ส่งพระขึ้นเมืองบน ฮดสรงสาธุเจ้า พิธีกรรมวันสุดท้ายของการเฉลิมฉลองปีใหม่ลาวที่เมืองหงสา

2 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 27 เมษายน 2010 เวลา 1:39 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2470

ได้เขียนเรื่องประเพณีวันปีใหม่ลาวในบันทึกก่อนๆ ไว้ว่า ที่ลาวท่านจะนับตามปฎิทินจันทรคติ ไม่ได้นับตามวันที่เหมือนบ้านเรา ซึ่งก็จะเหมือนกันกับในหนังสือปี๋ใหม่เหมืองของทางล้านนา แต่ก็จะเรียกชื่อของแต่ละวันในช่วงสงกรานต์ผิดกันไปบ้าง เช่นที่เจียงใหม่จะเริ่มที่วันสังขารล่อง แล้วตามด้วยวันเน่า-วันพญาวัน-วันปากปี๋-วันปากเดือน ส่วนที่หงสานี่จะเริ่มที่วันสังขารล่อง ตามด้วยวันเนาและวันสังขารขึ้น ต่อจากนั้นอีกหลายๆวันจะเป็นวันสมมาคารวะ ที่ลูกหลานจะไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ (ที่นี่เรียกไปสมมา) แต่ละหมู่บ้านจะยกขบวนร้องรำแห่กันไปคารวะไปสรงน้ำพระที่วัดของหมู่บ้านข้างเคียง จนกระทั่งถึงวันที่ยี่สิบกว่าๆ ก็จะมีพิธีสรงน้ำส่งพระขึ้นเมืองบน และการสมมาพระสงฆ์ที่อยู่ในวัด ถือว่าเป็นการจบการเฉลิมฉลองบุญปีใหม่อย่างสมบูรณ์ ดังเช่นที่วัดศรีบุญเฮือง เมืองหงสา ในเช้าของวันที่ ๒๔ เมษา ที่ผมได้เข้าร่วมพิธีจบการเฮดบุญปีใหม่ลาวอย่างไม่นึกไม่ฝัน


สิบโมงเช้าเศษๆผมจอดรถหน้าวัด ด้วยตั้งใจจะพาคณะแขกนักวิชาการเข้าไปกราบพระพุทธรูปที่เชื่อกันว่ามีอายุเก่าแก่ที่สุดของเมืองหงสา ด้วยมีการสลักไว้ที่ฐานองค์พระว่าสร้างปี พ.ศ. ๒๑๑๒ สามร้อยกว่าปีมาแล้ว (ปีเดียวกับที่ราชวงค์สุโขทัย กับราชวงค์สุพรรณภูมิมีความขัดแย้งกันในกรุงอยุธยาและ กรุงพิษณุโลก จนเป็นเหตุให้พระนเรศวรทรงต้องไปเป็นองค์ประกันที่เมืองหงษาวดีอย่างไรเล่าครับ) และอยากอวดจารึกเกี่ยวกับเจ้าหลักคำของวัดศรีบุญเฮืองอีกอย่างหนึ่งด้วย แต่ที่วัดวันนี้มีพ่อเฒ่าแม่แก่ห่มผ้าเบี่ยงถือขันเงินเข้าออกวัดอย่างหนาตา พยายามนึกว่าวันนี้มีบุญอะไรหนอ ก่อนที่จะสาวเท้าพาตัวเองเข้าไปถามไถ่พ่อๆที่นั่งรอที่หอแจก  ได้รับคำตอบว่าวันนี้จะเฮดบุญ “ส่งพระขึ้น กับฮดสรงสาธุ” เพื่อเป็นการจบบุญปีใหม่ลาว


