เมื่อหมอนัดเข้าห้องผ่าตัด
อ่าน: 1767คนไหนที่รู้ตัวว่าจะต้องเข้าห้องผ่าตัด คงไม่มีใครยิ้มระรื่นหน้าตาแช่มชื่นเหมือนยืนอยู่ข้างคนรู้ใจหรอกนะครับ ส่วนมากถ้าวิ่งหนีได้ก็คงจะเผ่นไม่รีรอรอ ล้วนตกบันไดพลอยโจนกันทั้งนั้น ตกอยู่ในภาวะจำยอม ไม่มีทางเลือก ไม่สามารถต่อรองอะไรต่อไปได้อีกแล้ว ที่สำคัญเข้าไปแล้วก็ใช่ว่าจะชัวร์100% ไม่แน่ว่าจะได้กลับบ้านหรือกลับวัด การเข้าห้องผ่าตัดจึงเป็นวิกฤติยิ่งกว่าวิกฤติในชีวิตเลยละครับ ท่านใดไม่เคยต้องเข้าห้องผ่าตัดก็ขอแสดงความยินดีด้วย ท่านทำบุญมาดีวาสนาดี แต่ที่แน่ๆท่านคงดูแลรักษาสุขภาพของตนเองมาอย่างดี จึงโชคดีเข้าข่าย “ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” แต่วงจรชีวิตมนุษย์เราต้องเผชิญเรื่อง-เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย-ด้วยกันทั้งนั้น ถึงเราจะไม่ต้องเข้าห้องผ่าตัดเอง แต่อาจจะมีญาติพี่น้องเคยเข้าไปบ้างใช่ไหมละครับ นั่นแสดงว่า..ห้องผ่าตัดคือศูนย์รวมแห่งความห่วงใย ยิ่งคนที่รักใกล้ชิดเข้าไปในนั้นด้วยแล้ว คนที่รออยู่ข้างนอก แถมไม่โดนวางยาสลบเสียด้วย จึงกระวนกระวายใจไม่แพ้คนที่โดนวางยา บางคนวิ่งบวงสรวงเซ่นวักตั๊กแตนไม่รู้กี่ศาลเจ้า
ห้องผ่าตัด ลาวเรียกว่า”ห้องปาด” สื่อความหมายตรงๆแต่ฟังดูสยองกว่าของไทยเราเสียอีก ผมเองหมอนัดเชือดวันเสาร์ที่ 5 เดือนมีนาคม 2554 เวลา 08.30-10.15น. ณ โรงแรมพูลแมนขอนแก่น ราชา ออคิด จังหวัดขอนแก่น ด้วยสมาคมพยาบาลห้องผ่าตัดแห่งประเทศไทย จัดประชุมวิชาการสัญจรเรื่อง Quality and Safety in OR เพื่อพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์ให้พยาบาลห้องผ่าตัด มีความรู้เกี่ยวกับสมรรถนะของพยาบาลห้องผ่าตัด การป้องกันการติดเชื้อตำแหน่งผ่าตัด การพยาบาลผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดผ่านกล้อง และนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพได้ รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพยาบาลการผ่าตัด
ในการนี้สมาคมพยาบาลห้องผ่าตัดแห่งประเทศไทย ใคร่ขอเรียนเชิญท่านเป็นวิทยากรบรรยาย เรื่องการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ในห้องผ่าตัด:คุณภาพและความปลอดภัย ทั้งนี้ขอเอกสารประกอบการบรรยาย ภายในวันที่ 29 มกราคม 2554 นี่ก็เลยเวลาส่งเอกสารมาหลายวันแล้ว ทำไงได้ละครับ เจอหัวข้อนี้สั่นเป็นผีเข้าเลยละครับ ท่านจะให้ไปพูดในเรื่องที่ผมไม่มีข้อมูลไม่มีความรู้โดยตรงและโดยอ้อม แถมยังพูดกับระดับมืออาชีพมือปาดของประเทศเสียด้วย ผมตุ๊บๆต้อมๆอยู่นาน ปรึกษาอุ้ยจั่นตาแล้วได้กำลังใจมาเยอะเลย แต่แทนที่อุ้ยจะหาทางออกให้ กลับไสรถเข้าห้องปาดท่าเดียว ไหนๆก็ไหนๆแล้ว ไปก็ไปสินะ ..เผื่อต้องเข้าห้องปาดจริงๆ คุณหมอท่านอาจจะเมตตาลงมีดเบาๆ
ในชีวิตผมเคยเข้าห้องผ่าตัด 3 ครั้ง
