เกษตรแฟร์เกษตรศาสตร์54

อ่าน: 4204


ช่วงเช้าไปประชุมวาระเยอะต้องล่อก้วยเตี๋ยวบนโต๊ะประชุม ปีนี้ท่านผู้อาวุโสของเรา .จอมจิน จันทร์สกุล และคุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพิ่มขึ้นอีกท่านละใบ ได้โอกาสกระซิบถามคุณหญิง ว่าทำไมโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนสอนเด็กๆให้ปลูกผักเลี้ยงสัตว์ควบคู่กันไปได้ ทั้งๆที่สอนอยู่ภายใต้หลักสูตรเดี่ยวกันกับโรงเรียนทั่วๆไป ท่านตอบว่า..ก็นั่นนะสิ เด็กชนบทได้เรียนด้านการงานอาชีพไปด้วย ทำให้เกิดทักษะชีวิตติดตัว เรียนรู้คุณค่าของการทำงานไม่หยิบโย่ง..ส่วนทำไมโรงเรียนอื่นทำไม่ได้ ท่านบอกว่าก็เห็นๆคนในกระทรวงฯเดินตามเสด็จต๊อกๆ แต่ก็ไม่เอาไปทำตาม ทั้งๆที่พระองค์ท่านทำให้ดูเป็นตัวอย่างมา30ปีแล้ว เลิกประชุมท่านอาจารย์ปภัสวดี ซึ่งสอนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมีถิ่นพำนักอยู่ใกล้มหาวิทยาลัยชวนติดรถมาส่งโรงแรมมารวย แต่มาทีไรกลับไปจนทุกที!

(ฟักทองยักษ์ผ่าลูกเดียวกินได้ทั้งหมู่บ้าน)

กะจะงีบสักหน่อย คนสวยโทรมา..จะรับไปลุยงานเกษตรแฟร์ภายในชั่วโมงนี้ เนื่องจากอยู่ไม่ไกลนัก จะขึ้นแท็กซี่ก็ประดักประเดิด มหกรรมย่ำต๊อกจึงเริ่มต้นตั้งแต่หน้าโรงแรมไปจนถึงปากทางเข้างาน ฤดูหนาวหลีกเร้นคนบางกอกไปหลายปีแล้ว ยังดีที่แดดร่มลมตก ถ้ามาช่วงกลางวันคงเดินเหงื่อตกเหมือนกัน ผมชอบมาเดินงานเกษตรแฟร์เพราะได้รู้เห็นพัฒนาการเรื่องพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ ที่นักการเกษตรมืออาชีพไทยมาวัดฝีมือกัน ให้เห็นว่าเรื่องนี้พี่ไทยไม่เป็นรองใคร ส่วนนักวิชาการนักวิจัยก็มีพื้นที่แสดงความรู้ความสามารถ บางปีผมก็ถูกเชิญมาโม้ในเวทีถ่ายเทความรู้ร่วมกับผู้สันทัดกรณีสำนักต่างๆ งานประจำปีแห่งนี้ไม่ต้องรอให้ใครเชิญหรอกนะครับ มาแล้วได้ความรู้ได้ประโยชน์ไปคลี่คลายความไม่รู้มหาศาล

ม า จ่ า ย ค่ า โ ง่ ปี ล ะ ค รั้ ง ก็ ดี น ะ ค รั บ !

(กลุ่มผลไม้ยักษ์)

ผมกับไกด์สาวเดินข้ามสะพานไปฝั่งตรงกันข้าม เยื้องย่องไปประมาณ200เมตรก็ถึงประตูงาน ยืนเก้ๆกังๆก็มีรถยนต์บริการฟรีมาจอด ขึ้นนั่งเรียบร้อยรถก็นำมาส่งถึงจุดที่จำหน่ายต้นไม้ จะชักช้าทำไมละครับ 2ขาเดิน2ตาสอดส่ายดูฝั่งนี้ฝั่งโน้นเรื่อยๆ เดินผ่านร้านจำหน่ายพันธุ์ไม้สลับกับร้านจำหน่ายสินค้าเกษตร มีมุมนักศึกษาจัดกิจกรรมหาทุนค่ายอาสาพัฒนาสนุกสนาน ผู้คนเยอะเช่นเคย

