แผนผังวิถีชีวิตเกษตรกร
:: เรื่องยาว ถ้าไม่มีเวลาเปิดผ่าน พับ พับ
บทความประกอบการอภิปราย กลุ่ม 3
เรื่องก้าวใหม่สู่ความมั่นคงอาหารและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
วันที่ 7 กรกฎาคม 2554 ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์ บอลรูม อิมแพ็ค เมืองทองธานี
ในงานประชุม(ร่าง) แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ฉบับ 11 (พ.ศ.2555-2559)
โดย ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์
—————————————————————————————-
(จอมยุทธอะคาเซียจากออสเตรเลีย)
จะเรียกว่าถ่ายทอดหรือถ่ายเทความรู้สึกนึกคิดก็คงได้กระมัง ความเห็นที่ได้มาจากประสบการณ์ตรง ลองถูกลองผิดในช่วงที่ต้นทุนธรรมชาติยังมั่งคั่งสมบูรณ์ จนกระทั้งมาถึงยุคทุนหายกำไรหด ธรรมชาติเริ่มประชดประชันความไม่เอาไหนของมนุษย์ ดังจะปรากฏเห็นในรูปของภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ทุกภูมิภาคของไทย ทำไมเมื่อก่อนมันไม่วิกฤติไล่กันมาเป็นกระทอกทั้งปีอย่างนี้ หรือว่าเดินมาถึงจุด..
“เ รี ย ม เ ห ลื อ ท น แ ล้ ว นั่ น ”
จากการที่ไม่เคยรู้เคยคิดอะไรล่วงหน้าไกลๆ นึกว่าหักร้างถางพงแล้วเพาะปลูกพืชพรรณธัญญาหาร ทำมาหากินตามประสาชาวไร่ชาวนา แรกก็ดูดีมีความเจริญงอกงามของพืชไร่พืชสวน แต่การทำซ้ำแบบไม่บันยะบันยัง ต้นทุนที่ธรรมชาติสะสมไว้เป็นพันเป็นหมื่นปี ก็สูญเสียไปเพราะความไม่รู้ของมนุษย์ สภาพแวดล้อม ความเสื่อมโทรมของผิวดิน ความชุ่มชื้น อินทรียวัตถุ เรียกรวมๆว่าวงจรธรรมชาติเบี่ยงเบนไป ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพ และสภาพแวดล้อมที่เป็นพลังกำกับดูแลโลกให้สมดุลเริ่มพลิกคว่ำพลิกหงาย การทำมาหากินแบบมักง่าย ตะกายต่อไปไม่ได้แล้ว ปัจจัยการผลิต/ต้นทุนสูง/แรงงานหดหาย/ขายได้ราคาไม่คุ้มทุน/ เป็นผลบังคับทางอ้อมให้ เ ก ษ ต ร ก ร เ ป ลี่ ย น อ า ชี พ ไ ป เ ป็ น ก ร ร ม ก ร
ทั้งๆที่ประสบเคราะห์กรรมอยู่โทนโท่ แต่มนุษย์ทุกฝ่ายก็ยังไม่รู้สึกรู้ร้อนรู้หนาว ยังตะบึงตะแบงไปขางหน้า ใช้เทคโนโลยีใช้วิธีจัดการใช้กระบวนการที่คิดว่าเจ๋งแล้วมาแก้ปัญหามลภาวะในธรรมชาติ
ถามว่า..วั น นี้ เ ร า อ ยู่ กั บ ชุ ด ค ว า ม รู้ อ ะ ไ ร ?
การพัฒนาแบบกินทุนเก่าจนหมดเค้าแล้ว
แถมยังสร้างมลภาวะตกค้างเรี่ยราดมากมาย
ตั้งแต่นี้ต่อไปไม่มีต้นทุนกินเปล่าหรือของฟรีให้มนุษย์ล้างผลาญอีกแล้ว
แผนพัฒนาฯจะต้องมองอย่างน้อย 2มุม
1 วิธีชะลอหรือหยุดการใช้ทรัพยากรที่ไม่เหมาะสม
2 วิธีเสริมสร้างต้นทุนธรรมชาติอย่างกว้างขวางและเป็นรูปธรรม
3 ประชากรมากขึ้น ต้องข้องแวะกับทรัพยากรมาขึ้นจะบริหารอย่างไร
4 ยุทธศาสตร์โลก มนุษย์จะช่วยกันทำนุบำรุงธรรมชาติมากกว่าการทำลาย
ได้อย่างไร?
5 คำว่าทรัพยากรไม่ได้จำกัดอยู่ในแผนที่ประเทศ แต่สภาพภูมิศาสตร์โลก
เกี่ยวข้องกันครึ่งค่อนโลก หรืออย่างน้อยก็อยู่ในกลุ่มอาเชียน
ถามว่า จะเอางบประมาณที่ไหน?
ตอบ เราเอางบประมาณที่ไหนละซ่อมบำรุงในยามวิกฤติต่างๆ
เรื่องนี้หนีไม่ออก เพราะความปกติสุขของโลกนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของธรรมชาติในแต่ละพื้นที่ถิ่นนั้น ประเทศเราโชคดีเท่าไหร่แล้ว ที่มีต้นทุนระดับแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง มีความหลากหลายทางชีวภาพชั้นนำของโลก ถ้าพัฒนาให้ดีก็จะกระดี่กระด้าเป็นครัวโลกได้จริงๆนะเธอ..
