คำสารภาพ

โดย sutthinun เมื่อ 18 สิงหาคม 2009 เวลา 12:22 ในหมวดหมู่ สวนป่าฮาเฮ #
อ่าน: 1642

เรื่องที่ชวนญาติโกทั้งหลายลงขันความคิดในตอนที่แล้ว

มีที่ไปที่มาพอสมควร
ในชั้นแรกๆก่อนที่จะมีบล็อกKM.อย่างเต็มรูปแบบอย่างทุกวันนี้
ผมได้รับโอกาสให้ลองสร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านบล็อก
ใช้บล็อกเป็นเครื่องมือในการสร้างกระบวนการเรียนรู้

ในรูปของโครงการร่วมมือกันระหว่างคณาจารย์มหาวิทยาลัย -อาจารย์ที่ดูแลวิทยานิพนธ์-และตัวชุมชนที่เป็นปัจจัยร่วมเชิงกระบวนการ มีการเซ็นสัญญาความร่วมมือ 3 ฝ่าย

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช  จาก สคส.

ศ.ดร.ประกอบ วิโรจนกูฏ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ แห่งมหาชีวาลัยอีสาน

วันนั้นมีภาคีประจักษ์พยานหลายฝ่าย คณบดี คณาจารย์ และศ.ดร.อภิชัย พันธะเสน คณบดีคณะบริหารศาสตร์ ม.อุบลราชธานีฯลฯ ในกลุ่มพวกเรามีป้าจุ๋มไปร่วมด้วย ผมคิดคนเดียวเงียบๆว่า โอกาสของการเรียนรู้เชิงรุกที่จะกระตุ้นประสิทธิภาพและศักยภาพของคนไทยเริ่มขึ้นแล้ว มีความทะเยอทะยานใจมาก บอกตัวเองว่าสู้ตายโว้ย! เป็นไงเป็นกัน

หลังจากนั้น เราเปิดฉากด้วยบรรยากาศเข้มข้นมาก ผมได้ท่านเล่าฮูแสวง รวยสูงเนิน มาเป็นผ้ายันต์กันผีหลอก เล่าฮูถนัดด้านการอัดฉีดพลังแบบต้องเรียนรู้สู้สุดชีวิต ทุ่มเททุ่มใจให้กับการค้นพบวิธีเรียนให้ได้ แต่ก็นั่นแหละ ลูกศิษย์เราไม่ได้มีหัวใจเสริมใยเหล็กประมาณนั้น ยังเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อก็มี อนึ่ง สงสัยจะให้ยาแรง ดุเดือดเลือดพล่านตามสไตล์เอาจริงแบบหายใจรดต้นคอ นักศึกษาต้นทุนมีจำกัด ตั้งหลักไม่ทัน จึงตกเก้าอี้ดิ้นพราดๆ

เอาแล้วสิ ผมจะทำยังไงละนี่  คนไข้ป่วยหนักในขั้นที่ต้องบำรุงให้เลือดให้ยา ให้แข็งแรงพอที่จะทำการผ่าตัดเสียก่อน แต่เราไม่ได้ทำในขั้นตอนนี้ ลูกศิษย์และผู้ร่วมงานช็อคและน็อคไปทีละรายสองราย จนกระทั้งอาการถึงขั้นโคม่า

สคส. เฝ้าติดตามด้วยความห่วงใย ให้โอกาสทุกอย่าง งบประมาณไม่ต้องห่วงจัดสรรให้เต็มที่ ทุกคนลาเรียน ผู้บริหารไม่ยอมให้ลาก็ต้องผ่าทางตันถึงผู้บริหารระดับบน บางคนไม่ยอมเซ็นให้ลาไปเรียน ถึงกับเดินขบวนเปลี่ยนคนมาเซ็นแทน แต่ก็นั่นแหละ คนเราเมื่อใจฝ่อแล้วก็ยากที่จะจูนใจให้ฮึดได้..เมื่อทุกคนถอน ผมจะฝืนลากไม้ทางปลายได้อย่างไร ผมก็ต้องถอน ..

ทุกครั้งที่ฟังเพลง..จั่งสิมันต้องถอน..

แล้วสะท้อนถึงตัวเอง

สรุปมูลเหตุทั้งมวลได้ดังนี้

1 ระบบอินเทอร์เน็ตบ้านนอกในช่วงนั้น ไม่พร้อมไม่สะดวกอย่างทุกวันนี้ จะส่งข้อมูลแต่ละทีเฝ้ารอเน็ตล่มแล้วล่มอีกเป็นครึ่งค่อนวัน จึงเกิดความเบื่อหน่ายที่จะส่งการบ้าน

2ผู้ที่เกี่ยวข้องยังไม่มีประสบการณ์เรื่องนี้มาก่อน ในชั้นต้นจึงเหมือนตาบอดคลำช้าง
3การเข็นให้ชาวบ้านในเครือข่าย เขียนบล็อกส่งบล็อกเป็นเรื่องยากเกินกำลัง เรื่องนี้ประจักษ์แล้วว่าแม้แต่คนที่อยู่ในแวดวงการศึกษา ก็ยากที่จะสนใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านบล็อก ผู้บริหารหลายองค์กรมองว่ามันเป็นเรื่องใช้เวลาแบบไร้สาระ กับดักของKM.ในประเทศไทยอยู่ตรงนี้

