ขออนุญาตปลูกต้นไม้ในหัวใจได้ไหมเธอ?
หัวอกของคนมีอาชีพปลูกสร้างสวนป่าในประเทศไทยนั้น ต้องฝ่าด่านความไม่รู้มาอย่างแสนสาหัส ลองผิดลองถูก-ลองดู -ดูดำดูดี -บางเรื่องก็ดูยังไม่ดี แต่ถอยและท้อไม่ได้ เกียร์ถอยสวนป่าชำรุดมานานแล้ว ต้องเดินหน้าลุยลูกเดียว เริ่มตั้งแต่การตอบคำถาม..จะปลูกต้นไม้บนพื้นที่แห้งแล้งดินเลวอย่างไร ปลูกต้นอะไร การเจริญเติบโตเป็นอย่างไร ปลูกเพื่อไปทำอะไร คนซื้ออยู่ที่ไหน คุ้มทุนไหม มีการสนับสนุนไหม ต้องใช้เงินทุนเท่าไหร่ ระหว่างที่ไม้ไม่โตจะกินอะไร ไม้โตแล้วตลาดเป็นอย่างไร กฎระเบียบกฎหมายเอื้อแค่ไหน การยอมรับของเพื่อนเกษตรกรเป็นอย่างไร
ถ้าจะมานั่งตอบปัญหาบ้าๆพวกนี้ไม่มีทางได้ปลูกต้นไม้หรอกนะครับ
แสดงว่า..ถ้าจะปลูกต้นไม้ต้องมีลูกบ้า..บ้าก็บ้าวะ
ปัจจัยที่หนุนเอื้อให้เกิดสวนป่าแห่งนี้มาจากผมอยากจะอยู่แบบทาร์ซาน
จึงปลูกป่าแทนการอยู่ตึกเหมือนหมูในอวย
(คุญกาญจนา ปานข่อยงาม รองเลขา วช. ประธานในพิธีเปิด)
ท.ท.ท. คิดแล้วทำทันที..
ก้มหน้าก้มตาขุดบ่อน้ำหลายจุด
จนกระทั้งได้น้ำซึมช้าๆมาบ่อหนึ่ง
ผมก็ขอดเอาน้ำนั่นแหละมาเพาะกล้าไม้
เมล็ดของไม้โตเร็วนั้นเล็กละเอียดเท่ากับเม็ดทราย
ต้องประคบประหงมต้นกล้าที่เล็กกระจิ๋วหลิวเท่าเส้นผม
ถ อ น ที่ ล ะ เ ส้ น ๆ ม า ปั ก ชำ ล ง ใ น ถุ ง
เอาเครื่องพ่นยาค่อยๆพ่นฝอยละอองน้ำรดทุกวัน
ดูแลต้นกล้าจนอายุ4 เดือนก็นำไปขุดหลุมปลูก
ปลูกลงดินไปแล้วแทบมองไม่เห็นต้นไม้
ต้องย่องไปดูอยู่เรื่อยๆว่ามันยังอยู่ไหมนะ มันจะโตไหมนะ
ที่ผมรำพันอย่างนี้เพราะสมัยนั้นไม่รู้จะไปดูตัวอย่างได้ที่ไหน
จึงเหมือนหนุ่มกระทงหัดจีบสาวครั้งแรกนั่นแหละครับ
มันอดที่จะหวาดหวั่นระทึกใจต่างๆนานา
หลังจากกินกลางดอนนอนกลางป่ามาหลายสิบปี จากพื้นที่โล่นเลี่ยนที่เกิดจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ต้นไม้ต้นโน้นต้นนี้ก็แข่งขันกันเพิ่มพลังเขียวอย่างขยันขันแข็ง ไม่มีไม้ต้นไหนขี้เกียจไม่กินน้ำกินปุ๋ยเลยนะครับ ทุกต้นแข่งกันอาบแดด สร้างลำต้นแข็งแกร่งโตเอาโตเอา จนกระทั้งวันหนึ่งมีเสาไฟฟ้ามาปักหลักที่ข้างหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ห่างจากสวนป่าประมาณ 1 กม. ยุคนั้นผมอยู่อย่างคนสมัยเก่า ใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าซให้แสงสว่าง เครื่องไม้เครื่องมือเครื่องยนต์ไม่ได้มีกับเขาหรอกนะ ต้องการจะเอาไฟฟ้ามาฉุดปัมน้ำ เพราะกว่าจะได้น้ำมาใช้แต่ละกระแป๋งต้องออกแรงโยกบาดาลจนซี่โครงระบม น้ำ น้ำ ..เป็นสิ่งจำเป็นสูงสุด ไม่มีเมียไม่เป็นไร ทนได้ แต่ไม่มีน้ำนี่สิมันปิดช่องทางกระเหี้ยนกระหือที่จะทำนั่นทำนี่จนหมดสิ้น
เพื่อไม่ให้สิ้นท่า ผมจึงดิ้นรนหาทางดึงไฟฟ้าเข้าสวนป่า
สอบถามการไฟฟ้าแล้ว..ต้องใช้เงิน 300,000 บาท
โธ่..แ พ ง ก ว่ า ไ ป ข อ เ มี ย เ สี ย อี ก
ในช่วงนั้น..น้ำมีความจำเป็นหมายเลขหนึ่ง
แต่ไม่มีปัญญาจะไปหาเงินที่ไหน รายได้ก็ไม่มี
มองไปมองมาก็เห็นแต่ต้นไม้นี่ละนะ
จึ ง ตั ด ใ จ ข า ย ข อ ง รั ก ข อ ง ส ง ว น ไ ป 150 ไร่
รวบรวมเงินไปมอบให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่เคารพ
ตั้งแต่นั้นมาเธอเอ๋ย..สวนป่าก็สว่างไสว
ได้รับการอุปการะคุณจากต้นไม้แท้ๆ..
