เล่าเรื่องยาว ๆ จากอุบล
อ่าน: 4154
..วันนี้ฟ้ากรุงเทพกระจ่างแจ้งแดดเปรี้ยงเลยนะครับ
เพิ่งกลับจากอุบลเมื่อคืนนี้
อากาศหัวเมืองชายแดนอีสานตอนใต้กำลังสบาย
ได้เห็นเรื่องดีๆที่อุบลมาเล่าเยอะแยะ
วันที่12 ตื่นตั้งแต่ตี4 บึ่งไปสุวรรณภูมิ นั่งสะลึมสะลืองีบหนึ่งก็ถึงแล้ว ผ.ศ.วรรณวไล อภิวาสน์พงศ์มารับไปประชุมโครงการปลูกป่าร่วมกับมูลนิธิโตโยต้า เป็นกิจการเพื่อสังคมที่ทางมูลนิธิให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปลูกไม้พื้นเมืองจำนวน 30,000ต้น ใช้งบประมาณล้านเศษ ปลูกในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยบนสภาพพื้นที่เรียกว่าน้ำไหลทรายมูล เป็นดินที่เกิดจากการพัดพาทรายจากแม่น้ำมาทับถมกัน ความอุดมสมบูรณ์ต่ำมาก ขุดลงไปเป็นเมตรจะเจอแต่ทรายกับทราย ดังนั้นวิธีการปลูกจึงใช้เทคนิคผู้เชี่ยวชาญป่าไม้ญี่ปุ่นผนวกกับนักวิชาการของไทย บรรยากาศการประชุมดีมาก พิจารณาเฉลี่ยความรับผิดชอบที่จะเป็นเจ้าภาพร่วมกันอย่างลงตัว ผมให้Key Word ไปว่า “วันที่6ธันวา..ปลูกป่ากับโตโยต้า กินข้าวป่าที่..ม.อุบลฯ” ในวันดังกล่าวนอกชาวนักศึกษา-คณาจารย์ของม.อุบลแล้ว อ.วรรณวไล ยังชวนเด็กนักเรียนในเครือข่ายมาร่วมด้วย คาดว่าจะมีผู้มาร่วมปลูกประมาณ 2,000 คน
กิจกรรมนี้พิเศษตรงที่ว่า สามารถเอาเป็นกรณีศึกษาเรื่องการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมธรรมชาติในพื้นที่ ที่เรียกว่าดินไหลทรายมูล การเตรียมหลุม เตรียมปุ๋ย รดน้ำดูแล จึงค่อนข้างพิถีพิถัน เพราะต้นธันวาคมฝนอีสานคงไม่มีมาอีกแล้ว
คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ในข้อแนะนำว่า ..”เราควรเอาพื้นที่ใกล้เคียงกัน ทำเป็นเขตแนวไว้เปรียบเทียบดูว่า พื้นที่ๆมนุษย์ปลูกกับพื้นที่ๆปล่อยให้ธรรมชาติเสริมสร้างการฟื้นฟูพื้นที่ตามธรรมชาติ จะมีความแตกต่างกันอย่างไร และความเก็บบันทึกข้อมูลไว้เป็นระยะๆ”
หลังจากนั้นผมไปทำการบ้าน ต้องไปพบปะกับคณาจารย์คณะบริหารศาสตร์ ซึ่งยังหาคณบดีตัวจริงไม่ได้ จึงมีเรื่องไม่สะดวกในการจัดการเรียนการสอนและการบริหารกลไกภายในที่ยังขาดๆเกินๆ คณบดีรักษาการขอให้ไปช่วยรับฟังข้อคิดเห็นของชาวคณะดังกล่าว ในฐานะนักศึกษาหลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุขรุ่นที่1 ของสถาบันพระปกเกล้า เพิ่งจะได้งัดวิชาความรู้มาแสดงคราวนี้เอง..สไตล์ผมก็ไม่มีอะไรมาก บอกกับคณาจารย์ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประมาณ80%ของบุคลากรของคณะฯ ถือเป็นเวทีประชาคมเสียงข้างมากได้ใช่ไหมครับ บอกไปว่าวันนี้จะมารับฟังเรื่องดีๆเรื่องที่มีความสุข ความหวัง ความงาม ส่วนจะมีเรื่องหนักอกหนักใจผสมมาบ้างก็ยินดีรับฟัง บ่นมาเถอะ ไม่มีผิดมีถูก พร้อมรับฟังเรื่องทุกข์สุขของอาจารย์..