แนวคิดผลิตตำราสไตล์เฮฮาศาสตร์

โดย sutthinun เมื่อ 21 กันยายน 2010 เวลา 7:16 ในหมวดหมู่ สวนป่าฮาเฮ #
อ่าน: 1195

เมื่อวานนี้มีอาจารย์มาหารือเรื่องการเรียนการสอนนักศึกษาทุกระดับในมหาวิทยาลัย พื้นฐานเดิมก็ดูดีมีความเหมาะสมตามที่ได้รับการอนุมัติหลักสูตรจาก สกอ. คณะ/ภาควิชาก็ต้องสอนไปตามนั้น ก็น่าจะจบถ้าไม่คิดอะไรให้ป่วนจิต แต่ถ้ายอมเหนื่อยนิดหน่อยนั่งเกาคางใจเย็นๆ จะเห็นว่ามันชักจะเฉื่อยๆ ในเมื่อโลกและสังคมเปลี่ยนแปลง เราจะย่ำเท้าซ้ำรอยเดิมก็กระไรอยู่ ที่น่ากลัวบางภาควิชายังไม่ได้รับการอนุมัติหลักสูตร ก็ทำแบบอีแอบสอนกันแล้ว ดังกรณีหลักสูตรพยาบาลที่เกิดขึ้นเมืองย่าโม ไม่เท่านี้หรอกนะ ยังแอบเม้มกันอยู่อีกหลายแห่ง  พูดไปก็ไลย์บอย ปล่อยให้ตุ๊บต้อมๆกันไปตามกรรม

แต่เรื่องที่น่าสนใจก็คือการเปิดหลักสูตร ป.เอก ในมหาวิทยาลัยขนานใหญ่ ถามว่ามีความพร้อมแค่ไหน มันก็ไอ่แค่นั้นแหละ จะเปิดเสียอย่าง เปิดเพื่ออะไร เปิดยังไง ก็คงรู้ๆกันอยู่ ผีถึงป่าช้าจะทำอะไรได้ ก็ได้แต่เห็นใจหาทางผ่อนหนักเป็นเบา ให้ข้อคิดไปว่า..น่าจะปรับวิธีการเรียนการสอน พานิสิตตระเวณเดินสายเรียนไปพบปะผู้สันทัดกรณี องค์กร หรือสถาบันต่างๆ แทนที่จะมาเรียนแบบเชิญอาจารย์จากส่วนกลางไปสอนๆๆๆ มันไม่พอเพียงที่จะเติมเต็มให้กับว่าที่ดร. การเพิ่มต้นทุนให้กับลูกศิษย์จะออกแบบยังไง เปลี่ยนแปลงจากเดิมได้อย่างไร ในฐานะคนนอกก็จะมองว่า วิธีเรียนเป็นอย่างไร การเรียนเป็นแบบไหน เหมาะสมและเพียงพอแล้วหรือยัง

อีกปัญหาหนึ่งที่บ่นกันมาก ได้แก่การเขียน นักศึกษายุคนี้เขียนไม่ออก เขียนไม่ลื่น เขียนไม่ได้สาระ ขมวดปมไม่เป็น คั้นกระทิของเรื่องไม่ออก ผสมปนเปทั้งหัวทั้งหางกะทิมาให้อาจารย์ อาจารย์อ่านแล้วก็โยนให้ปรับแก้กันใหม่ เป็นอย่างนี้อยู่หลายรอบ อุ้ยเองก็บ่นๆๆๆเรื่องนี้ ปัญหาบางส่วนอาจจะมาจากวิธีเรียนที่มีเนื้อหาไม่สมบูรณ ต้นทุนของนักศึกษามีน้อย ไม่ยอมฝึกฝนการอ่านการเขียนเท่าที่ควร เอาแต่โฟนอินกับค้นในเ็น็ต สังเกตุดูเถิด ถ้านักศึกษาเขียนบล็อก จะทำการบ้านและมีช่องทางช่วยตัวเองได้ดี ดังนั้นการเขียนบล็อกจึงมีประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการเรียนรู้