มีนักวิชาการของลานปัญญา ร.ศ.ดร.ทวิช จิตสมบูรณ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เสนอปัญหานี้อย่างน่าสนใจ ขออนุญาตเอามาแปะไว้ให้พิจารณาร่วมกันดังนี้
เรื่องสมดุลระหว่าง เทคโนโลยี เศรษฐกิจ และ วัฒนธรรมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน
นักปราชญ์เป็นจำนวนมาก ได้วิเคราะห์และสรุปไว้ว่า การดำรงอยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืนของสรรพสิ่งในธรรมชาตินั้นล้วนแต่มีพื้นฐานมาจากการเกิดสมดุลระหว่างองคาพยพต่างๆทั้งสิ้น การสมดุลในที่นี้หมายถึงสิ่งต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกันต่างก็เกื้อหนุนค้ำจุนซึ่งกันและกันอย่างลงตัว ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกัน เนื่องจากไม่มีใครสะสมส่วนเกิน (ที่เกินจำเป็นต่อการดำรงชีวิต) เช่น ในระบบนิเวศน์ของป่าน้ำลำธาร สัตว์ป่ากินพืชได้อาศัยหญ้าและใบไม้เป็นอาหาร พร้อมกับช่วยแพร่พันธุ์ให้กับพืชสกุลต่างๆ เพราะเมล็ดพันธุ์ที่กินเข้าไป หรือ ติดไปตามขนสัตว์ และเมื่อถ่ายมูลก็เป็นปุ๋ย ตายลงร่างกายก็เน่าเปื่อยกลายเป็นปุ๋ยคืนให้พืชได้กินซากของตนบ้าง แต่หากไม่มีสัตว์กินเนื้ออยู่ด้วย สัตว์กินพืชก็จะมีจำนวนมากจนทำลายพืชได้หมด ดังนั้นสัตว์กินเนื้อพวก งู เสือ สิงโต จึงคอยควบคุมจำนวนสัตว์กินพืชให้อยู่ในปริมาณพอเหมาะ (ได้สมดุล) นอกจากนี้รากไม้ยังช่วยอุ้มน้ำฝน ทำให้น้ำค่อยๆไหลสู่ลำธาร นำความชุ่มชื้นให้กับป่า และเป็นแหล่งน้ำให้สัตว์ทั้งหลายได้ใช้ในการดำรงชีวิต ดังนี้จะเห็นว่าเกิดการสมดุลกันมาเป็นเวลายาวนานมาก สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย (รวมทั้งมนุษย์) จึงดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขตามสมควรมาเป็นระยะเวลานานแต่ สังคมอดีตกาล
นับแต่ยุคอุตสาหกรรมเป็นต้นมา เริ่มส่อเค้าว่าความสมดุลเริ่มเปลี่ยนไปมาก เพราะสัตว์สกุลหนึ่ง (เรียกขานกันว่ามนุษย์) เริ่มค้นพบวิธีที่จะทำการสะสมส่วนเกินจำเป็นในการดำรงชีวิตได้อย่างมากและ รวดเร็ว ทั้งนี้เป็นผลมาจากมันสมองที่ได้รับวิวัฒนาการจนถึงขั้นหนึ่งทำให้ค้นพบ กรรมวิธีการผลิตแบบใหม่ ผนวกกับการค้นพบระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ ที่มีรากฐานอยู่บนความต้องการในการบริโภคสิ่งต่างๆของมนุษย์ ที่นอกเหนือจากความจำเป็นในการดำรงชีวิต รวมทั้งการสะสมส่วนเกินเพื่อ”ความมั่นคง”ของชีวิต ทั้งสองสิ่งนี้กลายเป็น “วัฒนธรรม” แบบใหม่ที่มนุษย์ใช้เป็นบรรทัดฐานในการดำรงชีวิต อาจเรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรม “บริโภคนิยม” (consumerist culture)
ทั้งสามสิ่งนี้เกื้อหนุนกันอยู่อย่าง “ไม่สมดุล” ทั้งนี้เป็นเพราะมีการบริโภคและสะสมส่วนเกินที่ “เกินความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต” ยิ่งไปกว่านั้นในปัจจุบันนี้เทคโนโลยีด้านการแพทย์เจริญก้าวหน้ามาก ทำให้อัตราการตายของมนุษย์ลดน้อยลงมาก ทำให้จำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อจำนวนคนมีมากกว่าเดิม และแต่ละคนบริโภคและสะสมมากกว่าเดิมในสังคมบุพกาล จึงนับเป็นการขาดการสมดุลเป็นอย่างยิ่ง
การไม่สมดุลนี้จะนำพามนุษย์ชาติไปสู่ความหายนะใหญ่หลวงประการใด ยังมิอาจประเมินได้ ณ จุดนี้ แต่ประเด็นนี้ไม่อาจรอให้เหตุเกิดเสียก่อนแล้วจึงค่อยคิดแก้ไข เหมือนดังเช่นในกรณีอื่นๆ เพราะหากถึงจุดนั้นแล้ว อาจหมายถึงความล่มสลายอย่างเฉียบพลันและรุนแรงจนไม่อาจฟื้นคืนสภาพได้อีกเลย (irreversible damage) อุปมาเช่น การสะสมทองเอาไว้ในบ้านมากขึ้นๆทุกวันโดยไม่ได้เอาออกไปทำประโยชน์อะไร สักวันหนึ่งบ้านก็จะพังครืนลงมาเพราะทนรับน้ำหนักทองที่สะสมไว้ไม่ได้
และหากเกิดการพังทลายครืนลงของระบบธรรมชาติที่ค้ำจุนเราอยู่ ก็ย่อมกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเรา และ ของคนทั้งโลกโดยถ้วนหน้า ดังนั้นหน้าที่สำคัญอันหนึ่งของเรา คนไทย และของคนทั้งโลก คือต้องไม่บริโภค หรือสะสมจนเกินพอดี รวมทั้งต้องช่วยกันให้ความรู้แก่ผู้อื่นที่ยังไม่มีทัศนะทางด้านนี้ด้วย หากทุกคนถือว่าไม่ใช่หน้าที่ ต่างพากันละเลย วันนั้นย่อมมาถึงสักวันหนึ่งอย่างแน่นอน