เมื่อต้นไม้เป็นมิตรแท้อย่างนี้..
จ ะ ไ ม่ ใ ห้ ผ ม รั ก ต้ น ไ ม้ ม า ก ก ว่ า น้ อ ง เ มี ย ไ ด้ จ ะ ไ ด๋ ..
(ลงทะเบียนรับเอกสาร)
เมื่อผมละเลิกการปลูกมันสำปะหลัง เลิกปลูกปอ ปลูกถั่ว ผมก็ไม่มีรายได้อะไร ต่อมาปลูกหญ้าเลี้ยงวัว เลี้ยงแพะ จับแพะชนแกะมันก็ไอ่แค่นั้นแหละ ประคองตัวไปปีๆ..พอจะขาดใจตายก็เจียดขายไม้ในราคาเหมือนยกให้เขาเปล่าๆ ตันละ500 บาท คิดดูสิครับประเทศนี้ซื้อไม้ในราคากิโลละห้าสิบสตางค์ ตอนนั้นอาจารยฺ์ทวิช จิตรสมบูรณ์ ก็ไม่รู้อยู่ไหน ..คงไปทำบ้องไฟให้นาซ่าโน้นแหละ ผมไม่รู้จะไปปรึกษาใคร พวกโรงงานก็ตัดเอาเฉพาะส่วนที่โตๆ ปลายไม้ขนาดเท่าแขนทิ้งเกลื่อนเต็มป่า เห็นแล้วมันช้ำใจนัก เดินเป็นหนูติดจั่น คำตอบสุดท้ายมาอยู่ที่ ก า ร เ ผ า ถ่ า น
คิดง่ายแต่ทำยาก
ความสามารถเชิงช่างไม่มี ต้องค่อยๆคลำ..เหมือนตาบอดคลำช้าง ทดลองก่อเตาถ่านตามหลายคำบอกเล่า เตาแตก เตาระเบิด เตาพัง วิ่งดับไฟจนขนแขนขนคิ้วเหม็นโฉ่ ทำไมอาชีพนี้มันช่างสาหัสสากรรจ์จริงหนอ ยาก ยาก ทุกขั้นทุกตอน ดำก็ดำสกปรกก็สกปรก อันตรายก็เท่านั้น แต่ในที่สุดก็ได้ความรู้เรื่องการสร้างเตาถ่าน ขั้นตอนการผลิตถ่าน การกักเก็บน้ำควันไม้ ลงมือทำและรู้แล้วมันก็ไม่มีรายได้เป็นกอบเป็นกำหรอกนะ แต่มันได้รู้ รู้ และ รู้ ..แล้วยังไงต่อละ ..