บรรดาแม่เฒ่าพ่อลุงที่คุ้นหน้าค่าตากันดี ด้วยผมมาร่วมฟังธรรม มาตักบาตร มาเป็นคนอ่านโพยสลากในบุญข้าวสากที่นี่ก็หลายหนอยู่ ท่านชวนให้อยู่ร่วมทำบุญด้วย ท่านขยายความว่าที่วัดได้นิมนต์เอาองค์พระพุทธรูปมาไว้ให้ศรัทธาได้สรงน้ำตั้งแต่เริ่มบุญปีใหม่จนถึงวันนี้จะนำท่านขึ้นไปเก็บที่แท่นในวิหารจนกว่าจะถึงปีใหม่ลาวปีหน้าค่อยนำองค์พระออกมาใหม่ ก็เลยมาทำพิธีกันก่อนที่จะเก็บองค์พระ พร้อมกันนั้นก็จะมีการสมมมาคารวะพระภิกษุสามเณรทุกรูปด้วย ขั้นตอนที่ได้ทำไปแล้วในตอนเช้า ก็คือ การสรงน้ำพระพุทธรูป การสรงน้ำตุ๊พระสามเณร และขั้นตอนที่กำลังจะทำต่อคือการอาราธนาพระเมือเมืองบน กับการสมมาคารวะพระสงฆ์สามเณร


ในศาลาหรือที่นี่เรียกว่าหอแจก มีพานบายศรีประดิษประดอยแต่งเอ้ด้วยใบตองและดอกต๋าเหินสีขาว มีเงินกีบเป็นช่อชั้นยอดพาน มีขันเงินขนาดย่อมใส่ดอกไม้ธูปเทียนวางไว้ครบตามจำนวนพระเณร และที่สะดุดตาที่สุดเห็นจะเป็นพานพุ่มดอกไม้ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆกับพานบายศรี ท่านใช้ไม้ทำเป็นโครงรูปทรงเป็นพานโปร่งๆคล้ายฉัตรซ้อนกันเป็นชั้นๆพร้อมเจาะรูเป็นช่องๆ แล้วดอกไม้สอดเข้าไปตามรูนั้น ก็จะกลายเป็นพานพุ่มดอกไม้ที่สวยงามมีเสน่ห์แบบพื้นบ้านโบราณของเมืองลาว


ระหว่างที่นั่งรอพระเณรท่านไปผลัดเปลี่ยนผ้าสบงจีวรที่เปียกจากการสรงน้ำของญาติโยม ผมก็ถูกบรรดาป้าๆแม่ๆทยอยกันมารดน้ำมาอวยชัยให้พร แต่ละท่านมาแบบสุภาพนุ่มนวล ค่อยๆรินน้ำอบที่ลอยด้วยดอกไม้แห้งกลิ่นหอมลงบนบ่าบนไหล่เบาๆพร้อมคำอำนวยพรให้อยู่เย็นเป็นสุข อายุหมั้นยืนยาว ทำเอาขนลุกน้ำตาแห่งความปิติปริ่มๆจะหยดเสียให้ได้
เมื่อพระท่านลงมานั่งประจำที่กันแล้ว ก็เริ่มพิธีด้วยการไหว้พระ รับศีล จากนั้นพระท่านก็นำทุกๆคนในศาลาก็หันหน้าเข้าหาแท่นพระพุทธรูป แล้วพ่อเฒ่าอาจารย์ก็กล่าวสรรเสริญคุณพระ แล้วจบลงด้วยการน้อมส่งพระท่านที่ลงมาโปรดมนุษยโลกอัญเชิญท่านกลับ “เมืองเนรพาน”


แล้วพระเณรท่านก็เปลี่ยนทิศนั่งหันหน้ากลับมาหาศรัทธาญาติโยม พ่ออาจารย์เริ่มพิธีสมมาคารวะต่อสิ่งอันไม่ดีไม่งามที่ได้กระทำในการมาทำบุญในวัด คำกล่าวของท่านเป็นคำร่ายโบราณที่มีสัมผัสคล้องจอง ถอดความได้พอสังเขปว่าดังนี้     สมมาพระสงฆ์ สมมาที่เครื่องไทยทาน อาหารคาวหวานที่เคยนำมาถวยแปดเปื้อน ที่ได้คิดอกุศลต่อพระเจ้าเจดีย์ในวัด ที่อาจเผลอเรอไม่ได้พาดผ้าเบี่ยงเข้าวัด ที่อาจมีทรายจากลานวัดติดเท้าออกไป อย่างนี้เป็นต้น จากนั้นก็ประเคนพานดอกไม้ธูปเทียนถวายพระเณรทุกรูป แล้วจบลงด้วยการรับพร ยะถา สัพพี จากพระท่าน เป็นจบพิธี