เราจะต้องร่วมกันสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ยั่งยืน ซึ่งเราทุกคนในฐานะเจ้าของโลกต้องช่วยกันคิด โดยอาจเริ่มต้นด้วยการถอยไปตั้งหลักใหม่เสียก่อนด้วยการ “ถอยหลังเข้าคลอง” หวนกลับไปพัฒนาวัฒนธรรมใหม่แบบเก่า เช่นวัฒนธรรมไทยแต่โบราณ ที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน ไม่สะสมจนเกินพอดี หากใครเกิดความทุกข์ยากเดือดร้อนก็มีระบบสงเคราะห์กลางที่คอยบรรเทาช่วย เหลือ
ระบบเศรษฐกิจเช่นนี้ จะไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากผู้นำประเทศทั่วโลกในยุค ”แข่งกันรวย” ที่วัดความภูมิใจของประเทศจากอันดับการแข่งขันที่ได้รับการจัดจากองค์กรต่างๆ ยามใดที่ลำดับการแข่งขันของประเทศตกจากลำดับ 42 เป็น 46 รัฐบาลก็จะเร่งทุ่มงบพัฒนาให้ได้ลำดับสูงขึ้น หากทุกประเทศใช้ระบบนี้หมดในการบริหารเศรษฐกิจและสังคม ก็นับได้ว่าเป็นระบบที่แข่งกันไปสู่ความหายนะ สักวันหนึ่ง คงไม่แคล้วว่าวันโลกาวินาศจะมาถึง
โจทย์ ให้ท่านคิดวิธีการในการชะลอ หรือ หยุด การแข่งขันไปสู่วันโลกาวินาศของประเทศทั้งหลายในโลกมาคนละ 3 วิธี อธิบายถึงเหตุผลด้วยว่าวิธีของท่านจะช่วยชะลอ หรือ หยุด การแข่งขันนี้ได้อย่างไร
จากบทเรียนที่ชาวอามิชได้ทำเป็นตัวอย่างไว้ เราน่าจะได้สัมมนากันอย่างหนัก เพื่อหาข้อสรุปให้ได้ชัดเจนว่า นิยามของความสุขที่จริงแท้ ที่เกิดความสมดุลระหว่างความต้องการของปัจเจก ของสังคมประเทศ และของสังคมโลก ในลักษณะที่สอดคล้องกับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมพร้อมกันไปนั้น คืออะไรกันแน่
เพื่อหาคำนิยามนี้ให้ได้ อาจจำเป็นที่จะต้องเริ่มด้วยการถามคำถามง่ายๆ(แต่ตอบยาก)เสียก่อนว่า “ค น เ ร า เ กิ ด ม า เ พื่ อ จุ ด ป ร ะ ส ง ค์ ใ ด” หากตอบคำถามนี้ได้ไม่ถูกต้องอย่างสมบูรณ์ก็คงจะเป็นการยากที่จะกำหนดจุดหมาย และคุณภาพชีวิตของมนุษยชาติร่วมกัน
สมมติว่าเราได้สัมมนาร่วมกันจนได้ข้อสรุปที่ถูกต้องและสมบูรณ์แล้ว (จะมั่นใจได้อย่างไรว่ามีความถูกต้องสมบูรณ์โดยปราศจากการลำเอียงเข้าข้างตน เองของปัจเจกชน ของสังคมประเทศ และ ของสังคมโลก) จากนั้นเราก็คงต้องเลือกใช้เฉพาะเทคโนโลยีที่ไม่ลดทอนความสมดุลแห่งปัจจัย ของความสุขนั้น ซึ่งฟังดูเหมือนกับว่าเป็นเรื่องง่ายๆ แต่หากคิดให้ดีจะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ยากที่สุด เพราะเกี่ยวพันกับบุคคลหกพันกว่าล้านคนในโลก ประเทศกว่าสองร้อยประเทศ ในจำนวนนี้เป็นประเทศมหาอำนาจทางทหารและเศรษฐกิจประมาณ 10 ประเทศ ที่ได้พัฒนาเศรษฐกิจแบบไม่ยั่งยืนมากว่าหนึ่งร้อยปีจนร่ำรวยกันอย่างมหาศาล การที่จู่ๆจะไปบอกให้พวกเขาลดการร่ำรวยลงเพื่อให้ลูกหลานของชาวโลกได้มีหลัก ประกันคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนนั้น คงไม่ใช่เรื่องง่าย
หากสังคมมนุษย์ยังไม่มีหรือยังไม่ยอมรับในปรัชญาคุณภาพชีวิตที่สมดุลกับ ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรกเสียก่อน คงจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนการผลิตและสังคมบริโภคที่ เชื่อกันว่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่นำความล่มสลาย (ไม่ยั่งยืน) มาสู่โลกของเราในที่สุด
เป็นที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่า ความจนเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี แต่อย่าลืมด้วยว่าคนจนมีอยู่สองประเภท คือประเภท”มีไม่พอ” กับ ประเภท “พอไม่มี” (คือไม่รู้จักพอ) คนจนประเภทหลังนี้น่าเป็นห่วงกว่าประเภทแรก เพราะแม้จะเป็นคนที่คนทั้งหลายจัดอันดับให้ว่าเป็นคนที่รวยที่สุดในประเทศ หรือในโลกแล้วก็ตาม ก็ยังไม่รู้จักพอ ยังสร้างสรรค์ความร่ำรวยให้ตนเองอีกต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งคนจนประเภทนี้เป็นพวกที่กุมระบบเศรษฐกิจฐานการผลิตและการบริการของสังคม โลกโดยรวม จึงเชื่อได้ว่าหากยังเป็นอย่างนี้ต่อไป การ “สร้างสรรค์” ของท่านเหล่านี้คงจะ “ทำลาย” สิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆมากมายทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
วิธีการหยุดยั้งการ”สร้างสรรค์”วิธีหนึ่งที่เราทุกคนในฐานะพลโลกอาจช่วย กันได้คนละไม้คนละมือคือ..การลดทอนการบริโภคอันเกินพอดีของเราลงให้อยู่ใน ระดับสมดุลอันหนึ่ง…..
