วันระพีเสวนา
อ่าน: 3529เกริ่นนำ
โครงการระพีเสวนาเกิดจากแรงบันดาลใจในปฏิปทาของศาสตราจารย์ระพี สาคริก ที่ได้ทุ่มเทแรงจิตแรงใจให้กับกระบวนการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงวิถีชีวิตการเกษตรเข้ากับหลักพุทธธรรม อันนำไปสู่การเข้าถึงคุณค่าของการขัดเกลาจิตใจตนเอง ..โดยหัวใจสำคัญที่ท่านเน้นอยู่ที่การเรียนรู้เพื่อการเอาชนะใจตนเองให้หลุดพ้นจากความถือตนและยึดติดวัตถุ ซึ่งท้ายที่สุดคือจิตใจที่มีความเป็นไท..
การเรียนที่ติดกรอบระบบการศึกษาในปัจจุบันที่มุ่งเรียนวิชาเพื่อใช้เป็นบันไดไปสู่ความสำเร็จทางวัตถุของงชีวิต นำมาซึ่งความทุกข์ของผู้เรียนและสังคม ..หากการเรียนเอาวิชาเป็นตัวตั้งจะก่อเกิดความทุกข์ แต่หากนำชีวิตเป็นตัวตั้งการศึกษาจะกลายเป็นการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งและมีความสุข แนวคิดนี้ได้รับการตอบรับจากการศึกษาทางเลือก..
ดังนั้นเพื่อเป็นการบูชาแด่ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ปูชะนียาจารย์ท่านสำคัญของวงการศึกษาไทย ..โครงการระพีเสวนาจึงจัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีผสมผสานภาคีเครือข่ายที่เกิดขึ้นของกลุ่ม องค์กร และสถาบัน ต่างๆ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน//
มหาชีวาลัยอีสานเป็นพันธมิตรกับชาวรุ่งอรุณมานาน ชื่นชมในการเป็นผู้นำวิธีคิด วิธีเรียน และวิธีปฏิบัติ ในแบบแผนเชิงเอกลักษณ์สไตล์รุ่งอรุณด้วยความชื่นชมยินดี ทุกครั้งที่ได้ไปเยี่ยมก็เห็นได้ชัดว่ามีอะไรให้อึ้งกิมกี่ไม่ซ้ำกัน ได้เก็บมาเล่าให้เครือข่ายที่รู้จักฟัง รุ่งอรุณเขายังงั้น เขายังงี้ แค่ได้เล่าถึงก็ปิติสุขได้ มาบัดนี้ได้รับจดหมายน้อยให้ไปร่วมงานวันระพีเสวนา รู้สึกยินดีเหมือนปลากระดี่ได้น้ำ เข้ากับสภาพน้ำหลากที่ท่วมท้นบุรีรัมย์ในขณะนี้
ผมรีบกระจายข่าวไปถึงชาวปูนซีเมนต์ กลุ่มผลิตภัณฑ์กระดาษ ซึ่งมีการบ้านที่จะทำร่วมกันไปเป็นภาคีร่วมแสดงฝีมือในครั้งนี้ด้วย ตั้งใจว่าเราจะหารือวิธีสะท้อนเรื่องราวผ่านการจัดบอร์ดในวันงานดังกล่าว ให้มีหน้าตาบ่งบอกถึงตัวตนในสไตล์มหาชีวาลัยอีสานอย่างไร
นอกจากเรายังปูดข่าวไปถึงเครือข่ายลานปัญญา ที่เกาะกลุ่มกลมเกลียวกันในนามคนแซ่เฮ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าชาวเฮฮาศาสตร์ ได้เคยพาบางส่วนไปเยี่ยมโรงเรียนรุ่งอรุณในวันปาฐกถาเมื่อปีที่แล้ว ในวันระพีเสวนาเราจะชวนเพื่อนกลุ่มดังกล่าวมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย อนึ่ง ถ้านักศึกษาหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุขว่าง จะเสนอให้มาร่วมงานดังกล่าวด้วย
