ใบไม้เป็นอะไรมากกว่าที่คิด
อ่าน: 2401..มหาชีวาลัยอีสาน คือยาขมหม้อใหญ่ ที่ปรุงแต่งขึ้นมาเพื่อรักษาไข้ใจของคนอีสาน จากKey Word ดังกล่าว คือภารกิจของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ที่ต้องการบรรเทาทุกข์ให้กับญาติร่วมแผ่นดิน โดยการแสวงหาคำตอบ เรื่องทักษะชีวิตในวิถีเกษตรกรไทย ภายใต้ความตระหนักที่ว่า เกษตรกรควรมีวิธีกระบวนการเรียนรู้ที่จะประยุกต์ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้สอดรับกับวิทยาการสมัยใหม่ที่เหมาะสม โดยช่วยกันยกระดับการจัดการความรู้ในชุมชน ให้รอดพ้นจากสภาพความรู้ไม่พอใช้ เอาวิชาการ+อาชีพ=วิชาชีพ>มืออาชีพ เพื่อให้เกิดครัวเรือนเกษตรกรรมมืออาชีพทั่วหน้า ทยอยพากันหลุดพ้นจากความเสื่อม ช่วยกันบรรเทาวิกฤติสังคมและสภาพแวดล้อม ที่ต้องทำมาหากินในดินที่เสื่อมโทรม-โรคแมลงรบกวน-ฝนทิ้งช่วง-ใช้ปุ๋ยและสารเคมีมากขึ้น-ต้นทุนเพิ่มขึ้น-ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกมากขึ้น-ความสามารถในการพึ่งพาตนเองลดลง ทำให้ครอบครัวและชุมชนตกอยู่ในสภาพความเสื่อมเสี่ยงรอบด้าน สิ่งเหล่านี้ตีความได้ว่าเป็นการดำเนินชีวิตเชิงลบ หลายครัวเรือนทยอยเปลี่ยนอาชีพจากเกษตรกรไปเป็นกรรมกร..เราจะช่วยรักษาและพัฒนาวิถีเกษตรกรไทยให้กินอิ่มนอนอุ่นมีความปกติสุขได้อย่างไร?
ประเด็นดังกล่าวข้างต้นคือโจทย์ที่ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ตั้งธงให้กับตนเอง ในการค้นพบแนวทางช่วยเหลือเกษตรกร ให้สามารถพัฒนาอาชีพได้อย่างยั่งยืนและปกติสุข โดยใช้หลักการดึงเอาทุนทางธรรมชาติกลับคืนมาเป็นพลังเกื้อหนุนให้เกษตรหลุดพ้นจากข้อจำกัดต่างๆ นั่นคือการใช้ใบไม้ในสวนป่าหลายสิบชนิด(เช่นใบมะขาม-ใบมะม่วง-ใบขนุน-ใบกล้วย-ใบมะละกอ-ใบไผ่-ใบมะยม-ใบมะกล่ำ-ใบกระถินบ้าน-ใบกระถินณรงค์-ใบมะขามเทศ-ใบก้ามปู-ใบปอหู-ใบส้มเสี้ยว-ใบแดง-ใบมะรุม-ใบแค-ใบข่อย-ใบมะค่าแต้-ใบมะค่าโมง-ใบทองหลาง-ใบสะเดา-ใบขี้เหล็ก-ใบอ้อย-ใบข้าวโพด-ใบถั่วลิสง-ใบเพกา-ฯลฯ) มาเลี้ยงสัตว์