4 นักศึกษา/อาจารย์ ที่จะต้องส่งรายงานผ่านบล็อกยังไม่มีความเข้าใจเข้า มองต่างมุม นึกไม่ออกว่าประสิทธิผลมันเลิศประเสริฐศรีอย่างไร

5 ตัวข้าน้อยเองที่เป็นตัวผลักและดัน ถึงจะชอบและเข้าใจกระบวนการนี้ แต่ก็มีศักยภาพน้อยมาก เรื่องการเขียนการใช้บล็อกยังอยู่ในระดับหางอึ่ง จึงทุลักทุเลในการจัดการความรู้

สุดท้าย นั่งถามตัวเองว่าจะเอายังไงหว่า..ทำไมมันมึนตึบ เดินหน้าไม่ได้เลย เกิดฉุกคิดว่า ..ถ้าการแสวงหาความรู้ต้องมาเครียด-ทุกข์-ไม่มีคำตอบอย่างนี้น่าจะเดินทางผิดแล้วละ จึงตัดสินใจสารภาพบาปกับพระอาจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช กราบเรียนท่านตรงๆ..ว่าที่ท่านคิดนั้นถูกต้องแล้ว ..แต่การที่จะทำสิ่งใหม่ๆกับหนูลองยา อาจจะต้องให้อิสระ และเพิ่มเวลามะงุ้มมะง่าร่ามากกว่านี้

ผมขอถอน และขอโทษที่ทำไม่ได้ตามพันธะสัญญา กราบขอบพระคุณอาจารย์ที่ให้โอกาสที่ดีที่สุด สคส.คิดดีคิดถูกแล้ว ผมชื่นชมกับแนวคิดนี้มาก และเชื่อว่าถ้าทำได้ จะเป็นการเปิดแนวรบด้านการศึกษาใหม่ ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ผมเสียดายโอกาสทองที่ได้รับ แต่ก็นั่นแหละ ยากที่จะฝืนวาสนา

หลังจากที่ถอน ผมก็มานั่งเลียแผลเงียบๆ

บอกตัวเองว่าถึงถอน แต่ผมไม่ถอยหรอกนะ

หลังจากนั้นเหมือนเป็นบุญวาสนาที่เคยร่วมกันมาแต่ชาติปางก่อน

ทำให้ผมได้รู้จักญาติสกุลเฮทั้งหลาย

พรมลิขิตดลบันดาลชักพาให้เรารู้จักกันทีละรายสองราย

แต่ละคนตัวจริงเสียงจริงทั้งนั้น

น่ารักน่ากอด..น่าไหว้

นั่งนึกเสียดายอยู่เสมอ

ถ้าก่อนหน้าได้รู้จักกันอย่างทุกวันนี้

โครงการKM.ในมหาชีวาลัยอีสานคงดำเนินไปได้อย่างสนุก

อาวรณ์ไปก็เท่านั้น เจอไม้งามยามขวานบิ่น

เมื่อเจอคนสกุลเฮ ทำให้ผมแอบดำเนินการจัดการความรู้ในสไตล์ตัวเองเงียบๆ การมีอิสระคิดและทำ ลองผิดลองถูกแบบไม่ต้องกังวลใดๆ โยนหินถามทางไปเรื่อยๆ อยากรู้เรื่องอะไรก็ยั่วให้คิดให้คัน ดึงเอาความรู้ความสามารถในตัวคนออกมา ได้มาแล้วก็คลี่เลือกเอาของดีๆไปใช้ พบว่าพวกเราทำเรื่องธรรมดาให้เป็นเรื่องพิเศษได้อย่างบรรเจิด

ด้วยปัจจัยดังเทพประทาน..ผมมีกำลังใจที่จะปัดฝุ่นดำเนินการต่อ เมื่อมาเก็บเล็กผสมน้อย สุดท้ายพบว่าเหลือหมูไม่กลัวน้ำร้อนอยู่คนเดียว..ที่ยังกัดไม่ปล่อย เขียนวิทยานิพนธ์ชนหน้าชนหลัง ดังที่พวกเราบางท่านได้สนทนาด้วย

หมูไม่กลัวน้ำร้อนคนที่ว่านี้ พวกเราบางท่านอาจจะรู้จักบ้างแล้วในนามครูน้อย เป็นคนที่น่าหมั่นไส้พอสมควร เชื่อมั่นในตัวเองสูง ยึดมั่นถือมั่นแบบหัวชนฝา บอกให้เปิดใจ วางใจ ก็เพิ่งจะทำบ้างตอนที่มาได้คุยกับรอกอด-ป้าจุ๋ม-ป้าหวาน-พระอาจารย์Handyฯลฯ

บัดนี้เวลาที่จะทำการสอบประมวลผลกระชั้นชิดเข้ามาแล้ว มีเวลาเหลืออยู่ไม่กี่เดือน ทำอย่างไรเราจะช่วยกันเข็นตัวคำตอบสุดท้ายนี้ให้ผ่านยาแดงผ่าแปดไปได้