ครั้งที่1 ตอนเรียนอยู่ชั้นประถมต้น
ผ่าตัดต่อมทอมซิลที่โรงพยาบาลสุรินทร์
ยังจำกลิ่นยาสลบฉุนกึกเหมือนกลิ่นแมลงสาบ
ครั้งที่2 สมัยเรียนมัธยมต้นไปเชือดปอดออกส่วนหนึ่งที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ครั้งที่3 เมื่อปี พ.ศ.2532 อุบัติเหตุรถแหกโค้ง ไปกัน 4 คน เหลือผมคนเดียว
ครั้งที่สามนี้พิเศษหน่อยไม่ต้องวางยาสลบ เพราะสลบมาตั้งแต่จุดเกิดเหตุ ผู้ประสบเหตุหอบส่งโรงพยาบาลบุรีรัมย์ มาถึงแล้วก็ยังไม่ฟื้น ตรวจแล้ว ก้นกบหัก ซี่โครงหัก กระดูกสันหลังเคลื่อน ตับไตไส้พุงก็คงกระทบกระเทือนไปทั่วสรรพางค์กาย ยังดีที่สมองไม่เป็นเป็นอะไร ความจำก็ยังดี ผู้ที่เห็นเหตุการณ์เล่าว่า เห็นรถคันนี้วิ่งส่ายมาแต่ไกล คนขับคงหลับใน รถแหกโค้งตีหลังกาบนถนนหลายตระหลบ ผมนั่งคู่กับคนขับ พอรถชนหลักกม.ปัง! กระเด็นออกจากรถไปตกอยู่ที่ปลักควายที่อ่อนนุ่ม จึงแค่ก้นกบหักนอนสลบ คนขับพุ่งทะลุออกกระจกหน้าไปตกอยู่ท้องนาห่างประมาณ 15 เมตร 2คนที่นั่งเบาะหลังนอนหลับติดอยู่ในรถไม่หายใจคาที่ทั้งคู่
ผมนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์3วัน หมอเอาเข็มเล่มเบ้อเร่อใหญ่เท่าไม้จิ้มฟันได้ แทงสวบ!เ ไปดูดเอาเลือดคั่งในปอดออก หยั่งกับโดนหอกโมกข์ศักดิ์เลยละน้า หล้งจากนั้นอาการนับแต่จะทรุดลง ทำท่าจะกลับบ้านเก่า ท่านผู้มีอุปการคุณเห็นท่าว่าไม่ไหวแล้ว จึงบึ่งไปส่งที่โรงพยาบาลหัวเฉียว ไปถึงหมอบอกว่ามาช้าอีก15นาทีเด๊ดสะมอเร่แน่ ผมนอนเผชิญชะตากรรมกับคุณหมอคุณพยาบาลห้องผ่าตัด2-3ครั้ง ถูกหักคอเป่าปอด ผ่าเรียงกระดูกสันหลัง ปะผุซี่โครง ยังโชคดีที่ไม่เป็นอัมพาต แต่ก็ต้องมาหัดเดินใหม่อยู่หลายเดือน เข้าทำนองไม่ถึงที่ตายไม่วายชีวาหรอกเธอ
จากประที่สบเหตุด้วยตัวเองอย่างสาหัสกรรดังที่เล่ามานี้ ถ้าไม่ได้รับการดูแลอย่างดีทั้งก่อนเข้าห้องผ่าตัดและหลังออกจากห้องผ่าตัด คนที่ผ่ากระดูกสันหลังนั้นทรมานนัก มีอาการชาเหมือนเอาน้ำแข็งมาทับทั้งตัวแล้วไม่เอาออก ช่วงที่เป่าปอดนั้นก็สุดแสนจะบรรยาย ผมขอร้องหมอ..อย่าทรมานผมเลย ถ้าปวดมหาโหดอย่างนี้ผมไม่ขออยู่แล้ว ยินดีไปตามไอ้เพื่อน3คนนั้น แต่ด้วยน้ำใจของคุณหมอคุณพยาบาลได้ทุ่มเทรักษาคนไข้จนสุดความสามารถ ดังนั้นเมื่อมาได้พบกับคุณพยาบาลห้องผ่าตัดแห่งประเทศไทยในครั้งนี้ ผมตั้งใจจะมาขอบคุณ ที่ได้ช่วยยื้อชีวิตให้ยืดยาวมาจวบเท่าวันนี้
ส่วนพันธกรณีที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อที่ได้รับเรื่องการสร้างองค์แห่งการเรียนรู้ในห้องผ่าตัด ผมมองว่าความรู้นอกห้องในห้องล้วนมีความสำคัญ และควรคำนึงถึงความรู้สึกควบคู่กับความรู้ ยกตัวอย่างกรณีโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ บ้านที่พึ่งพิงของคนไข้ บ้านที่สุขใจของบุคลากรที่ทำหน้าที่บำบัดทุกข์ เขาจัดกิจกรรมเด่น Town Hall