สวนครัวสุขภาพฉบับคนแซ่เฮ
อ่าน: 3805(ผักสวนครัวชัวร์สารพิษแน่ๆถ้าปลูกเองเจี๊ยะเอง)
ขี้โม้ ภาษาทางการเรียกว่า ก า ร นำ เ ส น อ การที่จะไปเสนออุตลุดโดยไม่ดูตาม้าตาเรือมีหวังตายอย่างเขียดถ้าหาเรื่องใกล้ตัวที่เราศึกษาทดลองด้วยตัวเอง อาจจะพอไหว วันที่17เดือนหน้ามีรายการไปโม้ที่โรงพยาบาลวารินชำราบ เท่าที่คุยกันทราบว่าจะให้ไปพบปะเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล-อสม.และผู้นำอบต..ในมิติของการสร้างเสริมสุขภาพระดับชุมชน ถ้ากลุ่มผู้ฟังอย่างนี้ไม่กระไรนัก เพราะอยู่ในวัฒนธรรมและวิถีชีวิตคล้ายกัน เรียกว่าคอบ้านนอกด้วยกันงั้นเถอะ ซึ่งจะไม่ลำบากเท่ากับไปฟุ้งให้คนต่างวัฒนธรรมต่างองค์กรฟัง
(แปลงผักเล็กๆปลูกอย่างละเล็กละน้อยมีคุณค่าทางจิตใจน)
ครัวเรือนในต่างจังหวัด บางแห่งยังมีสวนครัวหลังบ้าน เราก็จะชี้ชวนให้ทำสวนครัวที่มีอยู่นั้นมีชีวิตชีวามีความหลากหลาย ปลูกผักและสมุนไพรที่จำเป็นใช้ประจำวัน จัดเป็นพื้นที่เรียนรู้ ชวนให้ฉุกคิดว่าจะเอาอะไรใส่ลงไปในพื้นที่สวนครัวนั้น
ทำ ส ว น ค รั ว ใ ห้ เ ป็ น ส ว น สุ ข ภ า พ ห ลั ง บ้ า น
ได้ออกกำลังกาย-พักผ่อนในสวนข้างบ้าน-ได้ฝึกฝนความคิดความรู้-ประสบการณ์-หรือทดลองงานวิจัยไทยบ้าน ยั่วยุให้คิดต่าง แล้วลงมือทำตามที่คิดได้ ถ้าจุดพลุตรงจุดนี้ เราจะเห็นสวนครัวที่เป็นมากว่าสวนผักธรรมดา หลากหลายรูปแบบและกระบวนการ เมื่อความรู้ใหม่ๆผุดพรายออกมา ก็นัดนักปฏิบัติทั้งหลายมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน สุขภาวะชมชนก็จะแตกหน่ออ่อนจากจุดนี้ได้ แทนที่จะทำแค่เรื่องยุงลาย เรื่องทรายอะเบดทั้งปีทั้งชาติ
(วันเดียวป้าสอนปลูก เตย ตะไคร้ มะเขือ หม่อน )
ถ้าเราให้ความสำคัญชาวบ้าน เขาก็จะเกิดกำลังใจคิดค้นคว้าต่อเนื่องต่อไป เ ร า ไ ม่ ต้ อ ง ไ ป คิ ด แ ท น ช า ว บ้ า น เพราะคิดยังไงมันก็ไม่เข้าอยู่ดี เรื่องของใครก็ของคนนั้น เปิดโอกาสให้เขาได้ลงมือปฏิบัติมากๆ ในที่สุดเราก็จะมีผู้รู้ตัวจริงเสียงจริงเต็มแผ่นดิน แทนการอบรมแบบยัดเหยียดความรู้ ซึ่งก็ทำกันมากแล้ว แต่ไม่ค่อยจะได้ผลสักเท่าไหร่ วิทยากรควรทำหน้าที่พี่เลี้ยง ยั่วยุให้เกิดความคันในหัวใจ ให้กำลังใจ คอยชื่นชม ชี้โบ้ชี้เบ้ได้บ้างนิดหน่อย
: ในสวนครัวมีความรู้ให้เราเรียนได้ไม่รู้จบ
กลยุทธการนำเสนอเบื้องต้น ควรจะเป็นเรื่องพิเศษที่แปลกใหม่ เอาเรื่องธรรมดาๆนี่แหละมาปลุกเสกให้เกิดความสนใจ ยกตัวอย่าง เช่น ช่วงนี้ผมมีลูกน้ำเต้าโตงเตงทยอยออกลูกมาทุกวัน กลุ่มที่ออกผลมาชุดแรกก็โตเร็วมาก ลูกโตๆน้ำหนักถ่วงเถาหนักมากอึ้ง มีโอกาสที่จะขาดแล้วดึงเอาลูกเล็กๆเสียหายไปด้วย ปัญหานี้มีเรื่องราวที่ซ่อนเร้นน่าลุ้นระทึกมากมาย>>ล้วนแต่น่าทดลองทั้งนั้นนนนน..
