ปิดกระทรวงศึกษาฯ
อ่าน: 1857
นั่งแท็กซี่ไปประชุม รถจอดเอี๊ยด! อ้าว! ทำไมทางเข้าประตูกระทรวงศึกษาปิดตายยังงั้นละ สงสัยจะพวกม็อบนี่ละมั่ง ประกาศรักประเทศไทยปาวๆ แต่ไม่รักกระทรวงศึกษาฯ ไม่รักคนกรุงเทพฯ ไม่รักคนที่สัญจรไปมา ไม่รักข้าราชการที่เขาต้องไปทำงาน แบบนี้มันรักอะไรกันแน่ ตั้งแคร่ตั้งเต็นท์คร่อมถนนกันยาวยืด เยื้องประตูเข้ามีเวทีขนาดใหญ่ เดินเฉียดไปฟังเห็นพูดถึงเรื่องการเคลื่อนศพพยาบาลจากนิวซีแลนด์กลับมาไทย แหมจะพูดเรื่องแค่นี้ทำไมต้องลำบากลำบนขนกันมาหน้าแห้งหน้าดำขนาดนี้ ผมเห็นแต่ประเทศไทยนี่แหละ ทำอะไรไม่ทันกินกับเขาเสียเลย เรื่องม็อบข้างถนนนี่มันโบราณไปแล้ว ทั่วโลกเขาย้ายไปม็อบบนเฟสบุกส์ สะดวกและไม่เดือดร้อนใครด้วย
ถ้ า รั ก ป ร ะ เ ท ศ ไ ท ย อ ย่ า เ ซ่ อ น ะ ต๋ อ ย ?
ควรเข้าไปแสดงความคิดเห็นกับกลุ่มออกแบบประเทศไทยโน้น!
เข้าประตูไม่ได้ ผมก็ถือโอกาสเดินสำรวจสภาพม็อบ 2ฝั่งถนนอุดมไปด้วยแม่ค้าแม่ขาย อาหารการกินเพียบ มีมุมขายมือตบด้วยนะ เดินไปเจอสุขาเคลื่อนที่ เลยเข้าไปสำรวจและทดลองใช้บริการ เห็นวิธีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า นี่ถ้าย้ายทั้งหมดนี้ไปอยู่เมืองที่เกิดสึนามิในญี่ปุ่น น่าจะสอดคล้องกับวิถีของผู้ที่ทรหดอดทนกับความลำบาก
ผมเดินอ้อมๆไปเข้าประตูหลัง เข้าไปนั่งป๋อหลอทันเวลาประชุม ระเบียบวาระที่ถกกันมาก ได้แก่ร่างยุทธศาสตร์การส่งเสริมการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก่อนหน้านี้มีการจัดตั้งคณะกรรมการไปศึกษาข้อมูล วันนี้เอาสิ่งที่ได้มาวิพากษ์วิจารณ์กัน ฟังไปฟังมาก็เหนื่อย การรวบอำนาจไว้ส่วนกลางเป็นการสะสมปัญหาให้เขม็งเกลียวมากขึ้น จนกระทั้งระบบเรรวนป่วนแปะ แตะตรงไหนก็มึนตึบ
พบว่ามีโรงเรียนร้าง ไม่มีนักเรียนเลย 148 โรง
โรงเรียนมีเด็ก 1-20 คน จำนวน 409 โรง
โรงเรียนมีเด็ก 21-40 คน จำนวน 1,760 โรง
โรงเรียนมีเด็ก 41-60 คน จำนวน 2,960 โรง
โรงเรียนมีเด็ก 61-80 คน จำนวน 3,341 โรง
โรงเรียนมีเด็ก 81-100 คน จำนวน 3,025 โรง
โรงเรียนมีเด็ก 101-120 คน จำนวน 2,413 โรง
รวมทั้งสิ้น 14,056 โรง
จังหวัดเชียงใหม่มีโรงเรียนในกลุ่มขนาดเล็ก 263 โรง
จังหวัดลำพูนมีโรงเรียนในกลุ่มขนาดเล็ก 90 โรง
จังหวัดพิษณุโลกมีโรงเรียนในกลุ่มขนาดเล็ก 96 โรง
จังหวัดเชียงรายมีโรงเรียนในกลุ่มขนาดเล็ก 132 โรง
จังหวัดมหาสารคามมีโรงเรียนในกลุ่มขนาดเล็ก 107 โรง
จังหวัดบุรีรัมย์มีโรงเรียนในกลุ่มขนาดเล็ก 49 โรง
ผู้ทรงคุณวุฒิอภิปรายกันหลากหลายความเห็น บางท่านบอกว่าพอกระทรวงเห็นปัญหาก็จะโบ้ยไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ทำ ท้องถิ่นเองอยากจะได้หรือจะจัดการไหวหรือเปล่าก็ไม่รู้ ที่ทำอยู่ได้แก่ศูนย์เลี้ยงดูเด็กก่อนวัยเรียน จะยกให้อปท.ระดับอื่นให้อปท.ก็ยี่ยักยี่หย่อน
เรื่องนี้คุณหมอจอมป่วนก็เคยโพล้งไว้ จะ ม อ บ แ ต่ ภ า ร ะ ง า น ส่ ว น ง บ ป ร ะ ม า ณ ไ ม่ มี ใ ห้ เท่าที่ฟังจากตัวแทนสำนักงบประมาณชี้แจง เขาบอกว่าตอนนี้อปท.มีงบประมาณมากกว่า2แสนลานบาทต่อปี แต่เอามาใช้จ่ายเพื่อการเรียนรู้น้อยมาก เท็จจริงประการใดไปว่ากันเอาเองนะครับ
ท่านอาจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ อภิปรายว่า ก่อนที่จะดำเนินการศึกษาอย่างไรต่อไป ควรพิจารณา 3-4 ประเด็น เช่น
1 การออกแบบวิธีบริหารจัดการสถานศึกษา
