คุณอยู่ข้างไหน? ผมเลือกข้างได้(แม้ถูกกำหนดฝ่าย)

โดย silt เมื่อ 23 กันยายน 2009 เวลา 9:18 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1873

เมื่อวันที่ ๑๔-๑๕ กันยายนที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปเข้าร่วมประชุมที่องค์กรทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม (Water Resource and Environment Authority: WREA) สังกัดสำนักงานนายกรัฐมนตรีที่กำแพงพระนครเวียงจันทน์ หน่วยงานนี้เป็นศูนย์รวมของแม่ญิงเก่งแห่งเมืองลาว ไม่ว่าจะเป็นท่านรัฐมนตรี (ท่านนาง เข็มแพง) ท่านรองหัวหน้า WREA (ท่านนาง ดร. เวียงสวรรค์ ผู้ที่ไปร่ำเรียนมาจากอุบเบกิซสถานนานถึง ๑๔ปี) ส่วนหัวหน้ากองวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม (ESIA: Environmental and Social Impact Assessment) ชื่อ ท่านนาง บัวคำ ผู้มีนามสกุลเดียวกับท่านนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของ สปป ลาว โดยมีผู้ช่วยที่เข้มแข็งเป็นสาว (โสด) งามร่างน้อยชื่อ ท่านนาง พักกาวัน
เป็นการประชุมเพื่อสรุปก่อนลงนามในสัญญาสัมปทานโครงการ ระหว่างรัฐบาลลาว กับผู้พัฒนาโครงการ ซึ่งได้มีการประชุมต่อรองกันมาหลายรอบ ในรอบนี้เป็นการประชุมตกลงกันในเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสังคม ผมจึงถูกเรียกตัวไปจากหงสาให้ไปเข้าร่วมประชุมด้วย  ประธานในที่ประชุมครั้งนี้คือ ท่านนางบัวคำ แต่ผู้ที่เก็บกำข้อมูลหลักๆและผู้ต่อรองตัวจริงน่าจะเป็นท่านนางพักกาวันนั่นเอง ในฝ่ายรัฐฯยังมีผู้แทนจากองค์การทรัพย์สินที่ดิน พัฒนาชุมชน กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ นอกจากนั้นเป็นพนักงานในกรมกองของ WREAเอง แต่ผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดในซีกฝ่ายรัฐกลับเป็นที่ปรึกษาชาวตะวันตกสองคน คนแรกเชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม อีกคนหนึ่งทางด้านเหมืองแร่และโรงไฟฟ้า พ่อเจ้าประคุณเล่นหอบเอามาตรฐานสากล พร้อมทั้งจิตวิญญาณของนักอนุรักษ์มาเต็มเปี่ยม น่ายกย่องชมเชย น่าดีใจแทนคนลาวที่ได้ที่ปรึกษาที่ดีเช่นนี้