(อ้อย3สวน ที่เกษตรกรเอามาฝากปลูกไว้เป็นสมุนไพรต้นทุน)
ต้นไม้ไม่เคยเบี้ยวคนปลูก แต่ละปีที่ผ่านไป ต้นไม้แต่ละต้นก็เติบโตตามลำดับ มันก็เหมือนดอกเบี้ยในธนาคารนั้นแหละเสาร์-อาทิตย์ก็ยังคิดดอกเบี้ย ถ้าไปกู้ก็เสียดอกเบี้ย ถ้าไปฝากก็ได้ดอกเบี้ย ต้นไม้โตแต่ละวันมันก็เพิ่มมูลค่าและคุณค่าเป็นทวีคูณ ปีแรกต้นยังเล็กอาจจะไม่มีค่ามากนัก สมมุติว่าเกิดรายได้ตีเป็นดอกเบี้ยวันละ 10 สตางค์ ปลูกกี่ต้นก็คูณเข้าไป ขึ้นปีที่2-3-10 มูลค่าก็ต้องคูณตัวเลขสูงขึ้น ต้นไม้อายุ10ปี อัตราความเจริญอาจจะมีมูลค่าต่อต้นๆละ10-50 บาท เกิดมูลค่าเพิ่มมากขึ้นจริงๆด้วย ต้นใหญ่แค่ไหนก็ขายได้เงินมากแค่นั้น แต่ต้นไม้ที่ปลูกด้วยความยากลำบากต้องใช้เวลาไปมาก หากไม่หน้ามืดจริงๆผมไม่ตัดขายหรอกนะ แต่วันดีคืนดีมันก็มีเหตุให้ต้องตัดจนได้ เพราะต้นไม้ยิ่งโตมันก็ยิ่งต้องการพื้นที่ การที่จับต้นไม้เข้าแถว..ถ้าไม่ตัดสางขยายระยะออกไปตามความเหมาะสม ต้นไม้ก็จะแคระแกรนทั้งสวน ผมจึงเลือกตัดต้นเว้นต้น แล้วเอาไม้เหล่านั้นมาทดลองทำเก้าอี้ฮ่องเต้ ทำกรอบรูป ต่อมาก็เอามาก่อสร้างบ้านเรือน เก้าอี้ฮ่องเต้จะไปขายสู้ไม้เถื่อนได้อย่างไร ทั้งๆที่โฆษณาแล้วนะเธอ
“คนอกหักลด5%”
ชีวิตผมวนเวียนอยู่ในสวนป่า พยายามหาทางออก แต่มันก็ยังออกได้ไม่หมดจด ในเมื่อกระแสหักล้างทำลายป่า ลักลอบตัดไม้ป่า เพื่อเอาพื้นที่ๆอุดมสมบูรณ์มาปลูกพืชไร่ราคาถูก มองผ่านๆเหมือนกับว่า..ไม่ทำไม่ได้ ในเมื่อปากท้องเกษตรกรยุบยับ พื้นที่ทำมาหากินก็เสื่อมสภาพลงไปทุกที ประกอบกับหนี้สินก้อนโตขึ้น ทำให้ต้องตัดใจขายที่ดินทำกินผืนแล้วผืนเล่า แล้วพากันหาช่องทางบุกรุกพื้นที่ป่าไม้กันอย่างแนบเนียนและแนบแน่น กลยุทธรุกป่าแบบกองทัพมดของบ้านเราไร้เทียมทาน
กว่าจะเห็นฟ้าสีทองผ่องอำไพหัวใจก็แทบเดีียง
คำตอบเริ่มจะชัดขึ้นๆ.. ถ้าเกษตรกรไทยแบ่งที่ดินมาปลูกต้นไม้ ตอนที่ต้นยังเล็กก็ตัดเอากิ่งเล็กๆมาสับไป-เลี้ยงโค-แพะ-แกะ กิ่งไม้ที่โตเท่าแขนเท่าขาก็เอามาทำสิ่งประดิษฐ์ใช้สอยในครัวเรือน ขายก็ได้ ใช้ก็ดี มีงานมีรายได้ต่อเนื่อง นอกจากเปลี่ยนใบไม้เป็นอาหารสัตว์แล้ว ยังเปลี่ยนใบไม้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ทุกวันๆ ไม่ต้องไปตัดต้นไม้ขาย ปล่อยให้ป่าไม้ทำหน้าที่สร้างสีเขียว ผลิตออกซิเจน เรียกฟ้าเรียกฝน อุดหนุนความอุดมสมบูรณ์ให้กลับคืนมา ความแห้งแล้งแห้งโหยก็จะบรรเทาได้อย่างเป็นรูปธรรม
ถ้าปวงประชาหน้าใส ป ร ะ ช า ธิ ป ไ ต ย จ ะ ไ ป ไ ห น เ สี ย
มาช่วยกันยุติความสับสนของคนรากหญ้าด้วยวิธีนี้ดีไหมครับ มองหาที่ดินที่จะปลูก ปลูกกันคนละต้นสองต้นร้อยต้นพันต้นหมื่นต้น ดีกว่าหายใจเอาออกซิเจนฟรีๆแล้วทำไม่รู้ไม่ชี้ ช่วยกันรับผิดชอบดีไหมเธอ .. ถามตัวเองว่าวันนี้ทำอะไรคุ้มกับออกซิเจนแต่ละเฮือกแล้วหรือยัง ! ถ้าหัวใจไม่ได้ทำด้วยพลาสติกก็น่าจะช่วยๆกันเติมออกซิเจน
บอกรักประเทศไทยด้วยวิธีนี้ดีไหมครับ?
