ต๋อม ต๋อม ต๋อม..

อ่าน: 2628

(ถ่ายภาพจากมุมมองห้องพัก)

การที่เราไปเมืองหนึ่งเมืองใด สิ่งดึงดูดความสนใจของเราคงแตกต่างกันตามจริตหรือเป้าประสงค์ของที่ละกลุ่ม ส่วนผมมองไปที่ตัวคนเป็นอันดับแรก ความรู้ในตัวคนดีคนเก่งมีอานุภาพยิ่งนัก มันเป็นประจุพลังที่สร้างสรรค์ทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าสามารถเอามาใช้ประโยชน์กับคนเบี้ยน้อยหอยน้อยได้ จะเป็นรายการร่วมด้วยช่วยกันทั้งแรงวิชาการและวิชาเกิน

แต่จะเกิดสิ่งเหล่านี้ได้ คงประกอบด้วยแรงใจเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันก็ซ่อนความหวังเล็กๆไว้ว่าถ้ามันจะนำไปสู่การปฏิบัติในวงกว้าง ก็จะช่วยพัฒนาการไปสู่ขั้นตอนที่สูงขึ้น บ้ า น เ มื อ ง มี เ รื่ อ ง ที่ ห า คำ ต อ บ ยั ง ไ ม่ เ จ อ อี ก ม า ก เมื่อทราบว่ามีผู้ทุ่มเททำงานด้วยจิตวิญญาณของนักวิจัยที่ไม่เคยท้อ จึงใจจดใจจ่อตั้งแต่ไม่เห็นหน้าค่าตา

จะเกิดเรื่องเช่นนี้ได้ไม่ใช่จะง่ายนะเธอ

ถ้าสวรรค์ไม่มีตา

ส่งท่านจอหงวนมาเป็นทูตต่อสายตรง

ทำให้คณะเราได้มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้เรื่องพิเศษ

ในบรรยากาศพิเศษจากบุคคลพิเศษ

ธรรมดาที่ไหนเล่า

(อาจารย์บริการความรู้ให้แก่คณะเราอย่างเต็มที่)

ยามใดมีโอกาสได้พบผู้ที่ขลุกอยู่กับการเจาะหาตัวความรู้ ผมจึงตื่นเต้นนัก เหมือนปลากระดี่ได้น้ำ การจัดทีมเฮย่าโมคราวนี้ผสมผสานกันหลากหลาย มีทั้งนักวิชาการ-นักวิชาเกิน-นักธุรกิจ-นักปฏิบัติระดับรากหญ้าตัวจริง-และผู้สนใจใคร่รู้ที่เป็นสมาชิกใหม่ แม่ใหญ่มากับคุณลูกสาว ตั้งอกตั้งใจที่จะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เต็มที่ ส่วนในกลุ่มชาวฮาหน้าเดิมก็รู้กันอยู่แล้ว จึงไม่ต้องห่วง ส..... ถ้าไม่ดูแคลนผู้ผลิตความรู้ วิชาความรู้ใหม่ๆก็จะเปิดประตูให้เราเข้าไปสัมผัส

ถนนทุกสายมุ่งบ้านย่าโม คณะส่วนใหญ่เดินทางมาถึงและทยอยเข้าที่พักไล่เลี่ยกัน รอทีมขอนแก่นที่มีอาว์เปลี่ยนติดต่องแต่งมาด้วย คณะฯมาถึงบ่ายสามโมงนิดหน่อย เรารีบต้อนรับแบบกระชับ ป้าหวานและคณะยิ้มได้ครึ่งเดียว กอดครึ่งกอด ทักทายกันครึ่งจังหวะ ท่านจอหงวนที่มารอรับอยู่แล้วบอกว่า..

เราเคลื่อนพลกันเถอะ อาจารย์รออยู่

จะเห็นว่าเวลาเพื่อการเรียนรู้นั้นสำคัญยิ่งนัก

รถเคลื่อนตามกันไปเป็นงูกินหาง

แม่งูเอ๋ย กินน้ำบ่อไหน?