ในฝ่ายผู้พัฒนาโครงการก็มีระดับหัวหน้าโครงการ มีผู้แทนจากขาหุ้นลาว มีที่ปรึกษาจากสำนักกฎหมายสาวไชนีส-อเมริกันที่บินมาจากแอลเอ มีคณะจากสำนักกฎหมายเมืองไทย มีที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม มีที่ปรึกษาด้านอพยพโยกย้ายจากโครงการน้ำเทิน(ที่ได้รับรางวัล Best practice ด้านการโยกย้ายอพยพ) อีกหนึ่งท่าน และมีตัวกระผม (ที่ขออ้างตัวเป็นที่ปรึกษา) ด้านสังคม
การต่อรองในด้านสิ่งแวดล้อมเริ่มที่การเลือกใช้ข้อกำหนดในการควบคุมการทำเหมือง ที่ทางผู้พัฒนาโครงการขอใช้มาตรฐานธนาคารโลกปี คศ. ๑๙๙๘ เพราะเป็นปีที่เริ่มขอสัมปทาน แต่ที่ปรึกษาฝ่ายรัฐบาลเสนอให้ใช้มาตรฐานที่ใหม่กว่า (ที่มีการควบคุมรัดกุมแน่นหนากว่า) มีการต่อรองและตกลงกันในเรื่องค่ามาตรฐานของคุณภาพน้ำ เสียง อากาศ ที่ผู้พัฒนาโครงการจะต้องควบคุม และจะต้องลดปริมาณของเสียที่จะปลดปล่อยลงในแต่ละปี นี่เป็นข้อสัญญาที่รัฐสามารถเข้ามาตรวจสอบได้ทุกเวลา หากพบว่าผู้ประกอบการไม่สามารถทำได้ก็มีสิทธิ์ถูกปรับหรือยกเลิกโครงการไปเลย ทางฝ่ายผู้พัฒนาโครงการก็ต้องกลับมาพิจารณาข้อมูลคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่จริงในสภาพปัจจุบัน (Ambiance) และตรวจดูว่าเครื่องจักรกลของโครงการจะปลดปล่อยมลภาวะออกมาได้อีกเท่าไร จะเกินค่ามาตรฐานที่รับปากไว้หรือไม่ การต่อรองสามภาษาเป็นไปอย่างสนุกสนาน ต่างก็งัดหลักวิชาการของตนมาโต้กัน บางประเด็นหากหาข้อตกลงกันยังไม่ได้ก็พักไว้รอการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม หรือรอผู้รู้มาตัดสิน
แต่จะบรรยายให้สวยงามอย่างไร ก็หนีความเป็นจริงไม่พ้น ความจริงที่ว่าฝ่ายผู้พัฒนาโครงการก็ต้องต่อรองให้ผลประกอบการของตนเองเป็นบวก ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องมองว่าผู้ประกอบการเป็นพวก Bad Guy แต่แม้ว่าจะรู้สึกอย่างไรจะถูกมองอย่างไร ผมว่าตัวเราเองรู้จักตัวเองดีที่สุดว่าขาวหรือดำหรือเทา ผมได้มีส่วนในการนำเสนอกรอบมาตรการทดแทนทรัพย์สิน หรือ Entitlement Matrix (ที่ผ่านการปรับแก้และกลั่นกรองจากระดับแขวงมาแล้ว) ที่ตัวเองเป็นผู้ยกร่างโดยอิงตามมาตรฐานสากล และมั่นใจว่าให้ความเป็นธรรมกับทั้งผู้พัฒนาโครงการ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบ  พร้อมทั้งอธิบายรายละเอียดแผนการฟื้นฟูรายได้ และแผนการฟื้นฟูวิถีชีวิต ในกรณีของการประกันรายได้เราได้ตกลงกันไว้สามระดับคือ ๑. ทุกครอบครัวต้องมีรายได้สูงกว่าเส้นความยากจน (เฉลี่ย ๒แสน๔หมื่นกีบต่อหัวคนต่อเดือน) ๒. รายได้ต้องไม่น้อยกว่าที่ได้รับปัจจุบัน และ๓.ภายในระยะเวลาแปดปีทุกครอบครัวต้องมีรายได้สูงกว่ารายได้ปัจจุบัน ๑๕๐% นี่เป็นภาระอันหนักอึ้งที่ผมจะต้องขับเคลื่อน 
แต่สำหรับความคิดตัวผมเองแล้ว การเอาตัวเลขรายรับเป็นตัวกำหนดไม่น่าจะถูกต้องนัก ความสุขในการดำรงชีวิตอยู่ที่การได้กินอิ่มนอนหลับโดยไร้ข้อกังวลอย่างยั่งยืนต่างหาก ที่น่าจะถือเป็นเป้า หมาย ที่จะนำพาพี่น้องไปสู่ แต่ก็ยากที่จะอธิบายให้คนอื่นเข้าใจ
มีการต่อรองหลายเรื่องที่ผมต้องช่วยผู้พัฒนาโครงการตรวจสอบว่าค่าตัวเลขและเกณฑ์มาตรฐานต่างๆที่จะไปตกลงรับปากกับรัฐบาลลาวนั้นมีความเป็นไปได้หรือไม่ เช่นค่าปริมาณฝุ่นที่ทางลาวขอให้เราควบคุมที่ ๖๐ แต่ปัจจุบันเราวัดได้ ๗๐ แม้ยังไม่ได้เริ่มโครงการ อันนี้เราก็ต้องขออั้นเอาไว้ที่ ๗๐ แต่มีบางเรื่องที่ผมเลือกที่จะแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา เช่น การดูแลชาวบ้านในระยะข้ามผ่าน ที่มาดามพักกาวันเสนอว่าโครงการต้องเลี้ยงดูข้าวสารและ(ทาดซิ้น)ให้ชาวบ้าน ๓ปี ตามหลักสากล แต่ผู้ประกอบการคิดว่าตนเองได้จ่ายค่าที่นาไปในจำนวนสิบเท่าของผลผลิตแล้ว อย่างนี้เป็นต้น เมื่อถูกขอความเห็นผมก็ตอบไปตรงๆว่า อย่างไรก็ต้องมีค่าเลี้ยงดูในระยะข้ามผ่าน (จะมากหรือน้อยค่อยว่ากันอีกที) ไม่งั้นโครงการท่านไม่ผ่านมาตรฐานสากล ท่านก็ไปกู้เงินจากโลกตะวันตกลำบาก หลายๆครั้งตลอดระยะการประชุมสองวันที่ผมต้องประกอบความเห็นในลักษณะนี้ จนรู้สึกได้ว่าสายตาจาก”ฝ่ายโน้น”ที่มองมาเริ่มเจือด้วยมิตรภาพ ในขณะที่”ฝ่ายเรา”บางคนเริ่มส่งสายตาพร้อมคำถามว่า “คุณอยู่ข้างไหนกันแน่?”
แต่ผมรู้ตัวดีว่า ผมสามารถเลือกข้างได้ แม้ว่าผมจะถูกกำหนดฝ่ายแล้วก็ตาม
ถ้าตกงาน อย่างมากก็ไปขอเป็นวิทยากรอาสาแถวสตึก ปลูกผักแลกอาหารเจวันละสามมื้อ คิ คิ
 

« « Prev : ไล่พระออกจากป่า คุณพระคุณเจ้า

Next : พินัยกรรมฉบับวิตกจริต » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

3 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.092036008834839 sec
Sidebar: 0.014437913894653 sec