ชนบทวันนี้
โชคดีที่ผมเป็นคนที่เกิดขึ้นมาในช่วงรอยต่อระหว่างความเจริญสมัยใหม่ กับ ความเจริญแบบยุคเก่า ตั้งแต่พอจำความได้ ผมก็อยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมธรรมชาติและสังคมปกติสุข มองไปไหนจะเห็นป่าไม้เขียวครึ้ม ฝนตกต้องตามฤดูกาล ชาวไร่ชาวนาไม่ต้องใช้ยา-ปุ๋ย-และสารเคมีใดๆ ทั้งความเสี่ยงทั้งปัจจัยการผลิตแทบไม่รู้จัก พืชผลงอกงามงอกเงยเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่รู้จักน้ำท่วมหลากหรือความแห้งผากมหาวิโยคใดๆ กินอิ่มนอนอุ่นทั่วหน้า ถึงราคาพืชไร่จะไม่สูงมากแต่ก็คุ้มแรงคุ้มทุน มีเงินหมุนพอที่จะส่งลูกเรียน ทำบุญทำงาน ปรับปรุงการงานอาชีพตามอัตภาพ มีเหตุมีผลที่จะอยู่ที่จะทำ ไม่หลงทิศหลงมุมกับการพัฒนาการบ้าๆบอๆ
ไม่มีหรอกนะถนนลาดยาง ยังใช้เกวียนเป็นพาหนะขนพืชไร่ ใช้ควายไถไร่ไถนา ไปไหนมาถ้าเร่งรีบอย่างดีก็ขี่มา ต่อมาใช้จักรยาน ยามค่ำคืนใช้กระบองขี้ไต้ให้แสงสว่าง แล้วมาใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าซ ตะเกียงโป๊ะ และตะเกียงเจ้าพายุ หน้าฝนน้ำขังในท้องไร่ท้องนาใสสะอาดสามารถที่จะกอบมาดื่มได้ น้ำบ่อตื้นเป็นแหล่งน้ำมีพอใช้ทุกหมู่บ้าน ตามท้องไร่ท้องนาก็ขุดบ่อน้ำตื้นสะดวกต่อการดื่มการใช้ ปัจจัยที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน มีน้ำมันก๊าช-ไฟฉาย-น้ำมันหมู-น้ำปลาเป็นไห-เกลือ-ยากฤษณาแก้ปวดท้อง/ท้องร่วง-ยาแอสไพริน-ยาหม่อง-ยาเหลืองยาแดง-หอมกระเทียมแห้ง-ปลาทูเค็ม สิ่งจำเป็นจริงๆมีแค่นี้แหละ นอกนั้นหาเก็บเอารอบๆเถียงนา ปลูกมะนาว มะกรูด กล้วย ขนุน มะพร้าว ไผ่ ผักพื้นถิ่น มะเขือพวง ตำลึง ขี้เหล็ก สะเดา พริกขี้นก เกิดเองตามฤดูกาล ยังมีเห็ด ผึ้ง ไก่ป่า กระรอกกระแต กิ้งก่า กระต่ายป่า ปูปลา กบเขียด มีให้ดักจับมาเป็นโปรตีนอย่างพอเพียง ..ที่เป็นเช่นนี้ได้เพราะทรัพยากรธรรมชาติยังถูกรุกรานไม่มากนัก อานุภาพของป่าไม้ช่วยประคองให้สภาพแวดล้อมอยู่ในจุดที่สมดุล
คนอีสานอยู่ง่ายกินง่าย
อะไรวิ่งตัดหน้าจับมาทำกับแกล้มรสแซบ!
