ขอปลูกไผ่ในหัวใจเธอได้ไหม
เพาะเมล็ดไผ่
มิตรภาพแห่งไมตรีของญาติออนไลน์เรากำลังงอกงาม และจะค่อยๆงดงามต่อๆไป ถ้าเราเอาวิถีไทยมาใช้ ถ้อยทีถ้อยอาศัยหล่อเลี้ยงน้ำใจกัน เป็นพื้นที่แห่งความสุขความหวัง ที่พอจะช่วยกันก่อเกิดพลังใจระหว่างกัน ไปเยี่ยมยามถามข่าว ส่งเรื่องราวและของฝากแบ่งปันกัน สังคมแห่งความเอื้ออาทรกำลังจะผลิบานน้อยๆแต่มั่นคง อาจจะแซวกันบ้างเพื่อความสนิทสนม ที่นี่ไม่มีเขามีแต่เรา ทุกคนเป็นตัวคูณของกันและกัน บางจังหวะได้อ่านการโต้ตอบ..แบบกอร่อกอติกก็ถือว่าเป็นอายิโน๊ะโม๊ะโต๊ะเสริมบรรยากาศ ที่เป็นเสน่ห์ของการเขียนแบบฉบับของหมู่เฮา เราไม่ได้เขียนเชิงวิชาการไม่ได้เขียนวิทยานิพนธ์ แต่เรากำลังเขียนแบบปะปนความซาบซึ้งให้กัน จึงขอขอบคุณกองเชียร์ที่คอยอ่านคอยให้กำลังใจ
เรามาให้กำลังใจกันเถิด
อ่านแล้วก็มีแก่ใจคอมเมนท์บ้าง
นึกถึงหัวอกคนอื่นบ้างก็ดีนะ
น้ำใจก็มีคนทุกคน..ควรนำไปรดไมตรีให้งอกเงย..
ถ้าเราเริ่มกระชับพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้เข้าหากัน ใครติดขัดสงสัยประเด็นไหนก็ส่งโจทย์ขึ้นมา ข้าผู้น้อยพอรู้บ้างแค่หางอึ่งก็จะปะติดปะต่อให้ฟัง ทำไมละครับ ไม่เป็นกูรูก็เว้าวอนสู่กันฟังได้ ท่านใดมีข้อมูลเพิ่มก็ถ่างขยายให้กว้างขึ้น ละเอียดขึ้น ไม่อย่างนั้นเราจะ..เข้ามาใช้FB.ให้เสียเวลาทำไมละครับ
ผมสังเกตุว่า..ในFB.เราจับกลุ่มกันมากมาย ใครใคร่เข้าไปเป็นเพื่อนกลุ่มไหนก็สมัครใจเข้าไปตามอัธยาศัย ดูเหมือนมันจะมีเค้าโครงหลวมๆอยู่พอประมาณ กลุ่มสวนป่าก็กระดี๊กระด๊าหาบริบทของตนเอง ค่อยๆเรียนรู้ค่อยๆเติบใหญ่ จนเมื่อชัดเจนกระจ่างใจแล้ว ก็จะเกิดเป็นวัฒธรรมของกลุ่ม พัฒนาเป็นขององค์กรในลำดับต่อไป
ผมเชื่อว่ากลุ่มเรา..คงจะไม่ช้าเป็นเต่าเตาะแตะอยู่อย่างนี้หรอก
อีกหน่อยความสามารถในตัวท่านทั้งหลาย
ก็จะช่วยกันติดเทอร์โบให้เต่าตัวนี้
วิธีที่ดีและง่ายที่สุดก็คือสร้างนิสัยคอมเมนท์ให้กันและกัน
สิ่งนี้เป็นตัวชี้วัดว่า..ท่านสนใจจะเป็นผู้เรียนแล้วหรือยัง
ไม่ต้องคอมเมนท์แบบเอาเป็นเอาตายอะไรหรอกนะครับ
มาอิๆเอ๊ะๆกันบ้างก็นับว่าได้หล่อเลี้ยงน้ำใจให้กันแล้ว..
ช่วยกันสร้างวัฒนธรรมการคอมเมนท์กันหน่อยได้ไหมคนสวย
ไผ่หม่าจู
เพื่อขยายความที่เยิ่นเย้อข้างบน วันนี้จะเขียนข่าวเล่าแจ้ง“เรื่องไผ่” ด้วยมีคนสวยสนใจอากจะให้เขียนเรื่องนี้ เมื่อคนดีต้องการ เราก็บริการให้กันสิครับ การที่มีผู้ข้อร้อง ผู้ตั้งโจทย์ให้ เป็นจุดเริ่มที่สำคัญ ดีกว่าการเขียนเปะปะตามอำเภอใจ แสดงว่า..รูปรอยของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เริ่มเข้าสู่บทที่1แล้ว..จึงขอนำเสนอเรื่องตามที่มีการร้องขอ ณ บัดนี้..
