ขนมลำเจียก กับคู่แฝดที่หลวงพระบาง

5 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 17 ธันวาคม 2009 เวลา 10:54 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1921

๑๕ ธันวา หลังจากแว๊ปมาขอนแก่นได้ ๔๘ ชั่วโมง มีเวลาแค่ไปหาหมอ ๒ หมอ กับหาซื้อแปรงสีฟันชนิดนุ่มพิเศษ แล้วก็ต้องรีบเผ่นออกนอกประเทศ เพราะเขาหาไฟล์ที่จะนำเสนองานกับท่านเจ้าแขวงไม่เจอกัน

เที่ยวบินอุดร-หลวงพระบางที่ประกาศว่าเดลี่ไฟท์บ้าง บินเดย์๒๕๗บ้างนั้นกลับไม่มีบิน ทั้งๆที่ผมไปซื้อตั๋วเดินทางวันอังคารแท้ๆ (อันที่จริงไม่มีก็ดีไปอย่างช่วยประหยัดไปเยอะ ก็ค่าตั๋วหลวงพระบางมาอุดรเที่ยวเดียวตั้ง ๔พันกว่าบาท แต่หากข้ามไปบินเวียงจันทน์-หลวงพระบางค่าตั๋วเพียง ๒พันกว่าบาท)

คราวนี้ผมเลยใช้วิธีนั่งรถทัวร์สายขอนแก่น-เวียงจันทน์ ของ บขส. บ้านเรา สภาพรถนั่งสบายใช้เวลาเพียง ๔ชั่วโมงค่าโดยสารเพียง ๑๘๐บาท แล้วค่อยไปต่อเครื่องเที่ยวเย็นที่วัตไตไปหลวงพระบาง

๑๖ ธันวา เช้าตรู่ก่อนจะรีบนั่งรถผ่าดงฝุ่นไปข้ามน้ำโขงเพื่อประชุมที่ไชยะบุรี เจ้าลูกน้องตัวดีก็โทรมาจากหงสา สั่งซื้อพันธุ์ผักไปปลูกเพิ่มในแปลงสาธิตของเรา (น่าจะเปลี่ยนให้เป็นเจ้านายแทน…สั่งตรูเหลือเกิน..) เขาอยากได้ “โปเตแตง” คือหัวมันฝรั่ง “เม็ดหัวกาโรด”คือแครอท และ “หมากเลนจ๊ะเหย่อ”คือมะเขือเทศชนิดผลใหญ่ เอ้าจัดให้คร๊าบเจ้านาย ว่าแล้วก็วานรถให้วนกลับไปแวะซื้อให้ที่ตลาดเช้า

ซื้อของที่ต้องการเสร็จ แวะแผงขนมหวานซะหน่อย (หมู่นี้เพิ่งไปหาหมอมากินได้สบายเอาไว้ใกล้ๆจะไปเจาะเลือดรอบใหม่ค่อยอด แหะ แหะ) แล้วผมก็ไปปิ๊งเอาขนมอยู่ถาดหนึ่ง ลักษณะเป็นม้วนกลมๆ เปลือกนอกเป็นแป้งสีขาวคล้ายๆแป้งของโรตีสายไหม ใส้ข้างในเป็นมะพร้าวทึนทึกคั่วใส่น้ำตาล กัดชิมคำแรกหวานฉ่ำแทบจะละลายลิ้นไปด้วยเลยทีเดียว แต่กินได้แค่ชิ้นเดียวก็หมดความอยาก สงสัยอดของหวานมานานจนไม่คุ้นกับรสหวานๆ ถามอ้ายน้องคนขับรถ กับสาวๆญาติของเขาที่ขออาศัยรถกลับด้วยก็ไม่มีรู้จักชื่อว่าที่นี่เขาเรียกขนมอะไร ตัวเองก็ พยายามนึกว่าเคยกินขนมนี้ที่ไหนหนอ จำได้ว่าเคยได้ชิมได้ช่วยทำด้วย อร่อยกว่านี้มากแล้วก็สนุกมากๆด้วย แต่นึกไม่ออกว่าที่ไหนเมื่อไหร่ เริ่มหงุดหงิดกับความจำแบบครึ่งๆกลางๆของตัวเองจนกระทั่งรถแล่นมาได้แปดสิบกว่ากิโลมาถึงท่าเดื่อริมแม่น้ำโขง ได้เห็นเรือจอดอยู่ที่ท่าหลายลำ ภาพเรือมาเป็นตัวกระตุ้นให้นึกออกให้จำได้

