มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม จารีตกับสิ่งแวดล้อม
วันก่อนพนักงานอ้ายน้องที่มาขับรถให้นั่งเป็นชาวบ้านหาน มาขอลาหยุดครึ่งวันไป “ส่งสะก๋าน” ญาติที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุขับรถตกท่อข้างถนนที่กำลังก่อสร้างหน้าโรงหมอเมืองหงสา ผู้ตายเป็นช่างเฟอร์นิเจอร์ (เขียนแบบลาว “เฟีนีเจี”) เขามีงานชิ้นสำคัญที่ค้างคาไว้คือ การแกะสลักป้ายบ้านวัฒนธรรมให้กับบ้านเมืองหาน และงานชิ้นนี้เองที่ชาวบ้านต่างโจษจันท์กันว่าเป็นเหตุให้เขามีอันเป็นไป ทั้งนี้เพราะว่าไม้แผ่นใหญ่ที่คณะบ้านหานนำมาให้เขาแกะป้ายเป็นไม้ที่โค่นมาจากป่าดงหรือป่าช้าของหมู่บ้านนั่นเอง วงสนทนาในเรื่องความเฮี้ยนของป่าดงบ้านหานยังได้ขยายเรื่องราวไปอีกหลายเรื่อง เช่น เคยมีคนแอบไปเลื่อยไม้จากป่าดงมาขาย คนซื้อไม้ไปปลูกเรือนปรากฏว่ามีอันเป็นไปกันทั้งครอบครัว เป็นต้น
ผมกำลังจะโยงเข้าสู่เรื่องราวของ “มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม” ที่ท่านครูบาฯว่าจะไปบรรยายที่ใดที่หนึ่งในระยะใกล้ๆนี้ เผื่อจะได้ร่วมแสดงข้อคิดเห็นฝากท่านไปช่วยชวนให้นักศึกษาได้คิดต่อ แต่ผมจะมองในบริบทของจารีตและความเชื่อความนับถือของสังคมที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม นั่นเพราะผมเชื่อว่า โลกเราป่วยหนักเสียแล้ว หากจะช่วยกันรักษา ฟื้นฟู อนุรักษ์สภาพแวดล้อมให้ได้ผล คงต้องเล่นกันถึงการปลูกจิตสำนึก ดึงเอาความเชื่อถือ รากเหง้าของสังคมไทย และการรื้อฟื้นจารีตประเพณี มาให้มีบทบาทมากขึ้น นั่นเพราะคนรุ่นก่อนได้ผ่านการสังเกตุปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เกี่ยวโยงกันมาหลายชั่วอายุคน แล้วจึงมาสรุปเป็นความเชื่อถือ แม้ว่าส่วนใหญ่จะอิงใส่สิ่งที่อยู่เหนือ “ธรรมชาติ”ไปบ้างก็ตาม
เคยได้ฟังการบรรยายของท่าน ดร. อุษา กลิ่นหอม แห่งมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ท่านได้ถอดบทเรียนเรื่อง “การปลูกข้าวแฮกนา” หรือนาตาแฮก ว่านั่นเป็นเพราะคนรุ่นเก่าต้องการตัดวงจรชีวิตการแพร่ระบาดของแมลงสัตรูข้าว แต่ปัจจุบันนี้ไม่มีนาตาแฮกแล้ว หากมีโรคแมลงระบาดก็ใช้วิธีพ่นสารเคมีกำจัดโดยไม่ได้คำนึงถึงสารพิษที่ตกค้างและปนเปื้อนต่อสภาพแวดล้อม
อีกเรื่องหนึ่งที่ดร. อุษา ได้เล่าให้ฟังคือ บทบาทของป่าดอนปู่ตา หรือเขตอภัยทาน ในการเป็นแหล่งแพร่ขยายพันธุ์ของสัตว์นานาชนิด ท่านเคยพบว่าตัวตะกวด ตัวแลนจากป่าดอนปู่ตาแห่งหนึ่งสามารถแพร่ขยายไปได้ไกลหลายๆกิโลเมตร ในสมัยก่อนคนเรามีเกรงกลัวและนับถือดอนปู่ตา รักษาให้รกทึบ จะมีก็แต่เจ้าจ้ำที่ไปบะไปบน ปีหนึ่งก็พากันไปเลี้ยงปู่ตาสักครั้ง แต่ทุกวันนี้แม้แต่ป่าดอนปู่ตา ป่าช้าป่าดง ก็ค่อยๆถูกรถไถเลาะเล็มแหว่งวิ่นเข้าไปทีละน้อยๆ เผลอแป๊บเดียวป่าดอนปู่ตาสามารถมองทะลุฟากโน้นฟากนี้ได้แล้วแถมต้นไม้ใหญ่ก็ถูกโค่นไปเกือบหมด
