ผมจะพาชาวหงสา “ปลูกเร่ว”

3 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 28 กรกฏาคม 2011 เวลา 12:33 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 5877

“กองบ้านไผ่ อยู่ในเขตเมืองจำพอน (ชุมพร) แขวงสุวรรณเขตปัจจุบัน นายกองมี บรรดาศักดิ์ว่า “หลวงสุริยวงษา” เก็บส่วยผลเร่วส่วย (หมากแหน่ง) ปีละ 10 หาบหลวง (จากเอกสาร ร.3 จ.ศ.1206 เลขที่ 33 หอสมุดแห่งชาติ) กองบ้านผึ่งแดด อยู่ในแขวงสุวรรณภูมิเขตดินแดนลาวปัจจุบัน นายกองส่วยมีนามว่า “ท้าวโพธิสาร” เก็บส่วยเป็นเงินปีละ 3 ชั่ง 10 ตำลึง ส่งเมืองมุกดาหารหรือผลเร่ว (หมากแหน่ง) หนักปีละ 14 หาบหลวง” (เครดิต http://nipapon.wordpress.com/author/nipapon/)

กำลังจะปูเข้าเรื่องหมากแหน่ง หรือเร่ว ซึ่งเป็นพืชที่คุ้นชื่อมาหลายปีดีดักตั้งแต่สมัยที่คลุกคลีกับพี่น้องชาวดงหลวง มุกดาหาร ข้อความข้างบนก็เป็นส่วนหนึ่งจากประวัติเมืองมุกดาหารครับ สมัยนั้นท่านส่งผลเร่วเป็นส่วยเข้าฉางหลวง แล้วคลังท่านก็ขายลงสำเภาไปเมืองจีนอีกต่อหนึ่ง เคยอ่านเจอว่าสมัยก่อนที่ชายฉกรรน์ต้องไปเข้ากะทำงานหลวงปีละสามเดือนหกเดือนนั้น หากใครไม่อยากไปก็ให้ส่งผลเร่วไปแทนคนละหาบ แสดงว่าเร่วหรือหมากแหน่งนี่ถือเป็นสินค้ามีค่ามาช้านาน

บริเวณสองข้างทางในแขวงหลวงน้ำทา และอุดมไช จะพบเห็นแปลงปลูกเร่วกระจายอยู่ทั่วไป ส่วนใหญ่มักปลูกบริเวณหุบร่องห้วยที่มีความชื้นสูง เย็นวันที่กลับจากเมืองสิง ตามหมู่บ้านชาวกิมมุเห็นพ่อค้าชาวเมืองหลวงน้ำทามารอรับซื้อผลเร่วดิบกันหลายจุด มีผู้หญิงและเด็กๆแบกกะชุออกจากป่ามาขายกัน กิโลละ ๓๐๐๐กีบ เป็นผลเร่วที่เก็บจากในป่า รอบๆหมู่บ้านเห็นมีแปลงสวนเร่วหลายแปลง อ้ายคำออน เล่าให้ฟังว่าที่บ้านปลูกสองแปลง แปลงหนึ่งปลูกเร่วธรรมดาหรือที่เรียกกันว่าพันธุ์ปากช่อง พันธุ์นี้ปลูกในที่โล่งได้แต่ราคาขายถูก (๓๐๐๐กีบต่อกิโล) ส่วนพันธุ์กวางตุ้งที่ปลูกอีกสวนหนึ่งนั้นต้องการร่มไม้รำไรแต่ราคากิโลละ ๗๐๐๐กีบ ติดต่อขอซื้อพันธุ์ไว้ทั้งสองพันธุ์ อ้ายคำออนนัดไว้ว่าเดือนสี่ปีหน้าค่อยมาเอา เอาไปตอนนี้ปลูกไม่ทันฤดูแล้ว

