บริบทปราชญ์จำบ่ม
อ่าน: 9969(เปลี่ยนจากดูวัวให้ดูหาง มาเป็นดูวัวให้ดูพุงแทน)
ใบไม้เป็นอะไรมากกว่าที่คิด
เรื่องนี้กระฉอกออกมาจากความคิดคำนึง เป็นการปัดฝุ่นความมึนงงออกจากความเคยชิน ท่านลองนึกดูสิครับ ผมอาศัยอยู่ในสวนป่า มีใบไม้มากมายมหาศาล เลี้ยงวัวมาก็เนิ่นนาน แต่แก้ปัญหาไม่ตก วัวในฝูงทุกตัวผอมโซ กลายเป็นพันธุ์หนังหุ้มกระดูก ตากลวงโบ๋เดินเป๋ไปมาเหมือนซี่โครงเดินได้ อัตราเติบโตอยู่ในระดับแคระแกรน นี่คือปัญหาที่แก้ไม่ตก โง่งมอยู่กับความรู้ไม่พอใช้ แล้วจะทำยังไงดีละพี่น้อง คนเราเอาผักสารพัดชนิดมาบริโภค แต่เราไม่เคยคิดที่จะเอาใบไม้ไปให้วัวกินบ้างเลย โธ่ ทำไมถึงทำกับวัวได้ สงสัยจะรอดตัวรอดตายเพราะใบไม้นี่แหละ
(ให้วัวกินฟาง ร่างกายก็แห้งเหี่ยวเหมือนฟางนั่นแหละต๋อย)
· เรื่องนี้มีเอี่ยวประชาธิปไตย
ความสุขไม่เกี่ยวกับความร่ำรวยโดยตรง จะจนจะรวยต่างก็มีกระเพาะเท่าๆกัน อะไรที่พอเพียงพอดีก็นำไปสู่ความสุขแล้ว ทำไมพระเจ้าแผ่นดินต้องเหนื่อยยาก ต้องแบกทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ทุกวันนี้ เพราะว่าประชาชนยังยากจนอยู่ คนจนไม่มีอิสรภาพ เราจึงเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ การสร้างประชาธิปไตยต้องเกิดจากปากท้อง ไม่ใช่รัฐธรรมนูญกว่า300มาตรา ไม่ใช่เกิดจากลายลักษณ์อักษรตัวบทกฎหมาย แต่ต้องเกิดจากจิตสำนึกความรู้สึกส่วนรวม โดยเฉพาะคนต้องมีกินก่อน ตราบใดที่ไส้เต็มน้ำเหลือง เป็นประชาธิปไตยไม่ได้หรอก ที่พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อย ไม่ใช่ขจัดทุกข์บำรุงสุขเฉยๆ แต่ทรงมีเป้าหมายปลายทาง คือ ประเทศชาติต้องเป็นประชาธิปไตย และประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นั้น ประชาชนต้องมีกิน ต้องพ้นสภาพความยากจน ผมจึงเสนอเรื่องใบไม้สู้ความยากจนยังไงละครับ
(เปลี่ยนใบไม้เป็นปุ๋ยแถมได้โปรตีนได้งานได้ความหวังคืนมา)
· วัวพันหลัก
ผมไม่ได้เกิดปีฉลูหรอกนะครับ แต่ก็มาผูกพันอยู่กับเรื่องสัตว์เคี้ยวเอื้องอย่างประหลาด นับตั้งแต่ชวนชาวบ้านเลี้ยงวัว เสนอแผนงานให้รัฐบาลส่งเสริมเรื่องนี้ หลังจากนั้นก็มีการนำเข้าวัวจากประเทศออสเตรเลียมาให้ชาวบ้านเลี้ยงในนามวัวอีสานเขียว เลี้ยงไปเลี้ยงมาวัวที่ว่านี้ออกมาตัวเท่าลูกหมา บางส่วนก็เป็นหมัน เลี้ยงก็ยาก