ถ้าอาจารย์ไม่มีความสุข อาจารย์จะสอนหรือทำงานให้สนุกได้อย่างไร? อยู่คณะบริหารศาสตร์ ต้องบริหารความทุกข์ให้มีความปกติได้ใช่ไหมละครับ บรรยากาศเป็นกันเองมาก มีอาจารย์ยกมือเล่าเรื่องดีให้ฟังมากพอสมควร ตอนแรกกะว่าจะคุย1ชั่วโมง แต่ล่อไป2ชั่วโมงได้ สรุปเรื่องที่คุยกันวันนี้ ขอให้ตัวแทนคณะฯ เก็บประเด็นแล้วบันทึกส่งขึ้นมา ผมจะรับเป็นองคตสื่อสารเรื่องนี้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ต่อไป
หลังจากนั้นก็วิ่งรอกไปประชุมแผนโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยอุบล กว่าจะเลิกล่อไปบ่าย5โมง นั่งรถมาถึงโรงแรมก็โพล้เพล้แล้ว อาจารย์ผู้ใหญ่ชวนคุยเรื่องหัวข้อที่จะเสวนาพรุ่งนี้ระหว่างอาหารมื้อเย็น ผมอิ่มกับการประชุมพอแล้ว จึงแวบออกมากับอาจารย์และนักศึกษาลาวที่มารับออกไปกินข้าวปลาข้างนอก กลับมาถึงโรงแรมตาแทบปิด แต่ใจจำเป็นต้องเปิด เพราะPower Point ที่จะนำเสนอยังไม่ทำสักกะนิดเดี๋ยว ตอนแรกกะว่าจะอาศัยบล็อกลานปัญญาประกอบการเสนอ บล็อกก็มาเดี้ยงอีก จึงต้องเตรียมตัวช่วย กว่าจะได้สื่อสาระบ้างก็เลยเที่ยงคืนไปแล้ว..
วันที่13 ต้องตื่นแต่เช้า เพราะมีนัดที่จะไปดูอาคารโบราณที่สร้างด้วยไม้ตะเคียนหินหลังใหญ่ที่สุดในโลก ใหญ่จริงๆนะครับ สูง2ชั้นมี32ห้อง เดิมเป็นที่ตั้งของโรงเรียนประจำจังหวัด.. หลังจากนั้นก็ถูกทิ้งร้างไว้ มะรำมะร่อจะถูกพวกตาต่ำรื้อทิ้งหลายครั้ง คุณนิกร วีสเพ็ญ ผู้ทรงคุณวุฒิสภาฯ ได้ดำเนินเรื่องปกป้องไว้หลายครั้ง สุดท้ายทำเรื่องเสนอเข้าเป็นโบราณสถานสำเร็จ กรมศิลปากรกำลังซ่อมแซมในวงเงินงบประมาณ15ล้านบาท แล้วยกให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นผู้ดูแล ผมในฐานะประธานด้านศิลปวัฒนธรรมจึงต้องเข้ามาเกี่ยวข้องในส่วนนี้
ผมขอแนะนำเลยนะครับ
ใครมาอุบลแล้วไม่ได้ไปแวะชมความอลังการของอาคารหลังนี้ถือว่ามาไม่ถึงอุบล ถึงอาคารจะสร้างมา8-90ปีแล้ว ท่านมาดูเถิดว่าต้นตะเคียนที่ไปตัดล่องแม่น้ำมูลจากป่าดงพญาเย็นสมัยโน้น ลำบากยากเย็นขนาดไหน ได้ไม้แล้วก็มาออกแบบก่อสร้างอย่างบรรจงแน่นหนาถาวรมาก ไม้พื้นแผ่นหนาเป็นนิ้ว หลังจากบูรณะแล้วจะเป็นสมบัติล้ำค่าให้ชาวอุบลภาคภูมิใจ เราคิดกันคร่าวๆว่าจะจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงมูลมังของชาติพันธุ์ลุ่มแม่น้ำโขง จะชวนคณะศิลปประยุกต์มาเรียนและดูแลที่นี่
รายการที่2ของวันนี้
เป็นการเสวนาวิชาการระดับภูมิภาคในหัวข้อ
การจัดการเรียนรู้สู่การปฏิบัติจริงในระดับอุดมศึกษาครั้งที่ 1
การเปลี่ยนผลการเรียนรู้
ยกแรกประกอบด้วย กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิมหาวิทยาลัยอุบล
· รศ.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ
· ศ.นายแพทย์วราวุธ สุมาวงศ์
· นายสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์
· ผศ.อินทิรา ซาฮีร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
ตอนแรกตกลงกันว่าจะนั่งสนทนากันเฉยๆไม่ใช่สื่ออะไร แต่ผมขออนุญาต เกรงว่าจะเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนไม่ออก จึงขอฉายPower Point ประกอบเรื่องเล่าเร้าฮา เวทีนี้มีคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว และมหาวิทยาลัยจำปาสักยกทีมานำเสนอผลงานร่วมกับคณาจารย์มหาวิทยาลัยในไทย หลังจากลงเวที ผมได้รู้จักคณาจารย์หลายท่าน เช่น ร.ศ.ปริญญา อรุณวิสุทธิ์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนานักศึกษา จากมหาวิทยาลัยสงขลานัครินทร์ ท่านเหล่านี้จดเว็ปไซด์ไว้ติดต่อกันในโอกาสต่อไป..เสียดายถ้าบล็อกไม่เดี๊ยง เราคงได้สมาชิกหน้าใหม่ในหลายมหาวิทยาลัยมาเป็นชาวเฮ
ก่อนบ่ายเป็นรายการของอาจารย์วรรณวไล ร่วมกับอาจารย์ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยของลาว นำเสนอเรื่องราวที่น่าประทับใจมาก โดยเฉพาะภาษาลาว-ไทยสื่อสารกันได้สบายๆ..ในงานนี้ นอกจากมีการแสดงผลงานทางวิชาการ 30 กว่าโครงการ ยังมีบริษัทTCS มาแสดงเครื่องมือการเรียนการสอนการสื่อสารทางไกล คล้ายๆกับการส่งภาพและเสียงแบบคอมเฟอเร็นท์นั่นแหละครับ แต่ระบบใหม่นี้พัฒนาให้สะดวกและมีประสิทธิภาพสูง ผมก็รู้งูๆปลานะครับ เขาเห็นมีหน้าที่เกี่ยวข้องอยู่บ้าง เจ้าหน้าที่ได้ลงโปรแกรมให้สามารถใช้งานได้1หน่วย เพื่อที่จะติดต่อกับคณะและคณาจารย์ต่างๆ ในการที่จะทดลองแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบคนสอนอยู่ที่ไหนก็ได้ เช่นผมอยู่สวนป่า ก็สามารถส่งภาพ-เสียง-เอกสารหรือ power point ฯลฯ ..
· ผมนึกถึงเล่าฮูแสวง ที่เคยใช้ให้ผมคุยกับนักศึกษาในระหว่างที่เล่าฮูสอนนักศึกษาอยู่ที่มอดินแดง ส่วนผมอยู่สวนป่า ก็ได้แต่ฟังคำถาม-และตอบนักศึกษาแบบกระท่อนกระแท่น แต่คราวนี้จ๊าบส์มากขึ้นแล้วนะครับ ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างขอนแก่นอาจจะมีระบบนี้แล้วก็ได้
· ต่อมาคิดถึงรอกอด เจ้าพ่อไอที.แห่งเอเชีย ที่เคยปรารภม์ด้วยความห่วงใย ที่เห็นผมเต็ดไปเต็ดมาโน่นนี่อยู่เนื่องๆ บอกว่าครูบาควรจะอยู่กับที่ได้แล้ว..ใครอยากคุยก็ให้เขาเข้ามาเอง แหมถ้ามีเครื่องมือสื่อสารครบเครื่องอย่างนี้ ผมก็จะนอนเกาพุงอยู่บ้านได้สบายๆ ใครอยากฝากความคิดถึงก็ไปหาอุปกรณ์มาเชื่อมต่อกันซะ โดนใจจริงๆครับงานนี้ ว่าแต่อีตอนที่ยังใช้งานไม่คล่องนี่สิ จะต้องอาศัยท่านรอกอดช่วยพยุงปีก ไม่ทราบว่าฟื้นจากการบุกงานหนักแล้วหรือยัง ผมอยากจะให้มาดู..A PREMIER NETWORK COMMUNICATION INTEGRATOR ผมไม่ทราบว่ามันเป็นอิหยัง แล้วเราจะใช้ระบบนี้อย่างไร อิ อิ..
