ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติ ของ สปป ลาว

1 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 20 มีนาคม 2011 เวลา 11:59 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1844

วันที่ ๓๐ เมษา ปีนี้เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติ สปป ลาว ชุดที่ เจ็ด

สภาแห่งชาติ เป็นอำนาจการปกครองฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ทำหน้าที่รับรองกฎหมาย และกิจกรรมต่างๆของรัฐ เช่น การสัมปทานโครงการขนาดยักษ์ต่างๆ (เล่าเท่าที่รู้เห็น)

วาระของสมาชิกสภา คือ ๕ ปีเลือกตั้งหนึ่งครั้ง

การเลือกตั้งเป็นแบบพวงใหญ่ หนึ่งแขวง(จังหวัด เลือกได้หนึ่งพวงตามจำนวนที่กำหนด)

ท่านมีการกำหนดจำนวนผู้สมัครด้วย เริ่มที่คณะประจำสภาแห่งชาติมีมติกำหนดจำนวนผู้สมัคร และจำนวนสมาชิกสภาของแต่ละแขวง แล้วนำเสนอประธานประเทศ เพื่อออกรัฐดำรัส ว่าด้วยการกำหนดจำนวนผู้สมัคร และจำนวนสมาชิกสภาแห่งชาติของแต่ละแขวง เช่นในการเลือกตั้งครั้งนี้ แขวงไชยบุรีรับผู้สมัคร ๑๐คน เลือกเอา ๗ คน กำแพงพระนครเวียงจันทน์รับผู้สมัคร ๒๑ คน เลือกเอา ๑๕คน รวมทั้งประเทศ รับผู้สมัคร ๑๙๐ท่าน และเลือกเอา ๑๓๒ท่าน

การกำหนดจำนวนสมาชิกสภา ขึ้นกับจำนวนพลเมืองในแต่ละแขวงโดยคิดสัดส่วน จำนวนพลเมือง ห้าหมื่นคนต่อสมาชิก ๑ ท่าน แต่ไม่ให้แต่ละแขวงมีสมาชิกสภาน้อยกว่า ๓คน นอกจากนั้นยังขึ้นกับจุดพิเศษของแต่ละแขวงเช่น เขตเศรษฐกิจ ชายแดน ความมั่นคงเป็นต้น

ใครสามารถใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกผู้แทน พลเมืองลาวที่มีอายุ ๑๘ ปีขึ้นไปทุกคนมีสิทธิ์เลือกผู้แทน ยกเว้น คนที่ ถูกศาลประชาชนตัดสิทธิ์ คนบ้า และคนที่ถูกตัดอิสรภาพ

ใครสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาแห่งชาติ อิงตามตัวบทกฏหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง มาตราที่ 3 ท่านว่าพลเมืองลาวทุกคนที่มีอายุซาวเอ็ดปีขึ้นไป มีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง

แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเดินไปยื่นใบสมัครเองได้นะครับ การสมัครรับเลือกตั้งต้องมีผู้เสนอรายชื่อขึ้นไปในฐานะของตัวแทนของหน่วยงานราชการ หรือองค์กรมหาชนเท่านั้น ไม่ใช่สมัครด้วยตัวเอง หลังจากการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร จากคณะกรรมการเลือกตั้ง( กกต)ท้องถิ่นแล้ว จะส่งรายชื่อไปให้กรรมการระดับชาติเป็นผู้ประกาศรายชื่อผู้สมัครอย่างเป็นทางการ

ท่านมีข้อตกลงว่าด้วยการควบตำแหน่ง หมายความว่า ข้าราชการประจำสามารถเป็นผู้แทน หรือสมาชิกสภาได้ควบคู่กันไปด้วย เช่น ท่านอาจเป็นรองเจ้าแขวง หัวหน้าแผนกกะสิกำแขวง ก็สามารถสมัครผู้แทนได้

