แข่งเรือแข่งพายบึ๊ดจ้ำบึ๊ด
อ่าน: 3174ในฤดูน้ำหลาก หมู่บ้านที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำทั่วไทย จะมีประเพณีแข่งเรือยาว ที่ไปที่มาน่าจะเกิดจากการใช้เรือสัญจรไปมาหาสู่กัน ใช้เรือแห่บุญกฐิน หรือในยามศึกสงครามก็จะใช้เรือเป็นยุทธปัจจัย ในอดีตไม่มีถนนไม่มีรถยนต์รถบัส การตั้งหมู่บ้านจึงยึดเอาริมฝั่งแม่น้ำนี่แหละเป็นจุดตั้งถิ่นฐาน ทำมาหากิน-ทำมาค้าขาย สังเกตได้จากเมืองเก่าแก่โบร่ำโบราณจะเกาะอยู่ริมฝั่งทั้งนั้น
(เรือจะออกจากทางโค้งอยู่ลิบๆ)
การที่จะได้เรือยาวมาแข่งสักลำนั้นไม่ใช่จะได้มาง่ายๆ หลวงพ่อ-นายช่างเรือ-ชาวบ้าน จะพากันบุกป่าฝ่าดงไปยังต้นตะเคียนสูงใหญ่ ที่ส่งแมวมองไปค้นหาเป็นแรมเดือน จะต้องเตรียมเครื่องมือและเสบียงไปให้พอเพียง ทำพิธีขอจากเจ้าป่าเจ้าเขา โค่นลงมาเกลาให้เป็นรูปร่างหยาบๆ แล้วใช้ช้างลากลงมาหาแม่น้ำ ล่องท่อนไม้มาขึ้นท่าน้ำวัด ช่างจะช่วยกันเจาะตบแต่งจนเป็นเรือยาวจนสมใจนึก แล้วเอาเรือลงฝึกซ้อมกันอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย จนกระทั้งถึงวันแข่งก็จะทำพิธีอัญเชิญแม่ย่านางลงประทับเรือ ประชันขันแข่งตามพละกำลังกายและพลังใจอย่างเต็มที่ แพ้ชนะไม่เป็นไรปีหน้าฟ้าใหม่มาเจอกันอีก คอเรือยาวเห็นหน้าก็รู้ใจ กอดคอกันร่วมสนุกนับถือกันเป็นเสี่ยวเป็นญาติ หนุ่มๆบ้านอื่นมาเป็นเขยที่ตนเองไปแข่งเรือก็เยอะ ดังนั้นหมู่บ้านที่อยู่ตามริมฝั่งจึงเป็นสายญาติกันตลอดลำน้ำ ไม่มี>>เขม่นถึงกับยกพวกตีกันเหมือนวัยรุ่นสมัยนี้
แต่ละหมู่บ้านจะมีเรือทอดตัวยาวอยู่ใต้ศาลาวัด หลวงพ่อนอกจากจะเป็นแหล่งรวมใจวินัยทางสังคมแล้ว ยังเป็นโปรโมเตอร์ตัวจริงเสียงจริงอีกต่างหาก ก่อนวันแข่งจะมาถึง หลวงพ่อจะกระตุ้นให้หนุ่มฉกรรจ์ในหมู่บ้านลงเรือฝึกซ้อมกันอยู่เสมอ เด็กๆสาวๆแม่บ้านจะมาชมให้กำลังใจ บางครอบครัวแม่คุณใจถึง>>ไล่พ่อคุณไปฝึกซ้อมให้เต็มที่ไม่ต้องห่วงงานใดๆ น้องนางอาสาทำแทนทุกอย่าง
ถ้าหมู่บ้านไหนเป็นเจ้าภาพ ผู้คนในหมู่บ้านจ้าละหวั่นเตรียมงานกันเป็นเดือน ตั้งแต่ลูกเล็กเด็กแดงไปจนถึงผู้แก่เฒ่าจะมีส่วนร่วมกันอย่างเต็มที่ แบ่งกันต้อนรับพี่น้องชาวเรือต่างถิ่น หุงหาอาหารต้อนรับขับสู้ ไม่ให้เสียชื่อเสียงหมู่บ้าน ต่างไปเหย้าเยือนกันเรื่อยมา วันที่ชาวเรือเดินทางมาถึงนั้นตื่นเต้นนัก จะได้ยินเสียงเป่าแสนงที่ทำด้วยเขาควาย สะท้อนก้องลำน้ำ>>กู่ๆริกู่ๆ..ผสมเสียงฆ้องเสียงกลองแว่วมา ลำโน้นมาลำนี้มา ทำเอาเจ้าแกละกับพวกวิ่งตามดูจนขาปัด