คนสมัยก่อนเชื่อกันว่าวังน้ำนั้นวังน้ำนี้มีผีเงือกผีงูไม่กล้าลงไปจับปลา ทำให้ได้ประโยชน์ต่อการเป็นแหล่งแพร่ขยายพันธุ์ปลา แต่ทุกวันนี้รู้ว่ามีปลาอยู่ที่ไหนมนุษย์ได้เอาระเบิดไปโยนเอาไฟไปซ๊อตมาหมด ไม่เว้นแม้แต่ปลาในเขตอภัยทานหน้าวัด
ความเชื่อเรื่องโลมาอิรวดีหรือ “ปลาข่า” ของคนลาวแถบลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ช่วยปกปักรักษาให้สัตว์ชนิดนี้ดำรงเผ่าพันธุ์อยู่คู่แม่น้ำโขงอย่างผาสุขมานานแสนนาน แต่เมื่อความจริงได้เผยออกมาว่าสัตว์ก็เป็นเพียงสัตว์ประเภทหนึ่งเท่านั้น การปฏิบัติต่อโลมาก็เปลี่ยนไป แถมยงมีมลพิษที่ปล่อยลงสู่แม่โขงอีก ทำให้ปัจจุบันโลมาแม่น้ำโขงแทบจะสูญพันธุ์
ที่หงสาเอง คนรุ่นปู่รุ่นลุงเขาก็มีความเชื่อเรื่องพญานาคคึกคนอง “เซิงกัน” ก่อนฝนตกน้ำนอง พ่อเฒ่าเล่าว่า สมัยก่อนสามารถรู้ได้ล่วงหน้าสองสามวันว่าจะเกิดฝนตกหนักน้ำป่าไหลบ่ามานองทวมบ้านสวนไร่นา สามารถเก็บกู้พืชผลต้อนสัตว์เลี้ยงไปไว้ที่ดอนได้ทัน ท่านว่าจะได้ยินเสียงแผ่นดินลั่นมาจากทางต้นน้ำแก่น หากเดินขึ้นไปดูที่วังเงือกจะเห็นน้ำเป็นฟองเหมือนปลากัดก่อหวอด และมีกลิ่นคาวมาก ท่านเชื่อว่าพญานาคเซิงกันแล้วจะวางไข่ ท่านว่าหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้แล้วรับรองว่าภายในสองวันฝนจะตกห่าใหญ่จนน้ำแก่นไหลนองท่วมบ้านศรีบุญเรือง ต้องจัดเวรยามเฝ้าระวัง เวลานอนต้องคอยฟังเสียงเคาะเกราะเตือนภัย แต่ท่านก็บอกว่าหลังจากที่มีรถลากไม้เข้ามาขนซุงออกจากป่า พญานาคก็หนีลงน้ำโขงไปคราวน้ำท่วมใหญ่คราโน้นแล้ว หลังจากนั้นชาวบ้านก็ประสบปัญหาน้ำป่าไหลหลากโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัวหลายครั้ง วัว ควายต้องตายไหลน้ำกันหลายตัว
ผมว่าเรื่องนี้มีประเด็น และสามารถอธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์ได้เหมือนกับที่อาจารย์อุษาท่านทำได้ในหลายๆเรื่อง เสียแต่ว่าใครจะเป็นคนสนใจศึกษา หรือจะปล่อยให้คนรุ่นใหม่เขาถือว่าเป็นเรื่องคร่ำครึงมงาย ผมว่า ก่อนที่ความเชื่อถือหรือจารีตของสังคมไทยจะเลือนหายไป เราน่าจะศึกษาและประยุกต์เอาสิ่งเหล่านี้มาช่วยในการรักษ์สิ่งแวดล้อม รักษ์โลกของเราน่าจะดีกว่า งานหลักที่รออยู่หากคิดจะทำ ก็คือ
การถอดรหัสจารีต และความเชื่อที่เกี่ยวกับธรรมชาติ
และงานต่อมาคือนำรหัสนั้นมาประยุกต์
สองข้อง่ายๆเองครับ แต่ทำยากมากๆ
« « Prev : ยินสำเนียง ยลภาพจังหวะชีวิตชนบทหงสา
Next : บ้านวัฒนธรรม อีกกลไกที่ใช้กระตุ้นชุมชน » »
ความคิดเห็นสำหรับ "มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม จารีตกับสิ่งแวดล้อม"