การหาเสียงตามกฎหมายท่านว่า ผู้สมัครมีสิทธิ์โฆษณาหาเสียงได้ แต่ต้องไม่ใส่ร้ายป้ายสีคนอื่น เท่าที่เคยเห็น จะเป็นเวทีที่จัดโดยคณะกรรมการท้องถิ่น จัดเวทีแนะนำผู้สมัครทุกท่าน แล้วให้แต่ละท่านปราศัย

การเลือกตั้งใช้แบบสากล คือการลงคะแนนในบัตรเลือกตั้ง เลือกกาเอาคนที่ชอบ มีการจัดสถานที่ลงคะแนน แต่ที่พิเศษคือ มีบริการหีบบัตรเคลื่อนที่สำหรับผูป่วย คนชรา คนพิการที่ไม่สามารถเดินทางมายังหน่วยเลือกตั้งได้ด้วย

การนับคะแนนเสียงนับแบบเปิดเผยที่หน่วยเลือกตั้ง

ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด  เรียงลำดับจากที่ ๑ไปจนถึงลำดับที่ประกาศจำนวนผู้แทนไว้ จะได้เป็นผู้แทน

ในกรณีที่ ลำดับสุดท้ายที่จะได้เป็นผู้แทน มีมากกว่าหนึ่งคนที่ได้คะแนนเสียงเท่ากัน ท่านให้เลือกเอาผู้สมัครที่มีอายุราชการ (อายุการ)มากกว่า เป็นผู้แทน

หากอายุการยังเท่ากันอีก ทีนี้ท่านให้พิจารณาอายุของผู้สมัคร (ทางนี้ใช้คำว่า อายุ กะ-เสียน) ผู้ที่เกิดก่อน จะได้เป็นผู้แทน

การเลือกตั้งคราวนี้ คณะกรรมการเลือกตั้งท่านตั้งเป้าหมายให้ได้ สาม 100 % ซึ่งได้แก่ จำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ 100% จำนวนบัตรดี(ไม่เสีย) 100% และ ความสงบเรียบร้อยในการเลือกตั้ง 100%

ยังมีประเด็นที่น่าสนใจในกฏหมายเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติ สปป ลาว ที่หลายมาตราครับ เช่น การเสนอคัดค้านผู้สมัครภายในเจ็ดวันหลังประกาศรายชื่อ การเสนอปลดสมาชิกสภาแห่งชาติ ซึ่ง ท่านกล่าวไว้ว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง มีสิทธิ์เสนอให้ปลดสมาชิกสภาจากแขวงของตนเอง และเมื่อสมาชิกสภามากกว่ากึ่งหนึ่งโหวดให้ออกตามคำร้อง สมาชิกท่านนั้นก็ต้องหมดสภาพ

ไม่ทราบว่าจะเหมือนหรือต่างจาก พรบ. เลือกตั้งบ้านเรามากน้อยประการใด


วันฮดสรงวัดบ้านแท่นคำ

2 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 14 มีนาคม 2011 เวลา 12:31 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2484

 

เดือนสี่ขึ้นแปดค่ำ ปีนี้มีบุญวันฮดสรงสาธุวัดแท่นคำเมืองหงสา การฮดสรงเป็นพิธีกรรมหนึ่งในประเพณี “บุญผะเวท” หรือเทศน์มหาชาติ ประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และสำคัญที่สุดของชุมชนสองฝั่งแม่น้ำโขง

สำหรับผม บุญผะเวทวัดบ้านแท่นคำปีนี้มีความหมายมากกว่า เป็นวันที่ผมอุปโลกน์ตัวเองเล่นบทบาทเป็น “ผู้นำบุญ”

