บอวอรอ (บวร) บ้านวัดโรงเรียน

3 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 25 พฤษภาคม 2011 เวลา 11:09 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1793

บ้านวัดโรงเรียน เป็นแนวทางการประสานการพัฒนาชุมชน ที่ผมได้ยินบ่อยๆสมัยที่ทำงานพัฒนาชุมชนในแถบอีสาน

แต่เรื่องที่จะเล่าในบันทึกนี้เป็นเรื่องราวของ บอวอรอ ในหงสา

สถานการณ์ในการสืบสานพุทธศาสนาในเมืองหงสาทุกวันนี้ ก็คงจะคล้ายกับที่บ้านเรา ในด้านที่ทุกวันนี้หาคนบวชเข้าวัดได้ยากขึ้นทุกที โดยเฉพาะการที่จะหาเด็กที่สมัครใจมาบวชเป็นสามเณร เนื่องจากเดี๋ยวนี้พ่อแม่ต่างก็อยากให้เด็กๆได้เข้าโรงเรียน ไม่เหมือนสมัยก่อนที่การบวชเรียนเป็นทางเดียวที่จะทำให้กุลบุตรได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน แต่ทุกวันนี้หากบวชก็หมายถึงตัดโอกาสไม่ให้เด็กได้เรียน “ทางโลก” ที่เมืองหงสายังไม่มีโรงเรียนสำหรับพระเณร หากจะเรียนต้องเข้าไปอยู่ที่ตัวแขวงไชยะบุรีห่างออกไปกว่า ๙๐ กม.โน่น

บ้านเวียงแก้ว เป็นหมู่บ้านชาวลาวลื้อที่ดุหมั่นขยันขันแข็ง ได้รับการประกาศเป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมหมู่บ้านที่ ๒ของประเทศลาว เศรษฐกิจของชุมชนบ้านเวียงแก้วนอกจากจะมีรายได้จากภาคกสิกรรมอันได้แก่ ข้าว และกระเทียมแล้ว แม่ยิงลาวลื้อบ้านเวียงแก้วยังมีฝีไม้ลายมือในการทอผ้าลายน้ำไหล และผ้าฝ้ายต่างๆศิลปะเอกลักษณ์ชาวลื้อที่เป็นที่ขึ้นหน้าขึ้นตา ชาวบ้านเวียงแก้วยังมีการเลี้ยงช้างเกือบยี่สิบตัว การจัดงานบุญช้างที่ขยายมาจากพิธีบายศรีสู่ขวัญช้างที่พี่น้องสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน สมัยก่อนเป็นพิธีกรรมที่ทำกันภายในครอบครัวที่มีช้างเลี้ยง ทุกวันนี้ได้รับการส่งเสริมให้เป็นงานประเพณีบุญช้างของแขวงไชยะบุรี ซึ่งหมุนเวียนกันจัดระหว่างเมืองต่างๆภายในแขวง บ้านเวียงแก้ว ได้เป็นตัวแทนของเมืองหงสารับเป็นเจ้าภาพจัดงานบุญช้างมา ๒ ครั้งแล้ว

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ของวัดบ้านเวียงแก้ว ก็ไม่ต่างไปจากทั่วๆไปที่กล่าวไว้เบื้องต้น กล่าวคือ “มีแต่ตุ๊เจ้าเฒ่า กับคูบาหนุ่มตนสองตน หาพระน้อยมาบวชมาเป็กบ่ได้” หมายความว่า ที่วัดบ้านเวียงแก้วมีแต่พระสูงวัย กับพระหนุ่มอีกรูปสองรูป แต่หาเด็กมาบวชเป็นสามเณรได้ยาก แต่ถึงกระนั้นที่วัดบ้านเวียงแก้วก็ยังมีสามเณรวัยรุ่นอยู่สองรูป