ประเมินรายรับจากการปลูกเร่ว หลังจากปลูกแล้วสามารถเก็บผลได้ในปีที่ ๓ พื้นที่ปลูก ๑เฮกตาร์จะได้ผลเร่ว ๑ตันครึ่ง หากขายผลเร่วดิบจะได้เงินราว ๑๐ล้านกีบถ้าเป็นพันธุ์กวางตุ้ง เอามาปลูกแซมป่าไม้ไผ่ก็น่าสนใจ คิดว่าน่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับพี่น้องชาวกิมมุบ้านนาหนองคำ กับนาไม้ยม ที่ปฏิเสธบ่มักสวนยางเพราะ    ”บ่อยากตื่นแต่เดิกไปปาดยาง” เดินเลาะเล่นในเมืองหลวงน้ำทาเห็นสาวแก่แม่บ้านนั่งแกะผลเร่วตากแดดกันหลายบ้าน เป็นครอบครัวของพ่อค้าที่ไปรับซื้อผลดิบจากชาวกิมมุนั่นเอง เพิ่นเล่าว่าพอแกะเปลือกตากแห้งแล้วขายส่งพ่อค้าจีนกิโลละ ๕๐พันกีบ(๒๐๐บาท) เลยคิดต่อว่าหากเราขายแบบแห้งพี่น้องก็น่าจะมีรายได้สูงขึ้นอีก ท่องเน็ตดูข้อมูลการปลูกเร่วบ้านเราเห็นมีการทำผลิตภัณฑ์ เร่วผง น้ำมันหอม เจลล้างมือด้วย นี่ก็น่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้

ฝันเข้าไป….ลุงเปลี่ยน


คาสิโน no more

4 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 27 กรกฏาคม 2011 เวลา 12:29 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2006

ทริปตามล่าหากล้ายางพาราแขวงลาวเหนือคราวนี้ ทีมงานฝันหวานไว้ว่าจะพากันไป “ดูสาวจีน”ที่คาสิโนบ่อเต็นสักคืน หรือหากมีโอกาสก็จะปลอมเป็นคนลาวขอเข้าไปเยี่ยมชมสวนยางในเขตเมืองลาประเทศจีนสักหน่อย ที่ต้องปลอมตัวก็เพราะพวกเราคนไทยไม่ได้ทำเรื่องขอเข้าเมืองไว้ หากเป็นพี่น้องลาวนั้นทำใบผ่านแดนก็เข้าไปเที่ยวในเขตเชียงรุ้งได้นานสิบวัน

แต่ที่ฝันไว้ก็ต้องเป็นฝันค้าง จะปลอมตัวเข้าเมืองจีนเอาเข้าจริงๆก็ไม่กล้า จะไปดูสาวจีนก็ไปเจอแต่บ่อนคาสิโนร้าง ร้านรวงปิดหมด มีแต่คนเฝ้าร้านมานั่งเล่นไพ่นกกระจอก ๒-๓ วง

บ่อนคาสิโนบ่อเต็น ตั้งอยู่ที่ด่านชายแดนระหว่างเมืองหลวงน้ำทา สปป ลาว กับเมืองลาของจีน เปิดมาได้หลายปีอยู่ แต่หลังๆมาซบเซาปิดตัวลงได้สองเดือนมาแล้วด้วยเหตุใดไม่ทราบแน่ชัด บ้างก็ว่าเพราะทางการจีนกดดันตัดน้ำตัดไฟ เพราะไม่อยากให้ชาวจีนข้ามมาเล่น บ้างก็ว่าเป็นนโยบายที่เปลี่ยนใหม่ของ สปป ลาว เพราะท่านเปลี่ยนนายกฯใหม่

บ่อนคาสิโนชายแดนจีน อันที่จริงก็มีมาก่อนหน้านี้สองสามแห่งในเขตเมืองลา เขตปกครองตัวเองในพม่า สมัยโน้นก็เดิมทีเปิดที่ติดชายแดน ต่อมาขยับย้ายลึกเข้ามาในแดนเมืองลาสิบกว่ากม. ตอนนั้นทางการจีนก็ปวดหัวหนักกับชาวจีนที่เอาเงินมาทิ้งในบ่อน ออกมาตรการห้ามคนจีนเข้ามาค้างคืน จำกัดวงเงินที่พกออกนอกด่าน จนสุดท้ายก็แกมบังคับให้ปิดคาสิโนที่เมืองลา กลุ่มผู้ประกอบการเจ้าของธุรกิจบางส่วนจึงย้ายมาเปิดที่บ่อเต็น แต่กลุ่มรายใหญ่ “ดอกงิ้วคำ”นั้นลงทุนเปิดกิจการใหญ่โตที่ห้วยเผิ้ง แขวงบ่อแก้ว ติดกับสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งในวงนักคิดนักโพสต์ชาวลาวก็กำลังรอดูกันว่าทางการท่านจะเอายังไงกันต่อไป แต่เห็นว่าเช่าที่ดินนานหลายสิบปี