- รากสะเดา ใช้ต้มจะได้รสขมเย็น แก้เสมหะจุกคอ และเสมหะที่เกาะแน่นในทรวงอก
- ดอกดีปลี สรรพคุณแก้เสมหะในปอด ทรวงอก ยังช่วยกระจายลมในลำไส้อีกด้วย
- ลูกชะพลู เจริญอาหาร ขับเสมหะ แก้อาการคัดจมูก หลอดลมตัน
- เหง้ากระทือ ดอกก็ใช้ได้ แก้เสมหะเป็นพิษ ทำให้ปวดร้าวอก ปวดร้าวเส้นเอ็น
- เหง้ากระชาย แก้บิดมูกเลือด แก้ลมอันบังเกิดในกองทหัยวาตะ ทำให้เพลียอยู่เสมอ
- ลูกมะขามป้อมแก่ แก้ไข้ บำรุงหัวใจ ปรับสมดุลทางเดินหายใจ ขับเสมหะเหนียวข้นออกจากทรวงอก
(ไมยราบดอกสวยเช้าๆผึ้งตอมเกสรหึ่งๆ)
ไมยราบ มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ แก้ไตพิการ แก้ปวดเมื่อย ปวดหลังปวดเอวปวดหัว ขับระดู นิยมใช้ไมยราบทั้ง5มาต้มกิน หมอยาอีสาน นิยมผสมไมยราบลงในใบหม่อน เตยหอม ดอกคำฝอย และทองพันชั่ง โดยใช้ไมยราบเป็นตัวหลัก เพื่อเป็นชาสมุนไพรดื่มบำรุงสุขภาพและใช้แก้อาการปวดหลัง ไมยราบไปตำพอกรักษาแผล ทั้งแผลสดแผลเรื้อรัง แผลพุพอง ผดผื่นคัน เริม งูสวัด เป็นต้น การศึกษาสมัยใหม่พบว่า ไมยราบมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา แก้ปวด ต้านการเกร็งกล้ามเนื้อ แก้อักเสบ ทำให้แผลหายเร็ว คลายเครียด ทำให้ง่วงนอน เหตุผลน่าจะเป็นเพราะไมยราบช่วยให้หลับและสงบดีแล้ว ยัง พ ล อ ย ใ ห้ ส ม ร ร ถ ข อ ง ผู้ ช า ย ห ลั บ ไ ห ล ไ ป ด้ ว ย มีสารออกฤทธิ์เป็นยานอนหลับอ่อนๆ เหมาะกับคนเครียดขึง ไม่ ต้ อ ง ต า ม หึ ง ส า มี ที่ ช อ บ น อ ก ลู่ น อ ก ท า ง ต้มชาไมยราบให้ดื่มบ่อยๆ นกเขาจะสงบเสงี่ยม ไม่ขันพร่ำเพรื่อ ไม่ยังงั้นภิเพิกจะเอาไมยราบมาสะกดทัพรึครับ แม้แต่แพะก็ชอบ ถือเป็นยารักษาโรคแพะในธรรมชาติ ถ้าว่างๆก็ทดลองดูนะครับ ถ้ามีความจำเป็นต้องแก้ไขปัญหานกเขาขยันเกินเหตุ อิ อิ..
