รักต้นไม้ไม่มีคำว่าอกหัก
อ่าน: 1997
วิชานี้อยู่ในโครงการศึกษาดูงาน “วิถีแห่งความพอเพียง: ชีวิตที่มีคุณค่า”
ค่ายจิตวิทยาปรึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่ 5-7 พฤษภาคม 2553
ณ มหาชีวาลัยอิสาน อ. สตึก จ. บุรีรัมย์
————————————————————————————-
ร้อนปีนี้ทำให้รู้ได้ถึงคุณประโยชน์ของต้นไม้ใบหญ้ามหาศาล คนที่อยู่ในเมืองในห้องแอร์อาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่พวกผมคนชนบท รวมทั้งสรรพสิ่งทั้งหลายที่ต้องสัมผัสกับคำว่าโลกร้อนเต็มๆ แบบโลกทั้งใบยกให้นายคนเดียว แม่เจ้าประคุณเอ๋ย อุณหภูมิ24-42องศามันแผดเผาจนรู้สึกผิวหนังแสบยิบๆเลยเชียวแหละ สงสารแต่ต้นไม้เล็กไม่มีขาเดินเข้าร่มได้เหมือนสัตว์ สังเกตเห็นนกเล็กๆจะบินมาเล่นน้ำ ทำให้เราต้องเปลี่ยนแผนมารดน้ำต้นไม้รอบบ้านยามบ่าย เพื่อจะให้นกได้อาศัยคลายร้อนตอนที่โลกระอุ มีผู้สันทัดกรณีเล่าว่า อุณหภูมิภายใต้ร่มไม้กับภายนอกที่แดดเปรี้ยงๆนั้น ต่างกันระหว่าง20-50องศาที่เดียวเลยละครับ
ต้นไม้ที่แผ่กิ่งก้านสาขาขนาดใหญ่ จึงเป็นเสมือนร่มกางกรองแสงแดดให้เราอีกชั้นหนึ่ง ไม่เฉพาะแดดหรอกนะครับ ยังกรองน้ำฝนไม่ให้ตกกระแทกพื้นโดยตรง ยามลมแรงก็ช่วยซับลมผ่อนหนักเป็นเบา ธรรมชาติมีระบบเอื้ออวยกัน ไม้ใหญ่ดูแลไม้เล็กๆให้มีโอกาสงอกและเติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ถ้าเราสังเกตให้ดี จะเห็นว่ามีไม้จำนวนมากไม่สามารถเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติเหมือนในสมัยก่อน บางชนิดเมล็ดอาจจะงอก แต่ไม่แข็งแรงพอที่จะเติบโตได้ หลายชนิดเมล็ดจะแห้งและเน่าเร็วขึ้น ทำให้อัตราความงอกลดลงไปมาก ไปๆมาๆมนุษย์จะต้องช่วยกันเพาะกล้าไม้มาปลูก ปลูกแล้วไม่ดูแล ต้นไม้ก็ยากที่จะตั้งตัวจนเติบใหญ่ได้
“ความเจริญในความเข้าใจของมนุษย์ เป็นตัวบ่อนทำลายความเจริญทรัพยากรป่าไม้และสภาพแวดล้อมอื่นๆของโลก”
แม้แต่การรดน้ำให้กับพืชผักทั่วไปในหน้าแล้งอย่างนี้ต้องระวังให้ดี บางทีน้ำที่เรารดสะเปะสะปะนั่นแหละทำให้ต้นไม้เฉาตายมานักต่อนักแล้ว ถ้าเราไม่มีความพร้อมที่จะดูแลต้นไม้ ปล่อยให้ต้นไม้ต่อสู้กับสภาพธรรมชาติจะดีกว่า การปรับตัวตามสภาพที่เปลี่ยนไป ต้นพืชมีระบบต้านความร้อนเย็นอย่างน่าอัศจรรย์ การที่มนุษย์ไม่ศึกษาไม่เข้าใจ นึกว่าร้อนแล้งอย่างนี้เอาน้ำไปรดโครมๆจะเป็นการช่วยต้นพืช เป็นการเข้าใจผิดทั้งเพ เข้าใจถูกเป็นอย่างไรรึ