ปัจจุบันปริมาณป่าไม้ของไทยมีปริมาณลดลง ต้องนำเข้าไม้จากต่างประเทศ สาเหตุสำคัญที่ทำให้พื้นที่ป่าไม้ลดลงอย่างรวดเร็วนั้น นอกจากจะเกิดจาการบุกรุกเข้าครอบครองพื้นที่ป่าไม้เพื่ออยู่อาศัยทำกินแล้ว ยั ง เ กิ ด ก า ร ตั ด ไ ม้ ทำ ล า ย ป่ า ที่ เ กิ น กำ ลั ง ผ ลิ ต ข อ ง ป่ า เพื่อนำไม้ธรรมชาติออกมาใช้ประโยชน์ให้เพียงพอแก่ความต้องการที่เพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร และความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ภาครัฐจึง่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจทั่วประเทศ เพื่อนำไม้จากสวนป่ามาทดแทนไม้จากป่าธรรมชาติ แต่ไม้จากสวนป่ามีข้อจำกัดในการใช้งาน เนื่องจากไม้สวนป่ายังเป็นไม้อายุน้อย ลำต้นขนาดเล็ก มีกระพี้มากกว่าแก่น ทำให้แปรรูปออกมาได้ไม้ขนาดเล็กและสั้น จึงไม่เหมาะที่จะนำมาใช้เป็นโครงสร้างอาคาร สามารถนำมาใช้ได้ดีในงานบางลักษณะ เช่น ไม้พื้น ไม้สำรับทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เครื่องเรือน ของเด็กเล่น โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น
ช่วงนี้ที่สวนป่า มีโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้ประโยชน์และการเพิ่มมูลค่าไม้สวนป่า : ไม้ท่อนกลมขนาดเล็ก รุ่นที่ 2 ระหว่างวันที่ 19-21 พฤษภาคม 2554 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับกรมป่าไม้ เพื่อเผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้เชิงเทคโนโลยีเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากไม้สวนป่า แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้รับความรู้ไปริเริ่มปรับปรุงแก้ไข เป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัวมีอาชีพที่มั่นคง โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเกษตรกรปลูกสร้างสวนป่ารายย่อย ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกี่ยวกับไม้และเครื่องใช้ในครัวเรือน และจากประชาชนที่สนใจในจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดใกล้เคียง
:: รูปแบบการถ่ายทอด
เป็นการบรรยายและให้ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับไม้สวนป่า เช่น ชนิดของไม้สวนป่า ลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศ การจัดการและการใช้ประโยชน์จากไม้สวนป่า ความรู้ทางด้านการใช้ประโยชน์ไม้ขนาดเล็กจากสวนป่าปลูก การรักษาคุณภาพเนื้อไม้ท่อนกลมก่อนการนำมาผลิต การใช้กาวเพื่อยึดติดไม้ การตกแต่งพื้นผิวเครื่องเรือน การใช้และทะนุบำรุงเครื่องมืองานไม้ ฯลฯ
:: ภาคปฏิบัติ
เป็นการแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติการใช้ประโยชน์จากไม้สวนป่าอย่างถูกวิธีและเหมาะสม ดังนี้ -การอบและผึ่งไม้-การป้องกันรักษาเนื้อไม้-การทำเดือยและเจาะรูอย่างถูกวิธี-การใช้กาวติดไม้ -การขึ้นรูปประกอบเป็นเครื่องเรือน-การตกแต่งผลิตภัณฑ์
:: กำหนดการ
08.00-08.45 น. ผู้เข้ารับการอบรมลงทะเบียน/รับเอกสาร
08.45-09.15 น. พิธีเปิดโครงการ
- กล่าวต้อนรับ โดย ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์