ไอสไตน์ บอกว่า “สติปัญญาไม่ได้มาจากการเรียนในห้อง แต่มาจากการค้นคว้าแสวงหาตลอดชีวิต”

นักศึกษาแต่ละคณะแต่ละภาควิชา อาจารย์ก็คงจะแนะนำหนังสือให้ไปอ่านอยู่แล้วว่ามีกี่เล่มกี่เรื่องกีีมากน้อย แต่ถ้าได้อ่านหนังสือนอกเหนือจากที่อาจารย์แนะนำก็ยิ่งดี ใช่ไหมครับ นักศึกษาควรจะได้อ่านหนังสือประกอบที่ใหม่ๆสดๆกันมากๆ โดยเฉพาะหนังสือที่รวมเรื่องราวในไทยและเขียนโดยคนไทย อาจจะเรียกว่าตำราฉบับไทย แต่หนังสือที่ว่านี้อยู่ที่ไหนละ? หนังสือเชิงวิชาการพอหาได้ แต่หนังสือเชิงวิชาเกินที่เกิดจากประสบการณ์ตรงหายาก

ผมนึกถึงหนังสือที่ท่านบางทรายกำลังจะจัดพิมพ์

หนังสือของคุณหมอจอมป่วน

หนังสือที่ท่านอัยการเขียนช่วงเรียน สสสส1

หรือแม้แต่หนังสือเจ้าเป็นไผ

หรือหนังสือ นี่ไงครูแห้ว?

หนังสือเหล่านี้แนะนำให้นักศึกษาอ่านประกอบได้เลยเชียวแหละ

จะอ่านรวมๆหรือเลือกอ่านตามเนื้อหาที่สืบเนื่องการเรียนก็ย่อมได้

ผมจึงยุ เทวดา-เบริด์-อุ้ย-ครูอึ่ง-หมอเจ๊-อาว์เปลี่ยน-ออต-ป้าหวาน  ฯลฯ คัด-เขียน-เพื่อพิมพ์รวมเล่ม

อาจจะเขียนคนละครึ่งเล่มแล้วรวมกันพิมพ์

หรือจะพิมพ์เดี่ยวก็ดีทั้งนั้นแหละ

เร็วนี้หนังสือที่ท่านบางทรายจะเป็นตำราให้นักศึกษาทั่วประเทศด้านการพัฒนาอ่านประกอบการทำวิทยานิพนธ์

จึงขอส่งการบ้านผ่านเทวดา จะได้รวดเร็วในการเตรียมต้นฉบับ


คำนิยม หนังสือ”เรื่องเล่าจากดงหลวง”  โดยบางทราย

การแกะรอยประสบการณ์ชีวิตเป็นเรื่องยาก แต่การตามรอยบันทึกของอาจารย์ไพศาล ช่วงฉ่ำ ได้เปลี่ยนความยากมาเป็นความอยากได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะผู้อ่านจะได้พบสิ่งที่หาได้ยากยิ่งในหนังสือหรือตำราเล่มอื่น ทุกตัวอักษรกระโดดออกมาตำตาตำใจผู้สนใจงานพัฒนาชนบทไทย เรื่องราวจากวิถีชนบทสดๆมีอานุภาพมหาศาล ที่ผู้เขียนไปสัมผัสอย่างถึงแก่น ถ้าสังเกตุเราจะเห็นเบื้องหลังของการทำงานที่เร้าระทึก

