่นักศึกษาของสถาบันวิจัยสังคมจุฬาฯ และได้รู้จักมักคุ้นกับชาวจุฬาฯบางท่าน ก็ตระหนักถึงบุญคุณของจุฬาฯตามประสาของคนวาสนาน้อยๆ ที่ได้รับความเมตตาจากสถาบันอันทรงเกียรติของชาติแห่งนี้

ตอนเป็นเด็กรุ่นกระเต๊าะ..ผมนะขาโจ๋จุฬาฯซอย11เชียวนะเธอ ผมอยู่ตอนที่เขากำลังสร้างโรงแรมสยามที่มีหลังคาแปลกข้างวังสระปทุมนั่นแหละ..อยู่หอพักใกล้ๆกับค่ายมวยศรีโสธร สมัยนั้น อดุล ศรีโสธร, เด่น ศรีโสธร เป็นนักมายดังระดับแม่เหล็ก รุ่นใกล้เคียงกับพุฒ ล้อเหล็ก อภิเดช ศิษย์หิรัญ ว่างๆผมไปเยี่ยมๆมองๆที่ค่ายมวยแห่งนี้ ก็สงสัยว่า..ทำไมนักมวยลงจากเวทีถึงมีรอยไหม้รอบตัวที่เกิดจากพิษแข้งคู่ต่อสู้ จะนั่งจะขี้ต้องค่อยๆบรรจงเพราะมันปวดไปทั้งสรรพรางกาย ..บางคนถึงกับโอดโอย กินยาแก้ฟกช้ำเป็นถังๆนับเดือน

วันหนึ่งเห็นน้าอดุลย์นั่งอยู่ว่างๆ จึงเดินไปหา

แล้วถามเรื่อง..ทำ ไ ม ถึ ง ท น ค ว า ม เ จ็ บ ป ว ด ไ ด้

นักมวยเอก..บอกว่า..”ไอ้เปี๊ยก..ลองต่อยท้องน้าสิ เอาให้เต็มแรงเลยนะ”

ผมก็กำหมัดซัดเข้าไปที่หน้าท้องของน้าอดุลย์เต็มกำลัง..

ผลลัพธ์..ผมนั่นแหละเจ็บนิ้วสะท้านไปทั้งแขน

จึงทราบว่า..นักมวยเขาเกรงกล้ามเนื้อรับหมัดรับเข่า

จากวันนั้น..ผมก็เก็บมาคุยโม้ให้เพื่อนๆฟัง

อดุลย์นะเรอะ ข้าต่อยเต็มผลั๊วะมาแล้วนะเว๊ย!

จะเขียนเรื่องไปจังหวัดน่าน ตีโค้งไปเสียไกล เรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ ที่ผมสนใจหลักการศึกษาที่จุฬาฯกำลังสร้างขึ้นมา นั่นก็คือให้นักศึกษาเรียนภาคทฤษฏีควบคู่ไปกับภาคปฏิบัติในอัตราที่เข้มข้นใกล้เคียงกัน จุฬาฯจึงย้ายนักศึกษาปีที่ 2-4 ไปไว้ที่ศูนย์จุฬาฯจังหวัดน่าน ตามที่ตกลงกัน ผมควรจะต้องไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักศึกษาตั้งแต่2ปีที่แล้ว พอจะไปๆก็มีเกิดวาสนาอักเสบทุกที มาปีนี้หนังสือเชิญมาอีกแล้ว จึงตั้งใจเต็มร้อยที่จะไปให้ได้ โดยปรึกษาญาติแซ่เฮสายเหนือไว้ ว่าเราจะยกพหลพลโยธาไปบุกจังหวัดน่าน

ได้มงคลฤกษ์วันที่ 2-3-4 พฤศจิกายน 2555 ครับพี่น้อง คณะที่จะไปช่วยผมทำหน้าที่วิพุทธิยาจารย์อาสา มี (อุ้ยจั่นตา) ผศ.ดร.จันทรัตน์ เจริญสันติ, (ครูอึ่ง) อาจารย์ดวงพร เลาหะกุล, (หมอเจ๊) แพทย์หญิง (น้าอึ่ง) คุณสมพร พวงประทุม, (หมอเจ๊), พญ.ศริรัตน์ สุวันทโรจน์, (หมอจอมป่วน) นพ.สุธี ฮั่นตระกูล (อาว์เปลี่ยน) เปลี่ยน มณียะ (ครูอาราม) อาราม อู่ทอง (ครูแมว)อักษรา ศิลป์สุข ไม่แน่ไอ่ตาหวานกับครูสุทราบข่าวคงจะวิ่งตามไปสมทบอีกก็ได้ สรุปว่าวิทยากรอิงระบบคณะนี้มีไม่น้อยกว่า 10 ชีวิต ซึ่งแปลกกว่าวิพุทธิยาจารย์ท่านอื่นที่มักจะไปคนเดียว

เพิ่งจะมีคณะเรานี้แหละไปกันแบบยกทีม

ในการเตรียมการเตรียมตัว นอกจากจะตอบรับเลือกวันที่จะไปเดินทางแล้ว จุฬาฯขอทราบประวัติ และขอทราบประเด็นที่เราจะไปพูดกับนักศึกษา รวมทั้งขอข้อเสนอแนะเรื่องการศึกษาดูงานและการจัดกิจกรรม ผมพิจาณาแล้ว..จะพูดเรื่องวิธีเรียนและการเรียน เพราะเล็งเห็นว่านักศึกษากลุ่มนี้จะเป็นต้นแบบของการเรียนรู้เชิงลุก ไม่ได้เรียนอยู่เฉพาะในห้องแคบๆกับครูใจแคบ วิชาความรู้จึงอาจจะคับแคบไปด้วย

ทำให้จบการศึกษาแล้วไม่มีความเชื่อมั่น หรือมีความสามารถพอที่จะไปบุกเบิกการงานอาชีพอิสระด้วยลำแข้งของตนเอง นักศึกษาส่วนใหญ่จึงมีลู่ทางจำกัด มุ่งหน้าไปสู่การเป็นมนุษย์เงินเดือน ซึ่งตำแหน่งค่อนข้างจำกัดและต้องชิงดีชิงได้กันทุกรูปแบบ ทำให้ผู้สำเร็จการศึกษาส่วนใหญ่ ได้งานทำไม่ตรงกับสิ่งที่เรียนมา ทำให้อนาคตสับสนและสุ่มเสี่ยง เรียนแต่วิชาทิ้งถิ่น ไม่ได้เรียนวิชากลับบ้านเฮา

ถ้าระบบการศึกษา สอนทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติควบคู่กันไปอย่างหลักสูตรใหม่นี้แล้ว เราเชื่อกันว่าเส้นทางดำเนินชีวิตของนักศึกษาจะมีทางเลือกมากขึ้น อย่างน้อยๆวิชาความรู้ที่ได้ฝึกฝนมาระยะเวลา3ปี คงจะสร้างความเชื่อหมั้นในระดับ..

