ลุยจุฬาฯ
อ่าน: 2998>> วันนี้ตื่นแต่เช้ารีบออกจากรังนกกระจอก
แต่รถติดมโหราฬ ทางด่วนกลายเป็นทางเต่า รถเป็นง่อยคลานไปทีละกระดึบ
เสียงโทรตามเป็นระยะๆ โธ่ ..กว่าจะผ่านสามย่านไปได้
กว่าจะไปถึงหอประชุมจุฬาฯช้าไป 10 นาที
เพราะเหตุนี้เองที่ผู้จัดงานอยากจะให้พักในจุฬาฯ
ผมไปถึงพร้อมๆกับป้าแดง เดือนใจ ดีเทศก์ สว.คนเก่ง
>> จุฬาฯเขาเชิญไปประชาวิจารณ์ การจัดตั้งคณะอาหารและการเกษตร ผมเห็นกระบวนการเขาแล้วก็ชื่นชมในการทำงาน เริ่มตั้งแต่อธิการบดีมากล่าวต้อนรับและเปิดการประชุม พบว่าเขาให้ความสำคัญกับการรับฟังความเห็นอย่างมาก ไม่ทำโมเมมักง่าย จัดประชุมถึง 3 ครั้ง ติดกันใน 3 เดือน ผมไปรอบแรก พบหน้าค่าตาคนรู้จักหลายท่าน เช่น อาจารย์เดือนใจ ดีเทศก์ น.สพ.ยุคล ลิ้มแหลมมอง อธิบดีกรมปศุสัตว์ อาจารย์์ลัภย์ หนูประดิษฐ์ จากใต้ คุณสุภา ใยเมืองจากเหนือ อาจารย์เดชา ศิริภัทรภาคกลาง ดร.วีระ วีสกุล คุณเศรษฐสรร เศรษฐการุณย์ และทีมงานชาวจุฬาฯอีก 10ท่าน เป็นวงประชุมเล็กๆแต่สมบูรณ์แบบ ทุกคนได้ออกความเห็น ระหว่างรับประทานอาหารเขายังปริ้นเอาคำที่เราพูดมาให้เสริมเติมความเห็นอีกรอบหนึ่ง
>> ศ.น.สพ.ดร. อรรณพ คุณาวงษ์กฤต คณบดีคณะสัตว์แพทย์ เป็นเจ้า่ของเรื่อง นำเสนอแผนงานได้ดีมาก ชี้แจงปรัชญาของการผลิตบัณฑิต เป็นการผลิตบัณฑิตในงานด้านอาหารและการเกษตรครบวงจรของห่วงโซ่อาหาร ที่คิดเป็น ทำเป็น ปฎิบัติจริงได้ และมีการเรียนรู้วิจัยตลอดชีวิต เป็นการผลิตบัณฑิตที่ส่งต่อสังคมรากหญ้าในท้องถิ่น เป็นผู้จัดการชุมชนด้านการอาหารและการเกษตร มอบเป็นของขวัญแก่แผ่นดินเมื่อจุฬาฯ ครบ 100 ปี
แผนงาน
- เพื่อจัดตั้งศูนย์วิจัย เพื่อวิจัยหาองค์ความรู้และภูมิปัญญาทางด้านอาหารและการเกษตรแบบบูรณาการ
- เพื่อจัดตั้งศูนย์อ้างอิง ซึ่งวิเคราะห์ สังเคราะห์ ผลการวิจัยข้อมูลในและต่างประเทศ เพื่อสร้างฐานข้อมูลให้กับประเทศ
- เพื่อพัฒนาระบบของห่วงโซ่คุณค่าอาหารอขงประเทศให้มีความกลมกลืน สอดคล้อง บูรณาการ โดยใช้ความรู้โจทย์ปัญหาภายในประเทศมาสังเคราะห์ วิเคราะห์
- เพื่อเป็นศูนย์ถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญา อันเป็นผลจากการวิจัย