ให้จำได้ว่า เหมือนกับขนมลำเจียกที่ผมเคยกินครั้งหนึ่งในชีวิตที่ อำเภอวิเศษชัยชาญบ้านพี่บางทรายนั่นเอง เคยได้ไปกินสมัยผมอยู่ปีสาม ยี่สิบปีที่แล้วโน่นแหนะ  สมัยนั้นยังไม่รู้จักพี่บูธแต่ไปแวะบ้านพี่สาวของอาจารย์ป๋า ดร.จิตติ ปิ่นทอง ได้ไปช่วยหลานสาวคุณป้าท่านทำด้วย ท่านว่าเป็นขนมที่มีขายที่เดียวที่ตลาดวิเศษฯนี้เท่านั้น จำได้ว่าวิธีทำคล้ายๆกับทำโรตีสายไหม คือเอาแป้งมาทาบนกะทะร้อนทีละแผ่น เอาใส้ที่เตรียมไว้ใส่แล้วม้วนเป็นท่อนๆ ได้กินเพียงครั้งเดียวก็ไม่เจออีก สงสัยมีขายที่เดียวอย่างที่คุณป้าท่านบอกจริงๆ จนกระทั่งมาเจอคู่แฝดของเขาในวันนี้ แต่รับรองว่าเหมือนแต่รูป ส่วนความอร่อยนั้นขนมลำเจียกกินขาดไปหลายขุม

ที่ได้ไปแวะอ่างทองนั้น เนื่องด้วยทางภาควิชาดินฯ โดยอาจารย์ป๋าท่านเป็นหัวหน้าภาคฯจัดทัศนศึกษาให้นักศึกษาทั้งภาควิชาไปเปิดหูเปิดตา ไปดูดินทั่วทุกภาคของประเทศไทยว่าต่างกันอย่างไร นักศึกษาทั้งภาควิชาฯสมัยนั้นก็มีไม่ถึงยี่สิบคนหรอกครับ เป็นพี่ปีห้าที่เรียนนานกว่าปกติ(ซูเปอร์)สามคน พี่ปีสี่สิบกว่าคน ผมปีสามคนเดียว(กว่าจะกระหน่ำขึ้นเวรสะสมวันหยุดได้พอ เล่นเอาพรรคพวกเลื่อนแล้วเลื่อนอีก) และน้องปีสองอีกหนึ่งคน รวมกับนักศึกษาแลกเปลี่ยนชาวฝรั่งอีกสี่ห้าคน พากันขึ้นรถสองแถวของคณะไป

ออกจากเชียงใหม่ จุดหมายแรกท่านพาไปเยี่ยมโครงการ “อีสานเขียว” ที่ทางมช.ได้รับผิดชอบในพื้นที่ภูเขียวจังหวัดชัยภูมิ พากันขุดดูดินชุดโคราช ดูแปลงปลูกหม่อนที่ต้องต่อสู้กับปลวกที่มากัดกินรากกินท่อนลำที่ปลูกใหม่ และไปดูการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของป่าทำเลเลี้ยงสัตว์โดยการหว่านเมล็ดถั่วฮามาต้า

จากชัยภูมิเราก็ตีขึ้นไปจังหวัดเลย แล้วเราก็ลัดเลาะเลียบโขง สมัยนั้นยังมีด่านตำรวจทุกหนึ่งกิโลไปเยี่ยมสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดหนองคาย ได้เรียนรู้วิธีการจัดการที่นาที่น้ำจากแม่โขงเอ่อท่วมได้อย่างเหมาะสม ทำให้เห็นความแตกต่างของระบบภูมินิเวศที่แห้งแล้งของชัยภูมิกับ พื้นที่น้ำท่วมของหนองคาย

จุดต่อไปท่านพาแวะศึกษางานของ JICA ที่มาตั้งศูนย์วิจัยด้านดินที่ขอนแก่น ได้เห็นเครื่องทำฝนเทียมเพื่อศึกษาเรื่องการชะล้างพังทลายของดิน และชมหน้าตัดดินที่มีข้างล่างเป็นหินเกลือ พร้อมทั้งดูห้องปฏิบัติการที่มีอุปกรณ์ที่ทันสมัยวิเคราะห์ได้ถึงระดับอะตอม อันที่จริงข้อมูลด้านดินหรือไม่ว่าด้านอื่นใดก็ตาม ผมว่าเราได้มีการศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์มามากๆแล้วที่มีข้อมูลอยู่ในมือ แต่ทำอย่างไรดีถึงจะเอาข้อมูลเหล่านั้นมาเผยแพร่มาประยุกต์ให้พี่น้องเกษตรกรใช้ประโยชน์กันได้

