ความรู้ที่ชิมได้
อ่าน: 3100
ช่วงหัวค่ำฝนเทลงมาอย่างหนัก ถามว่าตกมากแค่ไหน ก็อึ่งอ่างออกมาร้องนั่นแหละครับ ถ้าไม่มีน้ำนองให้ว่ายเล่น อึ่งจะไม่ออกมามาหรอกนะครับ ชาวบ้านมีวิธีวัดปริมาณน้ำฝน ด้วยการประเมินประมาณเอาจากปรากฏการที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ แทนที่จะฟังผ่านไปเฉยๆ ก็สังเกตเอาประโยชน์ด้วยภูมิปัญญาตามประสาคนบ้านป่า แต่ฝนคราวนี้เกิดเรื่องแปลกอยู่อย่างหนึ่งคือ เสียงฟ้าร้องจะมาหลังจากที่ฝนผ่านไปแล้ว และส่งเสียงครืนครางต่อเนื่องกันยาวนานมากเท่าที่เคยมีมา ไม่ทราบว่าฟ้าส่งรหัสอะไรมาเตือนมนุษย์หรือเปล่า
(ไก่ป่าออกมาช่วยกำจัดแมลง)
อากาศเย็นชื้นเช่นนี้ไม่มีอะไรดีกว่านอนแต่หัวค่ำ
คว้าหนังสือทศชาติไปนอนอ่านอย่างมีความสุข
แต่ก็หลับผล็อยไปในเวลาไม่นานนัก
ตื่นมาอ่านต่อเอาตอนย่ำรุ่ง
จวนสว่างสังเกตเห็นแมลงมันตัวดำๆบินมาเล่นไฟ
ตกเกลื่อนตามพื้นจำนวนมาก
-คางคกออกมากินแมลงอย่างอร่อย
-ไก่ป่าเจ้าประจำออกมาเก็บตก
-มดดำก็จะออกมาลากไปเข้ารังจนหมดสิ้น
(หอมผักแขยง ยามฟ้าแดงต้องลมมา)
ฟ้าเปิดแล้ว..เสียบปลั๊กกาต้มน้ำ
อากาศชื้นฉ่ำอย่างนี้ไม่มีอะไรดีกว่าดื่มน้ำชาอุ่นๆ
แวดวงน้ำชากำลังเป็นที่ฮือฮาในหมู่ผู้รักษาสุขภาพไม่น้อย
มีชาสมุนไพร-ชาจีน-ชายุโรป-สูตรใหม่ๆแปลกๆเรียงล่ายซ่ายมาเสนอ
เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับลางเนื้อชอบลางยา
ผมมีปัญหาหลอดลมคร๊อกแคร๊กประจำตัว
มีเรื่องภูมิแพ้มาเยือนเป็นบางครั้ง
จึงสนใจดื่มน้ำชาตอนเช้าตรู่เพื่อให้กายใจอบอุ่น
คนเราถ้าอุ่นกายอุ่นใจอะไรๆก็จะกระฉับกระเฉงใช่ไหมละครับ
ผมทดลองชิมชาหลายสำนัก ในขณะเดียวกันก็พยายามค้นหาสูตรใหม่ๆอยู่เรื่อยๆ ระยะนี้สนใจเรื่องการดื่มชาจากสมุนไพรสดๆของไทย เช่น ทดลองดื่มชากระเพา ปลูกง่าย-เด็ดง่าย-ดื่มง่าย-มีน้ำมันระเหยกลิ่นหอมชื่นใจ..
ไปตลาดเจอผักแขยงก็เอาทดลองปลูกในกระถางตอตาล ลองเด็ดผักแขยงยอดหนึ่งใส่ผสมลงไปในชากระเพา..ได้กลิ่นผสมที่หอมและรสดี น่าจะเป็นชาถ้วยใหม่สำหรับวันนี้ แต่ในวันข้างหน้าก็จะมีชากลิ่นใหม่ๆตามมา เพราะเราจะชิมชาจากสมุนไพรที่อยู่รอบข้างตัวไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้สูตร-โดนใจ-โดนสุขภาพ-โดนรสนิยม-และโดนคุณประโยชน์แวดล้อม ..อร่อยยังไงเอาไว้รายงานอีกทีนะครับ
กระเพาเป็นสมุนไพรที่รู้จักกันมาแต่โบร่ำโบราญ และเป็นที่นิยมในหลายประเทศ ที่อินเดียถือว่าเป็นสมุนไพรที่พระเจ้าประทานให้เลยละครับ ส่วนผักแขยงนั้น คนที่รู้จักจะทราบดีกว่ามีกลิ่นหอมเกือบฉุนเลยละครับ คนเขมรอีสานเรียกว่า”ผักอีออม” นิยมเอามาใส่แกงปูใส่เผือก หรือใส่ในแกงอ่อมแกงป่าทั่วไป บางคนเอามาจิ้มน้ำพริก ผมเคยเจอที่ท้องนาอำเภอลำปลายมาศ ผักแขยงขึ้นแทรกอยู่ในท้องนาแน่นพรึดไปหมด เมล็ดแก่ที่หล่นจะเกิดใหม่หมุนเวียนตามฤดูกาล ผักแขยงได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทราบว่าบางหมู่บ้านมีการเพาะปลูกไว้จำหน่าย ใบผักแขยงตากแห้งยังใส่แกงให้หอมอร่อยได้ไม่แพ้ใบสด ลองค้นดูตารางการส่งผักสมุนไพรไปต่างประเทศ ก็ยังมีชื่อผักแขนงร่วมด้วย
ข้อมูลบางส่วน
ชื่อไทย :
ผักแขยง
ชื่อสามัญ :
-
ชื่อวิทยาศาสตร์ :
Limnophila aromatica (Lomk.) Merr.