หลายๆท่านก็คงจะเช่นเดียวกับผมที่ เคยมองวัตรปฏิบัติของพระเณรชาวลื้อในลาวแถวเวียงแก้ว เมืองเงิน หลวงน้ำทา หรือในเมืองเชียงตุง เชียงรุ้ง สิบสองปันนา อย่างประหลาดใจที่เห็นท่านถีบจักรยาน ขับมอเตอร์ไซด์ เดินเล่นตามถนน เดินในตลาด นั่งเล่นในบ้านชาวบ้าน หรือเดินเข้าออกร้านขายของตอนเย็นๆ ทำให้นึกแคลงใจในวัตรปฏิบัติและพระวินัย

นั่นเป็นการมองจากคนภายนอกมิได้มองจากการเอาตัวเข้าไปอยู่ในชุมชนแล้วพยายามเข้าใจความเป็นไปหรือวิถีชุมชน ไม่เฉพาะเพียงแต่เราๆท่านๆที่คิดเช่นนี้ แม้แต่พี่น้องชาวลาวลุ่มที่ตั้งชุมชนอยู่ติดๆกันกับชาวลื้อก็ตาม ที่ผมพบเจอกับตัวเองก็ ในคราวนี้ที่ต้องมีส่วนในการสร้างชุมชนใหม่ให้ชาวลื้อกับชาวลาว เรื่องสร้างบ้านเรือนอยู่ใกล้กัน ใช้ตลาด ใช้โรงเรียนร่วมกันนั้นไม่มีปัญหา ไม่ได้รับคำโต้แย้งจากชุมชน  แสดงว่าทางด้านการปกครองสามารถกลมกลืนกันได้ แต่พอจะให้ใช้วัดร่วมกันแล้วกลับมีเสียงคัดค้านกันระงมจากฝั่งชาวลาวลุ่ม ด้วยเหตุที่ท่านอ้างว่า “พระลื้อกินข้าวเย็น” “เณรลื้อไปเล่นผู้สาว” “ชาวลื้อไปวัดแต่ดึก” “วัดลื้อตีกลองมื้อละสองเทื่อ” ฯลฯ ข้างต้นนี้เป็นคำบอกเล่า หรือมุมมองของชาวลาวลุ่ม ส่วนข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรนั้น ข้อนี้ผมยังไม่ยืนยัน

พุทธศาสนาของชาวไทเหนือ กับชาวลาวเข้าใจว่ามีที่มาที่แตกต่างกัน ของชาวลาวรับมาจากเขมร อ้างจากตำนานพระบางที่เจ้าฟ้างุ้มมหาราชท่านอัญเชิญมาจากพระนคร เจ้าฟ้างุ้มเจ้าชายจากกรุงลาวที่ไปศึกษาร่ำเรียนต่างเมืองถึงกัมโพชนคร จนท่านได้เป็นราชบุตรเขยกษัตริย์เขมร ท่านพานางแก้วกัลยาพระมเหสี พร้อมลี้พล และปราชญ์วิทยาการต่างๆขึ้นมารวบรวมอาณาจักรล้านช้างให้เป็นปึกแผ่น สำหรับชาวไทเหนือนั้นสมัยก่อนนับถือแถน ผีฟ้า ผีด้ำ ผีบรรพบุรุษ ดังจะเห็นตัวอย่างจาก ชาวไทดำ ไทขาว ไทแดง ชาวไทโบราณที่ตกค้างอยู่ถิ่นฐานเดิมแถบเมืองแถนนั้น หลายพากส่วนยังคงนับถือผีเหมือนเดิม พุทธศาสนาแบบเถรวาทเข้ามาสู่ชาวไทเหนือจากลังกา ผ่านสุโขทัยขึ้นไปเพาะบ่มเจริญรุ่งเรืองในล้านนาจนได้เป็นเจ้าภาพในการ สังคายนาพระไตรปิฎกที่วัดเจ็ดยอด แล้วก็แตกเป็นสองนิกาย คือนิกายป่าแดง กับนิกายสวนดอก ทั้งสองนิกายได้เผยแผ่ไปยังดินแดนชาวลื้อสิบสองปันนา นั่นคือที่มาของพุทธศาสนาในหมู่ชาวลื้อ

