เปิดตัวผู้ว่าการฝ่ายฟืนไฟ
อ่าน: 2150
“รักอาว์เปลี่ยนเวียนวนบนภูเขา
วนเวียนเฝ้ามานานยังหวานหยด
รักแสนหวานน้ำตาลไม่ยอมลด
จะจับจดจับใจปีไหนเอย”
กองคาราวาน เดินทางมาถึงชัยภูมิที่เหมาะแก่การหยุดพักแรม มีที่ราบกว้างปกคลุมด้วยหญ้าอ่อนนุ่มอยู่ข้างบึงขนาดใหญ่ เสียงนกป่าเจี๊ยวจ๊าวเล่นน้ำอยู่ที่สุมทุมไม้กลางน้ำ ดอกบัวบานสะพรั่งดาษดื่น น้ำใสเย็นแลเห็นสาหร่ายและต้นแพงพวย วัวควายถูกปลดจากแอก ควายลงแช่น้ำแล้วขึ้นไปนอนเคี้ยวเอื้องสบายใจเฉิบ วัวแยกไปเล็มหญ้าอันโอชะ
ทุกคนจ้าละหวั่นทำหน้าที่ พวกน้าชายกลุ่มหนึ่งชวนกันไปแบกฟืนมาเตรียมไว้ การใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงทำให้มนุษย์ใกล้ชิดธรรมชาติ พึ่งพาทรัพยากรป่าไม้โดยตรง กระบวนการเรียนรู้ทำให้มนุษย์สังเกตเห็นคุณสมบัติของไม้แต่ละชนิด อย่างหยาบๆก็กำหนดเป็นไม้เนื้ออ่อนเนื้อแข็ง ถ้าทำฟืนไม้เนื้อแข็งจะไฟลุกโชนให้พลังงานความร้อนสูง
งานตัดไม้หาฟืน จึงมีความสำคัญเท่างานการไฟฟ้าสมัยนี้
ยังมีงานสำคัญเรื่องแสงสว่างยามค่ำคืน ในเมื่อไม่มีไฟฟ้า ไม่มีไฟฉาย ชาวแซ่เฮต้องอาศัยน้ำมันยางมาทำคบไฟ..ผู้ชำนาญการจะเอาขวานไปเจาะลำต้นยางนาให้เป็นโพรงกว้างและลึกประมาณหม้อดินขนาดย่อม เจาะสูงจากพื้นดินประมาณ1เมตร แล้วเอาไฟลนในโพรงที่ว่านี้ ปล่อยทิ้งไว้.. น้ำมันยางจะไหลซึมออกมา ถ้าเป็นโพรงที่ให้น้ำมันดีจะมีปริมาณวันละ1กระป๋องนม เพื่อให้ได้น้ำมันจำนวนมาก หน่วยเตรียมน้ำมันเชื้อเพลิงจะขุดโพรงที่ว่านี้จำนวน20-30ต้น ในยุคนั้นดงป่ายางนาขึ้นเป็นกลุ่มอยู่แล้ว จึงสะดวกที่จะผลิตน้ำมันยางในยามที่คาราวานไปหยุดพักแรม ปัญหามีอยู่บ้าง ถ้าฝนตกอาจจะมีน้ำฝนไปขังในโพรงน้ำมัน ต้องตื่นไปตักน้ำฝนทิ้งทุกครั้ง
กลุ่มน้ำมันยางต้องใช้ลูกมือช่วยกันหลายคน เพราะมีขั้นตอนยุ่งยากกว่าพวกตัดไม้หาฟืน หลังจากไปเก็บน้ำมันยางมารวมไว้แล้ว แผนกนี้ยังจะต้องไปตัดต้นยางบงเอาไม้มาสับชิ้นเล็กๆตาก แห้งแล้วเอามาคลุกกับน้ำมันยาง แล้วเอามามัดเป็นกระบองหรือไต้ สำหรับจุดให้ติดไฟเพื่ออาศัยแสงสว่าง จุดครั้งแรกไฟจะลุกโพรง แล้วจะค่อยหรุบหรู่ จึงต้องเขี่ยขี้ไต้เป็นระยะๆ
ครูอึ่งแห่งมงคลวิทยาในอดีตชาติเป็นคนเก็บน้ำมันยาง
รับอาสาทำหน้าที่ที่ต้องใช้ความอุตสาห์นี้
ถ้าเทียบกับยุคปัจจุบัน ครูอึ่งน่าจะเป็นเจ้าของกิจการปัมท์ ปตท.นั่นเอง