2 การออกแบบการเรียนรู้ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะผู้ที่อยู่ในโรงเรียนเท่านั้น คนไทยทุกคนควรจะได้รับการศึกษาตามความเหมาะสมและจำเป็นต่อการพัฒนาการตนเอง
3 การอกแบบเครือข่ายหน่วยงานการศึกษาที่ครอบคลุมไปถึงศาสนา วัฒนธรรม รวมกันลงไปเรียนรู้กับท้องถิ่น
4 การมีส่วนร่วม การใช้ทรัพยากรร่วมกัน
สภาพปัจจุบัน
1 มีจำนวน อปท.ที่จัดการศึกษาในระบบ428แห่ง(ร้อยละ 5.45ของ อปท.ทั้งหมด)
2 มีสถานศึกษาขั้นพื้นฐานสังกัด อปท.1590 แห่ง (จัดการศึกษาประถม-มัธยม-ปวช. 10 แห่ง และอุดมศึกษา 3 แห่ง)
3 มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัด อปท.19,481 ศูนย์
ท่านประธานเล่าว่า ถ้าจะย้ายโอนการศึกษาทั้งหมดไปให้ อบจ.และ อปท. เหมือนประเทศญี่ปุ่น คงจะยากแต่ก็ต้องคิดเผื่อไว้ในอนาคต จะภายในกี่ปีก็ว่ากันไป ผู้ทรงคุณวุฒิอภิปรายความเป็นไปได้เรื่องการปรับโอนช่วงนี้ สำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก อบต.อปท.ในแต่ละพื้นที่นั้นย่อมมีขนาดเล็กไปด้วย ความพร้อมความสามารถจะเป็นอย่างไร แม้แต่โรงเรียนร้างที่จะแก้ระเบียบให้อบต.เข้าไปใช้งาน ก็ไม่ทราบว่าอบต.จะรับไหม รับไปทำอะไร ผมคิดว่ามันเหมือนกับเอาปลากระป๋องเน่าไปแจก นั่นแหละ
เรื่องการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วม การศึกษาตามอัธยาศัย การศึกษานอกระบบ
ผมอภิปรายว่า ถ้าอยากเห็นอยากให้เกิดตรงจุดนี้ อย่าคิดเชิงทฤษฎี การเรียนการสอนในห้องที่อัดแน่นไปด้วยเนื้อหาจนครูโอดครวญว่าสอนไม่ทัน สอนไม่ครบ เราพูดถึงอัธยาศัยแต่ไม่เคยให้ความสำคัญของอัธยาศัยผู้เรียนผู้สอน เอาแต่สั่งๆๆๆ..เด็กและครูเบื่อการเรียนการสอนตามใบสั่งที่คับคั่งนี้ จนไม่มีเวลาขยับขยายอะไรได้เลย จะให้เอาเวลาที่ไหนไปสอนเรื่องการทำงาน การสร้างสมประสบการณ์ชีวิต การสะสมทักษะชีวิต
คิดมากแต่ทำจิ๊ดเดียว..เป็นไปไม่ได้หรอก
ถ้าไม่ปรับรื้อเนื้อหาในหลักสูตรที่สอนมากแต่รู้น้อย
ขอได้ไหมละ
..ย ก วั น ศุ ก ร์ ทั้ง วั น ใ ห้ เ ด็ ก เ รี ย น เ ชิ ง กิ จ ก ร ร ม
ถ้าโรงเรียนไหนสนใจก็นัดหมายกันลุยต่อในวันเสาร์-อาทิตย์
ถ้าทำได้จะเป็นการเตรียมเด็กกลุ่มนี้เข้าเรียนสายอาชีวะมากขึ้น
เท่าที่สังเกต..ข อ เ ส น อ ผ ม ค ง เ ป็ น ห ม้ า ย
ในเมื่อคนในแวดวงการศึกษายังคิดแบบ
..คิ ด เ ก่ า ๆ ทำ เ ก่ า ๆ แ ต่ อ ย า ก จ ะ ไ ด้ ผ ล ลั พ ธ์ ใ ห ม่ ๆ
เ รื่ อ ง ข อ ง ข้ า ใ ค ร อ ย่ า เ ต ะ . .
:: ที่อุ้ยถามความเห็นมาในบล็อกก่อนหน้านี้ เอาเป็นว่าผมจะส่งเอกสารทั้งหมดไปให้ จะได้มีเพื่อนร่วมปวดหัวยังไงละครับ
“ มอบให้อุ้ยอ่านเล่นพอเย็นจิต
ช่วยครุ่นคิดต่อยอดสอดใส่เสริม
เมื่อเห็นดีเห็นด้อยค่อยช่วยเติม
ให้อุ้ยเจิมจุดแก้ไขดีไหมเอย”
อิ อิ..
« « Prev : สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ
2 ความคิดเห็น
การทำงานสมัยนี้ต้องให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ทั้งเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชน
ดูแลการศึกษามาตั้งนาน มีปัญหาแล้วยังไม่เอะใจ…..
ว่างๆหาหนังสือ แพทย์ เทพเจ้ากาลี ที่อีวาน อิลลิช เขียน อาจารย์หมอสันต์ หัตถีรัตน์ แปล มาอ่านเล่นก็จะดีนะ เค้ากระตุกวิธีคิดไว้สามสิบกว่าปีแล้วครับ อิอิ
กราบขอบพระคุณค่ะ
แหม…นึกว่าปิดจริงๆเหมือนชื่อบันทึก…ที่ไหนได้..แหม…ทำเอาคนอ่านเก้อเลยนะคะครูบา
ฮ่าๆๆ