สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ
อ่าน: 1700
(ลงมือ ใช้มือเป็นอุปกรณ์การเรียนดีไหมครับ)
ถ้าเอ่ยถึงแนวทางการฝึกฝนอบรมการศึกษา ครูบาอาจารย์สมัยก่อนปักธงไว้ที่-สุ-จิ-ปุ-ลิ แต่ในปัจจุบันแนวทางปฏิบัติก็ไม่ได้ให้ความสำคัญในหลักการที่เป็นหัวใจนี้ กลับมุ่งไปติวเข้มติวเตอร์ติวเซ่อ ส่งเสริมการเรียนอย่างฉาบฉวย แข่งกันเรียนแข่งกันสอบ สอบแล้วก็ลืม ทั้งๆที่รู้นี่นะ ทั่วไทยแลนด์ก็แห่โหมกันเป็นบ้าเป็นหลัง เด็กๆถูกเคี่ยวเข็ญให้เรียนอย่างเดียว ไ ม่ ต้ อ ง ทำ ง า น บ้ า น ใ ห้ ทำ ก า ร บ้ า น อ ย่ า ง เ ดี ย ว รู้ไม่รู้-จริงไม่จริง-ไม่เป็นไร เอากระดาษเปื้อนหมึกให้ได้ก่อน
( การศึกษาเป็นปัญหาระดับ อึ้ง ทึ่ง โหด มันส์ ฮา )
คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ Best CEO ปี 2010 ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซีพี ออล์จำกัด (มหาชน) หรือที่เรารู้จักในนามเซเว่นอีเลฟเว่น กล่าวถึงการศึกษาบ้านเฮาว่า “วันนี้ในอุตสาหกรรมที่รับเด็กปริญญาตรีบ่นกันมากว่า เรียนมาความรู้ไม่พอที่จะใช้งาน เรียนมาไม่ตรงบ้าง ที่เรียนมาตรงก็มีความรู้ไม่เท่าไหร่ บางคนอาจจะเด็กเกินไปเลยคิดอะไรไม่เป็น ซึ่งบางคนปรับตัวไม่ได้ก็ลาออกไป”
(นักการศึกษา พยายามศึกษา ศึกษา ศึกษา)
การหล่อเลี้ยงการศึกษาในสภาพรู้ครึ่งเดียว หรือเรียนงั้นๆไม่รู้จะเอาไปใช้ตรงไหน ใช้เมื่อไหร่ ใช้อย่างไร จุดนี้ส่วนใหญ่ไม่ตระหนักในระหว่างเรียน ทั้งๆที่กว่าจะยกร่างแต่ละหลักสูตรให้ได้รับการอนุมัติ คณะกรรมการคิดแวดล้อมรอบครอบอย่างรัดกุม แต่พอมาสอนมาเรียนกลับไม่เคร่งครัดเท่าที่ควร ยี่ยักยี่หย่อนยึกยักหย่อนยานจนมีบัณฑิตที่น่าสงสารเต็มประเทศ เมื่อทำงานไม่เป็นก็ย้อนมาให้พ่อแม่เลี้ยง แบมือขอเงินใช้เหมือนเดิม การศึกษาจึงอึดอัดอุดอู้และอึมครึมอกอีแป้นแตก ทั้งนี้เพราะสังคมไทยนี่แหละเป็นตัวการก่อหวอดให้เกิดวิกฤติการณ์นี้
ในโลกแห่งความเป็นจริง การบริหารงานที่ซีพีออลล์จึงไม่เคยขึ้นตำแหน่งให้ใครโดยปริญญา เพราะใบปริญญาเหมือนใบเคาะประตูเข้ามาทำงานเท่านั้น คนที่จบจุฬาฯจบปริญญาโทก็เป็นใบรับรองชนิดหนึ่ง แต่ทุกอย่างอยู่ที่ฝีมือที่ทุกคนต้องพิสูจน์ให้เห็นในการทำงาน จึงจะก้าวขึ้นในตำแหน่งที่สูงได้ ซึ่งตรงนี้อาจจะแตกต่างกับระบบราชการ ตรงที่ไม่ได้ยึดถือเหมือนภาคเอกชน การซื้อตำแหน่งในระบบอีแอบที่ซับซ้อน ทำให้ระบบราชการไทยตกต่ำและจะต่ำต้อยลงไปเรื่อยๆ