- กล่าวรายงาน โดย นางสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ
ผู้อำนวยการภารกิจบริหารการจัดการผลงานวิจัย
- กล่าวเปิดโครงการ โดย นางกาญจนา ปานข่อยงาม
รองเลขาธิการคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ
สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ
09.15-10.15 น. บรรยายเรื่อง “แนวทางการส่งเสริมการปลูกสร้างสวนป่า”
โดย นายพรประเสริฐ วาณิชย์เจริญ
นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ กรมป่าไม้
10.15-11.15 น.บรรยายเรื่องการใช้ประโยชน์ไม้ขนาดเล็กจากสวนป่าปลูก
โดย นายวรธรรม อุ่นจิตติชัย
นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ กรมป่าไม้
13.00-17.00 น. การฝึกปฏิบัติการผลิตเครื่องเรือนจากไม้กลมขนาดเล็ก
โดย นายวรธรรม อุ่นจิตติชัย และ ผศ.นพดล กีรติจิรัฐติกาล
กรมป่าไม้ และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
ใน2วันถัดจากนี้ไป เป็นการฝึกปฎิบัติให้ผู้รับการอบรม ช่วยกันผลิตเครื่องเรือนต้นแบบตามที่กำหนดจนแล้วเสร็จ แล้วมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้เข้ารับการอบรม งานนี้ยังมีกลุ่มผู้สนใจขอเข้าสังเกตุการณ์จากจังหวัดใกล้เคียงหลายคณะ กล่าวโดยรวมแล้วงานนี้เหมาะกับคนไทยผู้มีหัวใจสีเขียว ทำให้นึกถึงแม่ใหญ่ หนูจิ๊ก ออต ที่เพิ่งจากไปหยกๆ ถ้าได้ร่วมงานนี้ หัวใจคงจะเต้นตูมๆๆแรงกว่าตอนนี้
ตามกำหนดการเขาให้เจ้าสำนักกล่าวต้อนรับ
ขอต้อนรับด้วยความยินดี ดังนี้
.. การจัดอบรมในครั้งนี้ เป็นการเข้ามาสอดรับและสอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกรเป็นอย่างมาก สิ่งที่มหาชีวาลัยอีสานได้รับเสียงสะท้อนของเกษตร ที่เราไปส่งเสริมเรื่องการปลูกต้นไม้ ส่วนมากต้องการต่อยอดเรื่องการใช้และรับประโยชน์ที่หลากหลายอเนกประสงค์ ด้วยประสบการณ์อันน้อยนิดของที่นี่ พยายามดิ้นรนค้นคว้าหาทางออกอยู่เสมอ เช่น การเผาถ่าน การทำเก้าอี้ฮ่องเต้ การสร้างบ้าน การนำไปใช้ทำรั้วทำไม้ค้ำยัน การนำใบไม้ไปเลี้ยงสัตว์ นอกจากเป็นไปอย่างเชื่องช้าแล้ว เรายังไม่สามารถที่จะก้าวขึ้นขั้นบันไดไต่ไปสู่การสร้างรายได้ให้แก่เพื่อนร่วมพันธกิจได้เท่าที่ควร
วันนี้สวรรค์ยังมีตา ที่ได้กรุณาให้สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้จัดการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้แก่เกษตรกรที่โชคดีกลุ่มนี้ ได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและฝึกภาคปฏิบัติแบบเข้มข้น โดยมีเจ้าหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงประจำกลุ่มคอยดูแลช่วยเหลือ20กว่าคน นั บ เ ป็ น ก ร ณี ก า ร ข ย า ย ผ ล ง า น วิ จั ย ไ ป สู่ ผู้ ใ ช้ ง า น วิ จั ย ที่ น่ า ชื่ น ช ม อ ย่ า ง ยิ่ ง ในนามของสถานที่และผู้ประสานงาน จึงขอขอบคุณแทนเกษตรกรที่สนใจการปลูกสร้างสวนป่าที่มาร่วมรับการอบรมในครั้งนี้
ขอบคุณครับ.
(เอาความรู้ใส่ลงไปในไม้ท่อนกลมๆ ไม้กลายเป็นตู้ตั่งเตียง)