“ ถ อ ด เ สื้ อ ค รุ ย แ ล้ ว ล ง ลุ ย โ ค ล น ไ ด้ ”

  • เป็นตัวคูณของสังคม
  • หันหน้ากลับไปสู่ท้องถิ่นได้อย่างทระนง
  • หวนกลับไปต่อยอดอาชีพพ่อแม่
  • มีวิชาความรู้ที่จะกลับไปสร้างบ้านแปลงเมือง
  • มีความรู้ที่จะอยู่ในท้องถิ่น
  • ตระหนักถึงบทบาทและคุณค่าของการศึกษาที่ต้องมารับใช้ท้องถิ่น

ด้วยเหตุนี้แหละพ่อแม่พี่น้องเอ๋ย ทำไมผมถึงต้องชวนวงศาคณาญาติไปช่วยจุฬาฯอย่างอึกกะทึกครึกโครม เรื่องราวที่จะไปเล่าขานให้ลูกหลานนิสิตนักศึกษาฟังในครั้งนี้ จะเริ่มที่แนะนำตัวและทีมงาน (ก่อนหน้านี้ก็จะแนะนำให้นักศึกษาเข้ามาอ่านในบล็อก ลานสวนป่า ลานปัญญา บล็อกหมู่บ้านโลกล่วงหน้า) เพื่อเปิดประเด็นการเรียนรู้ผ่านออนไลน์ แล้วจะไปเติมให้ภายหลังเรื่องการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ ผมจะเอาหนังสือเจ้าเป็นไผ หนังสือโมเด็ลบุรีรัมย์ ไปแจกอาจารย์และนักศึกษาทุกคน (ฝากน้าอึ่งติดรถไปด้วยอย่างละ 100 เล่มนะน้านะ)

ขมวดประเด็นที่จะไปโม้ 2 วันไว้ดังนี้

  1. การเรียนและวิธีเรียนของนักศึกษาสายพันธุ์ใหม่
  2. การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้
  3. การเรียนแบบอิงระบบ
  4. จิตวิญาณของเกษตรกรไทย
  5. ข้อฉุกคิด ของการเป็นเกษตรกรไทย
  6. การทำเรื่องธรรมดาให้เป็นเรื่องพิเศษ
  7. อาชีพปลูกสร้างสวนป่า
  8. หน่อเนื้อเชื่อไขเกษตรกรไทยที่บรรพบุรุษอยากได้/อยากเห็น
  9. งานวิจัยไทบ้านของมหาชีวาลัยอีสาน
  10. การเรียนวิธีสร้างงาน แทนการเรียนวิธีหางานทำ
  11. การศึกษาดูงาน และการสร้างกิจกรรมพื้นฐานระหว่างเรียน
  12. การสนทนากับผู้รู้ การตั้งคำถาม และคุณภาพของคำถาม
  13. ตีแตกประเด็นเกษตรกรไทยทำไมถึงยักแย่ยักยัน
  14. ตีแตกประเด็นวิกฤติระบบการเกษตรไทย
  15. ทีหนีทีไล่ของการเกษตรไทยในยุคที่อาเซียนกำลังจะมาเยือน

ผมคิดเร็วๆคร่าวๆได้เพียงแค่นี้แหละอุ้ย

เราควรเดินทางไปถึงบ่ายวันที่ 2 ช่วงเย็นจะได้เริ่มลุยขั้นตอน”เจ้าเป็นไผ”

บอกเครือญาติให้เตรียมคริบหรือถ้ามีสื่อประกอบการโม้ก็ขนใส่รถไปด้วย

ผมจะประสานเรื่องที่พัก 6 ห้อง คืนวันที่ 2-3 และอาหารทุกมื้อ

ส่วนค่าเดินทางเราคงต้องควักกระเป๋ากันเอง

รายการข้ามไปลาว..ขออาว์เปลี่ยนสรุปแนวทางและแนะนำให้ด้วย

:: ควรบริหารเวลาให้ชื่นมื่น

ช่วงนั้นอากาศอาจจะหนาวแล้ว

ดูแลสุขภาพกายและสุขภาวะใจไว้ให้พร้อม

ไปฟังเพลงน่านนะสิ อิ อิ..

Key Word :จุฬาฯต้องเดินหน้า ถ้าถอยหลังอาจจะเป็นจุลา

ฝักแม้ว กินไม่ทันเอาเมล็ดฝังกำลังแตกต้นอ่อน

พริกไทย ปลูก3เดือน กำลังออกดอก

คนงานกำลังเพาะมะกรูด

ฝนตกฉลองโอ่งใหม่ใส่น้ำฝน

ฝนกระหน่ำย้านกล้าชำลงในตอตาล

วิชาเกินสอนว่าให้ปลูกมะละกอทุกๆ3เดือน

เผือกยักษ์เจอฝนต้นโตๆ

แห้วส่งภาพสมาชิกใหม่จากสุราษฎร์มาให้รู้จัก

การเกษตรที่ทิ้งพ่อแม่ก็จะเป็นแบบในภาพนี้แหละเธอ

เราต้องสอนลูกหลานเราให้ตระหนักในอาชีพการเกษตรอย่างถ่องแท้

เมื่อคืนฝนตกกระหน่ำทำเอาแทบตกอู่ อิอิ
ถูกใจ ·  ·  · แชร์ ·


โลกแคบเข้าจนหายใจรดต้นคอ

อ่าน: 2849

เมื่อเช้าหนูกุลนที ร่ายกลอนมาเว้าวอนว่า ถึงมือไม่ยาวแต่ส่งใจยาวๆมาหากันได้ ถ้ า จ ะ จ ริ ง แ ฮ ะ .. หมู่นี้คนที่อยู่ไกลๆเดินทางมาพบปะกันอยู่เนืองๆ ต้นเดือนคณะญาติชาวเฮก็มา เมื่อวานนี้ญาติขอนแก่นพาอาจารย์ชาวต่างประเทศมาเที่ยวที่นี่..อีก 2-3วันจะมีญาติจากบางกอกมาอีก คนญาติเยอะก็ยังงี้ละเธอ..

ฝนตก น อ ก จ า ก ขี้ ห มู ไ ห ล แ ล้ ว ยังทำให้ผู้คนได้มาเจอกัน มาเพื่อจะดูสภาพสวนป่ายามฝนฉ่ำ แน่นอน..มันย่อมเขียวไสวไปทุกตารางเมตร ลุงBruceกับป้าBonnieจึงขอมาเยี่ยมสวนป่าพร้อมกับออต..มาแล้วก็แลกเปลี่ยนเรียนรู้หลายมิติ เมื่อคืนคุยกันพอสมควร กลางดึกฝนตกหนักยังกะฟ้ารั่ว แม่เจ้าประคุณเอ๋ยน้ำขังตามแอ่งเล็กแอ่งน้อย เลยนอนตะบอยเล่นเฟสบุคส์จนฟ้าสาง นึกว่าแขกยังไม่ตื่น ที่ไหนได้..คุณป้าBonnieใส่รองเท้าไปวิ่งกลับมาแล้ว มิน่าละอายุ80ยังดูแข็งแรงเหมือนคนอายุ60ปี ที่สำคัญไฟในตัวยังลุกโชนพร้อมที่จะลุยงาน ส่วนลุงBruceอ่อนระโหยโรยแรงตามวัย แต่จิตใจดีงามมาก สมเป็นจิตรกรอารมณ์ละเอียด