สมัยก่อนไม่มีหรอกครับ ที่คนนอกจะมาจัดการเรื่องความสมานฉันท์ความรักความสามัคคีของคนในพื้นที่ ชุมชนใช้น้ำใจเชื่อมร้อยกันด้วยวัฒนธรรมของชาวลุ่มน้ำ การแข่งขันก็สู้กันในกติกาพื้นถิ่น ไม่ได้หวังแพ้ชนะเอาเป็นเอาตายหรือมีการพนันมาเกี่ยวข้อง ความสมานไมตรีจึงมีที่ไปที่มาจากประเพณีดังกล่าว
ทุกวันนี้การแข่งเรือยาวพัฒนาการไปอย่างก้าวกระโดด มีนักการเมืองมาเป็นสปอนเซอร์ขาใหญ่ เงินหนากระเป๋าหนักอัดฉีดกันเต็มที่ บางสนามเจ้าภาพไปจ้างฝีพายเก่งๆจากจังหวัดอื่นมาลงแข่งแทน สนนราคา300,000-500,000บาท เพื่อหวังชื่อเสียงจอมปลอม ประเพณีดีๆก็หดหายไป ถึงจะจัดการแข่งขันใหญ่โตชิงถ้วยพระราชทาน แต่เสน่ห์เรือยาวตกน้ำหายไปหมดแล้ว กรรมการจัดการแข่งขันแต่ละจังหวัดมักง่าย มองไม่เห็นคุณค่าที่ซ่อนเร้นเป็นประเพณี มีแต่มูลค่าแต่หาคุณค่าไม่ได้ เท่าที่ทราบดูเหมือนจะมีที่จังหวัดน่านแห่งเดียว ที่เข้าใจและตระหนักในจารีตประเพณี รักษาเอกลักษณ์เรือยาวของตนเองไว้อย่างน่าชื่นชม
สมัยหนุ่มรุ่นกระเต๊าะ ผมเคยมีส่วนจัดเรือยาวประเพณีจังหวัดบุรีรัมย์ ทำหน้าที่หลายอย่าง ตั้งแต่ติดตามไปเชิญเรือทั่วประเทศ รู้จักเจ้าพ่อเรือยาวแทบทุกสนาม พิษณุโลก-พิจิตร-พิมาย-อุบล-นครพนม-ร้อยเอ็ด-ปทุมธานี-นครสวรรค์-ทางใต้เคยไปเชิญเรือเจ้าแม่ตาปี-แหมตอนนั้นก็ไม่รู้จักพี่น้องชาวเฮ ไม่ยังงั้นมันส์กว่านี้เยอะ
วันแข่งขันผมลงทุนยืนพากษ์เรือเองจนคอแทบแตก
ลืมตัวตะโกนจนลำโพงขาดพังเป็นแทบๆ
แหกปากอยู่2วัน เสียงแหบเป็นเป็ดอยู่ครึ่งเดือน
ทำให้หลอดลมพังมาจนเท่าทุกวันนี้
สมัยนั้นผมจับช้างมาว่ายน้ำแข่งขันด้วย
ท่ามกลางน้ำเชี่ยว ช้างแม่ลูกอ่อนพาลูกลงน้ำด้วย
แม่ช้างเอาตัวบังประคองลูกขึ้นฝั่งจนได้
แต่ก็ถูกกระแสน้ำพัดออกนอกเส้นทางไปไกล
คนดูแทบจะหัวใจวาย
น้ำลึกมาก เท้าช้างไม่ถึงพื้นหรอกนะครับ
สนามแข่งเรือยาวอำเภอสตึกนั้น จะแตกต่างจากสนามทั่วไป การปล่อยเรือจะออกจากทางโค้ง นายท้ายจะต้องคัดท้ายแสดงความสามารถจนตัวโก่ง ในการที่จะเอาเรือเข้าลู่ให้ได้ ปีนี้น้ำเชี่ยวมาก พัดเรือเป๋ออกนอกลู่ได้ง่าย ถ้าฝีมือนายท้ายไม้ดีเรืออาจจะเบียดกันล่มได้ กว่าจะงัดเข้าทางตรงจ้ำพายน้ำกระจายตลอดระยะทาง600เมตร ฝีพายใช้พละกำลังจนซี่โครงบาน ไม่มีกีฬาอะไรจะเหนื่อยเท่ากับพายหรือแข่งหรอกนะครับ เหนื่อยแค่ไหนก็หยุดไม่ได้ ถ้าพายช้า พายข้างหลังก็จะตีกระทบเอาได้ เหนื่อยจวนเจียนสลบยังไง ก็ต้องกัดฟันจ้วงจ้ำปึดๆ ยิ่งตอนจะเข้าเส้นชัย หัวโขนจะกระแทกพายให้สัญญาณจ้ำสุดแรงเกิด เพื่อให้หัวเรือพุ่งทะยานเข้าเส้นชัย พลังกายใจมีเท่าไหร่ก็ต้องปล่อยออกจนสุดกำลัง