หลังจากได้รับการชี้แนะจากสื่อในช่วงเช้า ช่วงบ่ายแบ่ง5กลุ่มมีเจ้าหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงกำกับคอยชี้แนะอย่างใกล้ชิด เจ้าหน้าที่หนุ่มสาวจากวช.และกรมป่าไม้ทำหน้าที่ขมีขมัน แต่ละกลุ่มทำงานกันจ้าละหวั่น เสียงมีดขวานปอกเปลือกไม้ยูคา เสียงรอยเตอร์เครื่องทำเดือยก้องไปทั้งป่า เพื่อจะบอกว่า ..ชาวบ้านได้เรียนรู้ทักษะเชิงช่างอย่างเป็นรูปธรรม การอบรมเพื่อให้รู้จริงมีเหตุผลในตัวมันเอง ว่าสิ่งที่รู้มีความสำคัญและความหมายต่อการงานอาชีพเสริมของเกษตรกรอย่างไร บ้านเมืองเรามีความรู้ดีๆอยู่ในงานวิจัยเยอะแยะ แต่ยังขาดกระบวนการส่งทอดความรู้สู่ชุมชน เพิ่งจะเห็นงานนี้ละครับ ที่ทุกฝ่ายจะร่วมมือกันสร้างตำนานการขับเคลื่อนงานวิจัยให้ปรากฎ
(ใบประกาศจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ มอบเป็นหลักฐานไว้ให้ผู้ที่ผ่านหลักสูตรการใช้ประโยชน์ไม้กลม)
ระหว่างที่กำลังมะรุมมะตุ้มกับการฝึกงาน
ฝนก็เทลงมา ต้องรีบหลบเข้าชายคา
แต่เทวดายังปราณี มาอยอกเอินช่วงสั้นๆแล้วก็จากลา
ทุกคนกลับมารับผิดชอบงานที่ยังค้างคา
จนกระทั้งเย็นก็ได้เวลาพัก
บางคณะเข้าตัวจังหวัด
บางกลุ่มเข้าหมู่บ้าน
บางทีมจากที่ไกลนอนพัก
หลังจากอาบน้ำทาแป้งแล้วก็มานั่งคุยกัน
(หน้าตานักประดิษฐ์ไม้กลม รุ่นที่ 2)
ผมเล่าเรื่องที่สำนักงานการวิจัย วช. จะจัดให้มีการเสนอผลงานวิจัยประจำปีในปลายเดือนสิงหาคม ที่นางสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ ผู้อำนวยการภารกิจบริหารการจัดการผลงานวิจัย ทาบทามให้มหาชีวาลัยอีสานไปจัดแสดงงานวิจัยในหัวข้อ “ง า น วิ จั ย ไ ท บ้ า น อี ส า น” โดยจะยกให้1ห้องจัดแสดงผลงาน จึงเอาหัวข้อนี้หารือนักวิจัยไทบ้านที่มาร่วมอบรมในครั้งนี้ ให้เตรียมข้อมูลและสินค้าไปจัดแสดง ใครมีดีอะไรก็ให้เตรียมการล่วงหน้า เราชาวฮาจะเตรียมหนังสือเจ้าเป็นไผ และหนังสือในเครือไปจำหน่าย วันนี้ได้มอบให้คณะวิทยากรไปนอนอ่านแล้ว เรื่องนี้ขอฝากเป็นการบ้าน..พี่ป้าน้าอามีข้อเสนอแนะหรือจะเข้าสมทบด้วยก็เชิญนะครับ
วันที่2ของการฝึกอบรม หลังจากฟังภาคทฤษฎีแล้ว ทุกคนแปลงสภาพเป็นช่างไม้ พื้นที่ข้างอาคารใหญ่เป็นโรงงานย่อยขึ้นมาทันที ทุกกลุ่มต้องทำเตียงตามที่ตกลงกันไว้ให้เสร็จกลุ่มละ 1 หลัง วิทยาการได้แนะนำเทคนิคการใช้เครื่องมือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของมีคมที่หมุนจี๋ด้วยพลังไฟฟ้า พลาดท่ามามีหวังเลือดกระจาย..การใช้เครื่องมืออย่างถูกวิธีเป็นหัวข้อที่วิทยากรเน้นเป็นพิเศษ หลังจากรับประทานอาหารกลางวัน ท่านประธานพิธีมีภาระกิจด่วนต้องเข้ากรุงเทพ จึงทำพิธีมอบใบประกาศแก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรม ช่วงบ่ายถัดมาจึงเป็นการเรียนรู้เชิงช่างอย่างใกล้ชิด สงสัยประเด็นไหนก็ถาม ถาม ..ให้กระจ่าง กลับไปแล้วจะได้ทำเป็น
การฝึกอบรมทำเตียงนอนน็อคดาวน์
เป็นการเรื่ยนวิธีใช้เดือยเป็นจุดยึดโครงสร้าง
ทุกกลุ่มทำสำเร็จเรียบร้อยด้วยดี
เรายังพูดกันเล่นๆว่า
“นอนไหนก็นอนได้ อย่านอนใกล้คนหลายใจก็แล้วกัน”