ผมจึงตั้งชื่อให้ว่า”วัวพลาสติก” ชาวบ้านโวยวายขอส่งคืนวัวพิการ รัฐบาลอิดออดไม่ยอมรับคืน คงขายขี้หน้าที่ทำอะไรไม่ชอบมาพากล แต่คนยากคนจนทนไม่ไหว จึงขนวัวพันธุ์ออสซี่ไปเทกระจาดที่ศาลากลางจังหวัดศีรษะเกษและจังหวัดมหาสารคาม เป็นตำนานที่ฮือฮาไปทั่วโลก หลังจากนั้นอีกหลายปี เกิดมีโครงการ”วัวเงินล้าน” ขึ้นมาอีก รัฐมนตรี-อธิบดีกรมปศุสัตว์-หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกทีมมาประชุมวางนโยบายที่สวนป่ามหาชีวาลัยอีสาน ผมเสนอให้เอาเรื่องนี้เป็นการเรียนรู้เรื่องพัฒนาอาชีพ แต่ก็เข้าอีรอบเดิม วัวกลายเป็นเรื่องการเมือง สุดท้ายก็เจ๊งไปตามระเบียบ วัวที่ซื้อมากักไว้เพื่อโครงการนี้ไปไม่รอด จึงโละทิ้งขนานใหญ่ ทำให้ราคาวัวในประเทศตกต่ำ ประกอบกับชาวบ้านประสบปัญหาเรื่องสถานที่เลี้ยงและหญ้าหายาก การเลี้ยงวัวเป็นออมสินกลายเป็นการทุบกระปุกอย่างน่าเสียดาย
(วัวกินใบไม้ก็เหมือนคนได้กินโต๊ะจีนนั่นแหละ)
: เมื่อเช้าอ่านหนังสือพิมพ์เจอ ตั้งแต่ปิดด่านที่แม่สอด 2 สัปดาห์ ทำให้สินค้าข้ามแดนชะงักงัน วัวเนื้อขาดแคลนอย่างมาก จากที่เคยซื้อในราคา7,000-8,000บาท ขึ้นราคาเป็นตัวละ 12,000 บาท แสดงว่าโปรตีนที่บริโภคทุกวันนี้นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นทุกที ไปๆมาๆพี่ไทยก็เอาแต่สั่งซื้อสั่งเข้า พึ่งตัวเองไม่ได้สักอย่างทั้งๆที่อ้างว่าทำเศรษฐกิจพอเพียง แสดงว่าปัจจัยแวดล้อมที่เสื่อมโทรมได้เดินมาถึงจุด ที่เป็นข้อจำกัดต่อการพัฒนาอาชีพของเกษตรรายย่อย และนับวันจะทำให้อนาคตสาละวันเตี้ยลงๆ..
· คนไทยทันสมัยแต่ไม่พัฒนา
เมื่อหลายปีมาแล้วผมไปชายแดนไทย-พม่าเพื่อซื้อหาแพะแกะมาเลี้ยงที่อำเภอเวียงแหง พื้นที่ชายแดนด้านตะวันตกของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ติดกับรัฐฉานของพม่า ไม่มีป่ากั้นเหมือนด้านอื่น แค่ข้ามด่านไปไม่กี่ก้าวก็เข้าเขตรัฐฉาน เป็นจุดค้าขายที่สำคัญ ชาวไทยใหญ่จะต้อนวัวจากอินเดีย บังคลาเทศ ผ่านดินแดนรัฐฉานอันกว้างใหญ่เข้ามาทางช่องทางนี้ พ่อค้าชาวไทยก็จะมาประมูล แล้วทำ”ลูกคอก” ส่งออกไปต่างประเทศอีกต่อหนึ่ง ..ช่วงเป็นนักศึกษาโข่ง ระหว่างล่องเรือในลำแม่น้ำโขงจากประเทศจีน พบเห็นเรือบรรทุกสินค้าจากจีนมาส่งที่ท่าเรือเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ขากลับเรือจีนบรรทุกวัวควายกลับเต็มลำเรือ ไม่ทราบว่าแต่ละปีมีโปรตีนผันผ่านลักษณะนี้กี่หมื่นกี่แสนตัว
