เจ้าเป็นอิหยัง อึอืออึอือ
อ่าน: 1576<< มีชนเผ่าบ้ากอด อยู่เผ่าหนึ่ง ชักชวนกันว่าจะลองขี่รถไฟไปเที่ยวเป็นครั้งแรก กติกาต่างๆก็พอรู้บ้าง ว่าจะต้องตีตั๋วที่ไหน ออกเดินทางเวลาเท่าไหร่? แต่ก็อ้อยอิ่งกับอะไรไม่รู้ ครั้นถึงวันเดินทางก็กระหืดกระหอบมาถึงสถานี เสียงระฆังตีเตือนสัญญาณจะเคลื่อนขบวน พนักงาน 2-3 คนช่วยกันเติมน้ำเติมฟืนอดหลับอดนอน เตรียมความพร้อมอย่างบ้าเลือด เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินไปได้ วู๊ดเปิดเสียงดัง..ล้อเริ่มหมุน อ้าว ! รถยางแป๊บตกรางวิ่งไปอีกทางหนึ่ง จึงเบรกกันตัวโก่ง หลังจากนั้นก็ตื่นตระหนก แทนที่จะลงมาบอกมาถามนายสถานี ก็คุยคุ้ยกันไปต่างๆนาๆ ไอ่ที่เคยกอดกันรักกันชื่นชมกันก็หลุดลืมไปสิ้น กลับหลังหันไปมอง เห็นแต่รางรถที่ว่างเปล่าทอดตัวยาวสงบนิ่งสุดลูกหูลูกตา
<< ก่อนหน้านั้นวิตกกับเรื่องม๊อบสีนั้นสีนี้ แต่ตอนนี้มีม๊อบแทรกอยู่ในใจเรานี่เอง ทำอย่างไรรึ ไม่จำเป็นต้องสลายม๊อบหรอกนะ ถ้าเรียนรู้วิธีที่จะอยู่กับม๊อบในจิตใจให้เนียนจนเป็นปกติ วันไหนคละคลุ้งขึ้นมาก็เอาไม้หน้า 3 ฟาดหน้าแข้งตัวเอง แล้วลุกขึ้นมามองรางรถไฟใหม่ มองไกลๆ สูดลมหายใจยาวๆ ถ้ารู้สึกดีขึ้นก็ยิ้มกับตัวเองซะ ไม่มีอะไรที่ทำให้ดีกว่าที่เป็นอยู่นี้ไม่ได้
<< ในส่วนของนายสถานี ได้ทำการบ้านล่วงหน้า กำหนดว่าจะมีการไปเที่ยวทริปนั้นทริปนี้ตามมาอีก เป็นเรื่องที่คิดแล้วลงมือทำ บอกกล่าวเล่าแจ้งเป็นระยะๆ เพื่อให้เกิดกระบวนการร่วมด้วยช่วยกันบันดาลสุข ไม่ใช่ร่วมด้วยช่วยกันบ่มทุกข์ ลองอ่านเนื้อหาข้างล่างนี้ดูเถิด..
