วิจัยก็ได้วิจารณ์ก็ดี
อ่าน: 3273(ม่านทึบที่เกิดจากการพ่นยาไล่แมลงในคอกปศุสัตว์)
ขอใช้สิทธิ์พาดพิง หลังจากอ่านเอาเรื่อง ที่หมอเบริ์ดกับอุ้ยสร้อยและชาวเราคุยกันในหัวข้อ “งานวิจัยที่ไร้ประโยชน์” อ่านแล้วคันในหัวใจ มองว่านี่ไงละการชวนกันถกถ้อยทางวิชาเกินสไตล์แซ่เฮเขาละ ถ้าเป็นอย่างนี้บ่อยๆความรู้ฉวัดเฉวียนแน่ ถ้าเราเอาประเด็นเนื้อหามาช่วยกันย่อยอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย เหมือนกับป้าหวานทำแกงเผ็ด เคี่ยวเครื่องแกงจนแตกกะทิหอมฟุ้งทะลุครัว มันจะไม่เด็ดเผ็ดมันส์ได้จะได๋ ..แม่นก๋อ..วงสนทนาภาษาบล็อกมันต้องจั่งซี่..ไม่ต้องถอน มีแต่ลุยให้กระจุยกระเจิง..
ขออนุญาตเป็นลูกแกะกวนน้ำให้ขุ่น..โดยภาพรวมงานวิจัยในไทยยังไม่มีสไตล์เป็นของตนเองเท่าใดนัก อยู่ในลักษณะลูกผสมระหว่างของไทยกับของเทศ ที่เอาตามเขาทั้งดุ้นก็มี เพราะเชื่อและเข้าใจว่าถ้างานวิจัยต้องตามก้นฝรั่งจึงจะเจ๋ง ก็ใช่อีกนั่นแหละ ไม่มีผิดมีถูกอยู่แล้ว ถ้ารื้อฝอยหาตะเข็บก็โดน..คำถามเฮงซวย หรือคิดแบบเฮงซวยเข้าจนได้ นิยามต่างๆขึ้นอยู่กับ..แต่ละสำนักจะโน้มเอียงไปทางใดไม่ว่ากัน
กล่าวโดยสังเขปงานวิจัยจะมี 2 ลักษณะ
1 แบบลูกกรุง อย่างที่พวกอาจารย์ นักวิชาการทำๆกันอยู่ตามสถาบันต่างๆ
2 แบบลูกทุ่ง อย่างที่ พ่อเสน วงษ์กระโซ่ หรือพ่อๆทั้งหลายทำ
เรื่องที่ชาวบ้านทำก็ไม่ใช่เล็กๆน้อยๆไปเสียทั้งหมด ถ้าวิเคราะห์ให้ดีมีงานใหญ่พอๆกับอุ้มช้างอาบน้ำเชียวแหละ ที่สำคัญเป็นการค้นคว้าเพื่อนำมาแก้ปัญหาของตนเอง ตรงจุดนี้มีความสำคัญยิ่งนัก ยกตัวอย่างเช่น ชาวบ้านไปคล้องช้างป่ามาฝึกใช้งาน ตรงนี้เป็นผลงานวิจัยที่พัฒนาการมายาวนานจนถึงปัจจุบัน โจทย์เกี่ยวกับช้างไม่ได้หายไปไหน ยังมีการวิจัยเรื่องการผสมเทียมช้าง และนักวิจัยไทยก็ทำสำเร็จเป็นรายแรกของโลก หรืองานผสมเทียมปลาบึกเป็นรายแรกของโลก งานวิจัยแบบนี้ละครับที่ครบเครื่องเรื่องกระบวนการวิจัยครบวงจร