ผมนะเอาใจช่วยสุดฤทธิ์อยู่แล้ว

ในฐานะที่เคยเป็นกิ๊กกันมาแต่อดีตชาติ

และในฐานะพ่อกับลูกศิษย์ในชาตินี้ คิ คิ

ในช่วงวันที่ 27 ที่ผมจะไปมหาวิทยาลัยนเรศวร

หลังจากนั้นมีข่าวว่าจะโดนอุ้มไปเชียงใหม่วันที่ 28-29

ผมถือโอกาสนัดกิ๊กเสียเลย ให้นั่งรถทัวร์จากอุบลไปเชียงใหม่ ถึงเช้าวันที่28 เมื่อไปถึงแล้วอยากขอความกรุณา น้าอึ่ง ครูอึ่ง อุ้ย รอกอด ป้าจุ๋มฯลฯ ไม่ทราบว่าหมอจอมป่วนมาได้หรือเปล่า จัดวิพากษ์หัวข้อวิทยานิพนธ์ให้ครบถ้วนทุกประเด็น ต่อจากที่เราโสทนากันเมื่อคืนนี้ ผมชื่นชมมาก ผวาตื่นมากลางดึก มาแอบดูว่ามีใครละเมอตื่นมาออกความเห็นอีกหรือเปล่า และแล้วก็ไม่ผิดหวัง ขอบคุณแทนกิ๊กด้วยก็แล้วกัน

เพื่อให้มีแนวคิดที่เป็นแนวทาง ไปให้อาจารย์ที่ดูแลวิทยานิพนธ์ได้พิจารณา  ผมขอคัดบางส่วนมาแปะไว้ตรงนี้ด้วย ส่วนที่เว้นวรรคไว้ก็อย่าน้อยใจ จะรวบรวมทั้งหมดอยู่แล้ว

: ประมวลบทวิพากษ์จากเหล่าเครือญาติเฮฮาศาสตร์

Logos 17 สิงหาคม 2009 21:25

ลงชื่อจองก่อนเลยครับ (ไม่ขอรับตั๋วเครื่องบินที่ต้องจ่ายเอง) เดี๋ยวจะมาเขียนเพิ่มครับ ทั้งหมดเป็นการตีความส่วนตัว จะตรงหรือไม่ตรงกับใครก็ไม่นะแปลกครับ

KM ธรรมชาติ

วิทยาการต่างๆ ก้าวหน้าไปตามโลก จนระบบการศึกษาไม่สามารถให้ได้ทั้งทางกว้างและทางลึกพร้อมกัน การศึกษามุ่งสร้างคนลงไปในทางลึกและแคบ โดยการพัฒนาคน เริ่มเดินลงไปในเหวแคบๆ ตั้งแต่ระดับมัธยมปลาย เมื่อเข้าศึกษาระดับปริญญาตรี แม้หลายมหาวิทยาลัยจะเปิดให้ลงทะเบียนข้ามคณะได้ แต่นักศึกษากลับไม่มีความรู้เพียงพอที่จะทำเช่นนั้น พอเรียนสูงๆ ขึ้นไป กลับยิ่งลุ่มหลงอยู่ในกรอบแคบๆ แต่ลึกล้ำมากขึ้น จนความรู้ที่ร่ำเรียนมา ก็นำมาใช้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตได้น้อย/แคบลงเรื่อยๆ

ความรู้และทักษะเกี่ยวกับชีวิตเป็นสหวิทยาการ การดำรงชีวิตต้องการความรู้และทักษะที่หลากหลาย ซึ่งการเรียนรู้จากการศึกษาในระบบอย่างเดียว ไม่พอที่จะทำให้ชีวิตรอดอยู่ได้ และไม่มีใครรู้ทุกอย่าง

KM ธรรมชาติ เริ่มจากโจทย์ในชีวิตจริง ถูกวางไว้กลางวงเครือข่ายกัลยาณมิตร ใครมีความเห็นอย่างไรก็ใส่ลงมาโดยความสมัครใจ จะถูกหรือผิดอย่างไรยังเป็นเรื่องรองลงไป ทั้งนี้เป็นเพราะความจริง “มีหลายมุม” สิ่งที่ “ถูกต้อง” จากมุมหนึ่ง อาจ “ไม่ถูกต้องนัก” จากอีกมุมหนึ่ง — ขึ้นกับเหตุผล ข้อจำกัด และบริบทของปัญหา; จะถูกหรือจะผิดยังเป็นเรื่องรองลงไป เราไม่ได้ทำข้อสอบ เรื่องที่สำคัญกว่าคือความเหมาะสม และการเข้ากับบริบทของปัญหาได้หรือไม่ การนำปฏิบัติได้หรือไม่

