โยนใจถามหิน
อ่าน: 2071
ไปอุบลเที่ยวนี้ จรลีกระชึกกระชัก ตื่นแต่ตี5 พาตัวเองไปป๋อหลออยู่ดอนเมือง ไฟล์นี้ผู้โดยสารเต็มลำ คราคล่ำไปด้วยผู้ที่จำเป็นต้องเดินทางไปทำภารกิจ ระยะทางขนาดนี้ ถ้ามีรถไฟด่วนหัวกระสุนเหมือนอย่างในต่างประเทศ จะดีกว่าไปไหนมาไหนทางอากาศมากนัก แต่บ้านเราไม่มีแผนแม่บทพัฒนาการขนส่งระบบราง ไปบ้าสร้างถนนให้สิ้นเปลืองพลังงานและค่าโสหุ่ยด้านยานยนต์ เมื่อวางแผนไม่รอบคอบ ผลกระทบก็เกิดขึ้นอย่างที่เราๆท่านๆรับกรรมกันอยู่นี่ละครับ จ่ายค่าโง่อยู่เรื่อยๆนะพวกเรา..
ระหว่างเดินทางก็เจออาคันตุกะจากสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) นำทีมโดยท่านผู้อำนวยการสำนัก ศาตราจารย์สวัสดิ์ ตันตระรัตน์ พันธกิจสำคัญคือการทำพิธีลงนามความร่วมมือเพื่อพัฒนางานวิจัยท้องถิ่น ระหว่างสกว.กับ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี งานนี้เรื่องเด่นประทับใจมากจากการบรรยายพิเศษ “เรื่องมหาวิทยาลัยยุคใหม่กับการพัฒนาฐานรากของสังคมไทย” โดย รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์เป็นคณะทำงานด้านนโยบายเร่งรัดการศึกษาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีหน้าที่วิเคราะห์ปัญหาการศึกษาไทย จะแกะจะเกาจะแก้ให้มันเข้าที่เข้าทางและเดินหน้าไปอย่างสัมฤทธิผลกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้อย่างไร อาจารย์อยู่ในบริบทสะกิดสะเกาการศึกษาไทยมานาน เป็นผู้ที่คิดนอกกรอบ และกล้ากระทุ้งสิ่งที่เห็นว่าสมควรจะทำให้ดีกว่านี้ได้..อยู่สม่ำเสมอ ผมฟังก็ก็ได้แต่เสียดาย อยากให้อาจารย์ทั้งหลายได้ฟังเรื่องดีๆสนุกๆอย่างนี้บ้าง คิดว่าท่านบางทรายคงจะเก็บรายละเอียดมาฝากชาวลานปัญญา โปรดรอติดตามด้วยความระทึกระทวยใจ
วิธีทำงานเชิงนโยบายของรัฐบาลยุคนี้น่าสนใจ ท่านนายกรัฐมนตรีจะตั้งกรรมการให้ศึกษาเรื่องต่างๆหลายคณะ ในหัวข้อเดียวกัน แบบให้ต่างคนต่างคิด ถ้าประเด็นไหนที่โผล่ออกมาอยู่ในลำดับต้นๆตรงกัน ก็เชื่อแน่ว่าจะเป็นประเด็นที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะเร่งแก้ไข อาจารย์สมพงษ์ จิตระดับ ท่านอยู่ในกลุ่มนักวิชาการหัวก้าวหน้า ผมอยู่ในกลุ่มนอกระบบอิงภาคธุรกิจ ดังที่เล่าไปแล้วในตอนที่ผ่านมา