จะเห็นว่า..การพึ่งตนเองด้านพลังงานนั้นคนในภูมิภาคนี้มีภูมิปัญญาอยู่แล้ว อุปสรรคก็มีบ้าง เช่น บางครั้งฟันกิ่งไม้กระเทือนไปโดนรังต่อ มีหวังโดนต่อไล่ต่อยวิ่งป่าราบ หรือไปเจองูจงอางหวงไข่ ก็ต้องวิ่งโสร่งหลุดเช่นเดียวกัน ทุกปัญหาทำให้เกิดโจทย์ในการพัฒนา มนุษย์จึงเรียนรู้วิธีเปลี่ยนฟืนมาเป็นถ่าน เพื่อความสะดวกในการใช้และจัดเก็บ ในปัจจุบันเราหันไปใช้ไฟฟ้าและแก๊สเป็นเชื้อเพลิงหลัก แต่มนุษย์รุ่นหลานเหลนโหลน อาจจะต้องหวนคืนมาใช้ฟืนก็ได้ ถ้าน้ำมันแพงและค่อยๆหมดไป
ดังนั้น ปลูกต้นไม้ไว้ดีที่สุด
ปล่อยให้ต้นโต แล้วค่อยตัดเอาเฉพาะกิ่งมาใช้
ให้ต้นโตผลิตกิ่งใหม่มาเรื่อยๆ
วิธีใช้พลังงานทดแทนขนานแท้คำตอบอยู่ที่ต้นไม้นี่เอง
ในนิมิตมีพวก2คนทำหน้าที่ดูแลเรื่องฟืน มองใกล้ๆละม้ายคล้ายอาว์เปลี่ยนกับสายลม แบกฟืนหน้าดำหน้าแดงแข็งแรงขนาดแรดเรียกพี่ มิน่าละชาตินี้จึงเที่ยวตระเวนภูไปอยู่กับพวกไทบรู ตองสู กระเหรี่ยงคอยาว คั่วสาวอีก้ออีแก้ย่ำแย่อยู่นั่นแหละ ทำไมถึงสร้างตำนานรักช้าเหลือเกิน น้ำหยดลงหิน ทำไมหินมันไม่กร่อนหรือไง..
สายลมนะหมดห่วงไปแล้ว
ซื้อบ้านใหม่ตกลงใจกับแฟนรู้เรื่อง
เตรียมความพร้อมที่จะพัฒนาความรักให้โลดแล่น
แต่อาว์เปลี่ยนนี่สิ
ไม่แน่ใจว่าทำไมถึงจะรักเฉยๆ
หรือรักจริงแต่ไม่หวังแต่ง
แปลกใจทำไมรักไม่หวาน
ทั้งๆที่น้ำตาลขึ้นท่วมตาท่วมใจ
เฮ้อ ! ไม่รู้จะช่วยลุ้นยังไงแล้ว
ลองคิดดูนะ ชาติที่แล้วแบกฟืน
มาชาตินี้แบกรัก จะแบก แบก ไปถึงไหน
เมื่อไหร่จะเปลี่ยนแบกเป็นเบียดบอกด้วย
..จะส่งหมอเบิร์ดไปโห่-รำ หน้าขบวนขันหมาก คิ คิ
หมายเหตุ : กลุ่มนี้ประกอบด้วย ครูอึ่ง อาว์เปลี่ยน และสายลม
« « Prev : คุณหมอจอมป่วนภาคพิศดาร
Next : เปิดตัวผู้ดูแลปากท้อง » »
8 ความคิดเห็น
ว้าว เข้าท่าค่ะพ่อ จำได้ถึงการอนุรักษ์ป่าของแม่กำปอง เขาบอกว่าตัดไม้ทำฟืนต้องตัดจ๋าง ๆ คือตัดต้นละเล็กละน้อย อย่างฟันต้นเดียวหมด การเลือกฟืนเพื่อให้โชนแสงได้พอดีทั้งคืนรวมทั้งทำอาหาร เป็นศาสตร์สำคัญศาสตร์หนึ่งเชียว และต้องกล้าหาญมากด้วยสิคะ ลุยเดี่ยวเลยนะเนี่ย
จำได้เลา ๆ ถึงยุทธการรบ ที่หน่วยฟืน หน่วยล่าสัตว์จะเป็นกองสอดแนมไปในตัว สัตว์อยู่ที่ไหน ธรรมชาติของสัตว์ ของไม้ในบรเวณนั้นเป็นอย่างไร สามารถนำมาวางแผนรบได้หมดเลย
อิอิ….รู้อีกคนแว้ว….ท่านหัวหน้าฝ่ายพลังงาน…
(อยากเห็นวันที่เบิร์ดรำ หน้าขบวนค่า….อิอิ….)