(ของเก่ารักวัวให้ผูก สมัยใหม่รักวัวให้กินใบไม้เน้อ)
· สวรรค์มีตา
ผมได้รับเครื่องสับกิ่งไม้จากท่านผู้อุปการคุณ ที่ไปเดินชมงานนิทรรศการการเกษตร ท่านแวะไปที่มุมจำหน่ายเครื่องยนต์ทางการเกษตร ไปเห็นเครื่องบดสับกิ่งไม้ ก็นึกถึงคนป่า โทรศัพท์มาบอกเล่าว่า มีเครื่องสับกิ่งไม้ยี่ห้อนี้ขนาดนี้ราคาเท่านี้สนใจไหม? หลังจากนั้นก็มีการเจรจาซื้อสินค้าที่ว่านี้ส่งมาให้ เปรียบเสมือนผู้ร้ายมีปืน มีเครื่องสับแล้วก็สับ สับ สิครับ ได้ใบไม้กองโตเอาไปให้วัวกิน วัวที่หิวโซก็กินเอาๆ ท้องป่องทันตาเห็น อิ่มแล้วก็ไปนอนยิ้มเคี้ยวเอื้องอาบแดด เลิกอนาทรกับความหิวโหยอีกต่อไป เมื่อกินอิ่มนอนอุ่นตัวก็ค่อยๆพองออก เหมือนกับเด็กพุงโรกินยากุมารอ้วนพีนั่นแหละ มีน้ำมีนวลขนเป็นมันนับวันจะสมบูรณ์ วัวอิ่มอ้วนคนเลี้ยงก็พลอยอิ่มเอิบใจ เลี้ยงแค่3-4เดือนก็จับขายได้แล้ว มีรายได้3-4รอบ/ปี ทำดีๆก็พอที่จะลืมตาอ้าปากได้ เมื่อมีทักษะมากแล้วก็จะขยายงานไปสู่การผลิตอาหารสัตว์ ผลิตปุ๋ย เอามูลสัตว์ไปทำแก็ส ทำกระดาษ กิ่งไม้ทำถ่าน ทำเชื้อเพลิง ทำสิ่งประดิษฐ์ เนื้อสัตว์ขยายไปสู่การแปรรูป พัฒนาการเลี้ยงวัวขุน วัวนม แพะแกะ ทำหัวอาหารสูตรต่างๆที่เหมาะกับการเลี้ยงไก่-หมูและปลา เมื่อตระหนักถึงมูลค่าของต้นไม้ ก็จะคิดได้ถึงการเพิ่มคุณค่า เช่น เอามูลสัตว์ไปปลูกผักและผลไม้ อยากจะปลูกต้นไม้หลายวัตถุประสงค์ เพราะได้รับประโยชน์โดยตรง ตีแตกคำที่ว่าปลูกต้นไม้แล้วจะกินอะไร ความขาดแคลนเรื่องปุ๋ยบำรุงดิน ความขาดแคลนเรื่องโปรตีนและพืชผัก ความมั่นยืนของสภาพแวดล้อมก็จะค่อยๆดีขึ้น เสมือนยิงปืนโป้งเดียวนกร่วงหลายตัว
· ความเซ่อเผยอหน้า
ความคิดครั้งแรกจะเอามาสับกิ่งไม้ที่หักเกลื่อนตามพื้น แล้วจะเอากิ่งไม้ใบไม้ที่สับไปทำปุ๋ย คนโง่คิดได้แค่นี้จริงๆ จนกระทั้งวันเผด็จศึกมาถึง ผมให้ลูกน้องไม้ตัดไม้มา1รถบรรทุกเล็ก เพื่อจะทดสอบประสิทธิภาพของเจ้าเครื่องสับที่ว่านี้ หลังจากเอากิ่งไม้สับย่อยกิ่งไม้กองโต ฝูงวัวที่อยู่ใกล้ๆชะเง้อมอง “เจ้ามนุษย์2คน กำลังทำอะไรวะ” ผมให้ลูกน้องลองเอาใบไม้สับใส่ในรางอาหาร โอ้โห!..วัวมะรุมมะตุ้มเขมือบหญ้าสับอย่างอร่อย เติมไปเมื่อไหร่ก็หมดเกลี้ยง อ้าวๆๆ..ของชอบเขานี่ ..ไปตัดมาอีก เอาใบไม้หลายชนิดมาสับผสมหญ้า..“พระเจ้าช่วยกล้วยทอด” ผมพบแล้ว..ความรู้ใหม่สดๆร้อนๆแถมอร่อยอีกต่างหาก อยู่ใกล้ตาใกล้ใจเรานี่เอง