พระหนุ่ม เณรโข่ง ไม่ว่าที่ไหนๆก็มักจะต้องต่อสู้กับอบายเย้ายวนภายนอกกำแพงวัด หนังสือพิมพ์ ทีวีบ้านเราก็เสนอข่าวกันไม่เว้นแต่ละวัน ที่บ้านเวียงแก้วก็ไม่ตกยุคเหมือนกัน

เช้าวันหนึ่งของเดือนพฤษภาคม เสียงนายบ้านแจ้งตามสายป่าวประกาศ เรียกชาวบ้านมาประชุม(รวมบ้าน)ที่ห้องประชุมบ้านหน้าข่วงวัด กลางห้องประชุมมีวัยรุ่นสามคนถูกผ้าผูกมัดนั่งรวมกันอยู่ สองในสามเป็นเณรโข่งของวัดนั่นเอง เรื่องของเรื่องเกิดจากการที่มีคนไปร้องเรียนว่าเณรชอบ “สิกปก”(ภาษายวน แปลว่าแอบสึกเป็นฆราวาสตอนกลางคืน) หนีไปเที่ยวดึกๆดื่น เฒ่าแก่แนวโฮมได้ฟังดังนั้นแล้วจึงแต่งให้กองหลอนบ้านมาซุ่มอยู่ที่กุฏิหน้อยสถานที่แปลงกายของเณร คืนนั้นเมื่อเณรย่องกลับเข้าวัดจะมาหยิบสบงจีวรที่ถอดซ่อนไว้ ก็เลยถูกจับได้โดยละม่อม แล้วก็พามาไว้ที่หอประชุมบ้าน ถูกจับทั้งเณรและทั้งวัยรุ่นที่เอามอเตอร์ไซด์มาพาเณรไปเที่ยว รุ่งเช้านายบ้านจึงประกาศ”รวมบ้าน”ให้มาเป็นสักขีพยาน เฒ่าแก่แนวโฮมท่านให้สึก แต่ไม่ใช่แค่ให้สึกเฉยๆ ยังมีแถมบทลงโทษหนักไม่ใช่เล่น ท่านให้ถางหญ้าในลานวัดให้เอี่ยม ท่านให้มาหาบหินร้อยหาบ หาบทรายร้อยหาบเข้ามากองไว้ในลานวัด ไม่รู้ป่านนี้ “อ้ายน้อย”(ภาษายวน เรียกคนที่สึกจากเณร) จะดายหญ้า หาบทรายครบหรือยัง

เขียนเรื่องนี้ด้วยความชื่นชมชาวเวียงแก้ว พร้อมๆกับการได้เปิดทัศนะเกี่ยวกับพุทธศาสนาในหมู่ชาวลื้อ ทำให้เห็นว่า “ในความหย่อนยาน ก็มีความเข้มงวด”  วิถี ฮีตคองของใครก็ของใคร ไม่ควรเอาตัวเองเป็นบรรทัดฐาน    


พิธีออกวัด

4 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 12 พฤษภาคม 2011 เวลา 11:03 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2435

ซองบัตรเชิญสีขาว วางอยู่บนโต๊ะทำงานเมื่อเช้า นึกแปลกใจที่เป็นบัตรเชิญสีขาว ปกติถ้าเป็นงานแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ ผูกแขนทำขวัญ มักเป็นซองสีชมพูหรือสีหวานๆ

แต่นี่เป็นซองสีขาว

หน้าซองเขียนไว้ว่า “เชิญท่านอาจารย์เปลี่ยน พร้อมครอบครัว” อันนี้ไม่แปลก ปกติบัตรเชิญที่หงสามักจะเชิญพร้อมครอบครัว แต่สำหรับจานเปลี่ยนแล้ว จำแนกได้ว่าเจ้าของบัตรเชิญไม่ใช่บุคคลวงในใกล้ชิด เพราะถ้าหากเป็นคนที่รู้จักกันดีจะรู้ว่าจานเปลี่ยน”โสดสนิท” บัตรเชิญก็ต้องเขียนว่า “เชิญท่านอาจารย์เปลี่ยน พร้อมคู่รัก”