ในเครือข่ายกัลยาณมิตรที่มีความรู้จักคุ้นเคยกันจนเข้าใจดีถึงความรู้ ความชำนาญของสมาชิกแต่ละคนนั้น ผู้ถามชั่งน้ำหนักของคำตอบต่างๆ จากบริบทและเหตุผลของคำตอบ ได้ดีกว่าการดูจากตำแหน่ง หน้าที่การงาน หรือหน้ากากของผู้ตอบ; คำตอบที่ผู้ถามนำไปใช้ อาจจะไม่ใช่คำตอบที่มาจากผู้ตอบท่านใดเลย แต่อาจเป็นคำตอบที่สังเคราะห์ขึ้นใหม่ (อาจจะเนื่องจากคำตอบของผู้ตอบ ทำให้เห็นแง่มุมอื่นที่นึกไม่ถึงมาก่อน แล้ว “เอ๊ะ” ขึ้นมา — และไม่ได้เป็นข้อสอบปรนัย) ผู้ตอบไม่ได้ตอบเพื่อรางวัลใดๆ แต่ให้ความเห็นช่วยเพื่อนจากสิ่งที่ตนมองเห็น ถ้าผู้ถามคิดว่าคำตอบใช้ได้(แม้บางส่วน) ก็เอาไปใช้ ถ้าใช้ไม่ได้ ก็วางไว้เฉยๆ

KM ธรรมชาติ จึงไม่ได้เป็นการจัดเก็บความรู้ตามรูปแบบของบรรณารักษ์ศาสตร์ แต่เป็นการ “รู้” ว่าจะไปหาคำตอบที่ไหน/อย่างไร; เป็นการร่วมกันคิด ร่วมกันแสดงความคิดเห็น คือมีเครือข่ายกัลยาณมิตรเป็นแหล่งทรัพยากร; มีการพิจารณาความเป็นมาของคำตอบ ไม่ใช่เพียงใครตอบว่าอะไร แต่เป็นคำตอบนี้เป็นมาอย่างไร เหมาะสมหรือไม่ ฯลฯ เป็นการแสวงหาคำตอบแบบร่วมกันเรียนรู้ เข้าใจได้ตามพื้นฐานของแต่ละคน และในกรณีที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านบล็อก ก็เรียนด้วยอัตราที่แต่ละคนสบายใจ เร็วช้าไม่สำคัญ (ไม่เข้าใจก็อ่านซ้ำ อ่านซ้ำแล้วไม่เข้าใจก็ถามได้)

ถ้าเรียนรู้เป็น ผู้ถามไม่ใช่แต่รับรู้คำตอบแต่เรียนที่จะพิจารณาคำตอบต่างๆ ผู้ตอบแตกฉานชัดเจนในสิ่งที่ตนตอบยิ่งขึ้นและเห็นมุมมองจากคำตอบอื่นๆ ผู้อ่านที่ไม่ได้ร่วมตอบก็ยังได้คิดได้พิจารณา

Logos 17 สิงหาคม 2009 22:58

ผมไม่เขียนเรื่องพันธมิตรทางวิชาการ กับการทำงานอิงระบบต่อแล้วนะครับ คงมีคนมาตอบอีกเยอะ แต่จะว่าต่อตรงนี้ครับ

(1) ยุคโรงเรียนชุมชนอีสาน ปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดบุรีรัมย์ 2 คน และนักเรียนโรงเรียนชุมชนอีสาน 10 คน
(2) ยุคกรมราษฎรส่งเสริม (โครงการนักจัดการความรู้ในชุมชนฯ) สมาชิกฐานการเรียนรู้ชุมชนฐานละ 5 คน จำนวน 5 ฐานการเรียนรู้
(3) ยุคมหาชีวาลัยอีสาน กลุ่มเฮฮาศาสตร์ กลุ่มลานปัญญา
(4) กลุ่มพันธมิตรทางวิชาการจากหน่วยงานชุมชน ราชการ และเอกชน

โรงเรียนชุมชนอีสาน สอนโดยถามคำถาม สอนให้ “เอ๊ะ” (หมายถึง “เอ๊ะ ทำไมจึงคิด/ทำอย่างนั้น”) ไม่ให้ “อ๋อ” (หมายถึง “อ๋อ อย่างนี้เองจึงเป็นคำตอบที่ถูกต้อง”)
กรมราษฎรส่งเสริม พาเรียนจากของจริง เรียนการปรับตัวเอาชนะข้อจำกัด แง่คิด และศึกษาผลลัพธ์ - แต่คนเรียนไม่เขียนบล็อก เพราะไม่เข้ากับชีวิตเขา
มหาชีวาลัยอีสาน ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รู้จักคน รู้ว่าหาความรู้ในตัวคนอะไรได้ที่ไหน เป็นเครือข่ายที่แตกต่างแต่ไม่ผิวเผิน - เหมือนอ่านหนังสือ 50 เล่ม ก็ไม่จำเป็นต้องจำให้ได้ทุกตัวอักษร แต่ต้องรู้ว่าควรค้นหาแนวทางคำตอบจากหนังสือเล่มใด
กลุ่มพันธมิตรทางวิชาการ เชื่อมกลุ่มต่างๆ ให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน แต่ละกลุ่มเป็นอิสระแต่เรียน+ปรับใช้ความรู้จากกลุ่มอื่นได้

