Facebook

โดย sutthinun เมื่อ 10 กรกฏาคม 2010 เวลา 18:07 ในหมวดหมู่ สวนป่าฮาเฮ #
อ่าน: 2460

(สงสัยท้องจะแตกคืนนี้)

การเปลี่ยนแปลงไม่เคยหยุดนิ่ง ทุกเวลานาที ติ๊กต๊อกๆ.. โดยไม่หยุดชะงัก-ไม่ชำรุด-ไม่ต้องหยุดซ่อมเสริม การคิด-มอง-ทำ-อะไรเดิมๆ-ไม่เอ๊ะใจ จะนำไปสู่วิถีเต่าล้านปี โลกหมุนและก้าวกระโดดทั่วโลก ไม่รู้วินาทีละกี่ล้านเรื่องกี่ล้านครั้ง การเก็งกำไรกับการปั่นราคากำลังปั่นไปปั่นมาจนป่วนทั้งโลก ความแห้งแล้งมาเยือนส่งผลถึงการขาดแคลนอาหาร ราคาอาหารโลกพุ่งกระฉูด ในไทยแค่ไข่ไก่แพงก็เต้นแร้งเต้นกากันแล้ว เดี๋ยวนี้ไปจ่ายตลาดเองสะดุ้งโหยงทุกที ผักชี2ต้นต้นหอม3ต้น รวมมัดละ5บาท นี่ราคาขายนะครับ แต่คนปลูกได้เท่าไหร่บ่ฮ้เน้อ ถามว่า เรามีภูมิคุ้มกันเรื่องนี้หรือไม่ อ้อย ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน และยางพารา เป็นสินค้าโยงพลังงาน ที่สำคัญเป็นสินค้าการเมือง มีคน4-5คนยกหูฮั๊วราคากันทุกอย่างก็ดิ้นกระแด่ว ถ้าจะเอาสินค้าเกษตรไปแลกน้ำมัน ไปแลกเทคโนโลยี ไปแลกสินค้าฟุ่มเฟือย มันทำให้ทั้งง่อยทั้งโง่ทั้งง๋อย ..เรามีวิฤติเรื่องพลังงาน และกำลังจะมีวิกฤติทางด้านอาหาร วิฤติการเมือง วิกฤติการศึกษา และวิกฤติแห่งการผสานความรู้สึกรู้สา

ทักษะชีวิต เป็นสิ่งที่สัตว์และมนุษย์ต้องเผชิญทั้งทางตรงและทางอ้อมตลอดเวลา ทุกหน่วยชีวิตมีภาระกิจที่หลากหลายและซับซ้อน ทำให้การจูนงานจูนใจบริหารเวลายากขึ้นทุกที สิ่งที่น่าสนใจมีให้เลือกให้ทำจนว้าวุ่น จะเขียนบล็อกเหมือนเดิมก็ดูจะไม่สนุกอย่างเก่า นักคิดนักเขียนนักประกอบการทางสังคมค่อยๆหายหน้าไปทีนะรายสองราย หลายคนกู่ไม่กลับ

สังคมแห่งการเรียนรู้มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด ต่อการก้าวกระดึ๊บของประเทศไอ่พวกที่ทะเลาะกันก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง แต่คงจะไม่อยู่ยงคงกระพันอะไรหรอกนะ ทุกผู้ทุกนาม-เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย-กันทั้งนั้น ถึงเวลาก็ล้มหายตายจากกันไป ในขณะที่โลกมีสิ่งรอให้มนุษย์หาคำตอบมากมาย ท้ายที่สุดมันก็จะเปลี่ยนผ่านไปเป็นอะไรต่อมิอะไร ทุกชาติเขาก็เผชิญอย่างเรานี่แหละ จีน-ลาว-เวียดนาม-เกาหลี-เยอรมัน-ศรีลังกา-อัฟกานิสถาน-มีทั้งผ่านร้อนผ่านหนาวและมะรุมมะตุ้ม

