ม๊อง เท่ง ม้อง ง ง
(เจ้าสำนักอารมณ์ดี)
เล่าต่อจากช่วงแรกนะครับ ..กว่าเราจะออกจากห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยาได้ ก็ล่วงเลยกำหนดเวลาไปมากพอสมควร เดิมเราจะไปตั้งแค้มป์ทำอาหารเลี้ยงกันที่บ้านของท่านจอหงวนในตอนบ่าย แต่เรื่องที่อาจารย์บรรยายน่าสนใจจนยากที่จะแกะตัวออกมาได้ ยังมีเรื่องที่ต้องขอคำแนะนำอีกพะเรอ กว่าขบวนแม่งูเอ๋ยมาถึงบริเวณแสดงฝีมือแม่ครัวหัวป่าส์ พระอาทิตย์ก็ใกล้ลาลับโลกไปแล้ว ช่วงเวลาแดดล่มลมตกจึงคล้อยเคลื่อนไปเป็นเวลาตะวันตกดิน
(แกงป่ามังสะวิรัติลุงเปลี่ยน)
ด้วยประสิทธิภาพอันยอดเยี่ยม ทุกคนงัดประสบการณ์มาช่วยกันคนละไม้ละมือ โต๊ะเก้าอี้ทะยอยออกมาตั้ง เอาปัจจัยในการปรุงอาหารออกมาวาง ใครหิวก็มีข้าวเหนียวปั้น/หมูทอด/แจ่วบองจากขอนแก่นมาขัดตาทัพ หลังจากเตาไฟควันโขมง เสียงกระทะครกสากก็เริ่มบรรเลง ตำถั่วป้าหวาน ผัดคะน้าปลาเค็มของลุงอาว์เปลี่ยนกับครูปูแสดงก็ทยอยมาวาง ต้มจืดน้ำเต้าใส่ไก่ แกงป่าอาว์เปลี่ยน น้ำพริกกะปิป้าหวาน ออกมาเสิร์ฟอาหารกลางแจ้ง
แสงไฟจากเทียน แสงสว่างจากตะเกียงช่วยให้สร้างบรรยากาศสุดเริด พอช่วงมืดผ่านไปยุงก็หลบไปไหนไม่รู้ อาจจะไม่ชอบยากันยุง หรือจากไปตามหนทางแห่งยุง เพื่อเปิดทางให้การสาธิตย่างไก่จากเตาย่างที่เกิดจากการคิดค้นของเจ้าบ้าน
:: เป็นเตาย่อส่วนที่ย่างไก่ได้คราวละ 2 ตัว (ขยายใหญ่ให้ย่างเป็นสิบๆตัวได้)
:: ใช้เวลาครึ่งชั่วโมงไก่สุกเหลืองอ๋อย
:: พลิกไก่ตัวละ 1 ครั้งเท่านั้น
:: ไก่ก็จะสุกส่งกลิ่นหอม
:: เจ้าภาพแสดงเองทุกขั้นตอน
:: ตั้งแต่ก่อไฟ-หมักไก่-ย่าง-สับโป๊ก-และเชิญชิม
:: ผลการประเมินใช้งานยังไม่จุใจ
:: จะต้องหาโอกาสไปชิมสัก 10 ตัวถึงจะสรุปได้ อิ อิ..