คนอีสานมีจารีตประเพณีที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ฮีต12คอง14 มีที่ไปที่มาให้สืบทอดกันอย่างมีเหตุผล ลูกหลานพอเข้าช่วงวัยรุ่นก็จับบวชเรียน สึกออกมาได้ฉายาว่าทิดนั่นทิดนี่ ส่วนอีหนูญาติฝ่ายสตรีพี่ป้าน้าอาก็ฝึกฝนให้ช่วยงานต่างๆ สืบทอดการงานการครัว ต้มยำทำแกงอร่อย รู้จักเครื่องใช้ไม้สอย รู้จักทอผ้าทอสื่อ รู้จักพืชผักสมุนไพร รู้จักการทำไร่ทำนา รู้คุณค่าการงานและการรับผิดชอบ สังคมยุคนั้นจึงมีภูมิคุ้มกันสอดรับกันอย่างแข็งแรง เป็นสังคมที่เอื้ออาทร รู้เขารู้เรา รู้ว่าใครเป็นใคร ใครเป็นช่าง ใครเป็นหมอยา ใครเป็นหมอลำ ใครเป็นสัปเหร่อ ใครเป็นผู้มีทักษะชีวิตในด้านต่างๆ ถ้ามีการเลือกผู้นำ เช่น กรรมการวัด ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ก็จะไปขอร้องให้รับตำแหน่ง เป็นการยอมรับกันในเบื้องต้นอย่างมีศักดิ์ศรี ถ้ามีเรื่องขัดแย้ง ผู้ใหญ่ทางการและทางสังคมจะเรียกมารอมชอม ทำให้เรื่องเล็กไม่บานปลายเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ต้องแบ่งกลุ่มแบ่งตระกูลแข่งขันกันเป็นผู้นำ ไม่ต้องซื้อเสียงเหมือนการเลือกผู้นำในยุคห่วยแตกนี้
ถึงจะมีสุขศาลา นางผดุงภรรค์คนเดียว ถีบจักรยานไปดูแลผู้ป่วย ทำคลอด ฉีดยาแก้ไข้-แก้ปวด สุขภาวะอนามัยของคนยุคโน้นก็ยังพอไปวัดไปวา ทั้งนี้เพราะประชากรกินอิ่มนอนอุ่น ออกกำลังกายในไร่นา สุขภาพจิตสุขภาพกายไม่มีเรื่องร้ายๆมาข้องแวะ มลพิษมลภาวะก็ไม่มี เจ็บป่วยก็ดูแลกันเองด้วยสมุนไพรและหมอยาพื้นถิ่น วัด-โรงเรียน-เป็นศูนย์รวมศูนย์บ่มเพาะวินัยทางสังคม ผู้คนในสงคมต่างรับผิดชอบตัวเองและรับผิดชอบสังคม ไม่ได้โยนภาระให้หน่วยงานโน้นหน่วยงานนี้ ทุกปัญหาเอามาพิจารณากันที่วัด หลวงพ่อ-ครู-กำนันผู้ใหญ่บ้าน-ผู้อาวุโสในชุมชน- เป็นผู้กำกับและดูแลวินัยสังคมภายใต้กรอบจารีตประเพณี วงจรที่เอื้ออาทรที่เกิดขึ้นจากความเข้าใจกันทุกฝ่ายนี้เอง ที่จรรโลงให้ชนบทปกติสุข
ทุกอย่างที่เล่าข้างต้นดำเนินการมาอย่างค่อยเป็นค่อยไป
จนกระทั้งมาถึง พ.ศ.2504 ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม
ถูกแหกตา..เราจะมาอยู่สุขสบายกันแค่นี้ทำไมเล่า
หลวงเขาจะเข้ามาพัฒนา มาช่วยให้เราร่ำรวย สะดวกสบายมากขึ้น
น้ำจะไหล ไฟจะสว่าง ทางจะดี มีงานทำ
หมู่บ้านเราก็จะรุ่งเรือง โชติช่วงชัลวาลย์