จากขอนแก่นท่านพาไปขุดดูไส้เดือนแถวอำเภอนาเชือก ท่านสอนว่าที่ไหนดินเค็มให้ดูว่าตัวไส้เดือนจะตัวยาวตัวโตกว่าปกติมาก แวะดูดินเค็มและคราบเกลือหน้าดิน การปลูกข้าวในดินเค็ม แล้วเราก็ไปแวะขุดดูดินชุดบรบือ ที่ตัวอำเภอบรบือ ก่อนจะนั่งรถชมทุ่งกุลาร้องไห้แล้วเลยไปนอนที่อีสานใต้ น่าจะเป็นที่วิทยาลัยครูศรีษะเกษ ที่นั่นเราสร้างวีรกรรมหนีไปเที่ยวดิสโก้กัน ตอนเช้ามาถูกป๋าอัดซะน่วม

แล้วท่านก็พาเราลัดเลาะไปโผล่ที่สถานีประมงแถวแหลมงอบ ชาวดอยได้เห็นประมงน้ำกร่อย น้ำเค็มกันก็หนนั้นแหละ เราพากันไปดูดินที่ยังดิบหรือดินที่อายุน้อยตามที่อาจารย์สอน ขุดดูดินแถวริมป่าโกงกาง ดินที่ปลูกต้นสนทะเล ชาวดอยพากันเล่นน้ำทะเลกันจนบ่าย ก่อนที่จะถูกเรียกต้อนขึ้นรถห้อตะบึงไปยังป้ายหน้า อำเภอวิเศษฯบ้านของอาจารย์เอง ถึงวิเศษฯมืดค่ำคุณป้ากับหลานสาวต้มปลาแกงปลาทอดปลาที่ซื้อมาจากทะเลกินกันจนลืมอิ่ม แล้วผมก็ไปช่วยเขาทำขนมลำเจียก ที่นี่เองเจ้าขนมลำเจียกได้บรรจุเข้าในหน่วยความทรงจำของผม ปัดโธ่เก็บไฟล์ไว้นาน จนกระทั่งมาเห็นคู่แฝดของเขาเข้าในวันนี้จึงได้รื้อฟื้น คืนนั้นนอนชานเรือนตอนหัวรุ่งสะตุ้งตื่นกับเสียงหลังคาเรือโยงขาทวนแม่น้ำน้อยขึ้นมาขนข้าว เรือเปล่าเวลาลอดใต้สะพานเสียงหลังคาเรือครูดกับท้องสะพานดังก้องคุ้งน้ำ

ตอนเช้ากินน้ำพริกกะปิแสนอร่อย กับดอกโสนลวกราดด้วยหัวกระทิ กับข้าวสวยร้อนๆ นึกแล้วยังอร่อยไม่รู้ลืม ก่อนอำลาวิเศษฯ ขึ้นมาดูดินแถวกำแพงเพชรที่มีจุดพิเศษคือมีจอมปลวกจำนวนมากจริงๆ จำได้ว่ามาถึงเชียงใหม่เวลาสี่ทุ่มเศษ มาถึงก็แวะอาบน้ำเปลี่ยนเป็นชุดขาวขึ้นเวรดึกต่อทันที

พอนึกได้นิดหนึ่ง ปรากฏว่าความจำที่ลืมเลือนมันไหลมาเป็นสายน้ำ แทบพิมพ์ไม่ทันทีเดียว รีบบันทึกไว้ก่อนที่จะลืมไปอีกรอบ แต่ก็ดูเหมือนเป็นบันทึกที่สับสนจับต้นชนปลายไม่ถูก อย่างไรก็ตามจากบันทึกอันสับสนข้างบน ผมได้ข้อสรุปสองสามประเด็นได้แก่
ประการแรก คือ ประโยชน์ของการจัดทัศนศึกษา ให้คนที่ไม่เคยเห็นได้รู้ได้เห็น อันนี้มีประโยชน์แน่นอน ต้องมีสักคนที่ได้ประโยชน์ ฉะนั้นคุณครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้โปรดพาเด็กไปเที่ยวเสียดีๆ
ประการที่สอง คือ พิสูจน์ได้ว่าความรู้ไม่ได้มีเฉพาะในห้องเรียน
และประการที่สาม คือ คุณประโยชน์ของเครือข่าย ของสายพัวพันมิตรสหาย ผมว่าที่อาจารย์ป๋าท่านสามารถนำพาลูกศิษย์ไปเยี่ยมชมที่ต่างๆได้มากมาย ได้รับการต้อนรับอย่างดี ได้เปิดโลกทัศน์ กว้างไกล นั่นเพราะท่านมีเครือข่าย มีมิตรสหายมากมายที่พึ่งพาได้นั่นเอง