>> รายละเอียดมีมากมายพี่น้อง เช่นเรื่องหลักสูตร หน่วยกิตต่างๆ การรับสมัคร และขอดีใจกับพี่น้องชาวเหนือ ที่โครงการนี้จะเริ่มที่น่าน จัดเป็นทุนการศึกษาให้ด้วย สำหรับน่านปีละ 15 ทุน พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ จังหวัดละ 3 ทุน จัดการเรียนการสอนแบบเข้มข้น อาจารย์หยอดคำหวานว่าจะส่งมาฝึกงานที่มหาชีวาลัยอีสานด้วย ผู้ดำเนินรายการเอาผมไว้ปิดท้าย จึงเสนอความเห็นแบบคิดด่วนๆ ดังนี้ครับ
กราบเรียนท่านผู้ก่อการดีทุกท่าน
1. ดีใจที่จุฬาฯรับเป็นเจ้าภาพเรื่องนี้ ขอเอาใจช่วยเต็มที่ อยากเห็น อยากได้แนวคิดนี้ เท่าที่ฟังก็บอกได้ว่าสมราคาจุฬาฯ จุฬาฯมีต้นทุนตัวเองอยู่มาก การที่จุฬาฯจะมอบคณะวิชานี้เป็นของขวัญวันครบรอบ 100 ปี นับว่าทรงคุณค่าอย่างยิ่ง โจทย์นี้ท้าทายมาก สังคมเกษตรบ้านเรากำลังจนมุม ส่งเสริมจนเกษตรกรไปเป็นกรรมกรกันมากแล้ว ที่อยู่ที่ทำก็ปีนเกลียว ผิดฝาผิดตัว สับสนความรู้ในของตนเอง
2. เคยยุให้มหาวิทยาลัยในอีสานคิดและทำเรื่องนี้ แต่ไม่มีใครเอาด้วย อีสานนั้นมีทุ่งกุลาร้องไห้ผลิตข้าวมีชื่อเสียงนับล้านไร่ และมีพื้นที่การเกษตรกว้างขวาง แต่การเรียนรู้ก็เหมือนตาบอดคลำช้าง กลายเป็นประชากรที่รอเอื้ออาทร และเป็นเกษตรตกเขียว ปัญหาภาคการเกษตรอยู่ในลักษณะไม่รู้ไม่ชี้จากสถาบันการศึกษา น้อยนักที่จะผลิต “สิ่งที่เขาอยากได้” ตอนนี้เหลือเกษตรกรยุคสุดท้ายแล้ว ลูกหลานไม่เอาด้วย เหลือแต่เกษตรแก่ๆหง่อมๆจะไปรอดอย่างไร ชุดวิชาที่เหมาะกับชาวบ้านอยู่ที่ไหน “บัณฑิตสายพันธุ์จุฬาลงกรณ์“ ถ้าเป็นความหวังใหม่ได้ก็น่าจะเห็นแสงปลายอุโมงค์
3. ทุกวันนี้เกษตรกรพึ่งตัวเองไม่ได้ ขนาดไข่ไก่ยังซื้อกินทั้งหมู่บ้าน ไข่ยังพึ่งตัวเองไม่ได้ เรื่องอื่นก็ยิ่งยาก
4. มีการพูดถึงจีน ต่อไปนี้จีนจะส่งสินค้าเกษตรมาตามลำน้ำโขง สินค้าเกษตรคล้ายกับเรา ตอนนี้จีนระเบิดแม่น้ำโขง เตรียมกองเรือขนส่งพืชผลมาถึงไทยภายใน8-9ชั่วโมง ท้องเรืออยู่ในน้ำ อากาศเย็นไม่ต้องทำห้องเย็น สินค้าเกษตรราคาถูก คู่แข่งนอกจากจะเป็นเขมร ญวน แล้วจีนก็จะเป็นคู่แข่งที่น่าคิดเหมือนกัน ประเด็นนี้จะเป็นโจทย์ให้คิดล่วงหน้าเช่นกัน
5. โครงการนี้บอกว่าเป็นต้นแบบ ควรจะเป็นต้นแบบในวงกว้างที่ครอบคลุมด้านใดบ้าง ช่วยยกระดับปรับความรู้ภาคการเกษตรให้ถูกต้องได้ระดับไหน หรือช่วยกันทำให้ผืนแผ่นดินนี้เป็นแผ่นดินทองเช่นในอดีต เป็นครัวของคนไทยและครัวของโลกได้อย่างภาคภูมิใจ