กิเลศทุกขนานวิ่งเข้าออกหมู่บ้านจนฝุ่นตลบ ตอกย้ำเรื่องร่ำรวยสะดวกสบาย เจริญรุ่งเรืองเหมือนที่เห็นภาพในหนังขายยา รถเก๋งวิ่งขวักไขว้ มีตึกใหญ่โต ผู้คนแต่งตัวสวยงาม อะไรๆมันช่างดึงดูดใจเสียเหลือเกิน เพียงชั่วเวลา 50 ปี พี่น้องเอ๋ย ชนบทเปลี่ยนจากหน้ามือเป็หลังมือ เสาไฟฟ้าเรียงรายล่ายซ่ายตัดท้องทุ่งไล่หลังมาถนนลาดยาง ประปาหมู่บ้านสูงเด่น บ้านกำนันเคยเป็นที่ประชุมก็เปลี่ยนมาเป็นสำนักงานองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นที่ใหญ่โต สุขศาลาหลังจ๋องๆก็เปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลเสริมสุขภาพ มีโรงเรียนมัธยมประจำตำบล สำนักเรียนของกศน.วิทยาลัยการอาชีพ วิทยาลัยชุมชน ทุกหมู่บ้านเปลี่ยนไปเหมือนเนรมิต ความสะดวกมาเยือนจนแทบไม่ต้องทำอะไร ตอนบ่ายๆมีรถพุ่มพวงมาบริการของอยู่ของกินเป็นประจำ มีทีวีราคาถูกให้เล่นพนันมวยตู้ มีโทรศัพท์ให้สอบถามเลขหวยเด็ด ขายควายไปทำลูกชิ้น เปลี่ยนมาใช้รถไถเดินตาม-รถแทรกเตอร์ ขี้วัวขี้ควายไม่มีก็ใช้ปุ๋ยเม็ดปุ๋ยเคมี พืชผลงามไว้ใช้สะดวกถูกใจอ้ายน้องทั้งหลาย ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวก็ไม่ต้องแล้ว ยกโทรศัพท์สั่งรถเกี่ยวรถนวดประเด๊่ยวเดียวท้องทุ่งก็ถูกเก็บเกี่ยวเรียบร้อย
ถูกเป่าหู..อยากจะร่ำรวยทันใจต้องลงทุนเพิ่ม
เงินไม่มีไปที่ธกส./เงินกู้นอกระบบ
หอบโฉนดที่ไม่เคยหลุดมือไปมอบให้เขา
ได้เงินสดๆร้อนๆมากมายอย่างที่ไม่เคยจับต้องมาก่อน
วาดฝันว่าจะลงทุนให้ระเบิดระเบอทั้งๆที่ไม่รู้ว่าทุนที่ลงนั้นสุ่มเสี่ยงอย่างไร
บางคนก็เปลี่ยน “เงินกู้” เป็น “เงินกู”
พอไม่มีส่งหนี้ตามกำหนดก็แบ่งที่ขาย ขายทุกอย่างที่ขวางหน้า
ขายกระทั้งอนาคตอย่างไม่รู้สึกรู้สา
ไอ่ที่ว่าจะร่ำรวย..ก็เสื่อมโทรมทรุดทรามกันไปทั้งบาง
ยังดีนะที่บางคนได้ลูกเขยฝรั่งมาค้ำจุน มันเอาเศษเงินมาให้ซื้อบ้านซื้อรถโชว์หน้าโชว์ตา ทางราชการก็มีเงินกองทุนสาระพัดมาให้ล้างผลาญ คนกำลังหน้ามืดมีอะไรมาก็คว้าหมด จะไปกล้วทำไมกับหนี้ ถามใครๆก็หนี้ท่วมหัวกันทั้งนั้น เรียกคำว่า“หนี้” มันไม่สบายใจ เปลี่ยนมาเป็น“เครดิต” แหม มันดีกว่ากันเยอะเลย ยุคสมัยศิวิไลย์มันต้องพกบัตรATM. สอดปุ๊บเงินไหลปับ..ยิ่งกว่าเล่นกล แทบทุกถนนมีตู้เบิกเงิน เรื่องพวกนี้มันพ่วงทุกข์กำกับมาทุกฝีก้าว พวกไม่มีวินัยทางการเงิน ไม่คิดหรอกดอกเบี้ยมันไม่เคยหยุดแม้แต่นาทีเดียว เสาร์-อาทิตย์มันก็ไม่หยุดให้
คนที่มีรายได้จากเงินดินมาเจอเงินดาวน์
คนที่มีรายรับเป็นช่วงฤดูกาลแต่ต้องมาจับจ่ายทุกวัน