จากแง่คิดชวนคำนึงถึงความตระหนักแทนที่จะนั่งตระหนกรำพึงรำพัน หรือทำอะไรแบบไฟไหม้ฟาง วูบแล้ววูบเล่าเอาเป็นหลักเป็นฐานไม่ได้สักที อันที่จริงการวางรากฐานในเรื่องนี้ คงมีแทรกอยู่ในวัฒนธรรมดั่งเดิมของชนเผ่าต่างๆทั่วโลก ต่อเมื่อมีกระแสโง่ที่เรียกว่าวิทยาการหรือเทคโนโลยีใหม่ทยอยเข้ามา ก็ยิ่งทำให้ความคิดอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับความสมดุลของโลกกระจัดกระจายกัน ดูแลบ้าง อนุรักษ์บ้าง มีแผนแม่บทเชิงหลักการสร้างสมดุลทางธรรมชาติ รวมทั้งงานวิจัยที่ตีบทไม่แตกกี่ฉบับ?
จนกระทั้งมาถึงวันนี้ มนุษยชาติก็ยังไม่มีมาตรการที่จะดูแลโลกใบนี้ให้ปลอดภัย แม้แต่กฎบัตร กฎกติการะหว่างประเทศที่ว่าด้วยการบริบาลโลกก็ยักแย่ยักยัน พวกกลุ่มที่มีผลประโยชน์ไม่ยอมเอาด้วย โลกใบนี้จึงอมโรคอมปัญหารอวันปะทุรุนแรงมากขึ้น ดังมีผู้เรียกว่า..ก า ร เ อ า คื น ท า ง ธ ร ร ม ช า ติ เทคโนโลยีที่ได้อย่างเสียอย่างเป็นเหมือนน้ำตาลเคลือบยาพิษ ที่ทำให้มนุษย์ทุกผู้ทุกนามจ่ายค่าเสื่อมคุณภาพชีวิตทุกเมื่อเชื่อวัน
ถามว่า..มีกรณีตัวอย่างชัดๆบ้างไหม ในการที่มนุษย์จะดำรงอยู่บนโลกใบนี้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ถ้าเราพิจารณาหลักธรรมคำสั่งสอนของศาสนาต่างๆ โดยเฉพาะศาสนาพุทธ จารีตประเพณี วิถีไทย และภูมิปัญญาไทย ได้อบรมสั่งสอนให้มนุษย์อยู่อย่างมีเหตุมีผล ประเทศไทยยังมีเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแผนแม่บทชี้นำให้เกิดการตื่นตัว แต่ก็ต้องบอกเล่าความจริงว่า ..เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่ปรากฏยังเป็นลายแทงที่แทงผิดแทงถูก มีบ้างที่ตั้งใจนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง แต่ส่วนใหญ่ยังทำอยู่ในระดับ..ลิ ง ห ล อ ก เ จ้ า ที่ผ่านมาเราสิ้นเปลืองงบประมาณในการประชุม-ฝึกอบรมไปไม่น้อย พวกที่ไม่ดูตาม้าตาเรือก็เดินหน้าสร้างปัญหาอย่างเข้มข้น คนจนรายเล็กรายน้อยต้องโอบอุ้มให้มีแรงพอที่จะค่อยคิดค่อยทำค่อยเรียนด้วยความอดทน เพราะส่วนใหญ่ถลำไปกับกระแส..
อยากจะร ว ย ง่ า ย ๆ ร ว ย ม า ก ๆ ร ว ย เ ร็ ว ๆ
ทั้งๆที่ความเป็นไปได้มันยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นยอดดอยสุเทพ
โดยภาพรวมจึงอยู่ในระดับหนิงหน่อง
“ ..หนิงน่อง นวลน้องนะมาเมื่อไหร่
ทำไมไม่ทักไม่ทาย หรือจำไม่ได้ว่าฉันชื่อหนิงหน่อง..”