6. โครงการนี้เป็นการยกเอาโจทย์การเกษตรของประเทศมาสังคายนาอย่างเป็นระบบ อีกทั้งอาจจะช่วยต่อท่ออ็อกซิเย่นให้แก่วิทยาลัยเกษตรกรรมทั่วประเทศ ที่ร่อแร่ ให้เรียนฟรี มีที่พักฟรี ก็ยังหาคนเรียนไม่ได้ ถ้าผูกกันเป็นเครือข่ายช่วยกันยกระดับการผลิตลูกหลานไทยให้ใส่ใจการเกษตรได้อย่างเป็นรูปธรรม จะเป็นประโยชน์แก่วงการศึกษาบ้านเราอย่างมาก
7. โครงการนี้ช่วยปรับความรู้ให้ถูกต้อง ทั้งในส่วนของรัฐบาล ส่วนราชการ ภาคเอกชน ภาคชุมชน และตัวเกษตรกร สร้างค่านิยมด้านการเรียนการศึกษา สร้างภาควิชา หลักสูตร ที่เกิดคุณค่าที่แท้จริง เป็นที่ยอมรับของลูกหลานไทยให้หันมามองกลุ่มวิชาที่เป็นแก่นสารของแผ่นดินไทย
8. เป็นการสร้างต้นทุนความรู้ให้ภาคการเกษตร รอดพ้นจากการประกอบอาชีพแบบทุนหายกำไรหด เอาวิชา+อาชีพ ให้เกิดขึ้นในสังคมเกษตรไทย ยกระดับวิชาชีพด้านการเกษตรให้ถูกต้องและเป็นมืออาชีพ
9. โจทย์วิจัย เอามาจากพื้นที่/เอามาจากชุมชน ประเด็นนี้ถือว่าเหมาะสม ถ้าลงไปเรียนกับชุมชนด้วยจะทำให้หลักสูตรมีชีวิตชีวา ทำการเรียนให้กระโดดโล้นเต้นออกมาจากหน้ากระดาษให้ได้
10. ผลิตบัณฑิต คิดเป็น ทำเป็น เหยียบขี้ไก่ฝ่อ ผลิตนักสู้ชีวิตเป็นเรื่องที่ใครๆอยากเห็น กระทรวงศึกษาธิการคงจะดีใจ ถ้าจุฬาฯมาช่วยแก้วิกฤติการศึกษาที่ผลประเมินออกมาแล้วใจหายใจคว่ำ
11. โครงการนี้ยังเป็นพี่เลี้ยงให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศ สมัยก่อนชาวบ้าน
· ทำเป็น กินเป็น
· ทำเป็น กินไม่เป็น
· ทำไม่เป็น กินไม่เป็น
>> กินข้าวกล้องไม่เป็น นิยมข้าวขัดขาว เข้าสู่วัฒนธรรมมาม่า
12. เรื่องหลักสูตร ภาควิชาการเห็นด้วย อาจจะสอนไปปรับไปจนกว่าจะโจทย์จะสมบูรณ์ ส่วนภาคปฏิบัติถ้าทำได้ อยากให้แบ่งพื้นที่ให้เด็กคนละ 5-10 ไร่ แล้วเปิดวิธีเรียนโดยเอาความรู้เข้าสู่พื้นที่ จะเอาความรู้อะไรใส่ลงไปในต้นไม้ ในสัตว์ ในข้าวปลาอาหาร ปลูกกระต๊อบจับอยู่ในห้องเรียนชีวิต วัดประเมินผลจากผลลัพธ์ที่ได้จากการผลิตที่ผ่านการเรียนรู้เชิงประจักษ์ นิสิตสัมผัสกับบทเรียนชีวิตจริง น่าจะเป็นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบเข้มได้ เลียนแบบการสอนลูกหลานชาวไร่ชาวนาสมัยก่อน
