ทุเรียนก้านสั้น
อ่าน: 6719
ปีนี้เศรษฐกิจตกสะเก็ด ถ้าท่านพอจะช่วยชาวสวนผลไม้ด้วยการกินผลไม้มากขึ้น ก็อาจจะพอปะทะปะทังช่วยเหลือพี่น้องได้บ้าง หลายจังหวัดจัดเทศกาลกินผลไม้ประจำถิ่น ถ้าท่านว่างก็ชวนลูกหลานไปเที่ยวไปชิมผลไม้สดที่เป็นของดีบ้านเมืองเรา อร่อยกว่าผลไม้กระป๋องเยอะ คุณค่าทางโภชนาการก็มากกว่า ปลอดภัยปลอดสารแต่งอาหารอีกต่างหาก นอกจากพาลูกหลานได้เปิดหูเปิดตาแล้ว ท่านยังสอดแทรกค่านิยมการกินอาหารและผลไม้ให้แก่คนในครอบครัวได้ด้วย สรุปว่างานนี้มีแต่ได้กับได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ผมอาศัยอยู่ในถิ่นที่เป็นย่านปลูกผลไม้มีชื่อเสียงในอดีต โดยเฉพาะทุเรียนก้านยาวนั้นถือว่าเป็นพันธุ์ที่อยู่ในระดับ5ดาว เนื้อละเอียดหวานมันสมกับเป็นราชาแห่งผลไม้ นึกได้ว่าไหนๆเราก็อาศัยอยู่ในพื้นที่ตรงนี้แล้ว ก็น่าจะออกไปเสาะหาความรู้บ้าง วันหยุดอย่างนี้จะมีใครว่างบ้างนะ อีกทั้งไม่มีข้อมูลด้วยว่าใครชอบรับประทานทุเรียน พอส่งกระแสจิตออกไป ก็มีคลื่นตอบรับเบาๆว่าตอนบ่ายจะมารับ ให้ผมหาข้อมูลไว้
พยายามค้นหาเบอร์โทรเพื่อนที่มีสวนทุเรียนแถบนี้ ก็หาไม่เจอ จึงคิดอาศัยปากเป็นเอกเลขเป็นโทเอาดาบหน้า รถเคลื่อนออกจาก 814 ได้ไม่ถึง 200 เมตร นึกถึงคุณป้าแห่งชาติ ลองโทรดู ได้ผลแฮะ คุณป้าแอบนอนกลางวันเพิ่งตื่น ตกปากรับคำทันที โชเฟอร์หักพวงมาลัยไปรับ เรื่องข้อมูลก็เป็นอันรอดตัวไป เจ้าถิ่นมาด้วยทั้งคน อิ อิ สมใจนึกบางลำพู แล้ว..
คุณป้าสั่งเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาไม่กี่มุมถนนเราก็มาถึงห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ พากันเดินเรียงล่ายส่ายเขาไปมุมที่ขายผลไม้ ช่วยกันเลือกใส่ตะกร้า จ่ายเงิน แล้วก็เดินไปหาโต๊ะนั่ง หยิบเอาทุเรียนมาชิม อร่อยพอใช้ได้ ถึงไม่ใช่ทุเรียนก้านยาวลูกละหลายพัน เรากินก้านสั้นก็อร่อยเหมือนกัน แต่ที่ผิดความคาดหมายก็คือ ไปกัน 4 คน เจี๊ยะกันอยู่ 2 คน นอกนั้นไม่เตะทุเรียนแม้แต่นิดเดียว หันไปชิมสละที่เปรี้ยวขนาดมะนาวเรียกพี่ รับวิตตามินซีไปพะเรอ ไปชิมเงาะแทน ส่วนมะม่วง มังคุด ซื้อมาดูเล่นด้วยเห็นว่าเป็นของแปลก เป็นมะม่วงสีสวยลูกกลม น้ำหนักกิโลเศษ ราคาลูกละ 113 บาท เอาไว้ชิมแล้วจะเล่าให้ฟังว่ารสชาติเป็นยังไง