วันนี้จะเล่าเรื่องไผ่ฉบับย่อตามบริบทที่สวนป่าได้ถูลู่ถูกังมา
..กล่าวนามตามท้องเรื่อง..นับตั้งแต่บรรพบุรุษได้มาหักร้างถางพงจับจองพื้นที่ตรงนี้ หลังจากเคลียพื้นที่ป่าให้เป็นพื้นที่กสิกรรมแล้ว สิ่งแรกที่ลงมือก็ทำลงมือปลูกก็คือปัจจัยที่จำเป็นเบื้องต้น ..สร้างกระต๊อบขึ้นมาพำนัก สร้างคอกควาย ตัวพลังงานหลักในขณะนั้น ปลูกพืชอาหารที่จำเป็น เช่น มะกรูด มะนาว ตะไคร้ ข่า พริก มะเขือ แมงลัก กระเพรา กล้วย อ้อย หลังจากนั้น มะพร่้าว มะม่วง ขนุน น้อยหน่าก็ตามมา พร้อมกับหน่อไผ่มาลงไว้ที่มุมสวน เป็นไผ่พันธุ์มีหนามลำใหญ่ที่ครัวเรือนไทยอีสานปลูกกันทั่วไป เพื่ออาศัยคุณสมบัติของไม้ชนิดนี้ได้สารพัดประโยชน์ จักสานก็ได้ ใช้ทั้งลำมาเป็นเค้าโครงกระต๊อบก็ดี หน่อยังแกงป่าเด็ดสะระตี่นัก
ควรนึกด้วยว่าในป่าสมัยนั้นไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆเลย
เกษตรกรต้องคิดพึ่งพาตัวเอง100%
ไม่มีเพื่อนบ้าน อยู่เดี่ยวโดดกลางป่า
เกิดอะไรขึ้นมา ต้องการอะไร
มีวิธีเดียว ให้ถามตัวเอง
แสดงว่าในอดีตเราทำเรื่องความพอเพียงอย่างถึงพริกถึงขิงมาแล้วละครับ
ไผ่กิมซุง
ไผ่เป็นตัวเลือกลำดับต้นๆที่ควรลงไว้ ต่อมาบ้านเมืองเจริญขึ้น นักส่งเสริมการเกษตร พ่อค้าพันธุ์ไม้ ผู้สนใจเรื่องพันธุ์ไม้ ได้นำไผ่สายพันธุ์ดีเข้ามาขยายในประเทศเรา เมื่อ50ปีที่แล้ว ชาวบ้านฮือฮากันมากกับไผ่ตงจากเมืองจีน จะไม่ตาโตยังไงละเธอ แต่ละหน่อโตเท่าโคนขา ออกหน่อครึดรอบกอไปหมด เอามาต้มใส่กระดูกสุกรก็หวานฉ่ำ เอาไปผัดเอาไปใส่ห่อหมกอร่อยเหาะ เรียกว่าเอามาทำอาหารจะโดนใจกว่าหน่อไผ่รวกหน่อเล็กๆของเราว่างั้นเถอะ
ยังไม่จบแค่นี้หรอกเธอ
ไผ่พันธุ์ดีๆแปลกๆจากทั่วโลกทยอยเข้ามาสู่แผ่นดินไทยไม่น้อยหน้าพันธุ์ไม้อื่นๆ
ผมในฐานะเกษตรกรที่ปลูกสร้างสวนป่า รับรางวัลจากในหลวงด้วยนะเธอ ผมจึงสนใจพันธุ์ไม้แปลกๆทุกชนิด สนใจซื้อหามาทดลองปลูกหลายหลาก ปลูกแล้วก็รอชื่นชม สมัยเมื่อ30กว่าปีที่ผมมาปักหลักปลูกป่า ผมก็ได้พันธุ์ไผ่บงจากศูนย์เพาะชำกล้าไม้มาปลูกเป็นแนวรั้ว ปัจจุบันเป็นทิวไผ่ให้ใช้ประโยชน์ได้ไม่อั้น ถัดมา20ปี ไผ่บงหวานมีผู้นำมาจากจังหวัดเลยมาเสนอขายหน่อละ30บาท ผมสั่งมาปลูก30หน่อ ไผ่บงหวานก็ขึ้นรอบๆบ้าน ให้อาศัยร่มเงาอาศัยลำต้นและอาศัยหน่อ จุดพิเศษของไผ่บงหวานก็คือ หักเปาะออกมาปอกเปลือกออกเคี้ยวกินสดๆได้เลย ไม่มีรสขื่นแม้แต่นิดเดียว นับว่าอัศจรรย์ไม่เบาในสมัยนั้น จะเอาไปต้ม/ไปผัด/ไปยำ/กรอบอร่อยไปหมด
