ไล่พระออกจากป่า คุณพระคุณเจ้า

7 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 28 สิงหาคม 2009 เวลา 10:05 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1276

 

ปีกบางรุ่งริ่งโรยลา
อ่อนล้าเรี่ยวแรงเสื่อมถอย
วันวารผันผ่านเคลื่อนคล้อย
ล่องลอยไปตามวิถีกรรม

รูปผีเสื้อชรากับบทจ่มข้างต้นอาจจะไม่เข้ากับเรื่องที่จะบันทึกในต่อไปนี้ แต่ผมว่าอารมณ์ไปด้วยกันได้นะครับ อารมณ์ห่อเหี่ยวเศร้าซึมกับข่าวที่ ทางการเขาจะจัดระเบียบพระป่า
เขาว่าพระทำลายป่า พระเป็นตัวการบุกรุกป่า
อ้ายพวกไม่รู้จัก อรัญวาสี คามวาสี เอ้ย โธ่ถัง กาละมังแตก (กาละมังเป็นคำที่ยืมมาจากภาษาโปตุเกต… เขียนเพื่อยืนยันว่าขณะบันทึกยังมีสติดีอยู่)
ผมเคยผ่านพบ พระวัดป่าที่อำเภอวานรนิวาส ท่านสร้างรั้วรอบป่าผักหวานพื้นที่กว่าแปดร้อยไร่ เป็นป่าของวัด ใหชาวบ้านจัดตั้งกลุ่มป่าชุมชน จัดสรรกันหมุนเวียนกันมาเก็บเห็ดเก็บผักหวาน พอได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง

ที่ป่าชุมชนหนองหมู มีวัดอยู่บนนั้น พระท่านเอาเงินที่ญาติโยมถวายในกิจนิมนตร์ต่างๆ เอาเงินก้อนนั้นไปให้ชาวบ้านใช้จ่ายเป็นค่าอาหารยามเดินตระเวนป้องกันป่า

ที่วัดป่าเชิงดอย พระท่านเป็นแกนนำชักชวนให้ชาวบ้านสร้างฝายชะลอความชื้น ได้ใช้น้ำสำหรับดับไฟป่า มีกบเขียดอึ่งอ่างมาแพร่พันธุ์มากมาย

ผมเคยมีวาสนาได้รับใช้วัดป่าในเขตอุทยานแห่งหนึ่ง ในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทำแผนลดผลกระทบจากการก่อสร้างอุโบสถหลังเล็กๆ เราทำตามขั้นตอนของสผ.ทุกอย่างโดยไม่ขอลัดขั้นตอน แก้รายงานเกือบสิบครั้ง ไม่อยากคุยว่าวัดป่าดังกล่าวประมุขสงฆ์แห่งราชอาณาจักรเสด็จมาประทับด้วย ถือเป็นมงคลสูงสุดที่ได้รับใช้

นี่เป็นตัวอย่างเพียงเล็กน้อย ที่แสดงว่าพระอยู่กับป่าได้ พระช่วยรักษาป่าได้

จริงอยู่ ที่สำนักสงฆ์บางแห่งอาจก่อสร้างถาวรวัตถุที่ใหญ่โต ล่วงล้ำบุกรุกป่า อันนั้นก็ต้องมีมาตรการควบคุม ไม่ต้องควบคุมพระดอก ควบคุมญาติโยมเจ้าศรัทธาที่ชอบมาถวายปัจจัยนั่นแหละ และต้องควบคุมในขั้นตอนการขออนุมัติแบบ รวมถึงการควบคุมให้ผู้รับเหมาก่อสร้างปฏิบัติตามมาตรการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย

 หวังว่าพวกเขาเหล่านั้น ที่กำลังจะจัดระเบียบพระป่า ได้มีสติในการทำงาน…

ระวังเขาจะเผลอไปจัดระเบียบ พาครูบาฯ แซ่เฮของหมู่เฮาออกจากสวนป่าเด้อ


บ้านวัฒนธรรม อีกกลไกที่ใช้กระตุ้นชุมชน

1 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 21 สิงหาคม 2009 เวลา 12:59 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2836