กิ น น้ำ บ่ อ สุ ร น า รี . .

(นักวิทยาศาสตร์ ผู้อุปการะความรู้ในครั้งนี้)

ชาวเฮไปถึงหน่วยวิจัยเชื้อจุลินทรีย์ฯ ถ้าพูดแบบชาวบ้าน..ก็เหมือนเจ้าบ้านจูงเราเข้าไปนั่งกลางบ้าน เมินห้องรับแขกหรือพิธีการให้เยิ่นเย้อ..ไปนั่งอยู่ท่ามกลางเครื่องไม้เครื่องมือที่เต็มไปด้วยหลอดแก้วและอุปกรณ์ละลานตา เป็นการเรียนรู้ในสภาพจริง มีจอLCD.กางอยู่ เกริ่นแนะนำกันนิดหน่อย ผศ.ดร.สุรีลักษณ์ รอดทอง แห่งโครงการสาขาวิชาจุลชีววิทยา สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อาจารย์ฉายภาพขึ้นจอพร้อมกับเรียงรายสิ่งที่เตรียมบรรยายให้เราเป็นการเฉพาะ เล่าถึงกระบวนการทำงานที่พอเหมาะกับกึ๋นของพวกเรา ให้เห็นว่าวิชาจุลชีววิทยา คิด-ทำอะไร และกำลังทำอะไรต่อๆไป

ตรงจุดนี้เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญอย่างยิ่ง

ที่บทบาทของมหาวิทยาลัยถ่ายเทความรู้ลงไปสู่ภายนอก

เป็นกรณีตัวอย่างการขยายผลสิ่งที่โลดเต้นออกจากหลอดแก้ว

กระตุ้นแก่นความรู้ให้แตกออกไปเหมือนตัวจุลินทรีย์

เพื่อจะเชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้เป็นวงจร

เกิดเกลียวความรู้ไปปลุกกระแสสังคมไทยให้ตื่น

แทนที่จะอยู่ในกรอบเฉพาะการสอนนักศึกษาในห้อง หรือส่งผลวิจัยกับหน่วยงานที่ให้ทุน หรือมอบให้กับภาคธุรกิจเอกชนที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ถ้าเปิดกว้างให้คนทั่วไปที่สนใจได้รับรู้บ้าง คำว่าสังคมอุดมปัญญาก็จะไม่ได้เป็นเพียงคำพูดให้ดูดี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เ ป็ น ก า ร เ ริ่ ม ต้ น เ พ า ะ ห น่ อ อ่ อ น ส ติ ปั ญ ญ า  ที่ไม่ดูแคลนว่า..คนนอกจะรู้เรื่องอะไร จะรับวิชาการชั้นสูงได้ไหม จะไม่เสียเวลาหรือ จะเกิดประโยชน์ตรงไหนอย่างไร?

สิ่งที่อาจารย์ดร.สุรีลักษณ์ รอดทอง อธิบายเรื่องราวของการทำงาน ว่าอาจารย์ไปเก็บตัวอย่างจุลินทรีย์จากแหล่งที่ทำปลาส้ม ทำน้ำปลา ทำเชื้อเหล้าพื้นเมือง มาวิเคราะห์ให้เห็นจุดตั้งต้นว่า..ท่านเริ่มที่เรื่องติดดิน เมื่อได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แล้ว ก็นำผลดีที่พบไปแก้ไขให้กับอุตสาหกรรมน้ำปลา ปลาส้ม ฯลฯ ไปพัฒนาจุดด้อยที่อันตรายให้เกิดความปลอดภัยในวงกว้าง