วิธีดีดแม่แรงการศึกษา สถาบันการศึกษาต้องปรับตัวจัดโปรแกรมฝึกงานที่ยาวนานขึ้นเพื่อให้เด็กได้ฝึกปฏิบัติจริงมากกว่าเรียนทฤษฎีเพียงอย่างเดียว เพราะบางครั้งเด็กฝึกงานเทอมเดียวไม่ได้อะไร ต้องใช้เวลาฝึกยาวๆ ไม่ต้องดื้อตาไสไปแก้โน่นแก้นี่ ไม่ต้องไปตั้งมหาวิทยาลัยใหม่ ไม่ต้องใช้งบประมาณมาก องค์กรธุรกิจก็แฮปปี้ นักศึกษาจบออกไปก็คุณภาพ ใครๆก็อยากรับเข้าทำงาน ถ้าทุกฝ่ายลุกมาช่วยกันทำ แทนที่จะนั่งบ่นว่าคุณภาพการศึกษาปริญญาตรีของเราไม่ดี ทุกอย่างก็จะดีขึ้นได้
เท่าที่ผมสังเกตในการพานักศึกษามาเข้าค่ายหรือศึกษาดูงานเชิงกระบวนการ อาจารย์จะบ่นว่า ..หาเวลาได้ยากเหลือเกิน ตารางเรียนตารางสอนในห้องมันอัดแน่นไปหมด เรื่องนี้ถ้าไม่ผ่าทางตัน หยิบเอาหลักสูตรมาปรับปรุงใหม่ ทุกภาควิชาก็จะแห้งตายคาห้องเพราะกฎบ้าๆที่ร่างขึ้นมามัดแข้งขาตัวเอง ทำให้ออกไปไหนมาไหนไม่ได้ ต้องถูกดูแคลนว่า ..
“เรียนในห้องแคบๆ อยู่กับครูใจแคบทำอะไรไม่เป็นหรอก”
ผมไม่ทราบว่ามีครูใจแคบใจกว้างสักกี่เปอร์เซ็นต์ ใครจะกล้าไปล้วงคองูเห่า ! บ้านเรายังไม่มีเครื่องมือวัดใจครู อ ย า ก จ ะ ใ ห้ ท่ า น จ อ ห ง ว น ช่ ว ย ผ ลิ ต เ ค รื่ อ ง ถ่ า ง ใ จ ค รู ใ ห้ ห น่ อ ย เรื่องกระบวนการเรียนแบบพบกันครึ่งทาง ระหว่างทฤษฎีกับปฏิบัติไม่ใช่ว่าไม่มีใครคิด แต่ก็สู้กระแสการสอนแบบพิมพ์มหานิยมไม่ได้ รู้ๆทั้งรู้ว่าคุณภาพการประเมินที่ตัวเด็กและการวัดประเมินผลหลักสูตรมันย่ำแย่ แต่ก็แถกไถหลับหูหลับตาแก้มาตรฐานการประเมินไปอย่างน่าเวทนา ถ้าช่วยกันเติมส่วนการเรียนภาคสนาม การเรียนในโลกกว้าง การสร้างทักษะชีวิต การค้นคว้าค้นหาความรู้จริงเพิ่มขึ้นจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สภาพการติดล่มการศึกษาก็จะค่อยๆดีดตัวสูงขึ้น
ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้ข้อคิดเห็นในการเรียนการสอนไว้ว่า
· โรงเรียนควรกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการดำรงชีวิต โรงเรียนมิใช่สถานที่สำหรับเรียนเท่านั้น เราจำเป็นต้องจัดการศึกษาให้เขาเหล่านั้นเป็นผู้ผลิตให้ได้ในขณะที่เขายังอยู่ในโรงเรียน
ประเด็นนี้ตรงกับที่CEO ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ เล่าถึงตัวเองว่า ผมโชคดี งานแรกที่ทำหลังจบการศึกษาเป็นบริษัทเยอรมัน ผมจึงซาบซึ้งการทำงานของคนเยอรมันกับอังกฤษที่ไม่เหมือนอเมริกา คนเยอรมันเขาให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นหลัก ใบปริญญาเป็นเรื่องรอง เด็กที่จบ ม.ปลาย ส่วนใหญ่จะเลือกทำงานก่อน หลังจากนั้นหากมีเวลาจึงค่อยมาเรียนเอาปริญญา ส่วนคนที่จบ ม.ปลาย แล้วเรียนจบปริญญาก็มี ทุกคนจะถูกปลูกฝังเหมือนๆกันว่า การทำงานคือตัวที่สำคัญที่สุดในชีวิตเขา หรืออีกความหมายหนึ่ง ความสำเร็จในการทำงานสำคัญกว่าใบปริญญา
· โรงเรียนควรจัดการเรียนการสอนในรูปแบบของกิจกรรม ครูอาจสอนวิชาในตำราน้อยลง ขณะเดียวกันก็ให้นักเรียนหาความรู้และนำความรู้ที่ได้จากครูและที่หามาเอง ปรับเพื่อใช้ในโครงการเรียนแบบชีวิตจริงให้เพิ่มขึ้น ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เด็กคิดเป็น ทำงานเป็น และมีความรู้ติดตัวไปในอนาคต
· เราเห็นคนนั่งเรียนมาก ยิ่งทำงานไม่เป็น ยิ่งดูถูกงาน ยิ่งเกลียดการทำงาน การที่เราให้เด็กทำงาน หรือว่าพยายามให้ผู้เรียนผ่านการปฏิบัติ นี่เป็นการเรียนที่ตรงกันกับความคิดสมัยโบราณ “สิบตาเห็น ไม่เท่ามือคลำ”
· ผู้เรียนจำเป็นต้องเรียน “การทำงาน” จึงจะรู้ว่าเหนื่อยเป็นอย่างไร หิวเป็นอย่างไร จะได้เข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้ร่วมงานว่ามีความสามารถมีแรงทำงานมากน้อยเพียงใด
· การทำงานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต การทำงานเป็นเป็นสิ่งมีเกียติ ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดย่อมมีโอกาสและควรมีหน้าที่ด้วยกันทั้งสิ้น
ชัดเจนใหม่ครับ สอนให้มีหน้าที่ ถ้าเรียนแล้วไม่รู้ไม่มีหน้าที่ จะให้ไปเหยียบขี้ไก่ที่ไหน? ขี้ไก่ในฟาร์มสมัยนี้เขาไม่ปล่อยให้ใครไปเหยียบเล่นง่ายๆหรอก รู้ทั้งรู้แต่ก็แก้ไขอะไรไม่ได้ เกิดอาระยะขัดขืนเฉื่อยเฉยลงลึกถึงรากเหง้า คนบ่นคนพูดอย่างผมก็ดีแต่บ่นๆๆๆจนปากเน่าอย่างที่ท่านบางทราบว่า..