ชื่อวงศ์ :
SCROPHULARIACEAE
ลักษณะทั่วไป :
เป็นพืชล้มลุกสะเทินน้ำสะเทินบก ชอบขึ้นในน้ำหรือที่ชื้นแฉะพบมากในนาข้าว ลำต้นอวบน้ำ สูง 15-20 ซม. ใบเป็นใบเดี่ยวรูปหอกไม่มีก้านใบ ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ใบออกตรงกันข้ามและตั้งฉากกับคู่ถัดไป ดอกออกเป็นช่อที่มุมโคนกิ่ง ก้านช่อดอกยาวมีขน กลีบดอกสีม่วงแดงโคนกลีบติดกันเป็นหลอดยาว ปลายกลีบแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งมี 2 กลีบ อีกส่วนหนึ่งมี 3 กลีบ ต้นและใบเมื่อหักดูจะมีกลิ่นหอมฉุน
ประโยชน์ :
ใช้รับประทานเป็นผักสด หรือปรุงอาหารประเภทต้มแกง มีสรรพคุณทางสมุนไพรรักษาโรค
ประกาศกรมวิชาการเกษตร
เรื่อง มาตรการตรวจสอบเชื้อจุลินทรีย์ Escherichia coli (E.coli) และ Salmonella ในผักสดก่อนการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ด้วยประเทศนอรเวย์ห้ามนำเข้าผักสดของไทยเป็นการชั่วคราว ๘ ชนิด คือ ผักชีไทย ผักชีฝรั่ง ใบกะเพรา ใบโหระพา ผักแขยง ใบสะระแหน่ ผักแพรว และต้นหอมจากประเทศไทย เนื่องจากตรวจพบเชื้อจุลินทรีย์ Escherichia coli (E. coli) และ Salmonella ที่มีผลกระทบต่อระบบ ทางเดินอาหารและประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปหลายประเทศก็ตรวจพบเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจมีผลกระทบ ต่อการส่งออกผักสดของไทยในตลาดยุโรปได้ กรมวิชาการเกษตรจึงเห็นสมควรที่จะกำหนดขั้นตอนการส่งออกผักสดทั้ง ๘ ชนิด ไปนอกราชอาณาจักร เพื่อให้มีคุณภาพเป็นมาตรฐานเดียวกัน ดังนี้
๑. ให้สินค้าผักสด ๘ ชนิด คือ ผักชีไทย ผักชีฝรั่ง ใบกะเพรา ใบโหระพา ผักแขยง ใบสะระแหน่ ผักแพรว และต้นหอม ที่จะส่งออกไปยังประเทศนอร์เวย์และสหภาพยุโรปเป็นสินค้า ที่ผู้ส่งออกต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการควบคุมเชื้อจุลินทรีย์ Escherichia coli (E. coli) และ Salmonella และต้องมีหนังสือรับรองของกรมวิชาการเกษตรก่อนการส่งออกโดยให้ยื่นคำขอและแจ้งสุ่มตัวอย่าง ณ สำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว และแปรรูปผลิตผลเกษตร
๒. กรณีที่ผู้ส่งออกไม่มีเอกสารใบรับรองปลอดเชื้อจุลินทรีย์มาแสดง ณ จุดส่งออก เจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืช ณ จุดส่งออก จะทำการตรวจสอบในสินค้าผักสดที่จะส่งออกทั้งหมด ก่อนออกใบรับรองปลอดศัตรูพืชกำกับให้
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๘ เป็นต้นไป
4 ความคิดเห็น
สวัสดีค่ะครูบา
เมื่อวานอ่านบันทึกนี้ของครูบา เลยเหลือบไปเห็น “ต้นกะเพรา” ที่แอบขึ้น ไม่ได้ปลูก ….
เมื่อเช้า ก็เลยลองเด็ดมา 5-6 ใบ ใส่น้ำร้อนพร้อมกับ ดอกอัญชัน 5 ดอก … สีสวยและหอมได้รสชาติดีค่ะ
คราวนี้รู้แล้ว ต้องลองชาชนิดต่าง ๆ ดังที่ครูบาว่าค่ะ
ส่วนผักแขยงยังไม่มีที่บ้าน เลยยังไม่ได้ลอง
สนุกกับการชิมชา ที่เราคิดสูตรขึ้นมาเอง
ทดลองไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ชาที่โดนใจ อิอิ
พรุ่งนี้จะลองสูตรใหม่….
ทดลองชาใบมะรุมกับอัญชัน…ผสมชาจีนเจียวกู้หลานด้วยค่ะ
;)
อยากได้ข้อมูลของผักชีไทยและโหระพาน่าสนใจดีค่ะ