อันที่จริงในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง สมัยก่อนก็มีการเล่นการพนัน แทงหวยที่เรียกว่า “มะก่องถี่”กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน จำได้ลางๆว่าปู่เคยเล่าให้ฟังตอนยังเด็ก เรื่องที่ท่านไปผจญภัยในบ่อนแถบรัฐฉาน สำหรับชาวจีนตามหัวเมืองนั้น (หรือแม้กระทั่งชาวจีนที่มาเปิดร้านค้าตามหัวเมืองลาว) แดดร่มลมเย็นก็มักเห็นตั้งวงเล่นไพ่กันอย่างเปิดเผยริมถนน ตอนไปสำรวจดินในเมืองซินลี่ ริมฝั่งแม่น้ำแยงซีเกียง ผมก็ไปยืนดู(สาว)ทุกเย็นจนเกือบได้(ลูก)สาวกลับเมืองไทย ซื้อขนมไปหลอกฝึกพูดภาษาหลายวันจนพ่อแม่เขาออกปากยกให้ (สมัยนั้นเขายิ่งอยากได้ที่ว่างสำหรับลูกชายอยู่)

กลับมาที่คาสิโนบ่อเต็นที่ไปเห็นเป็นเมืองร้างคราวนี้ ก็รู้สึกเสียดายอาคารตึกรามสีสันสดใส รวมถึงร้านรวงต่างๆที่ปิดประตูเหล็กไร้ผู้คน คิดไม่ออกว่าจะเอาไปใช้ทำประโยชน์ในทางใดได้อีก โรงแรม สถานพักฟื้น ฟื้นฟูสุขภาพครบวงจร หมอทางเลือกแผนจีน ไท ลาว แขก ดีไหม หรือทำเป็นวิทยาลัยการโรงแรมดี …….คิดเรื่อยเปื่อยเผื่อพี่น้องลาว อาจบางทีจะสามารถมีการจ้างงานให้คนหนุ่มสาวที่ตกงานเพราะบ่อนปิดได้สักหลายๆคน


เสนอคำจีน ในทริปลาวเหนือ

2 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 16 กรกฏาคม 2011 เวลา 11:20 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2514

 ลูกติดพันจากทัวร์ไม้ไผ่ กลับมาถึงหงสาพักได้คืนเดียวถูกเชิญกึ่งลากให้ร่วมทัวร์ลาวเหนือเพื่อตามหา”กล้ายางพารา” กับหาลู่ทางส่งเสริมการหาอยู่หากินแนวอื่นตามรายทาง เพื่อนำมาเสนอพี่น้องชาวหงสา

เส้นทาง หงสา-เมืองเงิน-ปากแบง-อุดมไช-หลวงน้ำทา-เมืองสิง-เวียงพูคา-เมืองหลา

ไปเที่ยวนี้เจาะลึกหลายด้าน พบเจอเรื่องราวน่าสนใจหลายอย่าง เอาไว้โหลดรูปได้ และมีเวลาเรียบเรียงสาระ คงมีโอกาสได้นำมาถ่ายทอด

แต่บันทึกแรกของชุดนี้ นำเสนอคำจีนสองสามคำ เนื่องในวาระที่ครูบาจะไปดูไม้ไผ่เมืองจีน (และแอบมีวาระแฝงที่แอบคิดถึงสาวจีนบางคนนิดๆ อิ อิ)

คำแรก “ที ที อี้” ทางหลวงน้ำทาออกเสียง ที ที ยี่ หากเป็นคนลาวภาคกลางจะออกเสียง เต เต ยี่ ความจริงมีคำจีนในนี้เพียงคำเดียวคือ อี้ ที่แปลว่า หนึ่ง (อี้ เอ้อ ชาน ซื่อ อู่ ลิ่ว ชี ปา จิ่ว สือ ผมนับหนึ่งถึงสิบเพราะรู้ภาษาจีนไม่ได้มากไปกว่านี้แล้วล่ะครับ) แปลรวม ที ที อี้ ก็คือ TT 1 เป็นชื่อพันธุ์ยางพารา พันธุ์แรกๆที่ปลูกในจีน และแถวๆลาวเหนือครับ เซียนยางฯที่นี่ท่านว่าปลูกแล้วไม่เรื่องมาก ทนหนาวได้ดี มีน้ำค้างแข็งก็ไม่ตาย แต่ปริมาณน้ำยางไม่มากเท่าพันธุ์ใหม่ๆที่มาทีหลัง

คำที่สอง “ลิ่วเปยฮ่าว” เป็นพันธุ์ยางพาราชนิดใหม่ที่กำลังฮิตกันที่ลาว นำเข้ามาส่งเสริมโดยบริษัทชาวจีนที่มาสัมปทาน ที่ดินปลูกยางในลาว ท่านว่าให้น้ำยางดีมาก แต่ไม่ทนหนาว หากเกิดแม่คะนิ้งเมื่อไหร่ก็ยืนต้นตายเมื่อนั้น ลิ่วเปย แปลว่า หกร้อย “ลิ่วเปยฮ่าว” จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า T 600 ครับ