วันสุดท้ายของการอบรม สมาชิกที่อยู่บ้านไกลนอนที่มหาชีวาลัยอีสาน กลางคืนตั้งวงโสกันเรื่องสาระทุกข์สุกดิบ ง่วงก็แยกย้ายกันนอน ตื่นแต่เช้าถือถุงพลาสติกคนละใบ บอกว่าจะไปหาเก็บเห็ด ยายฉิมเก็บเห็ดกระจายไปทั่วป่า สมาชิกส่วนมากจะมองหาเห็ดเสม็ด เห็ดน้ำหมาก เห็ดขาว..ได้คนละ1ถุง ..พ่อวิจิตรมาชวนผมเดินไปชมแปลงปลูกป่าสาธิต เดินๆไปโอ้โห..เ ห็ ด ต า ปู้ โผล่ขึ้นมาริมถนน เห็ดชนิดนี้ใครเห็นไม่กล้าเก็บ เข้าใจกันว่าเป็นเห็ดพิษเห็ดเมา แบบนี้ก็สบายสิครับ มองคนละ2ฝั่ง เก็บเอาๆ แป๊บเดียวได้ 1 ตะกร้า เอามาให้แม่ครัวล้างน้ำหั่นเป็นแว่นๆแล้วทอด โรยหน้าด้วยกระเทียมเจียว เธอเอ๋ย..นี่ไงละเห็ดตาปู้ที่อร่อยไร้เทียมทาน อาหารชั้นเลิศที่เป็นบรรณาการจากสวรรค์
งานฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการจบลงได้ด้วยดี แต่ละกลุ่มทำเตียงสำเร็จเรียบร้อยทันเวลา มีเตียงไม้กลมเกิดขึ้น5 หลัง จากฝีมือมือของสามชิกกลุ่มต่างๆ หลังจากรับประทานอาหารกลางวัน เป็นรายการปิดการฦึกอบรม คณะวิทยากรเปิดโอกาสให้ซักถามข้อข้องใจ เกิดรายการท่านถาม-เราตอบ- คณะวิทยากรแจกเบอร์โทรให้สอบถามภายหลังได้อีก จะเน้นฝาก..เรื่องความปลอดภัยในการใช้เครื่องมือ ซึ่งล้วนแต่เป็นของมีคม รอบหมุนเร็วหลายพัน ที่ผมชอบมากคือ การทำงานอย่างมีระเบียบวินัย สะอาด เรียบร้อยในทุกวันที่เสร็จงาน เครื่องไม้เครื่องมือจัดเก็บอย่างดี
ผมกล่าวต้อนรับแล้ว ก็ต้องกล่าวปิดตามธรรมเนียน
ขอบคุณคณะวิทยากร บุคลากรผู้ช่วยที่ขยันขันแข็งมาก
หน่วยงานต่างๆที่เป็นภาคีถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนครั้งนี้
ดีใจที่เห็นคณะผู้ฝึกอบรมตั้งใจเรียนรู้อยู่กันครบหน้าครบตา
แจ้งให้ทราว่ายังมีการอบรมเรื่องกลั่นน้ำมันยูคาลิปตัสและทำผลิตภัณฑ์
ใครสนใจก็แจ้งความจำนงค์ด้วย
เรื่องการฝึกทักษะชีวิตเว้นวรรคไม่ได้หรอก
ขืนประมาทตกม้าตายได้ง่ายๆ..
เส้นทางชีวิตของคนปลูกป่า..เดินทางมาถึงวันนี้ ได้แนวคิดเรื่องการปลูกต้นไม้ ปลูก ปลูก หลากหลายลักษณะ เมื่อไม้โตเราก็ตัดสางขยายระยะมาใช้ ต้นไม้ส่วนใหญ่ควรจะตัดเฉพาะกิ่งก้านมาใช้งาน เอากิ่งมาทำสิ่งประดิษฐ์ ใบไม้เอามาเลี้ยงสัตว์ ถ้าเกษตรกรปลูกต้นไม้โตเร็วบางชนิด เช่น ไม้อาคาเซีย ภายใน7 ปี สามารถทยอยเอามาใช้งานได้ ถ้าวางแผนให้ดีเราจะมีไม้ใช้สอยหมุนเวียนตลอดไป รวมทั้งใบไม้ที่นำมาเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์มีความเพียงพอ..มูลสัตว์ที่ได้นำ กลับไปสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ต้นไม้ เป็นวงจรที่เอื้อต่อการเสริมสร้างสภาพแวดล้อม โปรตีนก็ได้ ป่าไม้ก็ได้ แบบนี้เรียกว่าการบูรณาการที่นำไปสู่ความยั่งยืนได้ไหมครับ กล่าวโดยสรุปจากแนวทางที่ดำเนินการที่่ผ่านมา ทำให้เห็นแนวทางที่จะเอาเรื่องต้นไม้กับการเลี้ยงปศุสัตว์เข้ามาเป็นเรื่องเดียวกัน เกี่ยวโยงเชื่อมกันจากแนวคิดที่ว่า..ถ้าเราปลูกไม้โตเร็วหมุนเวียน เราก็จะมีวัตถุดิบใช้ประดิษฐ์เครื่องเรือน ของใช้ที่ทำด้วยไม้ต่างๆ ในส่วนของมหาชีวาลัยอีสาน มีไม้ต้นทุนเพียงพออยู่แล้ว ในเบื้องต้นคาดว่าจะผลิตบ้านหลังเล็กแบบน็อกดาวน์ปีละ50หลัง ภายใน2เดือนนี้ขอปรับปรุงเครื่องมือ โรงเลื่อย เครื่องจักรที่จำเป็น หลังจากนั้นจะชี้ชวนให้สมาชิกที่ได้ฝึกงานครั้งนี้ เดินหน้าพัฒนาต่อยอดความรู้งานไม้แบบครบวงจรต่อไป