เปิดดูเนื้อความข้างในซอง “เนื่องในโอกาสพิธีออกวัด ข้าพเจ้า….พร้อมด้วยญาติมิตรขอเชิญท่านเข้าร่วมงานดังกล่าว ซึ่งจะจัดขึ้นที่…ในวันมื้อออกใหม่…ค่ำ เดือน ๖ ตรงกับวันที่…. เวลา ๑๐ โมงเช้าจะได้สูดขวัญตามฮีตครองประเพณี หลังเสร็จพิธีแล้ว ขอเชิญท่านรับประทานอาหารเที่ยงและม่วนซื่นนำพวกข้าพเจ้า หวังว่าท่านคงจะสละเวลาอันมีคุณค่าเป็นเกรียติเข้าร่วมในงานนี้ด้วย ในวงเล็บ ขออภัยที่บ่ได้มาเชิญด้วยตนเอง”

พิธีออกวัด เป็นพิธีที่ทำขึ้นเมื่อผู้ที่ครองเพศบรรพชิต หรือพระสงฆ์ท่านตัดสินใจลาออกมาเป็นฆารวาส สำหรับพระรูปนี้ถือว่าคุ้นเคยกันดี สมัยแรกๆที่พอมีเวลาว่างเคยเดินเลาะวัดเลาะบ้านตอนเย็นๆ เคยแวะสนทนากับท่าน บางทีก็ไปนั่งฟังท่านสอนเณรหัดท่องบทสวด บางคราวอยากเข้าไปนั่งสงบใจต่อหน้าพระประธานในโบสถ์ท่านก็กรุณาไขกุญแจเปิดประตูให้ ท่านหมดบุญผ้าเหลืองออกมาดูแลโยมแม่ที่อายุมากแล้ว ชาวบ้านชาวช่องอาลัยแต่ไม่อาจขัดเจตนาของท่านได้ พระรูปนี้เองที่ผมเคยเล่าไว้ในบันทึกเมื่อราวๆหลังสงกรานต์ปีกลายที่เล่าว่า พ่อออกแม่ออกทำพานดอกไม้ธูปเทียนมาขอให้ท่านอยู่ต่อ ท่านก็อยู่ให้อีกหนึ่งปีจนถึงสงกรานต์ปีนี้เวียนมา รอบนี้ท่านได้สึกสมใจ ชาวบ้านรวบรวมกันจัดงานสู่ขวัญให้ตามรายละเอียดในบัตรเชิญ

พิธีกรรมหลังสึกของชาวหงสา ยังเป็นศรัทธาที่ละเอียดอ่อน ท่านต้องนุ่งขาวห่มขาวอยู่วัดอีกหลายวันจนกว่าจะได้มื้อดี บันทึกหนึ่งของพี่บางทรายเคยแสดงรูปถ่าย เด็กหนุ่มหลังสึกที่มารดน้ำต้นโพธิ์ที่ลานวัดบ้านหาน ยังมีความเชื่ออีกในเรื่องการหาสาวบริสุทธิ์มาจูงแขนพี่ทิดออกจากวัด ท่านเชื่อกันว่าพอออกไปสร้างครอบครัวจะได้แต่งงานกับสาว แต่ตอนนี้ที่หงสาก็เหมือนกับบ้านเราที่สาวๆออกไปไกลหูไกลตาพ่อแม่ บ้างก็ไปเรียนต่อ บ้างก็ไปทำงาน จึงเป็นเรื่องหนักใจที่จะเชื่อได้ว่าใครนางใดจะมีคุณสมบัติข้อนี้ครบถ้วน เลยต้องหันมาใช้เด็กสาวตัวน้อยๆชั้นประถมมาจูงแขนพี่ทิด