ว่าไปแล้วก็เหมือนกับคนกลุ่มหนึ่งที่ชอบไปรุมตัวกันแถวสวนป่าสตึกนะครับ ไหนๆก็ว่าแล้วก็ขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนกันท่านผู้สนใจไปมุกดาหารในวันไทบรูลูกเผ่าของผม ประชาชนของพี่บางทรายช่วงต้นเดือนกุมภานะครับ ได้ข่าวแว่วๆมาว่าปีนี้เขาจะจัดกันอีก (สำหรับท่านที่เคยไปสัมผัสชาวไทบรูตอนเฮฯดงหลวงแล้วยังไม่จุใจ หรือสำหรับท่านที่ยังไม่เคยรู้จักไทโส้ )ใคร่ขอเชิญ 
 


แก่นตะเวน ทานตะวัน อุ่นเดือน มัดแขนแอน้อย แก้กำเนิด….เกี่ยวกันไหมเนี่ย

2 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 11 ธันวาคม 2009 เวลา 8:30 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1830

ไม่รู้จะบันทึกอะไรในวันที่ชีวิตวุ่นวายช่วงเดือนสิ้นปีอย่างนี้…แต่ก็ยังอยากเขียน
วันพักเหลือเพียบ แต่กลับไม่ได้ วันนั้นต้องรอประชุมนี่ วันนี้ต้องรอประชุมโน้น  พอมีช่วงว่างตั๋วกลับไม่มี เครื่องบินน่านกรุงเทพเลิกให้บริการอีก เอ้าบ่นบ่น
เมื่อตอนเย็นนั่งเชียร์ลาวเตะบอลกับสิงคโปร์ ทางช่องลาวสตาร์ได้ภาษาฟุตบอลมาเล่าสองสามคำ
บาลเตะ คือ ฟุตบอล
บานไหม คือ ลูกโทษ
ลูกแจ๋ คือ ลูกเตะมุม
เมื่อตอนบ่ายไปเดินดูแปลงปลูกทานตะวันของพี่น้อง ดอกทานตะวันที่หงสาเรียกว่า ดอกแก่นตาเวน ครับ
เรื่องราวที่ไปที่มาของการปลูกทานตะวันที่หงสานี้เริ่มต้นเมื่อปีกลาย ผมไปเห็นปลูกอยู่ที่ริมรั้วหน้าบ้านของเจ้าสมจิตลูกน้อง (คนเดียวที่มีอยู่) เห็นออกดอกติดเมล็ดงามดี ถามดูได้ความว่านำเมล็ดพันธุ์มาจากสมัยเป็นนักศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยเกษตรหลวงพระบาง จึงบอกให้เก็บเมล็ดไว้ขยายต่อ หลังจากฤดูเก็บเกี่ยวข้าวในนาเสร็จ ผมก็ควักกระเป๋าตัวเอง ๒๐๐๐ บาทเป็นทุนให้ไถที่ ทำน้ำหมักชีวภาพสูตรบำรุงต้น สูตรบำรุงเมล็ด และสูตรไล่แมลง  ซื้อขนมมาล่อชวนให้เด็กๆแถวนั้นมาช่วยกับปลูก มาถอนหญ้า หากวันไหนไม่มีงานก็ให้สมจิตพักงานกลับมาดูแล ผลงานของเจ้าสมจิตเข้าตาพี่น้องชาวหงสาอยู่ไม่น้อย ปุ๋ยชีวภาพสูตรของเราน่าจะได้ผล ต้นทานตะวันสูงท่วมหัวดอกบานเท่าชามใบโต เมล็ดเต็ม โดยไม่ต้องง้อโบรอนเหมือนที่เคยปลูกที่มอชอ. แปลงปลูกแก่นตาเวนของเราอยู่ใกล้ถนน แถวนั้นมีไร่แตงโมหลายเจ้า ที่เก็บแตงมาวางแผงขายริมทาง เจ้าของสวนแตงยิ้มกันหน้าบานเพราะวัยรุ่นชวนกันมาถ่ายรูป พากันซื้อแตงโมไปผ่ากินกันในแปลงทานตะวันของเรา เจ้าสมจิตรายงานว่าเมียกระเทาะได้เม็ดทานตะวันร้อยกว่ากิโล ขายกิโลละสิบพัน (๔๐บาท)ได้เงินพอสมควร
ปีนี้มีคนมาขอเมล็ดพันธุ์ไปปลูกสิบกว่ารายแล้วครับ เลยมอบหมายให้ท่านสมจิตไปสอนทำปุ๋ยชีวภาพ ขยายองค์ความรู้ ขยายสมาชิกเกษตรปลอดเคมีได้อีก นับว่าเงิน ๒๐๐๐บาท ที่ลงทุนไปนั้นคุ้มค่า