13. ถ้านิสิตส่งการบ้านผ่านบล็อก เว็ปไซด์ อินเตอร์เน็ท นอกจากอาจารย์จะได้ตรวจสอบผลการเรียนแล้ว สังคมภายนอกสามารถเข้ามารับรู้ แนะนำ จัดในลักษณะเปิดการเรียนรู้สู่โลกกว้าง ตามหลักการจัดการความรู้ ที่เอาทุกอย่างเป็นครู
>> งานนี้ได้ของฝากจากจุฬาฯเป็นเหรียญสวยมาก
กินข้าวเที่ยงที่จุฬาฯอิ่ม ก็เผ่นสิครับ
มีประชุมรออยู่ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ แต่เช้าแล้ว
คณะนักเรียนโข่ง(สสส1) ไปจัดร่วมกับจุฬาลงกรณ์
เรื่องการเมืองนำการทหารในการแก้ไขปัญหาภาคใต้
งานนี้ผู้สนใจอย่างมาก
ฑูตประเทศต่างๆ สถาบัน องค์กร มาประชุมกันแน่นห้องไม่น้อยกว่า 450 คน
งานนี้อัยการชาวเกาะเป็นพิธีการ
นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปาฐกถาปิดการสัมมนา
ท่านอัยการคงจะเล่าเรื่องนี้ได้ดีกว่าผม
รออ่านลานชาวเกาะก็แล้วกัน อิอิ
(กล้องผมวันนี้เป็นยังไงไม่รู้สินะ ถ่ายคนรูปหล่อไม่หล่อก็ได้ แปลกแท้ๆ)
Next : ป้าจุ๋ม คุณป้าแห่งชาติ » »
11 ความคิดเห็น
“เป็นการผลิตบัณฑิตที่ส่งต่อสังคมรากหญ้าในท้องถิ่น เป็นผู้จัดการชุมชนด้านการอาหารและการเกษตร มอบเป็นของขวัญแก่แผ่นดินเมื่อจุฬาฯ ครบ 100 ปี”
ครูบาคะ….ประทับใจกับการคิดทำ สิ่งที่ดี ในวาระสำคัญของจุฬาฯ ค่ะ
งานฉลองแบบนี้…สืบเนื่องได้ยาวนานกว่าการจุดพลุไฟคืนสองคืนนะคะ
ตั้งใจว่าจะร่วมแสดงความเห็นกับท่านอัยการเรื่องนั้น พอดีงานยุ่ง เบอร์หนึ่งหน่วยงานผมระดับจังหวัดย้ายไปสตูล เพิ่งจะมาได้สองเดือนเองย้ายกลับซะแล้ว
คนใหม่มา…..หนาวๆร้อนๆอ่ะ ห่วงงานที่ต้องผ่านมือ น่ะซี..
พอจะเห็นแสงที่ปลายอุดมงค์ แล้วค่ะ อิอิอิ
ครูครับ เคย Tag ครูไว้ ฝากด้วยนะครับ
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=amp-atom&month=03-2009&date=02&group=8&gblog=17
ตอบอุ้ย
ไปร่วมรับฟังการจัดหลักสูตรมาหลายแห่งแล้ว ที่จุฬานี้แหละที่น่าจะเอาไปเป็นตัวอย่างได้ นับตั้งแต่การให้ความสำคัญของผู้บริหาร การประสานงานในองค์กรและบุคลากรภายนอก อย่างที่บอก “สมราคาจุฬาฯ” จะไม่ทำอะไรแบบสุกเอาเผากิน
ท่านบางทราย ขอรับ
ในงานตอนบ่ายช่วงให้ออกความคิดเห็น ผู้ดำเนินรายการ(คุณศิริบูรณ์)พวกเดียวกัน ประกาศหาครูบาให้ออกความเห็นหน่อย ผมลุกไปไม่ทัน มีคนแย่งออกความเห็นกันเยอะ จึงนั่งลงฟังเขาดีกว่า ขี้เกียจดังว่างั้นเถอะ..