คนที่ชักหน้าไม่ถึงหลังจะดันทุรังไปเรื่อยๆ
สุดท้ายก็มองหาวิธีเพิ่มรายได้นอกระบบ
อะไรจะมารวยไวเท่าขายยาบ้าให้กับพวกกำลังบ้าหนี้ท่วมหัว
ไม่นานหรอก ..มั น ก็ จ ะ บ้ า ก็ บ้ า ว ะ ทั้ ง ป ร ะ เ ท ศ
:: ชนบทไทยวันนี้ มีถนนหนทางสะดวก มีไฟฟ้าสว่างไหว มีโทรศัพท์ มีอินเตอ์เน็ท มีปัจจัยพร้อมมูลที่เอื้อต่อการเรียนรู้ แต่สิ่งดีๆเหล่านี้ไม่ได้เป็นเครื่องมือที่เอื้ออวยต่อการพัฒนาสังคม มันเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย ทำไมมันเสื่อมโทรมลงไปทุกที มีแต่เรื่องเลวร้ายกระแทกแทรกซ้อนหนุนเนื่องกันมาไม่หยุดหย่อน สังคมมันเน่ามากขึ้นเรื่อยๆ ท่านใดมองเห็นทางออกทางรอดอย่างไรบ้างไหมครับ ช่วยบอกผมทีเถอะ ..วันนี้เราจะปฏุิรูปสังคมไทยที่กำลังผิดปกติมากขึ้นๆได้อย่างไร
มุมมองความยั่งยืน ยังแยกส่วน กลุ่มปลูกพืชเชิงเดี่ยว มีวิธีบริหารจัดการเป็นการเฉพาะ ปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย มันสำปะหลัง การทำไร่ ทำนา ทำสวนผัก สวนผลไม้ ยังเดินหน้าต่อไป ยังทำแบบประกบคู่กับการปลูกป่าไม่ได้ แนวคิดแนวปฏิบัติยังจูนเข้าหากันน้อยมาก ตรงจุดนี้ถ้าไม่มีเจ้าภาพเริ่ม มหาชีวาลัยคงขยับ..
คนบ้านนอกก็ขอดูแลบ้านนอก
ด้วยการชี้ชวนให้ระดมปลูกต้นไม้ให้มากขึ้นอย่างเป็นปึกแผ่น
ปลูกแล้วก็มาคุยกันว่าจะเก็บเกี่ยวประโยชน์จากต้นไม้อย่างยั่งยืนอย่างไร
จะปลูกพืชผลจะเลี้ยงปศุสัตว์ร่วมด้วยอย่างไรถึงจะเหมาะสมและเอื้อถึงกัน
ต้นไม้ กับ ปศุสัตว์ จะต้องเนียนและเป็นเนื้อเดียวกัน
เพื่อจะอธิบายว่าเราจะยุติความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม
ถ้า..สภาพธรรมชาติกลับคืนมา
ถ้า..คนนอกไม่มาปั่นหัวชาวบานอีก
ถ้า..ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม
ถ้า..นักวิชาการน้ำดีร่วมทุกข์ร่วมทุกข์กับชาวไร่ชาวนา
ถ้า..เอาวิชาการที่ถูกต้องมาช่วยชาวบ้านพัฒนาวิชาชีพ
ถ้า..ช่วยให้ชาวบ้านเป็นผู้เรียน สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้
ถ้าๆๆ..ทั้งหมดนี้ท้าทายท่านบ้างไหมครับ
หรือว่า สุขสบายแล้ว เอาตัวรอดแล้ว
ถ้าเราลอยเพสังคม สังคมก็จะลอยเพเรา
ถ้าเราทิ้งขว้างสังคม สังคมก็จะทิ้งขว้างเรา
ไม่เชื่อ..ก็ไม่เป็นไร
เพราะมันอยู่ในอาการท่าดีทีเหลวทุกเรื่องอยู่แล้ว
:: ช่วยเห็นแย้ง หรือช่วยเติมประเด็นที่ถูกต้องให้ด้วยก็ดีนะครับ
:: เอกสารบางส่วนที่นำเสนอในเวทีเสวนา แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เดือนกรกฎาคม 2254