ไผ่หม่าจู
ถัดมาอีก10ปี มีไผ่แปลกๆใหม่ๆที่หน่วยราชการส่งเสริม เช่น ไผ่หม่าจู หม่าจูเป็นไผ่ที่มีหน่ออร่อยมาก ที่เราเห็นตุ๋นไผ่ในร้านข้าวต้มในภัตตาคารล้วนเป็นหน่อไผ่ชนิดนี้ โครงการหลวงขายหน่อสดก.ก.ละ60บาท ขายลำต้นราคาลำเล็ก-ใหญ่ตามขนาด ราคาตั้งแต่100-400บาท/ลำ ส่วนหน่อกิ่งตอนราคาอยู่ที่ 150-200 บาท เป็นไผ่ที่มีลำเปลาตรง ไม่มีกิ่งก้านเกะกะเหมือนไผ่อื่น มีความแข็งแรงทนทาน นำไปทำเฟอร์นิเจอร์ได้ดี
ไผ่บงหวานเมืองเลย
3 ปีต่อมามีไผ่เข้ามาเขย่าวงการอีกชนิดหนึ่ง เป็นไผ่ที่ปลูกกินหน่อ ถ้าใส่ปุ๋ยรดน้ำจะออกหน่อรอบโคนทั้งปี ไผ่ชนิดนี้โดนใจคนอีสานเข้าเต็มๆ พวกชอบกินซุปไผ่ชอบใจมาก บางคนถึงกับเอามาตั้งชื่อใหม่ว่า “ไผ่แม่ลูกดก” ชื่อเป็นทางการคือ “ไผ่กิมซุง” คุณคอนฯซื้อมาฝาก5หน่อ ปลูกรอด4หน่อ ตอนออกมาใหม่ๆราคากิ่งพันธุ์ละ 250-500 บาท ตอนนี้เป็นแตกกอใหญ่ยืนต้นถาวรแล้ว
ปีที่แล้วทดลองขยายพันธุ์ตามสไตล์ของผม
ให้ลูกน้องไปตัดลำต้นกลางแก่กลางอ่อนมาเป็นท่อนๆยาว 2 เมตร
เอาสว่านเจาะหลุม ใส่ปุ๋ย แล้วหย่อยท่อนพันธุ์ลงปลูก
เดินท่อน้ำหยดช่วยรดใน 2 เดือนแรก หรือยามฝนทิ้งช่วงบ้าง
ผ่านไป1ปี ไผ่20หลุมเหลือรอดมาเติบใหญ่18 หลุม
วิธีนี้ง่ายจริงๆ..แต่เหมาะกับการขยายพันธุ์ในพื้นที่ (ตัดปุ๊บปลูกปั๊บ)
ต่อๆมาผมก็ยังปลูกไผ่พันธุ์ใหม่ๆ ไผ่เหลือง ไผ่ซางนวล ไผ่บงเขียวปราจีน ไผ่บงพันธุ์ศรีสะเกษ ผมยังรักษาพันธุ์ไผ่ป่าไว้ด้วยนะ.. เธอเอ๋ยมันมีหนามยุบยับไปทั้งกอ หนามแหลมคมซะด้วย สมัยก่อนเขาปลูกล้อมบ้าน ปลูกเป็นรั้วล้อมคอกวัวควาย โจรขะโมยเห็นหนามไผ่มิดชิดถึงกับหมดปัญญาบุกมาย่องเบา
ใครจะบ้าไปถางหนามไผ่หนาหลายเมตรบุกเข้ามาละครับ
ปีที่แล้วขาใหญ่ชวนไปเมืองจีน ไปดูเรื่องการปลูกไผ่ เพราะมีโครงการจะปลูกไผ่ขนานใหญ่ในประเทศไทยและประเทศลาว ก่อนปลูกก็พากันไปหาความรู้ ผมพาขาใหญ่ไปหาครูอึ่งที่ลำพูน ไปคุยกับนักอุตสาหกรรมไผ่มือหนึ่งของเอเซีย ที่ค้นคิดเทคนิคการแปรรูปไผ่ได้ดี ผลิตไม้ไผ่แผ่นแปรรูปส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลก ในระยะใกล้เคียงกัน กรมป่าไม้จัดประชุมวิชาการประจำปี กรมฯเชิญไปบรรยายเรื่องการปลูกสวนป่า ได้โอกาสสอบถามนักวิชาการในกรมป่าไม้เรื่องไผ่เพิ่มเติม เขาแนะนำให้ไปดูงานที่ประเทศจีนชื่อ”แบมบูซิตี้” ซึ่งเป็นเมืองที่รวบรวมเรื่องไผ่ไว้ครบวงจรแห่งหนึ่งของโลก
