ศาสตร์พยาบาลเบิกบานที่สวนป่า

โดย sutthinun เมื่อ 25 ตุลาคม 2010 เวลา 20:33 ในหมวดหมู่ สวนป่าฮาเฮ #
อ่าน: 3052

(ทุกท่วงท่าใบหน้าระรื่นสดชื่นใสๆสไตล์พยาบาลสาวอุบล)

“อยากได้แกลบให้ไปโรงสี

อยากเป็นพยาบาลที่ดีชวนมาเรียนที่คณะพยาบาลศาสตร์ ม.อุบล”

ค่ายนักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลฯเที่ยวนี้ อุตลุดฟาร์มาซีจริงๆครับ สวนป่าแทบแตก เด็กวัยใสเบิกบานสำราญใจ ว่างเมื่อไหร่เธอก็จับกลุ่มเล่นสนุกสนาน ปลดระวางความตึงเครียดออกมาอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ผมหวังว่าอาจารย์คงจะเกตุเห็นตัวตนจริงๆของลูกศิษย์ ว่ามีศักยภาพผ่านการแสดงออกและกิจกรรมต่างๆพอสมควร การเรียนเชิงรุกสนุกและเหนื่อย แต่ก็คุ้มค่ากับการเห็นแววดีๆวับวาบขึ้นในตัวนักศึกษา 65 ชีวิต

(3ผู้อาวุโสสาธิตการเผาแกลบเป็นถ่านทำปุ๋ยปลูกไม้กระถาง)

กระบวนการที่จัดให้ค่ายนี้เน้นไปถึงเรื่องวิธีเรียนรู้ สุขภาวะชุมชน เจาะเข้าหาความรู้ในชุมชน ชวนคิดชวนมองวิถีชุมชนในมุมใหม่ๆ โดยเฉพาะการค้นหาผู้รู้ในชุมชน เป็นความโชคดีหลายชั้นนักศึกษารุ่นนี้ ที่บังเอิญมีจอมยุทธท้องถิ่นมาเยี่ยมสวนป่า พ่อทอง พ่อวิจิตร พ่อกว้าง ภูมิปัญญาท้องถิ่นขนานแท้ ได้สาธิตการเผาแกลบทำปุ๋ย ชวนพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เหนี่ยวโน้มกับนักศึกษาให้สนใจความรู้ในตัวคนได้อย่างสนุก พ่อวิจิตรเอาน้ำมันงาน้ำมันมะพร้าวและข้าวอินทรีย์มาโชว์ด้วย อธิบายถึงวิธีที่คิดค้นการได้มาด้วยสติปัญญาแห่งตน มีการทดลองใช้ได้ผลขจรขจายในระดับหนึ่ง ช่วยสะท้อนบริบทของผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างจะแจ้ง

ช่วยอธิบายในส่วนของความรู้ในตัวคน

(รับจากรถทัวร์พาลุยทุ่งกุลา พาไปชิมร้านระดับตำนานกลางทุ่ง)

