ผลการทำนาแบบไม่มีน้ำขัง (ดินต้องดี)

อ่าน: 5099

ปีนี้ (๒๕๕๓) เป็นปีที่มีปริมาณน้ำฝนน้อยที่สุดตั้งแต่ผมหัดทำนามาปีที่ ๕ แล้ว คือ

ตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๕๓ เป็นต้นมา มีฝนตกเหนือนา พอน้ำไหลเข้านาเล็กน้อย ในเดือนมิถุนายน เพียงครั้งเดียว

แต่ก็พอทำให้ข้าวที่ผมหว่านทิ้งไว้ในแปลงที่ ๓ วันพืชมงคล (๕ พฤษภาคม) โดนปลาตะเพียนขึ้นมากินไปบางส่วน

แต่แปลงที่ ๒ ที่มีปลาอื่นๆอยู่ด้วย รวมกับปลาตะเพียน กลับไม่โดนปลากิน ยังงอกงามดี

สำหรับแปลงที่ ๑ ผมยังจัดการหญ้าไม่เสร็จดี ก็เลยหว่านใหม่ไม่ทัน ตอนนี้ก็ใช้เป็นแปลงออกกำลังกาย ตัดหญ้าทุกวันเมื่อมีโอกาส หรืออยากออกกำลังกาย

Rice1y2010mow

แปลงที่ ๑ ปลูกข้าวไม่ทัน

เก็บไว้เป็นแปลงออกกำลังกาย (ตัดหญ้า) ยามว่าง

สรุปว่า

แปลงที่ ๑ ที่ผมทำงานผิดพลาดมาตั้งแต่ปีแรก ที่ไปซื้อแกลบโรงสีมาใส่นั้น เมล็ดหญ้าที่ติดมาก็ยังงอกไม่หมด มีปัญหาต่อเนื่องมา ๕ ปีแล้ว ปีนี้เลยยังหว่านข้าวไม่ได้ เพราะน้ำไม่พอกดหญ้าไม่ให้งอกใหม่

ผมจึงถือโอกาสว่าปีฝนแล้ง ปล่อยให้หญ้างอก ตัดทุกสัปดาห์ไม่ให้ออกดอก กะว่ามีฝนมาจะจัดการให้หมดในปีนี้ ปีหน้าน่าจะจบ แต่ก็ต้องคอยดูอีกที

แปลงที่ ๒ มีหญ้าประปราย ไม่มีปัญหากับการแข่งกับข้าว ตอนนี้ข้าวสูงประมาณเมตรกว่า แค่เดินถอนก็หมด แต่ผมปล่อยไว้บ้าง เพื่อเป็นอาหารหนู เพราะผมสงสัยว่าถ้าไม่มีหญ้าในนา หนูนาอาจจะกัดข้าวผมแทนก็ได้ จึงยังไม่ตัดสินใจถอนหญ้าให้หมด

Rice2y2010s

แปลงที่ ๒ ดินปรุงดีแล้ว ไม่ต้องมีน้ำก็สูงเป็นเมตร

ในภาพ: นศ. ต่างชาติมาศึกษาการจัดการการเกษตรที่แปลงนา

เลยกลายเป็นคนงานถอนหญ้าให้ผมแบบไม่รู้ตัว

จากการเดินถอนหญ้าผมได้รับบทเรียนว่า หนูนาชอบกินหญ้าที่กำลังออกดอก โดยกัดกินทั้งต้นและดอก แต่ไม่กินข้าว คาดว่าข้าวยังอ่อนเกินไป ไม่มีคุณค่าอาหารเท่าต้นหญ้าที่กำลังออกดอก

นอกจากนี้ยังพบรังนกอยู่ตามกอข้าวประปราย น่าจะเป็นกลุ่มนกกินแมลง

แปลงที่ ๓ เป็นแปลงที่ผมมีปลาตะเพียนมาก ปีที่แล้วพยายามชวนเพื่อนๆ และญาติพี่น้องมาวิด และทานกัน ก็มีแค่ไม่กี่คน แค่ลองจับปลาจากบ่อเล็กๆ ในแปลงที่ ๔ ได้แค่ ๒๐ กก. กว่าๆ ก็ทานกันไม่หมดแล้ว เลยเลิกล้มความคิดที่จะวิดปลาบ่อใหญ่แปลงที่ ๓ จึงทำให้มีปัญหาเหมือนเดิมคือ ปลากินข้าวหมดไปเกือบครึ่งแปลง

