คนชายป่าเชิงเขาเล่าเรื่องเมื่อวันวาน (๑) เห็ดแพรก เห็ดหอม เห็ดตะลอม ตอมหญ้า

โดย silt เมื่อ 2 พฤศจิกายน 2009 เวลา 4:44 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2906

เห็ดแพรก สีขาวเจือน้ำตาล ชอบขึ้นตามป่าหญ้าคาในที่รกเรื้อ เนื้อออกเหนียว พอเคี้ยวอร่อย บางแห่งเรียกเห็ดคา
เห็ดหอม สีขาวแจ้ง ชอบขึ้นตามสนามหญ้าที่โล่งๆ มีกลิ่นหอมเฉพาะจึงเป็นที่มาของชื่อ
เห็ดตะลอม ชอบขึ้นคู่กับเห็ดหอม เป็นเห็ดรูปร่างกลมๆเหมือนเห็ดเผาะ แต่กินไม่ได้ จึงไม่มีใครใยดี นอกจากเด็กบ้านป่าจะเหยียบเล่นกันไปตามประสา เมื่อคิดจะเขียนบันทึกเรื่องเห็ดก็นึกถึงเห็ดแพรก เห็ดหอมก่อนเพื่อน เพราะเป็นเห็ดประเภทเดียวที่ผมได้รับอนุญาตให้ไปเก็บโดยลำพังได้ (เพราะไม่ต้องเข้าป่า) และเป็นเห็ดประเภทเดียวที่สามารถหามากินเองได้ พอคาบพอมื้อ แถมยังไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นเห็ดพิษ

ทั้งเห็ดแพรก และเห็ดหอม เป็นอาหารชายป่าท้ายบ้านที่เด็กๆเชิงเขาชวนกันออกไปเก็บพร้อมๆกับการหาเหตุออกไปเล่นกัน บางคนก็ออกไปเลี้ยงควาย ก็หาเก็บมาให้แม่ทำอาหาร นิยมเอาเห็ดต้มใส่เกลือ หรือหากได้มานิดหน่อย “ไม่พอหม้อแกง” ก็เอาเห็ดห่อด้วยใบตองโยนเข้าในขี้เถ้าร้อนๆใต้เตาอั่งโล่ ปล่อยให้ใบตองที่ห่อไหม้เกรียม พอแกะออกมาจะได้เห็ดหมกหอมฉุย เท่านี้ก็พอเพียงสำหรับกับข้าวมื้ออร่อยของเด็ก (ที่เบื่อหมูทอด แคบหมู ปลาปิ้ง หรือไข่ป่าม อาหารประจำขันโตกของไอ่หน้อยลูกโตน) 

พยายามจะนึกว่า เด็กชายป่าพวกเราไปหาเห็ดกันฤดูไหน แต่ก็สับสนในความทรงจำที่ลางๆ ว่าตอนต้นฝนเราก็ไปหาเก็บกัน จนกระทั่งเห็ดเผาะออกมา ผู้คนถึงได้มองข้ามไปกินเห็ดเผาะที่ถือเป็นเห็ด “ชั้นสูง” กว่า แต่นึกดูอีกที เราก็เคยไปหาเห็ดช่วยปลายฝนต้นหนาวท่ามกลางน้ำหมอกน้ำเหมยอยู่เหมือนกัน จึงสรุปเอาเองว่าเห็ดหอมน่าจะออกช่วงต้นฝน พอเป็นอาหารแก้ขัดก่อนเห็ดป่าประเภทเห็ดเผาะ เห็ดไข่ห่าน เห็ดหล่ม เห็ดแดง ออกมาให้กิน ส่วนเห็ดแพรกนั้นน่าจะออกยามปลายฝน เพราะจำได้ว่าเคยไปหาตามคันนาหลังเกี่ยวข้าวก็มี

เด็กๆมักจะชวนกันไปหาเก็บเห็ดเวลาบ่ายคล้อย เรียกว่า “เห็ดแลง” ส่วนคนที่ขยันตื่นเช้าก็สามารถไปเก็บ “เห็ดเช้า”ได้เช่นเดียวกัน พวกเราจะพากันเดินอ้อมชายบ้าน ผ่านไปทางคันคลองชลประทาน ผ่านเขตป่าช้า เข้าไปหาในสนามโรงเรียน แล้วก็วนเข้าหมู่บ้าน
นอกจากเห็ดแพรก เห็ดหอมแล้ว ในบางฤดูเรายังโชคดี ได้เก็บเห็ดโคนที่มักขึ้นตามบริเวณจอมปลวก เห็ดโคนเนื้อเหนียวหวานอร่อย แต่หาเก็บยากแถมต้องบุกเข้าไปในพงรกๆ แถวรอบบ้านมีเห็ดโคนอยู่ ๒ ชนิด เห็ดโคนดำจะมีขนาดเล็กกว่า มีสีดำตามชื่อ แต่เจอทีมักจะออกเป็นกลุ่มใหญ่ ส่วนเห็ดโคนใหญ่มีขนาดใหญ่สมชื่อ สีออกขาวๆ เคยขุดลงไปดูส่วนที่เป็นรากยาวร่วมศอกก็มี