ด้วยเหตุจำเป็น ที่พี่น้องจำนวนหนึ่งจะต้องย้ายบ้านเรือนมาอยู่ใกล้กับบ้านแท่นคำ และแน่นอนที่ต้องมาเป็น “ศรัทธาวัดบ้านแท่นคำ” ผมจึงเป็นต้นคิดและอีกหลายๆต้น(รวมถึงต้นทุน และต้นเรื่องออกปาก บอกบุญเพื่อนร่วมงาน)ในการชักชวนพี่น้องกลุ่มที่จะย้ายเรือน ช่วยกันทำ “กัณน์หลอน” แล้วพากันนำมาถวายร่วมบุญผะเวท ได้รับการร่วมบุญจากผู้ร่วมงานหลายท่าน พี่น้องก็ดีอกดีใจพากันมาตระเตรียมเครื่องไทยทาน บริจาคทรัพย์สมทบตามกำลังศรัทธา

สายๆของวันขึ้นแปดค่ำ พวกเราก็พากันมาถึงวัดบ้านแท่นคำ นายบ้าน เฒ่าแก่แนวโฮม ออกมาต้อนรับอย่างอบอุ่น ผมมองเห็นการหลอมรวมกลมกลืนของผู้มาใหม่กับพี่น้องบ้านเจ้าภาพอย่างสนิทแน่น ก็เบาใจ ภายหลังจากถวายกัณน์หลอน บรรดาพี่น้องต่างถูกเชื้อเชิญจากบ้านเจ้าภาพ พากันแยกย้ายกันไปเยี่ยมเยือนกินดื่มพักผ่อนตามบ้านคนรู้จักมักคุ้นรอบๆวัด ส่วนผมยึดเอาใต้ร่มหูกวางข้างกำแพงวัด พูดคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ “ก๊วนทำบุญ” จากหมู่บ้านต่างๆที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดี ด้วยว่าไปทำบุญวัดไหนก็มักจะพบปะกันอยู่เสมอ คุยกับผู้เฒ่าได้รู้เรื่องราวเก่าๆที่ไม่สามารถไปเสาะหาได้จากที่ไหนมาประเทืองปัญญา

หลังจากถวายเพล พระท่านฉันน์เสร็จ ผมเริ่มเห็นพี่น้องเริ่มพากันมารอรอบๆปะรำหอสรงที่ใช้ผ้าเหลืองล้อมเป็นห้อง ไว้ที่ลานวัด พร้อมมีรางฮดสรงและแคร่สำหรับวางดอกไม้ ทุกคนถือขันบรรจุน้ำอบน้ำหอมลอยด้วยดอกไม้ บางรายทำน้ำสรงมาถังใหญ่เพื่อเผื่อแผ่แขกบ้านไกลที่ไม่ได้เตรียมมา

พิธีเริ่มด้วย พ่อผ้าขาว หรือชีปะขาว สองสามท่านถือด้ายมงคลจูงสาธุท่านที่จะได้รับการฮดสรง ลงจากมาจากอุโบสถเข้ามายังปะรำสรง ในการฮดสรงน้ำพระสงฆ์อาคันตุกะที่นิมนตร์มาจากวัดต่างๆจะเป็นผู้เริ่มสรงก่อน ตามด้วยพระเณรภายในวัด จากนั้นเป็นรอบของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ถืออุโบสถศีลนุ่งขาวห่มขาว เมื่อหมดรอบผู้ทรงศีลแล้วก็เป็นรอบของแขกผู้ใหญ่ของบ้านของเมือง แล้วก็เป็นรอบของมหาชน ใช้คำว่ารอบมหาชนถึงจะบรรยายบรรยากาศได้ใกล้เคียง ไม่ทราบผู้คนหนุนเนื่องหลั่งไหลมาจากทิศทางไหน ทุกคนมาด้วยศรัทธา แรงศรัทธาอันบริสุทธิ์ อยากให้ทุกท่านมาเห็นกับตา เล่าอย่างไรก็ไม่จบกระบวน