ตามปกติโคกินใบไม้ใบหญ้าได้อยู่แล้ว ถ้าต้อนโคไปเลี้ยงในป่าธรรมชาติ โคจะเลือกกินหญ้าก่อนเพราะกินได้สะดวก และกัดกินส่วนยอดใบไม้ควบกันไป แต่ถ้าเราเอาใบไม้มาสับให้เป็นชิ้นเล็กๆเหมาะกับการเคี้ยว โคก็จะกินใบไม้ได้ทั้งหมด ถ้าเอาโมลาสและน้ำเกลือราดใบไม้ อาหารก็จะมีคุณค่าและโอชะมากขึ้น จากการทดลองพบว่า การเลี้ยงโคโดยให้ใบไม้บด1เข่งใหญ่/วัน/ตัว โคจะอิ่มและได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ ทำให้รูปร่างอ้วนสมบูรณ์ภายใน3-4เดือน นั่นก็หมายถึงว่าเกษตรจะมีรายได้จากการจำหน่ายโคหมุนเวียนปีละ3-4ครั้ง
กลวิธีอยู่ที่ต้องเอาใบไม้เหล่านี้มาเข้าเครื่องสับย่อยแล้วจึงนำไปเลี้ยงโค ทดแทนวิธีการเดิมที่ใช้หญ้า-อาหารข้น-ฟางเป็นหลัก ทำให้ต้นทุนสูง จุดพิเศษดังกล่าวนี้ทำให้อาชีพการเลี้ยงปศุสัตว์กลับฟื้นมาตั้งตัวใหม่
· ความต้องการใบไม้ไปเลี้ยงปศุสัตว์ นำไปสู่ความตั้งใจที่จะปลูกต้นไม้เพื่อหลากหลายวัตถุประสงค์ เป็นการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมในแนวราในพื้นที่ทำกินของเกษตรกร ไปสอดรับกับนโยบายต้นไม้เพื่อชีวิตแก้วิกฤติโลกร้อน
· มูลโคที่ได้จำนวนมาก นำไปสู่การตั้งโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไปทะนุบำรุงดิน เป็นทางเลือกการมีและใช้ปุ๋ยของตนเอง ปิดช่องทางการนำเข้าปุ๋ยและสารเคมีปีละหลายหมื่นล้านบาท
· แนวคิดการสร้างการงานอาชีพที่สอดรับกับธรรมชาติ นำไปสู่การพบเห็นจุดตั้งต้นของพึ่งพาตนเอง ที่เอื้อต่อการยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ไม่ต้องไถพรวน ไม่ต้องตัดไม้ทำลายป่า ไม่ต้องซื้อปุ๋ยและสารเคมี ไม่ต้องใช้แรงงานมาก ไม่ต้องซื้อหัวอาหาร ไม่ต้องเสี่ยงกับความแห้งแล้ง ไม่เสี่ยงกับการตกงาน ไม่เสี่ยงกับการลงทุนสูง และไม่ต้องปีนเกลียวกับปัญหาดินพอกหางหมู
· เสนอวิธีบริบาลสังคม นำไปสู่การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้บนพื้นฐานภูมิปัญญาและฐานรากทางวัฒนธรรม นำไปสู่การลดผลกระทบเชิงสังคมและสภาพแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ช่วยคนยากจนมีรายได้คุ้มกับหยาดเหงื่อแรงงาน ไม่ตกงาน ลดภาระหนี้สิน กินอิ่มนอนอุ่น ทุกครัวเรือนร่วมกันสร้างสภาพแวดล้อม ทุกคนก็จะเห็นความหวังความยั่งยืน พบช่องทางร่วมกันสร้างชีวิตใหม่ในพื้นถิ่นตนเอง ปัญหากดดันจากทางการเมืองจากคนระดับล่างก็จะค่อยๆคลี่คลายลงได้
- จะขายความคิดอย่างไร?