ถามว่า จะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างไร?
คงต้องมีนโยบายทำให้คนไทยเป็นผู้เรียนกระมังครับ
ถ้าไม่เรียน ไม่สนใจ ไม่ใฝ่รู้ ก็อยากที่พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติได้
เราจะปีนเกลียวพัฒนาชาติไปบนฐานความเกียจคร้านอย่างนั้นรึ
ฐานสังคมอุดมปัญญาอยู่ที่ไหน?
จะช่วยกันสร้างขึ้นมาได้อย่างไร?
แผนแม่บทด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะเกิดประกายพลังได้อย่างไร?
คงมีหลากหลายยุทธศาสตร์อย่างที่มีการระดมกันในครั้งนี้
ในระดับชุมชนสังคมเกษตรบ้านเรา จุดที่จะเรียกความสนใจได้ในเบื้องต้น
น่าจะเป็นวิธีลดการจ่ายค่าโง่ ทำให้เห็นประโยชน์ทั้งทางตรงทางอ้อม จับเข่าคุยกันว่า..ถ้าทำถูกวิธีมันจะได้จะดีมีความยั่งยืนอย่างนี้ ยกเหตุผลมาประกอบการให้ดู ทำอย่างเก่าได้อะไร? ถ้าทำแบบใหม่จะได้อะไร? ลองเปรียบเทียบกันดู
ขั้ น ต อ น ก า ร ส ร้ า ง ค ว า ม เ ข้ า ใจ
แ ล้ ว พั ฒ น า ไ ป เ ป็ น ค ว า ม ตั้ ง ใ จ
ออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสมง่ายๆได้ประโยชน์หลากหลายและเห็นผลเร็ว
ถ้าไม่ปรับกระบวนการตรงนี้
การส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงก็จะเป็นเสมือนแผ่นเสียงตกร่อง
มนุษย์เราสามารถแสวงหาปัจจัย4ได้จากต้นไม้ แต่เราก็พากันตัดไม้ทำลายป่าโครมๆ ปัญหาความเสื่อมถอยงานด้านการส่งเสริมอาชีพ จะไปโทษชาวบ้านฝ่ายเดียวไม่ได้หรอก ผู้ที่รับผิดชอบต้องสำนึกถึงกระบวนการที่ผ่องถ่ายลงไป ว่าอยู่ในระดับดีแต่พูด ดีแต่ครอบงำ ดีแต่สวมเขา ไม่ยอมสวมเรา ..การทำความเข้าใจอย่างถึงลูกถึงคนจำเป็นจะต้องมีจุดทำให้ฉุกคิด ..จะถ่างความคิดจากการปฏิบัติในวิถีชีวิตประจำวัน ด้วยวิธีใด
เ ร า จ ะ คิ ด ใ ห ม่ ไ ด้ ไ ห ม ?
ถ้ า เ ร า ไ ม่ เ รี ย น วิ ธี คิ ด
ประชาชนคนไทยจะไปเรียนวิธีคิดที่ไหน?
สถาบันการศึกษาสอนอย่างไร?
องค์กรชุมชน/ศูนย์เรียนรู้สอนกันอย่างไร?
แผนแม่บทฯกล่าวถึงเรื่องนี้อย่างไร?
เราจะเสริมสร้างทักษะชีวิตให้แก่เพื่อนร่วมชาติอย่างไร ถ้าปลุกให้คนไทยสนใจใฝ่คิดในเรื่องที่ถูกที่ควรไม่ได้ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ไม่อยากคิดคงน่าเบื่อหน่ายเต็มที จะให้ทำอะไรก็บอกมา ในขณะนี้เรามีมนุษย์พันธุ์ใบสั่งเต็มประเทศ ถ้าไม่เรื้อระบบการพัฒนาสังคมมนุษย์ใหม่ เราก็จะอยู่กับมนุษย์พันธุ์เก่า ผลลัพธ์เก่าๆ
เมื้อเย็นวานนี้ นัดพบกับเจ้าพ่อไม้อะคาเซีย ที่เดินทางมาจากประเทศออสเตรเลีย ได้มีเวลาจะ๗กันระหว่างรับประทานเลี้ยง ท่านผู้นี้ได้ศึกษาไม้พันธุ์นี้คนแรกของโลก เล่าว่าไม้พันธุ์นี้มีอยู่ประมาณพันกว่าชนิด เป็นไม้ที่มีคุณสมบัติหลากหลายวัตถุประสงค์ ระหว่างที่ทำการวิจัยได้พบไม้สายพันธุ์ดีหลายตัว นำไปทดลองปลูกทั่วย่านเอเชีย ในประเทศไทยได้ทดลองปลูกไว้ที่ศูนย์ศึกษาวิจัยสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา และปลูกไว้ตามศูนย์วิจัยพัฒนาพันธุ์ไม้ทั่วประเทศ
ในส่วนของมหาชีวาลัยอีสาน ได้ปลูกทดลองไม้อะเคเซียมาตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งช่วงนั้นพันธุ์ไม้ต่างๆยังไม่ได้มีการวิจัยคัดเลือกสายพันธุ์ดีเท่าที่ควร เป็นแต่นักพัฒนาพันธุ์ไม้เห็นว่าชนิดนั้นชนิดนี้ดีก็เลือกมาทดลองปลูก เราจึงเห็นต้นกระถินณรงค์ กระถินเทพา พันธุ์โซเซเหมือนคนเมาอยู่ตามโรงเรียน วัด และสถานที่ราชการ จอมยุทธอะเคเซียเล่าว่า ในครั้งนั้นนักปลูกไม้คิดแต่ว่าถ้าได้ช่วงลำต้นเปลาตรง2เมตรก็ดีแล้ว เพราะการทำเฟอนิเจอร์ก็ใช้ไม้ยาวประมาณนี้เป็นส่วนใหญ่