ต้นไม้มีโปรแกรมที่จะบริหารความเสี่ยง บางประเภทจะผลัดใบในยามแล้งเพื่อสงวนน้ำ บางชนิดที่เจอไฟป่าบ่อยๆจะสะสมอาหารเตรียมอนุบาลตัวเองหลังไฟไหม้ เมล็ดไม้บางชนิดโดนไฟป่ากลับงอกงามได้ดีกว่าปกติ ถ้าจะดูแลต้นไม้ในฤดูแล้ง จะต้องคำนวณปริมาณน้ำของเราให้ดี ว่ามีน้ำเพียงพอที่จะรดต้นไม้ตลอดแล้งนี้ได้กี่ต้นๆละกี่ซีซี. ถ้ามีน้ำไม่มากพอต้องคำนวณอีกชั้นหนึ่งว่าจะรดน้ำกี่วันครั้ง แล้วก็ลงมือปฏิบัติตามนั้น ต้องทำอย่างมีวินัยเคร่งครัดด้วยนะครับ เพราะต้นไม้จะกำหหนดหน่วยความจำเตรียมระบบภายในรองรับน้ำไว้ ถ้าเรารดน้ำไม่ตรงตามเวลา หน่วยความจำก็เรรวน ระบบดูดซึมพังอย่างอื่นก็เพไปด้วย คนไม้ที่รดแบบคนขี้เกียจจึงตายยังไงละครับ
นอกจากรดน้ำแล้ว ในช่วงแล้งอย่างนี้ถ้ามีปุ๋ยคอกหรือใบไม้กิ่งไม้เล็กๆมาคลุมโคนต้น จะช่วยให้ต้นไม้ลดความทรมานจากแดดแผดเผาอีกทั้งรักษาความชื้นไว้ได้นาน ลองง่ายๆ..ไม่ใส่รองเท้าเดินบนผิวดินโล่งๆตอนบ่าย2-ดูสิครับ รับรองสะดุ้งโหยงเลยเชียวแหละ ถ้าเรารดน้ำช่วงที่ผิวดินร้อนระอุ น้ำที่ไปรดเมื่อสัมผัสกับความร้อนผิวดิน จึงไม่ต่างกับเอาน้ำร้อนไปลวกรากอ่อนที่เปราะบาง ในหน้าร้อนควรรดน้ำตอนเช้าๆดีที่สุด เพราะอุณหภูมิของน้ำของดินไม่เป็นอันตรายต่อต้นพืช
ถ้าพิจารณาถึงจุดคุ้มทุนคุ้มค่า ลองพิจารณาเม็ดไม้สัก1เมล็ดดูสิครับ เมล็ดเล็กๆนี่แหละ เมื่อเจริญเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ จะคำนวณด้านปริมาณด้านมูลค่าหรือด้านคุณค่า เธอเอ๋ย..ไม่รู้ว่ามันท้วมท้นทวีกี่ร้อยกี่พันเท่า แต่มนุษย์เราก็ตาบอดสี ชอบไปลงทุนลงแรงทำเรื่องอื่นมากกว่าที่จะปลูกต้นไม้ ช่างใจร้ายใจดำต่อโลกจริงนะเธอ ใครไม่อยากสวยแต่รูปจูบไม่หอมโปรดกรุณาปลูกต้นไม้เถอะนะ
เราจะเริ่มต้นอย่างไรดี ถ้าเธอมีพื้นที่ในบริเวณบ้านไม่มากนัก ลองเมี่ยงๆมองๆดูที่ว่าง จุดที่มีแดดส่องถึง ไม่เกะกะตัวบ้านมากนัก จัดเป็นมุมพักผ่อน แนะนำให้ปลูกต้นส้มโอ ส้มโอเป็นพืชที่แข็งแรงอายุยืน มีกิ่งก้านสาขาโปร่งตัดแต่งให้สวยงามได้ นอกจากมีผลให้เก็บมายำส้มโออร่อยแล้ว ช่วงที่ส้มโอออกดอกกลิ่นหอมระรื่นจะกระจายฟุ้งใต้ร่มที่เรานั่งเล่น บรรยากาศสดชื่นจากธรรมชาติล้วนๆ ถ้าจะให้ดีกว่านี้อีก เราก็เอายอดส้มเขียวหวาน ส้มซ่า มะกรูด มะนาว มาเสียบไว้อย่างละทิศละทาง ต้นส้มโอธรรมดาๆ ก็จะกลายเป็นส้มโอพิเศษหรือส้มโอสารพัดนึก ที่อำนวยความสะดวกให้แม่ครัวหัวป่าส์
