หันหน้าเข้าหากัน
อ่าน: 4189>> อากาศวันนี้เป็นใจมีลมโชยมาเบา เดินใต้ร่มไม้ไปเยี่ยมเพื่อนร่วมโลก ต้นลีลาวดีออกดอกพราวเต็มต้นมองเหมือนแจกันยักษ์ที่ธรรมชาติมอบให้เรา ดอกเหลืองหลายพันส่งกลิ่นหอมแสดงความยินดีกับวันปีใหม่ไทย ข้างๆกันดอกเกศแตกกาบเกสรส่งกลิ่นละมุนกระจายตามลม ใต้ถังน้ำบาดาล ใบบัวบกแผ่ขยายใบเขียวสดข้างๆกอเตย ถ้าเอาสองอย่างนี้มาทำน้ำดื่มดับกระหาย เธอเอ๋ย ..คลายร้อนได้อย่างอร่อยเหมาะกับคนอยู่บ้านป่า ที่อยู่ห่างไกลไม่มีร้านให้สั่งกาแฟเย็นและไอครีมรสต่างๆ..
>> ก่อนเที่ยงเล็กน้อยคณะครู 3 ก้อนเส้า ชวนตัวแทนผู้นำชุมชนในหมู่บ้านต่างมาเยี่ยม เนื่องจากกันไปนาน..ตัวแทนเกษตรกรต้นแบบมีเรื่องดีๆมาเล่าให้ฟัง เป็นความรู้ที่ทุกคนทดลองมากับมือ ..ล้วนแต่เป็นเรื่องเด็ดๆที่น่ายินดีทั้งนั้น หลังจากทักทายกันพอหอมปากหอมคอ มีการแปรขบวนออกจากอาคารไปรดน้ำสงกรานต์ใต้ต้นลำใย เป็นพิธีง่ายๆ ผมนั่งแล้วทุกคนก็เอาดอกไม้ผ้าขาวม้า ขันเล็กหยดน้ำเย็นหมุนเวียนกันมา ก็ต่างให้ศีลให้พรกันตามธรรมเนียม ช่วงท้ายๆ หัวหน้าทีมให้เล่าถึงสถานการณ์บ้านเมือง อนาคตของสังคมไทย ผมก็ชวนคุยแลกเปลี่ยนความรู้กัน เพื่อวิเคราะห์ว่าชาวบ้านระดับผู้นำหมู่บ้านมีความคิดเห็นกี่ยวกับจลาจลอย่างไร
>> บางคนเล่าว่าลูกหลานที่อยู่กรุงเทพเข้าไปร่วมกับกลุ่มเสื้อแดง ทำให้พวกตนต้องติดตามดูข่าวทางทีวีด้วยความเป็นห่วง ลูกหลานโทรมาบอกว่า ทหารทำร้ายพวกเสื้แดงตายไปหลายคน ..ผมให้ข้อสังเกตุว่าไม่น่าเป็นไปได้ เพราะนักข่าวทั้งไทยทั้งต่างประเทศครืดยิ่งกว่าตาสับปะรด ความเป็นจริงคงบิดเบือนยาก..จึงคุยกันต่อเรื่องการใช้สติใคร่คราญให้ถ่ิองแท้ ถ้ายังไม่แน่ใจให้ฟังหูไว้หู เอาไว้ฝุ่นหายตลบทุกสิ่งทุกอย่างก็จะถูกเปิดเผยออกมาเอง << ที่จริงวงสนทนาในระดับล่างแบบนี้ ถือได้ว่าเป็นการเมืองภาคพลเมืองขนานแท้ แต่ก็จำเป็นที่จะต้องมีผู้ที่เข้าใจข้อเท็จจริงร่วมสนทนาด้วย จะเกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ภาคสังคมอย่างมาก
>> ช่วงนี้ผมได้รับวิทยานิพนธ์ของลูกหลาน
ที่มาศึกษาเกี่ยวข้องกับมหาชีวาลัยอีสาน
เล่มที่ 1 “วิทยานิพนธ์เรื่อง ปราชญ์ชาวบ้านกับกระบวนการเสริมสร้างศักยภาพในการพึ่งพาตนเองของเกษตรกร : กรณีศึกษามหาชีวาลัยอีสาน” ของนางสาวรานี บำเพชร หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนามนุษย์และสังคม (สหสาขาวิชา) บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เล่มที่่ 2 “วิทยานิพนธ์เรื่อง แผนการปลูกต้นไม้เพื่อสร้างบ้านสำหรับเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่” ของนางสาวสุรัชฏา ลือเจียงคำ หลักสูตรปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เล่มที่ 3 “วิทยานิพนธ์เรื่อง กระบวนการเรียนรู้ของครูภูมิปัญญาไทยเพื่อการจัดการศึกษาที่เอื้อต่อการสร้างเสริมความเข้มแข็งของชุมชน : กรณีศึกษาจังหวัดบุรีรัมย์ในเขตความเคลื่อนไหวของโรงเรียนชุมชนอีสาน” ของนายเจริญ เครือแวงมนต์ หลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์
>> ผมอ่านวิทยานิพนธ์เหล่านี้อย่างมีความสุข เพราะเห็นประโยชน์ที่เอามาใช้ต่อการดำเนินงานของมหาชีวาลัยอีสาน ความรู้ที่เอาโจทย์จากชุมชนเป็นตัวตั้ง จึงพ้นข้อครหาวิทยาการแขวนหิ้งได้อย่างภาคภูมิใจ ผมตั้งใจไว้แล้วว่า ใครเอาวิทยานิพนธ์มาฝาก ก็จะจัดเลี้ยงฉลองให้ วันนี้ได้พาอาจารย์เจริญ เครือแวงมนต์ ไปฉลองเรียบร้อยแล้ว ส่วนของหนูออย มหาบัณฑิตจากเชียงใหม่ มาในวันยุ่งๆก็ขอค้างรางวัลไว้ก่อน ส่วนของหนูกุ๊ก ช่วงที่ผมอยู่กรุงเทพฯ เธอโทรมาถาม ..วันนี้หนูว่าง ครูบาอยากจะไปไหน ..ผมก็ไม่ว่างตรงกับวันที่เธอถามสักที รายนี้ก็ยังติดค้่างรายการเลี้ยงฉลองให้ แต่อาจารย์ที่คุมวิทยานิพนธ์ของเธอเอาผมไปเลี้ยงแซงคิวไปก่อนแล้ว
>> ยังมีนักศึกษาที่ลากยาวเรื่องวิทยานิพนธ์ ทั้ง ป.โท-เอก อีกหลายราย
อยู่ในระหว่างสะงาบสะเงย เหงื่อหยดตึ๋งๆ..
คงต้องเอาใจช่วยอีกหลายกระบุงโกย
ได้แต่กระเซ้าว่าเมื่อไหร่จะได้เลี้ยงสักที รอ รอ นานแล้วเน้อ อิอิ
« « Prev : วิกฤติกลางใจไทยแลนด์
Next : มาจะกล่าวบทไป ถึงเจ้าเป็นไผที่ละคน » »
1 ความคิดเห็น
มาขอพรพ่อครับ อิอิ