เดือนสิงหาฯไปเที่ยวจุฬาฯไหมน้อง?
อ่าน: 1299
(หน้าตาเมนูฤๅษี ต้มจืดเห็ดเผาะยอดผัก)
เมื่อชีวิตและสังคมดำเนินมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อ
มีหลายคำถามผุดพรายขึ้นมาอย่างน่าสนใจ เช่น
“คนไทยรักชาติไทยไหม? มีใครเคยสำรวจเรื่องนี้ไหมครับ?”
มีเรื่องอยากรู้อยากเห็นมากมายนัก
และเรื่องที่สมควรรู้เห็นก็มีเป็นกะตัก
ผมได้รับการติดต่อจากอาจารย์สถาบันวิจัยสังคมจุฬาฯ
ชวนคุยเรื่องหลักสูตร ป.โทปรับปรุงใหม่
ของภาควิชาสหวิทยาการสาขาการพัฒนาสังคมมนุษย์
เน้นเนื้อหาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
เรื่องนโยบายสังคมและเรื่องการจัดการความรู้
อาจารย์ที่ดูแลหลักสูตรเล่าว่า รุ่นนี้เป็นหญิง6คนชาย2คนรวม8คน ต้องการจัดการเรียนในบรรยากาศแบบโยนไมค์เพื่อแลกความคิดเห็น อยากให้ไปโยนประเด็นที่เกิดขึ้นสดๆร้อนๆ-ประเด็นเชิงนโยบาย-ปรากฏการณ์ที่เกิดในสังคมภูมิภาค และเรื่องที่กำลังเป็นจุดสำคัญของการบ้านการเมือง ที่นายกรัฐมนตรีประกาศแนวทางให้ทุกฝ่ายมาร่วมด้วยช่วยกันสมานฉันท์ ที่เกี่ยวข้องกับการรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วน ตามรายการนายกพบประชาชนที่ได้แจกแจงไปแล้วเมื่อเช้านี้ มีประเด็นที่ฝ่ายต่างๆออกความเห็นแบบเร็วๆภายในกรอบ2สัปดาห์ ผมจับใจความได้บางส่วน เช่น
“รัฐสวัสดิการเพื่อการปรองดอง”
“การสลายช่องว่างคนรวย-คนจน”
“คนส่วนใหญ่เข้าถึงความจำเป็นพื้นฐาน”
“ศาลแท้ ศาลเทียม ศาลเพียงตา ศาลพระภูมิ”
“สื่อ..เฟซบุ๊ก -วิทยุท้องถิ่น-วิทยุชวนเชื่อ-วิทยุชุมชน”
“กฎหมาย กฎหม้าย กฎลวง กดคอกดใจ”
บ่ายวันที่ 30 สิงหาคม 2553 ผมจะไปขึ้นเขียงที่จุฬาฯ
ยังมีเวลาทำการบ้านพอสมควร
จึงขอเชิญชวนพี่น้องชาวเฮช่วยทำมาหากินกันหน่อย
กรุณาช่วยตีแตกหัวข้อข้างล่างนี้
นักศึกษาจะเข้ามาอ่านในลานปัญญาล่วงหน้า
หรือจะแทรกเสริมจุดคลิกและมุมมองของท่านได้ตามอำเภอใจ
ผมลองเขี่ยประเด็นแบบเร็วๆออกมา เช่น
“บทบาทหน้าที่ของคนไทยยุคนี้”
“ทุนสวัสดิการบนฐานทรัพยากรและวัฒนธรรม”
“ปฏิรูปประเทศอย่างเป็นรูปธรรม”
“ทำอย่างไรแผนปรองดองแห่งชาติจะไม่เป็นแผนเก็บดอง”
“วิธีเอาชาติออกจากวิกฤตความขัดแย้ง”
“จุดดี-ด้อยการกระจายทุนลงสู่ชุมชน”
“จุดแก้ความเหลื่อมล้ำในสังคม”
“การบรรเทาเรื่องคอรัปชั่น”
“ทำอย่างไรสังคมแพแตกถึงจะไม่เป็นแพแยก”