(มือสปริงที่ยุบยับทำหน้าที่ยึดโยงและประคับประคองน้ำหนัก)
ผมด้อมๆมองๆหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในชั้นแรกพยายามเอาไม้แขนงไปสอดเสริมค้างชั้นบนให้หนาขึ้น แต่ลูกที่โตๆโตงเตงดึงเถาว์ลงมา จึงหาวิธีผูกอู่พยุงช่วย แต่ก็นั้นแหละ ต้องคอยเดินตรวจปรับความแข็งแรงตามน้ำหนักอยู่เสมอ จากการเรียนรู้ตรงจุดนี้ ทำ ใ ห้ เ ร า สั ง ว ร ว่ า เ ร า ยั ง มี จุ ด ไ ม่ รู้ จั ก น้ำ เ ต้ า อี ก ม า ก นั ก มีเรื่องที่จะต้องเข้าถึงอีกพะเรอ
หลังจากคลุกคลีใต้นั่งร้านน้ำเต้า
ผมสังเกตเห็นมีแขนงโผล่ขึ้นตรงข้อต่อขั้วผล
ติดตามดู 2-3วันจึงรู้ว่า
พืชก็มีวิธีช่วยเหลือตนเองอย่างเหลือเชื่อ
แขนงใหม่ที่แตกออกมาพร้อมมือสปริงยุบยับนี่ละครับ
ที่จะมาช่วยเสริมแรงรับน้ำหนักเมื่อผลโตขึ้น
แขนงจะเลื้อยพันค้างไปไกล
ส่วนมือสปริงก็กระหวัดรัดกอดเป็นระยะๆ
เถาว์ที่ติดผลมากๆจะสังเกตเห็นมีผลเหลืองหลุดขั้วเอง
สงสัยว่าจะมีการลดโหลดน้ำหนักโดยธรรมชาติ
เป็นกลไกทางธรรมชาติที่ลึกซึ้งนัก
ถ้าพิเคราะห์ให้ดีจะเห็นกลไกซับซ้อน
เออหนอ..แม้แต่พืชก็ยังพยายามช่วยตัวเอง
พืชผักแต่ละชนิดมีจุดแข็งในตัวเองแตกต่างกัน
(พืชมีวิธีลดน้ำหนักส่วนเกิน ด้วยการปลิดผลตัวเอง)
ถ้าถอดรหัสไม่ออกก็จะทำอะไรโง่ๆอย่างผม
ที่ไปตัดแขนงเล็กทิ้งเพราะคิดว่าปล่อยไว้มันจะไปแย่งอาหารกัน
(แล้งแสนแล้งมะรุมก็ยังแตกยอดอ่อน)
พืชแต่ละชนิดมีนิสัยไม่เหมือนกัน เช่น
ต้นมะรุมที่เราตัดกิ่งออกไป
ถึงจะแล้งอย่างนี้มะรุมก็ยังแตกกิ่งอ่อนมาให้เราเก็บใบอ่อน
เอาไปแกง ไปลวก ไปผัดใส่ไข่
นับเป็นบรรณาการจากสวรรค์ในยามแล้งได้อย่างวิเศษ
แล้วมนุษย์เรานี่ละ
ค้นพบวิธีช่วยตัวเองในเรื่องไหนอย่างไรบ้าง
งัดมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นสุขภาวะชุมชนดีไหมครับ
