ประเพณีเกี่ยวกับความตายของชาวลั๊วะบ้านเสาเดียว
๒ มกราคม ๕๒ วันแรกของการทำงานในปีนี้ ผมมีโอกาสไปเยี่ยมชุมชนชาวไปร (หรือที่บ้านเราเรียกว่าชาวลั๊วะ) ที่บ้านเสาเดียว บนยอดภูสูงของเมืองหงสา เป้าหมายของการเยี่ยมยามก็เพื่อไปดูว่าจะไปส่งเสริมอาชีพการปลูกชาแถวนั้นได้หรือไม่ เพราะเป็นที่สูงเกิน ๑๐๐๐ เมตร บริษัทจีนเขาว่าปลูกยางพาราไม่ได้ จึงน่าจะเหมาะสำหรับปลูกชา อีกทั้งแถบนี้ก็ยังมีสวนเมี่ยงปลูกอยู่แล้วหลายสวน แต่เป้าหมายแฝงก็คืออยากจะไปท่องเที่ยวสัมผัสวิถีชีวิตของพี่น้องชาวไปรนั่นเอง
นั่งรถไต่ระดับขึ้นไปราวสี่สิบกิโลเมตร ก็ถึงบ้านเสาเดียวครับ ข้ามเนินเขาข้างหน้าก็เป็นชายแดนไทยเรา พี่น้องบอกว่าเดินไปราวสองชั่วโมงก็ถึงฝั่งไทย ชื่อบ้านเสาเดียว เรียกตามที่เมื่อก่อนมีชาวบ้านท่านหนึ่งปลูกสร้างบ้านแบบที่มีเสาเพียงต้นเดียว (แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีให้เห็นแล้ว น่าเสียดายไม่อย่างนั้นจะถือเป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้านได้) ชุมชนบ้านเสาเดียวตั้งอยู่บนสันเขาซึ่งน่าจะเป็นธรรมเนียมของพี่น้องชาวไปรที่เลือกทำเลจุดสูงที่สุดตั้งบ้านเรือน ตัวบ้านสร้างด้วยไม้กระดานหลังกระทัดรัด มุงหลังคาด้วยสังกะสี ถามดูได้ความว่าเอาของป่า ดอกเลา ข้าวไร่ แบกเดินข้ามไปขายที่ชายแดนไทยแล้วก็ซื้อสังกะสีแบกกลับมา ลักษณะ บ้านถาวรไม้กระดานนี้ พ่อเฒ่าแนวโฮมเล่าว่าเพิ่งมาปรับเปลี่ยนได้ราวยี่สิบกว่าปีมานี้เอง แต่ก่อนบ้านเรือนสร้างด้วยไม้ไผ่มุงหญ้า พ่อเฒ่าเป็นผู้เลื่อยไม้มาปลูกบ้านเป็นคนแรก ตอนนั้นลูกเมียไม่กล้าขึ้นนอนบนบ้าน เพื่อนบ้านก็คอยเฝ้าดูว่า “ทำผิดฮีตผิดผี” จะถูกลงโทษอย่างไรบ้าง จนกระทั่งเวลาผ่านไปสี่ห้าปี เพื่อนบ้านถึงได้เชื่อมั่นและพากันเลียนแบบ
รอบๆหมู่บ้านเป็นไร่เลื่อนลอย ผู้ช่วยผมกับพนักงานขับรถที่ต่างเคยทำงานโครงการ CARE และเคยรับผิดชอบกลุ่มบ้านนี้ทั้งสองคน ต่างชี้ให้ดูป้ายแปลงสาธิตเก่าๆตามริมทาง ได้รับการบอกเล่าว่า โครงการดังกล่าวมาจัดทำแปลงสาธิตปลูกไม้ผลสี่แปลงและมาแจกกล้าไม้พันธุ์ไม้ให้พี่น้องไม่น้อยกว่าหมื่นต้น โครงการสิ้นสุดลงเมื่อสองปีก่อนเมื่อไปติดตามดูในวันนี้ สิ่งที่พบเห็นกลับคืนเป็นไร่ร้างหมดแล้ว นี่เป็นอีกตัวอย่างของการพัฒนาที่ล้มเหลว (เหมือนกับการไปส่งเสริมให้ชาวไทบรูปลูกผักบนขอบสระ) ก็พี่น้องเขาหายใจเข้าออกเป็นข้าว ขอให้มีข้าวในเล้าก็อุ่นใจ “ส่วนส้มสุกลูกไม้นั้นเป็นของว่างหาเก็บหากินเอาตามป่าก็ได้ หมากแงว หมากคอแลน หมากค้อ หมากแฟน หมากไฟ….แซบกว่าหมากไม้พื้นล่างเสียอีก”