ช่วงบ่ายเป็นการอภิปรายเรื่อง“มหาวิทยาลัยของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” เป็นมุมมองของผู้ที่นอกวงการศึกษาทั้งสิ้น คุณปริญญา กรวยทอง เป็นผู้ดำเนินรายการ เปิดผ้ากั๊งโดย ท่านนิกร วีสเพ็ญ ผู้เป็นหน่อเนื้อเชื่อไขขนานแท้ของชาวอุบล อีกทั้งยังเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย อดีตเป็นดูแลโครงการซิฟของภาคอีสาน จึงสะท้อนการศึกษาอีสานได้อย่างจัดจ้านเลยละครับ ตามด้วยผมที่มีหัวโขนเป็นรองประธานคณะกรรมการด้านการส่งเสริมวิจัย ได้บอกกล่าวเล่าแจ้งว่าชาวบ้านเมียงมองชาวมหาวิทยาลัยอย่างไร ทำไมถึงไม่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับสังคมไทย กบดานอยู่แต่ในมหาวิทยาลัยมานานแล้ว ควรจะออกไปเรียนรู้ร่วมกับภาคประชาคม ควรเอาวิชาการไปแลกกับวิชาชีวิต ผมเปิดคริปตัวอย่างการวิจัยแบบไทบ้านให้ชม เป็นเรื่องของการเอาใบไม้เลี้ยงสัตว์ อธิบายให้เห็นว่า..งานวิจัยที่โดนใจไทบ้านนั้น เกิดประโยชน์ต่อการเผชิญกับปัญหาอาหารสัตว์ที่กำลังขาดแคลนได้อย่างเบ็ดเสร็จ ถ้ามีชุดความรู้ที่กระจ่างใจ เห็นผลในทันทีทันใด ใครๆก็นำเอาใช้ได้ทั่วประเทศ งานวิจัยง่ายๆชัดๆตรงๆอย่างนี้ละครับ ที่อยากจะร้องขอให้นักวิจัยในสถาบันต่างๆช่วยกันผลิตออกมาเยอะๆ ผมตบท้ายด้วยเพลงกล่อมลูก ชวนให้ฟังกันซึ้งๆว่าภูมิปัญญาท้องถิ่น มีวิธีถ่ายทอดความรักความดีงามใส่โสตประสาทลูกหลานตั้งแต่ยังแบเบาะอยู่ในอู่
หลังจากนั้นก็เป็นคิวของท่านบางทราย ที่ผมขอร้องให้ผู้จัดเชิญมาให้ได้ ท่านบางทรายเป็นผู้สันทัดกรณีตัวจริงเสียงจริง เข้าไปขลุกกับชุมชนอย่างถึงแก่น แถมบ้านยังอยู่ขอนแก่นอีกต่างหาก..ชาวเราได้ฟังเรื่องผีปอบผ่านบล็อก-ผ่านทีวี-แต่ผมโชคดีกว่านั้นได้ฟังสดๆ ประทับจิตในวิธีคิดใคร่ครวญที่นำเสนอ ท่านพี่บอกว่า คนอีสานกลัวผีปอบสิ่งกว่ากฎเกณฑ์ใดๆ กติกาของสังคมศักดิ์สิทธิ์กว่ากฎหมายใดๆ คือการกินน้ำสาบาน ง่ายๆตรงๆที่ทรงพลานุภาพยิ่งนัก ดังนั้นเรื่องความเชื่อของมนุษย์นั้นมองข้ามกันง่ายๆไม่ได้หรอก ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ เกจิด้านรักแล้วรักเลยว่าไว้ยังงั้น
วิทยากรท่านสุดท้ายที่เด็ดสาระตี่ ได้แก่ท่านอดิศร พวงชมพู ผู้บริหารสยามแฮนด์กรุ๊ป ท่านนั้นไม่เฉพาะมือหรอกนะยังใจอาชีพอีกด้วย หรือเหมาโหลเรียกได้ว่าทั้งเนื้อทั้งตัวนั่นแหละ มีจิตสาธารณะมองทะลุไปถึงไหนๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการศึกษาและการพัฒนาสังคมไทย นอกจากประสบความสำเร็จด้านธุรกิจอย่างยิ่งแล้ว ท่านยังเป็นอาจารย์พิเศษให้แก่มหาวิทยาลัยต่างๆ ข้อคิดเห็นแต่ละจุดจึงจะแจ้งแดงแจ๋ ท่านบอกว่า..