· อยากได้ใบมะกรูดมาใส่ต้มยำกุ้ง ก็ไปเด็ดเอาที่ต้นส้มโอ
· อยากได้ผิวส้มซ่ามาใส่ยำ ก็ไปเด็ดเอาที่ต้นส้มโอ
· อยากได้มะนาวมาใส่น้ำพริก ก็ไปเด็ดเอาที่ต้นส้มโอ
· อยากได้ส้มเขียวหวาน ส้มเซ๊ง ก็ไปเด็ดเอาที่ต้นส้มโอ
· อยากได้ที่นั่งคุยกับคนพิเศษ ก็จูงมือไปตกลงใจใต้ต้นส้มโอ
จุดเริ่มต้นในการชี้ชวนให้ปลูกต้นไม้ น่าจะอยู่ที่การชี้นำให้เห็นคุณประโยชน์เสียก่อน มนุษย์เราส่วนใหญ่มักจะคำนึงผลลัพธ์ ถ้าเรื่องไหนโดนใจก็อยากจะทำ ดังนั้นการประชาสัมพันธ์ปลูกป่าอย่างโน้นอย่างนี้อาจจะดูดีแต่จะห่างไกลจากความเป็นไปได้ของคนส่วนใหญ่ ว่าคนปลูกจะเห็นหรือรับประโยชน์ตรงไหนอย่างไร ดังนั้นจึงขอชี้ชวนให้เริ่มปลูกไม้ใกล้บ้านใกล้ตัวใกล้ใจเสียก่อนน่าจะดีกว่า จริงไหมละครับ
เมื่อปลูกต้นส้มโอแล้ว เกิดความรู้สึกว่ามันดีแฮะ ดีจริงๆด้วย..ดีมากๆเลย มีส้มโอต้นเดียวเที่ยวเอาไปคุยได้ร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ เมื่อหัวใจติดเทอร์โบอย่างนี้แล้ว ส่วนมากจะมองหาไม้ชนิดอื่นตามที่ชอบมาปลูกต่อๆไป ยิ่งปลูกก็ยิ่งได้ความสุข ปลูกมากก็ยิ่งมีความรักมาก โตมากก็เข้าใจมากและหวงแหนมากขึ้น เห็นๆง่ายๆปลูกเท่าไหร่ผลลัพธ์แห่งความปลื้มใจก็ทวีคูณขึ้นไปเท่านั้น ใครมาชวนไปเดินม็อบก็เมินเสียเถอะ
ถ้าท่านใดยังมีที่ว่างพอที่จะปลูกต้นไม้อีกสักต้น ปลูกต้นตะลิงปิงก็ดีนะครับ เป็นไม้ทรงพุ่มขนาดเล็กประมาณ4-5เมตร ตัดแต่งทรงพุ่มง่าย ไม่กินพื้นที่มากนัก ปลูกแล้วดูแลให้ดี เพียง2ปีตะลิงปิงก็ออกติดดอกออกผลเต็มต้น ที่ชวนปลูกตะลิงปิงก็เพราะเป็นไม้ที่ออกดอกออกผลทั้งปี มองเป็นไม้ประดับก็ได้ รับประทานก็ดี ผลตะลิงปิงมีรสเปรี้ยว เอามาซอยใส่น้ำพริกซอยใส่ยำอร่อยเหาะ เอามาทำน้ำปั่นใส่เกล็ดน้ำแข็งเลี้ยงแฟนก็สุดแสนประทับใจ ยอดและดอกตะลิงปลิงเด็ดมาจิ้มน้ำพริก รับประทานเป็นผักเคียงจานลาบสะเด็ดนักขอบอก จุดพิเศษของตะลิงปิงอยู่ที่ปลูกง่าย ดูแลง่าย ติดดอกออกผลไม่บันยะบันยัง บางต้นติดลูกตั้งแต่โคนต้นระรายไปทุกกิ่ง ชวนใครไปชมล้วนตาโตร้องโอ้โฮกันทั้งนั้น คนปลูกก็ปลื้มยิ้มลืมหุบทีเดียวเลยละครับ จะเห็นต้นตะลิงปิงเป็นต้นไม้ที่เรียกความสุข สะสมความภาคภูมิใจให้เราสม่ำเสมอ เผลอเป็นยิ้มว่างั้นเถอะ..
