บ้านวัฒนธรรม อีกกลไกที่ใช้กระตุ้นชุมชน
หงสา เมืองเล็กๆโอบล้อมด้วยขุนเขา ขึ้นกับแขวงไชยะบุรี ของ สปป.ลาว ท่านสามารถเข้ามาหงสาได้ทางด่านน้ำเงิน น่าน เข้ามาจากชายแดนไทยเพียง ๓๕ กม. ท่านก็จะสัมผัสกับ “อีกโลกหนึ่งที่แปลกต่าง”
ตีสาม ย่ำรุ่งของวันที่ ๑๘ สิงหา เสียงตีเกราะปลูกพี่น้องชาวบ้านให้รีบตื่นขึ้นมาก่อไฟนึ่งข้าว ปิ้งเนื้อ จัดการห่อเสบียงใส่ย่าม
ตีสี่ เสียงจอแจของแม่ยิง ที่มารวมกันเกล้าผมแต่งตัว
จากนั้นพี่น้องก็พากัน เดินมา เหมารถมา ที่เดิ่นกีฬากลางของเมือง
ใช่ครับ วันนี้วันพิเศษของเมือง ทางแขวงท่านจะมาเปิดป้าย “บ้านวัฒนธรรม”
บ้านสามดีสี่บ่ (หรือสามดีสี่ไม่) เป็นคำจำกัดความที่รวบรัด ในการประกาศยกชุมชนใดขึ้นเป็น “หมู่บ้านวัฒนธรรม” ในสปป.ลาว สำหรับในเมืองหงสาแล้ว ถือว่ามีการประกาศเปิดป้ายหมู่บ้านวัฒนธรรมค่อนข้างช้ากว่าเมืองอื่นๆในสี่เมืองเหนือของแขวงไชยบุรี (ม.เชียงฮ่อน ม.เงิน ม.คอบ ม.หงสา) ท่านบอกว่าเพราะเป็นเมืองใหญ่มีกิจกรรมมาก มีคนมาก การที่จะควบคุมให้ผ่านเกณฑ์ทุกข้อนั้นทำได้ลำบาก ท่านว่าอย่างนั้นจึงได้ประกาศบ้านวัฒนธรรมไปเพียง ๒ หมู่บ้าน คือ บ้านศรีบุญเรืองเมื่อปีกลาย และบ้านเวียงแก้วเมื่อปีก่อนโน้น แต่สำหรับปีนี้ท่านเจ้าเมืองคนใหม่เร่งรัดให้อ้ายน้องพนักงาน และคณะบ้านผลักดันให้หมู่บ้านต่างๆ เพิ่มพูนศักยภาพให้สามารถประกาศเป็นบ้านวัฒนธรรมได้ถึง ๑๒ บ้าน พิธีการ “เปิดบ้านวัด-ทะ-นะ-ทำ” จึงได้จัดขึ้นอย่างใหญ่โต เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหา ที่ผ่านมา โดยมีท่านรองคณะพรรคแขวงมาเป็นประธาน
สามดีที่ว่ามีอะไรบ้าง
หมู่บ้านวัฒนธรรมต้องมีดีสามอย่างคือ
ดีที่หนึ่งได้แก่ เศรษฐกิจดี มีรายได้ต่อครัวเรือนสูงกว่าเกณฑ์ความทุกข์ยาก (๘๒พันกีบต่อคนต่อเดือน) และต้องมีกลุ่มออมทรัพย์หรือธนาคารชุมชนประจำหมู่บ้าน
ดีที่สอง ได้แก่ สุขอนามัยดี เป็นหมู่บ้านที่มีส้วมซึมครบทุกครอบครัว มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำชุมชน มีผดุงครรภ์หมอตำแยอาสาที่ผ่านการฝึกอบรม เป็นต้น
ดีที่สาม ได้แก่ ครอบครัว สังคม และวัฒนธรรมดี มีครอบครัวต้นแบบของ “ครอบครัวเข้มแข็ง ครอบครัวอบอุ่น”
ส่วนสี่บ่ หรือสี่ไม่ ที่ต้องไม่ปรากฏในชุมชน ได้แก่
ต้องไม่มีปัญหาการลักขโมยในชุมชนนั้น ปีนี้มีอยู่หมู่บ้านหนึ่งที่ตำรวจบ้านเองไปลักเครื่องสูบน้ำเขา ก็ตกไป อีกหมู่บ้านหนึ่งตำรวจมาจับเมียนายบ้านตั้งวงเล่นไพ่ก็ตกไปอีก