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา
120 อาคารบี ชั้น 7 ถ.แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่
กทม.10210
คำนำ
>> งานเขียนเชิงเค้าโครงอัตชีวประวัติ ที่นำมาประมวลรวบรวมไว้ในที่นี้เป็นผลงานจากความริเริ่มและเห็นพ้องกัน ในอันที่จะนำเสนอเรื่องราวชีวิตของแต่ละคน มิใช่เพียงเยิรยอตนเอง หากแต่เพื่อบอกเล่าถึงประสบการณ์ “เรียนรู้” ของตนเอง ซึ่งย่อมจะแตกต่างหลากหลายกันออกไปเป็นธรรมดา เจตนารมณ์และความพยายามเช่นว่านี้ ถึงจะมองอย่างผ่านๆกันไป ก็คงดูไม่น่าจะต้องคิดอะไรกันมาก แต่ทว่าอีกมุมมองหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากแง่มุมของการดำรงชีวิตและพัฒนาคุณภาพชีวิตร่วมกัน ในสังคมอันเป็นธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์เราแล้ว ก็เชื่อว่า จะต้องมีอีกหลายๆประเด็นที่เราอาจจะถอดความ นำมาคิดขยายความต่อๆไปอีกไม่น้อย ทั้งเพื่อการเรียนรู้สำหรับตัวเราแต่ละคน และเพื่อคุณประโยชน์ต่อการปรับปรุงพัฒนาชีวิตของสังคมโดยส่วนรวม สุดแต่ข้อสังเกตตามอัธยาศัยการอ่านของเราๆแต่ละคน
>> ในส่วนของผู้เขียน “คำนำ” เอง เฉพาะเท่าที่มีโอกาสได้อ่านและสัมผัส และในฐานะที่เกี่ยวข้องอยู่กับแวดวงการศึกษามาโดยตลอด ก็ใคร่หยิบยกเอาประเด็นหนึ่งขึ้นมาให้ได้พิจารณากันในที่นี้ นั่นก็คือ เรื่องของชีวิตบ้านกับโรงเรียน ซึ่งถูกแยกออกจากกันจนดูประหนึ่งเป็นคนละเรื่องคนละชีวิตต่างหากจากกัน ทั้งๆที่อยู่ในชีวิตของคนๆเดียวกัน ประสบการณ์การเรียนรู้ต้องแบ่งออกเป็น “ในระบบ”/”นอกระบบ” จุดหมายปลายทางของหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนอยูที่ “ตลาดจ้างงาน” ในสังคมเมือง ชุมชนชนบทต้องสูญเสียกำลังคนในการพัฒนาตนเองและเพื่อตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือความใส่ใจของเหล่า “นักการศึกษา” โดยสิ้นเชิง แลัวยังมีปัญหาที่ตามมาอีกมากมายหลายประการ ซึ่งมีการพูดการเขียนกันมามากแล้ว แต่ยังไม่เคยมีคำตอบ !
>> ที่หยิบยกเอาเรื่องบ้านกับโรงเรียนมาเอ่ยถึงเป็นตัวอย่าง ก็คงจะพอให้ได้เห็นกันว่า งานเขียนเชิงเค้าโครงชีวประวัติที่รวบรวมนำมาเสนอครั้งนี้ นอกเหนือให้ได้ตระหนักเห็นถึง รวมทั้งให้ความเคารพในความแตกต่างหลากหลายของชีวิตการเรียนรู้ของแต่ละบุคคลแล้ว ยังน่าจะมีอะไรที่เราอาจนำมาพิเคราะห์ให้มองเห็นไปถึงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคุณค่าและประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมด้วย ถ้าเป็นเช่นนั้น การรวบรวมงานเขียนเหล่านี้ ก็จะเป็นช่องทางให้เราได้ร่วมคิดอ่านปรับปรุงสังคมเราให้สามารถพัฒนาก้าวหน้าไปได้ แม้ในหมู่คนธรรมดาสามัญเรานี่เอง ไม่ต้องคอยให้คนระดับนักปราชญ์ราชบัณฑิตมาชี้แนะอะไร ซึ่งก็ไม่อาจคาดหวังอะไรได้นัก
>> อยากจะคาดหวังในที่นี่ว่า การรวบรวมงานเขียนทำนองนี้ คงจะไม่ใช่เป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของการเรียนรู้ในทำนองเดียวกันกับชีวิตการเรียนรู้ด้านอื่นๆ ซึ่งย่อมต้องมีการพัฒนายิ่งๆขึ้นไปโดยลำดับ จึงขอถือโอกาสนี้อำนวยพรให้บรรดาคณะผู้ร่วมงานทั้งหลาย ประสบแต่ความสุขและความสำเร็จโดยทั่วกัน
เสน่ห์ จามริก
10 มีนาคม 2552
Next : เอาละสิ » »
5 ความคิดเห็น
หลายครั้งที่เกิดหัวใจสับสน เกิดคำสั่งให้ใจไปค้นหาคำตอบ วิ่งไป ทุกที่ ทุกทางที่ใจสั่ง จนเหนื่อยล้า หมดแรงใจ สุดท้าย ใจเหนื่อยอ่อนสงบลง กลับค้นพบว่า ที่วิ่งมากมายนั้นจุดหมายสุดท้ายอยู่ในใจตัวเองที่กำหนด
เคารพพ่อครู รักชาวลานปัญญาค่ะ
เป็นจอมป่วนชอบวิ่ง กำลังอารมณ์ดี อิอิ
รักคนแซ่เฮ….