ประเทศไหนสะสางปัญหาได้ก็รุดหน้าต่อไป ประเทศที่ยังงุ่มมะหง่าหราก็ชักหน้าไม่ถึงหลังต่อไป สยามของเรามีความพยายามแต่ยังกระจัดกระจาย ยังรวมพลังกันไม่ได้ในวันนี้ แต่ในที่สุดแล้วถ้าไม่เลวร้ายจนขายผ้าเอาหน้ารอด คนไทยก็อาจจะพลิกวิฤติขึ้นมาเป็นพลังกู้ชะตากรรมของแผ่นดินได้ ถ้าสามารถสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้

ก่อนหน้านี้เราก็ร่วมเรียนรู้กันอย่างสนุก มาระยะหลังก็ค่อยๆแผ่วเบา ย่องเบาหายไปทีละรายสองราย แต่ไปโผล่ที่Facebook โอ้โหที่นี่เป็นชุมนุมนักปิ๊งแว๊บ ดูสนุกครึกครื้นกันใหญ่ สงสัยจะโดนใจ สะดวกใจ สอดคล้องกับจริตแห่งยุคสมัย เอาแค่ทักทายแว๊บๆก็แช่มชื่นแล้ว บางคนโอดโอย..จะเอาเวลาไหนมานั่งคิดนั่งเขียน ผู้บริหารก็เขม่นหาว่าเอาเวลาราชการมาคุยเล่น..แถมมีพันธกิจพันแข้งพันขาและพันใจ..สังเกตในโกทูโน ก็พบอาการเช่นเดียวกัน สังคมการเรียนนอกระบบกำลังค้นหาตัวเองอย่างขะมักเขม้น..

คำที่ขอถาม

ชุมชนชาวบล็อกควรจะขยับเขยื้อนอะไรบ้าง

ยอดกัลยาถึงจะกลับมาช่วยเขียนกันอีก

ความปรารถนาดีวางไว้เฉยๆอย่างนั้นหรือ

จุดบอดอยู่ตรงไหน? เป็นอย่างไร? มีอะไรบ้าง?

เสน่ห์ของบล็อกโดนน็อคแล้วหรือ?

สัมพันธภาพกำลังจะพังพาบแล้วหรือ?

บอกหน่อยได้ไหม?

อะไรที่ทำให้ที่รัก เซ็ง! เซ็ง! เซ็ง!

ผมเพิ่งจะเข้าไปเยี่ยมกราย Facebook

พบกระบวนการซู่ซ่ามาก

ยังไม่ทราบว่าอนาคตจะพัฒนาไปยังไงนะครับ

อะไรที่ง่ายกว่า จ๊าบส์กว่า ย่อมเป็นแม่เหล็กดึงดูดใจ..

Facebook เป็นพื้นที่ชาวโกทูโนมาพบชาวลานปัญญา

อีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ และครั้งต่อๆไป..

แทนที่จะอี๋อ๋อกันไม่กี่คน

ก็เปิดใจเปิดโลก..สุดๆ..สุดที่จะพรรณนา

ขอความเห็นเรื่องนี้ด้วยนะครับ

จะได้รู้ว่าผมเพ้อไปเอง หรือ เดี๊ยงไปแล้ว..

แอ๊ะ แอ๊ะ อิ อิ อะ อะ

« « Prev : โยนใจถามหิน

Next : เบ่งเต็มที่เลยน้อง » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

13 ความคิดเห็น

  • #1 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 กรกฏาคม 2010 เวลา 19:20

    ผมว่า Facebook ก็เหมาะกับคนบางประเภทครับ — ลักษณะฉาบฉวย ไม่เขียนอะไรเป็นเรื่องเป็นราว ส่งลิงก์ต่อกันไปเรื่อยๆ หรือจะให้ความเห็นส่วนใหญ่ก็ทีละบรรทัด ทักทาย ปฏิสันถาร แล้วก็เล่นเกมส์ — ในส่วนของข้อความ Facebook เหมาะกับกระแสที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอย่างรวดเร็ว และไม่มองไปข้างหลัง คืออ่านแล้วผ่านเลย เพราะปริมาณข้อมูลมหาศาล จัดการไม่ได้

    ก็ไม่ผิดที่จะใช้ Facebook หรอกครับ มีคนไทยใช้สักสองสามล้านคน (ผมก็ใช้) แปลว่ามันต้องเหมาะกับหลายคน แต่ยืนยันว่าไม่ได้เหมาะกับทุกคน