Meeting ที่เริ่มต้นจากเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานซักถามในสิ่งที่ข้องใจ สู่การเป็นเวทีในการแสดงความคิดเห็นเพื่อพัฒนาปรับปรุงองค์กร การที่องค์กรเห็นถึงคุณค่าของผู้ร่วมงาน ส่งผลถึงความมุ่งมั่นทุ่มเทต่อคุณภาพการให้บริการอย่างเต็มที่ กับอีกหลากหลายกิจกรรมสร้างสุขที่ดูแลทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ รวมถึงกิจกรรมที่กระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน อาทิ Happy Clubs สปาใจ Hotline สบายใจ เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจต่อกัน ทำให้เจ้าหน้าที่มีร่างกายแข็งแรงเกิดความผ่อนคลาย มีทางออกเมื่อเกิดปัญหา เพราะบริการรักษาพยาบาลเป็นบริการที่ละเอียดอ่อนกว่าการบริการอื่นที่จะเกิดความผิดพลาดไม่ได้ บุคลากรทางการแพทย์จึงต้องมีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อให้บริการที่ดีที่สุดแก่คนไข้
ความสุขชนิดหนึ่งของคนเราคือ การที่มีคนเห็นคุณค่าและยอมรับความคิดเห็นของเรา ในงานเดียวกันนี้ทางองค์กรเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงาน แสดงความคิดเห็นในมุม”Creative Corner” มีหลายความคิดเห็นที่จะสะท้อนให้เห็นได้ว่ามาจากเจ้าหน้าที่ๆพร้อมจะทำสิ่งดีๆให้กับองค์กร ขอเพียงแค่เวทีแสดงออกพร้อมกับกำลังใจอีกเล็กน้อยจากผู้บริหารและเพื่อนรอบข้าง เท่าที่ทราบการสอดประสานงานในห้องผ่าตัด เนื่องจากกระทำซ้ำคงไม่มีข้อผิดพลาด ส่วนความล้าความเหนื่อยที่อยู่กับความเป็นตายตรงหน้า ซึ่งกำหนดตายตัวไม่ได้ว่าจะเสร็จเรียบร้อยเวลาใด บางกรณีอาจจะประสบสภาวะแทรกซ้อน ก็ต้องขับเคี่ยวกันจนเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ งานห้องผ่าตัดเป็นงานที่ไม่อาจจะเว้นวรรคได้ จึงใช้ความอดทนสูง การผ่อนใจก่อนเข้าและหลังออกจากห้องผ่าตัด จะจัดวางน้ำหนักตรงนี้ให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างไร
การสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้เฉพาะทางลักษณะมืออาชีพเช่นนี้ เป็นงานที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว นอกจากจะให้เป็นไปตามหน้าที่ ถ้ามีความเป็นพี่เป็นน้อง ห้ อ ง ผ่ า ตั ด เ ป รี ย บ เ ส มื อ น ค น ใ น ค ร อ บ ค รั ว เ ดี ย ว กั น ดูแลกันถ้อยทีถ้อยอาศัยใส่ใจกันแม้แต่เรื่องเล็กๆน้อยๆ อาจจะเป็นการผูกสมัครสมานความเป็นญาติทางวิชาชีพได้ ถ้าใจพร้อมเสียแล้ว การร่วมเผชิญสิ่งยากเฉลี่ยๆกันไป ความเหนื่อยความเครียดย่อมบรรเทาเบาบางลงได้ ภายในห้องแคบๆนั้นคนภายนอกไม่สามารถไปยุ่งเกี่ยวอะไรได้ การหลอมพลังใจเป็นหนึ่งเดียวจึงมีอานุภาพมหัศจรรย์ยิ่งนัก พันธกิจที่ลุล่วงเป็นบุญกุศลช่วยให้เกิดความรู้สึกที่ภาคภูมิใจ สายตาและคำขอบคุณที่ตามมาจากญาติผู้ป่วย จะช่วยเป็นปาใจได้ไหมครับ?