ถ้ามีการประยุกต์เอาส่วนดีทั้ง2ฝ่ายมาหลอมรวมกัน เราก็จะมีโครงสร้างทางการวิจัยที่สอดรับกัน เพราะจะเกิดประโยชน์อย่างกว้างขวาง นอกจากงานวิจัยไม่นอนหิ้งแล้ว ยังต่อยอดตามเหตุและปัจจัยที่เปลี่ยนแปลง แตกกิ่งก้านสาขาออกไปได้ไม่มีวันจบ งานวิจัยที่นอนเอ้งเม้งคืองานวิจัยที่ยังขาดๆเกินๆ ไม่มีอานุภาพมากพอที่จะกระโดดลงจากหิ้ง
ปัญหาที่พบทั่วๆไปคือ หัวข้อการวิจัยไม่ได้มาจากข้อสงสัย หรือความต้องการอยากรู้ของผู้วิจัย ส่วนมากจะจำใจวิจัย ทำไปตามไฟล์บังคับ ที่เห็นๆส่วนใหญ่อยู่ในระดับนักเรียนวิจัย ถ้ายอมรับตรงนี้ได้ ทุกอย่างจะผ่อนคลาย แต่ถ้าโมเมว่ามาอบรมแล้ว ลงมือทำแล้ว ก็เป็นนักวิจัยแล้ว เป็นนักวิจัยได้ แบบนั่นก็คาดหวังเกินไป เราไม่สามารถชุบตัวให้เกิดนักวิจัยได้จากการอบรมหรือทดลองทำงานวิจัยเพื่อกระดาษใบ2ใบ แต่ควรสร้างนักวิจัยที่มีสายตาเอกซเรย์ มีนิสัยความนึกคิดผุดพรายกับสิ่งแปลกใหม่ตลอดเวลา สนุกและทุ่มเทให้กับการค้นคว้าตลอดชีวิต อยากรู้เห็นอย่างแรงกล้า อยากค้นคว้าแบบเอาเป็นเอาตาย ถ้าสำนวนน้าอึ่งก็บอกว่ากัดไม่ปล่อย ตอแยกับความไม่รู้อย่างไม่ละวาง ยิ่งยากยิ่งรุก อยากทำให้ทะลุ อยากระเบิดความไม่รู้ให้กระจุยเป็นเสี่ยงๆ ยอมสู้ยอมทนทำสิ่งยาก ย่อยความไม่รู้จนมันหลอมละลายกลายเป็นไอ พลังสติพลังกายพลังใจจะต้องเต้นริกๆ..
กรณีงานวิจัยที่สวนป่ามหาชีวาลัยอีสาน
: พบว่าอาชีพด้านเกษตรกรรมมีปัญหาหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ
: จากฐานคิดที่ว่า จะเอาความรู้ที่ไหน ความรู้อะไรมาแก้ไขปัญหา
: กรณีตัวอย่าง ปัญหาวัวผอมจะทำยังไง วัวที่เอาเลี้ยงล้วนพันธุ์ที่มีชาติตระกูลดี ตอนเอามาอ้วนท้วนลงพุงทั้งนั้น แต่พอมาอยู่กับเราทำไมกลายเป็นวัวพันธุ์หนังหุ้มกระดูก..ฤดูแล้งขาดแคลนหญ้า อาหารไม่พอเพียง ฤดูฝนมีหญ้าสดให้กินอย่างพอเพียง แต่..มียุงมีริ้นมากัดวัวทั้งที่อยู่ในระหว่างเลี้ยงในแปลงหญ้าและตามมารุมกัดในคอก กลางคืนวัวแทบไม่ได้นอน ริ้นที่ว่านี้ตัวใหญ่กว่าแมลงวันหัวเขียวเท่าตัว มารุมกัดจนผิวหนังวัวเป็นแผลเลือดซึมในบางครั้ง บางทีมันก็กัดคนเหมือนกัน เจ็บจี๊ดเลยละครับ นี่วัวโดนเป็นสิบๆทั้งวันทั้งคืนทรมานอย่างสาหัส ได้ข้อสรุป ถ้าเลี้ยงแบบนี้ฤดูไหนๆวัวก็ผอม
: ข้อฉุกคิดที่ 1 จะจัดการปัญหาของวัวอย่างไร?