แต่คณะผู้เฒ่าผู้แก่ท่านบอกว่า “ยังมีอีกเวียก” พ่อลุงท่านหนึ่งรีบคลานเข้าไปหาท่านเจ้าอาวาส พร้อมกับยกพานดอกไม้ธูปเทียน ขอนิมนต์ให้ท่านอยู่เป็นที่พึ่งพิงขอญาติโยมต่ออีกสักหนึ่งพรรษา แอบกระซิบถามคุณยายท่านบอกว่าท่านเจ้าอาวาสท่านบวชเรียนมาตั้งแต่เด็ก ท่านเปรยๆกับพ่อออกศรัทธาว่าอยากลาสิขาออกไปใช้ชีวิตเพศฆารวาส ทำมาหากิน  แต่พี่น้องชาวบ้านยังเสียดายท่าน ประกอบกับที่วัดยังหาพระที่พรรษาและมีบารมีมากพอที่จะมารับตำแหน่งเจ้าอาวาสปกครองวัดแทนได้ จึงอยากขอร้องให้ท่านอยู่ต่อ
ตอนแรกๆพระท่านส่ายหน้าไม่ยอมรับท่าเดียว ข้างฝ่ายคุณตาคุณลุงทั้งหลายก็พากันยกแม่น้ำทั้งห้ามาขอร้องอ้อนวอน ประสานกับเสียงร้องขอจากคุณป้าคุณยาย บางท่านก็เช็ดน้ำตาป้อยๆ ในที่สุดท่านเจ้าอาวาสก็เอื้อมมือออกมารับพานนิมนต์ รับปากว่าจะอยู่ต่อ เสียงโห่ร้องยินดีของพ่อแก่แม่เถ้าในศาลาดังอึงมี่ คุณยายหลายท่านปล่อยโฮ ผมเองก็ไม่อาจกลั้นน้ำตาแห่งความปิติไปกับบรรดาท่านด้วย


ขอบพระคุณขอรับพระคุณท่าน สงกรานต์ปีหน้าผมจะมาสมมาท่านใหม่ และจะมาลุ้นขอต่ออายุพรรษาท่านอีกครั้ง


เข้าวัดนมัสการ

ไม่มีความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 18 เมษายน 2010 เวลา 11:12 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1485

สิบห้าค่ำเดือนห้า เป๋นพญาวันในวันนี้ เพื่อเป๋นศรีศิริมงคลปกหัว พาตัวออกจากที่ซ่อน จรลีไปหานบไหว้พระ ต๋ามปาเวณีเมินมา แต่เก่ากี้…นายเฮย
๑๖ เมษา ตามปฏิทินไทยกลางน่าจะพ้นวันมหาสงกรานต์ไปแล้ว แต่หนังสือปี๋ใหม่เมืองเปิ้นว่าวันนี้วันเดือนเป็งเป็นวันพญาวัน ซึ่งตรงกับทางเมืองลาวที่ถือว่าวันนี้เป็นวัน “สังขารขึ้น” สำหรับผมแล้ว วันนี้เป็นวันอยากไหว้พระ หลังจากโอ้เอ้วิหารรายอยู่หน้าคอมฯจนสาย ก็ดิ้นรนพาตัวเองออกจากเซฟเฮ้าส์มาโต๋เต๋อยู่แถวหน้าโรงแรมเทวราช เดินไปแอบเหล่คุณลุงสามล้อถีบที่จอดหน้าตลาดสดสี่ห้าคัน เดินเข้าไปถามคุณลุงท่าทางใจดีเจ้าหนึ่งว่าให้ช่วยพาไปไหว้พระสักสี่ห้าวัด แต่ขอให้มีวัดพระธาตุแช่แห้งด้วย คุณลุงท่านจัดตารางให้เสร็จ ถามราคาท่านบอกว่าสามร้อย เอ้าสามก็สามไปโลดครับลุง