การปรับปรุงทางกายภาพที่เห็นได้ชัดก่อนการเปิดป้าย คือทุกเรือนต้องสร้างรั้วโดยเน้นการตีไม้ระแนง อาจเป็นไม้เนื้อแข็งหรือไม้ไผ่ก็ได้ นอกจากนั้นก็มีการอนามัยหน้าบ้าน ตัดหญ้า ปลูกต้นไม่ดอกไม้ เผาขยะ และติดธงทิว จะมีกรรมการจากบ้านและจากเมืองไปตรวจสอบก่อน หากไม่ผ่านก็ต้องเรียกเจ้าของบ้านไปอบรมแนวคิดกัน
ส่วนการตรวจสอบสภาพทางเศรษฐกิจ ทางสังคม นั้นทางเมืองได้แต่งตั้งให้อ้ายน้องพนักงานรัฐกร ออกไปเก็บข้อมูล ไปกินนอนในชุมชน หมู่บ้านละ๕-๖ วัน ทีมงานรัฐกรประกอบด้วยรองเจ้าเมือง และพนักงานอีกห้าหกคนจากแขนงการต่างๆ เรียกว่าไปกินอยู่กับชาวบ้านให้ได้ข้อมูลครบถ้วน ไม่เหมือนบางประเทศที่ กชช ๒ ค นั้นยกให้ผู้ใหญ่บ้านกับผู้ช่วยฯนั่งปั่นกันขึ้นมาส่ง และก็ไม่เหมือนบางประเทศที่ต้องระดับอำมาตย์ มหาอำมาตย์ ไปทำโมเดลกัน อิ อิ
หลังจากที่ประกาศเป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมแล้ว ยังมีภาระผูกพันต่อเนื่องอีกก็คือต้องรักษามาตรฐานเอาไว้ให้ได้ ชาวบ้านต้องขยันทำมาหากิน มีการกำหนดบทลงโทษรุนแรงขึ้น กำหนดค่าปรับไหมสูงขึ้นกว่าเดิม มีการตั้งคณะทำงานสอดส่องไม่ให้คนทำผิดฮีตครองประเพณี เหล่านี้เป็นต้น
เออดูๆไปแล้วก็เข้าท่าเหมือนกันนะครับ พัฒนาชุมชนแบบรอบด้านอย่างนี้
« « Prev : มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม จารีตกับสิ่งแวดล้อม
Next : ไล่พระออกจากป่า คุณพระคุณเจ้า » »
1 ความคิดเห็น
สวัสดีครับ
กิจกรรมหรือโครงการแบบนี้ ถ้าทำได้อย่างถาวรหรือระยะยาว ผมว่า เป็นเหมือนสังคมในอุดมคติเลยนะครับ 3 ดี 4 ไม่
ผมรู้จักพี่ที่มาจาก สปป.ลาว มาเรียนด้วยกัน มีบางเรื่องราวที่ หลายคนมองว่า ล้าสมัย แต่ผมว่านั่นคือ ความสุดยอด ที่เมืองไทยทำไม่ได้ เช่น
ในมหาวิทยาลัย จะมีโต๊ะกลม แล้วอาจารย์แต่ละคนสามารถพูดแนะนำตักเตือนกันได้ เป็นต้น (ไม่แน่ใจว่ายังมีอยู่หรือไม่ในปัจจุบัน) และอีกอย่าง คือการตรวจสอบกันและกัน เช่น ใน สปป.ลาว จะไม่มีใครรู้เลยว่า ใครมีตำแหน่งอะไรในพรรค ทำให้มีความเกรงกันอยู่ตลอด เพราะกลัวการตรวจสอบ
พี่เขาเล่าว่า มี ผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่ง (ผมไม่แน่ใจว่าเรียกถูกหรือไม่ ประมาณว่า ข้าราชการระดับสูงในท้องถิ่น) ทำผิด ถูกปลดเป็นประชาชนธรรมดาเลย ผมว่า บางอย่างก็เด็ดขาดดีครับ ไม่เหมือนบางประเทศ ข้าราชการในท้องถิ่น แม้แต่พลฯ ตำรวจ ก็ยังมีบารมีเลยครับ
ผมเลยไม่แน่ใจว่า ใครเจริญกว่ากัน และความเจริญวัดกันที่ตรงไหนนะครับ