สิทธิรักษ์ 17 สิงหาคม 2009 22:19

ไม่ว่าไปทางใด ธรรมชาติของ เฮฮาฯล้วนก่อกำเนิดด้วยบุคคลและคณะบุคคลกลุ่มเล็กๆ โดยธรรมชาติ การพัฒนาเป็นไปด้วยการวิวัฒนาการจากเรียบง่ายสู่ความซับซ้อน
เป็นไปตามการกระตุ้นของ ครูบาสุทธินันท์ สังคมเฮฯแปลกและมีเอกลักษณ์เฉพาะ ความเชื่อมโยงเกาะเกี่ยวเป็นไปด้วยบรรยากาศ
เฮฮาฯ เกิดมาด้วยความอุตสาหของ ครูบาฯ และกลุ่มสังคมที่เป็นเฉพาะ ไม่ว่าที่ไหน แห่งใด วิชาการ กรรมกร นักเลง คนรู้มาก คนรู้น้อย
การหลอมรวมของสังคมเช่นนี้ ย่อมมีปฏิกิริยาและปัญหาเกิดขึ้นต่างๆ ฐานความรู้ ฐานคิด ฐานะทางสังคมซึ่งแตกต่างกัน แต่ก็ยังสามารถรวมกลุ่มกันได้อย่างเหนียวแน่น
ฉะนั้นอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าที่ไหน เมื่อไหร่ การเคลื่อนไหวของเฮฮาฯ ย่อมเป็นได้เสมอ และไม่ผูกติดกับสถานที่และเวลา และไม่มีทางถูกครอบงำได้ มีความอิสระและเสรี

•·         ไม่ว่าสิ่งอะไรก็ตาม สถานการณ์ใดก็ตาม เฮฮาฯสามารถดำรงอยู่ได้ และอยู่อย่างมั่นคง โดยภายใต้การนำของ ครูบาฯ โดยไม่ผูกติดกับค่ายหรือองกรณีใดๆ
เพิ่มเติมใน http://lanpanya.com/dongluang/archives/439#comment-266

ป้าหวาน 17 สิงหาคม 2009 22:44

มาตอบค่ะ
คำถามหลัก
อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระบวนการจัดการความรู้ตามแนวคิดของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ทำให้ชุมชนหรือสังคม มีการพัฒนาไปสู่การเป็นสังคมแห่งภูมิปัญญา และการเรียนรู้
คำตอบก็คือ คำถามรองนั่นเอง
1 KM.ธรรมชาติ
2 พันธมิตรทางวิชาการ
3 การทำงานอิงระบบ
อธิบายคำตอบในคำถามรอง เนื่องจากกระบวนการของครูบาอิงธรรมชาติของคนคือ
คนมีธรรมชาติในตัวตนมีความต้องการลึกๆคล้ายๆกัน การจัดการกระบวนการเรียนรู้ของพ่อครูได้อาศัยความต้องการลึกๆนี้เป็นตัวเชื่อมโยงทุกๆคนเข้าหากัน อะไรคือความต้องการนั้น ถามใจตัวเองว่าต้องการอะไร คือคำตอบที่จะเข้าใจได้ด้วยตัวเองค่ะ ทุกคนต้องการจะได้รับความรู้สึกดีๆและต้องการให้ความรู้สึกดีๆตอบแทน นั่นคือการเปิดใจ อะไรก็ตามที่ถูกดำเนินการด้วยความเต็มใจ ก็จะทำให้ทุกคนมีจุดร่วมเดียวกัน ต่อมาคือ โอกาส และ อิสรภาพ ในกระบวนการของพ่อครูเปิดโอกาสเสมอให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ และ ความรู้สึก ช่วยกันคือรูปแบบ ไม่มีใครต้องฝืนใจทำอะไรเพราะจะไม่ทำก็ไม่มีใครว่า ในใจทุกคนปรารถนาดีต่อกันจึงเกิดกระบวนการเรียนรู้แบบไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวขึ้น

•·         พันธมิตรทางวิชาการ ในเฮฮาศาสตร์มีผู้คนหลายวัย หลายอาชีพ แต่ละคนมีประสบการณ์อันมีค่า และหลายๆท่านเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางวิขาการ เริ่มจากใจมีความปรารถนาดีต่อกัน และปรารถนาที่จะรับความรู้ต่างๆ มีความไฝ่รู้จึงได้เข้ามาในลานปัญญา ในขณะเดียวกัน ด้วยความปรารถนาดีจึงเผยแพร่ความรู้และประสบการณ์ให้บนลานผ่านบันทึกและผ่านคอมเม้นท์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สร้างความสัมพันธ์และให้ความรู้ในขณะเดียวกัน ดังนั้นเมื่อมีการเสวนาที่ใด เมื่อใด ก็สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ไม่ยากเลย ได้หลากหลายความรู้ ความคิด ขยายวง ต่อยอดได้อีกด้วย
การทำงานอิงระบบ จากประสบการณ์ผู้ทรงคุณวุฒิหลายๆท่าน การจัดการและการทำงานในกระบวนการของครูบาจึงมีขั้นตอน มีการเรียงลำดับอย่างมีหลักการเพียงแต่มีความยืดหยุ่นสูงซึ่งกลับทำให้การเชื่อมต่อทำได้ง่าย เหมือนการสานร่างแหที่สามารถ ยืดหด เปลี่ยนมุม เอาออก เอาเข้า ได้ง่ายๆเพราะไม่ตายตัว แต่ทำได้เพราะมีความเข้ากันได้อยู่แล้วในแต่ละเส้นใย