Rice3y2010s

นักศึกษาต่างชาติมาศึกษาวิธีการทำนาขี้ระแหงที่แปลง ๓

ด้านหลังมีข้าวขี้ระแหงขึ้นเต็มตามรูระแหงและรอว่าจะได้เกี่ยวหรือไม่

ด้านข้างๆ เป็นข้าวหว่านวันพืชมงคลที่รอดจากการกินของปลาตะเพียน

ทุกปัญหาย่อมมีโอกาส เพราะเมื่อเกิดช่องว่างในแปลงนาที่แตกระแหง ผมก็เลยได้ลองหว่านข้าวลงร่องแตกระแหง ทำให้พบว่า ข้าวในรูระแหงทนแล้งได้ดีกว่าบนผิวดิน (ที่งอกอยู่เดิม)  เลยเรียกวิธีการทำนาแบบใหม่ว่า

 การทำนาแบบ “ข้าวขี้ระแหง” ดังรูป

Rice3y2010d

แปลงที่ ๓ ดินยังไม่สมบูรณ์มากนัก และใช้ข้าวหอมนิลที่ต้องการดินดี ข้าวจึงยังมีปัญหาในปีฝนแล้ง

ในภาพเปรียบเทียบข้าวหว่านวันพืชมงคลที่งอกอยู่เดิม กับข้าวขี้ระแหงที่งอกใหม่ (สวยกว่าเก่า)

ปีนี้แล้งก็จริง ไม่มีน้ำขังเลย มีแต่ฝนปรอยแบบนับเม็ดได้มาบ่อยๆ

ผมเลยพยายามหาความหมายใหม่ของวิธีการวัดน้ำฝนและขอรายงานว่า

ที่นาผมมีฝนตก ประมาณ ๒๐๐-๑๐๐๐ มม. เกือบทุกวัน

อย่าตกใจครับ

๒๐๐ มม. คือ ๒๐๐ เม็ดต่อตารางเมตรครับ

ข้าวพอได้ละอองฝนบ้างพออยู่ได้ ประกอบกับดินที่ฟื้นตัวแล้วของแปลงที่ ๒ ทำให้ผมทำนาได้โดยไม่ต้องมีน้ำขัง

สภาพดินและน้ำแปลง ๒ เมื่อวันที่ ๒๖ กค ๕๓

ข้าวแตกกอดี เดินถอนหญ้าง่ายๆ แล้วโยนลงบ่อปลา

น้ำในบ่อ(บางจุด)เหลือแค่ท่วมหลังปลาครับ

ปัจจุบันต้นข้าวหอมพันธุ์กุหลาบแดง ทนแล้งดีมาก ไม่มีน้ำขัง อยู่กับขี้ระแหง แบบ

“ข้าวขี้ระแหง”

 แต่ก็สูงประมาณเมตรกว่าๆ แล้ว แต่จะเป็นอย่างไรต่อก็ต้องคอยดูต่อไป

แต่ปลาในบ่อทั้งสามแปลงนะซิ จะไม่มีน้ำว่าย

สงสัยจะกลายเป็น “ปลาแห้ง” ถ้าฝนยังตกแบบนี้ต่อไป

Rice2y2010

นาแปลง ๒ ที่กำลังงาม หวังว่าจะได้เกี่ยวครับ

ยังไงก็ดีกว่าที่นาที่อยู่รอบข้างๆนาผม ที่ยังไม่เริ่มทำเลยครับ

ข้าวเรี่ยแบบนาผม เขาก็มี สูงไม่เกินฟุต เพราะเป็นนาเคมี ดินไม่เคยปรุง ข้าวต้องรอปุ๋ยเป็นหลัก รากลงลึกก็ไม่ได้ เลยเหี่ยวง่ายทุกวัน

ผมสังเกตอีกอย่าง

ข้าวที่ผมดำซ่อมบางจุดในแปลงสอง ตอนที่น้ำไหลเข้านาในเดือนมิถุนายน ก็เหี่ยวง่ายเหมือนกัน แสดงว่าข้าวนาดำแข็งแรงสู้นาหว่านไม่ได้จริงๆ

ตั้งแต่ผมมาเรียนการทำนาเอง ก็เรียนรู้มากขึ้นกว่าเก่าทุกวัน และมีเรื่องตื่นเต้นทุกวันกับการเรียนรู้

และหวังว่าวันหนึ่ง……

“ผมจะมีความรู้พอใช้

เหมือนอย่างที่ครูบาสุทธินันท์เคยจั่วหัวข้อไว้ทุกครั้งที่ท่านบรรยาย

วันนี้ ผมรู้มากขึ้นกว่าเมื่อวาน แต่ก็ยังไม่พอใช้ครับ กำลังหาเรียนไปเรื่อยๆ

คาดว่าจะหยุดเรียนก็ตอนหมดลมกระมังครับ

อิอิ


ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง “โมถ่าย” อีกหนึ่งความหวังของประเทศไทย

