ยำถั่วพู ไม่ใช่ยำถั่วโก๋แก่

โดย sutthinun เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2009 เวลา 0:01 ในหมวดหมู่ สวนป่าฮาเฮ #
อ่าน: 7263

  • ไม่ทราบว่าชาวเฮชอบรับประทานยำถั่วพูไหมครับ

ถั่วพูไม่เหมือนถั่วฟักยาว หรือถั่วลิสงหรอกนะ

ถั่วโก๋แก่ยิ่งไม่เหมือนใหญ่เลย

ถั่วพูมีผลเป็น4แฉก ฝักยาวประมาณ 1 คืบ

เด็ดสดๆมายำอร่อยเหาะ

ถ้าให้เด็ดสาระตี่ควรซอยผลตะลิงปลิงใส่แทนรสเปรี้ยวอย่างอื่น

ยำจานเด็ดเราจะอร่อยกลมกล่อม

พูดแล้วน้ำลายแตกฟองแล้วสิ

  • ช่วงที่ผมกำลังปรับพฤติกรรมการกิน

ลดเนื้อสัตว์รับประทานปลาและผักเป็นหลัก

ก็ต้องออกแบบเมนูพิเศษสำหรับเรานะสิครับ

ปลูกเรือนยังตามใจผู้อยู่ ผูกอู่จะตามใจผู้นอนหรือเปล่าไม่รู้นะ

แต่เรื่องกินเรื่องใหญ่เสมอ

ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ก็เพราะโมโหหิวนี่แหละ

คนเราถ้ากินเป็นก็คิดเป็น..

  • จุดแรกเริ่มก็มองรอบๆตัวมีอะไรที่จะเอามาได้บ้าง

โห! ถั่วพูกำลังงามจึงเด็ดมา20 ฝัก

เรื่องเด็ดหรือเก็บฝักถั่วนี่ต้องระวังนะครับ

สังเกตดีๆจะเห็นช่อดอกตะปุ่มตะป่ำเล็ก

การเก็บผักให้ถูกวิธีควรใช้กรรไกรค่อยๆตัดฝักออกมา

อย่าให้กระทบตาดอกที่อยู่ใกล้ชิดกัน

เพราะดอกพวกนี้จะทยอยเป็นฝักให้เราเด็ดอีกหลายรุ่น

ส่วนมากคนจะไม่ระวังจุดนี้

เจอผักงามก็เอามือคว้ารุนแรงดอกเล็กๆช้ำพังยับ

เจ้าของสวนเห็นแล้วแทบน้ำตาร่วงเลยละครับ..

  • ในแปลงผักผมมีต้นตะลิงปลิงกำลังออกดอกออกผล

(ป้าจุ๋มเอามาฝาก 4-5 ต้นเมื่อปีที่แล้ว)

เด็ดมา 3 ผล เพื่อจะเอามา

บอกโฉมยงว่าเช้านี้เรามายำถั่วพูสดๆชิมกันเถอะ

ใส่กุ้งลวก งาดำคั่ว ไข่ต้ม

เยาะน้ำปลา หอมซอย สับตะลิงปลิง พริกสดหั่นนิดหน่อย

เด็ดใบสะระเหน่แต่งให้ดูดี

แค่นี้ก็ได้อาหารสุขภาพที่อร่อยประหยัด

ที่จริงสูตรยำถั่วพูมีหลากหลายครับ

ทดลองไปเรื่อยๆ ชอบสูตรไหนค่อยปักใจสูตรนั้น

ข้อควรจดจำ..อร่อยแล้วอย่าลืมชมแม่บ้านให้หน้าบาน..