หงสา เมืองเล็กๆโอบล้อมด้วยขุนเขา ขึ้นกับแขวงไชยะบุรี ของ สปป.ลาว ท่านสามารถเข้ามาหงสาได้ทางด่านน้ำเงิน น่าน เข้ามาจากชายแดนไทยเพียง ๓๕ กม. ท่านก็จะสัมผัสกับ “อีกโลกหนึ่งที่แปลกต่าง”
ตีสาม ย่ำรุ่งของวันที่ ๑๘ สิงหา เสียงตีเกราะปลูกพี่น้องชาวบ้านให้รีบตื่นขึ้นมาก่อไฟนึ่งข้าว ปิ้งเนื้อ จัดการห่อเสบียงใส่ย่าม
ตีสี่ เสียงจอแจของแม่ยิง ที่มารวมกันเกล้าผมแต่งตัว
จากนั้นพี่น้องก็พากัน เดินมา เหมารถมา ที่เดิ่นกีฬากลางของเมือง
ใช่ครับ วันนี้วันพิเศษของเมือง ทางแขวงท่านจะมาเปิดป้าย “บ้านวัฒนธรรม”

บ้านสามดีสี่บ่ (หรือสามดีสี่ไม่) เป็นคำจำกัดความที่รวบรัด ในการประกาศยกชุมชนใดขึ้นเป็น “หมู่บ้านวัฒนธรรม” ในสปป.ลาว สำหรับในเมืองหงสาแล้ว ถือว่ามีการประกาศเปิดป้ายหมู่บ้านวัฒนธรรมค่อนข้างช้ากว่าเมืองอื่นๆในสี่เมืองเหนือของแขวงไชยบุรี (ม.เชียงฮ่อน ม.เงิน ม.คอบ ม.หงสา) ท่านบอกว่าเพราะเป็นเมืองใหญ่มีกิจกรรมมาก มีคนมาก การที่จะควบคุมให้ผ่านเกณฑ์ทุกข้อนั้นทำได้ลำบาก ท่านว่าอย่างนั้นจึงได้ประกาศบ้านวัฒนธรรมไปเพียง ๒ หมู่บ้าน คือ บ้านศรีบุญเรืองเมื่อปีกลาย และบ้านเวียงแก้วเมื่อปีก่อนโน้น แต่สำหรับปีนี้ท่านเจ้าเมืองคนใหม่เร่งรัดให้อ้ายน้องพนักงาน และคณะบ้านผลักดันให้หมู่บ้านต่างๆ เพิ่มพูนศักยภาพให้สามารถประกาศเป็นบ้านวัฒนธรรมได้ถึง ๑๒ บ้าน พิธีการ “เปิดบ้านวัด-ทะ-นะ-ทำ” จึงได้จัดขึ้นอย่างใหญ่โต เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหา ที่ผ่านมา โดยมีท่านรองคณะพรรคแขวงมาเป็นประธาน 
สามดีที่ว่ามีอะไรบ้าง
หมู่บ้านวัฒนธรรมต้องมีดีสามอย่างคือ
ดีที่หนึ่งได้แก่ เศรษฐกิจดี มีรายได้ต่อครัวเรือนสูงกว่าเกณฑ์ความทุกข์ยาก (๘๒พันกีบต่อคนต่อเดือน) และต้องมีกลุ่มออมทรัพย์หรือธนาคารชุมชนประจำหมู่บ้าน