เท่าที่ดูวิธีแก้ปัญหาที่ผ่านมา เช่น
ใช้ไฟฟ้าหลอดสีเหลืองไล่ยุง ไม่สำเร็จ
ใช้พัดลมดูดยุง ไม่สำเร็จ
ใช้วิธีก่อไฟให้ควันไล่ยุง ไม่สำเร็จ
ใช้มุ้งกางล้อมคอกไว้ คิดจะทำ แต่ยังมองหาวิธีอื่น
ใช้น้ำส้มควันไม้ฉีดพ่นคอก ไม่ได้ทำต่อเนื่อง ยังสรุปไม่ได้
ใช้ฟางข้าว-โมลาส-ยูเรีย-รำ ให้วัวกินช่วงแล้ง ทำแล้วได้ผลแค่พอปะทัง
ใช้ใบไม้เลี้ยงสัตว์ ทำบ้างยังไม่เต็มที่ แต่เห็นผลบ้าง วางแผนขยาย
ใช้วิธีแบ่งชาวบ้านไปช่วยเลี้ยง ลดจำนวนสัตว์ วิธีนี้ได้ผลพอสมควร
แต่ทุกวิธีก็ยังสรุปผลไม่ได้ ยังไม่เป็นที่พอใจและวางใจ
: ข้อฉุกคิดที่ 2
เลิกเลี้ยงดีไหม ไม่บาป ไม่ทรมานสัตว์ ไม่ยุ่งยากกับกิจกรรมสัตว์เลี้ยง วิธีเลิกไม่ต่างกับการโยนผ้าขาวยอมแพ้ มันง่ายเกินไปสำหรับนักดันทุรังอย่างเรา
: ข้อฉุกคิดที่ 3
ประเมินตัวเอง แสดงว่าที่ผ่านมาความรู้เราไม่พอใช้ แก้ปัญหายังไม่จริงจังต่อเนื่อง ยังไม่ได้ทดลองทำอะไรๆอีกตั้งหลายอย่าง จะมายอมยกธงขาวให้เสียชื่อได้จะได๋
: ข้อฉุกคิดที่ 4
เมื่อวาน ไปยืมเครื่องพ่นยุงของเทศบาลมาฉีดพ่นไล่แมลง เท่าที่สังเกตไอหมอกปลิวไปตามลมครอบคลุมทั่วบริเวณ ยุงและริ้นตายแน่ๆ วัวยืนนิ่งไม่โยกตัวสะบัดหางทั้งคืน ได้พักผ่อนนอนเต็มอิ่ม แต่แมลงที่มีประโยชน์อื่นๆที่หากินช่วงพลบค่ำอาจจะตายด้วย ถึงแม้จะหลีกเลี่ยงแมลงที่หากินกลางวันเช่น ผึ้งฯลฯ พิษตกค้างจะลดลงเมื่อมีฝนตก ไม่ทราบว่ามีผลข้างเคียงอะไรตามมาอีก วิธีแก้ปัญหาแบบตะวันตก ถ้าเราไม่ทดสอบก็จะไม่ได้ศึกษาให้ครบเครื่องเรื่องเทคโลโนยีแห่งยุคสมัย
: ข้อฉุกคิดที่ 5
เขียนเรื่องราวลงบล็อก เพื่อให้ผู้สันทัดกรณีท้วงติง ให้ความเห็น ให้ข้อชี้แนะ ใช้ข้อเสนอใหม่ๆ เพื่อจะได้ต่อยอดเรื่องนี้ต่อไป
(แปลงวิจัยการปลูกผักยืนต้นพื้นเมืองระบบชิด)
สวนป่ามีงานวิจัยทำทั้งปี
“โง่มาก จำเป็นต้องวิจัยมากๆ”
1) วันที่ 5-7 มิถุนายน มีคณะวิจัยจากกรมป่าไม้มาชวนสนทนาเรื่องการออกแบบฝึกอบรมงานวิจัยชาวบ้าน -เรื่องการปลูกไม้อาคาเซียและไม้หอมแก่นจันท์จากเมืองจีน -สิ่งประดิษฐ์จากไม้ -การแปรรูปไม้ –การปักชำต้นไม้ –การเพาะเนื้อเยื้อ ฯลฯ
2) ยังมีเรื่องผักหวานป่าที่ท่านบางทรายให้มา ตอนนี้เพาะในกระบะ บางเมล็ดกำลังปริผิวด้านนอก ถ้าเห็นหน่อโผล่มานิดๆจะเอาลงดิน แล้วเอากระบอกไม้ไผ่ครอบตามที่อาว์เปลี่ยนแนะนำ
3) งานวิจัยเรื่องปลูกผักยืนต้นพื้นเมืองระบบชิด ทำไปแล้ว80% ยังรอกล้าไม้บางชนิดปลูกเพิ่มเติม
4) งานวิจัยเรื่องการเพาะเลี้ยงไก่ป่า และการเพาะเลี้ยงไก่ต๊อก ตอนนี้หาเจอรังไข่แล้ว แอบล้วงเอาไข่มาให้แม่ไก่และเป็ดเทศช่วยฟักไข่
5) งานเพาะเลี้ยงนกยูง ปีนี้ได้ลูกเจี๊ยบออกมา5ตัว ย้ายมาไว้ในคอกอนุบาล ตื่นเช้ามามีมดดำฝูงใหญ่รุมกินเหลือแต่ซากกระดูก เป็นปัญหาที่ไม่คาดคิดมาก่อน เพราะไม่เคยเห็นกองทัพมดอาละวาดรุนแรงขนาดนี้ บอกข่าวเพื่อนๆช่วยหาซื้อลูกนกยูงตัวเมียมาทดแทน
(บ่ายวันหนึ่งสังเกตุเห็นผลมะตูมมีเปลือกแข็งมาก เอาเลื่อยมาผ่า ควักเนื้อออก
ทำให้ได้ถ้วยกาแฟเก๋ที่สุดในโลก ส่งกลิ่นหอมได้ด้วย เป็นถ้วยจากผลมะตูมอันแรกของโลก)
ถ้าเราแสวงหาวิธีแก้ไขปัญหาให้พบ
แล้วนำมาตรวจสอบในสนามปฏิบัติ
เราจะได้แง่มุมใหม่ๆที่ล้วนทำให้ฉุกคิด
เมื่อได้ข้อคิดใหม่ๆเราก็จะเอามาคัดเลือกวิธีที่ดีและเหมาะสมไปใช้
ในขณะเดียวกันก็ต้องทำตัวให้มีคุณสมบัติเป็นนักวิจัย..