ชาวหงสาซื้อเมล็ดทานตะวันไปทำอะไร
เอาไปรับแขก ไว้แทะเล่นแก้เหงาปาก เขาว่าอย่างนั้น (ไม่เหมือนที่ผมเคยไปปล่อยไก่ที่ยุโรป ผมกับพรรคพวกไปซื้อมาแทะเล่นกันคนเขามองแปลกๆ อ้าวที่แท้ที่โน่นเขาเอาไว้เลี้ยงนกกัน…) ถามเขาต่อว่าแขกอะไร เขาก็ตอบว่าแขกที่มาเวลามีงานที่บ้าน เช่น งานศพ มาเยี่ยมคนป่วย และมา “อุ่นเดือน”
“อุ่นเดือน” คือการมาเยี่ยมเยียน มาอยู่เป็นเพื่อน ครอบครัวที่เพิ่งคลอดลูกใหม่ หรือที่ภาคกลางเรียกว่า อยู่ไฟ นั่นเอง แต่ทางเหนือกับทางลาวเรียกเหมือนกันว่า “อยู่เดือน” แต่การอยู่เดือนของชาวยวนเจียงใหม่ กับชาวลาวหงสาจะต่างกัน ชาวล้านนาแม่ลูกอ่อนจะเก็บตัวเงียบๆในห้องห้ามไม่ให้ได้กลิ่นอะไรที่ฉุนแรง ท่านว่าประเดี๋ยวจะ “เป็นลมผิดเดือน” แต่ที่หงสากลับเป็นว่าผู้คนมาเยี่ยมมาอยู่เป็นเพื่อนกันคึกคัก คนเฒ่าคนแก่มานอนเป็นเพื่อน กลางคืนก็เล่านิทานกันจนค่อนรุ่ง คนหนุ่มก็ตั้งวงร่ำสุรากันเฮฮา สาวๆหนุ่มๆเล่นไพ่กันหลายวงหลายแบบ ดึกๆก็มีต้มเป็ดต้มไก่เลี้ยงกัน เขาจะมาอยู่เป็นเพื่อนกันอย่างนี้ตั้งแต่เริ่มคลอดจนครบหนึ่งเดือน เมล็ดทานตะวันของผมจึงมีบทบาทในการรับแขกอย่างนี้นี่เอง เคยถามเขาว่าตลอดเดือนต้องให้เมล็ดทานตะวันรับแขกราวยี่สิบสามสิบกิโล ทีเดียว
เมื่อครบหนึ่งเดือนแล้ว ก็ต้องมีพิธีรับขวัญเด็ก หรือ การ “ผูกแขนแอน้อย” เป็นงานใหญ่ชนิดต้องแจกบัตรเชิญ บางบ้าน (ส่วนใหญ่) ถึงกับมีดนตรีมาเล่น มีการจัดรอบรำวงกันทั้งวันทั้งคืน ส่วนเหล้ายาอาหารนั้นมีเพียบ ล้มหมู ล้มวัวกันก็มี บางงานถึงกับเชิญเจ้าเมืองมาเป็นประธานเลยเชียว
พิธีที่เกี่ยวกับเด็กเล็กที่เคยเห็นอีกอย่างก็คือ การแก้กำเนิด ครับ เขามักทำพิธีในรายที่เด็กเลี้ยงยาก เจ็บไข้ได้ป่วยบ่อยๆ โดยมีความเชื่อว่า เด็กมีพ่อเกิด แม่เกิดมาอยู่ด้วยไม่ยอมไปไหน หากปล่อยไว้พ่อเกิดแม่เกิดอาจจะพากลับคืน จึงจำเป็นต้อง “เจรจา”ขอเด็กมาเป็นกรรมสิทธิ์ ในการจัดพิธีก็ต้องไปเชิญหมอพราหมณ์ มาตั้งเครื่องบายศรี มีเครื่องคาวหวานสังเวย มีเงินหมันเงินฮางโบราณเตรียมไว้ซื้อตัวเด็ก จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของหมอพราหมณ์ท่านจะโอมพระเวทคาถาไม่รู้กี่บท มีการเจรจาต่อรองกับพ่อเกิดแม่เกิดของเด็ก (ขั้นตอนนี้ใช้เวลาสามสี่ชั่วโมงพ่อหมอท่านช่างอดทนจริงๆ) เพื่อขอเด็กมาเลี้ยงดู เริ่มพิธีตั้งแต่เช้าบ่ายคล้อยโน่นถึงจะเสร็จพิธีกรรม