    เมื่อวาน GotoKnow มีปัญหาชั่วคราว แต่เห็นว่าวันนี้แก้ไขเรียบร้อยแล้วครับ — บล็อกก็ยังเป็นบล็อก Facebook ไม่เป็นบล็อก ถึงแม้จะเขียน Note เป็นเรื่องยาวๆ ได้ แต่มันก็ไม่ใช่บล็อก แล้วผมก็ไม่ได้คิดว่าทุกคนจะเหมาะกับบล็อกเช่นกันครับ

  • #2 Lin Hui ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 กรกฏาคม 2010 เวลา 20:21

    เทคโนโลยีไอซีที พัฒนาทุกวินาที เพื่อสนองความต้องการด้านการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ ของประชากรของโลกทั้งด้านความเร็วของข้อมูลเสียงภาพ ฯลฯ และทันต่อเหตุการ รวดเร็ว ยิ่งมีเครื่องมือที่ใช้สะดวกง่าย แม้จะเขียนได้ไม่ยาวนักในแต่ละครั้ง แต่สามารถ บริหารจัดการเขียนให้ต่อเนื่อง เป็นเรื่องเป็นราวได้ไม่จำกัด  ขึ้นอยู่กับผู้ใช้มีจุดประสงค์จะใช้เฟสบุ๊คในแง่ไหน ผู้ใช้จะต้องมีจิตสำนึกไม่สร้างความเสียหายให้กับสังคม แต่เป็นสังคมออนไลน์ที่ใหญ่มากๆ อาม่าได้รับประโยชน์อย่างมหาศาล ในการติดต่อกับญาติที่อยู่ต่างประเทศ และช่วยกันค้นหาประวัติศาสตร์ของครอบครัวค่ะ ไอซีที เป็นเครื่องมือ แต่คนใช้เครื่องมือคือคนค่ะ……ขึ้นอยู่กับบุญบาปของแต่ละคน ทำดีได้ดีเสมอค่ะ อาม่าเชื่ออย่างนั้นค่ะ  อิอิอิ

  • #3 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 กรกฏาคม 2010 เวลา 21:29

    เพิ่งมาถึงมุกดาหาร เพราะพรุ่งนี้มีนัดกับชาวบ้าน

    • ผมมีเครือข่ายประเภท facebook อีก 5 ชนิด แต่ที่เข้าไปเยี่ยมมากที่สุดก็ facebook ซึ่งเป็นกลุ่มเฉพาะ ชมรมคนดูเมฆของ ดร.บัญชา จาก G2K ที่มาเปิดสาขาที่นั่น ระบบมันลากเราไปพบเอง ก็เลยใช้เวลาอดิเรกไปเรื่องเมฆตามโอกาสของแต่ละวัน ผมถือว่าเป็นการผ่อนคลายเล็กๆน้อยๆจากการทำงาน
    • เคยลองเขียนบันทึกลงใน Facebook ลองดูสองสามครั้งก็เข้าใจธรรมชาติของเขาว่าไม่ใช่วงสังคมแลกเปลี่ยนแบบลงลึก ต่อเนื่อง แต่แค่ฉาบฉวยผ่านไปมา
    • Facebook เป็นแบบเจ๊าะแจ๊ะในลานมากกว่า แบบผ่านข้อมูลสั้นๆ แล้วก็ผ่านไป เหมือนไปดูตลาดนัด เดินผ่านไป ผ่านไป เจอะเจ้าของร้านก็ทักทายกันสองสามคำแล้วก็เดินต่อไปร้านอื่น
    • แต่ ลาน หรือ g2K เป็นการไปงานนิทรรศการเชิงวิชาการมากกว่า เรามีเวลาอ่าน ดู พิจารณา ซึมซับ และตอบสนองต่ีอภาพแดสงนั้น ติชมได้ ต่อยอดได้  มากกว่า และน่าจะผูกพันกันมากกว่าด้วยครับ
    • หากพ่อครูตั้งคำถามถึงเวลาที่ลานจะขยับอะไรบ้าง นั่นเป็นประเด็นที่สมาชิกน่าจะแสดงความเห็นแบบตรงไปตรงมาเพื่อแลกเปลี่ยนกันได้ครับ
    • ลานหรือ g2k น่าที่จะเป็นแบบของ blog อีกกลุ่มหนึ่งที่มีความเป็นชุมชนสูงกว่า facebook ครับ
  • #4 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 กรกฏาคม 2010 เวลา 21:50