จากเห็ดชายบ้านทีนี้มาว่าถึงเห็ดในป่าอ้อมบ้านบ้าง เด็ก(พิเศษ)บ้านป่าอย่างผม ไม่ค่อยได้ไปบ่อยนัก นอกจากจะตามพ่อแม่ไปปีละครั้งสองครั้ง ก่อนไปแม่ก็จะเอามะนาวลูกสุกๆใส่ตะกร้าไปด้วยเพื่อกันงู  แถมปู่ก็เอาแหวนแก้วมหานิลใส่ไปกันงูอีกหนึ่งวง เห็ดเผาะจะเริ่มออกก่อนยามต้นฝน ชาวเจียงใหม่เรียก “เห็ดถอบ” หากไปถามแม่ค้าขายเห็ดที่ตลาดวโรรสว่ามาจากไหน แม่ค้าทุกคนจะตอบว่า “เห็ดถอบแม่แต๋งเจ้า” แสดงว่าเห็ดบ้านผมนั้นดีจริงๆ เห็ดถอบต้นฤดูเก็บได้น้อย ได้มาพอสักกำมือแม่ก็จะเอามาแกงไส่ใบหมากเม่า พอเห็ดออกมากก็เอามาต้มกินกับน้ำพริกหนุ่ม พอเห็ดแก่ก็เอามาฝานบางๆคั่วกินกับดอกข่า การหาเห็ดหลังฝนตกเรียกว่าการหา “เห็ดเขิน” คือเห็ดที่น้ำพัดพาหน้าดินออกไปปล่อยให้เห็นลูกเห็ดโผล่ออกมา คนไปหาต้องแยกแยะให้ออกว่าอันไหนก้อนหิน อันไหนเห็ด ส่วนในยามฝนแล้งพวกเราไปหา “เห็ดแตก” คือต้องดูดินข้างพุ่มไม้ที่มีรอยแตกปรินูนขึ้นมา แสดงว่ามีเห็ดอยู่ใต้ดินตรงนั้น

ส่วนเห็ดใบมักจะขึ้นหลังจากเห็ดถอบวายไปแล้ว การเก็บเห็ดใบต้องระมัดระวังเห็ดพิษด้วย มีเห้ดที่กินได้หลายชนิดรูปร่างหน้าตาแตกต่างกันออกไป เช่น เห็ดหล่ม(อีสานเรียกเห็ดไค) เห็ดไข่ห่าน(เห็ดละโงกของอีสาน) เห็ดแดง เห็ดถ่าน(สีดำ) เห็ดกาบปลี(สีแด๊งแดง) เห็ดหน้าม่อย(ดอกมีสีเทาๆ) เห็ดตุงน้ำฝน(ดอกเป็นทรงถ้วย) เห็ดฟาน(สีน้ำตาลแดง) เห็ดข่า(รสเผ็ดเผื่อนเหมือนข่า) เห็ดขมิ้น(เหลืองสด) แล้วก็เห็ดขะ-หลำ-หมา(อีสานเรียกเห็ดหำพระ) (ฮิ ฮิ ฮิ)
จาการทบทวนเรื่องราวของเห็ดจะเห็นภาพหรือได้ข้อคิดว่า

  • การเลาะเล่นของเด็กสมัยก่อน เป็นการเรียนรู้เรื่องการหาอยู่หากินไปในตัว
  • สมัยก่อน พระธรรมชาติช่วยจุนเจือการดำรงชีวิตของชาวชนบทจริงๆ

• ที่รกร้างว่างเปล่า ก็มีประโยชน์ สำหรับคนชายป่า

 
 

« « Prev : เมื่อหงสาชำระเมืองแบบหักดิบ

Next : ปล่อยกายใจ เอื่อยไหลล่อง ลำน้ำโขง » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2009 เวลา 7:35 (เย็น)

    เห็ดหอม! หน้าตาไม่ยักเหมือนเห็ดหอมที่คุ้นเลยค่ะ สารภาพว่าเวลาเห็นเห็ดเหล่านี้อยู่ข้างทางเบิร์ดไม่กล้าซื้อกิน แต่ถ้ามีผู้นำแล้วล่ะก็ไม่หยั่น อิอิอิ เจ้าเห็ดแดงนี่ใช่เห็ดสีแดงอมส้มสวยเด่นที่มักวางอยู่ในกระทงใบตองข้างทางหรือเปล่าคะ

    เบิร์ดล่ะทึ่งกับชื่อที่ชวนจินตนาการตามจริงจริ๊งอย่างเห็ด…ที่อ้ายบอกอย่างจะแจ้งในตอนท้ายบันทึกเป็นต้น 5555

  • #2 Lin Hui ให้ความคิดเห็นเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2009 เวลา 8:03 (เย็น)

    พูดถึงแล้ว เห็นตามธรรมชาติจะมีคุณค่าทางอาหารครบถ้วนมากกว่า เห็ดที่เพราะเลี้ยงด้วยถุง หรือก้อนอาหาร ที่คนพยามยามดัดแปลงจากวัสดุให้ใกล้เคียงอาหารของเห็ดนั้นๆ แต่มันไม่ครบถ้วนตามธรรมชาติ และยังคงมีเห็ดอีกมากที่ไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้ จึงมีราคาแพงมาก กินเห็ดตามธรรมชาติดีที่สุด อยู่ที่ไหนให้กินเห็ดที่นั่น โดยเฉพาะเห็นที่มนุษย์กินได้เท่านั้นนะค่ะ อย่าเสี่ยงกินเห็นที่ไม่รู้จัก เพราะรู้หน้าแต่ไม่รู้พิษ ต้องระวังให้มากๆค่ะ น้องปาลิออนโชคดีได้กินธาตุอาหารจากธรรมชาติค่ะ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.06347393989563 sec
Sidebar: 0.028908967971802 sec