จุดประสงค์ก็คือจะมาหาพันธุ์ไม้แปลกๆไปปลูก

เห็นแล้วก็ได้แต่สะอื้นเพราะไม่มีรถขนกลับบ้าน

ทำได้แค่ขอซื้อเมล็ดพันธุ์

เช่น เมล็ดมะเขือยักษ์พันธุ์ใหม่

ไปเจอมะตูมลูกเท่ามะพร้าวนี่ก็น่าสนใจ

ไปเจอมะขามป้อมจากอินเดียลูกโตเท่าเหรียญ10บาท

ไปเจอฟักทองยักษ์

ไปเจอละมุดยักษ์

ไปเจอมะละกอเตี้ยลูกกองจากพื้น

(พริกเม็ดเดียวตำน้ำพริกได้100ครก อะไรจะปานนั้น)

ไ ด้ ตี แ ต ก ค ว า ม ลั บ เ รื่ อ ง พ ริ ก เ ผ็ ด ที่ สุ ด ใ น โ ล ก ที่ เ ค ย เ ล่ า ไ ว้ เ มื่ อ ค ร า ว ก่ อ น มีคนเอาต้นที่ลูกสุกมาโชว์ ติดป้ายชื่อเรียก “พริกพิโรธร้อยครก” คนขายแกโม้สะบัด บอกว่ามันเผ็ดมากๆๆๆ เมล็ดเดียวแกงเผ็ดได้หลายหม้อ แหม ถ้าแกงหม้อเดียวมิแบ่งพริกแค่หัวไม้ขีดไฟ รึ มีต้นเล็กมาจำหน่ายด้วยราคาต้นละ100 บาท ของผมที่สวนถ้าเพาะออกมาคงได้หลายร้อยต้น ส่วนฟักทองยักษ์เคยปลูก ลูกโตแต่เนื้อไม่หนาเหมือนของเขา เจ้าตัวคนปลูกนอกจากเอาลูกมาโชว์แล้ว ยังผ่าเนื้อเป็นชิ้นๆขายชิ้นละ60-80บาท ส่วนเมล็ดขายเมล็ดละ10บาท ลูกหนึ่งมี150-200เมล็ด ถ้าขายได้หมดแกคงรวยเละกลับบ้าน คุยถูกคอกันแกหั่นเนื้อฟักทองสดให้ชิม ซื้อเมล็ดมา12เมล็ด100บาท จะเอาไปปลูกตามวิธีที่แกแนะนำ ถ้าได้ลูกโต80-100โลจะโทรให้อุ้ยมาอุ้ม!

(เมล็ดและเนื้อฟักทองยักษ์)

ส่วนพันธุ์ไม้ที่อยากได้ เช่น มะเดื่อญี่ปุ่น มะตูม ละมุด มะขามป้อม มะเฟือง องุ่น มะขามเปรี้ยว อินทะผาลัม และมะขามป้อมอินเดีย ที่ลงท้ายด้วยคำว่ายักษ์ ราคาค่าพันธุ์ประมาณ500-1,000บาท/ต้น ของพวกนี้ไม่ต้องซื้อเยอะ ถ้าได้อย่างละต้นก็เอายอดไปเสียบกับต้นพันธุ์ของเรา จะ ล ด ร า ย จ่ า ย ร า ค า แ ห ก ต า ไ ป ไ ด้ ม า ก ถ้าไม่ต้องเดินทางไปอุบลวันอาทิตย์นี้ ก็พอจะหิ้วกลับสวนป่าได้ แต่ขอคิดดูอีกที ขากลับอาจจะย้อนมาอีกที

(คนไหนมีแม่ยายดุน่าจะปลูกต้นนี้)