(๑) จากหน้าตลาดไปพระธาตุแช่แห้ง ลงเดินช่วยลุงเข็นรถสามล้อถีบตอนขึ้นสะพาน กับตรงเนินก่อนถึงวัดพระธาตุ ถึงบริเวณวัดยังมีผู้คนคับคั่ง มีจุดให้บริการให้ญาติโยมบริจาคทรัพย์ทำบุญทำทานกันหลายจุด แต่พอเข้าเขตกำแพงแก้วไปแล้วก็รู้สึกได้ถึงความสงบสงัดด้วยบุญรังสีจากองค์พระธาตุ…..                                                                                                                                 
  

ตระหง่านง้ำสีทองสุกปลั่ง    
มะลังมะเลืองฉัพรังสีเฉิดฉาย
ยอดฉัตรต้องตะวันเปล่งประกาย  
เบ่งอบายพุทธคุณหนุนค้ำโลก
พระพักตร์พระประธานเอิบอิ่ม   
โอษฐ์เจือยิ้มกรุณาไร้ซึ่งโศก
นาคสะดุ้งเชิงหลังคาเหมือนอวยโชค    
ดั่งวิหคการเวกเสียงกังสดาล

(๒) นั่งรถย้อนเข้าเมืองคุณลุงคุยจ้อเรื่องบะเก่าของเมืองน่าน ท่านว่าสมัยก่อนบุญใหญ่ของเมืองน่านมีสี่บุญ คือเดือนห้าเป็งบุญวัดสวนตาล เดือนหกเป็งบุญพระธาตุแช่แห้ง เดือนเจ็ดเป็งบุญถ้าผาตูบ และเดือนแปดเป็งบุญขึ้นธาตุเขาน้อย หลังจากนั้นก็เตรียมลงไร่ลงนา ลงช่วยเข็นรถตอนขึ้นสะพานอีกครั้งจากนั้นคุณลุงก็พาแวะวัดที่สอง วัดกู่คำ….

  วิหารงามรวบรัด         เงียบสงัดสงบใจ
นายร้อยท่านสร้างไว้     ในปีสองสี่หกห้า
เพดานงามวิจิตร            เนรมิตรงานศิลป์สรร
ปานว่าองค์เทวัน            มาแต่งแต้มประดิษฐ์งาน
ในวิหารยังมีธรรมาสน์เก่ารูปทรงกระทัดรัดฝีมือช่างพื้นบ้าน ทำด้วยไม้ประดับกระจกสี มีเสน่ห์ที่เห็นชาวบ้านท่านเอาไม้ไผ่มาสานเป็นรูป “ตาแหลว” สองแผ่นประกบกันตรงกลางใส่ไว้ด้วยดอกไม้ทับแห้ง แล้วแขวนประดับไว้บนธรรมมาสน์ เป็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
วัดกู่คำเป็นวัดที่สงบเงียบ ไม่ค่อยมีผู้คนพลุกพล่าน ทำให้สามารถนั่งมองความสวยงามอันละเอียดที่ช่างฝีมือพื้นบ้านได้บรรจง ประดิษฐ์ประดอยไว้…
    ฝ้าเพดานวิหารวิจิตร   
ดุจเนรมิตรลวดลายสลักเสลา
ติดกระจกเสริมแต้มรูปเงา   
ธรรมมาสน์ของเก่างามชดช้อย
ประตูแต่งลายรดน้ำงามประณีต  
ได้พินิจงามงดหยดย้อย
ท่านนายร้อยพกาฝากรูปรอย   
ปีสี่ร้อยหกสิบห้าท่านอุทิศ

(๓) วัดช้างค้ำ….
 วัดช้างค้ำค้ำจุนพุทธศาสน์  
อภิวาทพระเจดีย์เป็นศรีเกล้า
พระนันทศากยมุนีเป็นร่มเงา   
กู่พระเจ้านครน่านท่านสถิตย์
หลวงพ่อใหญ่ในวิหารอารามใหญ่  
สงบใจได้บูชาอาราธนาศีล
เจดีย์ทรายปักตุงสีงามระริน   
ดูไม่สิ้นเสน่ห์เหนือฮีตล้านนา