ผลของการพัฒนาพันธุ์ในชั้นต่อๆมาในระยะ20ปี นักพัฒนาพันธุ์ได้ผลิตพันธุ์ไม้ลูกผสมกลุ่มนี้ขึ้นมาให้มีคุณสมบัติดีขึ้นอย่างมาก ต้นเปลาตรง โตเร็ว เนื้อไม้สวยลวดลายดี สามารถนำไปปลูกเพื่อขยายผลได้ทั่วโลก บ้านเรามีความเหมาะสมต่อการปลูกป่าไม้อยู่แล้ว เมื่อเอาไม้ที่มีคุณสมบัติที่ดีปลูกมากๆ สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นฐานคิดฐานทำให้การดำเนินการเห็นประโยชน์ได้ชัดเจนมากขึ้น
จอมยุทธอะเคเซียเล่าว่า ประเทศเวียดนามได้ทุ่มเทพัฒนาพันธุ์ และส่งเสริมการปลูกไม้พันธุ์นี้กันอย่างกว้างขวาง ติดอันดับต้นๆที่บุกเบิกไม้พันธุ์นี้ ถ้าพิจารณาเปรียบเทียบในการเลือกชนิดของไม้ที่จะปลูกในแต่ละประเทศต่างๆ จุดสำคัญอยู่ที่เป้าประสงค์ว่าจะปลูกเพื่อนำไปใช้อย่างไร เหมาะสมต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างไร?
ในประเทศจีนมีแผนแม่บทเกี่ยวกับการปลูกสร้างต้นไม้เพื่อปรับภูมิทัศน์ และเสริมสร้างสภาพแวดล้อมเชิงรุกขนานใหญ่เพื่อต้อนรับกีฬาโอลิมปิก นอกจากปลูกป่าอย่างเอาจริงเอาจังแล้ว จีนยังย้ายโรงงานที่ก่อมลภาวะ30-40โรงงานขนาดใหญ่ออกจากเมืองหลวงกรุงปักกิ่ง ไปไว้ในที่ห่างไกล การจัดการแผนผังของเมือง จำเป็นต้องดำเนินงานภายใต้แผนแม่บทระดับชาติ คิดแล้วลงมือผ่าตัดภายใต้การวางแผนเชิงรุกอย่างมีประสิทธิภาพ กรุงปักกิ่งวันนี้ มีความสวยงามอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แม้แต่พื้นที่ห่างไกล จีนได้ปลูกไม้ยูคาลิปตัส/ไม้สนเป็นกำแพงกั้นลมและพายุทรายเป็นระยะทางยาวนับพันกิโลเมตร เป็นกำแพงเมืองจีนคู่ขนานแห่งยุคสมัยขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง
ผมสนใจปลูกไม้ยูคาลิปตัสมาก่อน พบว่าตลอดเวลา20กว่าปี ไม้ยูคาลิปตัสไม่มีการขึ้นราคาแต่อย่างใด เป็นไม้ที่เหมาะต่อการใช้สอยขนาดเล็ก เช่น ทำไม้ฟืน ทำเยื่อกระดาษ หรือนำไปประดิษฐ์เป็นเครื่องเรือน/สร้างบ้านเรือนได้บ้าง แต่ก็มีคุณสมบัติที่ยุ่งยากเช่นการบิดงอหรือแตกร้าว ถ้าจะปลูกเพื่อเป็นไม้ใช้สอยในระยะยาวแล้ว ควรเลือกปลูกไม้พื้นถิ่นบ้านเรา หรือไม้อะเคเซียจะดีกว่า
ไม้อะเคเซียมีจุดน่าสนใจหลายประการเช่น เป็นไม้ตระกูลถั่ว เป็นไม้เนื้อแข็งไม่บิดงอ ทนแล้ง โตเร็ว สามารถตัดสางขยายระยะนำเนื้อไม้มาทำเครื่องใช้ได้ในปีที่ 7 เป็นต้นไป กิ่งก้านนำมาผลิตเชื้อเพลิงได้ดี ส่วนใบนั้นผมนำไปทดลองเลี้ยงสัตว์ พบว่ามีคุณสมบัติที่จะนำไปผลิตอาหารสัตว์ได้ดี มหาชีวาลัยอีสานจึงสนใจที่จะทำการวิจัยเรื่องการใช้ใบไม้เป็นอาหารสัตว์เคี้ยวเอื้อง อยู่ในระหว่างการทดลองนำใบไม้หลายๆชนิดมาสับย่อยแล้วนำไปเลี้ยงโคและเลี้ยงแพะ จากจุดเล็กๆที่เห็นความพิเศษของใบไม้ ได้ขยายแนวคิดไปสู่เรื่องการส่งเสริมปลูกต้นไม้อย่างยั่งยืน
1. ปลูกต้นไม้หลายหลายสายพันธุ์หลายวัตถุประสงค์
2. ตัดเอากิ่งใบมาใช้ประโยชน์ ลำต้นปล่อยให้เจริญเติบโตเพื่อเพิ่มมูลค่า จากการปฏิบัติในข้อ2 ทำให้ชาวบ้านได้รับประโยชน์จากการปลูกต้นไม้ในระยะต้น ทำให้มีกำลังใจที่จะอดทนรอให้ไม้ที่ปลูกเจริญเติบโตต่อไป ทำให้การขยายพื้นที่สีเขียวเป็นไปอย่างยั่งยืน
3. ใบไม้ที่เอามาเป็นอาหารสัตว์ ได้กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชั้นดี มูลโคและแพะยังนำไปผลิตเป็นแก๊สหุงต้มได้อีกต่างหาก เป็นการพึ่งตนเองเรื่องพลังงานในครัวเรือน พึ่งตนเองด้านการผลิตปุ๋ย นำไปใส่ผักและต้นไม้ให้เจริญงอกงาม
4. แนวทางนี้ ทำให้ลดต้นทุนด้านอาหารสัตว์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ยังมีปุ๋ยที่ไม่ต้องไปซื้อหา ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี ลดการพึ่งพาภายนอกได้พอสมควร
5. ผลจากการปฏิบัติเบื้องต้น นำไปสู่โจทย์สืบเนื่องที่มาช่วยสนับสนุนกิจกรรมของครัวเรือนชาวบ้านให้เกิดการศึกษาทดลองหัวข้อใหม่ๆตามมา
5.1 การผลิตอาหารสัตว์กึ่งสำเร็จรูป
5.2 การผลิตปุ๋ยกึ่งธุรกิจ