ใช้เวลากว่าชั่วโมงกว่าที่สาธุชนคนสุดท้ายจะสรงน้ำเสร็จ ดีที่เดือนสี่อากาศค่อยร้อนขึ้นมาหน่อย วันก่อนสรงน้ำสาธุวัดบ้านโพนไซ จัดตอนต้นเดือนมกรา หนาววววว พระท่านผลัดเครื่องภายในปะรำเสร็จ เมื่อเสียงฆ้องสัญญานดังขึ้น ทุกคนนั่งพนมมือรับพร

ผมพาตัวเองลัดเลาะไปหน้าปะรำ พร้อมเด็กที่กรูกันเข้ามาเหมือนกัน เด็กน้อยบอกว่าเดี๋ยวเขาแจกเงินแล้วมีคนนอนให้พระเหยียบด้วย เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะผมเห็นพ่อออกกว่ายี่สิบคนพากันนอนคว่ำหน้าเรียงกันจากปะรำสรงไปหาหอเทศน์ แล้วพ่อชีปะขาวก็เดินถือด้ายมงคลจูงพระท่านเดินบนตัวพ่อออกเข้าสู่หอเทศน์ ไม่ใช่เฉพาะพ่อผ้าขาวกับสาธุท่านสองท่านนะครับ ยังมีขบวนพ่อผ้าขาวที่ถือเครื่องอัฐบริขารอีกสี่ห้าท่าน

เป็นศรัทธา เป็นความน่าทึ่ง ปกติจะไปร่วมบุญผะเวทเฉพาะช่วงตักบาตรตอนเช้า กับช่วงเริ่มเทศน์ตอนค่ำๆ ส่วนพิธีฮดสรงนี่ไม่เคยมาร่วมเพราะจัดกันหลังเพล เป็นเวลาทำงาน วันนี้มีโอกาสมาพร้อมพี่น้อง

 กลายเป็นว่าพี่น้อง คือผู้นำพาผม ให้มาพบเจอศรัทธาที่บริสุทธิ์

สาธุ ขอให้คงอยู่คู่หงสาอีกนานๆ


ขอแค่รับฟัง ฝึกตัวเองให้รู้จักรับฟัง

8 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 10 มีนาคม 2011 เวลา 10:14 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1556

หลายวันมานี้ “หนัก”

ไม่ใช่งานหนักต้องแบกต้องหามแต่อย่างใด ไม่ใช่งานหนักที่ต้องเขียนรายงานหามรุ่งหามค่ำแต่ประการใด

แต่ก็ “หนัก”

แม้ว่าบทบาทของตัวเอง จะเป็นคนปลายเหตุ จะเป็นผู้เยียวยา ที่เขาสวมหัวโขนให้เป็น “ฅนฟื้นฟูวิถีชีวิต….Livelihood restoration” แต่ในสายตาในการรับรู้ของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมของโครงการ บรรดาท่านคงไม่มีกะจิตกะใจมาแยกแยะ ท่านก็คงเหมารวมเป็น “พวกโครงการ” แล้วก็เริ่มต้านด้วยความคิดว่า “หากไม่มีพวก เองข้าก็คงไม่ต้องเสียที่นาที่สวน”

การเข้าหากลุ่มชน “ผู้เสียสละเพื่อโครงการ” ในแต่ละครั้ง แม้ว่าจะกำหนดหัวข้อปรึกษาหารือ เพื่อหาทางออกช่วยพี่น้องที่สูญเสีย นำแผนการประกอบอาชีพ นับสิบทางเลือกไปเสนอ ท่าทีตอบรับแรกสุดจากพี่น้อง คือการปฏิเสธ ด้วยเหตุผลนานาประการ จนเหมือนกับเป็นการตีรวน