สรุป
:: ง า น วิ จั ย ถ้าพัฒนาไปถึง ง า น วิ ใ จ ถ่ายทอดลงไปสู่ครัวเรือนเกษตรกร ชุดความรู้ต่างๆที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณก็จะเกิดหมากผลคุ้มค่าคุ้มทุนอย่างมาก การเอาไม้โตเร็วราคาประมาณ 200 บาท มาสร้างเตียงนอน 1 หลัง ไม่ว่าจะประเมินในแง่มุมใดก็จะเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน ก า ร ชี้ ช ว น ใ ห้ ช า ว บ้ า น ได้คิด และ คิดได้ ป ร ะ เ มิ น ร า ค า ไ ม่ ไ ด้ ห ร อ ก น ะ ค รั บ
:: งานวิใจ เป็นการติดอาวุธทางปัญญา แสวงหาวิธีจัดการความรู้ที่มีอยู่ในตัวคนได้ละเลงผสมผสานความรู้ ระหว่างนักวิชาการที่่มีเทคนิควิชา กับชาวบ้านที่มีแรงงานมีทักษะเชิงช่างพื้นบ้าน เมื่อมาได้รับการอบรมลักษณะนี้ ทำให้ชาวบ้านมีวิชาการ แล้วสามารถพัฒนาไปสู่การมีวิชาชีพได้ในที่สุด
:: งานวิใจ ช่วยทำให้มือสมัครเล่น เป็นมืออาชีพ วิชา+อาชีพ = วิชาชีพ การที่ชาวบ้านมีอาชีพเสริม อาชีพหลังการเก็บเกี่ยว ตั้งต้นสร้างงานในหมู่บ้าน ..งานวิจัยที่ดิ้นได้ นั้นแตกต่างกับ งานวิจัยดับดิ้น มากนัก
:: งานวิใจ ควรเริ่มต้นที่ใจ ถ้าเข้าใจ แล้วพัฒนาเป็นความตั้งใจ ใจที่แน่วแน่จะเป็นธงนำไปสู่เป้าหมายที่ดีขึ้น
:: งานวิใจ เป็นคำตอบสุดท้ายว่า..วันนี้เธออยู่กับความรู้ะไร ?
———————————————————————————————–
หมายเหตุ*
:: เอกสารเรื่องนี้ นำไปประกอบการเสวนางานวิจัยที่มหาวิทยาลัยทักษิณ จังหวัดสงขลา วันที่ 25 พฤษภาคม 2554
:: วันที่ 12-13 มิถุนายน ส่วนป่า/ร่วมกับคุณวิฑูรย์ เหลืองวิระแสง หัวหน้างานวิจัยการปรับปรุงพันธุ์ไม้ป่า กรมป่าไม้ จัดรายการอบรมผสมทัวร์ไม้อาคาเซีย ที่ศูนย์วิจัยสะแกราช นครราชสีมา ท่านใดสนใจร่วมรายการ กริ๊งด่วน
:: วันที่ 15-17 มิถุนายน สวนป่า/กรมป่าไม้ อบรมเรื่องการกลั่นน้ำมันยูคาลิปตัส/ทำผลิตภัณฑ์สืบเนื่อง ท่านใดสนใจรับบัตรคิวด่วนภายในสัปดาห์นี้เน้อ
Next : เรื่องเล็กๆน้อยๆแต่สำคัญ » »
4 ความคิดเห็น
น่าเห็นใจมาก เมื่ออ่านการต่อสู้ปลูกป่าในระยะเริ่มต้น แต่เรื่องนี้จะเป็นตำนานให้คนที่คิดจะปลูกป่าทุกคน ได้อ่านและเอาไว้เป็นตัวอย่าง เอาไปต่อยอด ได้เป็นอย่างดี การอบรมเรื่อง “การใช้ประโยชน์ไม้ขนาดเล็กจากสวนป่าปลูก” เป็นประโยชน์จริงๆ สำหรับผู้ที่จะนำแนวคิด ไปทำต่อ เสียดายที่ไม่สามารถอยู่ร่วมสังเกตการณ์ได้ แต่ก็จะรออ่าน รอดูรูปผลิตภัณฑ์ หลังการอบรมในครั้งนี้
เรื่องมันผ่านไปแล้วแม่ใหญ่ เก่าจนขึ้นรา หาเรื่องทำที่มันสดใสซาบซ่าดีกว่า อิ
การออกแบบเฟอร์นิเจอร์เป็นเรื่องสำคัญอะครับ
หากมีไม้สวย เนื้อดี ลายสวย แรงงานฝีมือดี
แต่รูปแบบยังไม่สะดุดุตา ไม่แปลกใหม่ ไม่สร้างสรค์
ก็อาจจะแพ้โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
กรมป่าไม้ควรจับมือศิลปินนักออกแบบหรือให้ทุนเขาไปออกแบบ
แล้วจับคู่ให้นักออกแบบกับเจ้าของสวนป่าทำงานด้วยกัน
แบบนี้ผลผลิตภัณฑ์น่าจะโดดเด่นในตลาด
รับพิจารณา เอาไปเขียนไว้ในการเสนอโครงการวิจัย
ว่าแต่ศิลปินคนไหนละจะมาร่วมออกแบบ
ขอชื่อ นามสุกุล บุตร ภรรยาด้วย อิ