การสร้างองค์ความรู้ในห้องผ่าตัดคงว่ากันด้วยวิทยากรเฉพาะทาง แต่ถ้าเพิ่มการผ่าตัดสังคม มองออกจากงานประจำเสียบ้าง หาเวลาพบปะกัน ไปท่องเที่ยวด้วยกัน หรือจัดกิจกรรมนอกห้องผ่าตัดบางทีความรู้ทั้งทางตรงทางอ้อมก็เกิดขึ้นได้อย่างเป็นธรรมชาติ ยกตัวอย่างกรณีของกลุ่มเฮฮาศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วยบุคคลหลากหลายอาชีพ มาผูกรักสมัครญาติกันแล้ว สามารถสร้างกิจกรรมข้ามไปมิติที่จำเจในงานประจำได้ ลองเสริซ์เข้าไปในลานปัญญาดูนะครับ บางทีการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้อิงระบบ ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่ควรพิจารณา เกิดการรับความรู้ความคิดดีๆมีน้ำใจไมตรีแถมพกมาอีก อาจจะช่วยให้การดำเนินชีวิตมีวาภาระงานกระชุ่มกระชวย การติดโช็คอัพให้คนในองค์กรก็เป็นเรื่องที่น่าใคร่ครวญนะครับ
การแสวงหาความรู้ทั้งทางตรงทางอ้อมทำให้เราเกิดวิสัยทัศน์ใหม่ๆ ยกตัวอย่างเช่น บทความของท่านอาจารย์ทวิช จิตสมบูรณ์ ที่เสนอแนวคิดเพื่อลดทุกขภาพของคนไทย เรื่องนี้อาจจะไปตรงประเด็นโดยตรงเท่าใดนัก แต่ที่ขออนุญาตหยิบยกขึ้นด้วยเหตุผล ดังนี้
1. การแสวงหาตัวช่วย
2. การมองออกจากงานที่จำเจเสียบ้าง
3. การค้นคว้าวิธีคิดวิธีการทั้งแนวตั้งและแนวนอน
4. การมองในมิติผ่าตัดสังคม
5. การสะท้อนเชิงนโยบาย
—————————————————————————————————
แนวคิดเพื่อลดทุกขภาพของคนไทย
โดย ทวิช จิตรสมบูรณ์ เมื่อ 10 February 2011 เวลา 6:49 น.