อย่างไรก็ตาม ในบางท้องถิ่นพี่น้องก็มักจะขัดข้องไม่อยากให้ลูกสาวหลานสาว มาจูงแขนพี่ทิดออกจากวัด เพราะมองเห็นว่า เป็นตัวการทำให้ทายาทพุทธศาสนาสึกออกมา ท่านว่าสาวพวกนั้น เป็น “มารศาสนา”

จะอย่างไรก็ตาม ธรรมเนียมปฎิบัติ ที่เป็น”กรอบของสังคม” ของที่หงสายังนับว่า ยังคงหลงเหลือสืบทอดกันมาได้อย่างเหนียวแน่น เมื่อเทียบกับบ้านเรา


คิดหลายหัวแตก แบกหลายหลังหัก

4 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 10 พฤษภาคม 2011 เวลา 10:04 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1269

ไม่ได้ว่าใครนะครับ บ่ได้ว่าไผ

พอดีครูบามากระทุ้งเรื่องให้ยุบความขี้เกียจเขียนบันทึก แต่บ่มีหยังในไส้ในบุ๋มสำหรับเขียน ก็เลยยกคำผญาเมืองลาวที่ได้ฟังจากคนรอบข้าง มาจั่วหัว

คิดหลายหัวแตก แบกหลายหลังหัก หากจะว่าก็คงต้องว่าตัวเอง ที่ชอบเผลอใจเป็นคนเจ้าคิดเจ้าแค้น หยิบเอาเรื่องเล็กๆน้อยๆมาหงุดหงิดโมโห นานๆทีถึงจะรู้ตื่นมาสำรวจใจ ลบไฟล์ขยะออกจากหัวได้นิดหน่อย…แล้วก็ลืมตัวลืมใจใหม่รับเอาไฟล์ไวรัสมาแฝงไว้ในใจใหม่…เป็นเช่นนี้เองใจดิบดิบ เรื่องแบกนี่ก็เข้าตัวเหมือนกัน ความขี้เกียจสอนขี้เกียจตรวจเลยต้องอมงานหลายๆชิ้นไว้ทำซะเอง แต่พอไม่ทันเข้าก็ทำได้แค่เขี่ยๆให้พอได้ส่ง ไม่เห็นจะดีเด่นกว่าของชาวบ้านเขาไปซะที่ไหน สงสัยต้องหัดผ่องถ่ายงานเสียบ้างแล้ว

เรื่องผลการตรวจร่างกายก็อยากเขียนเล่า แต่ขอเวลารวบรวมหน่อย ที่น่าสนใจคือ เด็กๆที่นี่ร้อยส่วนร้อยได้กินนมแม่จนอายุขวบกับอีกหกเจ็ดเดือน อย่างนี้น่าจะเลี้ยงง่ายสอนง่าย ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์เกือบทุกคนเข้าโครงการคุมกำเนิด(โครงการลูกห่าง) และได้รับการฉีดวัคซีนบาดทะยักจากการช่วยเหลือของสากล ผู้ชายเกินร้อยละแปดสิบกินเหล้า และสูบบุหรี ส่วนผู้หญิงร้อยละแปดสิบก็บอกว่าดื่มเหล้ายามมีเทศกาลงานบุญเหมือนกัน มีคนตุ้ยที่ BMI เกิน ๒๕ อยู่แค่สองสามคน(จากทั้งหมดสองร้อยคน)

มีเกร็ดเล็กๆน้อยๆ เรื่องการไม่ยอมให้ตรวจเลือด บางคนก็มาร้องเรียนว่าเจาะเลือดแล้วหมดแรงไปทำไร่ไม่ได้ บางรายก็หนีเข้าป่าตั้งแต่เช้ามืด คุณป้าท่านหนึ่งหลบอยู่ในห้องน้ำลูกผัวไปตามก็ไม่ยอมออกมา