ก๊อกสุดท้าย ประชุมสภามหาวิทยาลัยวาระพิเศษ มีเรื่องพิจารณามากเหมือนทุกครั้งนั่นและ กว่าจะเสร็จก็จวน5-6โมงเย็น เจ้าหน้าที่พาบึ่งรถเข้าตัวเมือง ซื้อของฝาก-กินข้าว แล้วก็กลับกรุงเทพฯ คณะเรามีท่านอาจารย์ ศ.จอมจินทร์ จันทรสุกล นายกสภาฯ คุณโสภณ สุภาพงษ์ คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ศ.อมร จันทรสมบูรณ์ ศ.นพ.วราวุธ สุมาวงศ์ รศ.ปภัสวดี วีรกิตติ รศ.นพ.ป่วน สุทธิพินิจธรรม เรียงล่ายซ่ายยกทีมกลับมาด้วยกัน ผมมาถึงห้อง814 จวนจะ2ทุ่ม
เมื่อคืนเพลียจนลืมฝันหวาน
ตื่นขึ้นมานั่งปั่นบันทึกนี่แหละครับ
ค่อนข้างยาวหน่อยเพราะรวมเรื่องไว้หลายวัน
บ่ายๆไปดูภาพยนตร์เรื่องโลกวิกฤติในปี2012
สนุกมากขอบอก..
มีฉากหวาดเสียวขนาดคนนั่งใกล้แทบฉี่ราด..
ได้แง่คิดว่าโลกนี้ไม่แน่ไม่นอน
ในขณะที่ยังหายใจสบายๆก็รักกันไว้เถิด
ถ้าเป็นตัวคูณตัวบวกให้กันและกันจะมีความเจริญและผาสุก
ถ้าเป็นตัวลบ ตัวหาร ของกันและกัน
ก็ไม่ต่างกับคนมีหัวใจเป็นพลาสติก
จบข่าว
อิ อิ..
« « Prev : ร่าง-แผนสุขภาวะชุมชนเชิงลุก
Next : วิชาตะบี้ตะบันศาสตร์ » »
9 ความคิดเห็น
“…เป็นกิจการเพื่อสังคมที่ทางมูลนิธิให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปลูกไม้พื้นเมืองจำนวน 30,000ต้น ใช้งบประมาณล้านเศษ ปลูกในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยบนสภาพพื้นที่เรียกว่าน้ำไหลทรายมูล เป็นดินที่เกิดจากการพัดพาทรายจากแม่น้ำมาทับถมกัน ความอุดมสมบูรณ์ต่ำมาก ขุดลงไปเป็นเมตรจะเจอแต่ทรายกับทราย ดังนั้นวิธีการปลูกจึงใช้เทคนิคผู้เชี่ยวชาญป่าไม้ญี่ปุ่นผนวกกับนักวิชาการ ของไทย…”
ฝรั่งถามปัญหาคล้ายกันครับ ว่าจะเปลี่ยนทรายในฟลอริด้าเป็นดินได้อย่างไร มลรัฐฟลอริด้าเป็นพื้นที่ต่ำมาก (ในอดีตคงเคยเป็นทะเลมาก่อน) สภาพดินมีทรายเยอะ ซึ่งในคำถามก็บอกว่าปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น เก็บน้ำไม่ได้ เอาซากพืชซากสัตว์ใส่ลงไปก็อยู่ได้ประมาณปีเดียว แล้วก็กลับเป็นทรายดังเดิม
คำตอบมีหลายแนว แต่อ่านดูแล้ว ไม่แน่ใจสักแนวครับ