5.3 การวิจัยสูตรอาหารที่มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น
5.4 การใช้ผลหวดข่าหรือผลไม้อื่นมาผลิตไวน์เลี้ยงสัตว์
5.5 การใช้ผลกราวเครือขาวผสมอาหารเลี้ยงสัตว์
5.6 การใช้น้ำควันไม้ผสมอาหารสัตว์
5.7 การฉีดฮอร์โมนกระตุ้นการเป็นสัตว์
5.8 การปรับปรุงการเลี้ยงขุนในการเลี้ยงโค
5.9 การปรับปรุงการเลี้ยงแพะนม
5.10 การใช้จุลินทรีย์มาหมักอาหารสัตว์
5.11 การปลูกอ้อย-มันสำปะหลัง มาผลิตอาหารสัตว์
5.12 การผลิตไบโอแก๊สจากมูลสัตว์
5.13 การวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลระดับชุมชน
5.14 การวางแผนสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลูกไม้ร่วมการเลี้ยงปศุสัตว์
5.15 การสร้างกิจกรรมสาธิตเพื่อการอบรมเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย
ประเด็นทางเลือกที่น่าสนใจเกี่ยวการาร้างความเข้มแข็งด้านอาหารและการเสริมสร้างธรรมชาติที่ยั่งยืน ถ้าพิจาณาศักยภาพของชนิดไม้ที่เหมาะสมกับการขาดแคลนทรัพยากรป่าไม้ในปัจจุบัน “ไม้ไผ่” เป็นพันธุ์ไม้ที่อยู่ในห้วงคำนึงของมหาชีวาลัยอีสาน ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม้ไผ่เป็นไม้เอนกประสงค์ที่ปลูกได้ในระยะเวลาอันสั้น เพียงอายุ 3 ปีก็จะมีลำไม้ไผ่หมุนเวียนให้ตัดมาใช้สอยได้ตลอดไป อนึ่ง ไผ่แต่ละสายพันธุ์คุณสมบัติที่หลากหลายให้เลือกปลูก เช่น พันธุ์กินหน่อ พันธุ์ปลูกเป็นไม้ประดับ พันธุ์ปลูกเอาลำมาทำสิ่งประดิษฐ์ พันธุ์ปลูกเพื่อป้องกันลมและลดการชะล้างพื้นที่ลาดเอง
ถ้าเราเข้าใจและรักที่ช่วยกันทำนุบำรุงโลกใบนี้ ให้เกิดความยั่งยืน เกิดบริบทของการสร้างวิถีสังคมที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง ก็ควรออกแบบวิธีที่จะอยู่ที่จะดูแลโลกใบนี้เช่น ชี้ชวนให้เกิดการปลูกไม้พื้นเมือง การคัดแม่ไม้พันธุ์ดี การปลูกไม้ผักยืนต้นระบบชิด การปลูกไม้ติดแผ่นดิน ปลูกไม้ใช้สอย ปลูกไม้เพื่อการวิจัยพลังงาน ปลูกไม้เพื่อเป็นอาหารสัตว์ ปลูกไม้ล้อมไม้หอมไม้ประดับ ปลูกไม้เพื่อตอบแทนบุญคุณโลกใบนี้ สร้างกระแสสร้างกระบวนการให้คุณมูลค่าและคุณค่าของการปลูกต้นไม้ด้วย2มือเรา
“วันนี้คุณรดน้ำต้นไม้แล้วหรือยัง”
สรุป : แนวทางของมหาชีวาลัยอีสาน คือการนำภาคการเกษตร มาสร้างความมั่นคงของอาหารและพลังงาน โดยการทำให้เป็นเรื่องเดียวกันอย่างมีประสิทธิผลเชิงประจักษ์
บทคัดย่อ/ประมวลผลจาก บทที่ 5
ยุทธศาสตร์ความเข้มแข็งภาคเกษตร ความมั่นคงของอาหาร และพลังงาน
1. สถานการณ์การเปลี่ยนแปลง
การพัฒนาประเทศในช่วงที่ผ่านมา ภาคการเกษตรมีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทั้งในมิติของการผลิตที่สามารถพึ่งพาตนเองด้านอาหารและแหล่งสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือนภาคเกษตร และเป็นฐานการผลิตที่สนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้าและการส่งออกสำหรับภาคการผลิตและบริการอื่นๆ รวมถึงในมิติการพัฒนาสู่แหล่งการผลิตพลังงานทดแทนที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากภาคการเกษตรเป็นฐานการผลิตที่เข้มแข็งด้วยมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และภูมิอากาศที่เหมาะสม มีภูมิปัญญาด้านการผลิต การประยุกต์ดัดแปลง และวัฒนธรรมอาหารที่เข้มแข็งและหลากหลาย รวมถึงเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารส่งออกที่สำคัญรายใหญ่ของโลก ซึ่งสถานการณ์การพัมนาของภาคเกษตรตลอดช่วงที่ผ่านมาสรุปได้ดังนี้
1.1 บทบาทภาคการเกษตรเริ่มลดลง แต่ยังเป็นฐานผลิตสำคัญของประเทศ
1.2 ความเข้มแข็งของภาคการเกษตรไทยมีแนวโน้มลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