ขงเบ้งยังเอาป่าเลาป่าแขมเผากองทัพโจโฉจนกระเจิง
หายสงกะสัยแล้วครับ อยู่แผนกวางเพลิงนี่เอง มิน่า เผาเก่ง อิอิ
ใครๆก็ได้ตำแหน่งดีๆกัน แต่ดันจะให้เราเป็นหัวหน้าขันที แหมๆๆๆๆๆ มันน่า…….
คิคิ หัวหน้าขันทีนี่อำนาจล้นฟ้าเลยนะครับ สำคญเท่าๆกับหัวหน้าวังเลยแหละ
มองเห็นเลยค่ะพ่อครู การได้ใกล้ชิดธรรมชาตินี่สุดยอดเลยค่ะ สนับสนุนอาเปลี่ยนค่ะ อย่าแบกรักนานนะคะ
เข้าใจแล้วค่ะครูบา..ว่าทำไมหน้าตามอมแมมตั้งแต่เด็กจนแก่.. ชาติก่อนอยู่ก้บขี้เถ้าฟืนไฟนี่เอง..
แถมชำนาญการใช้ขวานอีก…แต่ชาตินี้รู้สึกขวานจะย้ายมาอยู่ที่ปาก…5555
ไม่รู้ว่าชาติที่แล้วหัวหน้าขันทีได้ไปสอนวิธีการตัดไม้ให้เร็วขึ้นหรือเปล่าก็ไม่รู้นะคะพ่อครูฯ
ฮักจริงคร๊าบ
แต่บ่หวังแต่ง ฮิ ฮิ “ไม้ซ้าวล้ำคุ่มไปแล้วก้า”
ไม่อยากบอกว่า เป็นคนคลั่งพวกไต้ กะบองมากๆ ไปเที่ยวตลาดไหนเห็นเขาขายกะบองเป็นต้องซื้อมาสะสมไว้ ตอนนี้มีกว่าครึ่งห้องแล้วมั้งครับ อยู่มุกดาหารเวลามีสัมนาก็ไปหาซื้อกะบองหรือไต้มาทำเป็นของที่ระลึก ตอนเฮฯ๓ก็มีผู้ได้รับกะบองเป็นของฝากหลายคน เคยวานพี่น้องไทบรูทำกะบองให้เอาไปฝากเขาไปทั่วบ้านทั่วเมือง หากใครขัดใจเรื่องกะบองเช่นสั่งให้ไปรับมาแต่ลืม เป็นต้องจี๊ดขึ้นแถมหงุดหงิดไม่พูดไม่จากับใครเป็นอาทิตย์ เคยปิดไฟจุดกะบองเล่นในโรงแรมจนเขามาเอ็ด
โธ่ ที่แท้มีสัญญานติดมาจากอดีตจริงๆหรือนี่
ที่สำคัญคือ รู้ตัวแล้วละครับว่าทำไมเป็นคนชอบใส่ไฟจัง อิ อิ