เสน่ห์คำลาว: “ลูกบ่ไห้ อย่าเอานมให้กิ๋น”
ที่ประชุมคณะทำงานครั้งล่าสุด ในระหว่างการนำเสนอแผนงานของผม แน่นอนล่ะเป็นแผนการฟื้นฟูวิถีชีวิตที่สร้างขึ้นมาจากความห่วงใยพี่น้องชาวบ้าน ก็เขาจ้างผมให้มาเป็น “ฝ่ายชาวบ้าน”นี่นา ข้อเสนอของผมจึงเป็นแบบอภิมหาโปรเจ็คห่วงหน้าพะวงหลัง ทั้งทางด้านอาชีพหลัก อาชีพรอง เรื่องทางสังคม เรื่องของครอบครัวแม่ร้างนางหม้าย ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ขาดแรงงาน ครอบครัวคนพิการด้อยโอกาส อาชีพเสริมสำหรับแม่บ้าน เยอะแยะไปหมด
พอถึงรอบการแสดงความคิดเห็น ท่านเชียงสง หัวหน้าห้องการแรงงานสวัสดิการสังคม อภิปรายว่า “ลูกบ่ไห้ อย่าเอานมให้กิ๋น” แปลเป็นไทยว่า “ลูกยังไม่ร้องอย่าเพิ่งเอานมป้อน”
เจอคำโบราณที่โดนใจเข้าอีกคำแล้วครับ ลองนึกถึงสมัยก่อนที่ยังเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ พอลูกร้องก็จัดการเอานมป้อนลูก อิ่มแล้วเจ้าตัวเล็กก็หลับปุ๋ย แต่ทางพยาบาลเขาว่าแม่จะรู้สึกได้เองว่าถึงเวลาให้นมลูกหรือยังจากอาการคัดเต้านม(breast congest)แสดงว่าคนที่คิดคำนี้เป็นผู้ชายที่ไม่รู้เรื่องทางสรีระของผู้หญิงดีเท่าไร
คิดต่อจากคำว่า “ลูกบ่ไห้ อย่าเอานมให้กิ๋น”หากเปรียบกับการวางแผนงาน หรือคิดกิจกรรมใดๆสำหรับพี่น้องละก็ การที่เราคิดเองหรือคิดแทนพี่น้อง แล้วสรรหาทุกสิ่งทุกอย่างมาป้อน
ทั้งๆที่ไม่ใช่ความต้องการของพี่น้องนั้นก็คงจะไม่เข้าท่าเอาเสียเลย เพราะอาจจะเป็นการเยียวยาแบบ “เกาไม่ถูกที่คัน” ผลสุดท้ายความหวังดีของเราก็อาจกลายเป็นประสงค์ร้ายไป หรือกิจกรรมอาจประสบความล้มเหลว พี่น้องจะเข้าร่วมกิจกรรมร่วมโครงการแต่เพียงในระยะแรกเพราะ “เกรงใจหัวหน้า” และในที่สุดก็จะ “ไร้ความยั่งยืน”
แต่โครงการของผมผ่านฉลุยหลังจากที่ได้ชี้แจงเพิ่มเติมครับ
เพราะในการวางโครงการของผมได้ผ่านการสมเทียบกับ นโยบายของพรรคของรัฐ กับสภาพความจำเป็นของชุมชน กับความเหมาะสมทางกายภาพภูมิประเทศและภูมิศาตร์สังคม ที่สำคัญก็คือ เป็นความต้องการที่มาจากพี่น้องชาวบ้าน จากการลงคลุกคลีสัมผัสชุมชน จากเวทีการศึกษาชุมชนอย่างมีส่วนร่วมPRA
ผมเคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า รูปแบบการพัฒนาชุมชนต้องไร้รูปแบบ สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสภาพของ “ระบบนิเวศวัฒนธรรม” ของชุมชนนั้นๆ นิเวศ + วัฒนธรรม ครับ
“ระบบนิเวศ”:
ดินเขาเก็บน้ำไม่อยู่ก็ยังยัดเยียดให้เขาขุดสระในไร่นาตามเป้าสุดท้ายได้สระกักลม
นาเขาเป็นที่ลุ่มน้ำหลายยังจะไปบังคับให้เขาปลูกข้าวพันธุ์ปรับปรุงอายุสั้น พี่น้องลุยโคลนเกี่ยวข้าวได้กินข้าวเปื้อนโคลน
“วัฒนธรรม”:
อิสรชนแบบวิถีชนเผ่าที่ชอบเข้าป่าถูกยัดเยียดให้ปลูกผักบนขอบสระ ปลูกแล้วปล่อยให้เทวดารดน้ำ มีไก่มาช่วยตัดยอด วัวควายที่เลี้บงปล่อยทุ่งแวะมาย่ำ…จบ
พี่น้องเขาเลี้ยงหมูกี้แบบปล่อยอยู่ดีๆ ไปส่งเสริมหมูหลุม….ลำบากหารำหาอาหารมาเกือ…หมูจ่อยตายไปก็หลาย
“ลูกบ่ให้อย่าเอานมให้กิ๋น” กับ “ระบบนิเวศวัฒนธรรม”
เกี่ยวกันไหมเอ่ย
« « Prev : รูปภาพเล่าเรื่องราวเฮฮาฯหก
Next : Siltation ตกตะกอนความปิติในรอบปี ๒๕๕๑ » »
1 ความคิดเห็น
“ลูกบ่ไห้ อย่าเอานมให้กิ๋น” แปลเป็นไทยว่า “ลูกยังไม่ร้องอย่าเพิ่งเอานมป้อน” เป็นคำโบราณที่กินใจ ให้สติดีแท้….