ถือกล้องถ่ายภาพละเมียดละไม ฉับ ฉับ.. ฉับหนึ่งก็ยิ้มทีหนึ่ง

คุณลุงบอกโชคดีมากที่ได้มาที่นี่

เดือนหน้าจะกลับออสเตรเลีย

ผมบอก..เคยไปเที่ยวเมืองจิงโจ้เกือบเดือน

เลยมีเค้าเอามาคุยกันสนุก

มื้อเช้าโฉมยงทำอาหารสมุนไพรผักเลี้ยง แนะให้เอาใบชะพลูห่อเครื่องเคียงกับน้ำยำชิมผักโน่นนี้หนุบหนับๆแซบไปตามกัน มีผักสดประมาณ10ชนิดเก็บเอาจากข้างบ้าน ชิมกับปลาป่น น้ำสลัดมะขาม มีผลไม้ให้เลือกหยิบผสม ระหว่างนั้นก็คุยกันเพลินเจริญอาหารแบบง่ายๆตำหรับสวนป่า อนึ่ง..หน้านี้นะเธอ  ผักเจอฝนชุ่มฉ่ำก็งามกรอบๆๆ รสชาติของธรรมชาติล้วนๆ ไม่อร่อยได้ไง โดยเฉพาะคนที่ชอบรับประทานผักจะสะใจมาก คุณป้าBoonieติดใจ อยากจะหาเวลามาอยู่หลายๆวัน

ตอนสายๆผมพาเดินชมการเลี้ยงวัวด้วยใบไม้ ชี้ให้ดูวงจรสัตว์เลี้ยงที่เอื้อต่อธรรมชาติ วัวเป็นโรงงานผลิตปุ๋ยคอกขนไปใส่ผัก มะกรูด กล้วย เผือก สมุนไพร แปลงหญ้ายังเหลือเฟืออีกนะเธอ คำว่าเกษตรอินทรีย์มันมีหลายระดับ ถ้าไม่เตรียมต้นทุนทางธรรมชาติให้ดี เราก็จะควักกระเป๋าจนแฟบ!

ปีนี้มะกรูดหล่นวันละเข่ง

พี่แต๋วบอกว่าเอาที่ปั่นให้ไปถูตัว

ลองเอามาล้างจานสะอาดหมดจดมาก

เดือนหน้าจะมามาปั่นมะกรูดเอาไปไว้ใช้หลายๆถ้ง

ออกจากคอกวัว พาไปชมโรงเลื่อย โรงอัดอิฐดินซีเมนต์ ทั้ง2ท่านชอบมากที่เห็นแนวทางพึ่งตนเองแบบบูรณาการ ขี้เลื่อยยังเอาไปเผาถ่านไบโอชา หรือไม่ก็ขนใส่คอกวัวผสมเป็นปุ๋ยได้ดีของเหลือในธรรมชาติไม่มีตกค้างเป็นมลภาวะหรอกนะครับ แม้แต่วัชพืชที่คนงานไปตัดทำความสะอาดในแปลง ก็ขนมาใส่เครื่องสับเลี้ยงวัวให้อ้วนได้

พาไปชมต้นไม้สายพันธุ์ต่างๆ

ไปเจอเห็ดหูหนูขาวที่เกิดในธรรมชาติ

ช่วยกันเก็บ แ ล้ ว เ ดิ น ต่ อ

พ บ ว่ า ห น่ อ ไ ม้ ห ว า น ทุ ก ส า ย พั น ธุ์ กำ ลั ง ง า ม

พรุ่งนี้จะลองตัดหน่อไผ่หม่าจูมาต้มชวนคุณตวงชิมสักหม้อใหญ่

ออกจากเข้าป่าไผ่ พาออตไปดูแปลงวิจัยปลูกไม้เนื้อดีที่แนะให้ไปปลูกที่เมืองพล จะได้อธิบายเรื่องการสางกิ่ง ใส่ปุ๋ย และอาจจะต้องตัดต้นที่ปลูกชิดเกินไปกันออกไปบ้าง แวะชมปราสาทคุณชาย ชมอุโมงค์ นั่งคุยที่ลานร่มใจ หายเหนื่อยบุกสวนผัก ชมน้ำเต้า เผือกยักษ์ แค่นี้ก็สมควรแก่เวลาแล้วนะครับ

โ ฉ ม ย ง เ ต รี ย ม น้ำ ฟั ก ท อ ง ปั่ น ร่ ว ม กั บ ก ล้ ว ย ใ ห้ โ ด็ ป

ถ่ายรูปก่อนอำลา..ล า ที มิ ใ ช่ ล า ก่ อ น

อาคันตุกะคณะนี้จะต้องไปตระเวนโบราณสถานอีกหลายที

ก่อนที่จะเองวังในวันนี้ขออนุญาตชวนฉุกคิดว่า

เรื่องสุขภาพควรเรียงลำดับความสำคัญให้ในตอนต้นๆ ..

  • การรับประทานอาหาร
  • การออกกำลังกาย
  • การพักผ่อน
  • การฝึกสมาธิ
  • การงาน/การกุศล
  • การยิ้ม และ การคอมเมนท์

มิตรภาพเหนือคำบรรยาย

กิจกรรมโดยรวม

มีอะไรในกอไผ่

เจอแล้วก็จาก

ความรักมีไว้แบ่งปัน

รักแท้ๆไม่ต้องสาบานก็ได้

นอนเถิดคนดี

ตื่นขึ้นมาจะได้แจ่มใส


ตบ ใครอย่าคิดว่าไม่สำคัญ

อ่าน: 3180

เมื่อวานพี่ต้อยมาคอยจ๊ะเอ๋ที่โรงแรมแต่เช้า คุณพี่เอาของอร่อยๆมาฝากมากมาย ชวนรับประทานอาหารเช้าด้วยกัน แล้วไปส่งขึ้นเวทีที่กรมป่าไม้ เดินชมนิทรรศการ..ไปเจอเรื่องอัญชัน ไพล และว่านสาวหลง ถูกจับมานำเสนออย่างเป็นเรื่องเป็นราว ทำให้ทราบคุณประโยชน์เพิ่มขึ้นมากมาย ในตำรา108ว่านมหัศจรรย์ บันทึกไว้ว่า..ว่านชนิดนี้ เป็นว่านที่ทรงคุณภาพทางเมตตามหานิยม เป็นยอดแห่งมหาเสน่ห์ สามีภรรยาบ้านใดปลูกไว้จะรักกันไม่จืดจาง พกใบไว้ในกระเป๋าเงินจะมีเงินไม่ขาดกระเป๋า หากต้องการให้คนรัก ให้ดีดหรือแตะผงว่านสาวหลงผมสีผึ้งหรือน้ำมันจันทน์ ก่อนใช้ให้ท่องคาถาดังนี้

“มะมะอุ พุทธสังมิ จิเจรุนิ นะชาลิติ อิสวาสุ อิทธอเจตะโส อาคัจฉาหิ ติวัตตัปโพ สัมมา นาชาลีติ ปิยังมานะ”

ว่านชนิดนี้ปลูกได้เฉพาะวันจันทร์ ขณะปลูกให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก และรดน้ำที่เสกด้วยคาถา “อิติปิโสภควาถึงภความิ 3 จบ (ส.เปลี่ยนศรี 2524)

เอาละสิ..ว่านสาวหลงที่เคยเอามาใส่ก๋วยเตี๋ยวอร่อย มีอภินิหารเพิ่มขึ้นมากมาย ผมจะกลั่นน้ำมันเก็บไว้เป็นขวดๆ  ใครอกหักรักคดมาขอความช่วยเหลือ ก็จะไม่บอกให้เอาไปดีดใส่คู่หมาย จะมอบให้เป็นขวดๆไปเทราดทั้งตัว ห นุ่ ม ห ล่ อ ที่ ไ ห น จ ะ ไ ป ร อ ด

ใครต้องการเอามือลง และมารับบัตรคิวได้  คริ คริ..