ในวันนี้การเมืองเรามีอาการป่วยหนัก เพราะติดโรคระบาดประชานิยมงอมแงม จนเกิดระบบให้รักษาพยาบาลฟรี ประชาก็ยิ่งเฮโลไปรักษากันมากกว่าปกติเกินจำเป็น ก็ยิ่งเพิ่มปริมาณ ก็ยิ่งทำให้หมอมีเวลาน้อยลง งานหนักขึ้น เครียด คุณภาพการรักษาก็ยิ่งลดลงเป็นสัดส่วน
หมอป่วยเป็นโรคจิตเสียเองด้วยความเครียด แล้วจะไปรักษาใครได้ ก็ตายกันเป็นเบือ ทั้งหมอ และคนไข้นั่นแล
จึงขอเสนอแนวทางแก้ไขดังนี้
1) ในรอบ 1 ปี บุคคลผู้ป่วยจะต้องจ่าย x บาทแรกด้วยตนเอง (x เป็นเท่าไรก็ค่อยมาเคาะกัน ผมเห็นว่าสัก 5 พันบาทน่าจะดี หรือประมาณข้าวครึ่งตัน ชาวนายากจนก็น่าจะพอหาได้)
2) ถ้าเกินนี้รัฐจะช่วยสมทบเป็นสัดส่วนที่มากขึ้น เช่น จาก x ถึง y ช่วย 50% จาก y-z ช่วย 75% เป็นต้น
3) สัดส่วนหนึ่งของรายได้จากการนี้ ให้เอาไปเป็นโบนัสให้หมอพยาบาล (จะได้แข่งกันบริการเพื่อแย่งคนไข้ระหว่างรพ. ) ที่เหลือให้เอาไปเข้ากองทุนเพื่อสุขภาพ
4) ผู้ป่วยที่ไม่มีเงินรักษาตน สามารถกู้ยืมได้จากกองทุนนี้ โดยกองทุนห้ามปฏิเสธการกู้ยืม หากกู้ยืมไปแล้วไม่มีเงินใช้หนี้ อาจมีระบบการใช้หนี้ด้วยการทำงานให้รัฐ (แม้ในวันเสาร์อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ เช่น เป็นพนักงานในรพ. เพื่อทดแทนการหยุดพักผ่อนของพนักงานปกติ) โดยมีเงินเดือนให้ด้วย (แต่หักใช้หนี้ครึ่งหนึ่ง) ทั้งนี้อาจใช้แรงงานลูกหลานญาติมิตรในการนี้ได้ (ซึ่งต้องลงนามเป็นผู้ค้ำประกันหนี้)
5) คนไทยทุกคนมีสิทธิได้รับการตรวจร่างกายฟรี ปีละหนึ่งครั้ง
ข้อดีของวิธีนี้คือ
1) จะได้คุณภาพการรักษาพยาบาลที่ดี หมอพยาบาลก็เต็มใจรักษา (เพราะยิ่งทำงานหนักมากขึ้น ก็ยิ่งได้ค่าตอบแทนมากขึ้น)
2) แม้คนจนก็เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ เพียงแต่หากป่วยร้ายแรงก็อาจต้องมีหนี้บ้าง ซึ่งสามารถผ่อนใช้ได้ในระยะยาว หรือใช้หนี้ด้วยแรงงานลูกหลานดังกล่าว ซึ่งในหลายกรณีลูกหลานจะชอบเสียอีกด้วย เพราะมีงานที่มีรายได้ทำ (แม้ถูกหักรายได้ครึ่งหนึ่งก็ตาม…อย่าลืมว่าพวกนี้เป็นกลุ่มคนจนที่ปกติก็ ไม่ค่อยมีงานทำอยู่แล้ว หาเช้ากินค่ำไปวันๆ ท้องอาจไม่อิ่มด้วยซ้ำ จนอาจต้องหันไปหาอาชีพไม่สุจริต)