:: เด็กสมัยนี้ แข่งกันเรียนหนังสือ จบมาก็ทำงาน ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ต้องทำงานหนักแต่ชักหน้าไม่ถึงหลัง เป็นทาสรถ ทาสบ้าน มีลูกก็เป็นทาสลูก ชีวิตวนเวียนซ้ำซากไร้จุดหมาย ตราบที่คิดว่าการทำงานคือการแลกเงินกับแรงงานสมองและกายแล้ว ทุกคนมีทางโน้มที่จะคิดแบบนี้ แต่ถ้าคิดว่าการทำงานคือการสร้างคุณค่าให้แก่ตัวเอง พร้อมกับได้เงินมาใช้ด้วยจะทำให้มองโลกต่างออกไป เพราะจะตระหนักว่าเมื่อตนตนเองมีคุณค่ามากขึ้น ก็จะยิ่งทำประโยชน์ให้ตนเอง ครอบครัว และสังคมได้มากยิ่งขึ้น
:: โลกแห่งการสร้างคุณค่าให้แก่ตนเองจากการทำงานมีพลวัตเสมอ จนนำไปสู่โอกาสอีกมากมายในชีวิต และระหว่างทางก็สนุกกับชีวิตเพราะมีเงินใช้ด้วย ทัศนคติต่อการทำงานและชีวิต เป็นตัวกำหนดว่าบุคคลหนึ่งจะมีความสุขหรือความทุกข์กับสถานะที่ตนดำรงอยู่ * จากวีรกร ตรีเศศ
บ่ายวันนี้มีประชุมที่กระทรวงศึกษาฯ..ประชุมๆๆกันจนหัวผุ
ทุกครั้งมีผู้พูดและเสนอสิ่งดีๆแต่ไม่เกิดผลในทางปฏิบัติเท่าที่ควร
อาจจะเป็นเพราะประเทศนี้ไม่ได้สอนให้ลงมือกระทำ
ผู้คนจึงเก่งเฉพาะการฟังอือๆออๆ..คะๆ ขาๆ ..
ถ้าจะขยับก็จะทำแค่อ้าปากบ้าน้ำลายและชูกำปั้น
นิยมชมชอบ ใ ช้ เ ท้ า เดินขบวนมากกว่าการ ใ ช้ ส ม อ ง
สมองก็มีปัญหา
ไม่ทราบว่า..จะบังคับให้สวมหมวกกันน็อคเพื่อป้องกันสมองโง่ๆไว้ทำไม?
ถามว่า..แล้วจะทำยังไง?
การศึกษาไทยอย่างน้อยก็ต้องก้าวล่วงไปถึงการใช้มือคลำ
ทุกท่านมีมืออยู่แล้ว
ขอมือหน่อย ชูสูงๆ
เอามือลง แล้วเอามือไปคลำซะที
อิ อิ.
3 ความคิดเห็น
ขอบคุณค่ะครูบา ได้อ่านแบบนี้ ทำให้ได้ทราบการขยับของนักการศึกษาไปด้วย
เกิดคำถามค่ะ ครูบาว่า
การศึกษาไทยนี่ ภายหลังการจัดเข้ามาอยู่ภายใต้กระทรวงศึกษาด้วยกันทั้งหมดไม่ว่าประถม มัธยม อุดมศึกา
มีการวิเคราะห์หรือยังว่า ต่อยอดกันอย่างไร
มองเห็นแกนกลางหลักของการศึกษาของชาติ และการจัดการในแนวนอนคือการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกันในทุกระดับชั้นเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการศึกษาของชาติหรือยัง
มีหลักสูตรที่ร่วมกันคิดสร้างคนที่วางแผนร่วมกันตั้งแต่อนุบาล ยัง ป. เอกหรือยังคะ
*****
คำถามที่สอง
นักการศึกษาคิดเห็นอย่างไรต่อการจัดตั้งมหาวิทยาลัยทุกจังหวัด
เป้าหมายสูงสุดของการทำอย่างนั้น เพื่ออะไร??
ขอบพระคุณค่ะ
จะส่งหนังสือไปให้นะครับ
เรียนบาท่าน
เรื่องนี้มันยาวอยู่ครับ ไว้วันหลังผมจะรัวมาให้เป็นตับเลย
ผมศึกษาระบบการศึกษามาพอควร ทั้งไทย เมกา อังกฤษ เยอรมัน
ผมสรุปว่าระบบเมกาดีที่สุดครับ ส่วนเลวที่สุดนั้นขออุบไว้ก่อน
ส่วนแนวคิดของพวกบริษัทไทยที่ว่ามหาลัยผลิตคนออกไปแล้วทำงานไม่เป็นนั้น ผมว่ามันเป็นแนวคิดที่ทั้งโง่และเห็นแก่ตัวที่สุด หรือว่าความเห็นแก่ตัวทำให้โง่ก็ไม่ทราบ
ผมสรุปว่าถ้ามหาลัยผลิตคนออกไปแล้วทำงานได้ในบริษัททันที นั่นแหละ ปัญหาใหญ่ที่สุดแหละ อิอิ