สังคมเล็กแห่งนี้ จำลองสังคมใหญ่
เมื่อเราเป็นหนึ่งของสมาชิก สังคมแห่งนี้
เราเข้ามาด้วยใจ จึง
ขอกราบทุกท่าน
ใช้ความรักและใจเป็นฐาน
ของการคิดอ่านก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านี้ไป
หากสังคมเล็กแห่งนี้แก้ไขไม่ได้
สังคมประเทศนี้จะเป็นอย่างไรเล่าครับ…
รักและเชื่อมั่นทุกท่านครับ
บางทีสวรรค์อาจจะบันดาลให้มีการนัดคุย
หาหมอเช็คคลื่นหัวใจ
จะได้อิเอิงเอยกัน
เอ๊ะ..เอาวันไหนดี
เรื่องนี้มีแต่หมอจอมป่วนนี่แหละที่เก่งจ๊าดนัก..
กราบสวัสดีครับ
อ่านนิทานแล้วเลยอยากจะเสนอกิจกรรมในชนเผ่าที่น่าจะมีคือกิจกรรมทำขนมกวนใจ ครับ การกวนใจ หรือ การบูรณาการใจ โดยใช้น้ำใจเป็นตัวทำละลายและน้ำตาลเป็นส่วนผสมครับ กวนจนใจเข้ากันเป็นหนึ่งจนเกิดเป็นพลังก่อนบรรจุห่อส่งให้ชาวบ้านทดสอบรสชาติกันครับ การทำขนมกวนใจจึงอาจจะเป็นโอกาสหนึ่งที่ใจได้ชิดใจได้สัมผัสใจอีกหลายๆ ดวงในกระทะกวน มีไม้พายที่กวนให้ใจกระทบกันเพื่อให้เข้าใจต่อกันทั้งน้ำตาลและน้ำใจช่วยทำละลายให้
ขนมกวนใจเป็นขนมใจกวนท้ายที่สุด เป็นธรรมดาที่การทำขนมคนทำก็ต้องชิมกันก่อนครับ การชิมกันหากกวนไม่เข้าที่ใส่ส่วนผสมน้ำใจน้ำตาลไม่ถึงรสก็อาจจะแตกต่างไปบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดาก็ต้องกวนต่อไปจนกว่าจะเข้าเป็นเนื้อเดียวกันครับ หากกวนแล้วผ่านฉลุยมีความเหนียวได้เหมาะสมพอดีก็จะเกิดขนมกวนใจยึดเป็นประเพณีของชนเผ่าอื่นๆ ต่อไปได้ ให้สืบทอดการทำขนมกวนใจร่วมกันระหว่างชนเผ่าและประชาชนได้ง่ายขึ้น เมื่อใส่ใจดวงใหม่ลงไปกวนก็ต้องปรับส่วนผสมกันต่อไปเพื่อให้รสชาติพอดีอีกครับ ในขนมกวนอาจจะมีหลากหลายรสแต่เนื้อขนมกวนก็ผสานผสมเข้ากันเป็นอย่างดี
ขอบพระคุณมากครับ