“ขอเสนอแนะวิธีที่คนไทยจะกลับมารักกัน”
“มาตรการที่ช่วยลดการเอาเปรียบภาคอุตสาหกรรมต่อภาคเกษตรกรรม”
ผมเชื่อแบบโง่ๆตามประสาคนป่าว่า ถ้าสินค้าการเกษตรไม่ไปตกอยู่ในระบบหักคอซื้อ ชาวไร่ชาวนาขายผลผลิตได้กำไรคุ้มทุน ลดความเสี่ยงในอาชีพได้พอสมควร รัฐฯไม่ต้องไปแบกไปอุ้มบ้าๆบอๆอะไรเลย คนเราถ้าทำมาค้าขึ้นก็จะขมีขมันลงทุนและแก้ปัญหาด้วยตนเออย่างเต็มที่อยู่่แล้ว
ยกตัวอย่างการปลูกยางพาราในภาคอีสาน เมื่อยางมีราคา ก.ก.ละ90-100บาท ชาวสวนยางพาราไม่มีปัญหาอะไรมากวนใจรัฐบาลเลย ต่างก้มหน้าก้มตาพัฒนาอาชีพของตนเองอย่างชื่นมื่น ตรงกันข้ามกับไม้โตเร็ว รัฐฯชักนำให้ชาวบ้านปลูกแล้วก็ปล่อยตามบุญตามกรรม ปล่อยให้บริษัทกระดาษคุมกำเนิดราคาต่อเนื่องมาตลอดเวลา20ปี พวกนี้ยกหูโทรศัพท์คุยกันว่าจะบีบซื้อราคาที่เท่าไหร่ก็เท่านั้น รัฐฯปล่อยให้พ่อค้ารายใหญ่3-4บริษัทกุมชะตากรรมเกษตรกรนับหมื่นครัวเรือน ขอแนะว่าให้ออกมาตรการเก็บภาษีการส่งออกมาชดเชยชาวไร่ จะรอให้พ่อค้ารักคนจน เข้าใจเมตตาคนจน ชาติหน้าตอนบ่ายๆจะเจอหรือเปล่าก็ไม่รู้
ระบบหักเหลี่ยมโหดแบบนี้ละครับ ที่แผ่นดินจะลุกเป็นไฟ ความแตกแตกก็จะถ่างบานปลายไปเรื่อยๆ ประชาชนไส้เต็มไปด้วยน้ำเหลือง ผีตัวไหนมา ชวนไปขึ้นสวรรค์หรือลงนรกก็เฮโลไปได้บ่ยั่น ถ้าเกาให้ถูกที่คันอย่างเป็นรูปธรรมปัญหาถึงจะสลายได้ตามลำดับ เพราะทุกคนได้รับประโยชน์อย่างยุติธรรม กล้าไหมละ เรื่องตรงๆที่กระทบผลประโยชน์ที่เกินงามนี้
ถ้าไม่กล้า ..ก็อยู่กันแถกไถไปตามยะถากรรมต่อไป.. เฮ้อๆๆๆ..
อีกเรื่องหนึ่งครับพี่น้อง อยากได้ความเห็นเรื่องการบริการวิชาการของแต่ละสำนัก ไม่ทราบว่าที่แต่ละมหาวิทยาลัยทำอยู่มีกี่รูปแบบ ถ้าอุ้ยว่างลองเล่าหน่อยนะครับ
“โลกที่ทุกคนแข่งขันกันมีหน้ามีตานั้น บางทีก็น่าเหน็ดเหนื่อย ความโดดเด่นต้องใช้พลังและบางครั้งมันก็หมายถึงการไม่ยอมรับในสิ่งที่ตนเองเป็น ความพยายามเป็นในสิ่งอื่น เพื่อเอาใจคนอื่นหรือเพื่อหน้าตาตนเอง ..ความไม่มีหน้าตาอาจจะดูธรรมดาของสายตาใครๆ แต่จะไปสนทำไม ถ้าใจเรารับรู้ได้ถึงความ พิเศษ ที่ใส่ไว้ในนั้น”
จากนิ้วกลม มติชน.
Next : ระวังลูกออฟไซด์นะน้อง » »
2 ความคิดเห็น
เราหลงทาง อยากแต่จะพัฒนาคนอื่น
ควรดูแลตัวเองก่อน อิอิ
ไม่อยากพัฒนาใครหรอกหมอ แต่เขาขอป้วนเปี้ยน อิ