1.3 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการครอบครองทรัพยากรพันธุกรรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีการผลิตของเกษตร
1.4 การขาดแคลนแรงงานภาคเกษตรจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย
1.5 ความต้องการพืชที่สามารถนำไปผลิตเป็นพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
2. การประเมินความเสี่ยง
2.1 ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นฐานการผลิตภาคเกษตรมีความเสื่อมโทรมมากขึ้น
2.2 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
2.3 ความอ่อนแอของภาคเกษตรที่เป็นฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย
2.4 ประเทศไทยมีแนวโน้มการใช้พลังงานที่ผลิตจากพืชทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิน
3. การสร้างภูมิคุ้มกัน
3.1 ความเหมาะสมของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ และทรัพยากรธรรมชาติ มีความจำเป็นต้องรักษาแลใช้ประโยชน์จากสักยภาพที่มีอยู่อย่างรู้ค่า
3.2 ฐานการผลิตการเกษตรที่เข้มแข็ง สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงาน
3.3 องค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม
3.4 การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
3.5 กลไกการบริหารจัดการที่มีธรรมาภิบาล
5.5 การสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพัฒนาพลังงานชีวภาพในระดับครัวเรือนและชุมชน
1. ส่งเสริมให้มีการปลูกป่าโดยชุมชนเพื่อชุมชนเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศที่จะเป็นฐานการผลิตด้านการเกษตรและอาหาร และใช้เป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
2. ส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรด้วยระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เช่น เกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฏีใหม่ วนเกษตร
3. ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดการและเผยแพร่องค์ความรู้และการพัฒนา
4. สนับสนุนการสร้างเครือข่ายการผลิตและการบริโภคที่เกื้อกูลกันในระดับชุมชน
5. ส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทน โดยนำวัตถุดิบทางการเกษตรที่ผลิตในชุมชนมาผลิตพลังงานทดแทน เช่น ไบโอดีเซล พลังงานชีวมวล ก๊าซชีวภาพจากการหมักมูลสัตว์และเศษขยะอินทรีย์
6. สนับสนุนการผลิตพลังงานทดแทนภายในชุมชน โดยการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและการผลิตพลังงานทดแทน
7. ส่งเสริมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ให้เป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้มแข็ง ด้านอาหารให้แก่เกษตรกรและชุมชนอย่างเป็นระบบ
Next : ยาผีบอก » »
2 ความคิดเห็น
ผมว่าบาท่าน..ได้ทำอะไรที่กระตุกใครต่อใครไว้มาก ให้ฉุกคิด ไม่งั้นป่านนี้ประเทศไทยเราอาจเลวร้ายกว่านี้ไปแล้วก็เป็นได้ วันนี้ วช. ก็หันมาหาเกษตรมากจนน่าฉงน สกว. ก็มา สวทช. ก็มา คงเพราะคนบ้าๆแบบบาท่านและผมนี่แหละครับ ที่ช่วยกันออกแรงกระตุก ตามกำลังแห่งตน
ผมเคยเล่าแล้วว่าเมื่อ 14 ปีก่อนลองไปดูเถอะครับนโยบายวิจัยขององค์กรวิจัยไทย ลอยฟ้าทั้งนั้น วันหนึ่งผมเขียนด่าบ้าๆดื้อๆ ลงในวารสารวิชาการ ว่าพวกเขากำลัง “ขายชาติ” ถ้าไม่อยากขายชาติขอให้ปรับมาทำวิจัยด้านเกษตร บทความนี้เป็นข่าวไปทั่ว
ไม่น่าเชื่อว่าบทความโนเนมที่กล้าบ้าบิ่นนี้มันจะทำให้ทุกองค์กรปรับนโยบายบ้าระห่ำมาทำเรื่องเกษตรได้อย่างรวดเร็ว ณ บัดนั้น
ลุยต่อครับบาท่าน เรากำลังหลงกันมาถูกทางแล้ว ๕๕๕
แนวคิด และการจัดการ ของพ่อสุทธินันท์ เป็นต้นแบบของใครหลายคน ผมคนหนึ่งแหละำกำลังเดินตามรอยอยู่