..ปีนี้ คุณวิฑูรย์ เหลืองวิีริยะแสง ผู้เชี่ยวชาญงานพัฒนาพันธุ์ไม้กรมปศุสัตว์ ลงมาทำโครงการร่วมเรื่องขยายพันธุ์ไม้กลุ่มอาคาเซีย หรือกระถินเทพา เป็นพืชตระกูลถั่ว ใบเอาไปเลี้ยงสัตว์ได้ดี เรื่องขยายพันธุ์บรรจุไว้ในแผนงานแล้วละครับ ส่่วนการปลูกผักระบบชิดเช่น แค มะกล่ำ มะขาม มะรุม ยอดอ่อนให้คนรับปะทาน ก้านที่เหลือเอามาสับเลี้ยงวัวได้อีกทอดหนึ่ง
· ความรู้ที่สับได้
หลังจากวันนั้นเป็นต้นมา ผมกับลูกน้องช่วยกันทดลองอย่างสนุก คิดสูตรเมนูพิเศษ เอาหญ้า30% ใบกระถินณรงค์30% ใบกระถิน20% ใบก้ามปู-ใบมะขามเทศ-ใบกล้วย-ใบมะละกอรวมๆกัน20% สับออกมากองโต แล้วเอาไปเสิร์ฟลูกค้าที่ยืนเรียงหน้าน้ำลายยืด เราคลุกเคล้าใบไม้ทุกชนิดด้วยวิธีหยิบวัตถุดิบเข้าเครื่องสับ ใบไม้ก็ผสมกันอัตโนมัติ วันแรกๆเราไม่ทราบหรอกว่าควรจะสับกิ่งไม้ใบไม้สักเท่าไหร่ ไปตัดใบไม้มา2คันรถ จะได้ใบไม้สับประมาณ 12 เข่งใหญ่ เอาให้วัวกินตอน10โมง ประมาณเที่ยงวันวัวก็ท้องป่อง ถอนตัวไปนอนเคี้ยวเอื้องอาบแดดอย่างสุขารมณ์ ถ้าพูดได้ วัวคงจะคุยกันว่า.. “ตั้งแต่อยู่กับอีตาบ้านี้มาก็เพิ่งกินอิ่มนอนอุ่นคราวนี้ละวะ” วัวกินใบไม้ตัวละครึ่งเข่งก็อิ่มไปตลอดวัน ตอนเย็นลูกน้องเอาเอาฟางมาให้เคี้ยวเล่นเป็นของหวาน รุ่งเช้ามาก็เกลี้ยงรางอาหาร
(เปลี่ยนใบไม้เป็นโปรตีนไม่ต้องปีนความยากจน))
· วัวพันธุ์ชูชกสะอื้น
ผ่านไปประมาณ1เดือน วัวกินอิ่มนอนอุ่นอารมณ์ดี เริ่มอ้วนท้วนขึ้นมายิ่งกว่าเลี้ยงด้วยหัวอาหารเสียอีก มันเป็นไปได้อย่างไร..แต่มันก็เป็นไปแล้ว ไม่สงสัยใดๆอีกแล้ว ในเมื่อเราทดลองมากับมือทุกขั้นตอน เข้าถึง-เข้าใจ-มีเหตุมีผล-มีกำลังใจ กินเท่าไหร่เท่ากัน ในเมื่อเรามีใบไม้เป็นร้อยเป็นพันคันรถ และใบไม้ที่ว่านี้เราไม่ต้องตัดต้นนะครับ ตัดเอาเฉพาะกิ่งมาใช้ ลำต้นก็จะแตกกิ่งอ่อนหมุนเวียนออกมาให้ตัดได้ทั้งปี ถ้าเลี้ยงง่ายอย่างนี้ เพื่อวัวอีกสัก 100 ตัวก็ยังสบายๆ ใครใจบุญจะบริจาควัวผอมๆก็ยินดีรับนะครับ จะได้นำเข้าโครงการวิจัยโปรตีนมหาชีวาลัยอีสาน
(ใบหญ้าจะมีราคา ถ้าหากเอามาให้วัวเจี๊ยะ)
· ปรับประสบเกินเข้ากับประสบการณ์ใหม่