: สรุปว่ายังติดใจเรื่องทุเรียน
ก้านยาวเป็นตัวชี้วัดสภาพความอุุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ
ถึงจะมีราคาแพงแต่รักษาต้นทุนธรรมชาติไม่ได้
ก็เลี่ยงไปปลูกพันธุ์ที่ดูแลง่ายกว่า
ยอมขาย 10 ลูก แลกกับพันธุ์ดีดั่งเดิม 1 ลูก
เสียดายแต่ว่า คนรุ่นหลังจะไม่มีวาสนาได้รู้จัก
ผลไม้ระดับเพชรของเมืองไทย
วันนี้ยังไม่ได้ชิมก้านยาว
ทั้งๆที่มาอยู่ในย่านก้านยาวแต่ชิมก้านสั้น
แต่ยังดีที่ครูปูก็พาไปเลี้ยงสะเต๊กเจ้าที่เปิดใหม่
อยู่ข้างๆ 814 นี่แหละ
ฝีมือใช้ได้สมกับที่มีตราเชลชวนชิม
เอาไว้อาเหลียงมาจะพามาทดสอบดีไหม?
Next : ตอบการบ้านลูกฮักลูกแพง » »
10 ความคิดเห็น
ครูฯรู้ได้ไงว่าชอบสะเต๊ก …. อิอิ
ดูเหมือนมะละกอ??
ครูบาคะ เรื่องมาบรรยายจะประสานอีกทีนะคะ คงใกล้ๆ วันมา
ขอบคุณค่ะ
รู้ได้ไงว่าชอบสะเต๊ก เป็นความลับส่วนตัว บ่บอก
ที่เห็นเป็นมะม่วงพันธุ์อาร์ทูอีทู ยังไม่ได้ชิมดู
คงจะมีดีไม่งั้นไม่บุกมาตีมะม่วงบ้านเรา
เลยซื้อ มหาชนก มาด้วย
แต่ยังบ่ได้ชิมเปรียบเทียบกันครับ
เมื่ออ้างถึง ทุเรียน เมื่อก่อนก็ชอบกิน (ตอนยังไม่บวช) ชอบฉัน (ครั้นบวชแล้ว)… ต่อมาก็รู้สึกว่ากลิ่นไม่เป็นที่ต้องการไม่ฉันหลายปี แต่หลายปีมานี้ก็รู้สึกหอม และชอบฉันอีกครั้ง… ยังแปลกใจตัวเอง และหาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้ถึงเรื่องนี้…
เฉพาะ ก้านยาว เคยอ่านพบว่า “ปัจจุบันนี้ ผู้ที่จะได้กิน เห็นจะมีแต่เพียงเศรษฐีและพระเถระผู้ใหญ่เท่านั้น” … เศรษฐีก็คือผู้ที่มีเงินซื้อ ส่วนพระเถระผู้ใหญ่นั้น นอกจากที่เศรษฐีเคารพนับถือเป็นการส่วนตัวโดยการนำไปถวายแล้ว พระเถระผู้ใหญ่ในท้องถิ่นที่มีก้านยาว เจ้าของสวนมักจะนำไปถวายในบางคราว…
อาตมาก็ย้อนรำลึกว่ารู้จักใครบ้างที่อยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ จะแกล้งผ่านไปเยี่ยมไปพักอยู่สักระยะหนึ่ง กะว่าได้ฉันก้านยาวแล้วค่อยกลับ แม้จะระลึกนึกมาหลายปีแล้ว แต่ก็ยังค้นหาไม่เจอ จึงสรุปว่า ชาตินี้คงจะไม่ได้ฉันก้านยาวแน่นอน (…..)