    ขอบคุณทุกความเห็น เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทำให้ชัดเจนขึ้นว่าควรจะเลือกใช้งานอย่างไร?
    FB มีจุดเด่นตรงได้เจอคนที่หลากหลาย เพื่อการติดต่อขอความรู้ความเห็น แต่ก็น่าจะเป็นคนเก่าแก่ที่รู้จักกันมาก่อน
    สำหรับคนใหม่ ไม่คุ้นชินก็เก้งก้างกันไป ลานปัญญายังหาคนบ้าเขียนไม่ค่อยได้ อิอิ

  • #5 freemind ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 กรกฏาคม 2010 เวลา 22:08

    อ่านคำถามโดนใจแล้ว…
    คืนนี้ขอไปนอนคิดสักคืนค่ะ
    แล้วค่อยมาตอบ … วันนี้ง่วงนอน ๆ ๆ คิดแบบเบลอ ๆ ตอนนี้…หย่อนไว้หน่อยค่ะ…

    คำถามของพ่อที่ว่า สน่ห์ของบล็อกโดน น็อคแล้วหรือ?

    สัมพันธภาพกำลังจะ พังพาบแล้วหรือ?…ฯลฯ…


    สำหรับตัวเองแล้วชอบบล็อก เพราะรักที่จะใช้เวลาที่เป็นช่วงสะดวกของตัวเอง อยากเขียน อยากตอบ อยากเข้า อยากออก เมื่อไหร่กำหนดได้ด้วยต้ัวเอง

    ลักษณะของบล็อก ต่างกับ Facebook ทั้งในด้านวัตถุประสงค์และวิธีการ คนใช้ย่อมเลือกลักษณะของเว็บที่เหมาะกับสภาพของตัวเอง

    เรื่องคนจะมาเขียนมากน้อย… คงขึ้นกับปัจจัยแวดล้อม ความพร้อมของแต่ละคน ไม่ได้เทียบเพื่อตัดสินอะไร ที่ลานปัญญามีคนที่อ่านมากกว่าคนเขียน (สังเกตได้จากจำนวนผู้อ่าน)  การคอมเม้นท์มีน้อย แต่เป็นคอมเม้นท์คุณภาพจริง ๆ ที่อื่น ๆ จะมีลักษณะของการ “คอมเม้นท์ตอบ” เพราะคนอื่นมา “เม้นท์” เราต้องไปเี่ยี่ยมและ “เม้นท์ตอบ” บางทีไม่มีเวลาอ่านด้วยซ้ำไป แต่เห็นชื่อเพื่อนก็ต้องไปเม้นท์ให้…ทำนองนี้

    ตาปรือ ๆ ง่วง ๆ … เลยสรุปตรงนี้ว่า

    • คนจะมาเขียนเมื่อเขาอยากเขียน มีความพร้อม
    • ประเด็นที่ควรคิดคือ ทำอย่างไรจะสร้างแรงกระตุ้นให้คนอยากเขียนและพร้อมจะเขียน
    • ตั้งประเด็นไว้เดี๋ยวจะซ้อนประเด็นที่พ่อตั้งไว้อีก ตอบเองแล้วกันว่า “คนเป็นสัตว์สังคม” คนต้องการได้รับการยอมรับและรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง เขียนไปก็อ่านเอง ไม่มีคนเม้นท์ ไม่มีความเห็น แถมบางความเห็นก็ดูเหมือนจะเข้าใจยาก … เราก็แค่คนปัญญาน้อย ๆ อย่าเขียนเลย (ว้า) …ค่อย ๆ ห่างหายไปในที่สุด
    • ดังนั้น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จะเกิดขึ้น มักอยู่บนพื้นฐานของความคุ้นเคย ไว้วางใจ สบายใจ และให้เกียรติกัน (นอกเหนือจากเรื่องที่สนใจและมีข้อมูลที่จะเห็นว่าจะเสริมหรือแตกต่าง) ซึ่งลานเจ๊าะแจ๊ะก็ช่วยสร้างความสัมพันธ์คุ้นเคยกันอยู่แล้ว
    • …..@_@……