ผมสงสัยมานานแล้ว..เวลาดูหนังกำลังภายใน
ผู้กำกับออกแบบคิวบู๊ให้พระเอกโผร่างละลิ่วฟันฉั๊วะฉะที่ยอดไผ่
นึกชมในใจว่าเกษตรกรจีนนี่นายแน่มาก
มีฝีมือในการปลูกไผ่ไม่ให้แน่นกอแผ่ขยายเป็นลำๆเหมือนต้นไม้ทั่วไป
พอไปเห็นกับตา อีโธ่อีถังเอ๋ย..มันเป็นไผ่พันธุ์ที่ขึ้นเป็นต้นๆไม่ได้ขึ้นเป็นกอ
ผมก็เพิ่งเคยรู้เคยเห็น โง่เป็นบ้าเลยละครับ
ที่เมืองจีนมันขึ้นเองตามภูเขา..จีนตัดเอามาทำนั่งร้าน ฯลฯ
กลับจากจีนก็กว้านซื้อพันธุ์ไผ่ซางนวลที่เมืองลับแล ได้พันธุ์ไผ่ไปหลายหมื่นกิ่ง ส่งไปปลูกที่เลยและข้ามไปปลูกที่ลาว บังเอิญช่วงที่ส่งพันธุ์ไผ่ข้ามโขง ตรงกับช่วงที่น้ำท่วมใหญ่บางกอก ที่ลาวเองก็ท่วมท้นเช่นกัน กระแสน้ำในลำโขงเชี่ยวกราก พัดเอาเรือขนกิ่งไผ่จมไปลำหนึ่ง พันธุ์ไผ่ถูกส่งไปปลูกในเมืองบาดาลเสียแล้ว เจ๊งไปหลายหมื่นกับลำที่จม ภายในเดือนหน้ากำลังหาเวลาว่างไปติดตามดูไผ่เสียหน่อย แทนที่จะนั่งฟังเพลงลูกทุ่งของไผ่ พงศธร เฉยๆ
ปีนี้ไผ่บงหวานเมืองเลยกอหน้าบ้านตายขุยก่อนตายไผ่ก็จะออกเมล็ดมาสืบทอดสายพันธุ์ เมล็ดไผ่เล็กๆคล้ายกับเมล็ดหญ้า สมัยก่อนตอนเจอภัยแล้งรุนแรงผู้คนอดอยาก ชาวบ้านป่าก็จะไปรวมรวมเมล็ดไผ่มาตำจะได้เหมือนเมล็ดข้าวเล็กๆ..เอามาหุงต้มผสมกับมันป่า แต่สมัยนี้ไม่ต้องแล้ว..ยามไผ่ออกเมล็ด..นกตัวเล็กๆจะยกโขยงมาปาร์ตี้เมล็ดไผ่จ๊อกแจ๊กทั้งวัน
เมล็ดไผ่หล่นเกลื่อนพื้น
ผมเอาน้ำรดไว้ ไม่นานนักหน่อไผ่เล็กๆก็งอก
เราก็ไปถอนมาชำในถาดเพาะชำ
อายุได้ 3 เดือนก็นำไปปลูกได้
ข้อดีก็คือจะได้นับอายุเลข1ของไผ่ชนิดนี้
: หมายเหตุ
- 1. ถ้าศึกษาจะรู้ว่าไผ่แต่ละชนิดอายุไม่เท่ากัน50-100ปี ถึงเวลาก็ตายพร้อมกัน
- 2. ถ้าสนใจเรื่องไผ่เวลามาที่สวนป่า ก็อี๋อ๋อชวนเสวนาหาความรู้เพิ่มเติมได้
- 3. ถ้าสนใจจะเพาะเมล็ดไผ่ มาช่วงนี้แหละได้เรียนปฏิบัติแน่ๆ
- 4. ถ้าอยากจะชิมไผ่ ต้มไผ่ ผัดไผ่ แกงไผ่ ทำซุปหน่อไม้ ก็มาช่วงนี้แหละ
- 5. ถ้าอยากรู้ว่าไม่แก่ดัดยากไม้อ่อนดัดง่าย ก็ลองมาดัดดู
- 6. ถ้าจะนอนนวดเตียงไม้ไผ่นั่งในกระต๊อบไม้ไผ่ได้เลย หมอนวดให้นวดกันเอง
- 7. ถ้าจะตามดู เรื่องดินขุยไผ่ หนอนรถด่วน เรียนการขยายพันธุ์มาได้เลย
- 8. ถ้าจะอ่านอย่างเดียวไม่คอมเมนท์ นี่น่าโดนไม้เรียวไม้ไผ่
แคว๊กๆ
ความคิดเห็นสำหรับ "ขอปลูกไผ่ในหัวใจเธอได้ไหม"