เวทีแรกๆ ยอมรับว่า พลุ่งพล่านจนเกือบจัดอยู่ในภาวะแห่งโทสะ พยายามชี้แจงทุกเม็ดจนเสียงแหบแห้ง แบบคาดหวังว่าทุกคนจะเข้าใจในสิ่งที่เราอยากบอก แต่ภาพกลับออกมาคล้ายกับการขัดแย้งโต้เถียง หลายถ้อยคำที่เผลอหลุดออกไปแล้วไปพี่น้องก็ “ของขึ้น” โต้คืนแบบไม่ไว้หน้า”อาจาน”เหมือนกัน

เมื่อคืนกลับมาทบทวน นึกถึงวิชา การจัดการความขัดแย้ง ที่ไปทดลองเรียน (แต่จนแล้วจนรอดก็ขาดส่งรายงานจนฝรั่งเขาตัดออกจากโรงเรียนเขา) นึกถึงพี่บางทรายที่สมัยอยู่ดงหลวง “เพิ่นออกหน้าไปจัดการเรื่องความขัดแย้งอยู่ตลอด” สัญญากับตัวเองว่า ต้องปรับกระบวนวิธี

เริ่มที่ปรับอารมณ์ตัวเอง ให้นิ่ง ให้รู้จักบทบาทหน้าที่ของตัวเอง ในฐานะ “ฅนฟื้นฟูฯ” งานหนักเป็นเรื่องที่ต้องพร้อมผจญ “หากงานมันง่ายๆ เขาคงไม่จ้างเรามาออกหน้า เขาคงทำกันเองแล้ว”

เริ่มที่ปรับมุมมอง ให้เห็นถึงความเป็นผู้เสียสละของพี่น้องให้มากๆ และให้เห็นใจในสิ่งที่พี่น้องได้รับผลกระทบ

เตรียมพร้อมที่จะรับฟัง ฟัง ฟัง ให้พี่น้องได้พูดในสิ่งที่คับข้องหมองใจ อัดอั้นตันใจ สิ่งที่อยากบ่น อยากเล่า

เวทีประชุมเช้านี้ จึงเริ่มที่ การขออภัย แล้วก็ตามด้วยการแสดงความตั้งใจจริงของเรา จากนั้นเป็นการเปิดโอกาสให้พี่น้องพูด ๆๆๆ บ่นๆๆๆ ร้องเรียนๆๆๆ ฟังอย่างเดียว ไม่ชี้แจงไม่โต้แย้ง อือออ แสดงการคล้อยตามในสิ่งที่เป็นความจริง

เมื่อหมดคนพูดแล้ว ทำแผนภูมิสรุปข้อร้องเรียน ข้อคิดเห็น ให้ที่ประชุมได้รับรู้ว่า เราสนใจฟังจริง เราได้จดบันทึกไว้จริง

สุดท้ายเวทีก็เปิด เปิดให้ผมและทีมงาน ได้ชวนพี่น้องคิดอ่านหาทางแก้ไข เสียงส่วนใหญ่ได้ให้คามเห็นความต้องการเพื่อช่วยกันทำแผนการทำมาหากิน

โล่งไปอีกหนึ่งเปลาะ แต่ทางข้างหน้ายังหนักหนายิ่งยวด อิอิ


สิ่งละอัน พันละน้อย จากหงสา

8 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 4 มีนาคม 2011 เวลา 3:34 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1404

หงสา ระยะเดือนสี่นี้มีสามฤดู กลางคืนหนาวคนปะเก๋าเพิ่นว่าเดือนสี่หนาวหน้า เดือนห้าหนาวตีนหนาวมือ เช้าตรู่หมอกลงจัด สายๆร้อนตับแลบ เย็นย่ำฟ้าครางฝนรั่วคนเฒ่าทางนี้ว่า เดือนสามน้ำยามท่า (แต่ปีนี้น้ำมายามท่าเอา ในเดือนสี่…)

ลุงเปลี่ยนก็ยังคงทำตัววิ่งวุ่น ตามบทบาทภาระหน้าที่ ของคนทำงานที่ปรึกษาด้านฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวหงสาที่ได้รับเงินค่าจ้างเขามา วันๆทำอะไรบ้างเหรอ

