กระบี่ที่จำได้(ลางๆ) บทบันทึกก่อนไปกระบี่

1 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 26 มีนาคม 2009 เวลา 3:47 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1766


เซ็งๆกับบรรยากาศ ทั้งที่ทำงาน(ไม่มีหลัก เปลี่ยนแนวคิดและทิศทางจนตามกันไม่ไหว ตอนเสนองานไม่ยอมรับรู้ แล้วมาบอกว่าไม่เคยมี) ทั้งการเมือง(ใกล้เลือกผู้นำใหม่ในหงสา ทุกเรื่องที่เป็นผลงาน ต้องอย่าให้ท่านใดเกินหน้าท่านอื่น) ทั้งฝุ่นควันในเมืองหงสา(ฝนยังไม่ตกมาสักทีไฟป่าก็ไหม้เอาๆ) กระนั้นเลยไหนๆก็จะได้ไปเล่นกับหลานๆที่กระบี่ต้นเดือนหน้า ใกล้ๆนี้แล้ว ลองมาทบทวนความทรงจำเกี่ยวกับ “กระบี่” ที่เคยสัมผัส มาเรียงร้อยเป็นบันทึกน่าจะดี คุณหลานอ่านดูดีๆล่ะ ลุงแอบใส่ความรู้ไว้หลายเรื่องพอประมาณ
ยี่สิบปีกว่าๆที่ผ่านมา เมื่อคราวที่เป็นนักวิชาการดินฝึกหัด ได้สัมผัสกระบี่ครั้งแรกที่คลองท่อม มิได้ไปสัมผัสตัวจริงของอำเภอคลองท่อมแต่ประการใดดอก แต่รู้จัก “ดินชุดคลองท่อม” หลานๆรู้จักไหมชุดดินคืออะไร พื้นดินของบ้านเรานี้เขาแบ่งเป็นประเภทตามลักษณะของดินประเภทหนึ่งๆ เรียกว่าชุดดินหนึ่ง ตั้งชื่อตามอำเภอที่พบดินประเภทนั้นๆครั้งแรก เช่น ดินชุดหางดง ดินชุดปากช่อง เป็นต้น นักวิชาการเขาแบ่งดินของประเทศไทยออกได้ราวสองร้อยชุดดินดินชุดคลองท่อม เขามีชื่อสากลว่า  Fine-loamy, kaolinitic, isohyperthermic Typic Kandiudults  ชื่อยากดีเนาะแต่ก็ช่างเถอะใส่ไว้หรูๆไปงั้นแหละ เอาไว้ใครสนใจไปเรียนวิชาปฐพีศาสตร์จะได้เก่งเหมือนป้าจุ๋มไง โดยรวมแล้วดินชุดคลองท่อมเป็นดินที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกพืชหลายชนิด ทั้งพืชไร่ ไม้ผล และไม้ยืนต้น แต่ไม่เหมาะที่จะใช้ทำนาเพราะเก็บกักน้ำไม่ดี
สองสามปีต่อมา ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบทำแผนแม่บทการฟื้นฟูสภาพเหมืองลิกไนต์ในเขตภาคเหนือ ก็ได้อาศัยบทรายงานแผนฟื้นฟูฯของเหมืองลิกไนต์กระบี่นี่แหละเป็นแม่แบบในการศึกษา เพราะว่าที่กระบี่นี้มีเหมืองลิกไนต์ และโรงไฟฟ้าแห่งแรกๆของเมืองไทยที่ทุกวันนี้ยังดำเนินกิจการอยู่ (ขนาดบริษัทรถทัวร์ยังชื่อลิกไนต์ทัวร์เลย) การประกอบกิจการเหมืองแร่ใดๆก็ตาม ผู้ประกอบการต้องทำการปรับปรุงพื้นที่กลับคืนทั้งในช่วงดำเนินการหรือที่เขาเรียกว่า mine reclamation รวมทั้งแผนการปรับปรุงพื้นที่เหมืองเมื่อสิ้นสุดโครงการหรือ mine closure plan เขาต้องกันเงินส่วนหนึ่งซึ่งมากโขอยู่เอาไว้ทำกิจกรรมการฟื้นฟูเหมืองด้วยนะจ๊ะ หากทำแผนให้เจ๋งๆแล้วควบคุมให้เจ้าของเมืองทำตามแผน พร้อมกับแบ่งงบประมาณมาให้ตามที่ตั้งไว้ ก็สามารถกู้คืนสภาพแวดล้อมได้ไม่มากก็น้อย เรียกว่าลุงได้รู้จักกับกระบี่มากขึ้นเพราะงานชิ้นนี้