คนที่ตั้งใจเก็บเกี่ยวเนื้อหาอย่างละเอียดละออ

คนที่ออกแบบการบริหารข้อมูลได้อย่างแวดล้อมทุกมิติ

คนที่สามารถอธิบายด้วยระบบสารสนเทศไอที

คนที่นำเสนออย่างตรงไปตรงมายิ่งกว่าไม้โปรแท๊กเตอร์

นับตั้งแต่ได้รู้จักหนุ่มใหญ่ท่านนี้ ผมมีเรื่องอยากจะซักถาม มีประเด็นอยากจะคุยด้วยมากมาย ถึงจะได้พบกันบ้าง ร่วมกิจกรรมกันบ้าง แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวสิ่งที่ตั้งใจหวัง ทำได้เพียงตามอ่านในบล็อกลานปัญญา ยิ่งอ่านยิ่งนำพาให้หัวใจคันคะเยอ ความรู้ในตัวคนสามารถดูแบบอย่างได้จากหนังสือเล่มนี้ วันที่ทราบว่าบางทราย ของชาวเฮฮาศาสตร์ รวบรวมร่องรอยชีวิตการงานมารวมเล่ม นับเป็นเรื่องยินดีอย่างยิ่งสำหรับแฟนพันธุ์แท้อย่างผม ที่มองไปถึงว่าประเทศนี้จะมีตำราให้นักศึกษาและนักพัฒนา ได้ถือเป็นแนวทางในการค้นคว้าและศึกษาต่อยอดต่อไป

พี่น้องชาวไร่ชาวนาเป็นหนูลองยาหลายขนาน

บางกลุ่มดื้อยา บางกลุ่มดื้อตาใส

บางกลุ่มตัดสินใจเปลี่ยนสถานะจากเกษตรกรไปเป็นกรรมกร

ชีวิตและสังคมแห่งยุคสมัยปีนเกลียวน่าสนใจไหมละครับ

หนังสือที่เป็นแบบฉบับของการพันตูงานอย่างทรหดนี้ เป็นเสมือนจดหมายเหตุของชายคนหนึ่ง ที่รับผิดชอบความเป็นไปของงานพัฒนาท้องถิ่นอย่างเต็มสติปัญญา ถ้าท่านใดต้องการศึกษาวิถีชนบทช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ภายใต้คำที่ว่า เร่งรัดพัฒนาชนบท จะสมประโยชน์อย่างยิ่ง ผมไม่มีวิธีที่จะอธิบายเรื่องเหล่านี้ให้กระจ่างได้ เว้นแต่ท่านจะได้อ่านสิ่งที่ผู้เขียนเก็บมาร้อยเรียงไว้ ทำไมผมจึงดีใจกับทุกท่านที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เหตุผลอยู่ในหน้าถัดไปจนถึงหน้าสุดท้าย เชิญค้นหาความรู้อย่างมีความสุขได้ ณ บัดนี้

สุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์

มหาชีวาลัยอีสาน

20 กันยายน 2553

« « Prev : มหาวิทยาลัยขอนแก่น&มหาชีวาลัยอีสาน

Next : ฤๅษีกับครูมาดูงาน » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

7 ความคิดเห็น

  • #1 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 กันยายน 2010 เวลา 9:27

    ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับพ่อครูบาฯ ผมจะเอาส่งไปให้ท่านรองเลขา ส.ป.ก. ต่อไปครับ

  • #2 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 กันยายน 2010 เวลา 11:28

    เรื่องเล่าจากดงหลวง
    เป็นหนังสือที่อ่านแล้วจะเกิดความรู้สึกทะนุถนอมตามมา
    เข้าใจและเห็นใจในความเหนื่อยยากค่อนครึ่งชีวิต
    ทำยังไงนะ ถึงเก็บได้หมดจดเหลือเกิน
    กลิ่นไอของการประณีตบรรจงในการเก็บงานนั้นถือว่าสุดยอดจริงๆ

    เรื่องเด็ดๆผ่านประการณ์อัดแน่นในเล่มจนแทบระเบิด
    ผมจะเริ่มเอาต้นฉบับที่ส่งมาติดตัวไปอวดนักศึกษา ป.เอก วันที่ 3 เดือนหน้า
    เผื่อนักศึกษาและอาจารย์จะได้เกิดแรงบันดาลใจเหมือนผม