วันที่รับปริญญาคือวันถือใบลา บัณฑิตส่วนใหญ่ต้องลาท้องถิ่น ท่านเรียกสั้นๆว่าใบลา…ใครได้ใบนี้มาก็ตั้งท่าแต่จะทิ้งถิ่น ต่างบ่ายหน้าบอกลาบ้านเกิดเมืองนอน ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ไปแล้วไปเลย แสดงว่ามหาวิทยาลัยสอนวิชาทิ้งถิ่นใช่ไหมครับ วิชาที่จะอยู่ท้องถิ่นได้ทำไมไม่สอน สังเกตุบ้างไหมว่าคนในท้องถิ่นไม่มีความรู้ที่จะอยู่ในท้องถิ่น จึงแตกซ่านพล่านกระเซ็นเป็นไส้เดือนถูกขี้เถ้า ..ท้องถิ่นวิกฤติประมาณนี้แล้ว คณาจารย์ยังจะก้มหน้าก้มตาสอนตำราเก่าๆ ไม่เหนื่อยไม่เซ็งบ้างหรืออย่างไรไม่รู้นะ เอาวิชาบวกเข้า กับชีวิต พานิสิตนักศึกษาออกท่องโลกข้างนอกบ้าง คิดค้นชุดความรู้ที่เป็นของตนเองบ้าง วิจัยจริงจังแล้วเอาผลการวิจัยไปสอนในภาควิชาตนเองบ้าง โล๊ะความรู้เก่าออกไป บรรจุสิ่งที่วิจัยได้ใหม่ๆเข้าไปแทน สาระวิชาที่ปรับปรุงตลอดเวลาก็จะเป็นชุดความรู้ที่ทันกาลทันความเปลี่ยนแปลง ผลดีก็จะไปตกอยู่ที่นักศึกษา ผลลัพธ์ก็จะไปตกอยู่ที่ชาติบ้านเมือง ถ้าพลเมืองมีสติปัญญาพอเพียง การพัฒนาจะไปไหนเสีย
เมื่อประมวลเข้ากับที่อาจารย์สมพงษ์ จิตระดับ แจกแจงไว้ช่วงแรกแล้ว ถ้าใส่ใจที่จะสร้างเนื้อสร้างตัวให้เป็นมหาวิทยาลัยของประชาชนจริงๆ ก็ควรจะแปรรูปความรู้สึกนึกคิดใหม่ได้แล้วละครับ ถามกันหน่อยว่า..วันนี้เราอยู่กับความรู้อะไร!
พอลงเวทีท่านคณบดี ดร.สุรีย์ ธรรมิกบวร คณะพยาบาลศาสตร์เข้ามาเจรจาต้าอวย บอกว่านัดนักศึกษาไว้แล้ว ขอให้ผมไปจูนใจนักศึกษาพยาบาลรุ่นที่1ให้หน่อย ผมกลัวผีหลอก..จึงชวนท่านบางทราย(ผู้สันทดกรณ๊ผีปอบ) ไปถึงนักศึกษา60ชีวิตนั่งเรียงเป็นพระอันดับอยู่แล้ว
รายการนี้มีท่านนายกสภาฯมาร่วมแจมด้วย เป็นสิริมงคลแก่การเชื่อมโยงใจอย่างมากเลยละครับ เมื่อท่านผู้หลักผู้ใหญ่เมตตามาพบนักศึกษาโดยไม่คาดฝัน หลังจากนั้นผมให้นักศึกษาแนะนำตัวเองเรียงตัวเป็นภาษาพื้นถิ่น เว้าลาวเว้าเขมรก็ได้ เพื่อจะดูลีลาท่าทีและหน่วยก้านของแต่ละคน ใช้ได้ทีเดียวละครับ เพียงครึ่งเดือนที่นักศึกษาได้เข้ามาใช้ชีวิตนักศึกษาที่นี่ หลายคนได้สะท้อนความคิดๆดีๆออกมา โดยเฉพาะความภาคภูมิใจของตนเองและครอบครัว ได้ยินคำว่า “จะตั้งใจเรียน” ฟังแล้วปลื้มมากเลยละครับ ผมกับท่านบางทรายช่วยกันเชื่อมหัวใจเสริมใยเหล็กประมาณ2ชั่วโมง ก็ได้เวลาอำลา..ตกลงกันว่า นักศึกษาและอาจารย์พยาบาลรุ่นนี้จะบุกสวนป่าเดือนตุลาคม ตามด้วยคณะแพทย์ศาสตร์ พี่ป้าน้าอาที่สนใจจะมาร่วมปลอบขวัญลูกหลานเมืองอุบล ก็เตรียมกากะบาดปฏิทินไว้นะขอรับ