1. ขยายแนวคิดผ่านเกษตรกร ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น และผู้สนใจทั่วไป ที่เข้ามาอบรมตามโครงการต่างๆ
2. ขยายแนวคิดผ่านภาคเอกชนที่มาเข้าค่ายฝึกอบรมกับมหาชีวาลัยอีสาน เช่น บริษัทTT&T นำผู้จัดการระดับหัวหน้าจังหวัดทุกภูมิภาคมาจำนวน5รุ่น บริษัทปูนซิเมนต์ไทยSCG นำพนักงานมาเข้าค่ายรุ่นละ 5 วัน เป็นต้น
3. ขยายแนวคิดนักศึกษา-อาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ มาจัดค่ายเรียนรู้ทุกปี เช่น คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะพยาบาลศาสตร์ คณะบริหารศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบล ฯลฯ
4. ขยายแนวคิดในเครือข่ายของมหาชีวาลัยอีสานที่ชื่อว่า กลุ่มเฮฮาศาสตร์ ผ่าน ลานปัญญา และ Gotoknow.org ในนามKM ในมหาชีวาลัยอีสานซึ่งครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ เขียนบทความเสนอผ่านสื่ออินเตอร์เน็ทดังกล่าวเป็นประจำ
5. ขยายแนวคิดผ่านเวทีสัมมนาต่างๆ เช่น วันที่ 18 สิงหาคม 2553 เสนอแนวคิดนี้ในงานครบรอบ80ปีมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม“เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับนวัฒนกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น” ร่วมกับผ.อ.ศูนย์ศึกษาภูพาน,ผ.อ.สภาพัฒน์ฯภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และวันที่20สิงหาคม2553เป็นวิทยากรให้คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น “เรื่องเรียนรู้จากปราชญ์ วางรากฐานสู่สังคมโลก”
6. นำเสนอเชิงนโยบายให้กับกรมกองและกระทรวงฯ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคม เพื่อชักชวนนักวิจัยให้มาสนใจโจทย์วิจัยจากท้องถิ่น เพื่อยกระดับงานวิจัยไทบ้านไปประสานงานวิจัยเชิงวิชาการของคณาจารย์มหาวิทยาลัย ในชั้นต้นจะอาศัยโครงการที่มหาชีวาลัยอีสานไปลงนามMOU.กับมหาวิทยาลัยอุบล และมหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม อีกทั้งได้เสนอหลักการนี้เพื่อแก้ไขปัญหาเยาวชนและนักศึกษาที่ยังไม่มีงานทำในคณะผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
· กิจกรรมและกิจการประมาณไหน?
ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ได้ใช้ความเป็นลูกเกษตรกรสืบทอดพันธะกิจของบรรพบุรุษ ที่ทำไร่ทำสวนในช่วง40ปีที่ผ่านมา ได้ลดละปลูกพืชเชิงเดี่ยวหันมาเปลี่ยนอาชีพปลูกสร้างสวนป่า ทดลองปลูกต้นไม้เบิกนำหลายชนิด ทั้งที่เป็นไม้พื้นถิ่นและไม้ที่นำมาจากต่างประเทศ ได้ค้นพบชุดความรู้เรื่องการปลูกป่าไม้ในพื้นที่แห้งแล้งดินเลวในพื้นที่600ไร่ ปัจจุบันมีแม่ไม้พันธุ์ดีที่สะสมไว้ได้ออกเมล็ดมาให้นำไปเพาะขยายผลได้แล้ว ทำการวิจัยไม้เอกมหาชัย-ไม้กระถินเทพา-ไม้ยางนา-ไม้แดง-ไม้ประดู่ร่วมกับงานวิจัยพันธุ์ไม้ป่า สำนักวิจัยและพัฒนาป่าไม้ กรมป่าไม้โดยมีคุณวิฑูรย์เหลืองวิริยะแสง(E-mail:Vito...@gmail.com) ประสานงาน ทำการศึกษาวิจัยการเลี้ยงโคพันธุ์ซาฮิวาล ร่วมกับ ดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร กรมปศุสัตว์ อีกทั้งมหาชีวาลัยอีสานรับความรู้เข้าจากการที่เป็นแหล่งให้อาจารย์และนักศึกษาคณะต่างๆมาฝึกงานและดูงาน เมื่อทำการปรับปรุงชุดความรู้ให้เหมาะสมแล้ว จึงนำความรู้ออกเผยแพร่ออกไป
· ผลกระทบกระแทกกระทั้นเป็นอย่างไร?