อ่าน: 76324

เมื่อช่วงปลายธันวาคม ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา ผมได้รับการร้องขอจากสหายร่วมอุดมการณ์ (ท่านอาจารย์แฮนดี้-พินิจ พันธ์ชื่น) ตั้งแต่เมื่อหลายเดือนก่อนว่าทางบ้านเกิดของท่านได้รับอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทย ผ่านมาทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี และอำเภอไชยา ด้วยวงเงินหลักหลายล้านให้มีการก่อตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงที่ตำบลโมถ่าย เป็นหนึ่งในเจ็ดศูนย์ใหม่ในระดับประเทศ

ผมมีความตื่นเต้นมากเป็นพิเศษที่จะได้มีส่วนร่วมในโอกาสสำคัญนี้ โดยมีการวางแผนการเดินทางไปในช่วงที่มีงานแต่งงานของลูกชายท่านอัยการชาวเกาะ ที่ภูเก็ต

ท่านครูบาสุทธินันท์ ก็ได้แสดงความจำนงเข้าร่วมกิจกรรมนี้ในช่วงขากลับจากภารกิจสำคัญ โดยมาแวะพักที่บ้านพี่สาวของท่านอาจารย์แฮนดี้เป็นฐานการประสานงาน

เราเริ่มจากการสำรวจสภาพพื้นที่เพื่อความเข้าใจของเราเอง

ทำให้ทราบว่า

  • พื้นที่เดิมของโมถ่ายเป็นพื้นที่ทำนา แต่ได้ปรับไปเป็นสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันเกือบทั้งหมด
  • เหลือคนทำนาไม่กี่คน และมีนาเพียงแปลงเล็กๆที่เหลืออยู่
  • นอกนั้นเป็นแปลงปลูกยางพารา ปาล์ม และนาร้าง
  • บ้านทรงเดิมๆ และบ้านรุ่นใหม่หลังใหญ่ๆ หลายหลังแทบไม่มีคนอยู่อาศัย
  • มีการจ้างแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานแทนคนในพื้นที่

ที่มีลักษณะเป็นตัวแทนที่ดีของสังคมภาคใต้ในปัจจุบัน

ที่มีปัญหาด้านการใช้ที่ดิน เศรษฐกิจ และสังคม ที่สวนกระแสกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจพอเพียงของประเทศ

อันเนื่องมาจาก

  • การพัฒนาการพึ่งพาภายนอก
  • ทั้งอาหาร และแรงงาน

ดังนั้น

การตั้งศูนย์เรียนรู้จึงเป็นสิ่ง “ท้าทาย- challenging” พอสมควรว่า

ถ้าทำได้จริงก็จะเป็นความหวังของภาคใต้ และของประเทศ

ที่จะพยายามพัฒนา

  • ระบบเกษตรอินทรีย์
  • การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า
  • การผลิตข้าวเพื่อการบริโภค
  • การพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน
  • การฟื้นฟูหัตถกรรม และ
  • การพัฒนากลุ่มและการรวมกลุ่ม

โดยมีท่านนายก อบต. ให้การสนับสนุนอย่างใกล้ชิด เข้าร่วมประชุม ปรึกษาหารือกันอย่างเอาจริงเอาจัง

มีแกนนำด้านการประชาสัมพันธ์ของตำบลเป็นกำลังหนุน

และอาจารย์แฮนดี้ก็กำลังทำงานแปลงโฉมตัวเองจากอาจารย์มหาวิทยาลัย ไปเป็นเกษตรกร เพื่อจะทำนาคล้ายๆกับที่ผมทำที่ขอนแก่น โดยปัจจุบันได้วางตัวเป็นแกนนำในการเชื่อมโยงประสานกลุ่มเฮฮาศาสตร์ลงไปช่วย

ฐานแนวคิดที่สำคัญก็ได้มาจากวัดธารน้ำไหล (สวนโมกข์) ที่อยู่ใกล้ๆ

ดูแล้วก็น่าจะมีความพร้อมพอสมควร

แต่สิ่งที่ท้าทายที่เหลือก็คือ

ชุมชนจะสามารถระดมทรัพยากรที่เหลืออยู่ เพื่อกลับมาฟื้นฟูระบบเกษตรกรรม สังคม ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมให้เป็นตัวอย่างของระบบเศรฐกิจพอเพียงได้อย่างไร

ถ้าได้ ก็จะเป็นตัวอย่าง และเป็นศูนย์เรียนรู้ที่มีพลังจริงๆ

ผมจึงมีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่า

แผนงานการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ที่กำลังทำอยู่ จะเป็นจริงและผลิดอกออกผลตามที่ตั้งใจไว้

ผมได้แจ้งกับทางทีมงาน และอาจารย์แฮนดี้ว่า

พร้อมที่ช่วยเหลือในทุกเรื่อง และทุกโอกาส

เห็นว่าจะมีการจัดเฮฮาศาสตร์สัญจรในครั้งต่อไปที่ไชยา เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศูนย์เรียนรู้นี้