บ่ายเมื่อวานมีการผ่าครึ่ง

แยกไปคุยกับคุณหมอจอมป่วนในอาคารกึ่งหนึ่ง

แยกมาคุยกับผมที่ร่มไผ่ครึ่งหนึ่ง

ต้องการให้นักศึกษาเชื่อมมิตรภาพในหมู่ผองเพื่อน

ชี้ชวนการมองตัวเองรู้จักตัวเอง..เจ้าเป็นไผ

ให้เลือกสิ่งที่ชอบมานำเสนอ

ทำให้เราได้ฟังเพลงไพเราะสนุกๆ

ได้ฟังเรื่องราวดีๆและเรื่องเศร้าเคล้าน้ำตา

หลายคนฉายแววผู้นำและเป็นนักกิจกรรมตัวยง

(จัดงานวันเกิดแบบง่ายๆฮาๆสุดแสนประทับใจ มีคุณทวดเต่าเป็นพะยาน

ขอขอบคุณหมอจอมป่วนและเจ้าหนูสิบล้อ ที่มาช่วยเรื่องกระบวนกรกระบวนการให้ผ่านไปได้สมใจปรารถนา มาคราวนี้สังเกตได้ว่าท่านจอมป่วนเสียงดังฟังชัดขึ้นมาก ผมบอกนักศึกษาว่า>> นี่ไงวิทยากรที่สละเวลามาพบพวกเรา ท่านบินมาจากญี่ปุ่น ลงเครื่องบินที่สุวรรณภูมิก็นั่งรถทัวร์ต่อมาที่นี่ ถ้าวัดระยะทางจากสนามบินนาริตะมาถึงสวนป่า เธอคิดดูเถิดว่าระยะทางกี่พันกิโลเมตร มาแล้วก็ยังกินง่ายนอนง่ายขยายความรู้ความคิด เมื่อคืนก็นอนขดอยู่หน้าจอทีวี ทั้งๆที่ต่างประเทศเชิญไปบรรยายทั่วโลกเขาต้อนรับระดับVIP.ทั้งนั้น >>แต่มาที่นี่..อุทิศกิริยาอาการทุกบริบทเป็นตำราสอนนักศึกษาให้เห็นกันจะๆ ว่าการผ่าตัดความเคยชินหรูหราในชีวิตประจำวันลงบ้างนั้น มันเบากายสบายใจมากกว่าการแบกหัวโขนมากนัก

ส่วนเจ้าหนูสิบล้อขอเอาวันหยุดมาช่วยงานนี้อย่างสมบุกสมบัน มีเรื่องให้ลุ้นระทึกตั้งแต่ซื้อตั๋วรถทัวร์ ขากลับจองได้เที่ยว5ทุ่ม ต้องไปรอลุ้นว่าจะมีผู้โดยสารสละสิทธิ์เที่ยว4ทุ่มไหม แล้วสวรรค์ก็มีตา มีคนมาไม่ทัน สิบล้อจึงได้กลับเร็วขึ้น ไปถึงคอนโดประมาณตี3 คราวนี้ตั้งใจจะมากินลาบปลา นักศึกษาช่วยกันทำเมนูลาบปลาดุกพร้อมกับผักสดเต็มถาด ป่านฉะนี้จะหายสะลึมสะลือหรือยังก็ไม่รู้ งานนี้ถ้าไม่ได้เจ้าหนูสิบล้อมาช่วย มีหวังเดินขาขวิดเป็นเลข8 นักศึกษามีมากวิทยากรมีน้อย การแบ่งกลุ่มจึงทำได้จำกัด

(สมาชิกใหม่สวนป่า ใครมาจะให้อุ้มเต่า อิอิ)

หลังจากส่งท่านผู้มาอุปการะความรู้แซ่เฮ

ระหว่างเดินทางกลับจะเข้าหมู่บ้านหนองเกาะ

เจอเต่าตัวหนึ่งเดินกุ๊บกั๊บๆมากลางถนน

จึงเปิดประตูรถลงไปอุ้มคุณ ต.เต่าหลังตุงตัวใหญ่

คงจะหนีน้ำท่วมที่ไหนสักแห่งหนึ่ง

มีคราบไคลตัวใหญ่หนักประมาณ 6..

วันนี้ตรงกับครบรอบวันเกิดของนักศึกษาชายหญิง2คน

เราเอาคุณทวดเต่ามาฟังเพลงแฮปปี้เบิร์ดเดย์ด้วย

เป็นการจัดงานวันเกิดที่มีเต่ามาร่วมครั้งแรกในโลก

(เรียนในห้องได้ความรู้/เรียนนอกห้องได้ความจริง)

วันนี้ไม่มีการเดินป่า นั่งล้อมวงคุยกันท่ามกลางแดดอ่อนที่ลมสงบนิ่ง เสมือนเป็นสัญญาณเตือนให้เรามองความเงียบ ความสงบภายใน ความสงบภายนอก เหมือนพระท่านว่า ความสุขใดเหนือความสงบเป็นไม่มี เป็นการเรียนนอกห้อง อยู่ในบรรยากาศโลกธรรมชาติ ชี้ให้นักศึกษาดูความรู้ที่ซ่อนอยู่ในธรรมชาติ จบลงด้วยการให้ไปเด็ดยอดหว่านง๊อก เอามาผัดทะกะร้อน เป็นความรู้ที่ชิมได้

ช่วยอธิบายในส่วนความรู้ที่อยู่ในธรรมชาติ

(เชิญชมลีลาวิทยากร และอรชรพยาบาล)