ได้ไปสัมผัสกระบี่ตัวจริง เมื่อสักสิบปีก่อนในคราวที่รับผิดชอบ “โครงการสร้างโลกใหม่ให้ช้างไทย” เป็นโครงการที่น่าสนใจ ที่หน่วยงานเจ้าภาพเขามีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือช้างเร่ร่อน ให้มีที่อยู่ที่หารายได้เป็นหลักแหล่ง ลุงเปลี่ยนได้กินตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ได้ไปช่วยเขาดูว่าหากนำช้างมาอยู่รวมกัน มีการก่อสร้างอาคารให้บริการนักท่องเที่ยว แล้วจะมีผลกระทบต่อสภาพป่าไม้ และแหล่งน้ำอย่างไรบ้าง หรือมีผลกระทบต่อตัวช้างเองอย่างไรบ้าง สำหรับพื้นที่ภาคใต้คณะผู้ศึกษาได้เลือกเอาพื้นที่คลองปะกาสัย เป็นแหล่งพัฒนาโครงการ ด้วยเหตุผลที่ว่า จังหวัดกระบี่เป็นบ้านของ “พระเศวตอดุลยเดชพาหน” ช้างเผือกคู่พระบารมี เชือกแรกของรัชกาลปัจจุบัน คุณพระท่านถูกคล้องได้จากจังหวัดกระบี่ ในปี 2499 ส่วนพื้นที่พัฒนาโครงการในภาคอื่นๆ ได้แก่ที่บ้านชาวกูยตากลาง และที่ห้างฉัตรในการทำงานก็ต้อง เรียนรู้ถึงนิสัยใจคอ ความต้องการอาหาร น้ำดื่ม และที่อยู่อาศัยของช้าง แทบจะต้องไปกินไปอยู่กับควาญช้างเลยทีเดียว ไม่ทราบว่าแผนแม่บทได้ถูกนำไปขยายต่อมากน้อยเพียงใด แต่ทุกวันนี้ก็ยังพบเห็นมีช้างมาเดินในกรุงและในเมืองใหญ่อยู่เนืองๆ
แต่งาน “ช้าง”นี่ก็ทำให้ได้ไปกระบี่ ไปแบบทุลักทุเล เพราะทีมงานเขาไปกันจนกลับมาหมดแล้ว แต่ตัวเองยังติดงานอื่นอยู่ รายงานก็จะต้องส่ง ตัดสินใจผ่าฟันคุดเสร็จแล้วก็รีบกระโดดเกาะรถทัวร์ไป ถึงกระบี่เช้าโทรหาหัวหน้า ออป. ท่านมารับเข้าพื้นที่โครงการ ให้เจ้าหน้าที่พาชมบริเวณที่เลี้ยงช้าง วนเวียนเก็บข้อมูลอยู่ในสวนป่าจนบ่ายแก่ๆ พี่เขาพากลับมาหาที่พัก แวะชมสุสานหอย ขับรถวนไปอ่าวนาง แล้วก็มาพักแถวตลาด ตอนเย็นเดินเล่นริมเขื่อนแถบท่าเรือไปเกาะพีพี รุ่งเช้าไปคุยกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวถึงความเป็นไปได้ที่จะทำทัวร์ช้าง บ่ายๆนั่งสองแถวไปขึ้นรถทัวร์กลับ
นี่เป็นความทรงจำเกี่ยวกับกระบี่ที่ลุงเปลี่ยนยังจำได้ จะว่าไปแล้วก็มากโขอยู่ เกือบสิบปีแล้วที่จะได้ไปเยือนกระบี่อีกครั้ง กระบี่จะเปลี่ยนแปลงไปทางใดแล้วก็ไม่รู้
รู้แต่ว่ากระบี่วันนี้ มีพี่หมอเจ๊ตา (ที่ชำนาญทางหมอดูด้วย) เท่านี้ก็คุ้มที่จะไปแล้วครับ