ปีนี้น้ำท่วมลำแม่น้ำมูล ทำให้ไม่สามารถจัดแข่งขันช้างว่ายน้ำได้ ผมเสนอให้จัดช้างตีลังกาบนสไลเดอร์ก็เตรียมการไม่ทันเสียแล้ว มีเรือยาวร้อยกว่าลำ มาจากมุกดาหาร-นครราชสีมา-อุบล-ยโสธร-สุรินทร์-ร้อยเอ็ด-นครสวรรค์-ฯลฯ เรือแต่ละลำยาวมากกว่าจะลากข้ามเขามาแข่งกันได้ง่ายที่ไหนละครับ ถ้าไม่ใช่นักเลงเรือยาวยากนักที่จะบุกมาเจอกัน แข่งกัน2วัน ในประเภทเรือยาวใหญ่ 55 ฝีพาย คู่ชิงชนะเลิศ เป็นเรือ>>
“สาวสตึก”เจ้าภาพ เข้าชิงกับเรือ”เทพมังกรทอง”จากนครสวรรค์
« « Prev : ผักยืนต้นโดนทอดทิ้ง
2 ความคิดเห็น
เรือเจ้าแม่ตาปีอยู่หลังบ้านหนูเอ๊ง….
โถ ๆๆ แล้วทำไมพ่อไม่แวะไปชวนหนูที่บ้านด้วยล่ะค่ะ
เอ แต่พ่อว่าพ่อไปตอนยังเป็นหนุ่มกระเตาะ แล้วหนูจะเกิดหรือยังล่ะนั่น :(
แข่งเรือยาวประจำปีที่สุราษฎร์ธานีก็เป็นงานช้างประจำปีเช่นกันค่ะ บ้านหนูได้เปรียบตรงสามารถนั่งดูการฝึกซ้อมได้ทุกวัน ตักข้าวไปนั่งกินกัน แล้วก็นั่งวิจารณ์ลำโน้นลำนี้ไปด้วย เพื่อน ๆ ญาติ ๆ มาจากไหนก็จะไปปูเสื่อนอนดูการแข่งขันฟรีกันหลังบ้าน เปิดวงโสเหล่เรื่องนู่นนี่ไปด้วย ฉวยโอกาสใช้งานนี้กระชับความสัมพันธ์กับได้แบบเนียน ๆ ยิ่งใกล้วันแข่งก็จะมีการจับคู่ปะมือเสมือนจริงให้ดูด้วยนะ เราเลยรู้ฟอร์มเลยว่า ลำไหนพอจะเป็นตัวเกร็ง
พอถึงวันจริงต้องไปนั่งดูที่สนามหน้าเขื่อนเก่าตรงข้ามศาลหลักเมืองกันค่ะ ผู้คนจะหลั่งไหลมาจากทุกอำเภอ ยิ่งช่วงที่เรือของอำเภอตนลงแข่ง จะมีเชียร์ลีดเดอร์วัยดึก แต่งตัวหลากสีสันประชันกันแบบลืมอายุ น่ารักดี ทีวีท้องถิ่นก็ถ่ายทอดสดทั้งวัน พ่อค้าแม่ขายก็ขายของดีเป็นเทน้ำเทท่า เด็กวัยรุ่นก็จะพลอยมีอารมณ์ร่วมไปด้วย เรียกว่างานเดียวสร้างความครื้นเครง ถูกใจคนทุกวัยทั้งจังหวัดได้เลยค่ะ
เจ้าแม่ตาปีเป็นเรือดังมีชื่อเสียงของภาคใต้
บางปีขึ้นมาอาละวาดสนามภาคกลาง-เหนือ-อีสาน
พักหลังดูเงียบๆไป
ไม่ทราบว่าปัจจุบันเป็นยังไงบ้าง
เดี๋ยวนี้มีเรือดังใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย
แต่เเจ้าแม่ตาปีก็เป็นเรือระดับตำนานไปแล้ว