จากแก่นตาเวน ลากไปหาพิธีแก้กำเนิดได้อย่างไรก็ไม่รู้
จบละครับ


อยากเล่นกับตัวเลขกันนักใช่ไหมครับท่าน

4 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 3 ธันวาคม 2009 เวลา 9:25 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2155

เมื่อสองวันก่อน เขาเอาการบ้านมาให้
เป็นข้อตกลงกันระหว่างโครงการกับรัฐบาลลาว
เป็นการบ้านที่โครงการไปสัญญาไว้เกี่ยวกับมาตรการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ และสังคมของชุมชนที่ได้รับผลกระทบ

องค์การทรัพยากรน้ำ และสิ่งแวดล้อม โดยการแนะนำของคณะที่ปรึกษาชาวตะวันตก เขายกร่างสัญญามาให้ เป็นประเด็นในเรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ที่แยกต่างหากจากข้อกำหนดในการชดเชยทรัพย์สิน กล่าวคือ ท่านกำหนดให้โครงการต้องรับผิดชอบพัฒนารายรับของครอบ ครัวพี่น้องดังนี้

(๑) ภายในระยะเวลา ๒ปีหลังเริ่มโครงการ รายได้ของประชาชนต้องไม่ต่ำกว่าเส้นระดับความยากจน ( ๑.๘แสนกีบต่อคนต่อเดือน จำนวนสมาชิกในครอบครัวเฉลี่ย ๖ คนต่อครอบครัว) คิดเป็นเงินประมาณ ๑๓ ล้านกีบ หรือตกเป็นเงินไทย ๕หมื่นกว่านิดๆบาท

(๒) ภายในระยะเวลา ๘ปี ต้องรับประกันรายได้ของประชาชนให้เท่ากับรายได้ต่อครัวเรือนในระยะก่อนมีโครงการ ก็ราวๆ ๒๐ล้านกีบ หรือ ๘หมื่นบาทต่อครอบครัวต่อปี (ความจริงเขากำหนดให้ภายใน ๓ปี แต่พวกเราไปต่อรองว่าถ้าท่านอยากให้เราใช้โปรแกรมการปลูกยางพารา ก็ต้องรอ ๘ปีจึงจะได้รับผล)

(๓) ภายในระยะเวลา ๑๐ ปี ต้องรับประกันรายได้ของประชาชนให้มากกว่าเดิม ๕๐% นั่นก็คือ ต้องทำให้รายได้ของชาวบ้านไม่ต่ำกว่า ๓๐ล้านกีบต่อครอบครัวต่อปี ก็ประมาณ ๑แสนสองหมื่นบาท
ทั้งนี้ท่านยังบอกมาอีกว่า จะมีการตรวจสอบทุกสองปี หากทำไม่ได้มีบทปรับไหมด้วย(นะจะบอกให้)

ถามตัวเองในฐานะที่ปรึกษา ว่าหวั่นใจไหม ก็หวั่นๆบ้างเล็กน้อย ไม่ได้รู้สึกกดดันมากมายนัก
ก็งานชิ้นนี้ผมได้เริ่มคิด เริ่มทำมาตั้งแต่ปี ๑๙๙๕ โน่นแล้ว ทำๆหยุดๆจนจะมาเอาจริงกันอีกทีก็หนนี้

แต่ถามว่าพอใจ ชอบใจกับข้อกำหนด กับแนวทางการพัฒนาที่เขาวางไว้หรือเปล่า
หากเป็นเมื่อก่อน ก็คงไม่รู้สึกอะไร เขาให้โจทย์มาก็แก้ให้เขาก็จบเรื่อง
แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป พอได้พบพานอะไรต่างๆมากขึ้น เริ่มมองเห็นสัจธรรมแห่ง “ความสุขที่แท้จริง” แล้ว
ทำให้เริ่มเกิดความรู้สึก ไม่ยินยอมพร้อมใจ หรือเห็นพ้องด้วยสักเท่าใด