    ขอไปนอนคิดต่อนะคะ…ง่วงแล้ว

  • #6 freemind ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 กรกฏาคม 2010 เวลา 22:10

    พอเม้นท์เสร็จ…เห็นของพ่อครูบา…
    หนูยกมือ…หนูเป็นคนบ้าเขียน ไม่มีใครอ่าน ไม่มีใครเม้นท์ … อยากเขียน ก็เขียน …อ่านเองก็ได้…555555

  • #7 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 กรกฏาคม 2010 เวลา 22:41

    มาเขียนต่อครับ… มีคนตามอ่านบันทึกผมจากนอกลานปัญญาเยอะเหมือนกัน แต่ว่าไม่ใช่ว่าทุกคนจะชอบบล็อก หรือชอบอ่านจาก RSS

    ดังนั้น ผมจึงใช้ plug-in ชื่อ Tweet Me เพื่อกระจายข่าวว่าผมมีบันทึกอันใหม่แล้ว; การทำอย่างนี้ ใครชอบอ่านจากอะไรก็อ่านอย่างนั้น เราไม่ต้องไปคิดแทนเขา; พอโพสต์บันทึกแล้ว ผมก็มากดปุ่ม Twitter เพื่อส่งบันทึกนี้ลง Twitter แล้วจาก Twitter มันส่งต่อไปยัง Facebook เองอีกทอดหนึ่ง; ใครให้ความคิดเห็นบน Twitter ผมก็คุยบน Twitter ถ้าใครให้ความเห็นบน Facebook ผมก็คุยบน Facebook ครับ

    ท้ายบันทึกของผมทุกบันทึก จะเห็นว่ามีรูปสัญลักษณ์ของ Social Network และ Social Bookmark อยู่ 5 อันคือ Twitter, Delicious, Digg, Facebook และ MySpace ซึ่งถ้าหากคลิกตรงชื่อใดชื่อหนึ่ง มันจะนำบันทึกของผมขึ้นไปบนเครือข่ายสังคมที่แต่ละคนใช้อยู่ — อย่างเช่นคลิก Facebook มันก็จะ Share บันทึกของผม โดยเขียนไปที่ Wall ของสมาชิก Facebook คนที่คลิก (ถ้าไม่เอา กด Cancel ถ้าเอา กด Share) — ถ้าอ่านหน้ารวมของบล็อก จะไม่เห็นอะไร แต่ถ้าอ่านที่ตัวบันทึก จึงจะเห็น Social Network/Bookmark นะครับ

  • #8 sompornp ให้ความคิดเห็นเมื่อ 11 กรกฏาคม 2010 เวลา 1:21

    เรื่องของน้าอ่ะพ่อ
    อิอิอิ
    ใครชนะตั้งเป็นชื่อลูกวัวเลยนะพ่อ
    …..
    ไม่เกี่ยวกับคำถาม
    เพราะไม่มีคำตอบ
    ….
    อิอิอิ

  • #9 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 11 กรกฏาคม 2010 เวลา 9:40

    จะมีการจัด UKM. วันที่ 2-3 สิงหาคม ศกนี้
    ปีนี้มีมหาวิทยาลัยราชภัฏสารคามเป็นเจ้าภาพ
    หลังจากนั้น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาชวนคุยเรื่อง KM. วันที่ 19-20
    วันที่ 19 สค.อาจารย์JJและคณะลงมาคุยที่สวนป่า
    วันที่20 สค.ย้ายไปคุยที่ ม.ขอนแก่น
    เพื่อหาข้อมูลแวดล้อมของสภาพการใช้สื่อเพื่อการเชื่อมต่อความรู้
    และถอดความคิด ตามสภาพจริงที่เกิดขึ้นในองค์กรและสถาบันต่างๆ
    เป็นการทำการบ้านตามสไตล์ของคนป่า
    จึงโยนประเด็นให้กระเด็นกระดอน
    ท่านที่นอนแล้วมีแฮงลุกขึ้นมาแจกแจงต่อได้เลยละครับ
    ทุกความเห็นเป็นสะพานความรู้ที่ยอดเยี่ยม อิ อิ อิ