อิ่มแล้วมาล้อมวง เป็นรายการโยนไมค์อีกรอบหนึ่ง ได้รับฟังเรื่องราวดีๆจากนักศึกษาที่หมุนเวียนกันเล่า ซึ่งเป็นการบ้านที่ขอให้นักศึกษาช่วยกันบันทึกความรู้ความเห็นคนละ1หน้ากระดาษ โดยมีประเด็นการประเมินที่ได้ออกมาเรียนนอกสถานที่ และขมวดท้ายเรื่องเจ้าเป็นไผ ดร.สุรีย์ ธรรมิกกบวร คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ แจกใหนักศึกษาทุกคนอ่านช่วงปิดเทอม ต่อด้วยการวิธีปิดค่ายที่ได้หัวเราะกันจนปวดแก้ม เกมส์ทาแป้งตามจังหวะเพลงสนุกๆ ถ้ากระป๋องแป้งอยู่ในมือใครในช่วงที่เพลงหยุด จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่วิทยากรกำหนด เช่น บอกให้ทาแป้งตัวเอง ทาแป้งให้กัน ทาแป้งตามสั่งที่สนุกชื่นมื่น

ช่วยอธิบายในส่วนความรู้ที่อยู่ในหนังสือหรือตำรา


(เจอกล้องเป็นแยกยิ้ม ยิ้มกันจนแก้มปริ)

ก่อนกลับถ่ายภาพเป็นที่ระลึก

ปลูกต้นพระเจ้า 5 พระองค์

ได้ภาพประทับใจมาอวด

ท่านคณบดีติดตามชาวฮามานาน

ทราบธรรมเนียมกอดและขอกอดเป็นหลักฐาน

จัดเฮฮาคราวหน้าขอให้บอกด้วย

ท่านอาจารย์ สุรีย์ ธรรมมิกบวร จะมาร่วมเฮ

ถ้าเราไปเยี่ยมฤๅษีอ้นก็อยากจะไปด้วย

ช่วยอธิบายความรู้ความเข้าใจที่สืบเนื่องจากไอที

อาจารย์บอกว่า ปีหน้าจะพารุ่นน้องมาอีก - คณาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์รุ่นบุกเบิก/หัวใจเสริมใยเหล็ก

อิ อิ..อยากให้อุ้ย น้าอึ่ง อาราม ครูอึ่ง เห็นกับตาจังเลย

——————————————————————-

ข้อเสนอเล็กๆน้อยๆ : ในการผลิตพยาบาลชุมชน

· ควรพิจารณาเรื่องตามกระแสและทวนกระแส ถึงเป้าหมายของวิถีพยาบาลในประเทศไทย ที่เกิดสมองไหลเนื่องจากปริมาณความต้องการคุณพยาบาลค่อนข้างสูง จึงเห็นด้วยที่ควรจะสนับสนุนให้เกิดคณะพยาบาลศาสตร์ นอกจากเพื่อเชื่อมโยงกับพันธกิจคณะแพทย์ศาสตร์ในการเปิดโรงพยาบาลในอนาคตแล้ว อนึ่ง โรงพยาบาลชุมชนที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว รอรับบุคลากรทางด้านสาธารณะสุขอยู่แล้ว ทำให้สถาบันการศึกษาของรัฐฯและเอกชน มองจุดขายหรือตลาดรองรับที่ยังเปิดกว้าง อยู่ในสภาพผลิตมาเท่าไหร่รับไม่อั้น

· ทั้งที่รู้ว่าแนวโน้มทางด้านนี้แจ่มใส แต่นโยบายทางการวางแผนระดับชาติและระดับอื่นๆ แทนที่จะเตรียมต้นทุนพื้นฐานเพื่อรองรับการผลิตนักศึกพยาบาลก็ยังยักแย่ยักยัน ใครอยากเปิดก็ดิ้นรนเองจนหืดขึ้นคอ อาจจะเป็นเพราะมีความยุ่งยากมากกว่าการผลิตบัณฑิตสายอื่น ที่ทำง่ายกว่าสบายกว่า จึงตั้งๆๆเปิดๆๆกันจนเกลื่อน เด็กจบมาก็เตะฝุ่น ทั้งๆที่ถนนไร้ฝุ่นก็เหลือน้อยเต็มที ทำไมหนอ ไม่เอางบประมาณมาสนับสนุนการผลิตบัณฑิตสายที่ตลาดต้องการและขาดแคลนอย่างเป็นรูปธรรม ถามว่า >>มันยุ่งยากที่จะทุ่มเทผลิตบัณฑิตพยาบาลจริงหรือ มันเกินความสามารถของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจริงหรือ ถ้าอาจารย์พยาบาลขาดแคลน ทำไมไม่จัดจัดตั้งสถาบัน/หรือวิทยาลัยผลิตอาจารย์พยาบาลโดยเฉพาะ ทำไม่ได้ตรงไหน? มันยากกว่าการผลิตบัณฑิตไปเตะฝุ่นตรงไหน? รถไฟฟ้าเข้ายังจับยัดลงมุดดินได้ โธ่ๆๆ..