รั้วบ้านที่อยู่ว่างๆ เลือกเอามุมใกล้ต้นส้มโอต้นมะตะลิงปิงนั่นแหละ ขุดหลุมกว้าง/ลึกขนาดตารางฟุต เอาปุ๋ยอินทรีย์เคล้าดินกับใบไม้แห้งใส่ให้เต็มหลุม แล้วเอาเมล็ดชมจันทร์ไปหยอดหลุมละ2-3เมล็ด เอาไม้ไผ่สูงประมาณ2เมตรไปปัก4ต้น ทำมุมเหมือนกระโจม ภายใน7วันเม็ดก็งอกแล้ว หลังจากนั้นเดือนครึ่งดอกชมจันทร์ก็จะทยอยเบ่งบานอวดเรา ดอกใหญ่สีขาวสะอาด แถมบ้าดอกอีกต่างหาก พอแดดร่มลมตกรั้วเราก็พราวสวยไสว สวยจริงๆขอบอก วันไหนนัดคนที่รู้ใจมาบ้าน ไปเด็ดดอกตูมดอกชมจันทร์นี่แหละมายำเลี้ยงแฟน จะตั้งชื่อว่า”ยำบริสุทธิ์ใจจานเด็ด”ก็ได้นะ ฝึกหัดเสน่ห์ปลายจวักไว้ให้ดี ถ้าทำตามนี้ไม่มีอกหัก รับประกันล้านเปอร์เซ็นต์ ไม่มีหรอกนะ ที่จะเจ็บอกเหมือนตกตาล อิ อิ..
ไม่มีคุณเบี๊อกที่ไหนหรอกครับ
ที่ไม่ประทับใจกับความสุขเรียบง่าย
ที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรง น้ำจิตน้ำใจ
ถ่ายทอดความดีความงดงามจากใจสู่ใจ
ไม่ห่วงไม่บอกนะนี่
: หมายเหตุ
เรื่องต้นไม้ ขอยกยอดไปต่ออีกบท นะขอรับ
Next : :ยู้ฮู..ต้นทุนทางสังคมไทยอยู่ไหน? » »
6 ความคิดเห็น
แถวบ้านผมเป็นบ้านจัดสรรจึงมีพื้นที่ให้ปลูกต้นไม้ได้ไม่มาก บ้านผมมี ๙๓ ตารางวามีมะม่วง ๒ ต้น มะมุดม่วง ๑ ต้น ชมพู่เทียน ๑ ต้น ลองกอง ๑ ต้น สัตบรรณ ๕ ต้น มะขามปลูงปลูกกชิดเป็นรั้ว ที่เหลือเป็นไม้เล็กไม้น้อย (ชะอม กะเพรา ตะไคร้ ข่า ขมิ้นขาว ขมิ้น กระชายดำ ฯลฯ) กับไม้ดอกไทยๆ เช่น เล็บมือนาง โมกซ้อน โมกพวง กล้วยไม้ตระกูลหวาย จำปูน ชมมะนาด(ดังข้าว) การเวก พุดซ้อน ปักษาสวรรค์ ฯลฯ อากาศร้อนเป็นบ้าเป็นหลังเราก็ไปนั่งหลังบ้าน สักพักก็เย็นสดชื่นได้ดูนกมันจู๋จี้กัน เมื่อเรามีพื้นที่เล็ก คนเมืองอย่างผมก็มีวิธีจัดการกันโดยปริยาย เพื่อนบ้านเราสนิทกัน รู้กันว่าบ้านใครปลูกอะไรไว้ เราก็ไม่ต้องปลูก ใครอยากกินชะอมก็มาเอาที่บ้านผม ผมอยากกินตะลิงปลิงก็ไปบ้านพี่ไสว อยากได้ใบมะกรูดก็บ้านอาจารย์อนันต์ (คำแนะนำสำหรับคนเมือง) ปลูกต้นไม้แล้วอย่าลืมปลูกไมตรีกับเพื่อนบ้าน เราจะได้ของกินเพิ่มขึ้นอีกมากมาย แถมเวลาไปไหนมาไหนก็ไม่ต้องไปฝากบ้านกับตำรวจ ช่วยกันดูแลบ้านใครมีอะไรผิดปกติทั้งกลางวันกลางคืน แถมเราไม่อยู่มีคนจ่ายค่าน้ำประปาให้เสร็จ อิอิ “ปลูกไมตรีเอาไว้ จะเอาอะไรก็ได้ดังใจจง”
ถูกใจจังครับ พ่อครูบาฯ
ขอเสริมท่านอัยการหน่อยครับ