การนำเสนอกระบวนการให้ฉุกคิด ชี้ชวนให้ทบทวนและใคร่ครวญดูอดีตที่ผ่านมา ว่าเราเป็นใคร ได้กระทำอะไรลงไป เกิดผลลัพธ์ในลักษณะใด ครอบครัวและชุมชนตกอยู่ในสภาพใด วันนี้ตอบตัวเองได้แล้วหรือยังว่าอยู่กับความรู้อะไร? ถ้ายังเคว้งคว้างกับอนาคตของตนเอง ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ มีข้อเสนอดีๆให้พิจารณา
มีเกษตรกรทั่วประเทศนับแสนครัวเรือน ที่ทำไร่ทำนาและเลี้ยงสัตว์อยู่แล้ว สามารถที่จะเอาชุดความรู้นี้ไปเสริมสภาพคล่องให้กับการงานอาชีพของตนเองได้ อนึ่ง หน่วยงาน,องค์กร,สถาบันต่างๆ ที่มีโครงการช่วยเหลือเกษตรกร ถ้าเอาแนวคิดนี้ไปเชื่อมโยง เช่น โครงอบรมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง โครงการต้นกล้าอาชีพ โครงการปลูกป่า โครงการSME.ฯลฯ ชี้แนะให้เกษตรกรเลือกปลูกต้นไม้หลากหลายวัตถุประสงค์ จะเห็นประโยชน์ต่อตนเองในระยะสั้นและเข้าใจผลประโยชน์โดยรวมในระยะยาว ถ้าเข้าใจเหตุผลทุกคนก็จะร่วมใจร่วมมือกันปลูกป่า ทั่วผืนแผ่นดินไทยก็จะเกิดการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมอย่างแท้จริง ปลูกต้นไม้แล้วตัดเอาเฉพาะกิ่งและใบมาใช้ประโยชน์หมุนเวียน กิ่งที่โตยังตัดส่งโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังชีวมวลมวลได้อีก ไม่ต้องตัดลำต้น ปล่อยให้ไม้โตติดแผ่นดิน พลิกฟื้นระบบนิเวศที่เสื่อมให้มีชีวิตชีวาทั่วประเทศ เป็นการทำมาหากินที่ไม่มีปล่องไอเสีย อากาศสะอาดอ๊อกซิเจนมีคุณภาพ -ลดปัญหาการทำลายป่า -ลดการแก้ไขปัญหาเสื่อมโทรมของที่ดินทำกิน -การลดผลกระทบจากความแห้งแล้ง -ลดปัญหาเรื่องหนี้สิน >เพิ่มช่องทางการชำระหนี้ >เสริมกระบวนการพัฒนาอาชีพ >เห็นช่องทางแก้ไขวิกฤติด้านพลังงาน >พึ่งพาตนเองด้านเชื้อเพลิง -เลิกการใช้ปุ๋ยและสารเคมี >เห็นวิธีการยกระดับการเรียนรู้ของครัวเรือนเกษตรกร
ประเทศนี้จะเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นวิวัฒนาการได้ โดยด้วยการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ผ่านจุดตั้งไข่ที่มีต้นทุนและพลังแฝงอยู่มากมาย ปลุกเกษตรกรที่หมดกำลังใจ ให้ลุกขึ้นมาสู้ด้วยวิธีที่ไม่ซับซ้อนยุ่งยาก ง่ายๆชัดๆตรงไปตรงมา เอาใบที่มีอยู่ในสวนไม้รอบบ้าน มาสับแล้วเอาไปเลี้ยงโค เปลี่ยนมุมมองใหม่ >> เห็นใบไม้เป็นโปรตีน เห็นใบไม้เป็นปุ๋ย เห็นใบไม้เป็นพลังงาน เห็นใบไม้เป็นความหวัง เห็นใบไม้เป็นทางออก เห็นใบไม้เป็นอนาคตของมนุษยชาติ เปลี่ยนคำถามใหม่
“วันนี้คุณสับใบไม้ให้โคแล้วหรือยัง”
การช่วยให้ญาติร่วมแผ่นดินไม่ตกหลุมพรางของกระแสเถื่อน ที่กระตุ้นให้เกิดความต้องการรวยมากๆรวยง่ายๆรวยเร็วๆ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านอื่นๆเท่าที่ควร มุ่งแต่จะเอาประโยชน์แบบตีหัวเข้าบ้าน ส่งผลให้เกษตรกรต้องปีนเกลียวอยู่กับความผิดปกติ ทำให้ชีวิตและสังคมติดลบมากขึ้น ด้วยหลักการนี้ มหาชีวัยอีสานเชื่อว่า จะเป็นการสร้างตัวคูณให้กับสังคมบ้านเราที่กำลังย่ำแย่ เลิกยักแย่ยักยัน แต่พากันหิ้วปีกออกจากวังวนแห่งความอ่อนไหวอ่อนแอเถิดนะครับ.