มองหาน้ำเต้า ปีนี้มีน้อยมากไม่มีมาใหม่ๆแปลกๆ แวะไปดูมุมประกวดไม้ประดับสวยๆทั้งนั้น ถ้าเป็นของอยู่ของกินในงานไม่แพงอย่างที่คิด แถมยังมีคุณภาพดีอีกด้วย ยกตัวอย่าง มะขามหวาน ก.. ละ80บาท คุณภาพดีไม่มีเชื้อรากำลังแห้งมาดๆเนื้อนิ่ม กินเป็นยาช่วยระบายอร่อยที่สุดในโลก เกาลัดจากเมืองจีนคั่วร้อนๆคัดคุณภาพอย่างดีกล่องละ100บาทต่อครึ่งก.. เดินไปเจอมะขามเทศฟักใหญ่จากราชบุรีของชอบ ถุงเล็กประมาณ30 ฝักขาย 60 บาท

เดินไปชิมไปตามมุมอาหาร ไปสุดเขตจำหน่ายต้นไม้ จะเดินต่อก็เห็นใจไกด์กิตติมศักดิ์ ขนาดว่าไม่ซื้อๆก็หอบของพะรุงพะรัง จะไปมุมแสดงเครื่องจักรกลการเกษตรก็ไม่ไหวกลับดีกว่า ใช้บริการมอเตอร์ไซในบริเวณงานให้มาส่งที่สะพานข้ามถนนเยื้องโรงแรม จ่ายไปคันละ30บาท กลับมานอนผึ่งพุงจนรุ่งสาง เพิ่งตื่นมาเขียนบันทึกต๊อกๆนี่แหละครับ

บ่ายวันนี้จะจรลีไปต่อที่อุบลกับอาจารย์โสภณ สุภาพงษ์

พรุ่งนี้กลับมาบางกอกไฟล์เย็นแล้วต่อรถทัวร์กลับบ้าน

เช้าวันที่ 1 ครูคิมจะพานักศึกษา ม.นเรศวร มาเยี่ยม 2-3วัน

ต่อด้วยหนุ่มเหน้าสาวสวยชาวปูนซีเมนต์ไทยมาเข้าค่ายวันที่ 7-11 กุมภาพันธ์

ชาวเฮท่านใดว่างจะสมทบก็ยินดีต้อนลับ

2มือล้วงกระเป๋า2เท้าก้าวเข้ามาเล๊ย อิ อิ..

« « Prev : แจกันยักษ์

Next : ค่ายค๊อตโต้ SCG.54. » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

13 ความคิดเห็น

  • #1 putarn ให้ความคิดเห็นเมื่อ 30 มกราคม 2011 เวลา 9:14

    ขอบคุณที่พาเที่ยวเกษตรแฟร์ค่ะ
    เห็นพริกพิโรธร้อยครกแล้วอยากชิมมากๆ ไม่แน่อาจเผ็ดจนรำลิเกได้รึเปล่านะคะ

  • #2 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 30 มกราคม 2011 เวลา 11:33

    เรื่องยักษ์ๆ นี้ผมว่าคนไทยเราชอบมาก ในอดีตมักเรียกว่า “พันธุ์เกษตร”

    แต่ผมว่าของจิ๋วๆมันก็ดีของมันไปอย่างนะ เช่น ข้าวโพด โอย วันนี้ฝักมันใหญ่เกินกิน ผมอยากได้ฝักเล็กๆ พอดีคำ ยิ่งเล็กยิ่งดี ที่เลย (หรือเพชรบูรณ์ก็จำไม่ได้แล้ว) เขามีข้าวโพดฝักเล็ก (ข้าวเหนียวด้วย) เป็นจุดเด่น อยากให้อนุรักษ์ไว้มาก

    แถวกบินทร์บุรี (จ.ปราจีน) เคยมีข้าวโพดแปดแถว ฝักเล็ก ข้าวเหนียว อร่อยมากๆ เดี่ยวนี้กลายพันธุ์หมดแล้ว หากินไม่ได้ (ริมถนน) แต่ป้ายชื่อก็ยังมาหลอกกันว่าแปดแถว กรมวิชาการเกษตร และเกษตรอำเภอ จังหวัด ก็ไม่เหลียวแล สงสัยคงต้องการให้มันสูญพันธุ์เพื่อจะเอาพันธุ์ใหญ่ไปลงแทน