จากที่เคยต้อนวัวไปหาหญ้า ปลูกหญ้า เอาหญ้ามาเป็นอาหารหลัก ด้วยนึกว่าการใช้หญ้าเลี้ยงวัวดีที่สุด ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว ตอนนี้เอาใบไม้สับมาหาวัว ให้วัวนอนเคี้ยวเอื้องสบายๆ ถึงเวลาจะมีอาหารมาป้อน เชิญพ่อมหาจำเริญกินกันอย่างอร่อยเถิด วัวก็ไม่เหนื่อย คนเลี้ยงก็ไม่เบื่อหน่าย มูลวัวทุกก้อนตกอยู่ในคอกไม่กระจายหายไปไหน กินมากเท่าไหร่อึออกมาเท่านั้น ขยันให้อาหารมากก็ได้มูลวัวตอบแทนในอัตราก้าวหน้า ทำให้เกิดแขนงงานใหม่ๆขึ้นมา นั้นคือแผนงานที่จะผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองและจำหน่าย ปักหมุดที่จะเปิดกิจกรรมปุ๋ยเพื่อผักปลอดสารพิษในลำดับถัดไป
(รักวัวรักต้นไม้ ดีกว่ารักคนหลายใจ)
· วิจัยแบบกัดไม่ปล่อย
เรื่องเอาใบไม้เลี้ยงโค ทำให้เราเดินหน้าหาความจริง ไปสอบถามผู้รู้ว่ามีไม้ชนิดใดบ้างที่เอามาเลี้ยงวัวได้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นบอกว่า..ใบอะไรที่คนกินได้วัวก็กินได้ แต่เท่าที่ทดลองพบว่า ใบไม้ที่คนไม่กินวัวชอบกินก็มีมาก เอาละสิ โจทย์นี้ท้าทายเราต้องวิจัยให้กระจุยให้ได้ ลำดับแรกศึกษาทางกายภาพ ความเป็นไปได้ ความเหมาะสม ความสะดวก และความคาดหวัง ไล่เรียงดูเถอะ ใบมะขาม-ใบมะม่วง-ใบขนุน-ใบกล้วย-ใบมะละกอ-ใบไผ่-ใบมะยม-ใบมะกล่ำ-ใบกระถินบ้าน-ใบกระถินณรงค์-ใบมะขามเทศ-ใบก้ามปู-ใบปอหู-ใบส้มเสี้ยว-ใบแดง-ใบมะรุม-ใบแค-ใบข่อย-ใบมะค่าแต้-ใบมะค่าโมง-ใบทองหลาง-ใบสะเดา-ใบขี้เหล็ก-ใบอ้อย-ใบข้าวโพด-ใบถั่วลิสง-ใบเพกา-ฯลฯ มองไปไหนเจอแต่อาหารสัตว์ชูไสวทั้งนั้น ยังมีวัชพืชและผักล้มลุกอีกหลายสิบชนิดที่วัวไม่เคยปฏิเสธ
(ปลูกต้นไม้เลี้ยงวัวไม่ต้องกลัวความยากจน)
· ถ้าดื้อตาใสระวังโอกาสชำรุด
ถ้าพิจารณาให้ดี จะเห็นว่าสัตว์เคี้ยวเอื้องล้วนกินใบไม้ทั้งนั้น ดูแต่ช้างสิ กินใบไม้แข็งแรงตัวโตเท่าตึก ไม่เห็นต้องให้อาหารข้นอาหารพิเศษใดๆ ที่เราใช้หญ้าเลี้ยงวัวเพราะเห็นว่ามีหญ้าเกิดขึ้นทั่วไป วัวควายก็ชอบกิน วิชาความรู้จากเมืองฝรั่งก็บอกว่า ชาวปศุสัตว์ต้องทำแปลงหญ้า ให้อาหารข้น ให้เกลือแร่ เราก็มุ่งมั่นตามๆกันมา ถามว่าผิดไหม ไม่ผิดหรอก แต่คนยากคนจนวิ่งตามไม่ได้ จึงจำเป็นต้องหาชุดความรู้ใหม่มาคลี่คลายสถานการณ์ –ไม่มีพื้นที่เลี้ยงสัตว์-ไม่มีเงินซื้ออาหารข้น-ไม่มีแปลงหญ้า-ขาดแคลนอาหารในหน้าแล้ง เกษตรกรที่เลี้ยงวัวฝูงในหมู่บ้าน ทนสู้กระแสของความเปลี่ยนแปลงไม่ไหว ต้องเทกระจาดขายวัวฝูงทิ้ง ปริมาณวัวในครัวเรือนเกษตรกรลดลงอย่างมาก ไม่แน่นะครับ ในอนาคตประเทศเราอาจจะนำเข้าเนื้อสัตว์มากขึ้นก็เป็นได้