(๔) วัดภูมินทร์  
จากวัดช้างค้ำข้ามสี่แยกไปไหว้วัดภูมินทร์ วิหารทรงจตุรมุข องค์พระประธานทั้งสี่ด้าน ยังคงความน่าเลื่อมใส ภาพวาดบนผนังยังคงมีเรื่องราวชาวเมืองน่านแต่เก่าก่อนน่าถอดรหัสทุกรูป นาค สิงห์ มอม มกร ที่เฝ้าอยู่เชิงทางขึ้นทั้งสี่ด้านยังคงยืนรูปเฝ้าอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าในวันนี้จะมีเสียงไฮปาร์คการเมืองจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวฝั่งตรงกันข้ามแทรกมาบ้างก็ตาม

    ศรัทธาเสกสรรค์สร้าง    พุทธศิลป์
งามงดราวองค์อินทร์         แต่งแต้ม
ผลงานท่านศิลปิน             ปางก่อน
งามหยดงามชดช้อย          พร่างแพร้วแสงธรรม

(๕) วัดมิ่งเมือง เป็นอีกวัดหนึ่งที่คุณลุงสามล้อว่า ไม่ควรพลาดด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นที่สถิตย์ของเสาหลักเมืองน่านนั่นเอง ที่วัดมิ่งเมืองท่านสร้างวิหารใหม่ฝีมือปูนปั้นแบบตระกูลช่างเชียงแสนงดงามหมดจด ส่วนพระประธานในวิหารท่านว่าเป็นของเก่าสร้างในปี ๒๔๐๐ ที่เสาหลักเมืองท่านสร้างอาศรมมียอดเป็นพรหมสี่พักตร์

……มิ่งเมืองมีนามด้วยหลักเมืองสถิตย์  
งามวิจิตรลายปูนปั้นพระวิหาร
มีภาพเขียนเรื่องเมืองน่านครั้งโบราณ  
ท่านสมภารให้สร้างไว้ได้ชื่นชม
ตระกูลช่างปั้นเชียงแสนแถลงไว้  
หลวงพ่อใหญ่เป็นของเก่าดูงามสม
กังสดาลกล่อมเสียงทิพย์ให้รื่นรมย์  
น้อมบังคมหลักเมืองเป็นหลักชัย

(๖) วัดหัวข่วง อยู่ติดกับคุ้มหลวงเจ้านครน่านตามธรรมเนียมที่มีมาแต่โบราณ เป็นวัดที่ก่อสร้างด้วยศิลปะช่างล้านนาแท้ๆ มีหอไตรเก่าแก่สวยงามน่าเสียดายที่อยู่ในสภาพทรุดโทรม แต่ตู้พระธรรมลายรดน้ำยังคงงดงามมีสภาพดี ในวิหารมีธรรมาสน์ของเก่าที่เขียนไว้ว่าเจ้าแม่บัวแว่นสร้างอุทิศถึงเจ้าราชบุตร สลักเสลาไม้ประดิษประดอยย่อเหลี่ยมหลายมุมหลังคาเป็นช่อชั้นดังฝีมือของช่างชั้นครู….

,,,,,,,หัวข่วงแห่งเมืองน่าน  แต่โบราณท่านสร้างวัด  จัดไว้ใกล้หอคำ  ไว้ฟังธรรมใส่บาตร  มิได้ขาดทุกวันศีล เป็นอาจิณต์ต่อกันมา  ผ่านเวลาผ่านสมัย  เหมือนใครใครค่อยค่อยลืม  ท่านไม่ปลื้มของเก่า  ปล่อยแดดเผาฝนชะพัง  ทั้งผนังหลังคารั่ว  ดูน่ากลัวจะพังครืน  ช่วยกันฟื้นอนุรักษ์ ปกป้องรักษา เถิดเฮย