« « Prev : ติดตั้งตู้เอทีเอ็มให้ต้นไม้
6 ความคิดเห็น
ผมเองก็ได้สังเกตว่าคนไทยวันนี้”ยากจน”กว่าเมื่อ 50 ปีก่อน
เรียกว่า ยิ่งเจริญยิ่งยากจน รัฐบาลเอาแต่ความเจริญมาให้ โดยไม่ได้ “พัฒนา” ทั้งทางวัตถุและทางแนวคิด มือโตแต่ขาลีบ (มือโตหมายถึงใช้เงินเก่ง แต่ขาลีบไม่มีกำลังวังชาในการทำมาหากิน)
การพัฒนาท้องถิ่น ผมมีความเห็นว่า ในทางรูปธรรมนั้น ต้องทำแบบครบวงจรให้มากที่สุด ไม่ใช่ผลิตแต่วัตถุดิบการเกษตรป้อนภาคเมืองเท่านั้น โมเดลอย่างที่ผมเคยโพสต์ไว้แล้วครับ คือควรต้องมีอุตสาหกรรมท้องถิ่นรองรับผลผลิตของตัวเอง เพื่อผลิตทุกอย่าง เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค เฟอร์นิเจอร์ นมบรรจุขวด เนย ชีส รวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่สอดคล้องกับท้องถิ่นนั้นๆ ถ้าทำได้แบบนี้คนจะมีรายได้พอเพียง ไม่ต้องทิ้งถิ่นไปหากินริมทะเล (ไปเป็นขี้ข้าเขา) ผมฝันว่าโรงงานเหล่านี้จะเป็นทุนสังคมนิยม พบกันครึ่งทางระหว่างทุนเงินกับทุนงาน โดยทุนเงินก็ระดมกันมาทั้งภาครัฐเอกชน ส่วนทุนงานนั้นคือให้เอาค่าแรงงานมาเป็นทุนด้วย หมายความว่าพนักงานทุกคนมีส่วนเป็นเจ้าของโรงงานด้วย
เมื่อมีรายได้ดี ธุรกิจบริการจะตามมาอีกมากหลาย เช่น ดัดผม ตัดเสื้อ ซ่อมรถ มือถือ ร้านอาหาร ฯลฯ ก็เป็นระบบที่สมบูรณ์ในตัว มีการแลกเปลี่ยนกับสังคมข้างนอกเท่าที่จำเป็น
การทำเกษตรด้วยวงจรจากใบไม้ ไปอึสัตว์บก ไปอึสัตัว์น้ำ ไปรดต้นไม้ เป็นวัฎจักรแบบนี้ ผมได้เสนอไว้ บาท่านว่าพอไปได้ไหมครับ อย่างที่ว่าพวกเราต้องโม้ขี้ ไม่ขี้โม้ อิอิ
รู้สึกว่าเข้าสู่ยุคที่มั่วไปหมดค่ะ
การศึกษาก็มุ่งพัฒนาต้อนคนเข้ากรอบ
การทำงานก็มุ่งพัฒนาต้อนคนเข้ากรอบ
การอยู่ร่วมในสังคมก็มุ่งต้อนคนเข้ากรอบ
กรอบก็เป็นกรอบที่ไม่มีหลักเกณฑ์อะไรที่จะทำให้ดีขึ้น เกณฑ์ก็แบบ “ตัดเสื้อโหล” เห็นที่นั่นดีก็จะให้ใช้ด้วย…แม้แต่คุณธรรมจริยธรรมก็ยังต้องออกเป็นระเบียบ ตีความขยายความ สุดท้ายเอาไว้จับผิดคน…
คำว่า “สามัญสำนึก” หายไปจากสังคมนะคะ
เลยเหมือนๆกับว่าคนก็ทำผิดกันได้เรื่อยๆ
เพราะถ้าทำผิดแล้วไม่มีใครรู้ ก็ไม่ผิด
หรือถึงรู้ก็ไม่ข้อกฎหมายบังคับ ก็ไม่ผิด
หรือมีข้อกฎหมายบังคับก็ไม่มีคนดำเนินการ ..ก็ไม่ผิด
หรือมีคนดำเนินการก็ไม่มีคนสั่งการ ก็ไม่ผิด
หรือมีคนสั่งการก็ไม่มีใครทำการ ก็ไม่ผิด
สุดท้าย ก็อยู่กันไป เบื่อหน่ายกันไป แล้วก็เลือนๆ ไป ..