อย่างไรก็ตาม ก้านสั้น ก็ได้ฉันอยู่เสมอ คงจะไม่ถึงกับบำเพ็ญสมณธรรมไม่ได้ เพราะไม่ได้ฉันก้านยาว (5 5 5…)
เจริญพร
กราบหลวงพี่
แสดงว่าก้านยาวนั้นเป็นผลไม้ที่ธรรมชาติผลิตได้อัศจรรย์
แต่คนเรารักษาไว้ไม่ค่อยได้ หันไปสร้างสมพันธุ์ที่ด้อยกว่า ทำได้ง่ายกว่า
ไม่ต้องอาศัยต้นทุนทางธรรมชาติช่วยมากนัก
ทั้งๆที่ราคาก้านยาวแพงเป็นพันเป็นหมื่น แต่ชาวสวนก็ไม่สู้รักษาไว้
อนึ่ง ธรรมชาติที่เหมาะสมกำลังละเลือนสลายไป
ก้านยาว จึงเป็นตัวบ่งชี้ ความมั่นยืนของสภาพธรรมชาติได้อย่างเที่ยงตรง
นมัสการ
เกิดมาพออายุ ยังไม่ทันเท่าไรฟันน้ำนมยังไม่งอกป๋าก็ป้อนทุเรียนแล้ว เลยติดทุเรียนตั้งแต่แรกเกิด กินทุเรียนมาเกือบทุกสายพันธุ์ที่มีในประเทศไทย แถมของมาเลย์ก็ได้กิน วาสนาดีไม่น้อยทุเรียนก้านยาวได้กินมามากแล้วเพิ่งรู้ราคา ว่าปัจจุบันต้องจองกันข้ามปี ลูกละสองพันห้าร้อยบาทค่ะ
ส่วนมะม่วงพันธุ์ R2E เพิ่งนำเข้ามาพัฒนาในประเทศไทยเมื่อไม่นานนี้เองประมาณ สิบกว่าปีนี้เอง ออสเตรเลียเขาเป็นจ้าวยุทธจักรค่ะ เขาผลิตเพื่อส่งออกค่ะ ผลิตไม่พอกับความต้องการจึงหาพื้นที่ปลูกมะม่วงพันธุ์นี้ ซึ่งก็ได้ผล เมืองไทยจึงมีมะม่วงสายพันธุ์นี้ ตลาดใหญ่คือประเทศจีนค่ะ ผู้ควบคุมตลาดมะม่วงของโลกคือยุโรปค่ะ มะม่วงนี้รสชาดไม่ถูกปากหลินฮุ่ยค่ะ สู่มะม่วงราคาถูกๆ พันธุ์พื้นบ้านเราไม่ได้ค่ะ
ขอบคุณอาจารย์ที่ให้ความรู้
เรื่องมะม่วงน่าสนใจทดลองปลูกไว้ที่หมู่บ้านเฮ
เพราะตั้งใจจะให้เป็นหมู่บ้านแห่งการวิจัยสไตล์เราแบบสนุกๆ
อะไรที่น่าสนใจหามาปลูกไว้เพื่อนศึกษา เชื่อมโยงกับวิถีสังคมภายนอก
ไม่ทราบว่าจะไปหายอดมะม่วง R2E ได้ที่ไหนครับ
คิดแบบง่ายๆว่าถ้าได้ยอดมาเสียบทิ้งไว้กับต้นมะม่วงที่เรามี
น่าจะขยายพันธุ์ได้มากขึ้น
ส่วนทุเรียนก้านยาว ปล่อยให้ความหวังยาวยืดออกไปก่อน
อาจารย์สบายดีนะครับ
ด้วยจิตคาระวะ
กรมวิชาการเกษตรน่าจะมีนะคะ ลองถามป้าจุ๋มดูนะค่ะ
ป้าจุ๋มก็ไป เป็นคนเลือกด้วย แต่ตอนนี้กำลังดีใจกับว่าที่ลูกสะใภ้
เลยลืมแนะนำว่าจะหายอดได้ที่ไหน
ปลูกยังไง
อิ อิ