ทุกหลังเรือนที่บ้านเสาเดียวในวันที่ไป ต่างมีหนามพุทราปักไว้ที่หัวบันไดบ้าน พี่น้องบอกว่าเอาไว้กันผี มีคนตายในหมู่บ้านตั้งแต่เมื่อคืน บ้านคนตายอยู่ติดกับบ้านของนายครูที่เราจะแวะไปแกะห่อข้าวกินนั่นเอง ติดกันมากกะระยะห่างไม่ถึงสิบเมตร นับเป็นการกินข้าวกลางวันที่บรรยากาศแปลกๆ แต่ด้วยความหิวเลยไม่เป็นอุปสรรคต่อการกิน งานศพพี่น้องชาวไปรดูไม่ค่อยโศกเศร้าเท่าไร กินข้าวไปก็ฟังขับลำชาวไปรไป เขาจะขึ้นขับลำด้วยคำว่า “เย้อๆๆๆๆๆๆ” เสียงสูงๆทำนองโหยหวน แล้วก็ต่อด้วยภาษาไปรเป็นวรรคๆ นายบ้านแปลให้ฟังว่า เป็นการบอกกล่าวให้ผู้ตายไปอยู่กับพ่อแม่พี่ๆที่ตายไปแล้ว อย่าได้ห่วงลูกหลานทางนี้ อย่าได้มาอยู่รบกวนคนทางนี้ อย่าได้พาคนเป็นทางนี้ไปด้วยเลย ให้เขาโรคภัยไข้เจ็บของตัวเองไปด้วย อย่าทิ้งไว้ให้คนแถวนี้ ญาติพี่น้องจะช่วยกันผลัดเปลี่ยนกันขับลำตลอดเวลาที่ศพตั้งอยู่บนบ้าน (อาจจะหนึ่งคืนหรือสองคืน) บางคราวหากพี่น้องขับไม่เป็นต้องไปจ้างคนขับลำมาจากบ้านอื่น งานศพของชาวไปรเมื่อญาติมิตรมาเยี่ยมศพเขาจะมีสำรับอาหารวางไว้ข้างๆผู้ตาย ผู้มาเคารพศพต้องปั้นข้าวเหนียวจ้ำอาหารวางไว้ให้ผู้ตายได้กิน ฝ่ายเจ้าภาพจะจุดประทัดหรือยิงปืนตอบแทน ค่าลูกกระสุนปืนถือเป็นรายจ่ายหลักที่บางครั้งต้องขายวัวขายควายหลายตัว ยิ่งแขกที่เป็นเจ้าเป็นนายมาจากข้างล่างแล้วเขายิ่งยิงปืนชุดใหญ่จนหูดับตับไหม้เลยทีเดียว ประเพณีการจุดประทัดยิงปืนตอบรับแขกในงานศพนี่เหมือนกับที่ผมเคยพบในเขตชนบทของมณฑลเสฉวน ตอนบ่ายๆเห็นมีกลุ่มญาติสนิทของผู้ตายห้าหกคน ถือเครื่องพิธี และสะพายปืน เดินขับลำไปรอบหมู่บ้าน ได้ความว่าเป็นคณะที่ไปเลือกสถานที่ฝังศพ เขาจะใช้วิธีการเสี่ยงโดยการโยนไข่เช่นเดียวกับชาวเผ่าลาวสูง
ถามพี่น้องว่าเอาศพไว้กี่วัน ได้รับคำตอบว่าปีนี้อดอยากข้าวเลยเอาไว้แค่คืนเดียว ปีนี้ฝนตกชุกมาก พี่น้องไม่สามารถเผาไร่ปลูกข้าวได้ คงอดอยากหาเผือกหามันกินสักเดือนสองเดือน ก่อนที่ดอกเลาดอกแขมจะแก่สามารถเอาไปขายแลกข้าวได้ เฮ้อ เห็นไหม เราว่าเราลำบากกลับมาคนลำบากกว่าเราอีก
ได้เห็นประเพณีเกี่ยวกับความตายของชาวไปร แล้วนึกถึงบทกวีมหากาพย์ท้าวฮุ่งท้างเจือง ตอนที่กล่าวถึงงานศพขุนจอมธรรมพระบิดาท้าวฮุ่งท้าวเจือง ที่บรรยายไว้ว่า
“สว่าสว่าไห้ฮ่ำฮ้อง ส่งสะกาน (พากันร้องไห้ไปส่งสะกาน)
……..