  • #10 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 11 กรกฏาคม 2010 เวลา 9:47

    เรื่องประกวดตั้งชื่อลูกวัว ขอไปเอารูปมาประกอบจินตนาการ
    รอแป๊บหนึ่งนะน้า อิอิ

  • #11 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 11 กรกฏาคม 2010 เวลา 9:55

    freemind บ้าเขียนนะดีแล้ว การอ่านไม่เกี่ยวกับเรา เป็นภาระหน้าที่นอกเหนือการควบคุม
    แต่ถ้าส่งผ่านความรู้สื่อสารยังกลุ่มอื่นๆได้หลากหลายอย่างที่รอกอดทำ
    ก็น่าจะไปหนุนเสริมการสร้างสังคมแห่งการเรียนได้มากขึ้น
    บริบทเรื่องนี้อยู่ในกระบวนการปฏิรูปประเทศไทยด้วยนะ
    จุดเริ่มสำคัญอยู่ที่การเขียน
    หลายคนชะงักเขียน นานมากแล้ว
    เมื่อไหร่จะได้กฤษ์งามยามดี
    มีความคันอยากคิดอยากเขียนคืนมาเมี๊ยนเดิม
    รึจะรอให้เชิดสิงห์โตก่อน อิอิ

  • #12 อุ๊ยสร้อย ให้ความคิดเห็นเมื่อ 11 กรกฏาคม 2010 เวลา 21:00

    facebook ในสายตาของตัวเองแล้ว เหมาะสำหรับการติดตามข่าวสั้นๆ …ที่ตามดูคือชมรมคนรักมวลเมฆของ ดร. บัญชา ..ชอบตามประสาคนชอบดูฟ้าน่ะค่ะ

    ส่วนการเขียนบล็อก…ก็คงเหมือนการเขียนทั่วไป คือมีทั้งคนที่ชอบเขียน คนชอบเขียนแต่ไม่ชอบตีพิมพ์ คนไม่ชอบเขียน คนชอบอ่านแบบอ่านทุกเรื่อง อ่านบางเรื่อง ไม่อ่านสักเรื่อง ฯลฯ
    คนไม่ชอบเขียนไปเข็นอย่างไรก็ไม่ค่อยเขียนแต่คนที่เขียนๆ แล้วหายไป นี่ก็น่าคิดนะคะว่า เพราะอะไร ..

    สังคมไซเบอร์ส่วนมากเข้าทำนอง …จับต้องไม่ได้แต่เจ็บจริง (ปราย พันแสง)

    แต่กับสังคมลานปัญญา ….ถึงตอนนี้ก็คิดว่าอาจจะแตกต่างจากสังคมไซเบอร์อื่นๆ ตรงเรื่องของความรู้สึกว่าต้องตีความจากคำแล้วเอาไปเป็นเรื่องงอนกันไปงอนกันมา ..หรือว่าเกร็งกลัวว่าเขียนแล้วจะมีสาระไหม ..หรือว่าเขียนแล้วเกร็งว่า จะทำให้เสียภาพลักษณ์หรือเปล่า ฯลฯ ..สังคมลานปัญญาน่าจะหาทางทำให้มีน้อยลงในเรื่องพวกนี้ค่ะ

  • #13 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 11 กรกฏาคม 2010 เวลา 21:51

    มีเครื่องมือช่วยให้เชื่อมโยงกัน..ก็ยังต้องทำการบ้านกันต่อๆๆไป
    ที่เรียกร้อง ไม่มีอะไรหรอก อยากอ่านอะไรๆที่มากกว่านี้
    เว้นวรรคนานๆๆ ทำให้คิดถึง จึงโหยหวน อิ อิ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.071765899658203 sec
Sidebar: 0.064190149307251 sec