ในงานเสวนาวิชาการกรมป่าไม้ปีนี้ ผมขออนุญาตเสนอข้อตบแต่งนโยบายการป่าไม้ตามความนึกคิดของตนเอง เพื่อเอาไปแลกเปลี่ยนแง่คิดและมุมมองกับวิทยากรท่านอื่น เท่ากับเป็นการสอบทวนความรู้ความคิดของเราไปด้วยในตัว คนเรารู้แค่ไหนก็คิดได้แค่นั้น การรับรู้เหตุผลวงกว้างทำให้เราขยับความเข้าใจให้ถูกต้องกับความเป็นจริงมากขึ้น ข้อมูลจากวิทยากรท่านอื่นล้วนน่าสนใจ เมื่อประมวลความคิดเห็นจากท่านที่มาจากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,กรมทรัพยากรทางทะเลชายฝั่ง,สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง,โดยมีท่านรองอธิบดีกรมป่าไม้คอยขมวดปม เข้าใจว่าผู้ฟังคงจะได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อย คณะวิทยากรตั้งใจทำหน้าที่ให้ดีที่สุดอยู่แล้ว ผมเข้าใจว่าท่านที่เข้ามาร่วมประชุมครั้งนี้ ส่วนมากมีบทบาทหน้าที่ขับเคลื่อนแผนงานและนโยบายป่าไม้

แม้แต่ท่านที่เป็นอดีตข้าราชการกรมป่าก็ยังมาร่วมงานหลายท่าน

ได้เจอตัวทักทายในเวลาสั้นๆก็หลายท่าน

ได้นามบัตรมาก็หลายใบ

ได้รับการชักชวนไปเยี่ยมบ้าน

ได้รับการดูแลขับรถมาส่งที่โรงแรมด้วยละครับ

ขอขอบคุณ ดร.เริงชัย เผ่าสัจจ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานปลูกป่าภาคเอกชน ท่านมีประวัติโชกโชนฝ่าฟันเรื่องไม้ยูคาลิปตัสอย่างทรหด เมื่อ20กว่าปีที่ผ่านมา..ผมเห็นความตั้งใจความเหน็ดเหนื่อยของชาวป่าไม้ ที่พยายามแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรป่าไม้ของชาติมายาวนานถึง116 ปี ในวันที่18 กันยายน 2555 ก็อยากให้กำลังใจ จึงขอเปิดประเด็นอภิปรายไปที่..

ปัญหาการป่าไม้ของประเทศไทย ที่สะสางอย่างไรก็มิรู้จบสิ้น มีเงื่อนไขเถื่อนสารพัดสารพันอย่างพัวพันมากขึ้นๆ ก็เพราะสำนึกของคนไทยที่มีต่อป่าไม้ยังคลาดเคลื่อนและแคลนคลอน คนไทยส่วนใหญ่หัวใจสีช้ำเลือดช้ำหนอง มีคนไทยรักและตระหนัก/เข้าใจป่าไม้แค่หยิบมือเดียว แต่มีกลุ่มอิทธิพลประเภทมือยาวยุ่บยับไปหมด ทั้ง ๆ ที่ น้ำ ท่ ว ม แ ท บ สำ ลั ก ต า ย ค รึ่ ง ค่ อ น ป ร ะ เ ท ศ  ก็ยังเข้าใจไม่ได้ว่าควรจะลงรากฐานการป้องกันอุทกภัยอย่างยั่งยืนอย่างไร? ป่าไม้หายไปเท่าใด ภัยพิบัติก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น รัฐฯทุ่มเทงบประมาณขุดคูคลอง ซ่อมเสริมประตูน้ำ ก่อกำแพงคอนกรีตป้องกันน้ำท่วม เห็นแล้วก็ปลงอนิจจัง ..ถ้าดำเนินการเพียงแก้ปัญหาเฉพาะหน้า บ้านเมืองก็จะรุงรังกับกำแพงโกโรโสทุกหนทุกแห่ง ใจคอจะก่อกำแพงคอนกรีตสูงล้อมรอบเมืองหนีน้ำอย่างนั้นหรือ ทำไมไม่อนุมัติงบประมาณสัก100,000ล้านให้กรมป่าไม้ไปรณรงค์ส่งเสริมปลูกป่าไม้ให้เต็มประเทศ มันจะไม่เป็นการบรรเทาภัยพิบัติที่ยั่งยืนหรือครับ แถมยังจะได้ผลพวงเรื่องลดภาวะโลกร้อนอีก และได้ประโยชน์ต่างๆอีกนานัปการ

ถ้าไม่คิดยาวๆประเทศนี้ก็จะตกอยู่ในอาการสะเทินน้ำสะเทินบกตลอดไป

ญาติผมที่อยู่แถวๆอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สุพรรณบุรี ก็ตกน้ำป๋อมแป๋มสิครับ

ตราบใดที่คนไทยไม่เข้าใจบริบทของป่าไม้

ไม่รักป่าไม้ ไม่ปลูกต้นไม้ ใจร้ายใจดำกับต้นไม้

ตราบนั้นคนไทยก็จะอยู่อย่างกระเสือกกระสนเหมือนไส้เดือนโดนขี้เถ้า

ทำอย่างไรจะเพิ่มปริมาณความรักให้คนไทยรักป่าไม้ได้ละครับ?

จะต้องปรับ กลยุทธ์ กฎระเบียบ หลักการ กระบวนการใหม่อะไรบ้าง

ในเมื่อปัญหาเรื่องทรัพยากรมันเปลี่ยนแปลง..วิ่งกระฉูดจนตามไม่ทัน

กฎหมายชราภาพจะทำอย่างไร?

ตามล้างตามเช็ดกันอยู่อย่างนี้หรือ?

ผมหยิบยกกรณีการรุกที่ดินสร้างรีสอร์ทตามพื้นที่ป่าเขา ปล่อยปละละเลยให้มีการก่อสร้างจนเป็นอาณานิคมการท่องเที่ยวเชิงขนาดใหญ่ แล้วก็มาไล่จับไล่ต้องสั่งรื้อถอน ถ้าแก้ปัญหาอย่างนี้มันไม่จบสิ้นหรอกนะครับ ยุคไหนเจ้าหน้าที่ตาบอดสี การรุกคืบก็จะกลับมาอีก เพราะมันคุ้มค่ากับการเสี่ยง เหมือนการลักลอบตัดไม้พยุงนั่นแหละครับ ไม่มีทางจับได้ไล่ทันหรอก เจ้าหน้าที่หยิบมือเดียว แถมชั้นเชิงยังตามไม่ทันพวกมอดไม้ ไม้พยุงจึงพยุงตัวเองไม่รอด ตอนนี้เกลี้ยงประเทศแล้ว แถมยังจะได้ใจไปรุกตัดไม้ยืนต้นที่มีค่าอย่างอื่นอีก

ทำไม ไม่ออกกฎหมายห้ามออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินในพื้นที่ๆสร้างรีสอร์ทอย่างเด็ดขาด ถ้าเจ้าหน้าที่ละเมิดไปออกเอกสารสิทธิ์ให้ นอกจากไล่ออกแล้วควรจะจับเข้าซังเตด้วย ควรพิจาณากฎระเบียบ..เปลี่ยนมาให้เช่าที่ดินในพื้นที่ๆพออนุโลมได้ ไม่งั้นเรื่องนี้ก็จะยื้อกันไม่จบสิ้น พบกันครึ่งทางดีกว่าไหมครับ?