ดีที่สอง ได้แก่ สุขอนามัยดี เป็นหมู่บ้านที่มีส้วมซึมครบทุกครอบครัว มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำชุมชน มีผดุงครรภ์หมอตำแยอาสาที่ผ่านการฝึกอบรม เป็นต้น
ดีที่สาม ได้แก่ ครอบครัว สังคม และวัฒนธรรมดี มีครอบครัวต้นแบบของ “ครอบครัวเข้มแข็ง ครอบครัวอบอุ่น”
ส่วนสี่บ่ หรือสี่ไม่ ที่ต้องไม่ปรากฏในชุมชน ได้แก่
ต้องไม่มีปัญหาการลักขโมยในชุมชนนั้น ปีนี้มีอยู่หมู่บ้านหนึ่งที่ตำรวจบ้านเองไปลักเครื่องสูบน้ำเขา ก็ตกไป อีกหมู่บ้านหนึ่งตำรวจมาจับเมียนายบ้านตั้งวงเล่นไพ่ก็ตกไปอีก
การปรับปรุงทางกายภาพที่เห็นได้ชัดก่อนการเปิดป้าย คือทุกเรือนต้องสร้างรั้วโดยเน้นการตีไม้ระแนง อาจเป็นไม้เนื้อแข็งหรือไม้ไผ่ก็ได้ นอกจากนั้นก็มีการอนามัยหน้าบ้าน ตัดหญ้า ปลูกต้นไม่ดอกไม้ เผาขยะ และติดธงทิว จะมีกรรมการจากบ้านและจากเมืองไปตรวจสอบก่อน หากไม่ผ่านก็ต้องเรียกเจ้าของบ้านไปอบรมแนวคิดกัน
ส่วนการตรวจสอบสภาพทางเศรษฐกิจ ทางสังคม นั้นทางเมืองได้แต่งตั้งให้อ้ายน้องพนักงานรัฐกร ออกไปเก็บข้อมูล ไปกินนอนในชุมชน หมู่บ้านละ๕-๖ วัน ทีมงานรัฐกรประกอบด้วยรองเจ้าเมือง และพนักงานอีกห้าหกคนจากแขนงการต่างๆ เรียกว่าไปกินอยู่กับชาวบ้านให้ได้ข้อมูลครบถ้วน ไม่เหมือนบางประเทศที่ กชช ๒ ค นั้นยกให้ผู้ใหญ่บ้านกับผู้ช่วยฯนั่งปั่นกันขึ้นมาส่ง และก็ไม่เหมือนบางประเทศที่ต้องระดับอำมาตย์ มหาอำมาตย์ ไปทำโมเดลกัน อิ อิ
หลังจากที่ประกาศเป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมแล้ว ยังมีภาระผูกพันต่อเนื่องอีกก็คือต้องรักษามาตรฐานเอาไว้ให้ได้ ชาวบ้านต้องขยันทำมาหากิน มีการกำหนดบทลงโทษรุนแรงขึ้น กำหนดค่าปรับไหมสูงขึ้นกว่าเดิม มีการตั้งคณะทำงานสอดส่องไม่ให้คนทำผิดฮีตครองประเพณี เหล่านี้เป็นต้น