dd_l 17 สิงหาคม 2009 23:26

มองว่า กระบวนการจัดการความรู้ของครูบา เกี่ยวข้องกับศรัทธาและสัมพันธภาพ

ครูบาเป็นจุดรวมใจและจุดเริ่มต้น ที่มีฐานบนความศรัทธา

ศรัทธาในภูมิปัญญา ความรู้ วิธีคิด ทัศนะต่อการดำเนินชีวิต
ศรัทธาในความเป็นนักพัฒนา นักสู้ชีวิต ความเป็นคนจริง กล้าคิด กล้าทำ กล้าลอง
ศรัทธาในวิถีปฏิบัติ การพัฒนาตน เป็นนักเรียนรู้
ศรัทธาในความเป็นตัวตนที่เป็นธรรมชาติ จริงใจ สุภาพอ่อนน้อม เมตตา อบอุ่น
เป็นกัลยาณมิตร
ศรัทธาในการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย และมุ่งมั่นในการทำหน้าที่เพื่อสังคม ประเทศชาติ

จากฐานของความศรัทธา พัฒนาสู่สัมพันธภาพ ระหว่างกันผ่านการสื่อสาร

ทั้งการเขียน การติดตามอ่านเรื่องราวที่แบ่งปันบนบล็อก
ครูบาทำหน้าที่เชื่อมโยงสายสัมพันธ์ ด้วยวิธีการที่เป็นกันเอง
ครูบาทำหน้าที่เป็นตัวอย่างในการเขียนอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง
แลกเปลี่ยนความคิด กระเซ้าเย้าแหย่ด้วยมิตรไมตรี
ทั้งชวนให้มีกำลังใจในการเขียน
แนะนำคนนี้ บอกเล่าเรื่องราวของคนนั้น
ทำให้รู้จักกันผ่านเรื่องราว ความคิด ความรู้สึก ก่อเกิดความคุ้นเคยใกล้ชิด

สัมพันธภาพ แน่นแฟ้นมากขึ้น ด้วยกิจกรรมที่คิดทำร่วมกัน

จากการสื่อสารผ่านโลกเสมือน สู่การพบปะ มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
กิจกรรมที่ทำร่วมกันในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ไม่เป็นทางการ ช่วยสานสัมพันธ์อันดีที่มีต่อกัน
เรื่องราวที่ได้ร่วมกันเรียนรู้และมีประสบการณ์ร่วม นำให้เกิดความใกล้ชิด การพบปะระหว่างบุคคล ก่อให้เกิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในมิติที่ลึกซึ้งมากขึ้น
โอกาสในการเรียนรู้กันและกันในมิติที่ลึกซึ้งมากขึ้น ก่อให้เกิดการยอมรับนับถือ เคารพศรัทธาในความรู้ ความคิด ตัวตน ซึ่งกันและกัน
โอกาสในการแลกเปลี่ยน แบ่งปัน นำสู่วัฒนธรรมกัลยาณมิตรและเครือญาติสัมพันธภาพแบบเครือญาติ นำสู่การช่วยเหลือ แบ่งปัน ดูแล ใส่ใจ ซึ่งยิ่งก่อให้เกิดสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้นมากขึ้น

วัฒนธรรมการเป็นกัลยาณมิตร และเครือญาติ จึงก่อให้เกิด

การพบปะ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ ความคิด ความหวัง ความรู้สึก อย่างสม่ำเสมอการช่วยเหลือระดมสรรพกำลังในการแก้ไขปัญหา ดูแล ใส่ใจ ให้กำลังใจ ให้ความเชื่อมั่น ด้วยวิธีต่างๆ ด้วยใจที่มุ่งสู่การแบ่งปันมากกว่าความต้องการได้รับประโยชน์
การเชื่อมโยงเครือข่าย ที่ขยายจากสมาชิกในกลุ่มต่อเนื่องออกไป
และต่างได้เรียนรู้ เติบโต งอกงาม มีความสุข มีความผูกพันซึ่งกันและกัน

เป็น” กระบวนการจัดการความรู้ตามแนวคิดของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์” ตามที่รู้สึกและสัมผัสได้

25 handyman 18 สิงหาคม 2009 6:31

เมื่อครูน้อยยังไม่มา ก็ขอว่าเสียเองอีกหน่อย ตามประสาผู้มีเวลาน้อย เพราะต้องเตรียมตัวอพยพครั้งใหญ่
จาก ..
3. มีปัญหา และข้อจำกัดอะไรบ้าง ในกระบวนการจัดการความรู้ตามแนวคิดของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์
.. การปล่อยให้ยืดหยุ่นเป็นธรรมชาติเป็นเรื่องดี เพราะจะมีผลที่ยั่งยืน แต่หากยืดมากเกินไป จะเป็นจุดอ่อน คือไม่สามารถสร้างสรรค์งานที่มีคุณค่า หรือแก้ปัญหาได้อย่างฉับไว ทันการณ์ได้
.. ศักยภาพในตัวบุคคลที่มีอยู่มากและหลากหลาย ยังไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ในการดึงความรู้ ความสามารถของบุคคลออกมาใช้ ทั้งๆที่ทุกคนมีใจพร้อมลุย ควรมีกระบวนการคัดกรอง จัดการให้มีข้อมูลในลักษณะ Tacit Knowlede Mapping ให้ได้เห็นชัดว่าเรื่องไหน ใครคือคน หรือ กลุ่มคนที่จะเป็นแกนในการทำงานในโอกาสต่างๆ
.. มีโอกาสค่อยมาต่อครับ