    แตงกวาผมก็ชอบไอ้ที่ลูกเล็กๆ มันอร่อยดี เนื้อแน่น เห็นแตงกวาเกษตร ผมไม่ซื้อเลย

  • #3 อุ๊ยสร้อย ให้ความคิดเห็นเมื่อ 30 มกราคม 2011 เวลา 11:36

    โห…ยักษ์ๆ ทั้งนั้นเลย
    แบบ “จิ๋วๆ” คงเล็กไม่ทันการณ์พอเลี้ยงประชากรโลกนะคะ เลยต้องพัฒนาอะไรๆ ให้มันใหญ่โตมโหฬาร

    เซลล์อะไรๆ ของพืชแบบยักษ์ๆ คงใหญ่โตพิลึก
    กินเข้าไปแล้ว เซลล์มันจะย่อยง่ายได้สารอาหารที่เหมาะกับการดูดซึมของกระเพาะคนเราไหนนะคะ


    แต่ก็ขอชมคนที่พัฒนาพันธุ์ต่างๆล่ะค่ะว่า ทำงานกันได้เก่งจริงๆ ดูงานด้านเกษตรแล้วมักจะทึ่งกับวิธีสร้างผลผลิตแบบนี้ล่ะค่ะ

  • #4 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 30 มกราคม 2011 เวลา 11:53

    ต่อความคุณอุ๋ย คห. 3

    ผมว่าของเล็กๆต่างหากที่เลี้ยงโลก ของใหญ่ๆ มีแต่ให้โลกเลี้ยง เช่น ข้าว เม็ดนิดเดียว เลี้ยงคนทั้งโลกได้ ถ้าข้าวใหญ่เท่ามะพร้าว ผลผลิตมันจะต่ำมาก จนไม่พอกินครับ นี่คือธรรมชาติ

    อีกอย่างที่ผมอยากได้เล้กๆ คือ ทุเรียน พวกกระดุม อะไรพวกนี้หากินยากมาก มีแต่หนอนทองลูกเท่าไข่ห่าน กินไม่ไหว

    เดี๋วยนี้พุดทราลูกเล็ก ฝรั่งขี้นก ก็หากินไม่ได้ ทำให้ผมเลิกกินผลไม้สองอย่างนี้ไปนานแล้วอีกด้วย

  • #5 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 30 มกราคม 2011 เวลา 14:14

    เมื่อเดือนที่แล้วไปดูงานแถบภาคเหนือ ได้ชิมพุทราลูกเล็ก รสเข้มอร่อยเชียว เก็บเมล็ดมาได้บ้าง กะว่าจะแบ่งให้พ่อครูลองปลูกดู อาจารย์ทวิชสนใจมั๊ยค่ะ ถ้าสนใจก็ส่งที่อยู่มาให้หมอนะคะ จะส่งไปให้ค่ะ

  • #6 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 30 มกราคม 2011 เวลา 15:54

    ขอบพระคุณหมอ สาวตา

    ผมเองไปเก็บมานับร้อยลูก แล้วเอาขว้างไปในพื้นที่ป่าของมหาลัย หวังว่ามันคงรอดบ้าง ลูกอื่น ก็เอามาขว้างไว้มาก เช่น มะตูมไข่ (เก็บมาจากข้างทาง) มะขวิด มะม่วงเล็กยาว (จำชื่อไม่ได้ มาจากอุบล)

    ใครเคยเห็นมะม่วงหัวแมงวันมั่งครับ ลูกเล้กเท่าปลายก้อย สุกแล้วก็อร่อย เหมือนองุ่น แต่เวลาเป็นดอก ดกมาก เอามาจิ้มน้ำพริกก็อร่อย เหมือนดอกสะเดาครับ

    มะม่วงเดี่ยวนี้ก็นิยมลูกใหญ่ ส่วนมะม่วงกะล่อน (หรือหมาไม่แล) ลูกเล็กนั้นแทบสูญพันธุ์แล้ว ทั้งที่หอมมาก

  • #7 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 31 มกราคม 2011 เวลา 6:48