# ผมเห็นด้วยกับการปลูกพืชผักกินได้ แต่ไม่จำเป็นทุกครัวเรือนต้องเหมือนกันหมด เหมือนนักวิชาการไปตั้งตัวชี้วัดเรื่องการพึ่งตนเองของชาวบ้านว่า จะต้องมีพืชกินได้ อย่างน้อย 5 ชนิด คือ พริก ตะไคร้..ฯลฯ ผมเห็นด้วยว่าบ้านเราไม่ต้องเหมือนเพื่อนบ้าน ปลูกให้เหลื่อมกันบ้างก็ได้ เหตุผลนี้ผมเองก็ไปพบในชนบทเหมือนกัน
# ทำไมไม่ควรไปกำหนดตัวชี้วัดที่ตายตัว เพราะ
- แต่ละครอบครัวมีเงื่อนไขต่างๆไม่เหมือนกัน บางครอบครัวเงื่อนไขไม่เอื้อต่อการทำตามกำหนดตัวชี้วัด เช่นแรงงานมีจำนวนไม่มาก ก็มีแค่ตากับยายแก่ๆจะให้มาปลูกอะไรมากมาย ไม่ไหวแล้ว ลูกหลานก็ไปอยู่กรุงเทพฯ หากไม่ปลูกตามกำหนดตัวชี้วัดก็ไปประเมินว่า ตกเกณฑ์ บ้าชะมัด.. ก็มันทำได้แค่นี้ แรงงานนี้ทั้งปริมาณและคุณภาพ บางครอบครัวนอกจากจะมีคนหลายคนแต่เป็นเด็ก ที่พ่อแม่ทิ้งไว้ให้ตายายเลี้ยง การอยู่รอดของครอบครัวแบบนี้คือ การพึ่งตลาด หรือธรรมชาติ หากอยู่ใกล้ป่าก็เข้าป่าหาของกิน หรือญาติพี่น้องมากก้ไปขอพืชผักกินได้ขากญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านเป็นบางมื้อบางคราวไป ตัวชี้วัดเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ใช่ตั้งกันที่กรุงเทพฯแล้วส่งไปให้มุกดาหารใช้ ควรให้หมู่้บานตั้งกันเอง หรือให้ครอบครัวตั้งเองตามเงื่อนไขของเขาเอง นักวิชาการหยาบๆก็เอาหลักการเข้าว่า ไม่เข้าใจรายละเอียดของชุมชนแท้จริง
- แต่ละครอบครัวมีวัฒนธรรมการบริโภคที่ต่างกัน ครอบครัวผมไม่นิยมกินเผ็ด ก็ไม่มีพริกในแปลง แต่ตัวชี้วัดเสือกไปกำหนดว่าต้องมีพริกปลูก ไม่งั้นตกเกณฑ์…มันจะบ้ารึ.. ครอบครัวไหนชอบอะไรก็ปลุกนั่นมากหน่อย อะไรที่นานๆกินทีก็ปลุกน้อยหน่อย มันหลากหลายอย่าไปกำหนดตายตัว
# ทำไมต้องปลูกพืชผักกินได้เหลื่อมกับเพื่อนบ้าน
- บางครอบครัวมีข้อจำกัดดังกล่าว ก็ปลูกเท่าที่ปลูกได้ ที่ไม่ได้ปลูกก็ไปขอจากเพื่อนบ้านเอาบ้างก็ได้ เพื่อนบ้านไม่มีอะไรก็บอกให้เขามาเอาจากเราบ้าง บางทีเราปลูกมะนาว มะกรูดไม่ได้เพราะพื้นที่ไม่ให้ ก็ไปขอเพื่อนบ้านเอา ซึ่งธรรมเนียมไทยมีกลวิธีแยบยลในการพึ่งพาอาศัยกัน เช่น เอาสิ่งของไปให้เขาก่อน แล้วก็ออกปากขอใบมะกรูดสักหน่อยนะจะเอาไปใส่นั้นใส่นี่ เพื่อนบ้านเขาก็เข้าใจก็ออกปาก ต่อไปไม่ต้องเอาอะไรมาหรอก อยากได้ก็มาเอาไปเลย อนุญาติ เราเพื่อนบ้านกัน วันหลังผมไปขอกระเพราะบ้านพี่บ้างนะ…..