จบรายการ ท่านบางทรายขับรถปุเลงๆกลับขอนแก่นคนเดียว ผมกับท่านนายกสภาฯแว็บไปกินข้าว พร้อมๆกับได้ข่าวสายการบินอีแร้งแก่เลื่อนเวลามารับออกไปอีก 2 ชั่วโมงเศษ ต้องไปนั่งหง่าวอยู่สนามบิน กลับมาถึงเตียงตอน5ทุ่มเศษ ถามเทวดาว่าบอลถ่ายทอดกี่ทุ่ม..ก็ตั้งใจจะดูนะครับ แต่ความอ่อนเพลียไม่เข้าใครออกใคร ตื่นมาอีกทีแจ้งจ่างป่าง
แทนที่จะได้ดูบอลก็เปลี่ยนไปดูข้าวหมูแดง-ต้มเลือดหมูแทน
มีหนูสิบล้ออาสาไปส่งที่รถทัวร์
ก็ขอขอบคุณในความอุปการะของญาติมิตรทั้งหลาย
ที่ช่วยให้กลับมานอนดูบอลคู่ เยอรมัน-สเปน ที่สวนป่า
แล้วผลก็ออกมาตรงกับที่เจ้าปลาหมึกทองทายไว้เป๊ะ
นี่ไงละ..ไม่เชื่ออย่าลบหลู่
« « Prev : อย่าปล่อยให้ความ เขลาไม่มีที่อยู่
Next : Facebook » »
5 ความคิดเห็น
เฮอ หัวอกครู ก็ยังงี้แหละ
อืม………..
เห็นหัวข้อที่บรรยายกันแบบนี้ คิดถึงการประชุมเพื่อนำเสนอการทำงานพัฒนาท้องถิ่น(ตัวจริง)เสียงจริง
ชาวเฮฮาศาสตร์ น่าจะเป็นเจ้าภาพจัดกันบ้างนะครับ
หน่วยงานของรัฐจัด เห็นที่ว่าจะเอาไปเสนอเป็นผลงานวิชาการกันเพื่อเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งกันโดยมาก
ขอบพระคุณท่านครูบาสุทธินันท์ และท่านอาจารย์บางทรายค่ะ ที่กรุณามาร่วมสร้างนักศึกษารุ่นหนึ่ง เป็นอีก หนึ่งวันที่นักศึกษา อาจารย์ บุคคลากร ถือเป็นสิริมงคล ที่มีโอกาสรับฟัง เรียนรู้ เชื่อว่าคำว่า ตั้งใจเรียน จะเป็นคำที่นำพานักศึกษาให้เรียนรู้ ผ่านพ้น อย่างมีคุณภาพทุกคน
ช่วงตุลาที่จะไปคือวันที่ 22-24 ตค 53 ค่ะกำลังชวน ท่านคณบดี อาจารย์หมอ ป่วน วิทยาลัยแพทยืและการสาธารณสุข นำนักศึกษาสาธารณสุข และนักศึกษาแพทย์ไปพร้อมกันค่ะถ้าทุกอย่างลงตัว นักศึกษาจะได้เรียนรู้ทีมการทำงาน ผ่านประสบการณ์เรียนรู้วิถีพอเพียง เพื่อสุขภาวะ ปรับมุมมองสร้างจิดสำนึกรักบ้านเกิด และจิตอาสา ลึกซึ้งกับนิยามสุขภาพที่มากกว่าโรค และการเจ็บป่วย แต่คือวิถีชีวิต วิธีคิด มุมมองต่อโลก ตื่นรู้ที่จะเป็นกำลังสำคัญส่วนหนึ่งนำความสุข สงบ สามัคคีสู่ชาติไทย
ใน 72 ชั่วโมงที่นักศึกษาเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ ด้วยกัน คงสามารถวางเพาะเมล็ดพันธ์ไว้ได้บ้าง จริง ๆ แล้วนักศึกษาส่วนใหญ่คือลูกหลานในชุมชนอยู่แล้วแต่การเรียนที่ผ่านมาอาจทำให้ห่างไปบ้าง
ลงไว้ในตารางแล้วครับ 22-24 ตุลาคม