ผมขอไปด้วยนะครับ และจองที่ล่วงหน้าให้กับคนที่รู้ใจสักสองที่นะครับ อิอิ

 


เรื่องแปลกๆ และความรู้ใหม่ที่ได้ในการเดินทางไปเอธิโอเปีย (๓)

อ่าน: 3655

การเดินทางไปประเทศเอธิโอเปียในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของผมในประเทศนี้ และเป็นครั้งที่ ๔ ในทวีปอัฟริกา

ที่ผ่านมา ๓ ครั้ง ผมก็ได้มีโอกาสเรียนรู้สังคมและวิถีชีวิตของแต่ละประเทศ แบบ “เท่าที่จะทำได้” โดยอาศัยการสร้างเพื่อน ที่ทำให้เขาเล่าชีวิต และความเป็นมาของประเทศเขา ได้ดีนอกเหนือจากการอ่านจากเอกสาร และอินเตอร์เน็ต ที่อาจจะครอบคลุมบางมุม และขาดบางประเด็น หรือขาดรายละเอียดในประเด็นที่เราสนใจ

โดยเฉพาะเรื่องชนเผ่านั้น จะไม่ค่อยมีปรากฏในข้อมูล เพราะบางแห่งถือว่าเป็นการแบ่งแยก ที่ทำให้เกิดปัญหาทั้งทางด้านปกครองและระบบเศรษฐกิจ การนำเสนอทางเอกสารทั่วๆไปจึงจะไม่เน้นตรงนี้ นอกจากงานวิจัย และราบงานการพัฒนาที่เจาะลงลึกทางสังคม ที่อาจจะให้รายละเอียดได้ดีพอสมควร

จากข้อมูลเอกสารที่ผมอ่านก่อนเดินทางมาเอธิโอเปีย เขาบอกว่า มีตั้ง ๘๐ เผ่า ๘๐ ภาษา แล้วก็ไม่พูดอะไรมากกว่านั้น ทำให้ผมต้องจินตนาการต่อเอาเองว่าเขาจะอยู่จะกินกันอย่างไร

อ่านต่อ »


การได้ยิน การรับรู้ และความเข้าใจ

อ่าน: 2465

ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้พานักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ ปีที่ ๑ จำนวน ๒๐ คน ไป “เรียนรู้ชีวิต” ที่วัดป่าสวนธรรมร่วมใจ ด้วยความช่วยเหลือของประธานเครือข่ายข้าวคุณธรรม (พ่อวิจิตร บุญสูง) ทีจังหวัด ยโสธร

ก่อนไปผมได้ปฐมนิเทศสองรอบ

รอบแรกได้เน้นสาระสำคัญของการเรียน และการฝึกงาน

โดยเน้นอธิบายว่า การฝึกงานที่สัมผัสของจริงจะทำให้การเรียนมีเป้าหมาย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

และการไปวัดป่าสวนธรรมจะทำให้ได้มีโอกาสเรียนรู้ทั้ง

  • ธรรมะกับชีวิต
  • การเกษตรพอเพียง
  • เกษตรอินทรีย์
  • ชุมชนกับการพัฒนา

ผมก็ได้อธิบายตั้ง ๒ รอบ

อ่านต่อ »


คน “ขี้เกียจ” ที่โชคดี

44 ความคิดเห็น โดย แสวง เมื่อ 19 September 2008 เวลา 1:42 am ในหมวดหมู่ การทำนา, ปรัชญาชีวิต, เกษตรอินทรีย์, เศรษฐกิจพอเพียง
อ่าน: 2413

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ฝนตกชุกมากในประเทศไทย และน้ำท่วมในหลายจุด โดยเฉพาะทางภาคกลาง ตะวันออก และทางภาคอีสานของประเทศไทย

ทำให้นาผมและบริเวณใกล้เคียงมีน้ำเจิ่งนองไปหมด

น้ำท่วมล้นคันนาเล็กน้อย ทำให้ปลา “นักท่องเที่ยว” จากในนาของผมได้มีโอกาสไปเที่ยวข้างนอกนาบ้างพอสมควรทีเดียว

ผมก็ติดงานสอน และวิจัยหลายอย่างก็เลย “ปล่อยเลยตามเลย” ไปบ้าง

เพราะคิดว่า ได้บ้างเสียบ้าง คงไม่เป็นไร

ขณะไปนาก็ยังเห็นปลาประเภทที่เลี้ยงอยู่ในนาผม (โดยเฉพาะปลาดุกขนาดตัวเท่าแขน) ดำผุดดำว่ายอยู่ในร่องน้ำ ด้านนอกนาอยู่หลายตัว

อ่านต่อ »



Main: 0.071838140487671 sec
Sidebar: 2.1286020278931 sec