· หลักสูตรพยาบาลชุมชน ควรตีแตกในทุกมิติสังคมชนบท ถ้านักศึกษาพยาบาลมีสำนึกรักบ้านเกิด รักที่จะใช้ชีวิตอยู่กับพ่อแม่/เครือญาติของตน กลับไปทำการงานหน้าที่ในโรงพยาบาลชุมชนในสภาพแวดล้อมที่คุ้นชิน ลงมือปลูกพืชผักผลไม้และสมุนไพร แล้วนำมาใช้ในวิถีจริงๆ เช่น อาจจะส่งเสริมให้ชุมชนดื่มน้ำผลไม้แทนน้ำสีใส่น้ำตาลกระป๋อง ชวนมาทำมาน้ำปั่นผลเสาวรส หรือทำน้ำมะยม น้ำมะพร้าว น้ำอ้อยสด น้ำมะเม่า น้ำฝรั่ง น้ำมะเฟือง ฯลฯ ที่ทุกครัวเรือนปลูกเอง-ปรุงรสเอง-ดื่มเอง เพื่อสุขภาพของตนเอง หรือ ชวนกันปลูกผักยืนต้นซึ่งมีอยู่มากมายในชุมชน เช่น มะกอก มะกรูด มะนาว มะขาม มะดัน เพกา ผักติ้ว ผักเม็ก สะเดา มะรุม ฯลฯ เอาดอก-ยอด-ใบ-นำมาสู่ครัวและสำรับกับข้าว ชวนชาวบ้านทำเมนูอร่อยๆแปลกๆ ค่ายพยาบาลเที่ยวนี้ มีเมนูทำขนมเทียนแก้ว เด็กนั่งห่อขนมเทียน นึ่งขนมเทียน ชิมขนมเทียน อร่อยกันทั้งสวนป่า ยกเสริฟ์ไม่พอหยิบ..เสน่ห์ของงานเหล่านี้จะชี้ชวนให้นักศึกษาพยาบาลชุมชน เริ่มดวงตาเห็นธรรม เห็นความสุข ความงดงาม และความดีงามที่เธอจะเข้าไปปลูกฝังสุขภาวะในครัวเรือนอย่างบรรเจิด ปัญญหาอยู่ที่หลักสูตรและการเติมศักยภาพของลูกศิษย์ให้เพียงพอที่จะไปสู้งานอย่างมีชีวิตชีวา

· เรื่องบริบทเหล่านี้เรียนไม่จบง่ายๆหรอก นักพยาบาลชุมชน ไม่ได้ทำการดูและการเจ็บไข้ได้ป่วยเท่านั้น โรคทางสังคมก็ควรบรรจุเข้าไปในหลักสูตรด้วย เพื่อที่จะเตรียมความเป็นนักพัฒนาสังคมให้นักศึกษามีพื้นฐาน ในโรคทางสังคมอาจจะก้าวล่วงไปถึงอาชีพ หนี้สิน การทำบัญชีครัวเรือน การทำสวนครัว การนวด การอนามัยแวดล้อมฯลฯ ถามว่าพยาบาลชุมชนต้องทำขนาดนี้ด้วยรึ แหม ถ้าเราแนะนำชาวบ้านว่า นี่พ่อใหญ่แม่ใหญ่ ใบไม้ที่อยู่รอบๆบ้านเอามาสับเลี้ยงวัวควายให้อ้วนได้นะ ความรู้ใหม่ๆง่ายๆตรงๆที่ช่วยแก้ไขปัญหาการงานอาชีพให้ดีขึ้น ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ ชุมชนนั้นๆจะรักและชื่นชมคุณพยาบาล การยอมรับจะมีอานุภาพสลายกระแสการศึกษาเพื่อทิ้งถิ่น ไปหาเงิน หารายได้สูงๆ โดยไม่แยแสพ่อแม่พี่น้องที่ลำบากอยู่ข้างหลัง