>> ถ้าให้ออกความเห็นก็จะบอกว่า ให้รับฟังเสียงสะท้อนจากชาวบ้านและผู้นำชุมชนเขาบ้าง เขาเรียกร้องอะไรเคยพิจารณาอย่างจริงใจไหม ความชอบธรรม งบประมาณ การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม กฎหมาย อิทธิพลเถื่อน การบิดตะกูดเรื่องการปฎิบัติเจ้าหน้าที่ของรัฐ
>> ถ้าฟังอย่างละเอียด ใคร่ครวญ มันถึงจะพบกันครึ่งทาง ถ้าจะเล่นลูกกึกๆก้๊กๆอย่างนี้ ก็ยากที่จะเชื่อมสายใยกันได้ เพราะความไม่จริงใจมันตบตากันยาก เรื่องที่วัดใจ แต่ไม่มีใจไปวัด มันก็คาราคาซังอย่างนี้ละครับ ตะบี้ตะบันประชุมกันไปสิ งบประมาณทุ่มลงไปแต่ผลงานกระจิ๊ดเดียว แถมยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสู้กับใคร ยากครับถ้าเอาเกณฑ์ปกติไปจับเรื่องที่ผิดปกติ
>> วันนี้ผมไม่พูดนั่นดีแล้ว เดี๋ยววงแตก
อาม่านี่ ขาเชียร์แหลกจริงๆ
Tag ครูไว้ ฝากด้วยนะครับ
รับฝาก อิอิ
วันนี้อาจารย์ประเวศ วะสี มาปฐกถาช่วงเช้าที่มิราเคิลฯ
ผมติดที่จุฬาฯเลยไม่เจอท่าน
ต้องรอไปอีก 15 วัน ถึงจะได้มอบเจ้าเป็นไผให้อาจารย์
จริงๆแล้วการวิเคราะห์ของอายุบสามารถอธิบายถึงเหตุการณ์ที่ฟันธงว่าเป็นการกระทำของ BRN Co-ordinate ที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนชัดเจน แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการหยิบประเด็นของการใช้ศาลชารีอะห์มาเป็นหลักในการที่จะทำให้ปัญหาภาคใต้สงบ ผมสนใจคำอธิบายของหมอดิงที่อธิบายศาสนากับเชื้อชาติมลายู มันคนละเรื่อง แต่ผู้ก่อการเอาเรื่องสัญชาติมาพันกับศาสนาจนมั่วไปหมด ผมจะเขียนเล่าเรื่องนี้อีกทีครับ เพราะอยู่ในหนังสือ Deep South Watch น่าสนใจมากๆครับ เพราะหากแก้ไม่ถูกจุดก็ยากที่จะสำเร็จ
เรานำเสนอเมื่อวาน(ผลงานนักศึกษา)เป็นการแก้ปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ แต่คนแสดงความคิดเห็นไม่ดูประเด็นที่เรานำเสนอ กลับเสนอแนะให้เราเสนอแนวทางแก้ปัญหาในเชิงยุทธวิธี คนละเรื่องเดียวกันเลย ว่าไปแล้วเมื่อวานสถาบันประสบความสำเร็จพอสมควรคนเต็มห้องประชุมนี่แสดงว่าใช้ได้เลยครับ
คนเต็มห้อง =กะปิ
แก้ปัญหาได้=KPI อิอิอิอิ