    เรื่องพันธุ์เล็กใหญ่ ล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้นละครับ
    ในแง่ของการพัฒนาพันธุ์ถือเป็นการเรียนรู้ใหม่ ซึ่งอาจจะมีดีบ้างไม่ดีบ้าง
    ถ้าถือว่าการทำทุกอย่างเป็นครู เราก็จะอยู่กับการค้นหาความรู้
    ทำชีวิตให้เกิดการเรียนรู้ตามจริตแห่งอาชีพของตน
    จะเห็นว่าการปรับปรุงพันธุ์พืช/สัตว์ในประเทศไทย
    เกษตรรกลุ่มหนึ่งเป็นนักปรับปรุงพันธุ์ชั้นเซียน คู่ขนานกับนักวิชาการและนักวิจัย
    ถึงบางส่วนจะมีวัตถุประสงค์เพื่อเอาของแปลกมาปั่นราคา
    ก็คงทำได้ในตอนแรกๆ หลังจากนั้นก็จะมีการขยายพันธุ์อย่างแพร่หลาย/รวดเร็วราคาก็จะลดลง
    ส่วนจะเป็นที่ยอมรับแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของต้นพันธุ์นั้นๆ

    จุดหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือเกิดความหลากหลายในพันธุ์พืช-ผลไม้ต่างๆ ซึ่งแน่นอนย่อมมีทั้งดีและไม่ดี พันธุ์พืชพื้นถิ่นใดย่อมเหมาะสมต่อพื้นที่ตรงจุดนั้นๆตามการคัดกรอง/จัดสรรโดยธรรมชาติ ในเมื่อคนท้องถิ่นไม่เห็นความสำคัญของดีที่ตนเองมี หรือเห็นว่าของที่อื่นดีกว่า พันธุกรรมในท้องถิ่นเดิมก็ค่อยๆสูญหายไป ส่วนจะเกิดผลข้างเคียงประการใดนั้น คงต้องศึกษาควบคู่กันไป อนึ่ง ยังดีที่มีข้อจำกัดของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเป็นกรอบกว้างๆ

    ความชื้น ร้อน-เย็น- ฤดูกาล ที่มนุษย์ยังแก้ไขไม่สำเร็จ ยกตัวอย่าง ที่สวนบ้านผมปลูกมังคุด ปลูกทุเรียนไม่ได้ในขณะนี้ ในอนาคตไม่แน่ถ้ามีการปรับปรุงพันธุ์ เมื่อก่อนใครจะนึกว่าอีสานจะปลูกยางพาราได้ เมื่อมีการวิจัยพันธุ์ยาง ทำให้ได้ยางสายพันธุ์ที่เหมาะกับอีสานขึ้นมา ช่วยทำให้พื้นที่ว่างเปล่าเปลี่ยนไปเป็นสวนยางได้ ถึงจะเป็นพืชเชิงเดี่ยว ก็ยังดีกว่าปล่อยให้ที่ดินเสื่อมสภาพไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ กระบวนการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นตลอดเวลา ถ้ามองอย่างนักพัฒนา ก็จะเกิดคำถามว่า แล้วต่อไปละๆๆๆๆๆจะเป็นยังไง ทำยังไงถึงจะเหมาะสมและถูกต้อง

    ปัญหาอยู่ที่>>> ทำอย่างไรเราจะสร้างเกษตรกรมืออาชีพขึ้นมาได้ มีออาชีพจะเปรียบได้กับผู้ชำนาญการ เช่น ช่างไม้ รู้วิธีสร้างบ้าน ช่างต่อเรือรู้วิธีต่อเรือ แต่เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยัง..ช่างเถอะ เพราะยังปรับทัศนคติได้ช้า เนื่องจากลืมตาดูโลกขึ้นมาเทวดาก็เตรียมความพร้อมทุกอย่างไว้ให้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นฤดูกาล อุณหภูมิ แสงแดด จุลินทรีย์ ฯลฯ ที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพิชพรรณธัญญาหาร จึงไม่ต้องคิดอะไรมากเหมือนเกษตรกรในเขตหนาว ที่ธรรมชาติบังคับให้ต้องคิดอย่างมากในการที่จะประกอบการอะไรสักอย่าง บางทีความพร้อมนี้เองที่สร้างวัฒนธรรมสบายๆคือไทยแท้ขึ้นมา ไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องดิ้นรนมาก ไม่ต้องเรียนรู้มาก ก็อยู่ได้แล้ว