- การขาด การมี และการแบ่งปันกันในระหว่างครอบครัว ชุมชนนั้น นี่แหละเป็นการเสริมสร้างน้ำใจแก่กัน มีเอื้ออาทรต่อกัน มีความผูกพันธ์ต่อกัน ที่เรียกแรงเกาะเกี่ยวทางสังคม เป็นวัฒนธรรม ประเพณี เป็นตัวเชื่อมระหว่างคนโดยผ่านวัตถุ ผ่านค่านิยม ประเพณี นี่คือของดีของไทยเราที่เรียกทุนทางสังคม หากมีเหมือนกันหมดก็ไม่มีการแลกเปลี่ยนกัน ไม่มีโอกาสในการแสดงน้ำใจต่อกัน ไม่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน อยู่ใครอยู่มัน
# “ปลูกต้นไม้แล้วอย่าลืมปลูกไมตรีกับเพื่อนบ้าน”….. ผมจำคำสอนของพ่อได้ก่อนเสียชีวิตว่า ลูกๆต้องสะสมของโบราณไว้มากๆนะ เพราะมันเป็นคุณค่าของคน มันจะเสริมส่งให้เราเจริญก้าวหน้า อยู่เย็นเป็นสุข ของโบราณนี้ไม่ใช่วัตถุโบราณ แต่เป็นคุณค่าทางวัฒนธรรม ประเพณีของไทยเดิมเรา อย่างความมีไมตรีต่อกัน นี่พ่อก็บอกว่า ให้ปลูก “ต้นไม้ตรี” ต้นไม้ตรีคือต้นไมตรี คือความมีไมตรีต่อกันและกัน
สมัยเด็กๆ พ่อไปทอดแหจับปลามาได้มาก ก็จะจับเอาใส่ตะกร้าให้ผมไปให้คนนั้นคนนี้ในชุมชน ล้วนต่อเป็นผู้มีพระคุณต่อครอบครัว ถือว่าเป็นการแสดงความเคารพรัก ตอบแทน เผื่อแผ่ แบ่งปันกัน ไม่ได้ซื้อได้ขายกัน คนภาคเหนือมีโอ่งน้ำเล็กหน้าบ้าน….ให้ผู้คนผ่านไปมาดื่มกินได้ มันช่างงดงามจริงๆน้ำใจที่เป็นพื้นฐานทางวัฒนธรรม ประเพณีของเรา นี่คือแรงเกาะเกี่ยวกัน สังคมก็สงบ ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง หากมีการทะเลาะเรื่องใหญ่ก็เล็กลง เรื่องเล้กน้อยก็อภัยแก่กัน สังคมมันน่าอยู่
แม้แต่โจรมันยังมีคุณธรรม บ้านนี้กูไม่ปล้น ไม่ฆ่า “เพราะกูเคยอาศัยข้าวชามน้ำขัน” มาก่อน นี่บ้านผมก็เคยได้รับสิ่งนี้มาก่อน ไม่น่าเชื่อว่าคนเรามีสิ่งเหล่านี้อยู่ แม้แต่โจร…
อัยการปลูกต้นรักมากๆ นับว่าดีแล้ว
ถ้าช่วยกันปลูกระเบิดระเบอบ้านก็มีชีวิตชีวา โลกข้างหน้าจะได้เขียวมากขึ้น
ขืนอยู่เฉยๆสีแดงท่วมประเทศ อิอิ
ท่านบางทรายครับ อยากได้เมล็ดผักหวาน จะเอามาปลูกลงดินแบบไม่ต้องเพาะใส่ถุง
ต้นสะตอที่ให้มา โตเอาๆ แต่กิ่งก้านไม่ค่อยมี
พ่อครูบาฯครับ เมล็ดผักหวานจะลองสอบถามดูนะครับว่าแก่ได้ที่หรือยัง หากได้ที่แล้วก็จะเอามาฝากปลายสัปดาห์หน้าครับ หากยังไม่แก่ดีพอคงต้องคอยครับ
-ขอบคุณครับท่านบางทราย