ไปประชุมเวียงจันทน์เมื่อต้นเดือน เครื่องบินฝ่าพายุเกือบยี่สิบนาทีก่อนจะร่อนลงแบบเฉไปส่ายมาที่สนามบินวัตไต ทำให้เห็นอาการตื่นตระหนกของคนหลายชาติหลายภาษา ต่างคนต่างหยิบมือถือโทรหาลูกเมียกันวุ่นวาย “การเฉียดบางครั้งก็กระตุกใจของคนได้หลายคน” ส่วนตัวก็มีผลเล็กๆ ไปงวดนี้ซื้อหนังสือแบบไม่ยั้งไม่ดูราคา “ก็คิดถึงตอนนั้นแล้ว ก็เกรงว่าจะไม่มีโอกาสได้ใช้ตังค์”

วันอาทิตย์ที่ผ่านมาไฟฟ้าดับทั้งวัน ถือโอกาสอ่านหนังสือ “ประวัติศาสตร์ประเทศลาว” ของ ศ. กรานท์ เอแวนส์ เขียนได้ดีอย่างเป็นกลางดีจริงๆ สมกับคำวิจารณ์ที่ว่า ท่านเขียนได้เหมือนกับรูปที่วาดอยู่บนกำแพงที่เรียงกันเป็นลำดับ เล่มนี้มีสองภาษา อังกฤษ และแปลเป็นลาวอีกหนึ่งเล่ม อันนี้ก็มีหลายประเด็นที่อยากหยิบยกมาเล่า (แต่ก็ติดอยู่ที่….สมาธิและความคร้าน)

เมื่อเช้าเพื่อนฝูงในกลุ่มเวปไซด์ ลาวลิ้งค์ ส่งข่าวมาให้อ่านว่า ท่านนายกลาวท่านไปกล่าวไว้ที่จากาตาร์ว่าจะชะลอการสร้างเขื่อนไชยะบุรีออกไปตามการร้องขอของเวียดนาม อือมม อะไรจะเกิดขึ้นต่อไปล่ะ รอติดตามด้วยใจระทึก

หงสาฝนมาเร็วเหมือนกับบ้านเรา แอบเป็นห่วงพี่น้องชาวไปร ชาวข่า ว่าจะไม่ทันเผาไร่ จะไม่มีข้าวกิน แต่ลูกทีมกลับมาบอกว่า บ่มีปัญหา พี่น้องเขาเผาไว้ตั้งแต่เดือนสามหมดแล้ว “โล่งอกไปหนึ่งเปราะ” ”มีแต่สวนสาธิตของอาจารย์นี่แหละยังบ่ทันอะนาไม” อ้าว กลายเป็นสวนของเราเองที่ไม่ทัน “ใครว่าเราฉลาดกว่าชาวบ้านกันล่ะนี่”

ปิดท้ายบันทึกด้วย ผญาอีกคำ “ไค่กิ๋นหลาย ได้กิ๋นเท่าป๋ายก้อย ไค่กิ๋นหน้อยได้กินเท่าโป้ตี๋นโป้มือ” อันนี้พ่อเสาร์บ้านหาญพูดให้ฟังเด้อ ท่านเปรียบให้ฟังถึงตอนที่เลี้ยงลูกเด็กๆ เวลาป้อนข้าวปั้นข้าวเหนียวแจกกับฉีกเนื้อย่างให้คนละนิด เจ้าคนที่ชอบขัดคอก็ยืนกระทืบเท้าจะเอาชิ้นโตๆไม่ยอมรับไปสักที ส่วนเจ้าคนที่ว่าง่ายก็รับไปกินหมุบๆหมดแล้วยื่นมือมารับชิ้นใหม่ ปล่อยให้ไอ้เจ้าโยเยดิ้นเร่าๆอยู่นั่น สุดท้ายชิ้นปิ้งก็เหลือไว้ให้กินนิดเดียว

คนหงสานี่สุดยอด พูดคำแทรกคำผญาคำ  



Main: 0.063937902450562 sec
Sidebar: 0.016870975494385 sec