    เรื่องเล่าจากดงหลวง จะเป็นคำภีร์ให้นักวิชาการและนักพัฒนาชั้นหลังได้เจริญรอยตาม
    ความหนาของหนังสือ หยิบมาอาจจะดูมีน้ำหนัก
    แต่ความหนักแน่นของสาระความรู้ภายในเล่ม ทำให้หนังสือเล่มนี้น้ำหนักเบาอย่างน่าอัศจรรย์
    อ่านแล้ววางไม่ลง
    ผมนะ ยืดเชียวแหละ ที่ได้รู้จักนักเขียนหนังสือเล่มนี้
    ขอบคุณมากที่มอบสิ่งดีๆให้เพื่อนมนุษย์

  • #3 อุ๊ยสร้อย ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 กันยายน 2010 เวลา 11:41

    ตอนนี้เลิกบ่นแล้วค่ะ…อิอิ

    ยินดีกับพี่บางทรายค่ะ

  • #4 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 กันยายน 2010 เวลา 11:55

    รอๆๆๆๆของอุ้ย เชียร์สุดใจขาดดิ้น อิอิ
    เรื่องที่เคยเล่าเกี่ยวกับแพทย์แผนพม่า ก็สุดยอด
    เรื่องในวงการพยาบาล ก็เยี่ยม
    เรื่องที่แทรกสุขระคนซ่าส์ก็แจ่มนะ
    จะได้เอาไปให้นักศึกษาพยาบาลอ่านๆๆๆๆ

  • #5 sompornp ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 กันยายน 2010 เวลา 17:02

    แต่ละเรื่องราว แต่ละความคิดของพี่น้องในลานปัญญา ล้วนเป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่ผ่านกระบวนการหลอมใจของแต่ละคน น้าสนับสนุนให้หลาย ๆ ท่านเพื่อจัดพิมพ์เผยแพร่เพื่อให้เห็นความหลากหลายในมุมมองของสังคมที่มีบุคคลหลายสาขาอาชีพมารวมกัน

    ท่านใดที่ไม่สามารถเขียนรวมเป็นเล่มเดียวได้ เราก็สามารถเลือกเรื่องราวที่แต่ละท่านเขียน มาทำเป็นเล่มก็ดีนะคะ เราอาจจะไม่มีไผ 3 แต่เป็นเรื่องของพี่น้องในลานฯ ตั้งชื่อหนังสือเป็น
    “ลานปัญญา : ……..ชื่อเรื่องราวที่ต้องการนำเสนอ……”
    ถ้ามีเล่มใหม่ เราก็ใช้ “ลานปัญญา : ………” โดยใช้ลานปัญญา เป็นจุดขาย(อิอิอิ บรรเจิดอีกแล้ว)

    เรื่องราวดังกล่าวจะเป็นการเผยแพร่มุมมองของคนอีกกลุ่ม ต่อตนเอง ต่อชุมชน ต่อสังคม ต่อ ฯลฯ
    โดยพิมพ์แต่ละครั้ง 1,000 เล่ม ก็น่าจะไหว (คริคริคริ) เพราะไปไหน เราก็นำไปเผยแพร่ เล่าสู่กันฟัง เราขายราคาไม่ต้องแพง ให้คนทุกระดับ นักเรียน นักศึกษา ฯลฯ ซื้อได้ อ่านคล่อง (100, 120 บาท) ยิ่งคนเขียนมีโอกาสได้ไปพบปะ หรือพ่อยก แม่ยก ป้ายก น้ายก ครูยก อุ๊ยยก ฯลฯ นำไปเผยแพร่ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการอ่าน ก็เป็นเรื่องที่ดีทีเดียวค่ะ

    การเขียนของชาวลานฯ อาจจะเป็นการจุดประกายให้หลาย ๆ คน กล้าที่จะเขียนในเรื่องราวของตัวเองแบบง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน อาจเพิ่มจำนวนคนอ่าน คนเขียนหนังสือมากขึ้นก็ได้ ช่วยชาติอีกแรง 55555555