เออดูๆไปแล้วก็เข้าท่าเหมือนกันนะครับ พัฒนาชุมชนแบบรอบด้านอย่างนี้

 

 

 


มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม จารีตกับสิ่งแวดล้อม

ไม่มีความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 10 สิงหาคม 2009 เวลา 1:53 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1991

วันก่อนพนักงานอ้ายน้องที่มาขับรถให้นั่งเป็นชาวบ้านหาน มาขอลาหยุดครึ่งวันไป “ส่งสะก๋าน” ญาติที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุขับรถตกท่อข้างถนนที่กำลังก่อสร้างหน้าโรงหมอเมืองหงสา ผู้ตายเป็นช่างเฟอร์นิเจอร์ (เขียนแบบลาว “เฟีนีเจี”) เขามีงานชิ้นสำคัญที่ค้างคาไว้คือ การแกะสลักป้ายบ้านวัฒนธรรมให้กับบ้านเมืองหาน และงานชิ้นนี้เองที่ชาวบ้านต่างโจษจันท์กันว่าเป็นเหตุให้เขามีอันเป็นไป ทั้งนี้เพราะว่าไม้แผ่นใหญ่ที่คณะบ้านหานนำมาให้เขาแกะป้ายเป็นไม้ที่โค่นมาจากป่าดงหรือป่าช้าของหมู่บ้านนั่นเอง วงสนทนาในเรื่องความเฮี้ยนของป่าดงบ้านหานยังได้ขยายเรื่องราวไปอีกหลายเรื่อง  เช่น เคยมีคนแอบไปเลื่อยไม้จากป่าดงมาขาย คนซื้อไม้ไปปลูกเรือนปรากฏว่ามีอันเป็นไปกันทั้งครอบครัว เป็นต้น
ผมกำลังจะโยงเข้าสู่เรื่องราวของ “มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม” ที่ท่านครูบาฯว่าจะไปบรรยายที่ใดที่หนึ่งในระยะใกล้ๆนี้  เผื่อจะได้ร่วมแสดงข้อคิดเห็นฝากท่านไปช่วยชวนให้นักศึกษาได้คิดต่อ แต่ผมจะมองในบริบทของจารีตและความเชื่อความนับถือของสังคมที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม นั่นเพราะผมเชื่อว่า โลกเราป่วยหนักเสียแล้ว หากจะช่วยกันรักษา ฟื้นฟู อนุรักษ์สภาพแวดล้อมให้ได้ผล คงต้องเล่นกันถึงการปลูกจิตสำนึก ดึงเอาความเชื่อถือ รากเหง้าของสังคมไทย และการรื้อฟื้นจารีตประเพณี มาให้มีบทบาทมากขึ้น นั่นเพราะคนรุ่นก่อนได้ผ่านการสังเกตุปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เกี่ยวโยงกันมาหลายชั่วอายุคน แล้วจึงมาสรุปเป็นความเชื่อถือ แม้ว่าส่วนใหญ่จะอิงใส่สิ่งที่อยู่เหนือ “ธรรมชาติ”ไปบ้างก็ตาม

เคยได้ฟังการบรรยายของท่าน ดร. อุษา กลิ่นหอม แห่งมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ท่านได้ถอดบทเรียนเรื่อง “การปลูกข้าวแฮกนา” หรือนาตาแฮก ว่านั่นเป็นเพราะคนรุ่นเก่าต้องการตัดวงจรชีวิตการแพร่ระบาดของแมลงสัตรูข้าว แต่ปัจจุบันนี้ไม่มีนาตาแฮกแล้ว หากมีโรคแมลงระบาดก็ใช้วิธีพ่นสารเคมีกำจัดโดยไม่ได้คำนึงถึงสารพิษที่ตกค้างและปนเปื้อนต่อสภาพแวดล้อม
อีกเรื่องหนึ่งที่ดร. อุษา ได้เล่าให้ฟังคือ บทบาทของป่าดอนปู่ตา หรือเขตอภัยทาน ในการเป็นแหล่งแพร่ขยายพันธุ์ของสัตว์นานาชนิด ท่านเคยพบว่าตัวตะกวด ตัวแลนจากป่าดอนปู่ตาแห่งหนึ่งสามารถแพร่ขยายไปได้ไกลหลายๆกิโลเมตร ในสมัยก่อนคนเรามีเกรงกลัวและนับถือดอนปู่ตา รักษาให้รกทึบ จะมีก็แต่เจ้าจ้ำที่ไปบะไปบน ปีหนึ่งก็พากันไปเลี้ยงปู่ตาสักครั้ง แต่ทุกวันนี้แม้แต่ป่าดอนปู่ตา ป่าช้าป่าดง ก็ค่อยๆถูกรถไถเลาะเล็มแหว่งวิ่นเข้าไปทีละน้อยๆ เผลอแป๊บเดียวป่าดอนปู่ตาสามารถมองทะลุฟากโน้นฟากนี้ได้แล้วแถมต้นไม้ใหญ่ก็ถูกโค่นไปเกือบหมด