การเล่นกับตัวเลขนั้นทำได้ง่ายนิดเดียว ยิ่งเขากำหนดที่ค่ารายได้รวม ไม่ใช่รายได้สุทธิเช่นนี้ ก็เล่นได้สบายๆสิครับ อยากให้รายได้สูงก็ใส่เงินลงทุนลงไปเยอะก็เท่านั้นง่ายนิดเดียว ผมลองคิดเล่นๆถึงแหล่งของรายได้ไว้อย่างนี้ครับ

๑ ) รับเข้าทำงานในโครงการครอบครัวละ ๑คน ได้ค่าแรงปีละ ๗ ล้านกีบ

๒) ลงทุนปลูกยางพาราให้ครอบครัวละหนึ่งเฮกตาร์ พอปีที่๗ก็ได้เริ่มกรีดยาง พอปีที่๘เป็นต้นไปก็จะมีรายได้อย่างต่ำปีละ ๑๕ ล้านกีบ แต่ในระยะปีแรกๆตอนที่ต้นยางฯยังเล็กอยู่ ก็ให้ปลูกพืชไร่สลับระหว่างต้นของยางฯ เช่น ข้าวโพด งา ลูกเดือย สับปะรด ข้าวไร่ เป็นต้น การปลูกพืชไร่ผมกำลังพัฒนาระบบการปลูกแบบเหลื่อมฤดู ทำให้สามารถปลูกได้สองชนิดต่อปี ประมาณว่าจะมีรายได้ไม่น้อยกว่า ๓ ล้านกีบต่อปี

๓) จัดที่ดินให้อีกหนึ่งเฮกตาร์  ให้ทำการเกษตรประเภทอื่นๆ เช่นปลูกพืชไร่เหมือนกับในที่ดินแปลงแรก หรือปลูกถั่วแระไว้ปล่อยครั่ง หรือปลูกข่าขายเมล็ด หรือปลูกปอสา ก็จะมีรายได้อีก ๓ล้านกีบต่อครอบครัวต่อปี (โปรแกรมนี้จัดสำหรับพี่น้องชาวลาวเทิงที่ไม่ถนัดกับการเกษตรแบบประณีต) หรือหากจะเป็นโปรแกรมสำหรับพี่น้องที่ขยันๆหน่อยเสนอให้ปลูกส้มเกลี้ยง เพราะไปดูมาแล้วว่าที่เมืองน้ำบากเขาปลูกกันได้โดยไม่ใช้สารเคมี หรือปุ๋ยเคมีใดๆเลย ส้มเกลี้ยงสามารถนำไปโฆษณาเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้สบายๆ หากปลูกส้มเกลี้ยงพี่น้องจะมีรายได้ราวๆ ๑๐ล้านกีบต่อปี ในสวนส้มเกลี้ยงท่านสามารถปลูกกาแฟแซมระหว่างต้นส้มได้อีกต่างหาก หรือหากรายใดใจสู้ปลูกยางพาราอีกหนึ่งเฮกตาร์ ก็มีสิทธิ์ได้อีก ๑๕ล้านกีบ

๔) อาชีพนอกภาคเกษตรที่มองไว้คือ การต่อยอดกิจกรรมที่มีอยู่ปัจจุบัน เช่น งานทอผ้าซึ่งทุกวันนี้บรรดาแม่บ้านมีรายได้จากการขายผ้าทอปีละ ๑๐ล้านกีบต่อครอบครัว ส่วนงานปักผ้า และงานจักสานไม้ไผ่ทำรายได้ให้กับพี่น้องราวๆ ๒-๓ ล้านกีบ

๕) อาชีพเสริม ได้แก่การเลี้ยงสัตว์ใหญ่ ก็ได้ขึ้นแผนงานจัดพื้นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ และพัฒนาทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ มีปางเลี้ยงวัวควายที่จ้างพี่น้องมาดูแล มานอนเฝ้า มีนักวิชาการสัตวบาลมาช่วยดูแล พร้อมทั้งมีโครงการที่จะมอบแม่พันธุ์วัว/ควาย ให้แต่ละครอบครัวเป็นออมสินที่มีชีวิต เอาไว้แบ่งขายลูกในปีที่๕และที่๖ เป็นรายได้มาทดแทนกรณีที่ปลูกพืชแซมในสวนยางไม่สามารถปลูกได้   
กิจกรรมการเลี้ยงสัตว์สามารถทำรายได้เข้าครอบครัวประมาณ ๓ ล้านกีบต่อปี