กฎหมายอ่อนแอ ต้นไม้ทุกต้นก็อ่อนไหว ไม่รู้จะโดนลักลอบตัดเมื่อไหร่

อย่าอ่อนหวานไม่รู้ไม่ชี้กันต่อไปนักเลยนะครับ

ถ้ายังเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ไม่ได้

ก็ช่วยป้องกันรักษาป่าไม้ที่มีอยู่ให้ปลอดภัยได้ไหม

ปัจจุบันปริมาณต้นไม้ของประเทศนี้เหลือน้อยแล้ว  ไม่สมควรตัดมาใช้ประโยชน์อะไรได้อีกแล้ว ปล่อยให้ยืนสภาพรักษาระบบนิเวศก็หวุดหวิดตกขอบเส้นยาแดงแล้วละครับ ผมเสนอให้ใช้วัสดุอย่างอื่นสร้างที่อยู่อาศัย ปัจจุบันมีวัสดุทดแทนไม้ธรรมชาติ อุตสาหกรรมวัสดุแทนไม้ก้าวหน้าไปมาก เทคโนโลยีได้พัฒนา เหล็ก หิน แก้ว กระดาษ ทราย ปูน พลาสติก ยิบซั่มบอร์ด สมาร์ทบอร์ด ไม้เสมือนต่างๆ ฯลฯมาใช้ก่อสร้างได้หลากหลาย แต่ก็มีท่านผู้ทรงคุณวุฒิติงว่า..วัสดุพวกนี้มีกระบวนการผลิตที่ทำให้โลกร้อนมากขึ้น ควรจะใช้ไม้นี่แหละดีที่สุด

ผมก็เห็นด้วยนะครับ แต่ปัญหาอยู่ที่เราจะเอาไม้ที่ไหนมาใช้

ชวนปลูกต้นไม้จนหน้ามืด..ก็ไม่ค่อยจะมีใครเอาด้วย

ทั้งๆที่การปลูกต้นไม้ไม่มีอัตราเสี่ยงอะไรแม้แต่น้อย  ก็มีบ้างที่ปลูกยางพาราเป็นบ้าเป็นหลัง  สวนยางพาราเป็นพืชเชิงเดี่ยว ไม่มีรากแก้ว น้ำหนักไปอยู่ที่เรือนยอดข้างบน แบกน้ำหนักไปเรื่อยๆ ลำต้นก็ใช่ว่าจะแข็งแรงเพราะมนุษย์กรีดเอาน้ำยางออกไปทุกวัน วันดีคืนนี้มีพายุเข้ามา สวนยางเชิงเดี่ยวนี้แหละจะโค่นราบเป็นหน้ากลอง อนึ่ง..ราคายางในอนาคตก็ใช่ว่าจะแน่นอนอะไร ทั่วทั้งเอเชียก็บ้าปลูกอย่างเรานี่แหละ ในอนาคตถ้าปริมาณน้ำยางที่เพิ่มขึ้นจนล้น จะเอาน้ำยางไปทำอะไร ราคาจะเป็นอย่างไร?

เ อ า ไ ป ทำ ห ม า ก ฝ รั่ ง ไ ด้ รึ

จึงหยิบยกเรื่องนี้ให้ชาวป่าไม้คิดใคร่ครวญตั้งรับแต่เนิ่นๆ..วันที่ยางพาราราคาทำให้หน้ามืดกันทั้งประเทศ กรมป่าไม้จะมีวิธีช่วยแก้ปัญหานี้อย่างไร กระดูกไม่ได้กิน หนังไม่ได้รอง แต่ก็ต้องถูกลากมาร่วมทุกข์จนได้นั่นแหละ หล่อเตือนไว้แล้วนะจ๊ะ

ผมพร่ำรำพันมากกว่าวิทยากรท่านอื่น ที่ยกมาเขียนนี่เป็นเพียงออเดิร์ฟ เตรียมpower Point เตรียม คริปวีดีโอ.ไปก็ไม่ได้ฉายหรอก เวลาจำกัดจำเขี่ยทำไงได้ ท่านใดคันในหัวใจก็ตามมาถกกันต่อที่สวนป่าก็แล้วกัน ก่อนลงเวทีแจกหนังสือให้ท่านวิทยากรร่วม รับหนังสือที่ระลึก รับประทานอาหารร่วมกัน ดร.เรืองชัย เผ่าสัจจะชวนไปเที่ยวที่บ้าน ผมติดภารกิจสะท้อนความเห็นงานวิทยานิพนธ์ของเจ้าหนูฝน จึงบอกท่านเริงชัยว่ามาส่งที่พักเถอะ มาคราวหน้าจะไปบุกบ้านกินข้าวฝีมือคุณนายสักมื้อหนึ่ง

ท่านเล่าว่าคุณลูกสาว ไ ป เ ปิ ด ร้ า น อ า ห า ร ที่ อ เ ม ริ ก า

ท่านก็นึกดูเถิดฝีมือคุณแม่ จ ะ ข น า ด ไ ห น ?   อิ  อิ

กลับมาถึงโรงแรม ลงไปรับประทานอาหารเย็น แล้วกลับมาเปิดทีวีดูการแข่งขันวอลเล่ย์บอลระหว่างสาวนักตบจีนกับสาวนักตบไทย ผมมาดูตอนเซทแรกผ่านไปแล้ว ไทยชนะ 1-0 เซทที่2 ไทยทำท่าจะชนะอีก แต่ก็แพ้ไปหวุดหวิด หลังจากนั้นสาวไทยก็ตบแหลก เล่นเอาสาวจีนกระเจิง เป็นการแข่งวอลเล่ย์บอลที่สนุกที่สุดในรอบปี คนไทยมีความสุขทั้งประเทศ

เธอ..เอ๋ย  ตอนหนูปลื้มจิตร์โผขึ้นตบ ผัวะ! ..

ลูกพุ่งไปปานจรวด

กองเชียร์อ้าปากตาค้าง หั ว ใ จ แ ท บ จ ะ พุ่ ง ต า ม ลู ก บ อ ล ไ ป ด้ ว ย

ผ ม เ ผ ล อ ต ะ โ ก น เ ชี ย ร์   ผั ว ะ ๆ ๆ

ห้องข้างๆ..มั น จ ะ ห า ว่ า เ ร า บ้ า รึ เ ป ล่ า ก็ ไ ม่ รู้ น ะ

ก็เผลอตัวนี่นา..น า น ๆ จ ะ ไ ด้ เ ชี ย ร์ แ บ บ ส ะ ใ จ สั ก ที

การที่สาวนักตบไทยชนะสาวจีน ไม่ใช่อภินิหารอะไรหรอกนะครับ

มันพิสูจน์ให้เห็น..

การหลอมรวมพลังทีมได้สำเร็จ..ทำให้เกิดมหาพลังตบทะลุโลก

ทุกคนทำหน้าที่ได้ดีมาก..แทบไม่มีข้อผิดพลาดใดๆ

เราได้เห็นว่า..นักวอลเล่ย์บอลไทยธรรมดาที่ไหนเล่า..