    แต่พอมาถึงสมัยนี้ สิ่งที่เทวดาสร้างไว้ให้ก็เสื่อมสูญไปเพราะความมักง่ายเชิงโครงสร้างของการพัฒนาที่อยากจะเป็นนิคก็เลยน็อค! ปัจจุบันทำให้พี่ไทยทั้งหลายตื่นตระหนกและตื่นตัวเรียนรู้และพัฒนา ส่วนพวกที่ตามไม่ได้ไล่ไม่ทันก็ตกกระป๋อง เปลี่ยนสภาพตัวเองจากเกษตรกรไปเป็นกรรมกร เพราะไม่มีความรู้เพียงพอที่จะอยู่ในท้องถิ่นตัวเอง ถึงอยู่ก็มีแต่ทำลายๆๆๆๆ จึงกลายไปเป็นแรงงานอพยพชั่วคราวและถาวรเต็มบางกอก

    โดยภาพรวมแล้วภาคการเกษตรระดับล่าง-ธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตร ยังจะพัฒนาอะไรๆต่อไปได้อีกมาก ถ้าเรามีภาคการเมืองที่เข้มแข็ง สร้างนโยบายเชิงรุกที่เหมาะสมและถูกต้อง ไม่ใช่ปล่อยให้นายทุน/ผู้ประกอบการแปรรูปเอาเปรียบเกษตรกรส่วนใหญ่ กฎหมายแต่ละฉบับโอ๋นายทุน เพราะนายทุนส่งพวกไปออกกฎหมาย ตัวแทนชาวไร่ชาวนาที่เป็นสส. สว. ฯลฯที่ไปจากลูกชาวบ้าน ถ้าไม่ถูกครอบงำก็เข้าไปเป็นเบ้ ไปขายตัว คนยากจนส่วนใหญ่จึงไม่มีตัวแทนที่เป็นปากเสียงอย่างแท้จริง ตรงจุดนี้ละครับที่ทำให้เกิดม็อบ เกิดวิกฤติในชาติทำให้ล่มจมได้ เพราะลูกหลานเกษตรกรที่เป็นสส.ก็ขายตัวขายเสียงตามตัวอย่าง เงินไม่มา กาไม่เป็น

    สภาพการเมืองไทย>> มีเสียงหลายกระแสบอกว่า จะต้องสร้างการเมืองภาคพลเมืองขึ้นมาคู่ขนานกับการเมืองในสภาฯ ปรากฎการณ์ของม็อบสีต่างๆ ใช้รึเปล่า ที่เป็นก้าวแรกๆของการเมืองภาคพลเมือง ถ้าสิ่งนี้ไม่ใช่การเมืองภาคพลเมือง บางทีสิ่งที่อาจารย์ทวิชคิดและเขียนสะท้อนในที่ต่างๆในลานปัญญา อาจจะเป็นมุมหนึ่ง หรือซีกส่วนของการสร้างการเมืองภาคประชาชนก็ได้ ถ้าไม่มีจุดเริ่ม เราก็จะเห็นวังวนที่อลวน เช่น
    - หาที่ยืนให้คนมีอุดมการณ์ไม่ได้ คนดีไม่มีวิธีเข้าสภาฯ จึงออกมาเย๊วๆนอกสภาฯ
    - หรือถ้าจะดันทุรัง ก็ต้องหง๋อเขาตั้งแต่ขอเข้าไปอยู่ในพรรคกินเมือง
    - เอาเงินเขามาซื้อเสียง ไม่ซื้อทางตรง ก็ซื้อทางอ้อม ไม่ซื้อไม่ได้เป็นซะด้วยสิ
    - ตั้งพรรคการเมืองแล้วไม่โกง จะเอารายได้มาจากไหนมาซื้อเสียง มาจ่ายเบ๊
    - ลูกอีช่างซื้อ จึงต้องขายตัวเอาเงินมาซื้อเสียง ซื้อตำแหน่ง เพื่อถอนทุน/ต่อทุน
    - เข้าไปเป็นผู้แทนในกระบวนการเบ๊ จะทำอะไรได้
    - เราจึงมีตกอยู่ในวงจรอุบาทก์ทางการเมือง
    - และเราก็อดทนอยู่กับความวิบากวิบัตินี้กันทั้งชาติ