ตีแตก(ที่สวนป่ามหาชีวาลัย)อีสาน

3 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 14 มีนาคม 2009 เวลา 9:21 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1996


บรรยากาศกิจกรรม “ตีแตกอีสาน” ที่สวนป่าฯ เมื่อปลายเดือนกุมภาที่ผ่านมาได้ง่ายๆโดยสังเขปดังนี้
หลากหลายผู้คน ผู้รู้ ผู้ตระหนัก ผู้แสวงหา มาเจอกัน
แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ไร้กระบวนการ ไร้ขอบเขต
เหล่าชาวแซ่เฮฯเรา ฉกฉวยทุกโอกาส ในการเฮฯแบบมีศาสตร์อย่างเอื้ออาทร
ตีแตกอีสาน
ในทัศนะของผม
ตีจากการทำงานในอีสานมามากกว่าสิบปี
เท่าที่มีส่วนร่วมในงานด้านการพัฒนาหลายรูปแบบ อาทิ ชลประทาน การเกษตร ดินเค็ม โรงงานอุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม การสร้างโลกใหม่ให้ช้างไทย และการพัฒนาชุมชน การพัฒนาองค์กรชาวบ้าน การเชื่อมเครือข่าย และ และ และ
ผมตีความได้ว่า
ชาวอีสานถูกมองอย่างไม่เข้าใจ มองจากภายนอก
ไม่ได้มองที่ตัวตน จิตวิญญาณที่แท้จริง
ตัวอย่าง มีมาตั้งแต่โบราณ เช่น บ้านกุดหูลิง แปลตามชื่อ คือ หนองน้ำหลงประเภทหนึ่งที่เกิดจากลำน้ำเปลี่ยนทิศทางเดิน แต่ทางบางกอก แปลเป็น กุฏิที่มีลิง เลยเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “วานรนิวาส” ความหมายเปลี่ยนไปหมด
หรือตัวอย่างเรื่องชวนหัวที่ผมไปพบ ที่ลูกเขยชาวต่างถิ่นเอา “ดินเอียด” มาถมที่ปลูกบ้าน เพราะเข้าใจว่า ดินเอียดคือดินที่มีเนื้อละเอียด ทั้งๆที่ดินเอียดแปลว่าดินเค็ม ผลที่ได้ก็คือบ้านเรือนที่ก่อด้วยปูนอยู่ได้สองสามปีก็ผุก็เปื่อยไปหมด
การทำงานกับคนอีสาน จำเป็นต้องเข้าใจระบบ “นิเวศวัฒนธรรม”ท้องถิ่น
เหมือนกับผม ต้องเรียนรู้ที่จะเป็น “เจ้าจ้ำ”ของชาวโส้ดงหลวงให้ได้

แต่ที่พบเห็นในการทำงานในอีสาน ผมกลับพบว่า
๑ พี่น้องถูกแย่งชิง ถูกหน่วยงานนั้นลากไป หน่วยงานนี้ลากมา หมู่บ้านหนึ่งๆมีการตั้งกลุ่มสามสิบกลุ่มก็มี มีประเภทปักป้ายถ่ายรูปก็มี
๒ นโยบายปูพรมจากส่วนกลาง ไม่ได้เลือกปฏิบัติให้สอดคล้องกับวิถีท้องถิ่น เช่นแจกเมล็ดผักคะน้าให้ชาวบ้าน แต่พี่น้องกินไม่เป็น