· เปลี่ยนจุดอ่อนให้แข็งโป๊ก
ชุดความรู้ดังกล่าวนี้ อาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่อานุภาพไม่เล็กหรอกนะครับ ถ้าเกษตรกรรายย่อยที่กำลังมองหารายได้เสริม หลังจากทำเรื่องเกษตรผสมผสาน อบรมเรื่องเกษตรพอเพียงมาจนหัวผุแล้ว ก็ควรศึกษาเรื่องนี้ เพราะขั้นตอนไม่มีอะไรซับซ้อน ไปซื้อวัวผอมๆราคาถูกที่ตลาดนัดวัวควายมาถ่ายพยาธิ แล้วเอาใบไม้ที่อยู่รอบบ้านมาสับๆโยนลงรางอาหาร ใส่ใจดูแลให้ดี เพียง3-4เดือนวัวผอมก็กลายเป็นวัวเนื้อเตะตาพ่อค้า ขายออกแล้วไปซื้อมาเลี้ยงอีก เมื่อมั่นใจมีรายได้ดี ก็ซื้อวัวมาเลี้ยงเพิ่ม ปีหนึ่งๆมีวัวขายในราคาที่มีกำไร3-4รอบ ทำอย่างนี้จะช่วยคลี่คลายปัญหาว่างงาน หนี้สินท่วมหัว มีทางออกที่เหมาะกับการปรับสภาพของการบริหารจัดการความรู้ ด้วยขั้นตอนที่ไม่ซ้ำซ้อนและเสี่ยงเหมือนการรอฟ้าฝนทำนา
:มีคนถามว่า..ทำอะไรถึงจะรวยมากๆรวยง่ายๆรวยเร็วๆ
:ตอบ..ไปเอาใบไม้มาเลี้ยงวัวนี้แหละ ดีกว่าไปซื้อหวยเสียอีก
เมื่อทักษะชีวิตแก่กล้าก็พัฒนาการไปเลี้ยงวัวขุน เลี้ยงวัวนม เลี้ยงแพะแกะ
เอามูลสัตว์ไปปลูกผัก ปลูกผลไม้ ปลูกต้นไม้
มูลสัตว์ที่เหลือเหลือขาย บรรจุใส่กระสอบขายให้ชาวสวนยางพารา
บำรุงดินให้ดี ปลูกต้นไม้เพิ่มให้ร่มรื่น ใบไม้รกครึ้มก็สอยไปให้วัวชิม
รับประกันความเสี่ยงและการขาดทุนด้วยความขยันของตนเอง
พึ่งตนเอง พึ่งธรรมชาติ พึ่งชุดความรู้ใหม่ เงินที่อยากได้จะไปไหนเสีย
ถ้าคุณภาพของงานดี เงินก็ดีโดยอัตโนมัติ
· เอกซเรย์ความรู้
ในต่างประเทศสภาพทางภูมิศาสตร์มีความชื้นสูง ชาวปศุสัตว์เน้นการปลูกหญ้า แล้วใช้เมล็ดธัญพืชผลิตเป็นอาหารข้นเลี้ยงสัตว์ แต่ในบ้านเราต้นไม้ยืนต้น80%ล้วนเป็นไม้ตระกูลถั่วทั้งสิ้น แต่เราไม่เคยเอาเรื่องนี้มาพิจารณา ทั้งๆที่ต้อนวัวไปเลี้ยงก็เห็นว่า วัวเล็มกินทั้งหญ้าและยอดไม้ เนื่องจากใบไม้กิ่งไม้ตามธรรมชาติมันเก้งก้าง บางทีก็อยู่สูงเกินไป วัวจึงแทะเล็มกินเฉพาะยอดไม้ ต่อเมื่อเราเอาใบไม้มาสับ อุปสรรคที่ทำให้ไม่สะดวกต่อการเคี้ยวหายไป วัวถึงกินใบไม้ได้อย่างหมดจด และอ้วนท้วนได้ดีกว่าการกินหญ้าและฟางแห้งๆอย่างที่ผ่านมา
: เคล็ดลับอยู่ที่
ต้องเอามาใบไม้มาสับก่อน ง่ายๆแค่นี้แหละที่ผมโง่เซ่ออยู่นาน