เป็นอย่างไรบ้างละครับท่านแผนงานของผม บวกตัวเลขบวกไปบวกมาอย่างไรก็เกินข้อกำหนดที่เขาให้มา อย่างนั้นก็สบายแล้วใช่ไหมครับ ถ้าจะว่าสบายก็ถือว่าสบายได้ หากควบคุมแผนกิจกรรมให้เป็นไปตามแผนหลักที่วางกรอบไว้

แต่โดยส่วนตัวแล้ว “ผมยังไม่แล้วใจ” หมายความว่ายังตะขิดตะขวงใจยังไงอยู่นั่นเอง
ถึงแม้ว่าจะพยายามใช้หลัก นิเวศวัฒนธรรมเกษตร มาใช้ในการวางแผน โดยการสร้างทางเลือกไว้หลายๆทางให้พี่น้องต่างกลุ่มชาติพันธุ์ เลือกนำไปปฏิบัติตามความถนัดก็ตาม
แต่เมื่อเล่นมามีกรอบบังคับที่ตัวเลขรายรับ นี่ก็คงจะดิ้นไปรูปแบบอื่นนอกเหนือจากนี้ได้ยาก

ขยับมาแอบบ่นถึงประเด็นที่ “ยังไม่แล้วใจ” ดีกว่า
ประการแรก เป็นการวางแผนจากข้างบนอีกแล้ว ไอ้คนหัวหน้าตัวที่วางแผนก็คือไอ้กระผมคนเขียนบันทึกนี่เอง (คนที่เคยด่าคนอื่นอยู่ปาวๆ ว่าต้องเริ่มที่ความต้องการของพี่น้อง)
ประการสำคัญที่สุด ก็ยังหนีไม่พ้นเรื่องการวัดดัชนีความสุขของพี่น้องที่ตัวเลขรายได้ต่อครัวเรือนนี่แหละ ไม่เข้าใจจริงๆพวกนักสถิติ นักตัวเลขนี่

ทำไมเขาไม่คิดว่า พี่น้องชาวบ้านต้องการความสุขแบบไหน
พี่น้องอาจต้องการชีวิตที่เรียบง่าย มีกินอิ่มท้อง มีบ้านอยู่ มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีครอบครัวที่อบอุ่น เป็นความต้องการพื้นฐานก็ได้
แต่เล่นมาแบบ ต้องทำหนึ่ง ทำสอง ทำสาม ทำสี่อย่างนี้นะพี่น้อง ห้ามแตกแถวประเดี๋ยวรายได้ไม่ถึงเป้า ข้าพเจ้าจะเดือดร้อน
ถ้าเป็นแบบนี้ก็หมายความว่า พี่น้องทุกคนต้องตรากตรำทำงานกันงกๆ ออกจากบ้านไปทำงาน ทำสวน กันทุกวันไม่ต้องหยุดต้องพักกัน ลูกเด็กเล็กแดงก็ต้องเอาไปฝากครูเลี้ยง ฮีตคองวันค้ำวันพักงานในวันพระวันที่มีงานศพงานบุญในหมู่บ้านก็คงจะจางหายไป บุญประเพณีต่างๆก็คงจะต้องถูกประยุกต์ให้เข้ากับภาวะเร่งด่วนของภารกิจ

ถ้ามาแบบนี้แล้วการพัฒนาชุมชนแบบที่มีการลงจัดเวทีชาวบ้าน การระดมความคิด การกระตุ้นให้พี่น้องปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก การยกป่ามาไว้ในสวน การเกษตรแบบรักษ์ป่ารักษ์ดินรักษ์สภาพแวดล้อม การมีเศรษฐกิจครอบครัวอย่างพอเพียง การลดรายจ่ายในครัวเรือน  อะไรต่างๆเหล่านี้คงจะต้องพับแผนงานเก็บเข้ากระเป๋า ทำทุกอย่างที่ได้ขายได้เงินก่อน

ชักจะคิดถีงพี่น้องไทบรูดงหลวง พี่น้องเครือข่ายอินแปงเสียแล้วสิครับ

 

 

 



Main: 0.21287512779236 sec
Sidebar: 0.015044927597046 sec