ความจริงพี่น้องชาวอีสานมีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สั่งสมสืบทอดกันมาแต่ยาวนาน มีปราชญ์มีผู้รู้มากมาย
มีศักยภาพในการรวมกลุ่ม เป็นเครือข่าย เป็นองค์กรชาวบ้าน เช่น ที่กุดชุม ที่กุดบาก เป็นตัวอย่าง
แนวทางการพัฒนาที่คิดว่าจะเป็นไปได้สวย
๑ ต้องอิงระบบ เกษตรนิเวศวัฒนธรรม
๒ พี่น้องมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ปัญหาของชุมชน และกำหนดแผนพัฒนาชุมชน

ตีแตก “สวนป่า”
ได้ไปสวนป่าหนแรกก็คราวนี้ขอแปลภาพที่ได้พบเห็นได้สัมผัสออกเป็นตัวอักษร ได้ดังนี้
๑ สวนป่า เป็นโอเอซีสของภูมิปัญญา กลางเวิ้งทะเลทราย เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นแหล่งเผยแพร่เคล็ดวิชาสหสาขา
๒ สวนป่า มีน้ำใจไมตรีเปี่ยมล้น แม่หวี น้องออย เตรียมอาหารตัวเป็นเกลียวด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม ยามดึกเห็นแม่หวีถือไฟฉายท่อมเดินไปดูความสุขสบายของแขกเหรื่อ
๓ แม้แต่เจ้าบ้านรายอื่นๆ ก็ดูเหมือนจะเต็มใจต้อนรับคนแปลกหน้า เจ้าทองเหมียวแม่ลูก เจ้าตาหวานที่วิ่งมาแสดงระบำให้ดูอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เจ้าไก่ต๊อกและเจ้าเป็ดขาวที่เดินเป็นแถวมาทักทายอย่างน่าชม เจ้าวัวรุ่นกินฟางในคอกอย่างเป็นระเบียบ เจ้านกตัวน้อยช่วยกินหนอนในแปลงผักส่งเสียงไพเราะขับกล่อม หรือแม้กระทั่งเจ้าตั๊กแตนตำข้าวเห็นผมนั่งเหงายังบินมาเล่นด้วยอยู่ตั้งนานสองนาน
๔  ได้เห็นได้เรียนรู้ถึงวิถีแห่งธรรมชาติ เห็นปลวกพึ่งพาเปลือกไม้ เห็นต้นน้อยหน่าและต้นมะสังทิ้งผลลงฝากไว้กับผืนดินเพื่อรักษาชีวิตให้รอดผ่านฤดูแล้ง เห็นฝูงแมงแคงเกาะอยู่เต็มกิ่งไม้
แมงแคงกลิ่นฉุน ทางเหนือเรียกแมงแกง ทางวิชาการเรียกมวนพิฆาตเป็นตัวห้ำที่สำคัญที่ช่วยควบคุมหนอนกินผัก แต่แมงแคงสำหรับคนอีสานแล้วเป็นอาหารชั้นยอด
ข้อคิดจากแมงแคง สรุปได้ว่า
แม้ว่าอีสานจะแล้งจะร้อนเพียงใด ชาวอีสานก็ยังมีวิถีของชาวอีสาน วิถีแห่งการอยู่รอด ถ่ายทอดเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น
ของดีมีอยู่ทั่วอีสาน ขึ้นอยู่ที่ว่าใครจะตี(โจทย์)แตก


 

 


เล่าเรื่องเมืองหงสา: หอมกลิ่นดอกรัง ที่บ้านกิ่วงิ้ว

1 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 10 มีนาคม 2009 เวลา 8:10 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3207