· การขยายผลความรู้
สิ่งที่ผมเล่ามาทั้งหมดเป็นความรู้ดิบ เป็นทักษะเบื้องต้น ที่จำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนาต่อไป เนื้อหาทั้งหมดนอกจากอธิบายตามสไตล์ชาวบ้านแล้ว ควรจะอธิบายในเชิงวิชาการได้ด้วย เรื่องนี้ไม่มีปัญหาในเมื่อเรามีพันธมิตรวิชาการทุกระดับอยู่แล้ว ผมจึงโยนเรื่องนี้ลงในลานปัญญา และทำเป็นเอกสารนำเสนอในเวทีต่างๆ ใช้วิธีคนเดียวหัวหาย..ยกโทรศัพท์ถึงดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร นักวิชาการเชี่ยวชาญงานวิจัยของกรมปศุสัตว์ ที่เคยยกทีมมาให้ความรู้ด้านปศุสัตว์หลายครั้ง หลังจากเล่าให้ฟังเรื่องอาหารสัตว์ที่กำลังเผชิญอยู่ ดร.วนิดาบอกว่า..วัวผอมๆถ้าได้อาหารดีจะมีอัตราเจริญก้าวหน้ากว่าวัวที่เลี้ยงตามปกติ และการใช้ใบไม้เลี้ยงโคเป็นเรื่องที่น่าพิจารณาเป็นพิเศษ ยังมีเรื่องคุณสมบัติของใบไม้แต่ละชนิด เช่น อาจจะมีสารบางชนิดที่ควรระวัง แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่มีปัญหา ในช่วงนี้จึงมีการบ้านที่ทำต่อเนื่อง เช่น
>>ค้นหาสูตรใบไม้ที่เหมาะสมในแต่ละฤดูกาล
>>ส่งชื่อใบไม้ไปให้ ดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร วิเคราะห์ธาตุอาหาร
>>นัดหมายคณะผู้เชี่ยวชาญอาหารสัตว์จากกรมปศุสัตว์มาเยี่ยมสวนป่าในเดือนหน้า
>>ประสานคุณวิฑูรย์ เหลืองวิริยะแสง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้
>>จะติดต่ออาจารย์แป๋ว คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้ช่วยวิเคราะห์เรื่องนี้
>>กิจกรรมค่ายทีมSCG.ปูนซีเมนต์ไทยมาอยู่ 5วัน จะให้เป็นวัวลองยา (แทนหนูลองยา)
>>กิจกรรมค่าทีมTT&T 5 รุ่น จะได้ฝึกกิจกรรมนี้
>>เสนอให้นักศึกษาหลักสูตรสันติวิธีสถาบันพระปกเกล้า ทดลองเอาแผนการนี้ไปส่งเสริมเลี้ยงแพะแกะและวัวใน3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
>>ในการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาเดือนหน้า ฝ่ายดำเนินการให้ผมรับผิดชอบ กลุ่ม6.SchoolBoardและ Community(คุณอัญชลี,ครูบาสุทธินันท์,ดร.ชาติชาย) จะเอาเรื่องนี้เสนอเป็นกรณีตัวอย่าง อธิบายความการเรียนเรื่องชีวิตและสังคม แห่งการเรียนรู้ จะมีวิธีทำให้ความรู้ดิ้นได้ระหว่าง ชุมชน-ครูอาจารย์-นักวิชาการนักวิจัย-นักธุรกิจ-นักพัฒนาสังคม จะเชื่อมโยงกันอย่างไร?
