สารคดี โดนใจ
ผมชอบดูสารคดีเป็นชีวิตจิตใจ ปัจจุบันผู้สร้างสารคดีมีเทคโนโลยีที่สุดยอด เก็บเกี่ยวข้อมูลได้อย่างวิเศษสุด นำมาร้อยเรียงให้เห็นความทึ่งอึ้งกิมกี่ได้อย่างนะจังงัง หลายเรื่องได้ถอดรหัสที่เราข้องใจมาตลอดชีวิต ยกตัวอย่าง เช่น ผมเคยสงสัยมานาน ว่าแมงมุมมันชักใยทำเป็นตารางได้อย่างไร หมายถึงการเริ่มต้นชักใยแรกไปเกาะกิ่งไม้ที่อยู่ห่างกัน ภาพที่เห็นจากการถ่ายทำพิเศษ พบว่าแมงมุมจะปล่อยเส้นใยให้ปลิวไปเกาะกิ่งไม้ได้เป็นเส้นแรก แล้วปล่อยเส้นต่อ ๆ ไป ใยเส้นแรก ๆ นี้เป็นเหมือนฐานรากเส้นประธาน เมื่อโยงใยได้แข็งแรงระดับหนึ่ง เจ้าตัวก็จะไต่สานใยจนเป็นตารางเรียบร้อย แล้วก็มานอนพักผ่อน เหยื่อมาชนใยเมื่อไหร่จึงออกมาเขมือบ ..
ตรงกับคำที่ว่า สบายเมื่อปลายมือ ..
สารคดียังเสนอเรื่องประหลาดมากกว่านั้น มีแมงมุมบางสายพันธุ์จะปล่อยเส้นใยเส้นเดียวแต่เหนียวและแข็งแรง ใช้วิธีเหวี่ยงเป็นวงกลมให้กระทบเหยื่อเหมือนลูกตุ้ม (เป็นระบบใยเคลื่อนไหวได้) เจ้าแมงมุมลูกตุ้มนี้มีวิธีล่าเหยื่อที่อาศัยทักษะชั้นสูง ต้องคำนวณทุกขั้นตอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยังมีแมงมุมบางชนิด ร่วมมือกันทักทอตารางสายใยที่เหนียว และมีพื้นที่ขนาดใหญ่ ทำให้ดักเหยื่อได้จำนวนมากมาแบ่งปันอาหารกัน
ตรงกับคำที่ว่า แม่นยำในทุกลีลา ไม่พลาดท่าให้ศัตรู
ยังมีเรื่องปลาเสือตอ ที่พ่นน้ำออกไปยิงเป้าอาหารที่อยู่ไปออกไปหลายเมตรอย่างแม่นยำ กระสุนหยดน้ำเหล่านี้เหมือนเรือดำน้ำล่าศัตรู เป้าหมายไม่รู้ว่าคู่ต่อสู้หลบอยู่ที่ไหน อาวุธมาจากทิศทางใด จึงยากที่จะป้องกันตัว แต่โจทย์ของปลาเสือตอยังไม่จบง่าย ๆ ตัวที่ยิงกระสุนน้ำต้องคำนวณจุดที่เหยื่อตกไว้ด้วย เพราะใต้น้ำมีสมาชิกเสือตอว่ายเพ่นพ่านรอการมีส่วนร่วมยุบยับ เสือตอจึงคำนวณ 3 ชั้น ต้องคำนวณเป้ายิง และคำนวณจุดเป้าตก ต้องคำนวณการเข้าถึงเหยื่อตอนตกน้ำ ทุกอย่างรวดเร็วภายในพริบตา นี่แหละอภินิหารเสือตอ ถ้าเราไม่ได้ดูรายละเอียดเหล่านี้ เราก็จะรู้แต่เพียงว่าเสือตอเป็นปลาที่พ่นน้ำได้ ความน่าสนใจจึงอยู่ในขั้นแปลกนิด ๆ หน่อย ๆ ไม่ได้เห็นความมหัศจรรย์อย่างที่สารคดีเปิดเผยความจริง เมื่อรู้แล้วทำให้เรารักเสือตอที่มีอยู่ในบึงบอระเพ็ดจังหวัดนครสวรรค์ เป็นของดีในบ้านเรานี่เอง ตอนนี้ทำท่าว่าจะสูญพันธุ์แล้วด้วย ผมจึงอยากเลี้ยงเสือตอขึ้นมา กำลังค้นหาว่าจะติดต่อซื้อเสือตอได้ที่ไหน ไม่ทราบว่าตลาดจตุจักรจะมีไหมนะ
สารคดีแสดงให้เห็นว่า
ถ้าเราจะจับสัตว์ใหญ่เขาจะใช้ยาสลบยิงให้สัตว์หลับ
แต่บ้านเราจะจับวัวจับหมูแต่ละทีฉุกละหุก อันตราย เหงื่อท่วมตัว บางทีก็เดี้ยง
ผมจำเป็นที่จะตอนหำหมูโทนพ่อพันธุ์ที่แก่แล้ว
ลังเลเพราะยากลำบากในการจับมัดนี่แหละ..