แทรกเรื่องพันธุ์ยางพาราอีกนิดครับ มีอีกพันธุ์หนึ่งที่มาใหม่มาแรงก็คือพันธุ์ 774 (ที่พันธุ์นี้ไม่ยักเรียกชื่อจีนว่า ชี ชี ซื่อ) ท่านว่าโตเร็วให้น้ำยางมาก ปลูกที่หนาวๆแถวเชียงรุ้งก็ไม่เป็นไร เสียแต่ว่ายังไม่มีสวนใดได้กรีดเลย จึงไม่สามารถยืนยันได้

คำที่สาม เที่ย ผี สือหู่ เป็นชื่อกล้วยไม้ที่เมืองจีนนำมาส่งเสริมให้พี่น้องชาวเผ่าในลาวเหนือเขตเมืองเชียงแข็ง เมืองลอง แขวงหลวงน้ำทา ปลูกเป็นพืชทดแทนฝิ่นครับ ต้องการที่สูงเกิน ๑๐๐๐ ม จากระดับน้ำทะเลขึ้นไป ที่น่าสนใจคือ เขาไม่ได้ขายดอก แต่เขาต้องการต้นและใบทั้งหมดเอาไปทำยาครับ เห็นว่าบำรุงได้ทั้งตับ ไต หัวใจ เลือด ราคาที่รับซื้อ กิโลกรัมละ ๕๐๐ หยวน หยวนนะครับ (หลินหมิงปี้)บ่แม่นบาทหรือกีบ อันนี้ถามย้ำกับนายภาษาอีกรอบแล้วเพื่อความแน่ใจ ผมแอบขอมาได้สองกล้า จะลองเอามาปลูกบนยอดภูดูเผื่อพี่น้องชาวหงสาจะได้รวยกับเขาบ้าง

คำสุดท้าย “ฟาน เฉ่า” เป็นกล้วยไม้อีกชนิดหนึ่ง แต่ชนิดนี้ตัดดอกขาย สนนราคาเดียวกันกับกล้วยไม้ชนิดแรกครับ แต่ไม่ทันเห็นดอกหรอกครับเห็นแต่ต้นกล้า เอาไว้รอบหน้าจะหาเวลาตามไปดู

เห็นนายทุนคนจีนมาเช่าพื้นที่ทำสวนกล้วยหอมแบบประณีตเต็มไปหมด นำกล้าที่ขยายพันธุ์แบบเพาะเนื้อเยื่อ มาปลูก มีระบบน้ำหยด มีการห่อหุ้มเครือกล้วย ท่านว่าปลูกวิธีนี้สามารถเก็บเกี่ยวได้พร้อมกัน ตัดเครือแล้วเอาใส่ตู้คอนเทนเนอร์เข้าจีนไปเลย ค่าเช่าที่ดินแพงมากๆ เฮกตาร์(หกไร่กว่าๆ)ค่าเช่าแปดพันหยวนหรือ สี่หมื่นบาท ต่อปี และต้องเช่าสามปีเรียกว่าจ่ายค่าเช่าทีก็หนึ่งแสนสองหมื่นบาท

ลองนึกดูว่าพี่น้องชาวจีนจะต้องกินกล้วยหอมราคาแพงขนาดไหน

เทียบกันแล้วเกิดเป็นคนไทยดีกว่าเยอะ (เฉพาะเรื่องกล้วย)

จบรายงานข่าวจากลาวเหนือ

                                                                                                            โรงแรมลาวงาม อุดมไชย

                                                                                                            ๑๖ กอละกด


คนแปลกเปลี่ยวที่บ้านเกิด (ป้อลุงขอฮ่ำฮิฮ่ำไฮ)

5 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 14 กรกฏาคม 2011 เวลา 11:38 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1621

ทอดสายตามองผ่านกระจกหน้าต่าง ยามหัวค่ำ

สายฝนปรอยโปรย รถราขวักไขว่ ดวงไฟสาดส่อง

ผู้คนมากหน้า เดินผ่านไปมาบนบาทวิถี

ประตูท่าแพ กำแพงเมือง คือเวียง ยังอยู่ที่เก่า

แต่ผมรู้สึกแปลกเปลี่ยวในบ้านเกิด

จึงได้แต่ขังตัวเองอยู่ในห้องหรู ของโรงแรมกลางเมือง

ที่ห่างเพียงเยื้องกับบ้านหลังเก่า ที่คุ้นเคยกับต้นไม้ใบหญ้าแทบทุกเส้น

            นั่งเหงาท่ามกลางนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ในห้องอาหารมื้อเช้า