ถ้าคิดสู้คิดทำจนเต็มสติกำลัง..อ ะ ไ ร ๆ ก็ เ  กิ ด  ขึ้ น ไ ด้

ตบ!..ใครคิดว่าไม่สำคัญ..

ตบ..สร้างความสุขให้คนไทยทั้งชาติ

ตบ..ได้สร้างชื่อเสียงและการยอมรับในวงการวอลเล่ย์บอลในระดับโลก

ประเทศนี้ได้รับการยอมรับเรื่องใดบ้างละครับ

ถ้ า ไ ม่ รู้ จ ะ เ ปิ ด ป ร ะ ก า ย ใ น เ รื่ อ ง อ ะ ไ ร ?

ก็เอาเรื่อง ตบ ตบ ตบ นี่แหล่ะก่อหวอดให้เห็นพลังดีๆของคนไทย

ตบ จงเจริญ ไชโย ไชโย คิ คิ..

ว่านสาวหลง

พี่ต้อยมาชมนิทรรศการด้วย

คณะวิทยากร

บรรยากาศการสัมมนา

วิทยากรรับของที่ระลึก

ป่าที่น่าสงสาร

ป่ารักษาโลก


รักต้นไม้ดีกว่ารักคนเจ้าชู้

อ่าน: 2251

พรุ่งนี้  หมูไม่กลัวน้ำร้อนจะไปขึ้นเขียงที่กรมป่าไม้

ในการประชุมการป่าไม้ ประจำปี 2555

หัวข้อหลัก “ป่าไม้ให้ชีวิต สร้างเศรษฐกิจไทย”

ณ ห้องประชุม 1 อาคารเทียมคมกฤส กรมป่าไม้

ระหว่างวันที่ 12-17 กันยายน 2555

กรมป่าไม้จัดตารางให้ขึ้นเวทีไม่ตรงกับตารางบิน จึงต้องเดินทางมาล่วงหน้า1วัน ระหว่างเหิรหาวได้พิจารณาสภาพน้ำฝนบนที่สูง พบกว่าภาคอีสานชุ่มฉ่ำกำลังดี แต่พอเข้าเขตภาคกลางเห็นน้ำปริ่มพื้นที่ในวงกว้าง คาดว่า..ถ้าฝนกระหน่ำลงมาอีก รายการลอยคอก็อาจจะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก พี่น้องที่อยู่ในลุ่มอย่าประมาทก็แล้วกันนะครับ

ระหว่างที่นกขมิ้นเหลืองอ่อนมาเอ้อระเหยลอยชายในบางกอก ฝนตกพร่ำๆ..จึงขยาดที่จะออกไปไหน ไม่กล้านัดพบญาติโกทั้งหลายด้วยเกรงว่าจะทุลักทุเลเรื่องรถติด แต่บ่ายวันนี้ก็หนีไม่ออก ขาใหญ่โทรมาให้ไปเลี้ยงต้อนรับขาที่ใหญ่กว่าจากประเทศจีน ที่ภัตตาคารฮั่วเซ่งเฮง อยู่แถวๆปากซอยสุขุมวิท101 ดูเหมือนจะมีชื่อเสียงเรื่องหูฉลาม ..เจ้าภาพสั่งอาหารชั้นเลิศมาเต็มโต๊ะ ลิ้นบ้านนอกชิมแล้วก็ยังงั้นๆแหละ  หูฉลาม หมูหัน เป๋าฮื้อ ปลานึ่ง กุ้งแก้ว ปูผัด สลัด ฯลฯ ค่าอาหารนับหมื่น แต่ก็อร่อยสู้ซุปผักสดสวนป่าราคา10บาทไม่ได้หรอกนะเธอ

ยังนั่งงงว่า..ค ว า ม อ ร่ อ ย วั ด จ า ก อ ะ ไ ร ?

เ ร า ค ว ร จ ะ ตี ร า ค า แ ล ะ คุ ณ ภ า พ อ า ห า ร จ า ก อ ะ ไ ร ?

หลังจากกลับมาถึงโรงแรม ก็นั่งคิดการบ้านที่จะไปโม้พรุ่งนี้สิเธอ ว่าเราจะสะท้อนมุมมองตามโจทย์ที่ได้รับมาในหัวข้อ “การพัฒนาทางเศรษฐกิจกับการจัดการป่าไม้อย่างยิ่งยืน”อย่างไร?

ผู้ดำเนินการเสวนา : รองอธิบดีกรมป่าไม้

ผู้ร่วมเสวนา

-      ผู้แทนสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ

-      ผู้แทนกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

-      ผู้แทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

-      ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาปลูกป่าและFAO..

ในประเด็น : เศรษฐกิจก็จะเอา ความยั่งยืนก็จะเอา

เราจะจับปลา2มือสำเร็จได้อย่างไร?

ผ ม ข อ อ นุ ญ า ต เ ส น อ ค ว า ม รู้ สึ ก นึ ก คิ ด อ ย่ า ง นี้ ค รั บ พี่ น้ อ ง

1. ในกรณีความเป็นไปของการป่าไม้ไทย ข้อเท็จจริงก็คือยังตกอยู่ในสภาพน่าเป็นห่วง เรายังไม่สามารถปลูกฝังให้คนไทยรักและเข้าใจป่าไม้ได้อย่างที่ควรจะเป็น ทุกขั้นตอนอยู่ในสภาพลูบหน้าปะจมูก มีคนรักป่าไม้แค่หยิบมือเดียว แต่มีคนจดจ้องเขมือบป่าไม้และพื้นที่ป่าตาเป็นมันจำนวนมาก ใครมือยาวก็สาวเอาได้มาก ใครมือน้อยก็ตกกุ้งฝอยกันยุบยับ คำถามก็คือว่า..เราจะสร้างศรัทธาการป่าไม้เข้าไปในสำนึกคนไทยได้อย่างไร? ที่ผ่านมามีความพยายามอยู่ไม่น้อย แต่ผลลัพธ์ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

ต้นไม้/ป่าไม้ของประเทศนี้

ยังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกประหารโดยไม่รู้ว่ามีความผิดอะไร?

2. สังคมไทยบางส่วนยังไม่ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรป่าไม้อย่างแท้จริง สนใจแต่มูลค่าที่ได้มาง่ายๆ จะเห็นว่า..เราส่งออกไม้สักเป็นสินค้าหลักในอดีต ส่งขายๆๆจนป่าหมดเกลี้ยงประเทศปัจจุบันต้องสั่งเข้าไม้จากต่างประเทศมาใช้ มั น เ กิ ด อ ะ ไ ร ขึ้ น กั บ ป ร ะ เ ท ศ นี้  เราควรฉุกคิดเรื่องความบกพร่องเชิงนโยบายบ้างหรือไม่? เราเอาสมบัติของชาติมาปู้ยี่ปู้ยำโดยไม่มีแผนจัดการให้อยู่ในกรอบที่สมดุลทางระบบนิเวศ ทุกวันนี้ยังพูดไม่ได้ว่า..เราจะยับยั้งการบุกรุกทำลายป่าได้อย่างมีประสิทธิผลด้วยวิธีใด ไม่ว่าจะใช้เชิงรุกหรือเชิงรับ ..ก็ยังอยู่ในสไตล์ไทยแลนด์ ถามว่า..เราจะยกเครื่องเรื่องนี้ให้สำเร็จด้วยกุศโลบายใด และเมื่อไร องค์กรไหนเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบตัวจริง?