(๗) เกือบบ่ายสองโมง ลุงสามล้อพาไปวัดสุดท้ายของโปรแกรม คือวัดสวนตาล ท่านบอกว่าวัดนี้ต้องไปไหว้พระเจ้าทองทิพย์ ท่านว่าเป็นพระที่งามที่สุดของเมืองน่าน เจ้านายทุกพระองค์เคยเสด็จมาบูชา ได้ไปเห็นได้อ่านประวัติองค์พระก็สมคำร่ำลือ ท่านเขียนไว้ว่า พระเจ้าทองทิพย์สร้างโดยพระเจ้าติโลกราช แห่งเชียงใหม่ในคราวที่มาได้เมืองน่านเป็นเมืองออกโดยไม่เสียเลือดเนื้อ จึงโปรดให้สร้างพระเจ้าทองทิพย์ขึ้นในปี ๑๙๙๓  โน้นแนะครับ กราบพระ แล้วออกมาสรงน้ำพระด้านนอกวิหาร ใส่บาตรเหรียญ……

….พระเจ้าตองติ๊บ  แห่งวัดสวนต๋าน  เป๋นของโบฮาน  เพิ่นสร้างหล่อไว้  ติโลกราช เป๋นเจ้านั้นไซร้ จากเมืองเจียงใหม่ มาสร้างปูจา ด้วยเหตุเมื่อครั้ง องค์ท่านนั้นหนา กับพระมารดา มาได้เมืองน่าน นั้นแล นายเฮย…

ขอคารวะทุกท่านในวันสงกรานต์ครับ
(ขออภัยหากฉันทลักษณ์ผิดพลาดตัวสะกดผิดเพี้ยน บทร้อยกรองแบบเร่งด่วนที่ร่ายไว้ในเวลาอันน้อยนิดตอนไหว้พระ ไม่อยากแก้ไข อยากถ่ายทอดบรรยากาศในขณะนั้นครับ)


ไชยะบุรีสี่เมืองเหนือ ตอนที่๑ เยือนเชียงฮ่อน ไหว้พระธาตุเชียงลม

5 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 7 เมษายน 2010 เวลา 4:29 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 4537