3) ในระยะยาว กองทุนสุขภาพนี้จะทำให้รัฐไม่ต้องเจียดงบประมาณมาใช้ในการสมทบการรักษา พยาบาล เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่ (ที่ป่วยไม่ถึง x บาท) ซึ่งมีจำนวนมาก จะเป็นผู้สมทบทุนมาเข้ากองทุนนี้ เพื่อให้เป็นค่ารักษาพยาบาลต่อคนส่วนน้อยที่ป่วยร้ายแรง ก็น่าจะเพียงพอ อาจเหลือด้วยซ้ำไป เงินที่เหลือก็สามารถเอาไปออกดอกผลได้ แล้วเอารายได้มาบำรุงกิจการโรงพยาบาล..กลายเป็นระบบการรักษาพยาบาลที่พอ เพียง ที่รักษาตัวเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งกลไกภายนอก ..อาจเป็นนวัตกรรมที่ทั่วโลกลอกเลียนแบบสักวันหนึ่งก็เป็นได้
4) จะเห็นว่าทุกฝ่ายได้ประโยชน์จากการนี้ กล่าวคือ คนไข้ หมอ รัฐ และประชาชนทั่วไปที่ไม่ป่วยไข้ อย่าลืมว่าคนป่วยไข้ไม่น้อยทีเดียวทีป่วยไข้เพราะทำตัวไม่ดีเอง เช่น กินเหล้า สูบบุหรี่ กามโรค อย่างนี้จะให้รักษาฟรีโดยเป็นภาระของประชาชนคนอื่นที่เขาทำตัวดีก็ไม่ ยุติธรรม การให้เสีย x บาทแรกเองจึงเป็นการยุติธรรมต่อทุกฝ่าย
5) การให้ตรวจสุขภาพฟรีเป็นสิ่งดี จะทำให้บุคคลรู้ปัญหาด้านสุขภาพแต่เนิ่นๆ จะได้เข้ารับการบำบัดรักษาแต่เนิ่นๆ ก่อนที่โรคจะลุกลามไปไกลเกินรักษา และการที่พวกเขาเข้ามาบำบัดกันมาก ในช่วงแรกๆ ก็ต้องจ่าย x บาทเต็มที่ ก็เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ดังที่กล่าวมาแล้ว
แน่นอนว่าระบบที่นำเสนอมานี้คงจะนำมาปฏิบัติได้ยาก เนื่องเพราะเราได้ถลำไปใช้ระบบประชานิยม ที่ให้รักษาฟรีเสียแล้ว เพื่อหาคะแนนเสียงให้นักการเมือง แต่ถ้าพรรคการเมืองใดรู้จักนำเสนอให้ดีก็อาจได้คะแนนเสียงมาแรงก็เป็นได้นะ (เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส) เช่น…
..นำเสนอว่า “30 บาทตายทุกโรค” แบบเดิมๆ กับ “5000 บาทรอดทุกโรค” คุณจะเลือกเอาระบบไหน..
..ชีวิตคุณทั้งชีวิต ที่นานๆป่วยกันทีใช่ว่าป่วยทุกวัน จะซื้อมันด้วยเงิน 5,000 บาทไม่ได้เจียวหรือ
..ชีวิตคุณมันมีราคาน้อยกว่าข้าวเปลือกแค่ครึ่งเกวียนเท่านั้นหรือ ทั้งที่เอาไปซื้อมอไซค์ มือถือ เหล้า บุหรี่ กันได้มากกว่านี้เสียอีก
สำหรับปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่ผู้ประกันสังคม (เสียเงิน 5% ของรายได้สมทุนกองทุน) กลับมีมาตรฐานการรักษาต่ำกว่าประชาชนทั่วไปผู้ไม่ประกันเสียอีก (บัตรทอง) นั้น เป็นเรื่องน่าตกใจเอามากๆ ที่ระบบการเมืองและราชการไทย ที่มีองคาพยพหลากหลาย ปล่อยให้เกิดสิ่งอันน่าละอายนี้ได้อย่างไร
วิธีแก้ความลักลั่นนี้คือ ให้ปรับมาใช้ระบบที่นำเสนอนี้ ส่วนผู้ประกันสังคมนั้นถ้าป่วยก็สามารถถอนเงินในส่วนของตน พร้อมดอกผล ออกมาเพื่อใช้ในการรักษาพยาบาลได้ และเมื่ออายุเกิน 70 แล้วถ้าไม่ป่วยไข้ ก็สามารถถอนเงิน 70% ของทั้งหมดออกมาใช้จ่ายส่วนตนได้ แม้ไม่ป่วยไข้ หรือ อาจถอนเป็นเดือนๆ ก็ได้ ก็เป็นระบบรายได้หลังเกษียณอายุไปโดยปริยาย