ไปติดตามผลักดันซุกยู้เรื่องการจัดที่ทำกิน เร่งรัดให้ทีมงานไปเจรจากับเจ้าของดินเดิมที่จับจองที่ดินมือเปล่าเพื่อขอจัดรูปที่ดิน(โดยให้เจ้าของเดิมเลือกก่อนให้พอเพียงสำหรับเลี้ยงครอบครัวพร้อมออกใบเอกสารสิทธิ์ และให้พี่น้องเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนาการปลูกฝัง)

ไปเดินดูดิน(เวียกงานนี้ต้องไปเองในฐานะที่เป็นนักดินอยู่คนเดียว…อันที่จริงที่ลาวมีการทำแผนที่ดินแบบกึ่งละเอียดโดยผู้เชี่ยวชาญจากวียดนามเมื่อ ห้าปีที่แล้ว)

จากนั้นก็มานั่งหน้าจอคอมฯ รวมหัวกันวางแผนการใช้ที่ดิน จัดโซนวางแผนการปลูกไม้ยืนต้น ยางพารา ไม้ผล ทำนา  แล้วก็ช่วยกันทำแผนงานตา-ตะ-รางการทำงาน แต่ละบาดก้าว(ทำอย่างไรจะไม่ให้ แพลนนิ่ง กลายเป็น แผน-นิ่ง) จะสร้างสวนสาธิตอะไรบ้าง พี่น้องจะปลูกหมากเกลี้ยงมีกิ่งพันธุ์ไหม พี่น้องจะปลูกยางพารามีกล้ายางหรือยัง กล้ายางพาราที่ไว้ใจได้มีแหล่งเดียวคือที่หลวงน้ำทา การเตรียมกล้ายางกว่าจะเพาะเมล็ดกว่าจะติดตาปกติต้องอายุสองปีถึงจะปลูกได้ ปีนี้ทั้งเวียดนาม ทั้งจีน ทั้งไทย ไหลหลั่งกันมาแย่งกันซื้อ ทำให้ราคากล้ายางสูงขึ้นสามเท่า แล้วก็ยังไม่มีพอขายอีกต่างหาก เห็นท่าจะปรับแผนใหม่ให้ชาวหงสาหันมาเพาะกล้ายางขายดีกว่า

แล้วผมก็มานั่งตาลอย สร้างแผนการพัฒนาอาชีพนอกการเกษตร ทอผ้าฝ้าย ผ้าไหม แกะสลัก จักสาน ไหว้วานให้ทีมงานคอยติดตามพี่น้องที่ได้เงินค่าชดเชยไม่ให้เอาไปซื้อมือถือซื้อรถมอเตอร์ไซด์ให้ลูก พาตัวเองไปเดินสายสอนแม่บ้านทำบัญชีครัวเรือน

ปีนี้ที่หงสามีพ่อค้าคนกลางมาบอกให้พี่น้องปลูกผักกาดเขียวปลี แบบประกันราคา แต่พอถึงเวลาผักพร้อมเก็บเกี่ยวกลับหายศีรษะไปไม่มารับซื้อ ลุงเปลี่ยนก็เลยได้ออกโรง มีวัตถุดิบไปสอนบรรดาแม่บ้านดองผักกาดสูตรแม่แตง เป็นที่ชวนชิมกันหลายหมู่บ้าน ตอนนี้นอกจากจะมีแหนมเห็ดอาจารย์เปลี่ยน ก็มีผักกาดดองอาจานเปลี่ยนมาอีกหนึ่งตำรับ