.ข้อผิดเพิ่มก็ตามมากับขั้นตอนข้างบน…เพราะกลายเป็นผิดพัวพัน….ผิดเป็นระบบ
ประชาชนจะหาที่พึ่งที่ไหนได้..นอกจากการต้องทำตัวเป็นสายลมแสงแดด ซอกแซก เอาตัวรอดไปก่อน
ไม่อย่างนั้น คนถูกก็กลายเป็นผิดได้อย่างนั้นค่ะ
โห อุ้ยอธิบายแบบเทกระจาดเลยนะนี่ คักอีหลี อิ อิ..
ยังมีเวลาเติมเต็มก่อนที่จะเขียนลงในแผน
กรอบที่เสนอก็เหมาะสม
แต่กระบวนการนี่จะต้องชัด-ง่าย-เหมาะกับคนขี้เกียจทำ อิ อิ
เอาแบบสรุป เท่าที่จะเขียนได้นะครับ
1. เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงที่พ่อครูบาบรรยายมาทั้งหมด
2. และสังคมก็กำลังก้าวไปในทิศทางนั้นแบบไม่รู้จบ
3. การเคลื่อนตัวของสังคมไปนั้น ทำให้เกิดผลกระทบมากมาย หลายเรื่องทำลายสิ่งดีงามเดิมๆของเราหดหายไป และหลายเรื่องที่เป็นของใหม่ก็ดีมากๆต่อสังคม เช่นความรู้ระบบสาธารณะสุข ความรู้ทางวิทยาศาสตร์หลายเรื่องที่ทำให้เราเข้าใจในสิ่งที่อดีตเราไม่เข้าใจ…ไม่มีคำอธิบาย มันวัตกรรมใหม่ๆที่เอื้อประโยชน์ต่อการอยู่รอดของสังคม
4. สิ่งที่การเคลื่อนตัวของสังคมแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เราคิดว่าไม่ดีและมีผลกระทบมากในทางที่ไม่ดีต่อสังคมคือ ลัทธิบริโภคนิยม บริโภคเกินความจำเป็น เกินพอดี เรียกถลุงก็ได้ เพราะบริโภคควบคู่ไปกับรสนิยม ควบคู่ไปกับค่านิยม ความมีหน้ามีตา เกียรติยศ ศักดิ์ศรี ความมีหน้ามีตา ซึ่งเป็นเปลือกนอกของการมีชีวิตที่ดีงาม ผมหลับตานึกไปว่าอีก 50 ปีข้างหน้าน้ำมันหมด แก๊สหมด โลกต้องแบ่งปันน้ำมัน กันและอำนาจรัฐจะเข้ามาเป็นผู้ กำกับ คนทั่วไปหมดสิทธิใช้น้ำมัน มีแต่ทหารและฝ่ายปกครองและเศรษฐีเท่านั้น ชาวบ้านกลับไปเลี้ยงม้า สร้างเครื่องยนต์ใหม่ที่ใช้พลังน้ำ ต่อไปใครจะเดินทางไปสวนป่าต้องนั่งเกวียนเทียมวัว 4 ตัว พักค้างคืนที่ร้อยเอ็ดก่อน มีน้ำมีข้าวสารติดเกวียนไปด้วย รถยี่ห้อฝรั่งญี่ปุ่นเป็นที่ปลูกสะระแหน่จริงๆ
5. ยังไม่ถึงขั้นนั้นหรอก สภาพสังคมที่เมืองจูงจมูกชนบทไปแบบไม่รู้ตัวไม่มีสติ ดูได้จากเด็กวัยรุ่นบ้ามือถือ เด็กนักเรียนบังคับพ่อแม่ให้ซื้อมอเตอร์ไซด์ เมืองมีอะไร ชนบทก็วิ่งตาม