พระบาทท้าวกวัดแกว่ง คึงแขน (ส่วนท้าวฮุ่งเดินแก่วงแขน)
อาวกอเยียวคิงแยะย่องไป ปุสฟ้อน (ส่วนอาวพวงฟ้อนแยะย่องไป)
คอนนวนนิ้วปะแหวมือ ไกวแก่วง (แองคอนก็แบมือไกวแก่วง)
จ่าช้อนไว้เชิงช้า เมื่อลุน (เฒ่าจ่าช้อนฟ้อนช้าๆไปตามหลังพวก)
อึกๆพ้อมสาวหนุ่ม ยินหัว (สาวหนุ่มพากันหัวเราะอึกๆ)
…….”
ผมว่าคล้ายๆกันอย่างไรก็ไม่รู้
« « Prev : เสียงสะท้อนของแม่เฒ่าชาวโส้ที่นากาย
Next : เล่าเรื่องเมืองหงสา เมื่อดอกหมากปู๊บาน: คิดถึงแม่ » »
5 ความคิดเห็น
รู้สึกอิจฉาลุงเปลี่ยนที่ได้เข้าถึงวัฒนธรรมอันลึกซึ้ง…จริง ๆ นักการอิ่มเองชอบมาก…แต่ไม่ค่อยมีโอกาสที่จะได้สัมผัส…เคยไปทางภาคอีสาน…ได้เห็นที่ร้อยเอ็ด..ก็กระดี๊กระด๊าน่าดู…
ว่างๆมาเที่ยวหงสาสิครับ นักการอิ่ม แล้วจะพาเที่ยว
แต่ผมว่าแถวบ้านเราก็มีที่ให้เยี่ยมยามสัมผัสวิถีชีวิตอีกหลายที่เหมือนกัน
ฝันไว้ว่าอยากไปตากใบ ไปฟังพี่น้องชาวเหนือที่อพยพไปจากเจียงแสนไปอยู่ที่นั่น
ไม่รู้ป่านนี้ภาษาเมืองเหนือยังจะอยู่รึไม่
อ้ายครับ
อย่าลิมสัญญานะครับ เอาชุมชนชาติพันธุ์ไหนก็ได้
ที่น่าสนใจ
สะบายดีครับ อ้ายเปลี่ยน
ชนชาติลั๊ว..เคยมีอำนาจรุ่งเรืองมาก่อน
ก่อตั้งอาณาจักร หิรัญนครเงินยางเชียงแสน ที่มีกษัตริย์องค์สุดท้าย คือ พญามังราย
แต่เดี๋ยวนี้ ลั๊ว เป็นเพียงชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย ซึ่งอพยพมาจากประเทศลาว
ลั๊ว เข้ามาเป็นลูกจ้างถางไร่ให้กับ ม้ง เย้า ในเมืองน่าน เป็นแรงงานเถื่อน
ผมเห็นภาพและอ่านเรื่องของ อ้ายเปลี่ยนแล้วมีความรู้สึกหลายๆ อย่างเกิดขึ้น
เสียดายธรรมชาติ ป่าเขา วิถีชีวิต ที่เขาจากมา
เสียดายความเป็นอารยธรรมในอดีต
ขอบคุณสำหรับบันทึกของอ้ายเปลี่ยน ที่ทำให้มองย้อนกลับมาที่เชียงแสนในปัจจุบัน
คน ไตยวน ถูกรุกโดยคนต่างถิ่น
ไตยวน อพยพย้ายออกจากเมือง เพราะทานอำนาจเงินไม่ไหว
ไตยวน ไปอาศัยตามบ้านนอกป่าเขา
ไตยวน กำลังเดินตามรอยของ ลั๊ว อย่างนั้นหรือ
วงล้อประวัติศาสตร์กำลังเคลื่อนไปยังจุดนั้น อย่างนั้นหรือ
สะบายดีอ้าย
มิติ (ไคยวนยุคสุดท้าย)
ย่องตามพี่หนุ่ม (อ.มิติ)ิมาค่ะพี่เปลี่ยน
ประเพณีเค้าเรียบง่ายดีนะคะ ใช้การฝังทำให้น่าสนใจว่าทำไมไทยพื้นล่างถึงเป็นเผา และเริ่มเผาตั้งแต่เมื่อไหร่???????? อืม..น่าสนใจจัง