การที่ประกันสังคม 5% แล้วให้คนสมทบมากกับคนสมทบน้อย ได้รับสวัสดิการ “เท่ากัน” ในการรักษาพยาบาลนั้น มันอยุติธรรมสิ้นดี (ใครเป็นคนคิดระบบนี้หนอ อยากรู้จริง มันโง่พอๆกับคอมมิวนิสต์)
ผู้ใช้แรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่รายได้ไม่ถึงระดับที่จะต้องเสียภาษีรายได้ ส่วนบุคคลด้วยซ้ำไป แต่อนิจจาเขาโดนหัก 5% เต็มจากรายได้เพื่อสมทบเข้ากองทุนฯ (เข้าใจว่าโดยไม่มีส่วนลดรายจ่ายส่วนบุคคลเหมือนการเสียภาษีอีกต่างหาก) นี่มันยิ่งกว่าสูบเลือดจากปูเสียอีกนะ …มหาโหดจริงๆ คิดออกได้งัย
คนที่คิดระบบนี้ขึ้นมา รวมทั้งพวกกรรมการทั้งหลายที่ยกมือสนับสนุน หรือไม่กล้ายกมือค้านก็ตาม (อย่างน้อยจบโทจากนอกทั้งนั้น) ผมว่ามันทำบาปหนาไว้มาก ที่ไปลอกระบบฝรั่งมาแหงๆ โดยไม่คำนึงถึงบริบทประเทศไทยอีกแล้ว…เวรกรรมประเทศไทย (อีกแล้ว)
…ทวิช จิตรสมบูรณ์ (๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๓)
เรียนญาติโกทุกท่าน
ถ้าอ่านแล้วเห็นว่ามันยังบ่เข้าท่า
ก็พากันมาช่วยขัดสีฉวีวรรณให้ผุดผ่องด้วยนะครับ
ขอขอบคุณพระอาจารย์ทวิทย์ จิตสมบูรณ์
ที่เขียนเรื่องนี้มาเหมือนระฆังช่วย
คุณหมอจอมป่วน มือปาดระดับแฟนพันธุ์แท้
กรุณาให้ความเห็นด้วยนะครับ
จึงขอคารวะล่วงหน้า ชิมิ ชิมิ
« « Prev : แล้งนี้พี่ระทมน้องเอ๊ย
3 ความคิดเห็น
ชาวห้องผ่าตัดโชคดีที่ได้เชิญครูบาไปบรรยายค่ะ
เรื่องห้องผ่าตัด..ดูจะน่ากลัวนะคะ …ที่จริงก็เป็นจุดวิกฤตนั่นแหล่ะค่ะ
เป็นแหล่งรวมความไว้วางใจของทั้งโรงพยาบาลเลยมั้งนะคะ
ตั้งแต่ ต้องมีความไว้วางใจการจัดการเรื่องปลอดเชื้อ ของอุปกรณ์ทุกอย่าง
การปลอดเชื้อของห้อง แอร์ เตียง โต๊ะ ตั่ง ฯลฯ ที่ต้องวางอุปกรณ์และที่อยู่ในนั้น
เสื้อผ้าผมเผ้ารองเท้าทุกๆคนถูกจัดการให้เรียบร้อย
ต้องมีความไว้วางใจในความสามารถของทีม แพทย์ผ่าตัดจะทำงานเองไม่ได้ถ้าพยาบาลในทีมส่งเครื่องมือไม่เป็น แพทย์ดมยายังไม่อนุญาต พยาบาลจะส่งเครื่องมือไม่พร้อมถ้าหากไม่มีความรู้เฉพาะเรื่อง ไม่รู้จักอุปกรณ์ และจะทำงานเองก็ไม่ได้ถ้าของใช้ไม่พอ พยาบาลที่อยู่รอบหมุนเวียนเพิ่มของใช้ให้ไม่ได้ หรือหน่วยสนับสนุนต่างๆ ไม่สามารถดำเนินการในเวลาได้
ความรอบคอบ ความสามัคคี และอารมณ์ของทีม (ส่วนมากอารมณ์ของหมอผ่าตัดแหล่ะ…อิอิ) เป็นเรื่องสำคัญ
การทำงานประสานกันตั้งแต่ก่อนผ่าตัดและหลังผ่าตัดก็สำคัญค่ะ