ไม่งั้นกระเพาะอาจจะเสียโอกาสในคราวต่อๆไปได้

  • คุณค่าของถั่วพูมีมากเหมือนคุณค่าทางอาหารโดยมีส่วนที่ใช้เป็นยา คือหัว และราก ใบยอดอ่อนและเมล็ดมีโปรตีนสูง ซึ่งช่วยย่อยไขมันอิ่มตัว ส่วนรากใช้รักษาอาการปวดมวนท้อง รักษาโรคลมพิษกำเริบ ส่วนหัวใช้บำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีย ทำให้รู้สึกปลอดโปร่ง แก้ร้อนในกระหายน้ำ วิธีใช้โดยนำมาตากแห้ง หั่นแล้วคั่วไฟให้เหลือง ชงดื่ม เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการอ่อนเพลีย ใครที่ชอบเครียด เดี๋ยวเครียดเดี๋ยวเครียดก็น่าพิจารณาอยู่เหมือนกัน พิจารณานานๆเดี๋ยวก็หิว เดี๋ยวก็ต้องสั่งยำถั่วพูมาสักจาน แก้เครียด ท้องอิ่มแล้วความเครียดก็ลดลงเสมอ

คราวนี้เรามาดูคุณสมบัติคับจานของเมนูที่ว่านี้

ฝ่ายวิชาการบอกฝ่ายวิชากินว่า..

ถั่วพูเป็นพืชเขตร้อน ถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบประเทศ เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินเดีย พม่า ไทย ลาว ปาปัวนิวกินี และฟิลิปปินส์ ปัจจุบันปลูกได้ในมลรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา (ฤดูร้อน)

ถั่วพูเป็นพืชล้มลุก ลำต้นชนิดเลื้อยพันทอดเกี่ยวไปตามแนวต่างๆ
บางคนชอบกินสด รสจะมัน ๆ หรือไม่ชอบแบบสดก็ผักเล็กน้อยกับน้ำมันแล้วกินกับน้ำพริกหรือขนมจีน จะหั่นเป็นชิ้นเล็กๆผสมลงในทอดมันก็ได้เมนูเด็ดที่ชาวปักษ์ใต้นิยมก็คือแกงไตปลา บางที่ก็ใส่ถั่วพูลงไปเพิ่มรสให้มันสะใจยิ่งขึ้น หากจะรับประทานฝักถั่วพูก็ควรรับประทานฝักอ่อนที่ยังไม่มีเมล็ด นอกจากผลที่เป็นฝักแล้ว ดอกอ่อน ยอดอ่อนก็ยังรับประทานได้อีกด้วย

ดอกถั่วพูนั้น มีสีขาวอมม่วงสวยน่ามอง ถ้าได้ลองปลูกในบ้าน ก็จะได้ทั้งอาหารผักและอาหารตาไว้เชยชม ใบถั่วพูนั้นเป็นใบย่อยสามใบรูปร่างเหมือนไข่ ผลเป็นฝักแบนมีปีก 4 ปีก เล็ก ๆ ฝักยาวประมาณ 3-6 นิ้ว เมล็ดกลมเรียบเป็นมัน รากเป็นหัวอยู่ใต้ดินมีปม

ถ้าได้กินถั่วพูแล้วติดใจ ถั่วพูเป็นพืชที่ปลูกได้ง่าย นำเมล็ดแก่ฝังดินปลูกได้ทันที เจริญเติบโตได้ดีในทุกภาคของประเทศไทย นิยมปลูกกันตามริมรั้วหรือสวนหลังบ้าน อยากปลูกถั่วพูไว้ดูทั้งดอกและเป็นผักสวนครัวมีรั้วระแนงหรือรั้วไม้ไผ่กบที่ว่างเพียงเล็กน้อยพอปักค้างให้เถาถั่วเลื้อยขึ้นปีนป่าย พืชในวงศ์ถั่วมักชอบน้ำมาก ๆ และขึ้นได้ดีในทุกสภาพภูมิอากาศ แต่หากเป็นฤดูฝนที่ฝนชุกก็เป็นที่ชอบอกชอบใจของถั่วพูมากทีเดียว เพียงรดน้ำเช้าเย็นอย่าให้ดินแห้งเกินไป ถั่วพูจะเติบโตเร็วทันใจคนที่รอกิน ถั่วพูยังทนทานต่อโรคพืชหลายชนิด และถึงแม้มีหนอนบ้างก็อาจใช้วิธีหยิบออก

ส่วนตะลิงปลิงก็ใช่ว่าจะธรรมดานะครับ

ตะลิงปลิงเป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในแถบอินโดนีเซียและมาเลเซีย