· เรื่องการจัดการศึกษาให้สำนึกรักบ้านเกิด ที่ประเทศไต้หวันทำได้ดีมาก เด็กๆที่ไปศึกษาวิชาความรู้จบมาแล้ว เขาจะกลับมาช่วยพ่อแม่กอบกู้ชะตากรรมของครอบครัว เอาวิชาความรู้หรือวิทยาการใหม่ๆที่เหมาะสมมาใช้จริงในพื้นที่ของตนเอง ทดลอง-ปรับแก้-ให้วิธีทำงานมีประสิทธิภาพดีขึ้น เกิดผลดีมีรายได้งอกงาม มีเงินไปไถ่ถอนหนี้สินสมัยที่พ่อแม่เอาไปจำนองเพื่อส่งลูกเรียน ปัจจุบันครัวเรือนเกษตรกรของไต้หวันสามารถไถ่ถอนที่ดินกลับคืนพ่อแม่ตนเองได้ประมาณ80% เรื่องนี้ตรงกันข้ามกับการศึกษาของประเทศไทย ที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ยากจนและล่มจมเพราะส่งเสียลูกเรียน เรียนจบมาเตะฝุ่น จนเกิด Key Word:

ขายควาย ส่งควายเรียน จบมาเป็นบัณฑิตที่ไม่

รู้จักคุณควาย ไม่รู้จักบุญคุณพ่อแม่ เมินมองชุมชน

เอาแต่สนุกสนาน กลายเป็นพวกวาสนาปัญญา

ควายในที่สุด

· หลักสูตรพยาบาลชุมชน ควรจะเข้าไปเรียนในชุมชนตามความเหมาะสมเป็นระยะๆ เพื่อให้เกิดความตระหนักความมั่นใจ และพลังใจที่จะอยู่ในท้องถิ่นด้วยความภาคภูมิใจ ควรบรรลุวัตถุประสงค์ในระดับทำความเข้าใจแล้วพัฒนาเป็นความตั้งใจไม่อย่างนั้น คุณพยาบาลที่ผลิตออกมา ก็จะพากันเฮโลทิ้งถิ่นไปรับใช้คนนอก ไม่ต่างกับการขายควายส่งโรงงานลูกชิ้น แล้วเจ้าของควายจะเป็นลูกอะไร?

· ผมเชื่อว่าหลักสูตรพยาบาลชุมชนสามารถทำให้บรรลุนโยบายได้ ถ้าทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน ช่วยกันวางหางเสือให้ถูกทิศถูกทาง เรื่องนี้คุณอาจารย์พยาบาลนั่นแหละเป็นตัวอย่างที่ใกล้ตัวใกล้ใจที่สุด ถ้าอาจารย์มองไม่เห็นจุดเด่น/ทิศทางการผลิตบัณฑิตสายพันธุ์ชุมชน จะเกิดการปีนเกลียว ไม่รู้ที่จะสอนจะลงไปชุมชนอย่างไรถึงจะนุ่มและเนียน ตรงจุดนี้คณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลฯ คงจะเป็นแบบอย่างได้ในอนาคต จึงขอให้กำลังใจ ..นักศึกษาพยาบาลที่นี่จะมีใจให้ท้องถิ่น รักชุมชน ดูแลเครือญาติให้อยู่ในมิติ “ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ”

> > อยากได้แกลบให้ไปโรงสี อยากเป็นพยาบาลชุมชนที่ดี

มุ่งมาเรียนที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

* จะมีการประชุมคณะกรรมการด้านกำลังพลกระทรวงสาธารณะสุข วันที่ 22 พฤศจิกายน ถ้ามีข้อเสนอแนะใดๆ ยินดีรับฝากการบ้าน ครับผ๊ม !

* เสียดายแทนชาวพยาบาลที่เพิ่งกลับไป เช้านี้เห็ดปลวกออกครึดข้างอาคารหลังใหญ่ โธ่ๆ ไม่กี่ชั่วโมงแท้ๆ ขออนุญาตเป็นยายฉิมเก็บเห็ดแทนก็แล้วกันนะครับ

« « Prev : น้ำท่วมเที่ยวนี้ ทดสอบว่าไทยเข้มแข็งแค่ไหน?