ต้องเป็นคนตาใหญ่ จะได้มองเห็นอะไรได้ไกลๆกว้างๆ
ต้องเป็นคนหูใหญ่ จะได้รับฟังอะไรมากๆ
ต้องเป็นคนหัวใหญ่ จะได้บรรจุความรู้ความคิดสติปัญญา
ต้องเป็นคนใจใหญ่ จะได้กล้าทำสิ่งยาก
ต้องเป็นคนปากใหญ่ จะได้ถามเก่ง ถามโน่นถามนี่
เป็นคนมือใหญ่ จะได้เขียนบันทึกลงบล็อกบ่อยๆ
Next : ตาพิการแต่ใจเบิกบานที่สุดในโลก » »
11 ความคิดเห็น
วิจัยอะไรก็ได้ประโยชน์ทั้งนั้นนะคะ ..อยู่ที่มุมมองและฐานคิด
ข้อสำคัญคือ ไม่มีฐานคิดใดดีสมบูรณ์แบบ การหาจุดร่วมช่วยกันเป็นเรื่องที่น่าจะวิเศษกว่า การยึดมั่นถือว่ามีวิธีเดียวเท่านั้นที่ดีเป็นประโยชน์
คนที่ไม่เคยตั้งคำถาม ในชีวิตคงไม่มี ..เมื่อมีคำถามสิ่งที่ตามมาคือการหาคำตอบ
การหาคำตอบอย่างเป็นระบบระเบียบไม่ใช่ใช้การเพ้อเจ้อ และการมีเหตุผลบนฐานความเป็นจริงในขณะนั้นเพื่อให้ได้คำตอบ ก็คือการวิจัย
การวิจัยที่สิบปีได้คำตอบหนึ่ง การวิจัยอีกสิบปีต่อมาอาจจะได้อีกคำตอบหนึ่ง เพราะบริบทต่างออกไป …การทำวิจัยอย่างต่อเนื่องคือความจำเป็น
และถ้าไม่มีงานวิจัยพื้นฐานก็จะทำงานวิจัยต่อยอดได้อย่างไง
ไม่มีใครวิจัยชิ้นเดียวและบอกว่า ได้คำตอบที่ดีที่สุดแล้ว มีประโยชน์ที่สุดแล้ว หรือทำงานวิจัยต่อยอดแต่ตำหนิคนทำงานวิจัยพื้นฐานว่าไร้ประโยชน์…
ใครคิดอย่างนั้นก็เท่ากับฆ่าตัวตายไปเรียบร้อยนะคะ
แสงสีเหลืองสำหรับไล่ยุง ตั้งอยู่บนหลักการที่ว่ายุงไม่ค่อยออกมาหากินในเวลากลางวัน ดังนั้นหลอดพิเศษที่เป็นไฟสีเหลืองนั้น มีความถี่ของแสงซึ่งมากับแสงอาทิตย์ที่ยุงรับรู้ได้ จึงเป็นการหลอกยุงว่านี่ยังมีแสงอาทิคย์อยู่ครับ
มีผู้ที่ทดลองใช้อธิบายไว้ว่าหากจะใช้ได้ จะต้องไม่มีแสงอื่นเลย ให้ทั้งบริเวณเป็นแสงสีเหลืองสเป็คตรัมพิเศษนี้อย่างเดียว
แต่ว่าเรื่องนี้ผมก็ยืนยันไม่ได้นะครับ เพราะว่าไม่ใช่ยุง
อิอิอิ อ่านเอาเรื่องดีกว่าอ่านหาเรื่องเยอะเลยค่ะพ่อ :)