น้ำหมักชีวภาพที่ทำจากขยะก็เริ่มเป็นที่รู้จัก ได้เอาไปแจกชาวบ้านทดลองใช้ให้ติดใจ แล้วค่อยตามไปชวนให้ทำเอง (ชาวหงสาหลายคนเคยมาเข้าร่วมกิจกรรมของ “ศูนย์โยเร” และได้รับแจกน้ำ อีเอ็มไปใช้ แต่ต่อมามีเหตุให้ต้องว่างเว้นไม่สามารถมาเข้าร่วมได้ ตอนนี้แม่ๆป้าๆเลยหันมาแวะเวียนกันมา ขอน้ำสะกัด (เอฟ เอ็ม อาจานเปลี่ยน อิ อิ…)

แต่งานหลักที่จับอยู่ตอนนี้กลับเป็นเรื่องของ การจัดซื้ออุปกรณ์แพทย์เข้าโรงหมอเมือง ตอนนี้มีเสนอราคากลางมาบ้างแล้ว น่าจะอยู่ในงบประมาณ กับการวางแผนตรวจสุขภาพประชาชนประมาณ ๓๐๐๐ คน พอไปจับจริงๆแล้วก็มีเรื่องปลีกย่อยให้ติดต่อประสานงานมากมาย เช่น การตรวจเลือดจะเจาะแบบไหน ส่งไปวิเคราะห์ที่ไหน ส่งภายในกี่ชั่วโมง ตรวจอะไรบ้าง การชั่งน้ำหนักเด็กทารก เอาเครื่องชั่งที่ไหน กล้องส่องตรวจไข่พยาธิ์ในอาจมจะเอามาจากไหน จิปาถะไปหมด

งานจรที่แวะมาใช้บริการ จ่อคิวต้องไปทำอาทิตย์หน้าคือ การไปจัดเวทีการมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องชาวเมืองเชียงฮ่อน งานนี้น่าสนุก เพราะจะได้อู้คำเมืองล้วนๆ พี่น้องเชียงฮ่อนตั้งแต่เจ้าเมืองลงไป เป็นชาวยวนเกือบทั้งหมด

ขอบคุณวันเวลาที่ได้ให้พบผ่าน ได้ฝึกฝนเรื่องราวต่างๆ ตั้งแต่ดองผักกาด ผ่านมาแวะเก็บเกี่ยวที่สวนดอก มาเสริมเรื่องการเกษตรที่มอชอ แล้วมาเติมเต็มกับพี่น้องไทบรูที่มุกดาหาร จนได้นำใช้รอบด้านที่หงสานี่

ตั้งใจจะเขียนเรื่องการเลือกตั้ง บรรยากาศการเตรียมการเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติที่ สปป ลาว ที่จะจัดขึ้นในวันที่ ๓๐ เมษา นี้ ด้วยตอนที่ไปฝอยไว้กับคณะอาจารย์ราชภัฏที่สวนป่าคราวโน้นไม่ได้เล่าถึงเรื่องนี้ เลยรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบถ่ายทอดเรื่องราวที่ขาดหาย

แต่จั่วหัวเยอะไปหน่อย รู้สึกว่าบันทึกจะยาวไปแล้ว……เอาไว้ติดตามตอนต่อไปเด้อครับ

นำเสนอพาดหัวข่าวการเลือกตั้ง จากหนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ใหม่ สักสองข่าว เรียกน้ำย่อยก่อน

๑ ท่านประธานประเทศ ออกรัฐดำรัสประกาศจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้ง และจำนวนสมาชิกสภาแห่งชาติชุดที่ เจ็ด (ที่น่าสนใจคือ ท่านมีการกำหนดจำนวนผู้สมัครด้วยนะครับ รายละเอียดจะเป็นอย่างไร ขอเล่าในบันทึกหน้า…)

๒ ท่านประธานสภาแห่งชาติ แถลงข่าว ตั้งเป้าหมายการปฏิบัติงาน ของคณะกรรมการเลือกตั้ง ให้ได้ 300 % (รายละเอียดเนื้อในโปรดติดตามตอนต่อไป….) ครับผม



Main: 0.066164016723633 sec
Sidebar: 0.014556884765625 sec