ได้รับมอบหมายให้ไปช่วยให้ความคิดเห็นต่อการพัฒนาการเกษตรในเขตสี่เมืองเหนือของแขวงไชยะบุรี อันประกอบด้วย เมืองหงสา เมืองเงิน เมืองเชียงฮ่อน และเมืองคอบ จัดสรรเวลาได้ ๒วันก็รีบเดินทางไปปฎิบัติภาระกิจอย่างรวบรัด ในสามเมืองนอกเหนือไปจากเมืองหงสา เมืองทั้งสามตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหงสา ออกจากหงสาไปประมาณ ๔๐ กม. เป็นเมืองเงิน จากนั้นนั่งรถข้ามเขาไปอีก ๖๐ กม.กว่าๆก็เป็นเมืองเชียงฮ่อน ส่วนเมืองคอบเป็นเมืองสุดชายแดนของลาวที่ยื่นเข้ามาในแขตแดนไทย หากไปจากเชียงฮ่อนตามเส้นทางปกติระยะทางก็กว่า ๗๐ กม. แต่หน้าแล้งอย่างนี้อ้ายน้องแนะนำให้ไปทางลัดเพียง ๔๐ กม.ก็ถึง การไปทำงานในสี่เมืองเหนือของไชยะซึ่งเป็นหนแรกของตัวเองที่จะได้ไปเยือนเมืองเหล่านี้ รู้สึกตื่นเต้นราวกับว่าจะได้ขึ้นยานย้อนเวลาไปเยือนอาณาจักรล้านนาเมื่อสักร้อยปีก่อน เพราะทราบมาว่า พี่น้องประชาชีชาวเมืองนี้เป็นชาวยวน ชาวลื้อเหมือนพี่น้องทางภาคเหนือของเรานั่นเอง
วางแผนการเดินทาง แผนการทำงานเอาไว้ว่า จะออกจากหงสาแต่เช้าตรู่ข้ามเมืองเงินไปให้ทันมื้อเที่ยงที่เชียงฮ่อน ตอนบ่ายประชุมกับเจ้าเมือง และกสิกรรมเมือง ไปดูพื้นที่เรือกสวนไร่นาเหมืองฝาย แล้วก็หนีวงสุราที่เขาเตรียมไว้ต้อนรับ ขับรถข้ามเขาไปดูสาวอาบน้ำที่ท่าน้ำเมืองคอบ อยากไปสัมผัสบรรยากาศเมืองคอบ เมืองที่ใครๆก็ห้ามไว้ว่าอย่าได้ไปนอนค้างเพราะไม่มีข้าวเย็นขายให้กิน รุ่งเช้าไปดูสวนดูนาที่เมืองคอบ แล้วย้อนกลับมากินข้าวกลางวันที่เมืองเชียงฮ่อน ก่อนแวะดูงานปลูกฝ้ายอินทรีย์ครบวงจรที่เมืองเงิน
เมืองเชียงฮ่อน มีดีที่เป็นหุบเขาขนาดใหญ่(กว่าเพื่อนๆในอีกสามเมืองที่เหลือ) มีที่ราบไว้ทำนาค่อนข้างกว้างขวาง ขนาดน่าจะประมาณหุบเมืองพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ จึงเป็นแหล่งผลิตข้าวที่มีชื่อเสียงมานาน แต่ข้าวเมืองเชียงฮ่อนมีชื่อเฉพาะในด้านปริมาณ เขาว่ากันว่า “เชียงฮ่อนข้าวหลายหากแต่กินบ่แซบ” นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมถูกขอให้มาช่วยดูคุณภาพข้าวของเชียงฮ่อน (รู้สึกว่าเขาจะขอผิดคนเสียแล้ว แหะ แหะ หารู้ไม่ว่า ผมอยู่ข้างพวกอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง) ข้อมูลจากท่านรองเจ้าเมือง ท่านเล่าว่า เมืองเชียงฮ่อนมีที่นา ๒๒๐๐ เฮกตาร์ ได้ผลผลิตข้าวปีละ ๑๓พันโตน แปลง่ายๆก็คือ หนึ่งหมื่นสามพันตัน แต่ละปีขายข้าวออกจากเมืองประมาณ ๓พัน-๔พันตัน ขณะนี้ทางเมืองกำลังก่อสร้างฝายทดน้ำสองแห่งที่น้ำเม้า กับน้ำแมด โดยใช้เงินลงทุน ๔๑ตื้อกีบ คาดว่าถ้าแล้วเสร็จจะสามารถเอาน้ำเข้านาได้ ๘๐๐ เฮกตาร์ ทำนาปรังได้ ๓๐๐ เฮกตาร์ ในอีกห้าปีข้างหน้า คาดว่าผลผลิตข้าวของชาวเชียงฮ่อนจะสูงถึง ๒๑พันตัน นั่นหมายความว่าจะสามารถส่งออกข้าวได้สูงถึง ๑๐พันตันเลยทีเดียว พี่น้องเมืองหงสาของผมที่จะสูญเสียที่นา ๘๐๐เฮกตาร์หรือข้าวเปลือกจะหายไปราว สี่พันตันก็ไม่ต้องกลัวอดข้าวแล้วละครับ (แต่จะเอาตังค์ที่ไหนไปซื้อเขา นั่นค่อยว่ากันอีกที)