ชื่อวิทยาศาสตร์
Averrhoa bilimbi L.
วงศ์
Oxalidaceae
นับเป็นญาติกับมะเฟือง
ชื่ออื่นของตะลิงปลิงมีดังนี้ ลิงปิ้ง หลิ้งปิ้ง หลี้งตี้ง ลีหมิง เฟืองเทศ มะเฟืองตรน หลิงปลิง (ใต้) กะลิงปริง ปลีมิง ลิงปลิง ลิงปลิง (ระนอง) มูงมัง (เกาะสมุย) บลีมิง (มาเลย์-นราธิวาส)
Bilimbi, Bilimbing, Cucumber Tree, Tree Sorrel

“ตะลิงปลิง” เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูงประมาณ 5-10 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก กิ่งก้านเปราะหักง่าย มีขนนุ่มตามกิ่ง
ดอกออกเป็นช่อตามลำต้นและกิ่ง (ดอกขนาดเล็กหลายช่อ) แต่ละช่อยาวราว 6 นิ้ว ดอกมี 5 กลีบ มีสีแดงเข้ม มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบสีเขียวอมชมพู เกสรกลางดอกมีสีเขียวแดง ดอกมีกลิ่นหอม ผลกลมยาวเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ2เซนติเมตร ผลสีเขียว เป็นพูตามความยาวผล 5 ร่อง ออกเป็นช่อห้อย เมื่อสุกมีสีเหลือง ฉ่ำน้ำ เมล็ดแบน ผลมีรสเปรี้ยวจัดเพราะมีกรดออกซาลิกอยู่สูงให้ผลในฤดูหนาว


ยอดอ่อนและก้านดอกใช้ต้มจิ้มน้ำพริก ในประเทศไทยส่วนที่นิยมใช้กินคือผลอ่อน ผลตะลิงปลิงมีรสเปรี้ยว นิยมใช้แกงส้ม แกงคั่ว ทำน้ำพริก ต้มหมู ต้มเนื้อ ยำต่างๆ นำมาดอง หรือหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ กินกับขนมจีน ใส่ในน้ำบูดู หรือใช้แทนมะนาวในเมี่ยงคำ (ภูเก็ต)

สรรพคุณในตำรายาไทย
ราก : สรรพคุณแก้พิษร้อนใน กระหายน้ำ ฝาดสมาน บำรุงกระเพาะอาหาร แก้เลือดออกตามกระเพาะอาหาร ลำไส้ ดับพิษร้อนของไข้ แก้ริดสีดวงทวาร แก้คัน แก้คางทูม แก้ไขข้ออักเสบ รักษาสิว รักษาซิฟิลิส บรรเทาโรคเกาต์ บรรเทาการอักเสบของลำไส้ใหญ่


ใบ : สรรพคุณใช้พอกแก้คัน ที่ประเทศฟิลิปปินส์ใช้พอกรักษาคางทูม โรคข้อรูมาตอยด์ และรักษาสิว ใช้ภายในโดยนำมาต้มดื่มรักษาอาการอักเสบของลำไส้ใหญ่ รักษาซิฟิลิส แก้ไขข้ออักเสบ น้ำต้มใบใช้อาบให้กับผู้ป่วยที่มีไข้
ดอก:นำมาชงเป็นชาสรรพคุณแก้ไอ
ผล:
สรรพคุณเจริญอาหาร บำรุงกระเพาะอาหาร ฝาดสมานและลดไข้ แก้เสมหะเหนียว ฟอกโลหิต ยาบำรุงแก้ปวดมดลูก แก้ไอ บรรเทาโรคริดสีดวงทวาร แก้ลักปิดลักเปิด ชาวเกาะชวากินผลร่วมกับพริกไทยเพื่อขับเหงื่อในผู้มีอาการซึมเศร้า

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

วราภรณ์ วิชญรัฐ, ไม้เลื้อยกินได้, สุรีวิยาสาส์น กรุงเทพมหานคร,2548. 120 หน้า

« « Prev : โลกทั้งใบเป็นของนายคนเดียว

Next : กล้วยใครหว่า.. » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

6 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.19053196907043 sec
Sidebar: 0.096937894821167 sec