6. ชุมชนต้องตั้งสติ วิภาควิจารณ์ วิเคราะห์สังคมให้กระจ่าง เรียกตีแตก สังคม ด้วยการประชุม สัมมนา ศึกษาดูงาน เข้าค่าย เข้าแค้มป์ ไปให้หลวงพ่อ withwit เคาะกะโหลกซะบ้าง
7. คนเดียวทำไม่ได้ สองคนก็ทำไม่ได้เพราะเรื่องสังคมมันใหญ่ ดังนั้นชุมชนต้องร่วมมือกันทำ
8. ผมเคยคุยกับเพื่อนๆไว้ว่า หากมีการทำโครงการพัฒนาชนบท ผมจะทำดังนี้
a. ประชุมทั้งหมู่บ้านเพื่อทบทวนพัฒนาการทางประวัติศาสตร์จนมาถึงปัจจุบัน เพื่อวิเคราะห์ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ
b. เราจะหาทางออกกันอย่างไร เมื่อระบบราชการเอื้อได้ระดับหนึ่ง อบต.ก็เป็นการเมืองไปหมดแล้ว เป็นแหล่งหาประโยชน์ของคนที่สังคมเมืองสร้างค่านิยมการมีเงิน การมียศ อำนาจคือสิ่งสูงสุดที่คนวิ่งหา เราต้องเอาคนที่มีคุณธรรมในชุมชนทุกสาขาอาชีพ ทุกกลุ่มวัยมาเป็นสภาชุมชน เป็นสภาที่เอาเรื่องต่างๆของชุมชนมาคุยกัน เอาเรื่องของประเทศชาติมาคุยกัน เอาเรื่องสารพัดเรื่องมาวิเคราะห์มาคุยกัน กลั่นกรอง สิ่งที่เข้ามาในชุมชน
c. สภาประชาชนต้องออกระเบียบชุมชน กำหนดการปกครองกันเองในชุมชน
d. สภาชุมชนต้องรู้เท่าทันภายในของชุมชนเขาเองและเท่าทันภายนอกที่ก้าวเคลื่อนตัวไป กำหนดความพอดีของชุมชนอยู่ที่ตรงไหน
e. แน่นอนวิสัยทัศน์ของสภาชุมชนนั้นต้องเอาของดีเดิมๆมาผสมผสานกับของดีใหม่ คัดกรอง เอาขยะออกไป ต้องมีข้อมูล มีผู้ให้ข้อมูล มีการวิเคราะห์ข้อมูลนั้นๆ…
9. ปรับกันไป ทำกันไป แต่ต้องยืนอยู่บนความพอดี สมดุล
10. หากผมมีโอกาสทำผมคาดว่าใช้เวลาเพียง สามปี ห้าปี น่าจะทราบผล
11. แน่นอนทุกชุมชนไม่สามารถทำให้เหมือนกันได้ และไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เพราะแต่ละชุมชนแตกต่างกัน
12. สรุป
a. ตั้งสติให้สังคมให้กับคนให้กับชุมชน
b. ให้ชุมชนมีสภาของเขาเองประกอบด้วยความหลากหลายของชุมชนนั้นเอง
c. ให้อำนาจชุมชนกำหนดระเบียบชุมชนขึ้นมาเองและพัฒนาไป
d. ให้ข้อมูลชุมชน รับข้อมูลจากชุมชน วิเคราะห์ วิจารณ์กันให้หนัก ว่าความเหมาะสมของชุมชนอยู่ที่ตรงไหน
e. รัฐอย่าเข้าไปบงการ แต่สนับสนุนสิ่งที่เขาคิดเขาทำ
13. แนวความคิดหยาบๆก็มีเท่านี้ครับ
ขอบคุณหลาย ถอดรหัสเอาไปใส่ไว้ในหลักการได้อย่างคักขะหนาด
หยาบๆแบบโป๊ะแช๊ะ แต่ชัดๆตรงๆ อิ