เมืองเชียงฮ่อนร้องขอให้ช่วยเหลือเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดี และให้ผลผลิตสูง ในการนี้ผมต้องศึกษาถึง สภาพการเพาะปลูกข้าวทั้งในอดีตและปัจจุบัน สภาพพื้นที่ ระบบชลประทาน ปริมาณน้ำฝน และสิ่งสำคัญที่ละเลยไม่ได้คือข้อมูลการใช้ประโยชน์พื้นที่ปลูกพืชหลังนา เพราะว่า หากแนะนำข้าวพันธุ์ปรับปรุงที่ต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมี แต่ถ้าทางนี้ปุ๋ยราคาแพงหรือหาซื้อไม่ได้ก็ไม่เหมาะสม หากที่นาส่วนใหญ่เป็นนาดอนอาศัยน้ำฟ้าอย่างเดียวการแนะนำพันธุ์ข้าวที่อายุการเก็บเกี่ยวยาวๆก็ไม่น่าจะปลูกได้ ในทางกลับกันหากที่นาส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่มน้ำมากจะไปแนะนำพันธุ์ข้าวดออายุสั้นเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวพี่น้องก็จะบ่นว่าน้ำยังไม่แห้งเกี่ยวข้าวลำบากอีก อาชีพการปลูกพืชหลังนาก็สำคัญ เพราะหากพี่น้องจะใช้พื้นที่นาปลูกกระเทียม ปลูกยาสูบ ถั่วลิสง แตงโมเป็นรายได้หลักกันอยู่ ก็ต้องละเว้นไม่เอาข้าวพันธุ์หนักอายุยาวไปส่งเสริม จะเห็นได้ว่าการจะทำอะไรแบบบุ่มบ่ามสุ่มสี่สุ่มห้านั้น อาจมีผลกระทบอื่นๆตามมาภายหลังก็เป็นได้ ดังนั้นให้รอบคอบปิดปประตูเสี่ยงไว้เป็นการดีที่สุด
เชียงฮ่อนนอกจากจะลือนามในเรื่องมีทุ่งกว้าง มีข้าวหลายแล้ว ยังเป็นที่รู้จักกันว่า มาเชียงฮ่อนหากบ่ได้อมเมี่ยงส้มดมแก้วสาวยวนแล้ว แปลว่ายังมาบ่ถึงเมืองเชียงฮ่อน ชาวเมืองเชียงฮ่อน หากมาเดินปะปนกับพี่น้องชาวล้านนา ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน หรือได้ยินสำเนียงพูดจากันก็แยกไม่ออกว่าเป็นคนที่มาจากประเทศลาว  แต่ที่นี่พี่น้องชาวยวนเมืองเชียงฮ่อน กลายเป็นหนึ่งใน “พี่น้องบรรดาเผ่าของประเทศ” ไปซะงั้น เมืองเชียงฮ่อนมีด่านเข้าออกกับบ้านเราที่ด่านประเพณี ตรงกับอำเภอสองแคว จังหวัดน่านครับ
ไปถึงเชียงฮ่อนก่อนเพลเล็กน้อย ดูเวลาแล้วยังพอมีเวลาว่าง(ก่อนจะทำงาน) เพราะที่ลาวนี่ภาคบ่ายอ้ายน้องรัฐกรท่านเข้าทำงานกันบ่ายสองโมง ก่อนไปหามื้อกลางวันใส่ท้อง เลยไปแวะไหว้พระธาตุคู่เมือง ชื่อพระธาตุเชียงลม ตามตำนานในแผ่นพับของเมืองท่านว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ โดยช่างชาวพม่า แต่ผมดูรูปทรงขององค์พระเจดีย์แล้วก็ยังแคลงใจว่าไม่คล้ายกับธาตุม่านทั่วๆไป แต่เจดีย์ไม่ว่าจะอย่างไรก็เป็นพุทธสัญลักษณ์ ได้กราบไหว้ก็รู้สึกร่มรื่นในจิตใจ เดินเข้าไปกราบพระในโบสถ์ พระประธานท่านเป็นศิลปะพม่าจริงๆ ที่หน้าองค์พระประธานเห็นมี “ขันแก้วตังสาม” หรือ พานรูปทรงสามเหลี่ยมสำหรับวางดอกไม้บูชาพระ ตั้งอยู่อย่างสงบนิ่ง งดงาม ผมไม่ได้เห็นขันแก้วตังสามมานานมากแล้ว อาจเพราะตัวเองไม่ได้เข้าวัดฝ่ายคามวาสีมานาน หรือว่าเดี๋ยวนี้ได้หายไปจากบ้านเราตามกาลเวลาก็ไม่ทราบ
ได้มาเห็นขันแก้วตังสาม ที่วัดพระธาตุเชียงลมคราวนี้ ก็ถือว่าได้ขึ้นยานย้อนเวลาหาอดีตแล้วละครับ 



Main: 0.11240410804749 sec
Sidebar: 0.022140979766846 sec