ถ้าเข้าใจระเบียบวิธีวิจัยว่าเป็นสิ่งทำให้เกิดความเป็นปราชญ์เหมือนหัวใจนักปราชญ์- สุ จิ ปุ ลิ ที่ทำให้เกิดระบบ ระเบียบในความคิด ไม่ว่าใครก็ทำวิจัยได้ค่ะ และเกิดประโยชน์เสมอ แต่ถ้าไม่เข้าใจเกิดการแหว่งเว้าในส่วนเริ่มต้น เป็นเพียง”จำใจ”วิจัย ก็คงยากที่จะเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ และผลกระทบที่เกิดขึ้นก็อาจไม่คุ้มเนื่องจากไม่สนุกกับตัวเลขมากมาย ขมขื่นกับความเครียด เลยไปถึง”ไม่ชอบ” หรือสาปส่งเมื่อผ่านพ้น
ถ้าผลกระทบเป็นเช่นนั้นแล้วเราจะมีนักวิจัยที่มีคุณภาพได้อย่างไร ? โจทย์เหล่านี้ซับซ้อนและไม่มีคำตอบเดียวในการแก้ไข ปรับปรุงเลยค่ะ :(
พ่อสรุปได้ชัดเจนนักค่ะว่า”นักวิจัย”ที่ดีควรมีลักษณะเช่นไร น่าจะเป็นเป้าหมายในการปั้นแต่งนักวิจัยได้ดีเยี่ยมเลยล่ะค่ะ อิอิอิ
วิจัย.แล้วขอแถม วิ+ใจ ค้นหา ความผิดปกติที่อาจมีในใจไปพร้อม…ให้เหลือแต่ใจบริสุทธิ์ คงมองเห็นโลกสวยงาม แม้ผลวิจัยที่ไม่สำเร็จ ก็ไม่อาจทำให้นักวิจัยที่แท้ไม่ได้ประโยชน์จากการวิจัยนั้น ประโยชน์มีแต่ใครจะเห็นหรือไม่เท่านั้น ทุกๆอย่างควร ใหญ่ แบบพ่อครูว่า แค่อัตตา ควรเล็ก ที่สุด ไม่งั้นอัตตาจะบังอะไรๆ …น่าเสียดาย…แคว๊กๆๆๆ อยากจะคิดวิธี อนุบาล ลูกนกยูง ด้วยคนค่ะ เสียแต่ว่าคนเคยทำอะไรก็รู้จักอย่างนั้น ถ้าเลี้ยงแบบในห้องทดลองรอดแน่ แต่ในชีวิตจริงจะทำยังไง เลี้ยงแบบธรรมชาติที่สุดจะทำแบบไหน รอฟังผลวิจัยของพ่อครูค่ะ
มีงานวิจัยมากมายบนหิ้ง
เห็นควรให้นักถอดความ “ถอดตัวหนังสือแบบนักวิชาการ” มาใ้ห้ ประชาชนได้อ่านมั้ง
สวัสดีค่ะครูบา
อ่านแล้วหัว(ใจ)หด … ไม่กล้าคอมเม้นท์อะไร
เคยคุยกับพี่ที่ทำงานใกล้เกษียณว่า วิจัยคืออะไร…พี่ถามกลับว่าอยากได้ตำตอบแบบไหน เอาไปเขียนยาว ๆ อ้างอิงใส่หนังสือหรือเปล่า หรือจะเอาของจริง ๆ ที่ทำอยู่ ตอบว่าอยากได้คำตอบแบบหลัง…
ฟังคำตอบไปก็อ้าปาก ตาค้างไป … มีสรุปข้อหนึ่งคือ การวิจัยก็คือกระบวนการ วิธีการที่จะดึงงบประมาณออกมาใช้ จะได้มีผลงาน และเป็นเครื่องมือที่จะเสนอแนะอะไรก็ได้ที่ผู้บริหารระดับสูงอยากได้…ฮา ๆ ๆ ๆ….