: นึกถึงสมัยที่ผมยังเป็นเด็ก ทรัพยากรธรรมชาติยังอุดมสมบูรณ์ พืชพรรณธัญญาหารมีให้เลือกเก็บทุกฤดูกาล ไม่เฉพาะผักป่านะครับ พริก กระเพรา แมงลัก มะเขือพวงเกิดขึ้นเองเป็นดง เข้าใจว่านกอาจจะไปกินพืชผักแล้วเอาเมล็ดมาหยอดเรี่ยราดไว้ แม้แต่คนเราก็เถอะ ชาวไร่สมัยนั้นไปเช้า-เย็นกลับ ไม่มีใครหรอกที่จะไปสร้างสุขาเอาไว้ ปวดอึขึ้นมาก็วิ่งไปหาที่เหมาะๆหยอดไว้ บังเอิญบางช่วงที่กินแตงโม แตงไทย เผลอกลืนเมล็ดเข้าไป เมล็ดพวกนี้ก็ออกมากับอึ พอได้ฟ้าได้ฝนก็แตกหน่อแตกกองอกงามมีหมากผลให้เก็บกิน สบายจนไม่รู้ว่าจะอธิบายยังไง บอกตรงๆนะ อ ย า ก ใ ห้ เ ห็ น กั บ ต า จั ง เ ล ย ป ลู ก แ ต ง โ ม ภ า ค พิ ศ ด า ร
(ที่สวนป่ากระเพาปลูกง่าย แต่ที่ส่งไปอียูทำไมโดนตีกลับ)
:ประเด็นสืบเนื่องEU.สั่งระงับพืชผักจากไทยหลายรายการ แต่ในไทยเองไม่กระโตกกระตาก คนในชาติสวาปามสารพิษสารเคมีไปกี่มากน้อย มาตรการดูแลตรงนี้อยู่ที่ไหน เพื่อความปลอดภัยปลูกกินเองดีกว่า ถ้าไม่สะดวกทำก็แสวงหาพันธมิตรชาวสวนผัก ช่วยแบ่งปันพืชผักปลอดภัยให้กันและกัน ถ้าจะสร้างสะพานสุขภาพเชื่อมโยงระหว่างชาวกรุงกับชาวทุ่งควรจะเป็นอย่างไร ลองคิดเล่นๆแต่ทำจริงๆดีไหมครับ
ชิมิ ชิมิ
Next : แพะเกี่ยวอะไรกับกล้วย » »
5 ความคิดเห็น
ข้อมูลน่าสนใจจากหมอเจ๊
ขออนุญาติตัดตอนมาบางส่วน
**
ไปค้นหาความรู้จากตำราที่ครูเคยให้มาพบแต่ว่า ผลน้ำเต้าเป็นอาหารที่ดีสำหรับคนเป็นว่าที่เบาหวานและเบาหวาน ผลที่กินทั้งเปลือกและเนื้อได้ช่วยคุมน้ำตาลในเลือดไม่ให้ขึ้น เพราะว่า มันมีสารอาหารที่ให้น้ำตาลอยู่น้อยกว่าข้าวอยู่ราวๆ ๒๗ เท่า
แถมยังช่วยเสริมแคลเซี่ยมให้คนที่มีเนื้อกระดูกบางด้วย แต่ไม่ดีสำหรับคนเป็นโรคไตวายหรือกำลังจะไตวาย เพราะมีฟอสเฟต และเกลือโปตัสเซียมสูง
เพราะมีแคลเซียมสูงนี่แหละ คนโบราณจึงนำมันมาแกงเลียงให้สตรีหลังคลอดกิน กินแล้วช่วยให้มีน้ำนมมากขึ้น แล้วน้ำนมก็มีคุณภาพดีพอสำหรับเลี้ยงบุตรด้วย
ชื่อ “น้ำเต้า” ก็มาจากการเรียกน้ำแกงเลียงที่ใส่น้ำเต้านี่แหละ
ส่วนเปลือกเขียวๆที่ยังอ่อนนำมากินสด ช่วยเสริมความแข็งแรงให้ปอดที่กำลังอักเสบได้
ในคัมภีร์อัลกุรอานก็ระบุว่า น้ำเต้าช่วยป้องกันโรคมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งปอด