@ ปลูกพืชท้องถิ่น (เพราะมันอยู่ได้มาตั้งนานแล้ว)
@ พืชตระกูลถั่ว
@ รดน้ำเยอะๆ
@ พืชเล็ก ปลูกในกระถางโดย “ดินถุงที่ซื้อมา”
ถ้าดินมีทรายปนอยู่เยอะ เอาดินทรายนี้ไปทำเครื่องปั้นดินเผา หรือกระจกได้ไหมครับ
พ่อครูบาครับ คุณนิกร วีสเพ็ญนั้นไม่ได้พบกันนานมากเลย เป็นชาวอุบลที่มีบทบาททางสังคมสูงคนหนึ่ง เคนร่วมงานกันครับ
ดินไหลทรายมูล ลักษณะคล้ายทรายขี้เป็ดในภาคกลาง
เหมาะที่จะเอาไปถมพื้น
ทำเครื่องปั้นดินเผา เอาไปทำกระจกไม่ได้ คุณสมบัติไม่ดีหรือเหมาะขนาดนั้น
หน้าทรายคงลึกไม่เกิน 2 เมตร
ดังนั้นเมื่อปลูกต้นไม้ โดยการขุดหลุมใหญ่ ใส่ปุ๋ยช่วยมาก ๆ
เมื่อต้นไม้โตเท่าไหร่ รากก็จะยั่งลงพื้นล่างได้เร็วได้ลึกมากขึ้นเท่านั้น
มีการคัดเลือกไม้พื้นเมืองปลูกประมาณ 30 ชนิด
ผมเสนอญี่ปุ่น ให้เป็นการทดลองปลูกไม้ ลักษณะที่พิเศษ
ถ้าสนใจ วันที่ 6 ธันวาคม ไปร่วมก็ได้นะครับ
ใช้เวลาปลูกไม่นาo คนเยอะ เช้าถึงเที่ยงก็เสร็จ
หัวใจอยู่ที่อยากให้ไปเห็็นอาคารไม้ตะเคียนหลังใหญ่ที่สุดในโลก สวย มหึมามาก
ทราบประวัติแล้วทึ่่งๆๆๆ
ผมคงต้องไป เพราะมีหัวโขนเป็นประธานที่ปรึกษาโครงการฯ (อย่างเป็นทางการ)
อิอิ อยากรู้เหมือนกันว่าผู้เชี่ยวชาญญึ่ปุ่นมีเทคนิคพิเศษ ที่ดีๆอะไรบ้าง
นิกร น่ารักมาก อยากมาสวนดิ้นปัดๆ
ปี้นี้ลงมือทำนาเอง ปีแรก มีความสุขมากที่ได้เป็นชาวนา
ปัจจุบันเป็นกรรมการสภา ผู้ทรงคุณวุฒิด้วยกัน
คุยกันถูกคอ วันหลังจะบอกว่าท่านบางทรายคึดฮอด
อ่านหนังสือเจ้าเป็นไผ1 ไผ2
แล้วบอกว่า ผมจะหัดใช้คอมพิวเตอร์
เพื่อจะมาเจ๊าแจ๊ะกับชาวลานได้
อิ อิ ครับ
vbvb 8iy[
อ่านอิ่มๆเต็มๆ ..ขอบคุณค่ะครูบา
เห็นอาคารแล้วนึกถึงศาลากลางเก่าของจังหวัดนนทบุรี ที่เคยไปกับครูบาและแม่หวีนะคะ….
อาคารศาลากลางจังหวัดนนทบุรี น่าจะมีคนบูรณะ
ของที่อุบลสวยอลังการมาก
ใหญ่โตกว่าตำหนักเจ้าดารารัศมี ที่เราไปชมกัน
แต่้ผมก็ได้แนวคิดที่จะวางแผนการใช้งานตามอย่างที่จุฬาฯจัดการกับตำหนักเจ้าดาราฯ
เอาไว้เสร็จเรียบร้อยจะชวนลุยอุบลนะครับ อิอิ
อิอิ ฟงแฟน อย่าไปสรรหาเลย
ถึงเวลาก็มีมาเองแหละ
เอาใจช่วยเสมอนะ คิคิ