ที่มา แนวคิด แนวปฏิบัติ
มหาชีวาลัยอีสาน เป็นกลุ่มงานชาวบ้านที่ปักหลักแก้ไขปัญหาด้วยปัญญาอย่างหัวเห็ด มองว่ากระแสโลกาภิวัฒน์นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมชนบทอย่างกระแทกกระทั้น ไม่ได้รับการศึกษาให้รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง จึงติดโรคบริโภคนิยมกันทั่วหน้า เกิดอาการสำลักความเจริญ มีความเสื่อมตามมาทุกรูปแบบ ทุกคนสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ แต่ไม่ทราบว่าจะแก้ไขกันอย่างไร สุดท้ายก็ไม่มีความรู้ที่จะอยู่ในท้องถิ่น กลายเป็นยิปซีเร่ร่อนไปทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน เปลี่ยนสถานะจากเกษตรกรไปเป็นกรรมกร ทิ้งชุดความรู้เดิม ไปแสวงหาทักษะชีวิตใหม่เหมือนไฟล้นก้น มีผลให้สังคมเกิดอาการจับต้นชนปลายไม่ถูก วิธีคิด จิตใจสับสนอลหม่าน ตอบไม่ได้ว่าจะวางอนาคตตนเองไว้ที่ไหน ตัวเองรู้อะไร ถนัดอะไร มีทักษะอะไร ถามเมื่อไหร่ก็ใบ้กินแบะๆ
ประเด็นนี้: มหาชีวาลัยจึงสนใจเรื่องกำหนดใจตนเอง ถามตัวเองว่าเจ้าเป็นไผ เกิดมาทำไม มีหน้าที่อะไร ทำแล้วหรือยัง?
มหาชีวาลัยอีสาน เห็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมท้องถิ่นอย่างสับสนอลหม่าน ชาวบ้านถูกล้างสมองผ่านโครงการอบรม ผ่านสื่อ ผ่านการดำเนินชีวิตแบบมนุษย์พันธุ์ใหม่ อยากรวยมากๆ ง่ายๆ เร็วๆ แต่ไม่สนใจการใฝ่เรียนใฝ่รู้ ไม่ยอมสู้สิ่งยาก ผลลัพธ์ไปออกที่วิถีชุมชนที่นับวันจะยุ่งเหยิง
ประเด็นนี้: มหาชีวาลัยฯ จึงสร้างโลกตนเอง เพื่อตอบคำถามเรื่อง ถ้าจะอยู่ได้อยู่รอดจะต้องรู้อะไร
เราทำการบ้านแบบลองถูกลองผิด คลานบ้าง เดินบ้าง วิ่งบ้าง หกล้มคลุกคลานกับการเรียนรู้แบบอิงระบบนี้ เสียเวลา เสียรู้ เสียโอกาสไปบ้าง แต่เราไม่เคยเสียสถานะของผู้เรียน เพราะยิ่งเรียนก็ยิ่งโง่ มองเห็นความไม่รู้ของตนเองชัดเจนขึ้น ว่าแท้ที่จริงแล้วความรู้ที่เรามีน้อยนิดนี้ ยังไม่เพียงพอที่จะดูแลตัวเองและสังคมให้อยู่รอดได้
ประเด็นนี้: ได้คำตอบว่าไม่มีอะไรสูญเปล่า ผิดก็ได้เรียน ถูกก็ได้เรียน ควรเรียนทั้ง2ด้าน
สื่อต่างๆ ความเจริญ ความรวดเร็ว แทนที่จะมาช่วยเสริมสร้างสังคมให้ปกติสุข ผลลัพธ์ออกมาตรงกันข้าม สังคมแตกแยก น้ำจิตน้ำใจหายาก คนเห็นแก่ตัวมากขึ้น ต่างคนต่างคิดที่จะเอาตัวรอด รวมทั้งการศึกษา แทนที่จะช่วยกันดูแลฟื้นฟูโรงเรียนใกล้บ้าน กลับพาลูกหนีไปเข้าโรงเรียนดีๆในเมือง ลอยเพสถานศึกษาในท้องถิ่น หลักสูตรที่สอนก็ไม่ได้เอื้ออวยต่อความเป็นจริงในท้องถิ่น เรียนวิชาต่างๆมากมายแต่ได้ความรู้น้อย โดยเฉพาะความคิดแทบไม่ได้สอนกันเลย เด็กเบื่อเนื้อหาหลักสูตร เบื่อครู เบื่อโรงเรียน แล้วเราจะทำอย่างไร