ความรู้ว่าน้ำเต้าใช้เป็นอาหารคนเบาหวานได้นี่ จีนและอินเดียเขาเป็นแบบอย่างมาก่อน เรามาสนใจว่ามันคุมเบาหวานได้เมื่อคนไทยเป็นเบาหวานกันเยอะขึ้น และหาคนชอบกินผักจนเป็นนิสัยได้น้อย
สารอาหารมีอะไรอยู่ในตัวมันบ้าง กว่าจะได้เผยแพร่ให้สาธารณะได้รับรู้กัน นักวิชาการด้านโภชนาการไทยก็เก็บไว้กับตัวอยู่นาน
ตามประวัติน้ำเต้าเขาว่ามันมีต้นกำเนิดจากอาฟริกา น่าสนใจตามรอยว่า เรารู้จักน้ำเต้าเพราะมีความสัมพันธ์กับจีนหรืออินเดียหรือเปล่า และบ้านเรามีน้ำเต้ามาแต่เมื่อไร
ตำรายาไทยโบราณเขาใช้ใบน้ำเต้า ทำยาแก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ ในยาเขียวที่โฆษณาสรรพคุณว่าแก้ร้อนในมาจากฤทธิ์ของใบน้ำเต้านี่เอง
ใบน้ำเต้าใช้ตำแล้วนำมาโปะแก้ปวดจากพิษสัตว์ เริม งูสวัด และพองจากความร้อนได้เพราะมันเย็น แต่ต้องระวังถ้าผิวหนังที่จะโปะมีรอยเปิด ความสะอาดเวลาเตรียมและตำเป็นเรื่องสำคัญ ไม่งั้นมีโอกาสเติมเชื้อโรคเข้าไปในร่างกายได้
เพิ่งรู้ว่าใบน้ำเต้ามีกลิ่นที่แมลงไม่ชอบด้วย มิน่าจึงไม่ใคร่เห็นใบน้ำเต้าที่โดนแมลงกัดแทะจนเหี้ยนหรือเป็นรู ดมเองก็ไม่ได้กลิ่น จมูกคนไม่ไวเท่าจมูกแมลงเลยเนอะ
กินบวบแล้ว สังเกตว่า บางครั้งก็เจอเนื้อบวบขมๆ เพิ่งรู้เหมือนกันว่า เนื้อน้ำเต้าก็มี ๒ รส คือ ไม่ขม และขม พันธุ์ที่เนื้อไม่ขม ใช้ทำอาหาร พันธุ์ที่ขม เขาเก็บไว้ทำยา ไม่รู้พันธุ์ที่พ่อครูปลุกมีพันธุ์เนื้อขมๆหรือเปล่า
น้ำเต้าเป็นพืชที่ให้แคลอรี่ต่ำ เหมาะสำหรับคนที่ต้องการลดน้ำหนักด้วยนะ
แล้วส่วนประกอบของสารอาหารในใบน้ำเต้าก็ไม่มีที่ไหนวิเคราะห์ไว้ ไม่รู้ว่าอินเดียซึ่งกินน้ำเต้าทั้งใบ ยอด และผลอ่อน มีข้อมูลวิเคราะห์ไว้บ้างหรือเปล่า
รู้แต่ว่า บวบ ฟัก แฟง แตงโม แตงไทย แตงร้าน ฟักทอง เป็นพืชสายพันธุ์เดียวกับน้ำเต้า และ เวลาคุยกันเรื่อง “น้ำเต้า” จำต้องถามว่าคนที่กำลังคุยด้วยเป็นคนที่ไหน ก็ที่บ้านฉันถ้าพูดกันถึงน้ำเต้า เราหมายถึง “ฟักทอง”
ตอนนี้รู้แล้วว่ายอดฟักทองที่ไปซื้อมาผัด มีสังกะสี ธาตุเหล็ก และ วิตามินเอสูง มีแคลเซียม