ส่วนเรื่องใหญ่ๆระดับอภิมหาจุลินทรีย์นั้น ท่านอาจารย์ค้นพบเชื้อจุลินทรีย์ตัวใหม่ครั้งแรกในโลกด้วยตนเองถึง200ตัว ถ้าเทียบกับคำว่าน้ำหยดลงหิน กว่าหินจะกร่อนอย่างไร การค้นพบเชื้อจุลินทรีย์ตัวใหม่ของโลกคงยากและซับซ้อนมากกว่านั้น นักวิจัยต้องนั่งส่องกล้องดูความเป็นไปของเชื้อแต่ละตัวนับพันนับหมื่นๆครั้ง ถ้าไม่รัก-ไม่ศรัทธา-ไม่รับผิดชอบ-ไม่กระหายใคร่รู้-ร ะ ดั บ ค น บ้ าเจ้าตัวเล็กที่บางทีต้องใช้กล้องขยายเป็นล้านเท่า ไม่มีทางที่จะได้พบได้รู้จักอานุภาพรอบด้านของเชื้อแต่ละตัว มันเป็นงานหินที่เรียกว่าโคตรมหาหินเชียวแหละเธอ

ไม่อย่างนั้นเขาจะมอบรางวัลโนเบลให้คนประเภทไหนละครับ

ด้วยสติปัญญาแค่กิ้งกืออย่างผม ฟังแล้วปลื้มนักที่ประเทศของเรามียอดมนุษย์ระดับโลก ผมไม่ได้โม้เกินเหตุหรอกนะครับ อาจารย์นำเชื้อใหม่ๆที่ค้นพบไปขึ้นทะเบียนโลก ตั้งชื่อในนามของคนไทยไว้แล้วหลายตัว บางคนทั้งชีวิตค้นแทบตายอาจจะไม่ได้ไม่เจอสักตัว นอกจากที่พบแล้ว ยังตามสะกดรอยจุลินทรีย์ต่อๆไปในอนาคตอีกละ ไม่รู้จะอึ้งกิมกี่หมื่นตระหลบแล้วเธอเอ๋ย

คนเก่งจริงถ่อมตัวเหลือเกิน

อาจารย์พูดเบาๆยิ้มระบายตาเป็นประกาย

ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ค้นพบ

ถ้าขยายผลไปสู่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม

มูลค่าไม่รู้กี่หมื่นกี่แสนล้านบาท

กระบวนการบางตัวเราค้นพบดีกว่าที่ทั่วโลกมีอยู่ในขณะนี้

มีฝรั่งหลายชาติติดต่ออยากได้

แต่อาจารย์บอกว่าสิ่งเหล่านี้เก็บไว้ในประเทศไทยให้คนไทย เท่านั้น!

ผมขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าให้ช่วยจำชื่อผศ.ดร.สุรีลักษณ์ รอดทอง

เผื่อในวันข้างหน้ามีไอ้โม้งมาอุ้มอาจารย์ไปเราจะได้ช่วยกันไปตาม..

อาจารย์กรุณาอธิบายหลายเรื่อง เช่น การวิจัยการผลิตพลาสติกPLAจากแป้งมันสำปะหลัง จุลินทรีย์เพื่อวิถีเขียว –พลาสติกย่อยสลายได้โดยทางชีวภาพ-พลังงานทดแทน-สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ เรื่องอาหาร-มหัศจรรย์การหมัก-การถนอมอาหาร-ผลิตภัณฑ์ใหม่ อาหารคนและสัตว์ โครงการวิจัยยีสต์และราที่ใช้ในการผลิตสารมีมูลค่าและอาหารสัตว์ที่มีโปรตีนสูง อาจารย์ค้นพบวิธีใช้ลูกแป้งของเชื้อผสม ที่มีประสิทธิภาพสูงในการผลิตอาหารสัตว์โปรตีนสูงด้วยกระบวนการหมักที่ง่ายและต้นทุนต่ำ ซึ่งผลผลิตที่ได้มีโปรตีน15.3% ซึ่งสูงกว่ารายงานทดลองหมักทั่วไปที่ได้ปริมาณโปรตีน 11.3%