3. ปัจจุบันเกิดภัยพิบัติรุนแรงขึ้นตามลำดับ แทนที่จะหยิบยกต้นเหตุของการเกิดผลกระทบโดยตรงจากอะไรมาสังเคราะห์ เรายังเล่นละครโทษปี่โทษกลองและโยนกลองกันสนุก ถ้าศึกษาและวิจัยให้ถ่องแท้ ก็จะเห็นว่า..ถ้าประเทศเราช่วยกันดูแลรักษาป่าไม้ให้สมบูรณ์มากกว่านี้ ป่ า ก็ จ ะ เ ป็ น เ ค รื่ อ ง มื อ บ ร ร เ ท า ส า ธ า ร ณ ภั ย ไ ด้ อ ย่ า ง วิ เ ศ ษ ช่วยลดปัญหาได้ดี ดีกว่าการขุดคลอง ทำกำแพงกั้นน้ำ และวิธีตำน้ำพริกละลายแม่น้ำหลายแสนล้านบาท ถ้าเราเอางบประมาณบางส่วนของงบป้องกันน้ำท่วมประมาณ100,000ล้านบาท มาส่งเสริมปลูกป่า คุณค่าที่จะเกิดขึ้นคงจะช่วยการทำกำแพงคอนกรีต การทำประตูน้ำ การเตรียมบรรจุถุงทราย ฯลฯ ให้เกิดเป็นแผนงานป้องกันภัยพิบัติถาวรในระยะยาว เราต้องการเห็นแผนปลูกป่าแทรกอยู่ในแผนป้องกันอุทกภัยของชาติ ไม่ทราบว่าในเวลาอันใกล้นี้จะได้เห็นไหมหนอ..ในเมื่อท่านที่เกี่ยวข้องตาบอดสี มองไม่เห็นพลังของธรรมชาติที่แฝงอยู่ในบริบทป่าไม้ ว่ามันมีคุณประโยชน์หลากหลายวัตถุประสงค์อย่างไร?

4. ทำอย่างไรจะให้คนในชาติทุกหมู่เหล่า เห็นป่าไม้เป็นสมบัติของชาติที่ล้ำค่า นอกจากช่วยกันทะนุถนอมแล้ว ยังรณรงค์มุ่งมั่นที่จะปลูกป่าไม้เสริมสร้างสภาพแวดล้อมกันด้วยความเข้าใจและตั้งใจ จนเกิดเป็นกระแสรักชาติรักป่าไม้ เกิดความตระหนักตรงกันว่า การช่วยกันรักษาป่าคือการรักษาความปกติสุขของชาติ

5. ช่วยกันขยายแนวคิดให้แก่ประชากรในประเด็นที่ว่า..คนเราทำมาหากินในพื้นที่ตรงไหน ควรจะทะนุบำรุงสภาพแวดล้อมตรงนั้นให้อุดมสมบูรณ์ด้วยความรับผิดชอบต้นทุนของธรรมชาติ ให้ตระหนักอย่างท่องแท้ว่า ป่าไม้คือต้นทุนที่สำคัญของชาติ คุณภาพของทรัพยากรป่าไม้คือความมั่นคงของชาติ และเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติ

6. ปัจจุบันเทคโนโลยีเรื่องวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้างบ้านเรือนก้าวหน้าไปไกล มีวัสดุก่อสร้างชนิดใหม่ๆที่สามารถใช้ทดแทนไม้ได้เป็นอย่างดี ราคาถูก คุณภาพแข็งแรงคงทน ประหยัดค่าแรงและลดเวลาในการก่อสร้าง จากการทดลองสร้างอาคารในหมู่บ้านโลก เราได้ทดลองใช้อิฐดินซีเมนต์ เหล็ก ไม้เชอร่า แผ่นสมาร์ทบอร์ดและยิปซั่มบอร์ท ฯลฯ ซึ่งใช้ประโยชน์ทดแทนไม้ได้แทบทั้งหมด ถ้ารณรงค์ให้ใช้วัสดุเหล่านี้ก่อสร้างอาคารบ้านเรือน หรือส่งเสริมการสร้างบ้านดิน ก็จะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในทุกระดับ ไม้ควรใช้ในกรณีตบแต่งภายในในรูปของเครื่องเรือน ของใช้ไม้สอย ก็จะเป็นแนวทางลดการใช้ไม้ได้อย่างเป็นรูปธรรม

7. ควรส่งเสริมการปลูกไม้ไผ่ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่นำมาใช้ประโยชน์นานัปการในเวลาสั้นกว่าการปลูกไม้ยืนต้น ควรเผยแพร่เทคโนโลยีใหม่ๆที่ค้นคิดได้จากไม้ไผ่มาส่งเสริมให้แพร่หลาย ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านการแปรรูปไม้ไผ่ก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ถ้าหยิบยกเอาเรื่องไม้ไผ่มานำเสนออย่างเป็นเรื่องเป็นราว อานุภาพของไม้ไผ่ก็จะปรากฏให้เห็นทางเลือก/ทางออกที่เป็นรูปธรรมทางด้านเศรษฐกิจและการจัดการป่าไม้ทั้งทางตรงและทางอ้อม จะช่วยลดอัตราการใช้ไม้ธรรมชาติได้อย่างเป็นรูปธรรม

8. ปัจจุบันประเทศเรามีการส่งเสริมการปลูกยางพาราอย่างแพร่หลาย การปลูกยางพาราแบบกระต่ายตื่นตูม โดยหวังผลเรื่องรายได้สูง (ซึ่งก็ไม่แน่ไม่นอน ยังมีอัตราความเสี่ยงซับซ้อนอยู่เบื้องหลัง) เป็นการขยายพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ควรระแวดระวัง ยางพาราไม่มีรากแก้ว ลักษณะลำต้นรูปทรงจะมีใบไปกองอยู่ข้างบน ถ้าเจอพายุเข้าในสักครั้ง สวนยางก็ล่มได้ง่ายๆชาวสวนยางก็จะได้รับความเสียหาย น่าจะมีแปลงทดลองปลูกยางพาราร่วมกับไม้ยืนต้นอื่นนอกจากได้ความหลากหลายแล้ว ยังช่วยป้องกันหายนะจากพายุดังกล่าวได้อีกทางหนึ่ง อนึ่งกระแสยางพาราเกิดขึ้นทั่วทั้งอาเซียนและเอเซีย ในไม่กี่ปีข้างหน้า..ถ้าสวนยางกรีดยางพร้อมกัน ความต้องการใช้ยางจะก้าวกระโดดมารองรับปริมาณยางพาราได้จริงหรือ การที่ประเทศนี้รณรงค์ปลูกยางพารา มากกว่าการปลูกไม้ทั่วไป  แสดงว่าหลักการปลูกป่าไม้เพื่อการค้าและอุตสาหกรรมยังไม่ชัดเจน ยังตอบข้อมูลเชิงคุณค่าและผลประโยชน์เปรียบเทียบใช่หรือไม่?