และมันมีคาร์โบไฮเดรทน้อย กินแล้วน้ำตาลในเลือดไม่เพิ่ม จึงใช้เป็นอาหารปรับเปลี่ยนระดับน้ำตาลในเลือดได้ สำหรับคนเป็นว่าที่เบาหวานหรือเบาหวาน
ใบฟักทองมีแคลเซียมน้อยกว่าใบน้ำเต้าเยอะ (ใบฟักทอง ๑๐๐ กรัมมีแคลเซียมแค่ ๐.๐๗ มิลลิกรัม ใบน้ำเต้ามี ๑๒ มิลลิกรัม) มันเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับหญิงหลังคลอดเหมือนกัน (ใบฟักทอง ๑๐๐ กรัม มีธาตุเหล็ก ๑๐.๑ มิลลิกรัม ใบน้ำเต้ามี ๐.๘ มิลลิกรัม) ประโยชน์ก็คือช่วยเสริมธาตุเหล็ก ทำให้น้ำนมแม่มีธาตุเหล็กพอทั้งแม่และลูก
มีเรื่องเตือนสำหรับคนบางคนให้ระวังการกินใบฟักทองเหมือนกันนะคะ คนโรคอื่นๆกินบ่อยๆไม่เป็นไร แต่คนที่เป็นโรคโลหิตจางแต่เกิดที่เรียกว่า “ธาลัสซีเมีย” ที่หมอต้องให้ไปเจาะเลือดเป็นประจำเพื่อดูว่าต้องให้เลือดหรือเปล่านั้น
ควรกินใบฟักทองเพียงนานๆครั้ง เพื่อไม่ให้เม็ดเลือดของตัวแตกเพราะธาตุเหล็ก เพราะกินบ่อยครั้งจะทำให้ซีดเพิ่มขึ้น และมีธาตุเหล็กในร่างกายสะสมสูงขึ้นไปอีกได้
ยกมือเห็นด้วยค่ะที่ว่า แปลงผักเล็กๆปลูกอย่างละเล็กละน้อยมีคุณค่าทางจิตใจ เพราะดิฉันเองก็เพิ่งหัดปลูกยังไม่ครบปีดี
เกือบทุกวันจะเฝ้าคอยสังเกตรดน้ำพรวนดินโรยเกลือให้อย่างสบายอกสบายใจ หายเหนื่อยจากหน้าที่การงานเป็นปลิดทิ้ง
ตอนนี้ก็มีใบโหระพา สะระแหน่ พริก ผักชี ให้เด็ดปรุงอาหารได้ทุกวันค่ะ
แล้วก็พบว่าอาหารที่เราทำอร่อยกว่าเดิมซึ่งเคยใช้แต่อย่างอบแห้งที่อิมพอร์ตมาจากเมืองไทย ฮ่าๆๆ อันนี้ต้องยกความดีให้บรรดาสมุนไพรสดๆเหล่านี้อย่างเดียวเลยค่ะ
พ่อครับ ขอธรรมะจัดสรรเพื่อเด็ก ๆ ที่โรงเรียนฮักสคูลด้วยนะครับ
วันที่ 4 มีนาคม ขอจัดมินิเฮฮาศาสตร์ที่ขอนแก่นนะครับ
ว่างบ่น้อ
ดีใจที่มี putarn เป็นเพื่อนบล็อกปลูกผัก แบบชิมิชิมิ
ความสุขที่ชิมได้
ขอหารือ วันที่ 4 พระอาจารย์JJ จะมารับ ไม่ทราบว่าจะมานอน หรือกลับช่วงบ่าย
ถ้าออต จัดวันที่ 5 ช่วงเที่ยง-บ่ายน่าจะสะดวก
เพราะลงจากเวทีโรงพยาบาลก็จะแวะงานออตได้
ลองขยับดูเน้อ อยากเจอเด็กๆมาก ชิมิ ชิมิ