คนสมัยก่อนเชื่อกันว่าวังน้ำนั้นวังน้ำนี้มีผีเงือกผีงูไม่กล้าลงไปจับปลา ทำให้ได้ประโยชน์ต่อการเป็นแหล่งแพร่ขยายพันธุ์ปลา แต่ทุกวันนี้รู้ว่ามีปลาอยู่ที่ไหนมนุษย์ได้เอาระเบิดไปโยนเอาไฟไปซ๊อตมาหมด ไม่เว้นแม้แต่ปลาในเขตอภัยทานหน้าวัด
ความเชื่อเรื่องโลมาอิรวดีหรือ “ปลาข่า” ของคนลาวแถบลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ช่วยปกปักรักษาให้สัตว์ชนิดนี้ดำรงเผ่าพันธุ์อยู่คู่แม่น้ำโขงอย่างผาสุขมานานแสนนาน แต่เมื่อความจริงได้เผยออกมาว่าสัตว์ก็เป็นเพียงสัตว์ประเภทหนึ่งเท่านั้น การปฏิบัติต่อโลมาก็เปลี่ยนไป แถมยงมีมลพิษที่ปล่อยลงสู่แม่โขงอีก ทำให้ปัจจุบันโลมาแม่น้ำโขงแทบจะสูญพันธุ์

ที่หงสาเอง คนรุ่นปู่รุ่นลุงเขาก็มีความเชื่อเรื่องพญานาคคึกคนอง “เซิงกัน” ก่อนฝนตกน้ำนอง พ่อเฒ่าเล่าว่า สมัยก่อนสามารถรู้ได้ล่วงหน้าสองสามวันว่าจะเกิดฝนตกหนักน้ำป่าไหลบ่ามานองทวมบ้านสวนไร่นา สามารถเก็บกู้พืชผลต้อนสัตว์เลี้ยงไปไว้ที่ดอนได้ทัน ท่านว่าจะได้ยินเสียงแผ่นดินลั่นมาจากทางต้นน้ำแก่น หากเดินขึ้นไปดูที่วังเงือกจะเห็นน้ำเป็นฟองเหมือนปลากัดก่อหวอด และมีกลิ่นคาวมาก ท่านเชื่อว่าพญานาคเซิงกันแล้วจะวางไข่ ท่านว่าหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้แล้วรับรองว่าภายในสองวันฝนจะตกห่าใหญ่จนน้ำแก่นไหลนองท่วมบ้านศรีบุญเรือง ต้องจัดเวรยามเฝ้าระวัง เวลานอนต้องคอยฟังเสียงเคาะเกราะเตือนภัย แต่ท่านก็บอกว่าหลังจากที่มีรถลากไม้เข้ามาขนซุงออกจากป่า พญานาคก็หนีลงน้ำโขงไปคราวน้ำท่วมใหญ่คราโน้นแล้ว หลังจากนั้นชาวบ้านก็ประสบปัญหาน้ำป่าไหลหลากโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัวหลายครั้ง วัว ควายต้องตายไหลน้ำกันหลายตัว

ผมว่าเรื่องนี้มีประเด็น และสามารถอธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์ได้เหมือนกับที่อาจารย์อุษาท่านทำได้ในหลายๆเรื่อง เสียแต่ว่าใครจะเป็นคนสนใจศึกษา หรือจะปล่อยให้คนรุ่นใหม่เขาถือว่าเป็นเรื่องคร่ำครึงมงาย ผมว่า ก่อนที่ความเชื่อถือหรือจารีตของสังคมไทยจะเลือนหายไป เราน่าจะศึกษาและประยุกต์เอาสิ่งเหล่านี้มาช่วยในการรักษ์สิ่งแวดล้อม รักษ์โลกของเราน่าจะดีกว่า งานหลักที่รออยู่หากคิดจะทำ ก็คือ

การถอดรหัสจารีต และความเชื่อที่เกี่ยวกับธรรมชาติ 

และงานต่อมาคือนำรหัสนั้นมาประยุกต์

สองข้อง่ายๆเองครับ แต่ทำยากมากๆ 

 


ยินสำเนียง ยลภาพจังหวะชีวิตชนบทหงสา

5 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 1 สิงหาคม 2009 เวลา 3:06 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1602