9. นอกจากเรามีปัญหาเรื่องการบุกรุกป่า บุกรุกที่ทำกิน บุกรุกสร้างรีสอร์ต ปัญหาที่รุนแรงขึ้นในขณะนี้คือการลักลอบตัดไม้พยุง พบว่าไม้พยุงในป่าธรรมชาติหมดไปอย่างรวดเร็ว ขณะนี้ไม้พยุงที่อยู่ในเรือกสวนไร่นาเกษตรกรก็ไม่หลงเหลือเช่นกัน ถ้าเราไม่สามารถจัดการเรื่องนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเหิมเกริมของมอดไม้ก็จะลามปามไปขโมยตัดไม้ของสวนป่าเอกชน และไม้ที่ชาวบ้านรักษาไว้ตามหัวไร่ปลายนา อนึ่ง โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังชีวมวลบางแห่ง ก็มีส่วนสนับสนุนการลักลอบตัดไม้ทางอ้อมอยู่ไม่น้อย

10. ปัจจุบันเกิดโรคระบาดเกี่ยวกับไม้โตเร็วทั้งประเทศ ทำให้ผลผลิตมีประมาณลดลง อีกทั้งจะเป็นเงื่อนไขให้กับเกษตรกรที่จะปลูกไม้โตเร็วลดหรือล้มเลิกพื้นที่ปลูกไม้ดังกล่าว ประเด็นเหล่านี้เกษตรกรกำลังรอคำตอบ ควรที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งอุตสาหกรรมเกี่ยวกับไม้โตเร็วควรจะค้นหาคำตอบให้พบโดยเร็วไว ก่อนที่พื้นที่ป่าไม้ส่วนนี้จะหายไป

11. กรมป่าไม้คัดเลือกเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาปลูกป่ามาเป็นเวลานาน ทรัพยากรบุคคลเหล่านี้กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ มีพื้นที่ปลูกป่าไม้เชิงประจักษ์ มีชุดความรู้ มีทักษะและประสบการณ์ตรง ที่สำคัญมีวัฒนธรรมพื้นถิ่น ถ้าได้รับการสนับสนุนให้ทำหน้าที่ขยายความคิดเรื่องการปลูกป่าไม้ในระดับต่างๆ โดยรัฐฯจัดงบประมาณให้ศูนย์เหล่านี้เป็นสถานที่ฝึกอบรมเรื่องการปลูกสร้างสวนป่าในบริบทต่างๆ ก็จะเป็นการกระจายจุดขยายนโยบายป่าไม้ได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น อาจจะทดลองในศูนย์ที่มีความพร้อม ให้เสนอหลักสูตรการอบรม ประมาณการค่าใช้จ่ายรายหัว ทำการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องปีละพันกี่หมื่นราย ก็จะทำให้ทราบข้อมูลการฝึกอบรมทำความเข้าใจเรื่องการป่าไม้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ก็จะเป็นงานเชิงรุกด้านการป่าไม้ได้อีกทางหนึ่ง ช่วยเสริมการจัดอบรมโดยหน่วยงานของรัฐฯ

12. ควรให้เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาปลูกสร้างสวนป่าได้ทำการวิจัยในเรื่องที่พื้นที่เหล่านั้นสนใจ เช่น การผลิตน้ำควันไม้,การผลิตถ่านไบโอชา, การสร้างธนาคารแม่ไม้, การปลูกไม้เพื่อพลังงานทดแทน, การประดิษฐ์เครื่องเรือนจากไม้โตเร็ว, การใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ ๆ , การใช้ใบไม้เลี้ยงปศุสัตว์ โดยเบื้องต้นจัดให้มีนักวิชาการป่าไม้เป็นพี่เลี้ยง เราก็จะได้นักวิจัยการป่าไม้ต้นทางที่เกิดจากการปฏิบัติเพิ่มขึ้น การแสวงหาความร่วมมือลักษณะนี้ เป็นการถ่ายทอดวิชาความรู้ลงสู่พื้นที่เป้าหมายได้อีกทางหนึ่งค่อนข้างชัดเจน

13. ควรสนับสนุนให้เกิดการส่งเสริมปลูกป่าและดูแลพื้นที่ป่าไม้ต้นแบบในระดับระดับ ครัวเรือน ชุมชน อบต. โรงเรียน สถาบันการศึกษา วัด และสำนักสงฆ์ทั่วประเทศควรจะกำหนดเป็นนโยบาย1หมู่บ้าน1ป่าไม้1ต้นแบบ ภาคราชการจะได้มีแนวร่วมจากภาคประชาคม เป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์กิจกรรมและกิจการป่าไม้ในแบบการมีส่วนร่วมอีกแนวทางหนึ่ง

14. รัฐฯควรสะสางกฎหมายป่าไม้ที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมปลูกป่าไม้ และความเกี่ยวเนื่องให้ชัดเจนทันสมัยทันต่อเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน เพื่อโน้มน้าวให้เกษตรกรและกลุ่มอุตสาหกรรมปลูกป่าไม้หันมาร่วมมือเป็นพันธมิตรกับภาครัฐมากขึ้น

15. ควรใช้สื่อปลุกกระแสให้คนไทยรัก

และใส่ใจกับการปลูกและดูแลต้นไม้มากขึ้น

ประชาสัมพันธ์ให้เห็นว่า..

“การปลูกป่าไม้ปลูกต้นไม้เป็นหน้าที่ของประชาชนไทยทุกคน”

“คุณภาพของป่าไม้ คือคุณภาพของสังคม”

“ป่าไม้เป็นทรัพยากรที่เป็นต้นทุนหลักขอชาติ”

“ความมั่นคงของป่าไม้คือความมั่นคงของชาติ”

“ภัยพิบัติไม่น่ากลัวถ้าคุณมีป่าไม้เป็นเพื่อน”

“ปีนี้คุณปลูกต้นไม้แล้วหรือยัง”

“ช่วยกันสร้างประเพณีปลูกป่าไม้ให้เกิดขึ้นในชุมชน”

“ไม่มีต้นไม้ต้นไหนขี้เกียจแม้แต่ต้นเดียว”

“ปลูกต้นไม้ไม่มีคำว่าขาดทุน”

“ต้นไม้ให้อากาศสดชื่น ให้หมากผล ให้ปัจจัยที่จำเป็น ฯลฯ “-

“คุณจะส่วนแก้ปัญหาชาติได้อย่างแน่นอนถ้าคุณปลูกต้นไม้”

“ป่าไม้เป็นสมบัติของชาติเป็นมรดกของคุณทุกคน”

“ต้นไม้ช่วยให้คุณภาพชีวิตของคุณดีขึ้น”

“ต้นไม้ทุกต้นรักคุณ”

“รักต้นไม้ปลอดภัยจากการอกหักแน่นอน”

“รักคนเจ้าชู้ เปลี่ยนมารักต้นไม้ดีกว่า”

:: เอกสารประกอบการนำเสนอหัวข้อ

“การพัฒนาทางเศรษฐกิจกับการจัดการป่าไม้อย่างยิ่งยืน”

วันที่16 กันยายน 2555  เวลา 9.30-12,00 น.

ยานพาหนะเหิรหาว

คุณค่าป่าไม้

ท้องฟ้าพร้อมที่จะแฉะ

วิถีชีวิตที่เรียบร้อย

ขาใหญ่เลี้ยงขาที่ใหญ่กว่า

ประโยชน์ของใบไม้

ป่าไม้สั่นคลอนเพราะมนุษย์บั่นทอน

ป่าเป็นที่รวมของดีที่สุดในโลก

ไม่ควรเอาอนาคตป่าไม้ของคนรุ่นลูกหลานมาปู้ยี่ปู้ยำ



Main: 1.62886095047 sec
Sidebar: 0.048429012298584 sec