Next : พยาบาลไปหลวงพ่อมา » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

7 ความคิดเห็น

  • #1 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 ตุลาคม 2010 เวลา 0:23

    “ความสุขใดเหนือความสงบเป็นไม่มี” — เป็นจริงอย่างยิ่งยวดโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่เขียนโปรแกรมครับ

    นาเป็นยังไงบ้างครับ

  • #2 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 ตุลาคม 2010 เวลา 5:17

    อากาศผันผวน ร้อนๆหนาวๆ
    น้ำกำลังมา แปลกตรงที่ทำไมไหลช้ามาก
    ท่วมมาเรื่อยๆ จ่อเข้ามาแล้ว
    ทุ่งกุลาร้องไห้ คงเป็นทะเลน้ำอย่างที่คาด
    -น่าสนใจ น่าติดตาม ก็ที่อุบล ปีนี้คงได้บันทึกประวัติน้ำท่วมไว้แน่ๆ
    -อาหารการกินแพงมาก ผัก/ปลา ทุกอย่างจะแพงไปอีกหลายเดือน
    /มีข่าวภูเขาไฟ ที่อินโดนีเซียอาจจะระเบิด/เริ่มอพยพผู้คนแล้ว เคยปะทุมาแล้ว
    /ยังมีข่าวแผ่นดินไหวที่เกาะสุมาตราตามมาอีก โลกกาจะไหวหวั่นเสียละมั๊ง
    /พักผ่อนบ้างนะครับ
    /ประมาณวันที่ 30 คงไปกทม.1-2 พ.ย.จะไปลาว ครับ

  • #3 dd_l ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 ตุลาคม 2010 เวลา 7:43

    อยากมา..อยากมา..แต่ว่าหาเรือไม่ได้ค่า..
    เช้านี้ หมอกลงหนา มองไปทางสนามเห็นหมอกขาวโพลนไปทั่ว
    อารามและภารโรงปรับปรุงขอบสระน้ำ ได้พื้นที่มาหว่านเม็ดผักแปลงยาวเท่าความยาวของอาคาร ผักเริ่มงอกบ้างแล้ว
    กำลังมีโครงการปลูกถั่วฝักยาว รอให้ดินหายแฉะแล้วคงต้องช่วยกันปลูกผักต่อค่ะ
    เมล็ดพันธุ่ผักที่เอาไปฝากคนหงสา คงงอกงามเช่นกันค่ะ ครูบา

  • #4 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 ตุลาคม 2010 เวลา 7:51

    ดูข่าวทีวี บอกว่า ลำพูนหนาวแล้ว แหม ชิงตัดหน้าหนาวไปเสียแล้ว
    ขอให้ผักงามๆ
    ปีนี้ข้าวยากหมากแพง หมากแพงไม่เป็นไร แต่อย่างอื่นแพงเดือดร้อน
    จะเริ่มปลูกเหมือนกัน โดยเฉพาะน้ำเต้า
    จะทำคอกเลี้ยงแพะ แกะ กวาง ได้ลูกแล้วจะเอาไปแบ่งเด็กๆของครูเมษาเลี้ยง อิ อิ

  • #5 อุ๊ยสร้อย ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 ตุลาคม 2010 เวลา 9:22

    ดีใจกับพี่ๆ (?? มีไหมอ่ะ…อิอิ) และน้องๆร่วมวิชาชีพค่ะ

    ที่เชียงใหม่ยังไม่หนาว ให้ลำพูนตัดหน้าไปก่อน…
    ครูบาไปลาว แขวงไหนคะ

  • #6 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 ตุลาคม 2010 เวลา 9:55

    ไปเวียงจันทร์ นอนคืนวันที่ 1 กลับวันที่ 2
    บินไปไม่เห็นอะไรหร๊อก จึงอิจฉาคณะที่ไปหงสาไม่หาย
    ได้ขับรถไปอย่างสนุก อิ

  • #7 sunshine ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 กุมภาพันธ 2011 เวลา 22:44

    น้องๆพยาบาลสดใสน่ารักจัง คงจะเป็นพยาบาลที่ดีของชุมชนในอนาคตต่อไป


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.074378967285156 sec
Sidebar: 0.063013076782227 sec