19 Logos 18 สิงหาคม 2009 0:17 |

ปัญหาและข้อจำกัดในกระบวนการจัดการความรู้ตามแนวคิดของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์
@ ตัวครูบาสุทธินันท์ เป็นศูนย์กลางสำคัญของกระบวนการ (KM แบบครูบามีคนเป็นศูนย์กลาง ต่างกับ KM ตามรูปแบบที่มีความรู้เป็นศูนย์กลาง) มีปัญหาคือเกือบทุกอย่างจะมีครูบาอยู่เป็น facilitator ด้วย คำว่าเกือบ แปลว่าไม่เสมอไป เนื่องด้วยบุคลิกลักษณะพิเศษซึ่งเรียกศรัทธาได้ดี จึงเกือบจะเป็นข้อจำกัดของกระบวนการ; แก้ไขโดยเรียนรู้ที่จะสร้าง facilitator/กระบวนกร ใหม่ๆ ขึ้นมาเสริม เพื่อให้กระบวนการนี้ขยายตัวได้ดียิ่งขึ้น ทำหลายอย่างขนานกันไป; เป็นกับดักเชิงระบบที่เจ้ากรมวังป่วนพยายามแก้ไขอยู่
@ ในลักษณะกึ่ง virtual ซึ่งเกิดจากการใช้ไอทีเชื่อมโยงจนรู้สึกใกล้ชิดสนิทสนม แต่เมื่อจะระดมคน บางครั้งก็ยากเนื่องจากแต่ละคนมีหน้าที่การงาน มีข้อจำกัด และวันลาที่แตกต่างกัน
@ คุณค่าของเฮฮาศาสตร์อยู่ที่การใช้ประโยชน์จากความแตกต่าง กล่าวคือมีดีกันคนละอย่างสองอย่าง; ถ้าเฮฮาศาสตร์เป็นการรวมกลุ่มทางวิชาชีพหรือเหมือนกันไปหมด จะเป็นกลุ่มที่น่าเบื่อมาก; การรวมกลุ่มกันอยู่ได้นานนั้น จะต้องมีทิศทาง/เป้าหมายที่ชัดเจนกว่านี้ โดยทิศทาง/เป้าหมายนั้น จะต้องเห็นร่วมกันเพื่อที่ทุกคนจะมุ่งไปในทิศทางที่ใกล้เคียงกัน ไม่ดึงกันไปดึงกันมา
@ การเหนี่ยวนำความรู้ (ต่างกับการถ่ายทอดความรู้ หรือ”การสอน”ตามรูปแบบ) ทำได้ช้ากว่า และขึ้นกับความสามารถในการเรียนรู้ ความช่างสังเกต ความกล้าที่จะพิจารณารับสิ่งที่แตกต่าง ประสิทธิผลอาจจะต่ำกว่าการสอนให้รับรู้ไปเลย แต่ผลนั้นยั่งยืนกว่าเพราะคิดได้เอง/เข้าใจเอง/เห็นของจริงเอง ซึ่งบางคนอาจเรียนรู้ด้วยวิธีการนี้ไม่ได้เลย

30 Logos 18 สิงหาคม 2009 13:17

มาเก็บตกเรื่องการทำงานอิงระบบครับ อ.แสวงเคยให้ความเห็นไว้น่าสนใจ [1] [2]

สำหรับผมแล้ว การทำงานอิงระบบ คือการทำงานที่นำเป้าหมายมาเป็นจุดศูนย์กลางของการทำงาน เพื่อที่จะทำให้งานนั้นสำเร็จ ก็จัดหาทรัพยากรที่เหมาะสมเข้ามาทำงานนั้นทีหลัง

โดยทั่วไป สามารถจัดรูปแบบการทำงานได้เป็นสามประเภทใหญ่ๆ คือ

ลักษณะงาน ฝรั่งว่า ไทยว่า ศูนย์กลางของตัวขับเคลื่อนงาน วิธีทำ
นอกระบบ do it my way ตามใจแป๊ะ ใจของตัว ใช้ใจและกำลังที่มี
อิงระบบ do the right thing ทำสิ่งที่ถูกต้อง ปัญหา ขาดอะไรก็ไปหามา
ตามระบบ do thing right ทำอย่างถูกต้องตามกฎเกณฑ์ อำนาจ ใช้อำนาจและกำลังที่มี

คนทำงานอิงระบบต้องมีความหนักแน่นมั่นคง เพราะไม่เหมือนกับคนทางซ้ายและคนทางขวา คนทางซ้ายก็ว่าเราอยู่ขวา คนทางขวาก็ว่าเราอยู่ซ้าย ไม่มีใครตระหนักเลยว่าเรายืนมองไปที่ปัญหา-พยายามจะแก้ไขอยู่ ไม่ได้ซ้าย-ไม่ได้ขวาเลย (แต่ได้ยินนะ)