วันอาทิตย์ของผมที่เมืองหงสาถือเป็นวันว่าง ไม่ต้องไปนั่งทำงานที่สำนักงาน ส่วนวันอื่นๆอีกหกวันเป็นวันทำการผมมีภารกิจตั้งแต่เจ็ดโมงเช้าไปจนถึงห้าหกโมงเย็น ทุกวันอาทิตย์ผมจะตื่นเช้ากว่าปกติไปเดินหาซื้อขนม(ข้าวต้มหัวหงอก ขนมปาด) และผลไม้(กล้วยน้ำว้าหรือกล้วยง้าวยืนพื้น)ที่ตลาด ซื้อผักแว่น ผักเสี้ยวกับถั่วเน่าแคปมาแวะให้แม่ครัวที่ร้านเจ้าประจำทำเมนูพิเศษให้ กลับมาบ้านพักซักถุงเท้ารองเท้า แล้วนั่งๆนอนๆกินขนม เปิดคอมฯหาบทความต่างๆที่บันทึกจากโลกไซเบอร์ มาอ่านแบบเคี้ยวเอื้อง ครั้นใกล้เพลก็หิ้วท้องออกไปกินแกงใบผักแว่นที่ซื้อมาฝากร้านไว้เมื่อเช้า กลับมาต้มกาแฟสดกลิ่นหอมฟุ้งสำหรับรอบบ่าย จิบกาแฟอ่านหนังสือ แล้วก็ถึงกิจกรรมการเดินชมทุ่งอ้อมเมืองหงสาที่ผมรอคอยมาตลอดสัปดาห์
วันอาทิตย์ที่ผ่านมาผมเลือกเส้นทางบ้านโพนสะอาด-ศรีบุญเรือง-ดอนชัย-กกกอก-บ้านแท่นคำ แล้วย้อนกลับมาทางเดิม ระยะทางประมาณแปดกิโลเมตร ตั้งชื่อเล่นๆว่าเส้นทางพิชิต(ใจสาว)บ้านแท่นฯ ราวสี่บ่ายโมง ผมก็หยิบย่ามคู่กายที่บรรจุกล้องถ่ายรูป กับผ้าพลาสติกกันฝน พร้อมออกเดินครับ
การเดินเล่นวันอาทิตย์ นอกจากจะเป็นการออกกำลังกายแล้ว สำหรับผมยังเป็นการผ่อนคลายหรือออกกำลัง “ใจ” ไปด้วย แต่ผมยังมีเป้าหมายพิเศษในการไปดูท้องไร่ท้องนา ดูแปลงปลูกข้าวกล้ากีบเดียว เผื่อจะประเทืองปัญญา ให้สามารถหาทางออก สำหรับภาระหนักอึ้งที่ผมต้องแบกรับไว้จนบ่าไหล่แทบลู่ แต่ก็เถอะทุกเรื่องราวต้องมีหนทาง  
ท้องทุ่งนาสองข้างทางเขียวสดใส ยอดข้าวพริ้วเริงระบำ ฝูงแมลงปอกางปีกเริงล้อลม พี่น้องชาวหงสาก้มๆเงยถอนหญ้าในนา เด็กน้อยส่งสำเนียงท้องถิ่นเจี๊ยวจ๊าวเล่นกันอย่างร่าเริงที่เถียงนา ตานั่งสานตุ้มสานไซมีหลานชายนั่งเรียนอยู่ข้างๆ เป็นภาพและเสียงที่ทำให้ผมลืมความร้อนของแสงแดดยามบ่ายไปได้อย่างไม่รู้ตัว ตามรายทางผมเห็นระบบเหมืองฝายที่เป็นภูมิปัญญาของคนท้องถิ่น เป็นระบบที่ดูแล้วมีประสิทธิผลสูงมาก การแบ่งปันน้ำแสดงให้เห็นถึงความเอื้อเฟื้อกันในหมู่เพื่อนบ้าน