ผลการหมักพืชอาหารสัตว์ อาจารย์ได้ส่งให้กองวิจัยอาหารสัตว์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา อาจารย์ยังเล่าเรื่องการใช้เชื้อบางตัวไปใส่ในกระเพาะโค ที่หน่วยวิจัยทำการเจาะกระเพาะเพื่อล้วงเอาผลการเกิดบักเตรีในกระเพาะโคมาวิจัยต่อไป

พูดถึงอาหารโคผมนะดิ้นปัดๆอยู่แล้ว เล่าให้อาจารย์ฟังว่าปีนี้เกิดความแห้งแล้งอย่างมาก หญ้าที่ปลูกไว้แห้งสลดกรอบพับกับดิน จะทำอาหารหมักตามที่เคยมีการแนะนำ ต้นทุนวัตถุดิบก็สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นมันสำปะหลัง-กากน้ำตาล ฯลฯ ไม่คุ้มกับการลงทุนเลี้ยงโคแบบชาวบ้านทั่วไป ชาวบ้านส่วนมากแก้ปัญหาไม่ตก จึงจำขายโคผอมๆทิ้งในราคาถูก วิกฤติแล้งเที่ยวนี้ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงปศุสัตว์รายย่อยทั่วประเทศ ถ้าติดตามข่าวจะทราบว่ามีโคล้มตายจำนวนมาก

ผมแก้ปัญหาด้วยการไปตัดใบไม้มาสับเลี้ยงโค

ช่วยแก้ไขวิกฤติอาหารโคได้อย่างเหลือเชื่อ

ทำให้เกิดกำลังใจคิดต่อว่าจะทำอย่างไรให้ดีกว่านี้

ก็คิดแบบชาวบ้านตาโปๆ เช่น

:: หมักผลไม้พื้นถิ่นมาทำไวน์ราดอาหารโค

:: ปลูกขนุนละมุด ที่เนื้อนิ่มหอมหวานมาสับผสมให้มีกลิ่นชวนกิน

:: ปลูกมันมือเสือแล้วเอามาสับตากแห้งผสมอาหารให้โค

:: ปลูกอ้อย แล้วตัดทั้งลำมาสับผสมกับใบไม้ ทดแทนการซื้อโมลาส

:: ขุดเอาหัวกราวเครือขาวที่ปลูกไว้แล้วมาบดแห้งผสมอาหารโค

:: ขุดเอาขมิ้นขาว/ผลน้ำเต้า/ผัก/ที่คัดทิ้งมาสับผสมอาหารให้โค

:: ปลูกพันธุ์ไม้ชนิดต่างๆที่โคชอบ ไว้ตัดเอาใบไปตัดเลี้ยงโค

(ไวน์หวดข่าขวดแรกของโลกเกิดขึ้นแล้ว)

อาจารย์กระตุกต่อมคันเรื่องการหมักอาหารสัตว์ ว่ามีบริษัทบางแห่งทำจำหน่าย ขายดีจนผลิตไม่ทัน แต่วิธีการยังไม่ดีนัก ยังมีน้ำแฉะอยู่ก้นถุง แนะนำว่า..เรื่องนี้ยังมีช่องทางพัฒนาและมีความเป็นไปได้ที่จะขยายผลเป็นอาชีพได้ไม่ยาก คนที่ตกอยู่ในท่ามกลางของปัญหาอาหารสัตว์ จึงสนใจเรื่องการหมักใบไม้เพื่อการเลี้ยงสัตว์ด้วยใจระทึก

(คอไวน์กำลังทดลองคุณภาพ) “ความรู้ที่ชิมได้”