ทุกอย่างมีกฎเกณฑ์อยู่ตามธรรมชาติ เมื่อโลกวิวัฒนาการ ชีวิตและงานมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นจนไม่มีใครสามารถทำทุกอย่างได้เอง จึงต้องแบ่งกันทำ แล้วเกิดการปกครองตามลำดับชั้น เกิดอำนาจการสั่งการ เกิดการแสวงหาและรักษาอำนาจ ทำให้องค์กรขนาดใหญ่ทำงานเหมือนอยู่ในกล่องแคบๆ ตัวเองไม่ยอมออกนอกกล่อง แล้วใครล้ำเขตเข้ามาก็ไล่ตะเพิดออกไป ปรากฏการณ์นี้น่าจะเห็นชัดในระบบราชการ ซึ่งถูกกำกับโดยกฎหมาย กฎเกณฑ์ ระเบียบ ฯลฯ ใครจะให้ระบบราชการทำอะไร ก็ต้อง “ไปขอ” แทนที่ระบบราชการจะวิ่งมาบริการประชาชน; ปัญหาของประชาชนนั้นอยู่ในพื้นที่ ไม่ได้อยู่ตามสถานที่ราชการ ห้องประชุมหรือในสภา การเสพติดระบบทำให้ห่างเหินจากปัญหาที่แท้จริง ไม่เข้าใจ ไม่มีอารมณ์ร่วม จึงมักจะแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้ ยกเว้นหมูวิ่งชนปังตอ

ส่วนทางอีกขั้วหนึ่ง ตีความได้สองอย่างคือเป็นผู้ถูกกระทำจากระบบ และเป็นผู้ที่เข้ามาช่วยเหลือเพื่ออะไรก็แล้ว ต่างโกรธเกรี้ยวระบบที่ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ จึงปฏิเสธระบบโดยสิ้นเชิง และมุ่งทำในสิ่งที่ตนทำได้เอง; การทำงานแบบนอกระบบนี้ แม้ว่าแก้ปัญหาได้บางอย่าง ก็ยังติดเรื่องทรัพยากร และการไม่สามารถระดมสรรพกำลังมาแก้ปัญหาได้ จึงช่วยได้ในสถานการณ์เล็กๆ ขยายใหญ่ไม่ได้ ย้ายไปทำที่อื่นก็อาจไม่สำเร็จ

การทำงานแบบอิงระบบ เอาปัญหา(การพัฒนา)เป็นตัวตั้ง แล้วดึงเอาจุดดีจากทั้งสองขั้วมา ใช้ทั้งใจ และทั้งทรัพยากร ให้สิ่งที่ภาคีต้องการ คนตามระบบได้ผลงาน+ได้KPI คนนอกระบบได้ทำ+มีความสุข คนอิงระบบได้เห็นปัญหาที่ได้รับการแก้ไข ตัวเองได้เรียนรู้-ได้ทำ ถึงไม่ได้อย่างอื่นก็ไม่เป็นไร แต่ว่าปัญหาได้รับการแก้ไขไป - ก็คงมีเหมือนกัน ที่ไม่เชื่อว่าจะมีคนมาช่วยทำโดยไม่หวังอะไรนอกจากแก้ไขปัญหาไปได้ อันนี้เป็นเรื่องปกติที่คนมองอะไร ก็มองจากความคุ้นเคยของตัว คือว่าถ้าเป็นตัวเขา ทำแล้ว “ไม่ได้อะไร/ไม่คุ้ม” เขาคงไม่ทำ ก็เลยไม่เชื่อว่าใครจะทำ ลืมไปว่ามนุษย์นั้นแตกต่างกัน ถึงเขาไม่ทำ ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีใครทำ

จะมีอะไรคุ้มค่าไปกว่าการที่สังคมอยู่ร่วมกันโดยสงบสุข มีอิสระที่จะเลือกวิถีชีวิตโดยไม่เบียดเบียนกัน?

: หมายเหตุ

ผมได้ประสานไปทางแม่ลำไยไปแล้วว่า

เราจะไปเยี่ยมวันที่ 24-25

ช่วงนี้แม่ลำไยอยู่ในระหว่างจัดอบรมเรื่องสมุนไพรให้จังหวัด

แม่ลำไยดีใจมาก เตรียมเรื่องพิเศษๆให้ชม

แม่หวีขอตามติดรถไปด้วย วันที่ 23-25

แล้วจะกลับมาก่อนเพราะห่วงบ้าน

ทริป จังหวัดเลย

ตอนนี้มี รอกอด ป้าจุ๋ม แม่หวี และผมไปด้วยนะสิครับ

ส่วนท่านอื่นสนใจจะไปสมทบ โปรดพิจารณาเวลาและยานพาหนะ

เรื่องที่พัก-อาหาร เพียบ แม่ลำไยรีสอร์ทซะอย่าง อิ อิ

« « Prev : วิธีเรียนฉบับเฮฮาศาสตร์

Next : ต้นกล้าอาชีพพันธุ์แท้ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

8 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.99355220794678 sec
Sidebar: 0.15400290489197 sec