เดี๋ยวนี้การดูแลก่อนผ่าตัดก็พัฒนาไปดีค่ะ หมอผ่าตัด หมอดมยา จะไปเยี่ยมดูอาการก่อนผ่า พยาบาลในหอผู้ป่วยมีหน้าที่เตรียมให้พร้อม
หลังผ่าตัดแล้ว คนที่ดูแลในห้องพักฟื้นก็มีความสำคัญ มีนวัตกรรมเกิดขึ้นมากในการจะช่วยให้คนไข้ฟื้นอย่างปลอดภัยและมีการรับรู้ประสบการณ์ที่ดี
ห้องพักรักษาตัวหลังผ่าตัดก็ต้องการทีมที่เข้าใจทั้งโรคและการรักษาผ่าตัด อย่างคนไข้ที่ผ่าตัดน้ำร้อนลวกไฟไหม้ หลังผ่าตัดจะต้องมีการตัดผ้ายืดสวมเพื่อคืนสภาพร่างกายและป้องกันการยึดติด ช่วงเวลาของการจัดการก็ต้องคำนวณอย่างลงตัวและต้องได้ผู้เชี่ยวชาญการตัดเย็บ
ฯลฯ
เรื่องงานโรงพยาบาลเป็นเรื่องละเอียดของการบริหารจัดการ ทั้งเรื่องอุปกรณ์และเรื่องคน
ขอชมเชยทีมที่เชิญครูบาล่ะค่ะ …ที่ให้หัวข้อได้เจ๋งจริงๆ ตรงกับสิ่งที่ครูบาทำมาโดยตลอด และตรงกับทักษะความสามารถในการอธิบายความเพื่อการสร้างองค์กรที่มีการพัฒนาตลอดเวลาและพัฒนาไปในทางที่จะนำความสุขความเจริญมาสู่ตัวเองและสังคมด้วยค่ะ
เปล่าเข็นรถนะคะครูบา..ทีมห้องผ่าตัดมารับตัวและอุ้มครูบาไปเองค่ะ…อิอิ
นั่นละ นั่นละ อะไรที่เคยเจอมากับตัวเป็นครูสอนได้เสมอ อะไรที่คนนอนบนเขียง(เตียงผ่าตัด) นั่นละเป็นอะไรที่สอดแทรกอยู่ในวิถีให้เห็นสังคม ลองมองนอกกรอบวิชาการ หันมามองวิชาเกินอย่างที่พ่อครูชอบชวนให้มองและเรียนรู้ การเรียนรู้สังคมมีมุมหนึ่งคือการเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ รับรู้ทุกข์สุขของคนด้วยใจ รู้ทุกข์รู้สุขของตัวเองและทีมแล้ว ลองรู้ทุกข์และสุขของคนอื่นที่ไม่ใช่ทีมอย่างคนที่นอนอยู่บนเตียงรอปาดกับคนที่รอลุ้นอยู่รอคนถูกปาด คอยลุ้นเสียวตุ้มๆต่อมๆอยู่ข้างนอก ตรงนี้ก็เป็นอะไรในเชิงกระบวนการทางสังคมด้วย
ห้องผ่าตัดเป็นมหาวิทยาลัยที่สอนเรื่องการจัดการและการใช้ฝีมือบริหารจัดระบบ ถ้ารู้สึกถอดบทเรียนมาเรียนรู้ร่วมกับเรื่องนอกกรอบวิชาการ เรียนรู้ “ใจ” คน แบบไม่ท่องบ่นว่าตาม แต่ซึ้งแบบซึมลึกลงไปถึงความรู้สึกจริงๆข้างใน
การรู้ซึ้งไปถึงข้างในอย่างนี้ได้ เรียนรู้ได้ไปตลอด และลงท้ายด้วยความสุขทั้งของผู้ทำงานและผู้รับผลงาน (คนถกปาดและครอบครัว) นั่นแหละสุดยอดขององค์กรแห่งการเรียนรู้แล้วละคะ
ชวนให้พ่อครูยกตัวอย่างการเรียนรู้ของพ่อครูให้ได้เห็นจะจะตาด้วยก็จะยิ่งช่วยให้เขาปิ๊งว่า “เรียนนอกระบบ” หมายความว่าอะไรง่ายขึ้นค่ะ
ขอบคุณมากอุ้ย ที่เติมความรู้ และเติมกำลังใจ๋๋๋๋ๆๆๆ อิอิ
ขอบคุณ หมอเจ๊ แซ่เฮ คนสวย มาช่วยเขย่าเตียงผ่าตัด อิอิ