ก่อนหน้าที่ชาวเฮจะมาเยี่ยมอาจารย์ ผมฝากลูกหวดข่ามากับท่านจอหงวนครึ่งกระสอบปุ๋ย ในช่วงท้ายของการบรรยาย อาจารย์หยิบเอาน้ำหวดข่าที่หมักมาให้เราชิมหนึ่งแก้ว พวกเราได้ลองลิ้มรสไวน์หวดข่าชุดแรกของโลก ผมไม่ได้ทึกทักเอาเองนะครับ ทุกคนบอกว่ารสชาติกลมกล่อมหอมอร่อย อาจารย์บอกว่า..ยังไม่ได้ที่นะ ว่าแล้วก็ชวนเราไปดูขวดหมักไวน์หวดข่า มีทั้งที่ทำแบบใส่ยีสต์และไม่ใส่ มีทั้งแบบแช่ตู้เย็นแบบตั้งไว้ภายภายนอก คงต้องการเปรียบเทียบแบบวิชาการและวิชาเกินของชาวบ้าน


ผมให้โฉมยงเอาไวน์ที่ทำเองไปด้วย1ขวด

ช่วงที่ดวลไก่ย่าง งัดออกมาให้คณะฯลองชิม

ขวดเดียวไม่พอ ร้ อ ง ข อ เ ป็ น ลั ง

(หวดข่า-ผลไม้จากป่าเดินทางไปสู่ห้องวิจัยของนักวิทยาศาสตร์มืออาชีพ)

หลายปีมาแล้ว ในการประชุมวิชาการประจำปีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ผมได้รับเชิญให้ไปบรรยายเรื่องการวิจัยของไทบ้าน และแนวโน้มของการเชื่อมโยงระหว่างนักวิจัยนักวิชาการในสถาบัน หลังจากนั้นก็เงียบ

ต๋อม..ครั้งที่1

จนกระทั้ง4ปีต่อมา โดยการนำของ ศ...วิจารณ์ พานิช ได้ชวนนักศึกษาอาจารย์ในโครงการช้างเผือกทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดร.หนุ่มสาวรุ่นใหม่ นักวิจัยรุ่นเดอะในมหาวิทยาลัยต่างๆ ยกทีมลงมาลุยสวนป่า เพื่อให้เห็นกับตาว่า..นั ก วิ จั ย น่ า จ ะ ค้ น ห า หั ว ข้ อ ก า ร วิ จั ย ร่ ว ม กั บ ช า ว บ้ า น ไ ด้ ให้ท่านเหล่านั้น เห็นทิศทางของการทำวิจัยที่ส่งผลต่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นโดยตรงกับท้องถิ่น แต่แล้ว..ทุกอย่างก็..

ต๋อม ครั้งที่2

พระอาจารย์ใหญ่ไม่ยอมแพ้ ให้ผมคัดครูอาจารย์ที่มีแววจะสร้างรูปแบบในแนวทางนี้ โดยมหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยงหลัก อัดฉีดงบประมาณให้ไม่อั้น แต่แล้วทุกอย่างก็เป็นไปทุลักทุเล จนผมต้องสารภาพบาปขอยกธงขาว

ต๋อม ครั้งที่3

ผมจึงซาบซึ้งกระดองใจมาก วิธีการที่จะเพาะเชื้อให้กระบวนการวิจัยเกิดในหัวใจของคนไทยนั้น มันเหมือนกับขืนโคให้กินหญ้า จุดพอดี จุดลงตัว อยู่ที่ไหน เป็นยังไงก็ไม่รู้

หลังจากผมยกธงขาวแล้ว ผมก็กลับมาทบทวนปัญหาที่ค้างคาใจ ทำอย่างไรวิชาความรู้ในห้องแล็ปของสำนักวิจัยต่างๆ มันจะสร้างสะพานความร่วมมือร่วมใจถึงกันได้ อีกนานไหมที่จะเห็นนักวิจัยมืออาชีพมาเดินอี๋อ๋อกับนักวิจัยไทบ้าน ฝ่ายหนึ่งเข้มแข็งด้านวิทยาการ กับ อีกฝ่ายหนึ่งที่เข้มแข็งทางด้านปฏิบัติ หลอมความเข้าใจเข้าด้วยกัน แล้วช่วยกันแสวงหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมใหม่ๆ มาลงเรือลำเดียวกันแก้วิกฤติทางด้านวิทยาการให้กับบ้านเมืองของเรา ผมขายความคิดเรื่องนี้ไปหลายเวทีหลายวาระ แม้แต่การประชุมนักวิจัยของกรมวิชาการเกษตรก็เคยไปนำเสนอ แต่..ก็ต๋อม..ๆๆๆ