>>วันที่20สิงหาคม พระอาจารย์JJเชิญไปโม้ที่คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในประเด็นการจัดการ ความรู้สไตล์ปราชญ์ชาวบ้านเป็นฉันใด ผมก็จะเอาเรื่องนี้แหละไปขยายความให้เห็นแนวทางการร่มมือกันค้นหาความรู้ใหม่ ที่ง่ายๆแต่สามารถกระจายประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมไปทุกภูมิภาค
· ความรู้ดีมีค่าอนันต์
งานนี้ไม่ได้บดสับเฉพาะกิ่งไม้ ใบไม้ แต่ได้เอาปัญหามาสับๆๆ เอาความรู้ความคิดมาสับๆๆ เอาความปรารถนาดี ความตั้งใจดีมาสับๆๆ คลุกเคล้าให้เป็นเนื้อเดียวกัน เป็นอาหารบำรุงสติปัญญา นำไปให้พี่น้องร่วมชาติได้ชื่นชิม ได้แก้ไขกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาสังคมไทย และตอบโจทย์การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้กันอย่างสนุก
· หมายเหตุ
ยังมีรายละเอียดอีกเยอะ แต่ได้คุยกับหมอเจ๊ไว้ว่าสสสส.2 น่าจะเอาสูตรนี้ไปขยายผลที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พี่น้องชาวใต้จะได้เลี้ยงแพะแกะและวัวเป็นรายได้เสริมกันทั่วหน้า จึงอาสาเขียนรายละเอียดมาเพื่อให้ท่านผู้รู้ช่วยติติงให้เข้าที่เข้าทาง โปรดแนะนำเพิ่มเติมได้เลยนะครับ หรือจะบริจาคโคผอมเข้าโครงการคนละตัวสองตัว ก็โปรดมารับบัตรคิวมาได้ที่ลานสวนป่า แคว๊กๆๆ..
« « Prev : ซิปแตก
3 ความคิดเห็น
จะลองนำไปเสนอดูค่ะพ่อครู มีความเป็นไปได้สูงที่เพื่อนๆมุสลิมจะสนใจการขยายผล
ไหนๆก็จะส่งใบไม้วิเคราะห์แล้ว ฝากส่งเจ้าอ่อมแซบวิเคราะหซะเลยนะพ่อครู ที่ ๓ จังหวัดมีผักชนิดนี้ขึ้นได้ง่ายมากและงาม ที่ว่าคนกินได้ วัวกินดี นั้นจะได้เลือกใช้งานทั้งคน ทั้งสัตว์
คนที่โน่นกินผักตัวนี้ไม่เป็นค่ะ ปล่อยให้ชึ้นตามที่ว่างจากการใช้สอยแล้วตัดทิ้งเรื่อยไป จะได้ชวนให้นำมาใช้ประโยชน์เลี้ยงสัตว์แบบต้นทุนต่ำอย่างมีเหตุผลทางวิชาการค่ะ
แถบหงสา กับแถวๆภูพาน
เคยไปจัดเวทีเสวนาคนเลี้ยงงัว แบบที่ปล่อยขึ้นภูยามหน้านา
ท่านก็ว่าฤดูฝนวัวควายจะมักกินยอดไม้ใบไม้นะครับพ่อครู
แสดงว่าใบไม้ก็เป็นอาหารธรรมชาติของเขาเหมือนกัน เสียดายหากมีโอกาสต้องทำวิจัยเชิงลึกต่อไปว่าไม้ชนิดไหนที่วัวชอบกิน
ส่วนการเลี้ยงแบ้ในคอก นอกจากจะทดลองเลี้ยงด้วยใบไม้สับแล้ว ลองเอาแขวนเป็นกิ่งๆให้เขากินเล่นด้วยนะครับ ธรรมชาติของน้องแบ้ชอบกินใบไม้จากต้นครับ อันนี้เคยเห็นในลาวแต่นึกไม่ออกว่าที่เมืองไหนครับ
โครงการส่งเสริมการเลี้ยงแบ้ภาคใต้ เสนอให้ต่อยอดเป็นแพะพันธุ์นมน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งครับ น้ำนมแพะคุณภาพดี เอามาทำเนยก็ได้ (ใช้เลี้ยงแมวทารกได้ดีอีกต่างหาก) สวนอ้ายสี ที่วังเวียงเลี้ยงไว้เป็นร้อยตัวครับ
>> ออมแซบไม่ต้องทดลอง วัว แพะ แกะ กินอยู่แล้วหมอเจ๊
>> จะทดลองเลี้ยงแบ้เร็วๆนี้นะครับ