            ฝืนกลืนขนมปังปิ้ง ทาเนย กับไข่คนปนกลิ่นเนย

            ถ้วยกาแฟจืดๆตามแบบฉบับ บุฟเฟมื้อเช้าปล่อยไอลอยอ้อยอิ่ง

            นึกถึงข้าวนึ่งร้อนๆกับหมูทอดหอมๆที่กาดสมเพชร ห่างออกไปไม่กี่สิบก้าว

            แต่ความขี้เกียจก็สั่งให้คร้านที่จะย่ำเท้าไป

เชียงใหม่ในรอบห้าปีมานี่ แปลกตาไปจริงๆ

หรือว่าความรู้สึกของตัวเอง ที่ดัดจริตพาให้คิดไปว่าแปลกเปลี่ยว

รึ ผมห่างเหินจากบ้านเกิดไปนานเกินพอแล้ว

            เดินวนสองรอบผ่านบ้านหลังที่คุ้นเคย

            มองผ่านรั้วเข้าไปเห็นสนามหญ้าที่เคยมาช่วยแม่อุ้ยถอนแห้วหมูที่ขึ้นแซมหญ้ามาเลย์ ถูกปูทับด้วยพื้นซีเมนต์

            แล้วกอดอกดาหลากับต้นมะรุมหลังบ้านจะยังอยู่ไหมหนอ

            บริเวณบ้านตัวบ้านที่เคยโอ่โถง กลับดูคับแคบด้วยมีตึกทรงแท่งมาเบียดบัง

เป็นเช่นนี้เองหนอ มีเกิดมีเสื่อม ไปตามกลไกแห่งกาลเวลา และวิถีแห่งยุคสมัย

อย่าไปติดยึดกับสิ่งใดใดเลย

            อ้อมไปเหมาซื้อมาลัยดอกมะลิหลายพวง

            เดินซอกซอนเข้าไปไหว้พ่ออุ้ยแม่อุ้ยที่หลังวิหารวัดอู่ทรายคำ

            ฝากมาลัยไปไหว้พ่อแม่ที่อยู่อีกวัดไกลออกไปต่างอำเภอ

            อย่างไรท่านก็คงได้เจอกันที่เมืองบนโน้น

ไหว้พระ ถวายปัจจัยชี้ให้พระท่านดูชื่อบนกำแพง บอกว่ามาทำบุญให้ท่าน

ท่านสมภารให้เด็กมาชวนให้แวะคุย

ท่านแจ้งว่าญาติสายอื่น(ที่เหลือกันน้อยลงทุกที บางท่านก็หง่อมจนมาวัดไม่ไหว) อยากทำพิธีลอยอัฐิ ฝากให้มาถามความเห็น

กราบเรียนท่านสมภารฝากตอบไปว่า “สุดแล้วแต่พี่น้องและท่านสมภาร”

ส่วนตัวกระผมเองไม่ว่าจะมีตัวแทนของท่านอยู่หรือไม่อยู่ ก็ยังจะแวะเวียนมาไหว้พระวัดนี้ตามโอกาสอำนวย

            ไม่ได้คิดจะติดยึดกับวัตถุ แต่ยังรำลึกถึงความทรงจำและสิ่งดีงามที่ท่านได้ทำภายในวัดแห่งนี้

…………………………………………………………………………..

ช่วงเวลาหลังจากนั้นก็เป็นรายการรับอุปการะจาก พี่น้องสายเหนือ ครูใหญ่ ครูอาราม อุ้ย ติดสอยห้อยตามด้วยเด็กหญิง(ตัวโค่ง)เสื้อสีส้ม ที่พาไปโรงงานกระดาษสา มาแวะกินข้าวซอยฮ่อ ก่อนจะห้อมาขึ้นกานต์แอร์กลับเมืองน่าน แล้วเตลิดเข้าหงสา

ขอแจ้งข่าวชาวคณะทราบว่า กระดาษสาได้จุดประกายให้กลุ่มแม่บ้านเวียงแก้วเริ่มลงมือทำกระดาษสาใช้เองแล้วครับ หลังจากที่ห่างหายไปกว่ายี่สิบปี ….ขอได้รับการขอบพระคุณ

ขอขอบใจ……เด้อ



Main: 0.16177296638489 sec
Sidebar: 0.015551090240479 sec