ขอบคุณทุกความเห็น
การละเลงความคิดไม่มีผิดมีถูก
ขอให้มีความสุขกับการยิบฉวยความรู้มาปะติดปะต่อกัน ต่อไป ต่อไป นะคร๊าบบบบบ
ออต-จะให้ถอดความรู้มาให้ชาวบ้านอ่านก็ดี แต่ยังไกลความจริงแและความเป็นไปได้
ป้าหวาน- บอก วิ+ใจ ก็เห็นด้วยทุกอย่างสำคัญที่ใจ เริ่มที่ใจ ถ้าฐานใจดี อะไรๆก็น่าจะดี
freemind- บอกใจ(หด) แหมก็ดึงดูดใจออกมาได้นี่หน่า
เบริ์ด-ขยันค้น-คิด-ชวนทุบต่อมคันอยู่เรื่อยๆ
อุ้ย -จะตามไปคุยต่อ แล้วขอกินข้าวซอย
รอกอด- แสงสีเหลืองไม่เวิร์ก ไม่งั้นยาห่านฟ้ากินยุง เจ๊ง ไปแล้ว
แคว๊กๆๆ
ความจริงงานวิจัยนั้นมีประโยชน์มาก ผมให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก เราเรียนรู้ธรรมชาติ แล้วใช้ความรู้ในกระบวนทางวิทยาศาสตร์เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่างรอบด้าน ทำให้เราเข้าใจปรากฏการณ์นั้นๆอย่างมีหลักมีเกณฑ์ แล้วเราก็เอาหลักเอาเกณฑ์นั้นๆไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคม และการอยู่ร่วมกันของสังคมมนุษย์ ของสังคมโลก ความสมดุลของธรรมชาติเพื่อความยนั่งยืนของดุลยภาพแห่งการอยู่ร่วมกัน มิใช่ไปเอาเปรียบกันและกันด้วยผลงานวิจัย
งานวิจัยจำนวนมากๆเป็นแค่อย่างที่ freemind กล่าว
ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยก็ทำวิจัย แบบของเขา เป็นแบบง่ายๆ อย่างพ่อแสนเรื่องการเลี้ยงหอยหอมและอื่นๆ หมอธีระเรื่องการปลูกขยายผักหวานป่า นายสีวรเรื่องการทำเกษตรผสมผสานในภูมินิเวศเกษตรวัฒนธรรมแบบดงหลวง และอื่นๆอีกมากมาย เพียงแต่ชาวบ้านไม่มีปากไม่มีเสียงที่จะไปบอกกล่าวกับใคร ทำแล้วใช้เอง ได้ประโยชน์เอง ไม่ได้ไปเสนอปริญญาบัตร วุฒิบัตรกับใครที่ไหน จะมีก็เพียงหน่วยงานต่างๆเห็นก็เอารางวัลไปให้ เอาป้ายไปปักเป็นนั้นเป็นนี่ ดีไม่ดีก็ไปทำให้ชาวบ้านดีดีเตลิดเปิดเปิงไปก็เยอะ เสียผู้เสียคนไปก็มาก
หากสถาบันการศึกษา ส่งคนไปแนบสนิทกับชุมชน ก็จะได้หัวข้อวิจัยที่มีประโยชน์ขึ้นมาที่มหาวิทยาลัยต้องทำโครงการลงไปใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ช่วยให้เกิดข้อสรุปร่วมกับชาวบ้าน โอย จะเอาด้านไหนล่ะ สุขภาพอนามัย วิศวกรรมศาสตร์ก็มาก เกษตรไม่ต้องถาม การศึกษายิ่งมากมาย ด้านสังคมวัฒนธรรม โอยทำกันไม่หวาดไหว ฯลฯ ไปหาโจทย์จากชาวบ้านซิครับ ไหนว่าสถาบันการศึกษาเพื่อท้องถิ่น มีแต่หยิบโหย่งประเภทออกไปทัวร์ชุมชนซะมากกว่า เพราะมันร้อน มันสกปรก มันมีแต่ฝุ่น พูดจาไม่รู้เรื่อง ฯลฯ
สถาบันใด สาขาวิชาใดใด อยากได้ประเด็นวิจัยเพื่อชุมชนแท้จริง เชิญไปค้นหาได้ที่สวนป่า หรือดงหลวง อิอิ ยินดีครับ
ขออนุญาต ท่านบางทราย
เอาประเด็นวิจียไทบ้านไปประกอบเรื่อง วิสัยทัศน์การศึกษาไทย นะครับ
อยากเขียนเรื่องการวิจัยทางการพยาบาลในปัจจุบันบ้างเหมือนกัน แต่ก็คิดว่าเก็บไว้ก่อนค่ะ เผื่อครูบาคุยค่อยคุยด้วย…อิอิ
คุยวันไหนดีละครับ