- แล้วยังไงต่อ
1 ดำเนินการวิจัยเรื่องป่าไม้เอื้อชีวิตและสังคม อย่างเต็มรูปแบบ
2 สร้างแปลงสาธิตการปลูกไม้หลายวัตถุประสงค์ให้ครบถ้วนยิ่งขึน
3 ปรับปรุงโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ ซื้อพันธุ์แพะแกะมาเลี้ยงเพื่อการวิจัย
4 ซื้อเครื่องสับและบดกิ่งไม้ ตั้งโรงผลิตปุ๋ย
4 เชิญเครือญาติเฮฮาศาสตร์มาร่างหลักสูตรการอบรมให้ครอบคลุมทุกช่วงชั้น
5 พิมพ์หนังสือเรื่อง “ใบไม้เป็นอะไรมากกว่าที่คิด”
7 ผลิตสื่อ แผ่นพับ ซีดี.
- เอกสารที่แนบ
1. หนังสือเจ้าเป็นไผ เล่ม1-2
2. หนังสือดินดิ้นได้
3. คริป เรื่องการฝึกอบรม
4. คริป เรื่องขั้นตอนเอาใบไม้เลี้ยงโค
5. Power Point เรื่องมหาชีวาลัยอีสาน
: หมายเหตุ
เรื่องนี้โม้สะบัด อ่านแล้วกรุณาช่วยกันกระตุก กระต๊าก ตะล่อมให้เข้าที่เข้าทางด้วยนะครับ
ช่วยกันแก้ไข ด่วนด้วยนะจ๊ะ
« « Prev : เพลงยาวของชาวลานปัญญา
2 ความคิดเห็น
พ่อครูบาคะ
อ่านไปก็พยักหน้าไปด้วยตลอดค่ะ ไม่มีข้อโต้แย้ง แม้ไม่ได้เห็นด้วยตาทุกกระบวนการที่ครูได้เล่าไว้
แต่สิ่งที่รู้สึกชื่นชมก็คือ “การพัฒนา” อย่างก้าวกระโดดและไม่หยุดยั้งของครูบา ตั้งแต่ได้รู้จัก อ่านงาน ได้ยินชื่อเสียง เห็นผลงานมาตั้งแต่ปลายปี 2540 ค่ะ
ดร.รุ่ง แก้วแดง อดีตเลขาธิการสภาการศึกษา (สมัยก่อนปี 2546 เรียกว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ) เคยกล่าวถึง พ่อครู ซึ่งจำได้ขึ้นใจจนบัดนี้ว่า…
“คนนี้ (หมายถึงครูบาสุทธินันท์) จะไปได้ไกลและเป็นตัวแทนที่มีพลังมาก ๆ ของครูภูมิปัญญาไทยของเรา (ครูภูมิปัญญาไทยที่สกศ.ยกย่อง)”
ไม่ได้โม้นะคะ เพียงเล่าถึงสิ่งที่ได้ฟังมาค่ะ
18 นี้ว่างครับจะตามพ่อไปมหาสารคาม