    เกษตรกรไทยกลุ่มหนึ่งจึงดิ้นรน แสวงหาความรู้เพื่อหาทางออกตามมีตามเกิด ถูกบ้าง ผิดบ้าง อย่างที่อาจารย์เห็น สิ่งที่หายไปไม่เฉพาะพันธุ์พืช/ผลไม้พื้นเมืองที่ดีๆ น้ำหมอก น้ำค้างหายไป แร่ธาตุหายไป ป่าไม้หายไป แม่น้ำลำคลองหายไป นกหนูปูปลา จุลินทรีย์ ไส้เดือนหายไป จารีตประเพณี วัฒนธรรมหายไป แม้แต่ยิ้มสยามก็เปลี่ยนเป็นยิ้มสะแหยะ เมื่ออะไรๆที่เป็นต้นทุนทางธรรมชาติต้นทุนของชาติหายไป จึงเกิดการขาดแคลน คราวนี้ก็นำเข้าสิครับ นำเข้าทุน นำเข้าวัฒนธรรม นำเข้าความรู้ นำเข้าพืชพันธุ์ นำเข้าปุ๋ย/ยาและสารเคมี เครื่องจักร เทคโนโลยี นำเข้ากระทั้ง ผัวฝรั่ง นิโกร

    ในความเป็นจริงของแผ่นดิน ผมต้องจ่ายค่าโง่ในแทบทุกเรื่อง หลีกก็ไม่ได้ เพราะไม่รู้วิธีหลีกโง่!! ผมจึงโง่ขนาดหนักในทุกวันนี้ โง่จนเป็นปกติ ซึมซับจนโง่ได้โดยธรรมชาติ ตอนนี้ผมสามารถอยู่กับความโง่ของตัวเองได้อย่างแนบเนียนสนิท แต่ก็มีข้อกังขาว่า>>

    **** คนโง่จะสอนให้คนฉลาดได้จริงหรือ?
    **** คนโง่จะปกครองบ้านเมืองให้ปกติสุขได้จริงหรือ?
    **** คนโง่จะสร้างสังคมที่สันติสุขได้จริงหรือ?
    **** คนขี้เกียจจะสอนให้คนขยันได้จริงหรือ?
    **** คนไม่ดีจะสอนให้คนดีได้จริงหรือ?
    **** ระบบการศึกษาโง่ๆ จะสร้างความเฉลียวฉลาดในชาติได้อย่างไร?

    “จากแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง” พากันเปลี่ยนให้เป็น “แผ่นดินโง่ๆ”

    ผมชอบใจที่อาจารย์มาชวนกระตุกคิด ขออีกๆๆ
    น้ำหยดลงหิน หินมันยังกร่อน แต่หัวใจอ่อนๆ อาจารย์ทวิช ทำด้วยสิ่งใด อิ อิ..

  • #8 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 31 มกราคม 2011 เวลา 7:34

    ผมก็ปลูกทั้งเล็กทั้งใหญ่นั่นแหละอุ้ย
    อีก 4 เดือนมาอุ้มดูก็แล้วกัน
    ต้นหนึ่งเขาให้เอาไว้ลูกเดียว ตัดยอดทิ้งไม่ยาวเกิน 4 เมตร
    อัดฉีดน้ำปุ๋ยเต็มที่ ฟักทองมันจะไม่โตได้ยังไงละครับ
    เรื่องนี้ต้องพิสูจน์ อิ

  • #9 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 31 มกราคม 2011 เวลา 7:40