ประเด็นนี้: ใหญ่และยากมาก เราพยายามทดลองหลายรูปแบบ ตั้งแต่ระดับประถม-มัธยม-อุดมศึกษา แต่ก็ล้มไม่เป็นท่า ข้อนี้ยอมรับว่าตัวเองกึ๋นไม่พอมีปัญญาจำกัด ต้องกินน้ำใบบัวบกอีกหลายหม้อ และทบทวนตนเองอีกยาวนาน
สิ่งที่พอเป็นไปได้ เรารวบรวมเอาสิ่งที่เป็นประสบการณ์ตรง มาเป็นเนื้อหาในการอบรมชาวบ้าน จัดค่ายเรียนรู้ จัดสัมมนาให้กลุ่มผู้สนใจ พยายามพัฒนากระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้มีศักยภาพมากขึ้น แต่เราก็ยังขาดความพร้อมด้านปัจจัยพื้นฐาน เช่น ที่พัก โรงอาหาร ลานกีฬา ห้องน้ำ การจัดค่ายเรียนรู้จึงขาดๆเกิน เราไม่รู้จะร้องเพลงอะไร ประเทศนี้มีแนวทางบังคับไว้ คนที่ทำงานด้านนี้ต้องไม่แสวงหาผลกำไร ได้ยึดตามนโยบายที่ว่านี้ เราจึงตกอยู่ในสภาพนี้ ไม่เจริญเท่าที่ควร สาหัสกับการพัฒนาสังคมจนแทบเอาตัวไม่รอด ถ้าไม่มีทุนเดิมที่บรรพบุรุษทิ้งไว้ให้บ้าง คงบอกเลิกศาลาไปแล้ว จนนิ่ง จนกรอบ สิ้นไร้ไม่ตอก การควักกระเป๋าตัวเองพัฒนาคนอื่น ถือว่าได้บุญได้กุศลก็เข้าใจได้ แต่มีเรื่องที่ต้องตีบทให้แตกอีกมาก
ประเด็นนี้: พยายามอธิบายเรื่องพอเพียง พอดี พอใช้พอเหมาะ แต่บางกลุ่มที่ติดนิสัยสุดเริดก็เหมือนเป่าปี่ให้ควายฟัง เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง มันยากตรงที่ไม่พอเพียงความรู้นี่แหละเป็นประเด็นสำคัญ
ดอกผล บทเรียน
ดอกผลที่เกิดจากการทำงานที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ จุดนี้เข้าใจง่าย เห็นผลง่าย ไม่ซับซ้อน เพราะปลูกมะม่วง มันก็ออกผลมาเป็นมะม่วง ไม่มีต้นอะไรออกมาเป็นมาม่า ซื้อแป๊บซี่โคล่า แต่ดอกผลที่เกิดกับตัวคนละเอียดอ่อน ซับซ้อน บางที่เรานึกว่าดีแล้วยังย้อนมาบิดตะกูดอีก มีอกุศลแฝงอยู่ทั่วไป ความหวังดี ความเจตนาดีบางทีก็แปรผลออกมาเป็นอะไรก็ไม่รู้ มีเรื่องเสมือนจริงให้เราคิดจนสมองแฉะ
บทเรียนที่มีประสิทธิภาพควรเป็นการเรียนรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติ โดยศึกษาจากตำราเป็นทุนไว้เบื้องต้นไว้พอสมควร ลงมือเรียนไปปรับแก้ไป อย่ารีบร้อนฟันธง บังเอิญว่านิสัยพี่ไทยใจร้อน ชอบรับรู้มากกว่าการเรียนรู้ มีอินเตอร์เน็ทให้ค้นคว้าก็ไม่ใช้เป็นเครื่องมือให้การแสวหาความรู้ จ้องแต่จะก็อปปี้ความรู้ของคนชาติอื่นจนไม่เหลือรากเหง้าของเราเอง