(สาธิตไก่ย่างบันลือโลก)
อิ่มแล้วก็มานอนพุงอืดที่ตึกสุระสัมมนาคาร เจอทุเรียนอบกรอบของคุณชลิตไปหลายถุง ตามด้วยแตงโมลูกเขื่อง นอนหลับไม่รู้เรื่อง จวนสว่างมีเสียงโทรศัพท์แจ้งว่า จะส่งอาจารย์หมอนวดมาจัดการความเมื่อยขบ ก๊อกๆ ..หมอมา2คน แบ่งกันนวดให้โฉมยังกับผม รายการนี้เป็นบรรณาการจากคุณชลิต ที่ชวนหมอมาจากนครพนม ผมเคยไปนวดมาแล้ว เป็นการนวดกดจุดที่สะเด็ดยาดยิ่งนัก บางจุดที่เส้นอยู่ลึก หมอต้องใช้แรงกดหนัก จึงมีเสียงโอดโอยตามจังหวะของพลังนิ้วที่ทำการสลายความมึนตึงของเส้นเอ็นทั่วร่างกาย
หลังจากนั้นก็อาบน้ำลงไปรับประทานอาหารเช้า เจอคณะเรายิ้มร่าหน้าตาแจ่มใส แม่ใหญ่กับป้าหวานชวนกันเดินออกกำลังตั้งแต่เช้าตรู่ อาว์เปลี่ยนกับรอกอดเจี๊ยะไปเรียบร้อย ท่านอื่นอิ่มไล่เลี่ยกัน จัดการต่อโต๊ะปรึกษากันว่าจะไปเฮที่ไหนดี ..โปรแกรมแรกเป็นการไปเยี่ยมพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีไทยโบราณ เปลี่ยนจากเรื่องเล็กๆจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าของวันแรก มาเป็นการชมเรื่องใหญ่ๆ เช่น ตะไลยักษ์ เกวียนยักษ์ ไถยักษ์ และของเก่าที่เกิดจากภูมิปัญญาดั่งเดิมของไทยแท้ ที่อาจารย์รวบรวมไว้ได้อย่างน่าทึ่ง มีหลายร้อยชิ้นที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน
(ช่องล่างสุดเป็นที่นกฝึกให้ลูกหัดบิน)
หัวใจอยู่ผู้รู้อธิบาย
ถ้าเราเดินชมกันเองก็งั้นๆแหละ
รู้แบบงูๆปลาๆก็เข้าใจได้ผิวๆ
ไม่ตระหนักในสิ่งที่บรรพบุรุษของเราค้นคิด
ที่สะท้อนให้เห็นวิถีของการพึ่งสติปัญญาของตนเองอย่างชาญฉลาด
ส่วนใหญ่..เราจะนึกกันว่า..คิดได้ไง..
คนสมัยก่อนคิดอะไรๆได้ ทำ ไ ม ส มั ย นี้ คิ ด อ ะ ไ ร ไ ม่ อ อ ก
(สนใจเตาประหยัดพลังงานกันอย่างใกล้ชิด)
ท่านจอหงวน เปิดห้องที่เก็บงานออกแบบวิจัยผลิตภัณฑ์ต่างๆให้คณะเราชม บางเรื่องดูเหมือนง่ายๆ แต่กว่าจะคิดออกใช้เวลาเป็นสิบปี ป้าหวานกับพ่อวิจิตรสนใจเตาประหยัดพลังงาน นอกจากให้ความร้อนสูงแล้ว ยังประหยัดเชื้อเพลิงได้ดีกว่าเตาทั่วไปถึงเท่าตัว ยังมีอุปกรณ์พ่วงให้นำความร้อนที่เหลือไปต้มย่างข้างๆได้อีกด้วย ท่านจอหงวนขยายความรู้เกี่ยวกับประสิทธิภาพของเตาประเภทนี้ว่า ถ้าทุกครัวเรือนทั่วประเทศไทยใช้เตาตามที่แบบที่ท่านจอหงวนออกแบบ จะประหยัดฟืนถ่าน-ชะลอการบุกรุกป่าได้นับแสนไร่/ปี คิดเป็นเงินออกมาก็โอ้โหได้เหมือนกัน
สิ่งที่ท่านจอหงวนประดิษฐ์
ผมคิดว่าจะเริ่มเอามาแนะนำชาวบ้านก่อน
เรียงจากง่ายไปหายาก เช่น
:: ทำที่อบผลผลิตทางการเกษตร
:: ทำเตาถ่านประหยัดพลังงาน
:: ทำเครื่องสีข้าวแบบนั่งโยก
:: ทำเครื่องย่างไก่ “ทวิช 6 ดาว*”
:: ทำเครื่องดายวัชพืช
:: ทำเครื่องพ่นยาพ่นปุ๋ย
:: พลังงานทดแทน-ลม-แสงอาทิตย์-พลังงานชีวภาพ
:: ค่อยว่ากันอีกที ดีไหมครับ?