ผมถึงบ้านแท่นเอาเกือบหกโมงเย็น พี่น้องบ้านแท่นกำลังจูงวัวควายกลับจากนา เด็กน้อยวิ่งตียางรถถีบเก่าเล่นบนทางเดิน แมวดำนอนขี้เซาที่ขั้นบันได ดอกชบาสีขาวสดบานอยู่ที่รั้วบ้าน เป็นภาพที่ผมบันทึกอย่างรวดเร็วก่อนหันหลังเดินกลับคืนสู่หงสา ก่อนกลับมีตำรวจบ้านท้าวหนึ่งมาทักว่า “อ้ายมาอย่างใดข้อยบ่เห็นรถยนต์” ตอบเขาไปว่า “ข้อยย่างหัดกายมา ผมเดินออกกำลังกายมา” ผมเดินออกจากบ้านแท่นมากับกลุ่มเด็กชายรุ่นๆสามสี่คน แต่ละคนหาบเอาพวงตุ้มเอี่ยนออกมาดักปลาไหลคนละยี่สิบกว่าอัน มีโอกาสขอลองวางตุ้มอันหนึ่งเด็กๆช่วยกันสอนวิธีเลือกบ่อน วิธีเตรียมบ่อน เขามีวิธีการของเขาที่ผมไม่เคยรู้ ไม่รู้ว่าตุ้มอันนั้นจะได้ปลาไหลรึปล่าว พวกเขาบอกว่า “มื้ออื่นเช้ามืดจั่งสิมากู้”
เด็กๆเดินแยกเข้าไปวางตุ้มในเหมืองไส้ไก่ที่ลึกเข้าไปในทุ่ง ผมเลยโบกมือลา จ้ำเดินกลับตามทางเดิน สายลมยามเย็นพัดเย็นฉ่ำ ท้องฟ้าเริ่มโปรยสายฝน ผมรีบคลี่ผ้ายางออกคลุมตัว เสียงนกกระปูดร้องอืดๆ เสียงเขียดดังออดๆแอดๆ ยามโพล้เพล้กลางท้องทุ่งอยู่คนเดียวอย่างนี้ให้ความรู้สึกพิเศษที่ยากจะสัมผัสได้จากที่ใด
ทุ่มเศษๆผมเดินกลับมาถึงท้ายบ้านดอนชัย เดินไล่หลังแม่บ้านกับลูกสาวตัวน้อยที่หิ้วตะข้องใบโต นางน้อยบอกว่าเอาใส่แม่ไก่กับลูกเจี๊ยบไปเลี้ยงที่นาตอนเย็นก็พากลับบ้านด้วย แม่ลูกแวะอาบน้ำที่ท่าน้ำแก่นก่อนเข้าหมู่บ้าน ส่วนผมได้แต่(ใช้สายตา)บันทึกภาพสาวน้อยสาวใหญ่ที่กระโจมอกอาบน้ำกันอยู่ห้าหกคนก่อนเดินเข้าบ้านดอนชัย เดินตามทางเดินในหมู่บ้านยามเย็นเช่นนี้ ได้ยินเสียงได้สูดกลิ่น ได้เห็นภาพวิถีชนบทที่น่าประทับใจเหมือนกับว่าได้ย้อนเวลากลับไปเมื่อสี่สิบห้าปีก่อนโน้น เสียงกระดึงวัวควายพร้อมกลิ่นสาบจากคอก กลิ่นควันไฟที่ลอยอ้อยอิ่งจากกองหญ้าข้างคอกควาย เสียงแม่บ้านตะโกนเรียกให้ลูกน้อยหยุดเล่นซนที่ลานดินให้รีบไปอาบน้ำ เสียงตะโกนข้ามรั้วทักทายกัน เสียงตำน้ำพริก กลิ่นคั่วแกงจากเตาไฟ เสียงเพลงภาษาถิ่นจากวิทยุ ล้วนเป็นที่ผมคุ้นเคย แต่นานมาแล้ว
เดินผ่านวัดบ้านดอนชัย วัดเล็กๆที่แทรกตัวกลมกลืนกับบ้านของชาวบ้าน ผมต้องผ่อนฝีเท้าลงเมื่อได้ยินเสียงเณรน้อยหัดท่องบทสวดอยู่หน้าสิม สำเนียงเสียงสวดมนตร์ของเมืองหงสากับของชาวยวนเชียงใหม่บ้านผม ช่างใกล้เคียงกันเหลือเกิน
เป็นวันอาทิตย์ที่มีความสุขของผมอีกวันหนึ่ง ที่เมืองหงสา แขวงไชยะบุรี สปป ลาวครับ



Main: 0.091471910476685 sec
Sidebar: 0.019705057144165 sec