    ผมรักษาพันํธุ์พื้นเมืองไม้ผลของไทยด้วยการทำธนาคารต้นพันธุ์
    เมื่อมีพัฯธุ์ใหม่มาก็เอายอดมาเสียบไว้กับต้นพันธุ์พื้นเมืองที่มี
    เช่น เอาต้น ส้มโอ ต้นกระสัง เป็นตัวรับยอดพันธุ์ใหม่ๆ
    แม้แต่มะเขือก็เสียบยอดได้ นะหมอเจ๊
    เดี๋ยวนี้ลิ้นคนไทยยุคใหม่เปลี่ยนไป เด็กๆบอกว่าไก่พื้นบ้านเหนียวไม่อร่อยเท่าไก่ซีพี จะมีสักกี่คนที่เด็กในเมืองจะได้กินไก่บ้านรสชาติดี เมื่อคุ้นชินกับของใหม่ก็บอกของไทยแท้ไม่ดี จะโทษใครก็ไม่ได้ ในเมื่อสังคมนี้ถูกครอบงำด้วยระบบบริโภคนิยม มันจึงเปลี่ยนไปตามกระแสเช่นนี้แหละโยม เจ๊ คิคิ

  • #10 rattiya ให้ความคิดเห็นเมื่อ 31 มกราคม 2011 เวลา 8:19

    เหมือนได้เดินเที่ยวงานเกษตรแฟร์ไปกับพ่อด้วย แต่ละอย่างยักษ์ ๆ ทั้งนั้น

  • #11 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 31 มกราคม 2011 เวลา 10:39

    ในความเป็นจริงคิดได้ทั้งนั้นจะเล็กหรือใหญ่ดีโม๊ด
    ถ่ายเป็นคริปไว้เป็นบางตอนนะแป๊ด
    แต่เอาลงบล็อกบ่เป็น ยังโง่อยู่ กำลังหาครูสอน อิ

  • #12 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 31 มกราคม 2011 เวลา 15:11

    อิอิ ผมเองก็ทำเป็นบลัฟใครๆเขาว่าโง่ แต่ตัวเองนั้นก็ยอมรับว่ายังโง่อีกหลายๆเรื่อง ผมด่าศ.ดร.มามากหลายคน เพราะทนเขาบางคนย่ำยีปัญญาไม้ได้ แต่ผมกราบเท้ารากหญ้ายกย่อให้เป็นครูก็ไม่น้อยครับ ผมถูกคนโง่มันด่าว่าโง่มาหลายร้อยครั้งจากการนำเสนออะไรที่พวกเขาคิดไม่ทัน แต่การได้รับคำชมจากคนฉลาดอย่างท่านบานั้นถือเป็นพรสูงสุด ทำให้มีกำลังใจจะบุกฝ่าป่าหนามคมความคิดต่อไปขอรับ

    ผมได้ขอม.ผมทำสวนผลไม้ป่ามานาน ๑๐ ปีแล้ว ไม่สำเร็จสักที ตอนนี้เริ่มมีทีท่าว่าจะได้ทำแล้ว คือจะเอาผลไม้ป่าในพื้นที่มาระดมกันไว้ในสวนนี้ เพื่ออนุกรักษ์ไว้ให้ลูกหลานดู เช่น นมช้าง กัดลิ้น ไข่เน่า และอีกนัยร้อยชนิดครับ

  • #13 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 31 มกราคม 2011 เวลา 15:59

    อยากเห็นธนาคารผลไม้ป่าพื้นถิ่นมีที่ยั่งรากยืนต้นอยู่อย่างเป็นหลักแหล่ง
    เจตนารมณ์ของท่านอาจารย์นั้นน่ายินดีนัก
    ก่อนที่จะเราจะโหยหา แล้วไม่รู้ว่าเขาสูญหายไปไหน
    ต้นไม้ไม่รู้หรอกว่า เขาเกิดบนที่ดิน หรือ บนโฉนดของใคร
    อย่าใจร้ายใจดำต่อผู้มีพระคุณ ต่อผู้เป็นต้นทุนของแผ่นดินนี้
    ขอความรักให้ต้นไม้ได้ไหมครับ ?


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 4.2677619457245 sec
Sidebar: 0.049703121185303 sec