    จบดื้อ ๆ แหละ เพราะเขียนมากเดี๋ยวเข้าตัวเอง
    อิอิอิ

  • #6 ป้าหวาน ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 กันยายน 2010 เวลา 7:50

    ป้าหวานมีอีกแนวหนึ่งค่ะ เรามีหลายๆบันทึกในลานอยุ่แล้วเป็นประจำ บันทึกที่อนุญาตให้เผยแพร่น่าจะอนุญาตให้พิมพ์ได้ แต่ถ้ายกเว้นน่าจะระบุว่าขอเผยแพร่เฉพาะบนลานปัญญา ( คุณรอกอดเคยบอกว่า อยู่บนลานปัญญาก็เท่ากับเผยแพร่เพราะค้นจากกูลเกิ้ลได้ ทำนองนั้นนะคะ ) เรามาทำช่องลงคะแนนไว้ที่แต่ละบันทึก( จะเป็นรูปแบบใด ลับ ไม่ลับ คิดอีกทีนะคะ )ว่าใครอยากให้พิมพ์เรื่องนั้นๆบ้าง ตรงนี้อาจดูจากจำนวนคนอ่านก็ได้ แต่ป้าหวานว่าไม่ใช่การแสดงเจตนา จำนวนคอมเม้นต์ก็ไม่ใช่การแสดงเจตนา หรือเราจะทำการคัดเลือกโดยใช้อะไรเป็นบรรทัดฐาน ไม่อยากให้เป็นใครคนใดหรือ 2-3 คนเลือกมาค่ะ อยากให้ผู้เข้ามาอ่านมีส่วนร่วม เสร็จแล้วเรากำหนดคะแนนไว้ว่า ถ้าเรื่องใดมีคะแนนเข้าเกณฑ์ เรื่องนั้นเราจะพิมพ์ แล้วเราก็พิมพ์ราย 3 เดือน หรือ ราย 6 เดือน เป็นต้น ปีหนึ่งก็จะมีลานปัญญา 1-3 เล่ม เรื่องที่ลงก็เป็นเรื่องที่ชาวลานปัญญา และหรือ ผู้อ่านอยากให้ลง แล้วการเอาออกมาพิมพ์รวมเล่มของแต่ละท่านก็เป็นอีกแบบหนึ่ง 2ท่านต่อเล่ม หรือ 3 ท่านต่อเล่ม ก็เป็นอีกแบบหนึ่งค่ะ

    ปล.เมื่อวานป้าหวานขอประทานโทษพ่อครูเป็นอย่างสูงค่ะ มีการทำบุญเลี้ยงพระ อุทิศส่วนกุศลให้คุณย่า เลยไม่มีโอกาสได้พบพ่อครูเลย เสียดายมากค่ะ

  • #7 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 กันยายน 2010 เวลา 8:48

    การพิมพ์ตามวาระต่างๆที่ผ่านมา เป็นเพียงจุดเริ่มต้น
    ที่จะนำไปสู่เราจะทำอะไรได้อีก หรือ แล้วยังไงต่อละ
    ถ้าไม่มีจุดเริ่ม ก็ไม่มีจุดร่ายาว
    ข้อเสนอดีๆ จะนำไปสู่การคิด-ทำเรื่องดีๆ
    เราจะคิดทำหนังสือดีกันเมื่อไหร่
    ที่ผ่านมา เป็นการนำร่องบางรูปแบบ
    เพื่อหาแบบ หารูป ที่เหมาะแห่งยุคสมัย
    ขอขอบคุณทุกความเห็น
    ถ้าอ่านแล้ว คันในหัวใจ๊กว่ามา
    อยากจะให้ทุกท่านทำใจจะขาดอยู่แล้ว


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.88693690299988 sec
Sidebar: 0.34592700004578 sec