ประเด็นนี้: ทำให้ต้นทุนความรู้ที่เป็นฐานหลักของเราเสียหาย เพราะพี่ไทยไปหลงปลื้มความรู้ของชนชาติอื่นจนลืมกำพืดของตนเอง ทอดทิ้งภูมิปัญญาของเราเอง สุดท้ายทำให้คนไทยไม่มีชุดความรู้ของเชื้อชาติไทยไปแลกกับชุดความรู้ของชนชาติอื่น เกิดสภาวะบ้องตื้นทั่วไปในทุกระดับชั้น ต้องไปซื้อความรู้ความคิดของชนชาติอื่น แม้แต่งานวิจัยก็บ้าทฤษฏีไปอย่างนั้นเอง สอนกันไปโท่งๆเสียเงิน เสียเวลา แต่หาประโยชน์อะไรมิได้ แล้วมาตอแยกันว่าวิจัยขึ้นหิ้ง ถ้ายังไม่เปลี่ยนก็ควรทำการวิจัยเรื่องหิ้งก็ดีนะขอรับ
ปัญหาอุปสรรคจากการทดลองปฏิบัติการจัดกระบวนการเรียนรู้
การจัดการทดลองการเรียนรู้ให้กับคนพันธุ์ใหม่ สังคมพันธุ์ใหม่ นโยบายใหม่ ภายใต้โครงสร้างมักง่ายต่อการเรียนรู้ นำไปสู่มาตรฐานอีแอบ คุณภาพการศึกษาและพัฒนาของสังคมไทยนับวันจะยุ่งยากและยุ่งเหยิงในตัวเอง ตอบไม่ได้ไอไม่ดังว่าจะสะสางปัญหานี้อย่างไร
ประเด็นนี้: มหาชีวาลัยอีสานอธิบายว่า เราคงจะต้องทำตัวเหมือนรถยนต์ ที่มีไฟหน้า ไฟเลี้ยว ไฟท้าย มีเกียร์เดินหน้า เกียร์ถอยหลัง มีกำลังส่งเป็นแรงม้า มีอะไรต่อมิอะไรแต่สุดท้ายก็ต้องมีใบขับขี่ มีกฎจราจร ต้องหยุดตามจังหวะไฟเขียวไฟแดง สรุปว่าทุกอย่างไม่มีสุดโต่ง ควรต้องบูรณาการความรับผิดชอบเหมือนกลไกของรถยนต์ทั้งคัน
1. เครื่องมือ เราอาศัยเครือข่ายจัดการเรียนรู้ของ gotoknow.org และ http://lanpanya.com/sutthinun/ เป็นเครื่องมือในการแสวงหาและเชื่อมโยงความรู้
2. ให้ความสำคัญความรู้ในตัวคน ในธรรมชาติ ในตำรา ในสื่อ IT.
3. สร้างเครือข่ายเฮฮาศาสตร์ ซึ่งเป็นพันธมิตรทางวิชาการ เป็นตัวช่วยที่ดีและเหมาะสมกับการเอื้ออาทรความรู้และอธิบายบริบท “การหลอมรวมการเรียนรู้เพื่อความเป็นไท”
ข้อมูลเพิ่มเติมดูได้ที่ อิเมล์:adm...@arsomsilp.ac.th
2 ความคิดเห็น
การเรียนในระบบก็มีประโยชน์อยู่มากโดยเฉพาะด้านวิชาการ แต่น่าจะเสริมเรื่องของสังคม ทักษะชีวิตให้มากขึ้น
นึกถึงที่ชาวเฮฮาสาสตร์ไปนั่งคุยกับท่านคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
………….. การเรียนในระบบ เราเรียนมากเกินไปรึเปล่า ?
………….. ทำไม เด็กของเราคิดไม่เป็น ?
………….. ทำไมเราไม่สอนให้เด็กคิด ?
………….. ทำไมเราไม่สอนเรื่องสังคม เรื่องทักษะชีวิต ?
………….. หรือ อาจารย์และบุคคลากรทางการศึกษาก็มีปัญหาด้านสังคมและทักษะชีวิต ?
…………. ระบบการศึกษาบ้านเรามีปัญหาใช่ไหม ?
………… ปัญหาคืออะไร ? เพราะถ้าเราวิเคราะห์ปัญหาผิด การแก้ปัญหาก็จะผิดไปด้วย
………… พวกเราเอะใจกันบ้างรึเปล่า
…………. @#%^!^%&%^*!%^()_^)
เริ่มที่แม่ แก้ที่พ่อ(ตามใจผิดๆๆ) อิอิ ดีมั้ยคะจอมป่วน ของพี่นิดนะ ท่านอื่นไม่เกี่ยว นะคะ