ได้รับจดหมายจาก ดร.จินตนาภา โสภณ
ที่ปรึกษาด้านการวิจัยทางสังคมศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
ทำให้นึกถึงงานวิจัยบ้านเรา
ที่ต้องยกระดับอีกมากนัก
ยังห่างไกลจากจุดที่จะส่งผลต่อสังคม
กฎระเบียบ ข้อจำกัดต่าง ๆ ทางราชการคือยาขมหม้อใหญ่
แต่ถ้าใครทำอะไรได้หรือสำเร็จก็จะมาขอชุบมือเปิบ !!
สารคดีได้เรียงลำดับความสำคัญของนักล่าเหยื่ออีกมากมาย
ปลาวาฬ ปลาไหลไฟฟ้า หมาไนฯลฯ.. หมีขั้วโลกเหนือมีจมูกเป็นอาวุธชั้นเยี่ยม สามารถดมกลิ่นแมวน้ำที่หลบอยู่ใต้น้ำแข็งได้อย่างเหลือเชื่อ เมื่อเจอจุดหลบซ่อนแล้ว ก็ใช้พละกำลังตัวเองโหมเอา 2 ขาหน้าโถมกระแทกจนน้ำแข็งแตกเป็นช่อง แล้วเอามือล้วงเอาแมวน้ำที่เคราะห์ร้ายมาเป็นอาหาร กลวิธีของสัตว์เหล่านี้เป็นการล่าเหยื่อเพื่อบำบัดความหิวโหย แต่มนุษย์เราพัฒนากิเลสไปมากกว่านั้น ทุกวันนี้ไม่ได้ล่าเหยื่อเป็นอาหารโดยตรงอีกแล้ว แต่กำลังใช้เล่ห์กลล่าอะไรต่อมิอะไรอย่างซับซ้อน เพื่อให้ได้สิ่งนั้นมาสนองตัณหาตนเอง
สารคดีได้บอกเล่าเรื่องโลกร้อนในขณะนี้
ถ้าที่หนึ่งน้ำท่วม อีกที่หนึ่งก็จะแห้งขอด
ถ้าที่หนึ่งฝนตก อีกที่หนึ่งก็จะอับฝน
ความสับสนอลหม่านนับวันแต่จะโกลาหลมากขึ้น
ความสมดุลทางสภาพแวดล้อมกำลังเสียหาย
ปัญหาใหม่ ๆ ที่ตามมาเป็นระลอกดังกล่าวนี้
ด้วยสติปัญญาและเล่ห์กลที่มนุษย์มี
จะสามารถเผชิญกับวิกฤติทางธรรมชาติได้จริงหรือ?
แล้วท่านละ!..คิดและตั้งรับกับเรื่องนี้อย่างไร
อย่าบอกนะว่า..
ร้อนก็เปิดแอร์ หนาวก็ห่มผ้า เปลี่ยวกายาก็แต่งงาน
มันไม่ง่ายขนาดนั้นหรอกต๋อย..
« « Prev : ไม่ได้กินโต๊ะจีนก็ล่อโต๊ะลาวนี่แหละ
Next : ตราบาป » »
4 ความคิดเห็น
ครูบาคะ ได้รับเรื่องราวที่ทำให้ “อิ่ม” แล้วค่ะ กราบขอบพระคุณมากค่ะ
นึกแล้วว่าอุ้ยต้องชอบที่หมออำพลเขียน วันที่ 2เดือนมีนาจะประชุมเจอกันอีก
จะขอมาฝากท่านอื่นๆในสายสาธารณสุข อิอิ
ครั้งหนึ่งที่สวนโมกข์ พระลูกวัดพยายามหาหนังมาฉายในวัด แม้พยายามจะหาหนังที่ดีที่สุดอย่างไร ท่านอาจารย์พุทธทาสก็ไม่ยอม แต่เมื่อได้นำสารคดีเกี่ยวกับชีวิตสัตว์มาให้ดูท่านกลับชอบ เพราะเหตุผลที่ว่าหนังนั้นคนมันแสดงมันไม่เป็นธรรมชาติ แต่ชีวิตสัตว์นั้นเกิดจากธรรมชาติ ไม่ได้เป็นการเสแสร้ง
ด้วยความสนใจในรายละเอียดเกี่ยวกับสัตว์เหล่านี้กระมังครับ ที่ทำให้ผลงานของท่านนั้นเทียบเคียงกับชีวิตสัตว์เป็นจำนวนมาก ส่วนมากเกิดจากการสังเกตจากสัตว์ใกล้ตัวท่านนั่นเอง เช่น ไก่ป่า สุนัข อีกา(และไอ้กา อิอิ)
ผมจำได้ว่าสมัยก่อนเวลาฝนจะตกหนัก ผู้ใหญ่จะสังเกตจากการอพยพของสัตว์จำพวกมด ถ้าพวกมันย้ายถิ่นอย่างผิดสังเกตละก็เตรียมตัวนอนคลุมโปงกันได้เลย แต่เดี๋ยวนี้เห็นมดมาเมื่อไรก็เจอยาฆ่ามดในบัดดล
ผมก็คนหนึ่งที่ชอบดุสารคดีชีวิตสัตว์เช่นกันครับ แม้จะไม่ค่อยได้ดูนักก็ตาม
ธรรมชาติเป็นคลังของความรู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก สิ่งมีชีวิตมีบริบทของตนเองแตกต่างกันออกไป จึงสมควรเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข