Siltation ตกตะกอนความปิติในรอบปี ๒๕๕๑

14 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 31 ธันวาคม 2008 เวลา 9:57 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3315

ปีใหม่นี้ไปไหน? ปีใหม่กลับบ้านไหม? ทำไมไม่กลับบ้านไม่คิดถึงครอบครัวเหรอ? เป็นคำถามที่ผมมักได้รับบ่อยๆจากเพื่อนร่วมงาน น้องๆผู้ช่วยงาน แม่บ้านที่มาทำความสะอาดห้อง หรือยามหน้าลิฟต์ ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวปีใหม่สากล รวมถึงวันหยุดยาวปีใหม่ไท(สงกรานต์) ผมมักตอบคำถามเหล่านี้อย่างแกนๆไปตามแต่จะคิดได้หรือตามแต่อารมณ์ในชั่วขณะนั้น งานเยอะบ้าง ติดธุระบ้าง ไม่อยากเบียดคนบ้าง หรือบางทีก็บอกเขาไปว่าเดี๋ยวทางบ้านเป็นฝ่ายมาหาเราเอง แต่คำตอบที่แท้จริงคือ ไม่อยากไปไหนครับ ไม่มีที่ไปครับ ไม่มีครอบครัวครับ อยากอยู่เงียบๆคนเดียวสักสี่ห้าวันครับ
และแล้วเมื่อถึงวันทำงานวันสุดท้ายก่อนหยุดยาวก็จัดการกักตุนเสบียงอาหารเครื่องดื่มขนมครบตามวันที่จะอยู่ในห้อง แล้วก็ไม่ออกจากห้องไปไหนสี่ห้าวัน พร้อมกับปิดการติดต่อสื่อสารทั้งหมด ปีนี้ก็เช่นเดิมครับ แต่คงไม่ถึงกับขังตัวไว้ในห้องเหมือนเมืองไทย เพื่อนร่วมบ้านห้าหกคนกลับหมดแล้ว ได้เวลาปลีกวิเวกเสียที แต่ที่ลาวนี่เขาปิดสำนักงานเฉพาะวันที่๑ มกราคม ส่วนวันสิ้นปีไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ
อยู่คนเดียวทำอะไร อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ทบทวนกิจกรรมในรอบปี วางแผนปีหน้า นอน เปิดอาหารกล่องชิม ที่กล่าวมาข้างต้นแค่คิดว่าจะทำนะครับ เผลอแป๊ปเดียวเองผ่านไปห้าวันแล้ว สิ่งที่คิดว่าจะทำแล้วได้ทำสำเร็จก็คือการเปิดกล่องอาหารและขนมจัดการได้หมดตามที่ซื้อมา ปีนี้ลองใหม่นึกอยากเลียนแบบ ส.ค.ส. ที่เคยได้รับจากอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ท่านหนึ่ง ทุกๆปีท่านจะส่งมาเล่าให้ฟังว่าท่านและคู่ชีวิตได้ปั่นเสือหมอบไปที่ไหนได้ระยะทางรวมเท่าไหร่ อย่ากระนั้นเลยเรามาลองนั่งทบทวนความปิติสุขที่ได้รับที่บังเกิดในรอบปีออกมาเป็นบันทึกดีกว่า ส่วนขนมกับอาหารกล่องปีนี้ต้องอด เพราะที่หงสาหากคิดจะตุนก็เห็นจะมีแต่กล้วยน้ำว้าเท่านั้นเอง

สิ่งดีๆในรอบปีนี้ถือว่ามีมากมาย หรืออาจเป็นเพราะรู้จักมองโลกให้สวยงามมากขึ้นก็เป็นได้ลองมาไล่เลียงดูกันเถอะครับ

๑. ปีนี้งานเข้าตั้งแต่ต้นปี ได้ขึ้นล่องแม่น้ำโขงระหว่างหลวงพระบางกับไชยะบุรีครึ่งค่อนเดือน มีความสุขมาก ได้รอดปลอดภัยจากแก่งหลวงทำให้คิดถึงคนที่เก็บไว้ในซอกลึกของสมอง นำออกมาเขียนบันทึกชุด “เขียนถึงคนของหัวใจจากไชยะบุรี” เขียนออกมาจากใจถึงใครบางคนได้อย่างละมุนเล่นเอา(หลอกล่อ)ให้สาวๆมาเป็นแฟนบันทึกได้สองสามราย
๒. จากนั้นได้มาอยู่ในแดนดินสงบสุขแห่งเมืองหงสา เหมือนกับได้ย้อนเวลากลับไปเมื่อยามวัยเด็ก หรือตามหาฝันวัยเด็กที่หล่นหาย ได้สัมผัสธรรมชาติที่งดงาม และขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามที่หายไปจากบ้านเรา เขียนไว้ในบันทึกชุด “เล่าเรื่องเมืองหงสา” ที่เมืองนี้ได้มีโอกาสสร้างแผนงานที่คิดว่าจะสามารถช่วยเหลือพี่น้องให้สามารถฟื้นฟูเยียวยาวิถีชีวิต จากบาดแผลของ “การพัฒนา” ได้มีโอกาสต้อนรับท่านผู้นำอันดับสูงที่กำกับนโยบายของประเทศชาติ ที่สำคัญคือมีโอกาสได้นำเสนอความคิดเห็น สิ่งที่อยากคิดอยากทำ ที่อยากสร้างความสุขให้ผู้เดือดร้อน เริ่มรู้สึกได้ว่าความฝันถึงเมื่อครั้งที่ก้าวออกมาจากงานประจำ ที่ว่า “อยู่ที่นี่ได้ช่วยคนได้เท่านี้ไปอยู่ที่โน่นจะมีโอกาสช่วยคนได้มากกว่านี้ตามศักยภาพของตนเอง” ได้ปรากฏในเชิงประจักษ์
๓. ได้ไปสะพายย่ามเที่ยวลาวเหนือขาไปแบบติดดิน ส่วนขากลับแบบจ้าวน้อย นอกเหนือจากประสบการณ์ และสิ่งที่ได้เรียนรู้ตลอดการเดินทางตามที่เขียนไว้ในบันทึกชุด “รับลมหนาวที่ลาวเหนือ” แล้ว ยังได้ทะลายกำแพงความกลัวของตัวเอง ที่ได้แต่คิดว่าป่วยร่างกายจะไม่ไหว แต่ที่ไหนได้หากใจคิดจะไปที่ไหนๆก็ไปได้ ปีหน้าจะไปสิกขิมให้ดู
๔. ได้เปิดบันทึก siltation ในบ้านหลังที่สองที่เพื่อนบ้านในชุมชนเล็กๆแห่งนี้รู้จักรักใคร่กันแทบทุกคน ตั้งใจไว้ว่าอยากจะเอาไว้เก็บตะกอนความคิด ไม่อยากบันทึกอะไรเรื่อยเปื่อย หากอยากเจ๊าะแจ๊ะก็ออกมาคุยกันที่ลานรวมเอา แต่เอาไปเอามาดูเหมือนจะเริ่มเป๋ ด้วยเหตุมีหลานจอนป่วนมาคอยกวนน้ำไม่ให้ตกตะกอน แต่บ้านหลังเก่าที่ชุมชนเมืองใหญ่ก็ยังแวะไปเยี่ยมเยือนอยู่เสมอ สินค้าที่นำไปแสดงที่ห้องในบ้านชุมชนใหญ่ ตั้งใจจะนำเสนอองค์ความรู้หรือเรื่องแปลกใหม่ ที่จะได้ “ร้อยเรียงเรื่องที่ผ่านพบ” เอาไว้แลกเปลี่ยนกับผู้รู้ท่านอื่นๆ แต่บางครั้งตัดสินใจไม่ได้ก็นำเสนอเสียทั้งสองบ้านเลย
๕. ได้รับ รับความไว้วางใจจากหลายภาคส่วน เจ้าของงาน เพื่อนร่วมงาน พี่น้องชาวบ้านที่ลงไปคลุกคลี ได้รับการร้องเรียก ให้อยู่ต่อ ให้กลับไปทำงานในที่ที่จากมา แสดงว่าแนวทางและความตั้งใจทำงานของเราเป็นที่ถูกใจอยู่
๖. ได้ให้ ทั้งการให้โดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ให้โดยตั้งใจคือการเต็มใจให้กับเพื่อนพ้องน้องพี่ที่เดือดร้อน ให้โดยไม่ตั้งใจคือเขาเดือดร้อนมาขอยืม เห็นเขาเดือดร้อนจริงๆต้องไปรักษาตัวที่เมืองไทย ต้องต่อทุนค้าขาย อะไรทำนองนั้น เมื่อให้ยืมแล้วเขาไม่มีคืนให้ ก็ถือว่าให้เขาไปก็แล้วกัน จำนวนไม่มากไม่น้อยคงเท่าๆกับปีผ่านๆมาทุกๆปี ชะตาเราคงจะเกิดมาเป็นผู้ให้ ให้แล้วเราก็ไม่เดือดร้อนยังคงพอมีข้าวกินอิ่มทุกมื้อคิดว่าได้ให้ปิติก็เกิด
๗. สุดยอดแห่งปิติสุขที่ข้ามไม่ได้คือ การที่ได้มีโอกาสไปพบปะกับเพื่อนแซ่เฮ ทั้งที่ภูเก็ตในเดือนเมษายน และที่เชียงรายเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ขอบรรยายความสุข “ในรูปแบบไร้อักษร” ก็แล้วกัน
นี่เป็นความสุขของผมที่ตกตะกอนได้ครับ
คนเขาว่ากันว่าความปิติสุขก่อให้เกิดพลังไร้ขอบเขต ในโอกาสจะต้อนรับปีใหม่นี้ ขอส่งมอบความปิติสุขที่บังเกิดในจิตใจ ส่งผ่านไปยังผู้อ่านทุกท่าน และเพื่อนร่วมโลกทุกชีวิต


เสน่ห์คำลาว: “ลูกบ่ไห้ อย่าเอานมให้กิ๋น”

1 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 26 ธันวาคม 2008 เวลา 1:18 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1986


ที่ประชุมคณะทำงานครั้งล่าสุด ในระหว่างการนำเสนอแผนงานของผม แน่นอนล่ะเป็นแผนการฟื้นฟูวิถีชีวิตที่สร้างขึ้นมาจากความห่วงใยพี่น้องชาวบ้าน ก็เขาจ้างผมให้มาเป็น “ฝ่ายชาวบ้าน”นี่นา ข้อเสนอของผมจึงเป็นแบบอภิมหาโปรเจ็คห่วงหน้าพะวงหลัง ทั้งทางด้านอาชีพหลัก อาชีพรอง เรื่องทางสังคม เรื่องของครอบครัวแม่ร้างนางหม้าย ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ขาดแรงงาน ครอบครัวคนพิการด้อยโอกาส อาชีพเสริมสำหรับแม่บ้าน  เยอะแยะไปหมด
พอถึงรอบการแสดงความคิดเห็น ท่านเชียงสง หัวหน้าห้องการแรงงานสวัสดิการสังคม อภิปรายว่า “ลูกบ่ไห้ อย่าเอานมให้กิ๋น” แปลเป็นไทยว่า “ลูกยังไม่ร้องอย่าเพิ่งเอานมป้อน”

เจอคำโบราณที่โดนใจเข้าอีกคำแล้วครับ ลองนึกถึงสมัยก่อนที่ยังเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ พอลูกร้องก็จัดการเอานมป้อนลูก อิ่มแล้วเจ้าตัวเล็กก็หลับปุ๋ย แต่ทางพยาบาลเขาว่าแม่จะรู้สึกได้เองว่าถึงเวลาให้นมลูกหรือยังจากอาการคัดเต้านม(breast congest)แสดงว่าคนที่คิดคำนี้เป็นผู้ชายที่ไม่รู้เรื่องทางสรีระของผู้หญิงดีเท่าไร

คิดต่อจากคำว่า “ลูกบ่ไห้ อย่าเอานมให้กิ๋น”หากเปรียบกับการวางแผนงาน หรือคิดกิจกรรมใดๆสำหรับพี่น้องละก็ การที่เราคิดเองหรือคิดแทนพี่น้อง แล้วสรรหาทุกสิ่งทุกอย่างมาป้อน
ทั้งๆที่ไม่ใช่ความต้องการของพี่น้องนั้นก็คงจะไม่เข้าท่าเอาเสียเลย เพราะอาจจะเป็นการเยียวยาแบบ “เกาไม่ถูกที่คัน” ผลสุดท้ายความหวังดีของเราก็อาจกลายเป็นประสงค์ร้ายไป หรือกิจกรรมอาจประสบความล้มเหลว พี่น้องจะเข้าร่วมกิจกรรมร่วมโครงการแต่เพียงในระยะแรกเพราะ “เกรงใจหัวหน้า” และในที่สุดก็จะ “ไร้ความยั่งยืน”
แต่โครงการของผมผ่านฉลุยหลังจากที่ได้ชี้แจงเพิ่มเติมครับ
เพราะในการวางโครงการของผมได้ผ่านการสมเทียบกับ นโยบายของพรรคของรัฐ กับสภาพความจำเป็นของชุมชน กับความเหมาะสมทางกายภาพภูมิประเทศและภูมิศาตร์สังคม ที่สำคัญก็คือ เป็นความต้องการที่มาจากพี่น้องชาวบ้าน จากการลงคลุกคลีสัมผัสชุมชน จากเวทีการศึกษาชุมชนอย่างมีส่วนร่วมPRA
ผมเคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า รูปแบบการพัฒนาชุมชนต้องไร้รูปแบบ สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสภาพของ “ระบบนิเวศวัฒนธรรม” ของชุมชนนั้นๆ นิเวศ + วัฒนธรรม ครับ
“ระบบนิเวศ”:
ดินเขาเก็บน้ำไม่อยู่ก็ยังยัดเยียดให้เขาขุดสระในไร่นาตามเป้าสุดท้ายได้สระกักลม
นาเขาเป็นที่ลุ่มน้ำหลายยังจะไปบังคับให้เขาปลูกข้าวพันธุ์ปรับปรุงอายุสั้น พี่น้องลุยโคลนเกี่ยวข้าวได้กินข้าวเปื้อนโคลน
“วัฒนธรรม”:
อิสรชนแบบวิถีชนเผ่าที่ชอบเข้าป่าถูกยัดเยียดให้ปลูกผักบนขอบสระ ปลูกแล้วปล่อยให้เทวดารดน้ำ มีไก่มาช่วยตัดยอด วัวควายที่เลี้บงปล่อยทุ่งแวะมาย่ำ…จบ
พี่น้องเขาเลี้ยงหมูกี้แบบปล่อยอยู่ดีๆ ไปส่งเสริมหมูหลุม….ลำบากหารำหาอาหารมาเกือ…หมูจ่อยตายไปก็หลาย
“ลูกบ่ให้อย่าเอานมให้กิ๋น” กับ “ระบบนิเวศวัฒนธรรม”
เกี่ยวกันไหมเอ่ย

 


รูปภาพเล่าเรื่องราวเฮฮาฯหก

8 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 10 ธันวาคม 2008 เวลา 2:43 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3108

ร่วมส่งภาพเพื่อเล่าเรื่องราวที่น่าประทับใจในเฮฮาฯ๖ ครับ
เป็นมุมมองของคนที่มองโลกจากตัวตนเป็นศูนย์กลาง และมองในมุมที่แปลก
ทุกภาพถ่ายแบบมือสมัครเล่นใน mode auto
ลองชมดูครับ (ภาพอาจไม่สวยแต่ จะพยายามตีความหมายให้ลึกซึ้งครับ)

ภาพแรก: แสงสุรีย์ที่บ้านอาข่า
ระหว่างที่พี่แดง (ท่าน สว.เตือนใจ) พาเหล่าพวกเราสว.(สูงวัย)เดินเยี่ยมชมหมู่บ้านชาวอาข่าที่ดอยแม่สลอง มองผ่านตัวเรือนเห็นตะวันกำลังคล้อยลงสัมผัสทิวเขา
พี่แดงได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นนักพัฒนาที่สุดยอด  ได้อย่างน่าประทับใจ เห็นท่านพูดภาษาอาข่าได้คล่องแคล่วราวกับเจ้าของภาษา ทักทายรู้จักทุกคนในหมู่บ้าน
และเห็นท่าทีที่ชาวบ้านแสดงต่อพี่แดงอย่างสนิทสนมรักใคร่ …ผมว่าพี่แดงเปรียบดั่งดวงตะวันที่ฉายส่องให้ความอบอุ่นกับพี่น้องชาวอาข่าในชุมชนแห่งนี้

ภาพที่สอง: เณรน้อยวัดพระธาตุสี่มุมเมือง
จุดสุดท้ายก่อนจากเชียงแสน ผมพบท่านนั่งพักอยู่ใกล้ๆที่จอดรถ ผ้าเหลืองเครื่องนุ่งถือของนักบวช ทำให้มองเห็นความสงบน่าเลื่อมใส แม้ในวัยเด็กของท่าน น่าอิจฉาที่ท่านได้เข้า
สู่โลกแห่งความสงบตั้งแต่วัยเยาว์ ในหมู่นักแสวงบุญเพื่อนๆกลุ่มผมเรามักเรียกกันเล่นๆว่า กลุ่มศีลสองร้อย ศีลสิบ ศิลแปด และศีลห้า แม้ว่าเราฆาราวาสจะถืออุโบสถศีลก็ถือเพียงแปดข้อ
แต่เณรท่านถือศีลสิบ

ภาพที่สาม: ถังขยะที่ไม่เป็นขยะ
ยามเช้าที่หน้าอุโบสถวัดพระธาตุผาเงา เชียงแสน ผมเห็นความงามของถังขยะ ที่สานจากไม้ไผ่มีใบตองกล้วยจับกลีบบุไว้อย่างประณีต มีตุงเล็กๆ งามวิจิตรล้มอยู่ข้างๆ เลยจับมาประดับเพิ่ม
ความงดงามให้เสียเลย ให้งดงามเป็นถังขยะที่…งามที่สุดในโลก

ภาพที่สี่: ชื่อภาพ”ถูกเซ้าซี้บังคับให้ถ่าย”
ตลอดทริปนี้ ผมมีดาราหน้ากล้องดังที่เห็นในภาพ ไปทางไหนก็ไปดักหน้าดักหลังโพสต์ท่าให้ถ่ายรูปทั้งในท่านั่ง ยืน ปีนต้นไม้ ไม่ใช่ใครที่ไหน คุณหลานในไส้ของลุงเอกนั่นเอง ดูรูปสิครับ
คนถ่ายก็ถูกเซ้าซี้ให้ถ่าย คู่ที่ยืนถ่ายด้วย(จอมกวน)ก็ทำหน้าเหมือนถูกบังคับให้ถ่ายด้วย คนหน้าระรื่นมีแค่คุณหลานคนเดียว

แซวเล่นดอกเด้อหล้า…อันที่จริงคุณเธอก็มีฝีมือฝีปากไม่เบาเลยทีเดียว เท่าที่ได้ยินเธอด้นเพลงอีแซวบนยอดดอย และได้ยินเสียงบรรเลงขลุ่ยประสานกับเสียงกีต้าร์ที่ห้องนั่งเล่น
ลุงเปลี่ยนร่วมถ่ายทอดมาเป็นบทกวีได้อย่างนี้
“สอดประสานเสียงเพลงบรรเลงเสนาะ
พิณขลุ่ยคลอดั่งทิพย์ดนตรีแดนสวรรค์
ขลุ่ยแผดเสียงโหยหวนกรีดร้องรำพัน
พิณเสกสรรเสียงเพลงกล่อมประโลม
ขลุ่ยร่ำไห้พิลาปเสียงแหบเศร้า
พิณปลุกเร้าดั่งสายธารถาโถม
ชักนำพากันไปตามอารมณ์
ต่างรื่นรมย์ชื่นชมทิพย์ดนตรี”


เจ้าสำอาง ที่ด่านน้ำเงิน

ไม่มีความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 4 ธันวาคม 2008 เวลา 12:12 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2510

เจ้าสำอาง หมาใบ้ ที่ไม่เคยมีใครได้ยินเสียงเห่า เสียงร้อง
เจ้าสำอาง หมาพันธุ์ทาง วัยรุ่นจอมดื้อ ที่ด่านน้ำเงิน
ไม่รู้ทำไม จึงชอบมานอนขวางทางรถอยู่ตรงไม้กั้นด่าน
ไม่รู้จักกลัวรถเหยียบ
ตำรวจด่านคนที่หนึ่งมาอุ้มก็แล้ว ลากก็แล้ว ให้ออกจากถนน สักพักก็กลับมาที่เดิมอีก
ตำรวจด่านคนที่สองเรียกก็แล้ว ไล่ก็แล้ว เจ้าสำอางก็นอนขดไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็น

ตำรวจด่านคนที่สามเดินมา ยกเท้าฟาดไปที่คางเจ้าสำอางจนหน้าหงาย (แต่เจ้าใบ้ก็ไม่ร้อง)
เจ้าสำอางรีบลุกขึ้นวิ่งหนีหายไปจากด่าน…ไม่รู้หนีไปไหน

สำหรับสัตว์  บางทีก็ต้องมีวิธีจัดการที่ให้ได้ผล

สำหรับคนบางประเภท..คงต้องมีวิธีจัดการที่เหมาะสมเช่นกัน
เจ้านายบางคนชอบถูกชะเลีย
เพื่อนร่วมงานบางคนชอบให้คนยกย่อง
ลูกน้องบางคนชอบให้ปลอบโยน
ลูกน้องบางรายต้องขู่กำราบถึงจะทำงาน

กุศโลบายในการจัดการสิ่งมีชีวิตนี่ช่างไม่มีกฏตายตัว

บันทึกนี้ท่านอย่าได้หลวมตัวมาคอมเม้นท์…

ด่านน้ำเงิน เมืองเงิน สปป.ลาว
๓ ธค ๕๑
๑๖ จุด ๔๕ น.



Main: 0.063202857971191 sec
Sidebar: 0.024508953094482 sec