เรื่องที่เล่าข้างบนผมไม่ได้โทษใครนะครับ

ผมโทษตัวเองนี่แหละที่ไม่มีกึ๋นพอที่จะไปจุดประกายใครได้

เพิ่งจะมาปีนี้แหละครับ ..ช่องเล็กๆเท่ารูเข็มที่ปลายอุโมงค์ กำลังขยายผ่านกล้องจุลทัศน์ในห้องแล็ปมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ที่ผมขออนุญาตในที่นี้ที่จะเอาเรื่องที่ประจักษ์ในครั้งนี้ ไปบอกเล่าในเวทีประชุมวิชาการนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยทักษิณ ในวันที่25 เดือนพฤษภาคม และไปโม้อีกรอบในงานประชุมวิชาการป่าไม้ ในวันที่29 เดือนมิถุนายน ที่กรมป่าไม้

ขอบคุณท่านจอหงวน รศ.ดร. ทวิช จิตรสมบูรณ์ ชนวนจุดระเบิดเรื่องนี้

ขอบคุณ ผศ.ดร.สุรีลักษณ์ รอดทอง ที่เป็นพิมพ์เขียวให้กับเรื่องนี้

ขอบคุณพี่น้องชาวเฮที่เป่าน้ำและคอยหิ้วปีกเข้ามุม

ขอบคุณทุกคอมเมนท์ที่จะแนะนำความคิดเห็นต่อเรื่องนี้

« « Prev : เสียดายไม่ได้เป็นเหลนเขยย่า

Next : ม๊อง เท่ง ม้อง ง ง » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 krupu ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 เมษายน 2011 เวลา 19:33

    การได้รับฟังการบรรยายของ ดร.สุรีลักษณ์ ทำให้หูตาเปิดอย่างที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อนเลยล่ะค่ะ ท่านมุ่งมั่นสนใจอยู่เรื่องเดียว แล้วเรื่องที่ทำก็สุดแสนจะยากเข็ญเลยนะคะนั่น ใครจะไปอดทนได้ซักกี่น้ำ ต้องทดลองเลี้ยงเชื้อที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ……… ที่ 200 กว่าจะเจอซักตัวนึง โอย … แค่ฟังก็หนาวแล้วล่ะค่ะ

    เลยเห็นเลยว่าภาระหน้าที่ของแต่ละสาขาวิชาชีพล้วนมีขีดจำกัดมีความยากมีอุปสรรคทั้งนั้นเนาะคะ เพียงแต่ความเพียรความวิริยะอุตสาหะเท่านั้น ที่จะพาเราข้ามไปได้ แล้วที่สะดุดใจคืออาจารย์ท่านเพลิดเพลินและมีความสุขกับอุปสรรคได้ตลอดเวลา

    ที่สุดยอดก็คืออาจารย์ถ่อมตนเป็นอย่างมาก ทั้ง ๆ ที่ประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชมระดับชาติ (อาจารย์ทวิชบอกว่าที่จริงเป็นในระดับโลกด้วยซ้ำ) นี่ล่ะมังค่ะที่เขาว่ากันว่า ต้นข้าวที่สมบูรณ์เท่านั้น จึงจะอ่อนและโน้มตัวลงมาได้น่ะค่ะ

    เหล่านี้คือสิ่งที่ได้เรียนรู้จากอาจารย์เพื่อจะได้นำไปปรับใช้ได้บ้าง
    ขอบพระคุณค่ะ

    ^^

  • #2 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 เมษายน 2011 เวลา 22:22

    อิจฉา สาม


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.094353199005127 sec
Sidebar: 0.050685882568359 sec