สวัสดีวันที่ ๙มีนา จากเมืองหงสาครับ
วันนี้ที่เมืองลาวเขาหยุดชดเชยกันครับ ชดเชยวันสตรีสากล(๘ มีนา) ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ เมืองไทยเราเหมือนกับไม่ปรากฏมีวันนี้เป็นวันหยุด (รึว่าผมจำไม่ได้ไปเอง….บ้านเราสากลกว่าเขาเยอะไม่หยุดได้อย่างไรเล่า?)
อากาศที่เมืองหงสา เริ่มร้อนในตอนกลางวัน แต่ยามดึกและยามค่อนแจ้งยังทิ้งผ้านวมไม่ได้ครับ  พี่น้องชาวหงสาเริ่มเผาไร่กันแล้ว บางแห่งควบคุมไฟไม่ได้ลุกลามไหม้ป่ากันหลายแห่ง กลางคืนมองไปทางไหนก็เห็นแต่แนวไฟระยิบระยับเป็นวงกว้าง เป็นความงดงามที่มาคู่กับความเสียหายอย่างใหญ่หลวง
เมื่อเช้าไปบ้านกิ่วงิ้ว(เดิม)มาครับ ไปหาพื้นที่ปลูกป่าตามโครงการฟื้นฟูสภาพป่าที่ได้เสนอแผนไว้ กะว่าจะให้พี่น้องมีส่วนร่วมทั้งในการคัดเลือกพื้นที่การปลูกและการดูแลรักษา โดยให้ห้องการกสิกรรมป่าไม้เมืองออกหน้า ส่วนโครงการเราสนับสนุนกล้าไม้และค่าแรงในการปลูก ระหว่างที่อ้ายน้องทีมงานกับผู้เฒ่าแนวโฮมพากันไปเดินจับพิกัดทำวงรอบพื้นที่กัน คนง่อยอย่างผมเขาให้นั่งรอใต้ร่มไม้ ว่าจะคุยกับผู้เฒ่าชาวไปรเรื่องฮีตคองกับการหาอยู่หากิน แต่มองไปทางไหนก็เห็นมีแต่เด็กๆกับผู้หญิงเลยไม่รู้จะคุยกับใคร
ในหมู่ไม้ที่ผมไปอาศัยร่มเงาอยู่นั้นมีต้นไม้รังอยู่ต้นหนึ่ง ที่กำลังทะยอยทิ้งดอกร่วงหล่นลงบนพื้นอย่างต่อเนื่อง กลิ่นหอมของดอกไม้กำจรไปทั่ว หอมเย็น หอมนุ่ม หอมละมุน กับกลิ่นเฉพาะของดอกไม้ป่า ท่ามกลางเสียงจั๊กจั่นเรไรระงมขับกล่อม เมื่อสายลมร้อนวูบพัดผ่านมา ใบไม้แห้งสีแดงฉานหลุดจากกิ่ง คว้างหมุนลงสัมผัสพื้นอย่างแผ่วเบา ทั้งดอกต้นรังและใบไม้พร้อมที่จะสลายตัวปลดปล่อยธาตุอาหารคืนสู่แม่ธรณี ให้หมู่มวลต้นไม้น้อยใหญ่ได้นำใช้ประโยชน์อีก ธรรมชาติหมุนเวียนไปตามกาลเวลาเช่นนี้เอง

ผมเกิดความคิดอยากจะรวบรวมเจ้าดอกต้นรังมาให้ได้สักกอบหนึ่ง จึงชวนเอาสาวน้อยชาวไปรชื่อ “นางพัด”มานั่งเก็บกันทีละดอกๆจนได้ปริมาณมากโข เลยได้รูปถ่ายมาอวดพี่น้อง ส่วนกลิ่นนั้นจะเอาติดจมูกไปฝากภายหลัง ผมว่าถ้าหากมีโอกาสจะพาเด็กๆลองรวบรวมบรรดาดอกไม้ป่าที่มีมากมายยามต้นฤดูร้อนอย่างนี้ ลองทำเป็นเครื่องหอม บรรจุในกระดาษสา หรือกระดาษที่ทำจากหน่อไม้ไผ่ที่พี่น้องหงสาก็ทำใช้กันอยู่ ทำเป็นเครื่องหอมเอาไปขายหารายได้มาจุนเจือ เป็นค่าสมุดดินสอของเด็กๆ คงเป็นไปได้ทีเดียว ขนาดน้องพัดมาช่วยเก็บไม่ถึงครึ่งชั่วโมงยังได้ตั้งเยอะ “แต่ก็ได้แค่คิดละมั้ง” งานประจำทุกวันนี้ก็แทบไม่ได้หยุดอยู่แล้ว

บ้านกิ่วงิ้ว ที่ต้องวงเล็บไว้ว่า (เดิม) เพราะปัจจุบันไม่ได้อยู่ที่นี่แล้ว เรียกได้ว่าไม่มีบ้านกิ่วงิ้วเหลืออยู่แล้วก็ยังได้ เนื่องจากว่าทางการท่านสั่งให้ชาวบ้านกิ่วงิ้วย้ายลงไปอยู่รวมกับบ้านน้ำแก่น ตามนโยบาย “รวมศูนย์กลุ่มบ้านเพื่อพัฒนา” หรือ collectivization ไปได้สามสี่ปีมาแล้ว อันที่จริงการรวบรวมไพร่พลเยี่ยงนี้บ้านเราก็เคยทำกันมาแล้ว ก็ยุค “เก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง”ในระยะฟื้นตัวของเมืองเชียงใหม่อย่างไรเล่าครับ การรวมศูนย์บ้านเพื่อพัฒนานั้น เท่าที่ได้รู้ได้เห็น ก็พบว่ามีทั้งผลดี และมุมที่น่าเป็นห่วง
ผลดีก็คือ เป็นการรวบรวมชุมชนเล็กๆที่อยู่กระจัดกระจายตามหุบห้วยภูดอย มารวมกันอยู่ใกล้ตัวเมือง หรือใกล้ทางรถ ทำให้การสัญจรไปมาสะดวก มีการตั้งโรงเรียนมัธยม ตั้งสุขศาลา ทำให้เด็กๆเข้าถึงการศึกษา และบริการสาธารณสุขได้ง่าย เรื่องไฟฟ้า น้ำอุปโภคบริโภคครบพร้อม มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร มีฝ่ายภาษี การเงิน การเกษตร มาประจำที่กลุ่มบ้าน
อย่างไรก็ตาม ในข้อที่น่าเป็นห่วงก็ยังมีอยู่หลายประการ เช่น
 แต่ละชนเผ่ามีฮีตคอง วิถีชีวิตที่แตกต่างกัน พี่น้องชาวไปรขยันทำไร่จนขึ้นชื่อ พี่น้องชาวขมุอยู่อย่างพอเพียงเวลาที่เหลือชอบดื่ม พี่น้องชาวลาวสูงชอบเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ
 ความขัดแย้งจากการแย่งพื้นที่ทำไร่กัน
 การแย่งใช้ทรัพยากรจากป่า และจากธรรมชาติกัน เป็นต้น
ประเด็นเหล่านี้ยังมีให้เห็น แม้ว่าจะปรากฏเพียงเลาๆลางๆก็ตาม เหมือนกับที่ได้คุยกับครอบครัวของชาวไปร ๔ ครอบครัวที่ต้องกลับมาปลูกขนำอยู่ที่บ้านกิ่วงิ้วเดิม เพราะ “ไม่มีที่เลี้ยงวัว” “อยู่ที่โน่นไม่มีที่ทำไร่ มีก็ดินไม่ดี”
อยากนำมาเล่าสู่กันฟัง
อยากบอกว่าทุกอย่างมีทั้งดีทั้งเสีย
เพียงแต่ว่าเราจะช่วยเยียวยาผลเสียนั้นได้อย่างไร
หากทำได้ก็ win win



Main: 0.11740398406982 sec
Sidebar: 0.020756959915161 sec