หมายเหตุ* ท่านจอหงวานต้องรีบจดลิขสิทธิ์นะครับ วัยสะรุ่นใจร้อน อิ อิ..
(ท่ารำพัดที่มาของหัวข้อเรื่อง)
ท่านเจ้าของสำนัก พาเราเดินชมสิ่งละอันพันละน้อย พร้อมกับการอธิบายที่ไปที่มา และสะท้อนมุมมองเชิงวิชาวิศวกลศาสตร์ ในจุดที่แสดงเครื่องมือการเกษตรสมัยก่อน ชาวบ้านเอามาไม้ไผมาสานเป็นพัดใบโต เอาไว้สำหรับพัดวีให้เกิดลมไล่ข้าวลีบ เจ้าแห้วเอามาโบกพัดใส่พวกเรา ลมแรงเย็นใช้ได้ทีเดียวแหละ พอท่านจอหงวนเห็นอย่างนั้น ก็เดินไปเอาพัดมาอีก 1 อัน ถือไว้ด้วยมืออันละข้าง แล้วแสดงท่ารำพัดให้พวกเราชม แหม..ท่านจอหงวนนี่อารมณ์บรรเจิดจริงๆ กว่าจะออกจากพิพิธภัณฑ์ของอาจารย์ได้ ท้องก็เริ่มหิวบ้างแล้ว
แต่..เดินไปชมพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน สิรินทธร
ที่ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก
จะได้เข้ากับคำที่ว่า ..ความหิวเป็นอายิโน๊ะโม๊ะโต๊ะที่ดีที่สุดในโลก
ตกลงตามนี้ดีไหมครับ
โปรดอดใจรอด้วยความระทึกระทวยใจ
2 ความคิดเห็น
อย่าให้เซดเลยค่ะ ใครไม่เคยทำกับข้าวกับนักวิทยาศาสตร์ อย่าเพิ่งคุย (หนูทำแล้วก็เลยมาคุยได้ ฮ่าๆๆ) หลงคิดไปว่าอาจารย์คงเป็นสไตล์ใจร้อน ปุ๊บปั๊บ ๆ ที่ไหนได้อาจารย์ใจเย็น และสมาธิสูงงงมาก ค่อย ๆ ทำ ค่อย ๆ คิด ไก่ต้องเหลืองสวยเท่ากัน ต้องปรับลมเข้ามาทางนี้ เปลี่ยนมุมเอียงเท่านู้น ติดอะไรอาจารย์จะบอกทันที เอ ตอนนี้เรากำลังมีปัญหาเรื่องนี้นะ
แล้วสไตล์นักวิทยาศาสตร์เขาคงค่อย ๆ คำนวณหาวิธีการกันอ่ะเนอะ แต่หนูบ่ใจ้นี่ อ๋อ ไม่มีที่รองไม้เหรอคะ แม่เตะกระสอบถ่านโป้ง มาดันไว้ ลากลูกตะกร้อมาอัดไว้ อาจารย์ไม่เห็นว่าอะไรนะคะ ได้ยินแต่เสียงขำก๊าก ๆ อ่ะค่ะ แป่ว!
ยิ่งได้รับฟังการบรรยายเทคโนโลยีของข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ในพิพิธภัณฑ์ ยิ่งเห็นความภาคภูมิใจและความมุ่งมั่นอย่างเต็มเปี่ยมเลยล่ะค่ะ มาฮาก๊ากเอาตอนท่านอาจารย์รำพัดให้ดูนี่ล่ะค่ะ ฮ่าๆๆ
อิจฉา สอง